เมนูหน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

(คลิป VDO) อธิบายสาเหตุการเกิด "โรคหมอนรองกระดูกทับเส้น" ด้วยลูกโป่งใบเดียว


อธิบาย ส่วนประกอบและสาเหตุการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทง่ายๆ
โดยใช้โมเดลลูกโป่งเพียงลูกเดียว


Link อธิบายถึง โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเพิ่มเติม

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559

โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS) โรคที่เป็นแล้วไม่หาย ได้แต่ทำใจยอมรับ


โรค Multiple Sclerosis 
โรคที่เป็นแล้วได้แต่ทำใจ

ทำไมผมถึงบอกว่าเป็นโรคนี้ได้แต่ทำใจ? เพราะว่าโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งนั้น เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้ครับ ทำได้แค่ประคับประคองอาการของผู้ป่วยให้ทรมานจากโรคนี้น้อยที่สุด

โรค Multiple Sclerosis หรือ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง คืออะไรๅ?

โรคนี้จัดว่าเป็นประเภท autoimmune disease ครับ คือ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราทำลายตัวมันเอง พูดให้เข้าใจง่ายๆคือ โดยปกติระบบภูมิคุ้มกันหรือที่เราเข้าใจกันก็คือเม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ทำลายเชื้อโรคต่างๆที่เข้ามาในร่างกายของเรานั้นเกิดเข้าใจผิด คิดว่าปลอกหุ้มเส้นประสาทของเราคือเชื้อโรค เลยเข้าไปทำลายทิ้งเสีย จึงเป็นที่มาของโรค Multiple Sclerosis นั่นเองครับ

 ภาพแสดง myelin sheath เสียหาย

คนที่เป็น Multiple Sclerosis นั้น ระบบภูมิคุ้มกันจะทำลายที่เส้นประสาทอย่างเดียวหรอ?

จริงๆแล้วภูมิคุ้มกันไม่ได้ทำลายเส้นประสาทครับ แต่มันไปทำลายปลอกหุ้มเส้นประสาทหรือที่เรียกว่า myelin ซึ่งห่อหุ้มเส้นประสาทอีกที ถ้าให้เปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับสายไฟนั่นแหละครับ ที่สายไฟจะมีลวดทองแดงอยู่ตรงกลางแล้วห่อหุ้มด้วยปลอกหุ้มสายไฟอีกทีนึง เจ้าตัว myelin ก็เปรียบเสมือนกับปลอกหุ้มสายไฟนี่เองครับผม 

และหน้าที่ของ myelin ก็คือ เป็นฉนวนให้สัญญาณประสาทกระโดดข้ามตัวมันไป ซึ่งจะทำให้การนำส่งสัญญาณประสาททำได้รวดเร็วขึ้น หากเราไม่มีเจ้าตัว myelin นี้ มีเพียงเส้นประสาทเพียวๆ จากเดิมที่สัญญาณประสาทจะกระโดดดึ๋งๆข้ามตัว myelin ก็จะเป็นการค่อยๆเคลื่อนสัญญาณไปแทนซึ่งจะเป็นการนำส่งสัญญาณประสาทที่ช้ามากๆๆๆๆ ผลก็คือ ผู้ป่วยจะทำอะไรช้าลงอย่างมาก สูญเสียการทรงตัวเป็นต้น

ภาพแสดงการเดินทางของกระแสประสาทในปลอกหุ้มที่เสียหาย

สาเหตุของโรค Multiple Sclerosis

ตอบแบบตรงไปตรงมาเลยก็คือ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดครับว่า ทำไมภูมิคุ้มกันมันถึงเข้าใจผิดคิดว่าปลอกหุ้มเส้นประสาทเป็นเชื้อโรคแล้วเข้าไปทำลาย แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากพันธุกรรม ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรค Multiple Sclerosis ก็อาจทำให้ลูกๆที่เกิดมาเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้สภาพแวดล้อมก็มีส่วนให้เกิดโรคนี้ โดยพบว่าผู้ที่อยู่ใกล้ขั้วโลกหรือในภูมิภาคที่มีอากาศหนาวจะมีสัดส่วนการเป็นโรค Multiple Sclerosis สูงกว่าผู้ที่อยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทยนะครับ (ชาวยุโรปจะมีสัดส่วนการเป็นโรคนี้สูงกว่าชาวเอเชียในเขตร้อน)

อาการของโรค Multiple Sclerosis

- สูญเสียการทรงตัว เช่น ล้มง่าย ยินนิ่งๆไม่ได้ เป็นต้น
- รู้สึกร่างกายเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติมาก
- มีอาการเหน็บ ชาตามแขนขาทั่วร่างกาย
- แขนขาอ่อนแรง
- สูญเสียการมองเห็นข้างใดข้างหนึ่ง
- กล้ามเนื้อเกร็งค้าง
- กล้ามเนื้อทำงานประสานกันผิดปกติ
- การรับรู้ และการทำเข้าใจในสิ่งต่างๆทำได้แย่ลง
- มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย เช่น ขับถ่ายไม่ได้ 
- ในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้นานๆ อาจจะต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน หรือต้องนั่งรถเข็น
- มีปัญหาทางสุขภาพจิต ซึมเศร้า เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนปกติอีกแล้ว ดังนั้น การให้กำลังใจของคนรอบข้างจะมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยสูงมากครับ

