เมนูหน้าเว็บ

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เคสน่าศึกษา 03 ปวดเข่าด้านใน จากสะโพกอ่อนแรง


เคสน่าศึกษา 03
ปวดเข่าด้านใน จากสะโพกอ่อนแรง

ถ้านึกถึงอาการปวดเข่า คนวัยทำงานหลายคนจะคิดถึงโรคข้อเข่าเสื่อม โรคที่มีความผิดปกติของข้อเข่า แล้วคิดว่าจะพบในผู้สูงอายุกันเสียเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็มองว่าเป็นอาการปวดที่เกิดจากเอ็นอักเสบ เอ็นฉีกทั่วๆไปกันใช่มั้ยครับ แต่ในเคสที่ผมจะยกตัวอย่างให้ดูกันนี้ เกิดอาการปวดเข่าด้านในจากกล้ามเนื้อสะโพกอ่อนแรงครับผม กล้ามเนื้อสะโพกอ่อนแรงมีผลทำให้ปวดเข่าด้านในได้อย่างไร ติดตามได้เลยครับ

สำหรับผู้ป่วยรายนี้มาหาผมด้วยอาการปวดเข่าด้านในอย่างไม่ทราบสาหตุ คือ จู่ๆก็ปวดขึ้นมาซะดื้อๆอย่างงั้น ไม่ได้ล้ม ไม่ได้เกิดอุบัติเหตุ ไม่ได้เล่นกีฬา ไม่ได้ออกกำลังกายอะไรด้วย ตอนแรกคิดว่าเดินเยอะเลยทำให้ปวดเลยทนๆไป ทนไปได้เดือนกว่าอาการปวดไม่มีทีท่าว่าจะหายซะที แถมเป็นหนักกว่าเดิมด้วยซํ้า

จากเดิมที่จะปวดมากเวลาเดินขึ้นลงบันได ปัจจุบันนี้แม้แต่เดินบนพื้นราบก็ปวดแล้ว แถมเวลาขึ้นลงบันไดต้องตะแคงตัวเดินทางด้านข้าง ค่อยๆย่องลงมาทีล่ะขั้น ทีล่ะขั้น แล้วลักษณะงานต้องเดินขึ้นลงบันไดตลอดเวลาด้วย เป็นอะไรที่ทรมานมากๆ พักหลังมานี้จึงเดินแบบคนขาแข็งเหมือนคนใส่เฝือกขา คือ ไม่กล้าเดินงอเข่ามากเพราะกลัวเจ็บเข่า

คนไข้เล่าประวัติมาแบบนี้ ผมก็เฉลียวใจตั้งแต่ที่คนไข้บอกว่าเดินขึ้นลงบันไดไม่ค่อยได้แล้วล่ะครับ และอีกอย่าง ตัวคนไข้ก็อายุแค่ 30 ต้นๆ ไม่มีประวัติว่าเคยบาดเจ็บที่ข้อเข่าแบบรุนแรงมาก่อนด้วย ตัดเรื่องข้อเข่าเสื่อมไปได้เลย ช่วงอายุแค่นี้ไม่มีทางเป็นเข่าเสื่อมแน่นอน สันนิษฐานว่าน่าจะมีปัญหาที่ข้อเข่ามันบิด หรือไม่ก็กล้ามเนื้อสะโพกอ่อนแรงแน่ๆถึงทำให้ปวดแบบนี้ได้ ผมจึงทดสอบให้คนไข้ลองยืนขาเดียว ปรากฎได้ตามภาพข้างล่างนี้ครับ...

ยืนขาเดียว เพื่อทดสอบความแข็งแรงกล้ามเนื้อสะโพกที่เรียกว่า trendelenburg test
โดยในภาพเป็นการทดสอบความแข็งแรงกล้ามเนื้อสะโพกข้างขวา

จากภาพด้านบนเป็นการทดสอบที่มีชื่อว่า trendelenburg test ซึ่งทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพกที่ทำหน้าที่กางขา โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ gluteus medius ถ้าคนที่กล้ามเนื้อแข็งแรงดีจะตรงกับภาพซ้าย แต่ถ้าสะโพกอ่อนแรงจะตรงกับภาพขวา นั่นคือ พอยืนขาเดียวปุ๊บสะโพกข้างใดข้างหนึ่งมันจะตกลงมาทันที ซึ่งกรณีคนไข้รายนี้มีปัญหากล้ามเนื้อสะโพกอ่อนแรงข้างซ้ายครับ คือ ยืนขาซ้าย ยกขาขวาลอย แล้วสะโพกข้างขวามันตกลงมา 