การดูแลรักษาในผู้ป่วย Multiple Sclerosis

เมื่อพูดถึงการรักษา ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการรักษาผู้ป่วย Multiple Sclerosis ให้หายขาดได้เลย ทำได้เพียงประคับประคองอาการ และรักษาตามอาการที่เป็นเท่านั้น เช่น มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายก็ให้ยาช่วยขับถ่าย หากมีอาการเกร็งก็ให้ยาลดอาการดังกล่าว เป็นต้น ส่วนการออกกำลังกายจะช่วยลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างสมดุล ลดความเครียดกับโรคที่กำลังเผชิญอยู่ ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น 

เป้าหมายการรักษาทางกายภาพบำบัดก็คือ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด แต่ในรายที่ป่วยมานานมากจนต้องนั่งวีลแชร์หรือนอนติดเตียงแล้วนั้น ก็จะเน้นการป้องกันภาวะข้อติดแข็ง ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ แนะนำการดูแลผู้ป่วยให้กับญาติๆหรือคนดูแล เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่จะตามมาครับผม 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต่อให้เราขนทีมแพทย์พยาบาลมาดูแลดีแค่ไหนก็ตาม หากญาติๆหรือคนในครอบครัวไม่เข้าใจกับภาวะโรคของผู้ป่วยที่เป็นอยู่ ไม่ดูแล ไม่ให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยใดๆเลย การรักษาก็ถือว่าไร้ประโยชน์ครับ เพราะกำลังใจในการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยไม่มี และผู้ป่วยจะเกิดโรคซึมเศร้าตามมาในที่สุด 

จริงๆแล้วผมว่ากำลังใจต่อคนรอบข้างมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งไม่ใช่แค่ในผู้ป่วยโรค Multiple Sclerosis หรือโรคไหนๆ แต่รวมทั้งคนปกติก็ควรให่กำลังใจซึ่งกันและกัน เห็นความสำคัญต่อกัน เพราะอัตราส่วนของผู้ป่วยทางจิต (โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า) เพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจในปัจจุบัน ต่อให้ผู้ป่วยสภาพร่างกายดีแค่ไหน หรือต่อให้เป็นนักกีฬาก็ตามหากจิตใจป่วย อีกไม่ช้านาน ร่างกายมันก็จะป่วยตามไปด้วยแน่นอนครับ

เครดิตภาพ
- http://www.sciencenutshell.com/indazole-chloride-chemical-potential-cure-multiple-sclerosis/
- http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/multiple-sclerosis/home/ovc-20131882
- http://www.braininjury-explanation.com/causes-disorders/brain-injury-by-detoriating-processes/brain-injury-by-ms



วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2559

รู้มั้ยว่า...การนั่งเก้าอี้นานๆ ทำให้กระดูกสันหลังแอ่นถาวรได้นะ


นั่งเก้าอี้นานๆ ทำให้ปวดหลังแถมกระดูกสันหลังแอ่นได้นะ

นั่งนานๆทำให้หลังแอ่นได้ไง?

ในขณะที่เรานั่งจะมีกล้ามเนื้อมัดนึงที่ชื่อ psoas major มีจุดเกาะกล้ามเนื้อระหว่างกระดูกสันหลังข้อที่ T12-L5 และเกาะที่กระดูกต้นขานั้น..หดสั้นลงครับ โดยเฉพาะคนที่ต้องนั่งทำงานกันมากกว่า 2 ชั่วโมงติดต่อกันจะมีปัญหาเรื่องปวดหลัง ในเบื้องต้นกล้ามเนื้อ psoas major จะหดเกร็งค้างจากการที่นั่งทำงานนาน เมื่อลุกขึ้นยืนหรือเดินกล้ามเนื้อก็จะคลายตัวเป็นปกติ แต่หากเรายังคงทำกิจวัตรนั่งทำงานติดต่อกันนานๆอยู่ กล้ามเนื้อ psoas major จะเกิดการหดสั้นลงเรื่อยๆ ทำให้กล้ามเนื้อไปดึงรั้งกระดูกสันหลังที่มันเกาะอยู่ให้เคลื่อนเข้าหาตัวกล้ามเนื้อ มันจึงเกิดภาวะกระดูกสันหลังแอ่นขึ้นนั่นเอง

ตำแหน่งของกล้ามเนื้อ psoas major

กระดูกหลังแอ่นแล้วทำให้ปวดหลังได้ไงละ?

เกิดอาการปวดเนื่องจาก กระดูกสันหลังที่แอ่นทำให้กล้ามเนื้อหลังส่วนล่างเกิดการเกร็งตัวมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อคงสภาพของแนวกระดูกสันหลังเอาไว้ให้ได้มากที่สุด พูดง่ายๆก็คือมันเกิดการชักเย่อกันระหว่างกล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อ psoas major แต่เนื่องจากกล้ามเนื้อหลังเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็กและบางกว่ามากจึงไม่สามารถคงสภาพของกระดูกสันหลังไว้ได้ และที่สำคัญคือกล้ามเนื้อหลังถูกใช้งานมากเกินไป เมื่อถูกใช้งานมากจึงล้าง่าย และเมื่อล้าง่าย ล้าเร็วแต่กล้ามเนื้อยังคงถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องจากการนั่งและการดึงรั้งของกล้ามเนื้อขา ส่งให้กล้ามเนื้อหลังประท้วงออกมาโดยแสดงออกเป็นอาการปวดหลังในที่สุดครับ 

วิธีการดูแลรักษา

การรักษาอาการปวดหลังที่เกิดจากการนั่งทำงานเป็นเวลานานนั้นง่ายมากครับ คือการหมั่นยืดกล้ามเนื้อหน้าขาทุกๆวันเช้าและเย็น เพียงเท่านี้ก็แก้ปัญหาการหดรั้งของกล้ามเนื้อ psoas major ได้แล้วครับ ซึ่งการยืดกล้ามเนื้อควรยืดค้างไว้ 15-20 วินาทีจำนวน 5 ครั้งนะครับจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ดีมาก

ตัวอย่างการยืดกล้ามเนื้อหน้าขา
นอกจากการยืดกล้ามเนื้อแล้ว ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนั่งทำงานด้วยครับ โดยหมั่นลุกขึ้นยืนเดินหลังจากนั่งทำงานครบ 1 ชั่วโมง เพียงเท่านี้ก็เป็นการป้องกันอาการปวดหลังที่ตามมาได้แล้วละครับผม

เครดิตภาพ
- http://www.backpainhc.com/lower-back-pain-from-sitting/


วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2559

shoulder hand syndrome กลุ่มอาการปวดแขนแปลกๆ ที่มาพร้อมกับอัมพาต


Shoulder hand syndrome 
โรคปวดแขนแปลกๆที่คนเป็นอัมพาตมักเป็นกัน  แต่น้อยคนจะรู้จักอาการนี้

ใครที่มีญาติหรือคนรู้จักเป็นอัมพาตครึ่งซีก จะสังเกตุเห็นว่าผู้ป่วยมักบ่นอยู่เนืองๆว่าปวดแขน (ข้างที่อ่อนแรง) อยู่ตลอดเวลา ทั้งๆที่ไม่ได้ขยับแขนข้างนั้นเลยแม้แต่น้อย แต่ผู้ป่วยก็ยังคงบอกว่า "ปวด โอ้ยปวดจังเลย" อยู่อย่างงั้น แล้วถ้าหากเราไปจับแขนหรือขยับแขนข้างที่อ่อนแรงอยู่จะยิ่งปวดมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้หากสังเกตุอีกสักนิดเห็นว่าแขนข้างที่อ่อนแรงมีลักษณะบวม แดง จับแล้วรู้สึกอุ่นๆก็ขอให้สันนิจฐานได้เลยว่า คนๆนั้นกำลังจะมีอาการของ shoulder hand syndrome ส่วนทั่วไปก็อย่าพึ่งดีใจไปครับ กลุ่มอาการนี้ก็เกิดขึ้นกับคนทั่วไปได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคนที่ต้องใส่เฝือกทั้งแขนตั้งแต่ข้อไหล่จนถึงข้อมือถ้าหากดูแลรักษาผิดวิธี หรือไม่คอยหมั่นบริหารแขนละก็ รับรองได้ร้องโอยๆจากอาการปวดแขนแน่นอน

Shoulder hand syndrome คืออะไร?

shoulder hand syndrome เป็นกลุ่มอาการนะครับ ไม่ใช่โรค ซึ่งพบเห็นได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก (hemiplegia) ที่ไม่ค่อยบริหารแขนข้างที่อ่อนแรง ปล่อยแขนทิ้งไว้เฉยๆเป็นเวลาหลายวันจนกล้ามเนื้อฝ่อลีบ ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดีจากการที่กล้ามเนื้อไม่ค่อยได้หดตัว เมื่อกล้ามเนื้อรอบๆข้อไหล่มีกำลังน้อยลงจนไม่สามารถพยุงข้อไหล่ได้ในขณะนั่ง ทำให้เกิดข้อไหล่ลู่ลงออกจากเบ้า (shoulder subluxation) ในขณะที่ข้อไหล่ลู่ลงตามแรงโน้มถ่วงเส้นเอ็นที่ห่อหุ้มข้อไหล่ก็ถูกยืดตามไปด้วย พอถูกยืดมากๆก็ทำให้เส้นเอ็นอักเสบในที่สุด เมื่อเส้นเอ็นรอบข้อไหล่อักเสบ ร่างกายจะหลั่งสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกปวดเพื่อไม่ให้เราขยับร่างกายส่วนนั้นจนกว่าร่างกายจะซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่อักเสบให้หายเป็นปกติเสียก่อน ซึ่งในคนปกติทั่วไปคงไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ แต่กับคนที่เป็นอัมพาตครึ่งซีกแล้วไม่ใช่สิ่งที่ดีแน่นอน เพราะคนที่เป็นอัมพาตไม่สามารถขยับร่างกายส่วนนั้นได้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นก็ยังคงถูกยืดทุกครั้งที่ลุกขึ้นนั่ง และเกิดกระบวนการอักเสบซํ้าซาก สารสื่อประสาทที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดก็ยังคงถูกผลิตออกมาเรื่อยๆ นานวันเข้าจะพบว่าผู้ป่วยเกิดภาวะ hypersensitivity หรือที่เรียกว่า มีความรู้สึกไวกว่าปกติ คราวนี้ละครับ ผู้ป่วยจะไม่ยอมขยับแขนข้างนั้นอีกเลย (เพราะกลัวเจ็บ)

ในระยะแรกอาการของ Shoulder hand syndrome ของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกจะเกิดขึ้นบริเวณรอบข้อไหล่เท่านั้นนะครับ แต่พอผู้ป่วยไม่ยอมขยับแขนนานๆเข้าก็ลามไปยังส่วนอื่นๆ เช่น เริ่มแรกเป็นแค่ข้อไหล่ ต่อมาก็เป็นข้อศอก ข้อมือ นิ้วมือ จนในที่สุดก็เป็นทั้งท่อนแขนละครับ

ข้อไหล่ลู่ลง (subluxation) จากภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง

อาการของ Shoulder hand syndrome

- มีอาการปวดกว้างๆของท่อนแขน
- เมื่อจับที่แขนจะรู้สึกอุ่นเมื่อเที่ยบกับแขนข้างปกติ
- แขนบวมแดง
- ผิวหนังดูเต่งตึงและเป็นมันวาว แต่เมื่อผ่านไปนานๆผิวหนังจะคลํ้า แข็งแลดูแห้งกรอบ
- ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง แต่บางรายอาจจะซีด
- มีเหงื่อไหลที่แขนข้างนั้นมากกว่าปกติ บางรายก็ไม่มีเหงื่อไหลเลย
- เล็บเปราะแตก