ภาพแสดงตำแหน่งของกล้ามเนื้อ gluteus medius ที่อยู่ด้านข้างสะโพก

ทีนี้ผมรู้แล้วว่า คนไข้รายนี้มีปัญหากล้ามเนื้อสะโพกอ่อนแรง แต่ที่ยังคาใจอยู่ก็คือ คนที่สะโพกอ่อนแรงไม่จำเป็นต้องปวดเข่าทุกคนเสมอไป ทำไมรายนี้ถึงปวดเข่าด้านในมาก แถมเค้ายํ้าด้วยนะว่า ยิ่งขึ้นลงบันไดยิ่งปวดสุดๆ ผมจึงให้คนไข้ลองเอาขาข้างนึงขึ้นไปบนเก้าอี้ แล้วทำท่าเหมือนจะเดินขึ้นบันไดเท่านั้นแหละ ผมร้องอ๋อทันที คนไข้ทำตามภาพด้านล่างนี้ครับ...


ภาพเปรียบเทียบท่าเดินขึ้นบันไดของขาทั้ง 2 ข้าง

เพื่อนๆเห็นความผิดปกติอะไรมั้ยครับ สังเกตุที่ภาพซ้ายกระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้งวางตัวอยู่ในแนวเกือบจะเป็นเส้นตรงดีเมื่อผมลากเส้นจากบนลงล่าง แต่พอมาดูอีกฝั่งหนึ่ง โอ้โห ขาของคนไข้โย้เข้ามาด้านในเต็มที่เลย พอลากเส้นจากบนลงล่าง จะเห็นเลยว่า เส้นมันตัดกันเยอะมากเมื่อเทียบกับข้างปกติ

ซึ่งคนไข้ไม่รู้เลยว่า ตัวเองเดินขึ้นบันไดในลักษณะขาแบบนี้ แล้วที่สำคัญ ผมลองให้คนไข้ลงนํ้าหนักขาซ้ายเต็มที่แล้วทำท่าเหมือนจะก้าวขาขึ้นบันไดจริงๆ ปรากฎคนไข้มีอาการปวดเข่าแปล็บที่ด้านในทันที แต่พอผมแนะให้กางขาเยอะหน่อย ทำเหมือนให้เหมือนขาข้างปกติเลยนะ แล้วก็ลงนํ้าหนักขาเหมือนจะก้าวขาขึ้นบันไดเหมือนเดิม คราวนี้รู้สึกว่าอาการปวดเข่าด้านในมันน้อยลงทันทีเลย (แต่ยังปวดอยู่นะ)

เหตุที่คนไข้บิดเข่าเข้าด้านในเยอะๆตามภาพขวาขณะเดินขึ้นบันได แล้วเกิดอาการปวดเข่าได้นั้น มันเป็นเรื่องของแนวแรงครับ...

โดยปกติแล้วขณะที่เราเดินลงนํ้าหนัก เมื่อเท้าสัมผัสกับพื้นมันจะเกิดแรงสะเทือนจากพื้นสู่เท้า จากเท้าก็กระจายไปที่ข้อเข่า ข้อสะโพก จนถึงกระดูกเชิงกรานแล้วแรงสะเทือนก็ลดลงไป แล้วถ้าเรามีการวิ่ง หรือการกระโดด แรงสะเทือนจะสะท้อนขึ้นมาจากเท้าจนถึงสะโพกก็มากขึ้นตามลำดับ ซึ่งโดยปกติมันควรเป็นอย่างนั้นนะ 

แต่ในรายที่การวางเท้าขณะเดินไม่ได้อยู่ในแนวปกติเหมือนในภาพขวา แนวแรงสะเทือนแทนที่จะเลยเข่าไปที่สะโพก แต่แนวแรงดันไปกระจุกอยู่ที่หัวเข่าด้านในแทน ตามลักษณะการลงนํ้าหนักของขา และองศาของเข่าที่บิดไป จึงทำให้เอ็นเข่าด้านในถูกยืด ถูกกระชากจากองศาเข่าที่บิดไป ระยะแรกๆก็ไม่เป็นไรหรอกครับ แต่เมื่อเดินแบบนี้ซํ้าๆกันเป็นเดือนๆเป็นปีๆ ในที่สุดเอ็นมันก็รับสภาพไม่ไหวจนทำให้เอ็นอักเสบได้ในที่สุด  

ลักษณะแนวแรงที่สะท้อนขึ้นไปที่เข่า

ซึ่งกระบวนการที่ทำให้ปวดเข่าด้านในได้นั้น ไมได้เกิดปุบปับทันทีนะ บางรายเดินขึ้นบันไดด้วยเข่าบิดๆแบบนี้มา 5-6 เดือนแล้วพึ่งมีอาการ บางรายก็ 1 เดือนก็มี มันขึ้นอยู่กับพื้นฐานความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของเราด้วยครับ 

ซึ่งวิธีการรักษาของคนไข้รายนี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยนะ เริ่มจาก..