การดูแลรักษา

วิธีการดูแลรักษานั้นง่ายมากครับ คือหมั่นขยับแขนข้างที่อ่อนแรงทุกวันเพื่อให้เลือดไหลเวียนดี และป้องกันภาวะข้อติดแข็ง โดยขยับตั้งแต่ข้อไหล่ไล่ลงมาจนถึงข้อนิ้วมือ เบื้องต้นอาจจะต้องให้นักกายภาพช่วยเหลือก่อนครับจนกว่าผู้ป่วยจะมีกำลังกล้ามเนื้อแข็งแรงเพียงพอที่จะยกแขนขยับแขนได้เอง แม้การขยับข้อต่ออาจจะทำให้เกิดอาการปวดบ้างแต่ก็ควรฝืนทำครับ ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการ Shoulder hand syndrome ทีนี้ละครับ แค่วางแขนอยู่เฉยๆก็ปวดแล้ว 

ส่วนการใช้ผ้าประคบร้อนนั้น เป็นเสมือนดาบ 2 คมครับ ต้องดูอาการของผู้ป่วยเป็นหลักเลยครับ หากผู้ป่วยยังไม่มีภาวะ Shoulder hand syndrome ก็สามารถประคบได้ตามปกติ แต่ในรายที่มีภาวะ Shoulder hand syndrome แล้วละก็ควรหลีกเลี่ยงครับ เพราะว่าผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้มักจะมีปัญหาเรื่องระบบการไหลเวียนเลือดไม่ดี เมื่อเจอความร้อนเข้าไป ร่างกายไม่สามารถถ่ายเทความร้อนได้จนทำให้เกิดเป็นแผล burn ได้นั่นเองครับผม

ในรายที่มีอาการปวดมากๆอาจจะต้องทานยาลดปวดจากแพทย์ร่วมด้วย เพื่อให้การทำกายภาพไม่สร้างความทรมานแก่ผู้ป่วยจนเกินไป

เครดิตภาพ
- http://jomurphey.blogspot.com/2013/05/stroke-survival-subluxation.html
- https://en.wikipedia.org/wiki/Complex_regional_pain_syndrome


วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

เราควรใส่สายรัดเข่า ทุกครั้งที่วิ่งไหม?


ใครที่ชอบออกกำลังกายโดยการวิ่ง แล้วชอบใส่สายรัดข้อเข่า (knee support) กันบ้าง เห็นคนอื่นเค้าใส่กันแล้วเอามาใส่บ้าง ทั้งๆที่ตัวเองก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องปวดเข่า หรือมีภาวะเข่าเสื่อมใดๆ ระวังนะครับ จะทำให้มีปัญหาที่เข่าได้ 

เราควรใส่สายรัดข้อเข่ามั้ย?

ถ้าเป็นในบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องข้อเข่าเสื่อม พึ่งผ่าตัดเข่ามา หรือมีอาการปวดเข่า ก็ไม่ควรใส่ครับ เพราะการที่เราใส่สายรัดข้อเข่า (knee support) หรืออุปกรณ์ช่วยพยุงทั้งหลายเป็นเวลานานๆนั้นจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นฝ่อลีบได้ครับ 

ใส่สายรัดข้อเข่าทำให้กล้ามเนื้อฝ่อได้ไงกัน?

เนื่องจากขณะที่เราใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงหรือสายรัดเข่า จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ถูกรัดหรือพยุงอยู่นั้นถูกใช้งานน้อยลง เพราะมีอุปกรณ์เหล่านี้คอยช่วยพยุงอยู่ ขณะเดียวกันร่างกายเราเองก็มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เมื่อร่างกายเห็นว่ากล้ามเนื้อขามัดที่ถูกรัดอยู่ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มที่เมื่อเทียบกับมวลกล้ามเนื้อที่มีอยู่ ร่างกายจึงปรับลดขนาดมวลกล้ามเนื้อรอบๆนี้ลง จะสังเกตุได้ง่ายๆเลยครับ หากผู้ป่วยท่านใดที่ชอบใส่สายรัดเข่าข้างขวาข้างเดียวตลอดเวลา เมื่อถอดสายรัดข้อออกแล้วนำว่าวัดเส้นรอบวงขาเทียบกันซ้ายขวา จะพบว่าขาข้างขวาเล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด และหากให้ผู้ป่วยถอดสายรัดออกแล้วทำกิจวัตรประจำวันตามปกติไม่ว่าจะเป็นการยืน การเดินจะพบว่าผู้ป่วยจะรู้สึกเมื่อยขา ขาล้าเร็วกว่าปกติ และหากยังคงใส่สายรัดเข่าไปนานๆเป็นปีๆ จะพบโรคๆนึงตามมานั่นคือ โรคข้อเข่าเสื่อมครับ (อ่านเพิ่มเติม โรคข้อเข่าเสื่อม)

แล้วในคนที่ชอบวิ่งควรใส่สายรัดข้อเข่ามั้ย?

ถ้าหากเราไม่มีอาการปวดเข่า หรือเคยไม่มีประวัติการผ่าตัดที่เข่ามา (จริงๆแล้วคนที่เคยผ่าตัดเข่ามาควรหลีกการออกกำลังกายโดยการวิ่งนะครับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมไวขึ้น หรือถ้าจะกลับมาวิ่งจริงๆก็ต้องให้นักกายภาพฝึกกำลังกล้ามเนื้อตั้งแต่ผ่าตัดใหม่ๆเลยละครับ) ก็ไม่ควรใส่ครับ เพราะในความเป็นจริง การใส่สายรัดเข่าไม่ได้มีผลลดแรงกระแทกใดๆต่อข้อเข่าในขณะที่วิ่งอยู่แล้วครับ ใส่ไปก็ไม่ได้ช่วยให้ข้อเข่ามีสภาพดีขึ้นแต่อย่างใด แต่ควรเน้นให้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อขาแบบ weight training แทนจะเป็นการป้องกันปัญหาเรื่องการปวดเข่าได้ตรงจุดที่สุดครับ

ทั้งนี้ทั้งนั้นเราอาจจะเคยเห็นนักกีฬาวิ่ง นักบาส นักบอล หรือนักวอลเลย์บอลใส่สายรัดเข่าเช่นกัน แต่จุดประสงค์ของนักกีฬากับคนทั่วไปที่ใส่มีความต่างกันครับ ในนักกีฬาจะใส่เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณนั้นจากการปะทะกับคู่แข่งหรือพื้นสนาม และในนักกีฬาบางรายก็มีอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าอยู่ก่อนแล้ว แต่มีความจำเป็นต้องแข่งขันต่อจึงต้องใส่ที่รัดเข่าเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนครับ และที่สำคัญคือ เหล่านักกีฬาล้วนมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงดีอยู่แล้วจากการฝึกอย่างหนัก ฉะนั้น การใส่สายรัดเข่าจึงไม่ส่งผลเสียต่อนักกีฬามากนักนั่นเองครับ 

เครดิตภาพ
http://www.thatfitnessguy.com/showitems.asp?cat=Therapy&detailcat=Tapes++and++Wraps

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

ปวดตุ้บๆที่ข้อเท้าหลังวิ่งจ๊อกกิ้ง ทั้งที่ x-ray ข้อเท้าแล้วก็ปกติดี


สำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ เชื่อว่าไม่มากก็น้อยที่มีอาการปวดข้อเท้าหลังจากวิ่งออกกำลังกายเสร็จ 30 นาที แล้วเกิดความสงสัยว่า ข้อเท้าอักเสบ? กระดูกข้อเท้าเคล็ด? หรือกระดูกข้อเท้าร้าว? ก่อนจะตอบคำถามนี้ ถ้าผู้ป่วยไป x-ray ที่กระดูกเท้า ข้อเท้า และหน้าแข้งมาแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆของกระดูก นั่นแสดงว่าเกิดจาก"กล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ"ครับ

โดยส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้ที่เริ่มวิ่งออกกำลังกายเป็นครั้งแรก หรือผู้ที่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงแล้วมาหักโหมวิ่งจนทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ 

ถึงแม้จะพบได้บ่อยในนักวิ่งหน้าใหม่ แต่ผู้ที่วิ่งเป็นประจำก็อย่าได้ประมาทครับ ถ้ากล้ามเนื้อไม่แข็งแรงเพียงพอ หรือมีอาการปวดแต่ไม่เข้ารับการรักษาใดๆ อาจเกิดเกิดปัญหากระดูกหน้าแข้งร้าว พังผืดยึดกระดูกหน้าแข้งอักเสบ หรือมีอาการปวดกล้ามเนื้อหน้าแข้งเรื้อรัง ซึ่งเรียกอาการรวมๆนี้ว่า โรค shin splint (อ่านเพิ่มเติมโรค shin splint) แต่ในบทนี้จะกล่าวเฉพาะกล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบนะครับ

อาการ กล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ

- จะมีอาการปวดตุ้บๆที่ข้อเท้าอยู่ตลอดเวลา และปวดมากขึ้นเมื่อเดินลงนํ้าหนัก
- หลังจากที่วิ่งเสร็จ 30 นาที จะเริ่มมีอาการปวดที่ข้อเท้า
- เมื่อกดลงไปที่กล้ามเนื้อหน้าแข้งจะมีอาการปวดหน่วงๆบริเวณที่กด และปวดร้าวลงหน้าข้อเท้า
- รู้สึกปวดตึงที่กล้ามเนื้อหน้าแข้ง เมื่อกดปลายเท้าลง
- อาการปวดจะทุเลาลงเองถ้าได้พัก 2-3 วัน

การดูแลรักษาแบบฉบับทำเอง

สำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ที่มีอาการดังกล่าวให้ทำตามนี้เลยครับ
- หยุดพักการออกกำลังกายโดยการวิ่งอย่างน้อย 4 วันหรือจนกว่าอาการปวดจะหายไป
- ยืดกล้ามเนื้อหน้าแข้งเพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ โดยการกดปลายเท้าลงจนรู้สึกตึงที่หน้าแข้งค้างไว้ 15 วินาที จำนวน 4 ครั้ง ทำทุกวันเช้า-เย็นอาการจะทุเลาลงเองครับ
- นำนํ้าแข็งมาประคบที่หน้าแข้งและข้อเท้า 10 นาที เพื่อลดอาการปวด อาการอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการนวด หรือการกดแรงๆ บริเวณที่ปวดใน 2-3 วันแรก เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้ออักเสบมากขึ้น
- หมั่นออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อขา เช่น ฝึกเขย่งปลายเท้าขา 2ข้าง หรือเข่งปลายเท้าข้างเดียวบนขอบพื้นต่างระดับ, ฝึกกระดกปลายเท้าขึ้นลงในท่านั่งชันเข่า, ฝึกยืนขาเดียวบนพื้นนุ่ม เช่น หมอน ผ้าห่ม เป็นต้น เพราะการสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อมีส่วนสำคัญในการป้องกันกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังได้นั่นเองครับผม

เครดิตภาพ
- http://www.athleticsweekly.com/featured/dealing-with-shin-pain-36623/



วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2559

หักคอดังกร๊อบแกร๊บบ่อยๆ เสี่ยงเป็นอัมพาตจริงหรือ?


คงสร้างความสงสัยให้คนทั่วไปไม่น้อย เมื่อถามว่า การหักข้อ หักคอจนมีเสียงดังกร๊อบแกร๊บนั้นมันอันตรายมั้ย? คำตอบที่ได้ก็จะแตกออกเป็น 2 เสียง บ้างก็บอกว่าไม่เป็นไร หรือไม่ก็บอกว่าอันตรายห้ามทำเพราะจะทำให้เกิดข้ออักเสบได้ เจออย่างงี้ก็งงกันสิครับ ฉะนั้น เพื่อไขข้อสงสัย เรามาทำความเข้าใจถึงเสียงดังในข้อกันว่ามันเกิดจากอะไร

เสียงดังในข้อเกิดจากอะไร?
แบ่งได้ 3 สาเหตุครับ 

1) เกิดจากเสียงแก๊สภายในข้อ 

ภายในข้อต่อของเราจะมีนํ้าหล่อเลี้ยงข้อ (synovial fluid) เพื่อเป็นนํ้ายาหล่อลื่นภายในข้อ ให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้สะดวก ลดการเสียดสีของข้อต่อภายในข้อ และเป็นสารที่คอยให้อาหารแก่หมอนรองกระดูกด้วย ซึ่งภายในนํ้าหล่อเลี้ยงข้อนั้น ไม่ได้มีแต่สารนํ้าเพียงอย่างเดียว แต่มีก๊าสต่างๆรวมอยู่ด้วย เช่น ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซค์ และไนโตรเจน รวมกันอยู่จนเกิดเป็นฟองแก๊สขึ้น ที่เรียกกันว่า bubble เมื่อเราหักนิ้วจะทำให้เกิดความแตกต่างของแรงดันภายในข้อจนทำให้ฟองอากาศ หรือ bubble นั้นแตกออกจนเกิดเสียงดังกร๊อบแกร็บขึ้นนั่นเองครับ

2) เกิดจากการเสียดสีของเส้นเอ็น หรือกระดูกภายในข้อ

สาเหตุนี้ตรงไปตรงมาเลยครับ คือ เกิดจากการเสียดสีของเส้นเอ็น หรือกระดูกในขณะที่เราเปลี่ยนอิริยาบท ซึ่งจะมีความต่างจากการเกิดเสียงแก๊สภายในข้อ นั่นคือ สามารถทำได้บ่อยครั้งกว่านั่นเองครับ

3) เกิดจากผิวข้อที่ไม่เรียบ

โดยมากมักพบในผู้ที่มีปัญหาเรื่องข้อเสื่อมครับ เสียงที่ดังนั้นจะทั้ง 2 แบบคือ เสียงดังกร๊อบแกร็บเหมือนที่เราได้ยิน กับเสียงที่ดังครืดคราดเหมือนวัตถุ 2 ชิ้นที่ผิวไม่เรียบมากดเบียดกัน 

การหักคอจนเกิดเสียงบ่อยๆอันตรายมั้ย?

ถ้าทำเป็นประจำทุกๆวัน วันละหลายๆครั้งจนติดเป็นนิสัยนั้น จะเกิดผลเสียในระยะยาวครับ โชคดีหน่อยก็เป็นแค่โรคข้อเสื่อม ถ้าโชคร้ายก็อาจถึงขั้นเป็นอัมพาตได้ครับ แต่กระบวนการดังกล่าวนั้นกินเวลาหลายปีมากๆครับ

การหักคอทำให้เกิดโรคกระดูกคอเสื่อมได้ยังไงกัน?

การที่เราหักคอจนเกิดเสียงดังกร๊อบแกร๊บจนเป็นเป็นนิสัยนั้น จะทำให้เส้นเอ็นที่ยึดข้อกระดูกแต่ละข้อหย่อนยาน ขาดความมั่นคง เมื่อเส้นเอ็นไม่สามารถยึดข้อกระดูกได้ดีดังเดิม จะเป็นผลให้เกิดภาวะข้อหลวมตามมาหรือที่เรียกว่า joint loose ขึ้น เมื่อเส้นเอ็นไม่สามารถพยุงข้อได้ดี เกิดภาวะข้อหลวม ผลที่ตามอีกอีกก็คือ กระดูกภายในข้อเกิดเสียดสีกัน นานวันเข้าก็ทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมตามมาในที่สุดครับ 

การหักคอทำให้เป็นอัมพาตได้หรอ?

มีโอกาสเป็นไปได้ครับ แต่พบได้น้อย ผลก็มาจากเส้นเอ็นภายในข้อขาดความแข็งแรง จนเกิดภาวะข้อหลวมนั่นแหละครับ แต่ทีนี้เรายังคงหักคอเล่นอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงจุดหนึ่งที่การหักคอนั้นทำให้เยื่อหุ้มข้อในหมอนรองกระดูกสันหลังเกิดการฉีกขาด จนสารนํ้าในหมอนรองกระดูกหลุดออกมาไปกดเบียดเส้นประสาทไขสันหลังเข้า ทำให้เกิดอัมพาตในที่สุด ถึงแม้จะพบได้น้อยแต่ก็อย่าเสี่ยงจะดีที่สุดครับ

ตอบข้อสงสัย

- การหักข้อจนเกิดเสียงดังกร๊อบแกร็บไม่ว่าจะเป็นข้อกระดูกสันหลัง คอ หรือนิ้วนั้น ไม่ทำให้เกิดโรคข้ออักเสบใดๆ ยกเว้นว่ามีอาการอักเสบอยู่แล้ว แต่ไปหักข้อก็อาจทำให้เกิดอาการอักเสบเพิ่มขึ้นได้ 
- การหักข้อสามารถทำได้ แต่ควรทิ้งระยะห่างบ้าง อย่างน้อยก็อาทิตย์ละไม่เกิน 2 ครั้งครับ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะข้อหลวม
- เราสามารถหักข้อได้ทุกของร่างกาย แต่ควรหลีกเลี่ยงการหักข้อที่ส่วนกระดูกคอ และสันหลังจะดีที่สุด
- ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการหักคอ มาเป็นการนวดที่ต้นคอ หรือการดึงคอด้วยตนเองแทน ซึ่งให้ผลดีไม่แพ้กันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะข้อหลวมด้วยครับ

อธิบายสาเหตุของเสียงดังกร๊อบแกร๊บภายในข้อ

เครดิตภาพ
- http://medical.miragesearch.com/treatment/spine-surgery/cervical-spine-disorders/




วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2559

ทำไมต้องทำกายภาพบำบัด หลังผ่าตัดด้วยละ


ครั้งนึง มีอาม่ามาทำกายภาพหลังผ่าตัดเข่าเข่าด้วยอารมณ์บูดๆ (สงสัยนอนโรงพยาบาลมานานแล้วอยากกลับบ้านไวๆ) มาถึงก็สะกิดผมทันทีว่า "ทำไมอั้วต้องมาทำกายภาพด้วยอ่า หมอผ่าตัดให้แล้วก็น่าจะเสร็จเดินได้แล้วไม่ใช้หรอ?" นั่นทำให้ผมตระหนักได้ทันทีว่ามีคนไข้จำนวนมากแน่ๆที่ยังคงเข้าใจว่า หลังผ่าตัดก็ถือว่าเสร็จสิ้นการรักษา สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเลย อยากจะบอกว่าคนนะคร้าบบบไม่ใช่อะไหล่รถยนต์ที่เข้าอู่ซ่อมรถเปลี่ยนอะไหล่นู่นนี่นั่นแล้วกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม ร่างกายของคนเรานั้นมีอะไรซับซ้อนกว่านั้นมาก 

เหตุผลที่เราต้องทำกายภาพหลังผ่าตัด

เหตุผลที่ 1 : เพื่อลดปวด ลดบวม ลดอักเสบบริเวณรอบๆแผลผ่าตัด

ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด แน่นอนเลยหลังผ่าตัดพบว่ามีอาการปวดกันทุกราย นอกจากนี้จะมีอาการบวม แดง ร้อนด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากสารนํ้าและเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณแผลมาก เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหาย และเส้นเลือดฝอยบางเส้นฉีกขาดการไหลเวียนเลือดบริเวณแผลจึงทำได้ไม่ดี เกิดอาการบวมขึ้น นักกายภาพจะมีหน้าที่ลดปวด ลดบวม โดยการยกอวัยวะให้สูงกว่าระดับหัวใจ (ในกรณีที่ผ่าตัดแขนหรือขา) ประคบเย็นบริเวณแผลเพื่อลดอักเสบ กระตุ้นไฟฟ้ารอบๆแผลเพื่อลดปวด การนวดไล่สารนํ้ารอบๆแผลผ่าตัดเพื่อลดบวม ให้คำปรึกษาในการดูแลตนเอง ข้อห้ามข้อควรระวังต่างๆ เช่น ห้ามใช้ผ้าร้อนประคบบริเวณแผลเพราะจะทำให้แผลบวมมากขึ้น เป็นต้น  

เหตุผลที่ 2 : เพื่อฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อให้แข็งแรงดังเดิม

หลังจากที่ผ่าตัดมาใหม่ๆ คงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะให้ร่างกายส่วนนั้นอยู่นิ่งๆ เพื่อให้แผลยึดติดกันดี ซึ่งการที่เราไม่ขยับร่างกายหรืออวัยวะส่วนใดๆส่วนหนึ่งนานเกิน 2 อาทิตย์ก็เพียงพอที่ทำให้กล้ามเนื้อฝ่อแล้วละครับ สังเกตุง่ายๆเลย ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดขามาแล้วมาฝึกเดินใหม่ๆจะพบว่าเดินเพียงไม่กี่ก้าวก็รู้สึกล้าขา รู้สึกเมื่อยขามากกว่าขาข้างที่ไม่ได้ผ่า หรือถ้าผ่าที่แขนก็รู้สึกว่ายกแขนไม่กี่ทีก็ล้า แขนสั่นเมื่อยกของหนัก บางรายต้องใส่เฝือกที่แขนอีกก็มีปัญหาเรื่องไหล่ติดตามมาอีก ดังนั้น การฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ 

ถ้าไม่ฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อตามที่นักกายภาพบอกละจะเกิดอะไรขึ้น?

มีผลเสียแน่นอนครับ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ผ่าตัดข้อสะโพก หรือข้อเข่า ท่านทั้งหลายอาจเคยเจอญาติหรือคนรู้จักที่ผ่าตัดข้อสะโพกเสร็จแล้ว ปรากฎว่าหลังผ่าตัดผ่านไปหลายเดือนแล้วผู้ป่วยก็ยังคงเดินไม่ได้ ต้องใช้ชีวิตบนวีลแชร์ตลอดเวลา หรือที่แย่กว่านั้นก็คือ ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหม่เพราะข้อสะโพกหลุดซํ้า เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากกำลังกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงทั้งสิ้น ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะพยุงข้อต่อนั่นเองครับ 

เหตุผลที่ 3 : เพื่อป้องกันปัญหาข้อติด หรือเพื่อเพิ่มองศาข้อต่อที่ติดแข็ง

ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อติดหลังผ่าตัดแทบทุกรายคือ ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดบริเวณเข่าครับ ก่อนผ่าตัดนี่ก็งอเข่าได้ดีอยู่แต่หลังผ่าตัดปรากฎงอเข่าไม่ได้ ขาแข็งทื้อเหมือนท่อนซุงกันเลย เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากอาการปวดนั่นแหละครับ ผู้ป่วยจึงเลี่ยงที่จะงอเข่า และเมื่อไม่ยอมงอเข่าติดต่อกันเป็นเวลานานเข้าจะทำให้เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และพังผืดภายในข้อเกิดการหดรั้ง จนในที่สุดผู้ป่วยก็เกิดภาวะข้อติดขึ้น ซึ่งสร้างปัญหาการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการนั่ง การขึ้นบันได หรือแม้กระทั่งการเดินที่ไม่สามารถงอเข่าได้เต็มที่ และเสี่ยงต่อการล้มอย่างมาก นักกายภาพจะมีบทบาทในส่วนนี้อย่างมากในการทำความเข้าใจกับผู้ป่วยทั้งก่อนผ่าและหลังผ่า ให้ผู้ป่วยพยายามฝืนเคลื่อนไหวข้อต่อให้ได้มากที่สุด และผู้ป่วยก็ไม่ค่อยยอมทำกันหรอกครับ เพราะมันเจ็บไงครับ นักกายภาพจึงต้องกระตุ้นผู้ป่วยในส่วนนี้อย่างมากเลยละครับ

เครดิตภาพ
- http://www.vansportsphysio.com/joint-mobilization-manipulation-therapy/


กินแคลเซี่ยมอัดเม็ดเป็นประจำ ช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้จริงหรือ?


กินแคลเซี่ยมอัดเม็ดเป็นประจำ ช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้จริงหรือ?

ตอบ : ไม่ได้ครับ การทานแคลเซี่ยมจะเห็นผลดีในผู้ที่เป็นโรคกระดูกเปราะ กระดูกพรุน มวลกระดูกน้อย แต่ทั้งนี้การทานแคลเซี่ยมเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอที่จะเสริมมวลกระดูกให้แข็งแรงได้เช่นกัน สิ่งที่ควรทำคู่กันคือ การออกกำลังกายประเภทยกนํ้าหนัก ซึ่งจากงานวิจัยระบุว่าสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ดี โดยเฉพาะในเพศหญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนสูงกว่าเพศชายสูงมาก

ส่วนสาเหตุที่ทานแคลเซี่ยมแล้วไม่มีผลต่อผู้ที่เป็นโรคกระดูกข้อเข่าเสื่อมนั้น(หรือข้อเสื่อมบริเวณอื่นๆ) ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่า ภาวะกระดูกข้อเข่าเสื่อมนั้น เกิดจากหมอนรองกระดูกข้อเข่าสลายไปจากการใช้งานที่นานตามอายุไข และเกิดจากแรงกระแทกภายในข้อ จนทำให้หมอนรองกระดูกเสียหายและสูญสลายไป จนเหลือแต่เนื้อกระดูกเพียวๆ ซึ่งหน้าที่ของหมอนรองกระดูกหลักๆแล้วคือ ช่วยดูดซับแรงกระแทกภายในข้อ และป้องกันไม่ให้เนื้อกระดูกมาเสียดสีกันจนทำให้เนื้อกระดูกเสียหายแล้วเกิดอาการบาดเจ็บได้ แต่เมื่อหมอนรองกระดูกหายไปแล้ว พอเราเดินลงนํ้าหนักกระดูกทั้ง 2 ชิ้นจึงเบียดชนกันทำให้เกิดอาการปวดเสียวขึ้น

และที่สำคัญ ตัวหมอนรองกระดูกก็ไม่ได้มีส่วนประกอบของแคลเซี่ยม แต่เป็นพวกคอลลาเจนเสียส่วนใหญ่ (เป็นคอลลาเจนชนิดที่ 2 หรือ collagen type 2) ฉะนั้น การทานแคลเซี่ยมเข้าไปมากแค่ไหนก็ถือว่าเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์และเสียเงินมากโดยใช่เหตุครับ

ถ้างั้นกินคอลลาเจนจะช่วยให้หมอนรองกระดูกกลับมาเป็นปกติได้มั้ย?

ก็เห็นผลดีในผู้ป่วยข้อเสื่อมระยะแรกครับ แต่ในผู้ป่วยที่ข้อเสื่อมชนิดที่เรียกว่าหมอนรองกระดูกแทบจะหายไปจากข้อหมดแล้วนั้น ก็หมดสิทธิ์ครับ แต่อย่างที่กล่าวไป ต้องออกกำลังกายยกนํ้าหนักหรือประเภท weight training ร่วมด้วย โดยเฉพาะที่กล้ามเนื้อต้นขา เพราะการออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงพอที่จะพยุงข้อต่อไม่ให้กระดูกมาเสียดสีกันได้ และยังช่วยให้นํ้าเลี้ยงข้อเข่าถูกดูดซึมไปหล่อเลี้ยงหมอนรองกระดูกได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีผลต่อการซ่อมแซมหมอนรองกระดูกให้อยู่กับร่างกายเราไปอีกนานแสนครับ

เครดิตภาพ 
http://www.interactive-biology.com/3992/functional-anatomy-of-the-knee-movement-and-stability/