1) ผมสังเกตุเห็นว่าคนไข้มีกระดูกหน้าแข้งข้างซ้ายบิดเข้าด้านใน (internal rotate) มากกว่าข้างปกติ จึงดัดกระดูกหน้าแข้งให้กลับไปอยู่ในองศาเดิมร่วมกับให้มีการเคลื่อนไหวของข้อเข่า (mobilization with movement) เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่าได้ออกแรงและจดจำองศาข้อเข่าในแบบที่ควรจะเป็น ซึ่งผมไม่ขอลงรายละเอียดเทคนิคตรงนี้นะครับ เพราะมันเป็นเทคนิคเฉพาะทางที่อธิบายเป็นภาษาเขียนลำบากและมีความละเอียดสูงครับผม

2) เมื่อผมดัดหน้าแข้งให้อยู่ในแนวเดิมได้แล้ว ผมก็ให้คนไข้ฝึกลงนํ้าหนักขาซ้าย โดยให้ทำท่าเหมือนกับเราจะเดินขึ้นบันได แล้วให้คนไข้ฝืนตัวเองขณะลงนํ้าหนักเท้าซ้าย ให้เข่ากับเท้าตรงกันเป็นแนวเส้นตรงเหมือนขาข้างปกติ ซึ่งตัวคนไข้บอกเลยว่า การทำแบบนี้รู้สึกฝืนมากๆ ไม่ชินเลย โดย 20 ครั้งแรกเข่าคนไข้จะเป๋ไปเป๋มาตลอด แทบจะคุมให้เข่าตรงได้ยากต้องคอยมองขาตลอดเวลาที่ทำ หากไม่มองขาขณะฝึกลงนํ้าหนักขาเหมือนจะขึ้นบันไดนะ เข่าพร้อมจะบิดเข้าด้านในทันทีเลยครับ แต่พอฝึกไปได้ประมาณครั้งที่ 30 ก็เริ่มรู้สึกว่าเริ่มคุมเข่าได้ง่ายขึ้นแล้ว

3) สุดท้ายก็แนะนำท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะโพกกลุ่มที่ทำหน้าที่กางขาให้แข็งแรง (hip abduction) โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่มีชื่อว่า gluteus medius เพราะกล้ามเนื้อกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะป้องกันไม่ให้เข่าบิดเข้านด้านในขณะที่เราเดินขึ้นบันได แล้วทำให้เราหายปวดเข่าได้ถาวรจริงๆนั่นเองครับผม ซึ่งท่าออกกำลังกายในส่วนของเราโรคนี้ ผมยังไม่ได้ทำคลิปออกมาในส่วนนี้นะ แต่มีคลิปอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันใน youtube ให้เพื่อนลองไปเลือกดูกันได้หลายคลิปเลย ตามลิงค์นี้ครับ www.youtube.com/exercise gluteus medius  

ซึ่งผมใช้เวลาในการรักษาคนไข้รายนี้จนหายขาดประมาณ 6 สัปดาห์ครับผม แต่จะหายช้าหรือเร็วนั้นจริงๆแล้ว มันขึ้นอยู่กับวินัยการทำกายบริหารของคนไข้เองด้วยนะ ถ้าขยันดี พื้นฐานเป็นคนแข็งแรงดีอยุ่แล้วก็จะหายไวกว่านี้แน่นอนครับผม 

หลังจากอ่านกรณีศึกษานี้จบ ผมจะให้การบ้านเพื่อนๆอยู่ 1 อย่าง นั่นก็คือ ทุกๆครั้งที่เพื่อนๆเดินขึ้นบันได ผมอยากให้สังเกตุเข่าทั้ง 2 ข้างของตัวเองว่า เราเผลอเดินเข่าบิดเข้าด้านในเหมือนคนไข้รายนี้รึเปล่า แล้วถ้าเห็นว่าเป็นล่ะก็ ทุกๆครั้งที่เดินขึ้นบันได ให้เราพยายามบังคับเข่าให้ตรงทุกครั้งนะครับ ไม่เช่นนั้น ด้วยพฤติกรรมผิดเล็กๆน้อยๆสะสมแบบนี้แหละ ที่จะทำให้เราเกิดอาการปวดเข่าด้านในจนแทบเดินกันไม่ได้เลยนะครับผม ^^

-----------------------------------------------------
เวลาทำการดูบอดี้ คลินิกกายภาพบำบัด 
วันเสาร์-อาทิตย์ 8.00-20.00 น.
วันจันทร์-ศุกร์ 16.00-20.30 น. 
.
โปรดนัดจองเวลาก่อนเข้าคลินิกทุกครั้งนะครับ
เบอร์ 064-008-7537 
1) แจ้งชื่อผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษา
2) แจ้งวัน และเวลาที่ต้องการเข้าคลินิก เพื่อล็อกเวลา
.
แผนที่ดูบอดี้ คลินิกกายภาพ => https://goo.gl/shPWGR



วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เคสน่าศึกษา 02 ปวดหลังเป็นปีๆ เพราะหลังแอ่นแท้ๆ


เคสน่าศึกษา 02 
ปวดหลังเป็นปีๆ เพราะหลังแอ่นแท้ๆ

อาการปวดหลัง ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหน ยังไงเสียเพื่อนๆก็คงเคยเป็นกันแทบทุกคนแน่นอน แต่สำหรับเคสนี้มีอาการปวดหลังเรื้อรังมานานมาก มีอาการปวดแบบเป็นๆหายๆอยู่ตลอดเวลา รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หายขาดซะที รักษามาก็นานมาก แถมเป็นคนที่ออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอด้วยนะ ทำไมคนที่ร่างกายแข็งแรง และออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอถึงปวดหลังเรื้อรังได้ ในโพสนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับผม

เพื่อไม่ให้โพสยาวเกินไปจนเพื่อนๆหลับคาบทความ ผมจะสรุปเลยนะครับ ปัญหาของคนไข้รายนี้ก็คือ 

**ปัญหาหลัก : 
คนไข้รายนี้เป็นคนมีบุคคลิกหลังแอ่น (lumbar hyperlordosis) ตลอดเวลาครับ ไม่ว่าจะยืน เดิน นอน นั่ง หลังจะแอ่นอย่างนี้ตลอดเลยนะ สังเกตุจากรูปภาพทางด้านหลังจะเห็นว่า คนไข้ยืนหลังแอ่นจนเห็นร่องหลังมันลึกเข้าไปเลย แล้วพอมองจากด้านข้าง จะเห็นคนไข้มีพุงยื่นออกมาด้วย ซึ่งคนไข้ไม่ใช่คนอ้วน หุ่นออกจะดีด้วยซํ้าไป แต่ดันมีพุงซะงั้น 


คนไข้มีลักษณะพุงยื่นหลังแอ่น สังเกตุจากเส้นลากที่เว้าเข้าไป

มองจากด้านหลัง จะเห็นเป็นร่องเว้าเข้าไปในร่องสันหลัง


ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพุงที่เห็นไม่ได้เกิดจากไขมันที่หน้าท้องเยอะอะไรหรอกนะครับ แต่เกิดจากหลังที่แอ่นมากเนี่ยแหละ มันเลยทำให้ดูมีพุงนั่นเองครับผม 

*ปัญหารอง : 
โดยปัญหารองจะมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ 

1) กล้ามเนื้อหลังส่วนเอวตึงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างกระดูกสันหลังระดับเอวที่แอ่นไปด้านหน้ามากๆ เลยทำให้กล้ามเนื้อหลังส่วนนี้ต้องออกแรงเกร็งตามไปด้วย เพื่อพยุงกระดูกสันหลังไม่ให้แอ่นไปมากกว่าเดิม 


มองจากด้านหลัง จะเห็นลำกล้ามเนื้อที่ตึงขึ้นมา

แต่ด้วยหลังที่แอ่นตลอดเวลา กล้ามเนื้อหลังส่วนนี้จึงต้องเกร็งค้าง แล้วเมื่อเกร็งค้างนานๆ กล้ามเนื้อมันก็ล้า พอล้ามากๆเข้าก็กลายเป็นอาการปวดในที่สุด หากคนไข้รายนี้ไปนวดหลัง นวดแบบธรรมดาเลยนะ อาการปวดหลังจะดีขึ้นทันทีเลยครับ แต่ไม่นานอาการปวดหลังก็จะกลับมาเป็นใหม่ เพราะหลังตึง..เป็นเพียงปัญหารองของกระดูกสันหลังที่แอ่นอยู่นั่นเองครับผม

การรักษาในจุดนี้ผมก็ใช้การกด การคลายกล้ามเนื้อหลัง การยืดกล้ามเนื้อหลังธรรมดาๆเลยครับ เพื่อลดแรงตึงของกล้ามเนื้อ แล้วเตรียมพร้อมสำหรับการรักษาในส่วนอื่นต่อไป

2) กล้ามเนื้อกลุ่ม iliopsoas ที่อยู่ทางด้านหน้ากระดูกสันหลังส่วนเอวมันตึงมาก ซึ่งหากกล้ามเนื้อมัดนี้เกิดตึงมากๆ จะทำให้เราเกิดภาวะกระดูกสันหลังแอ่นได้ง่ายขึ้น เนื่องจากกล้ามเนื้อมัดนี้ไปเกาะที่หน้ากระดูกสันหลังตามภาพ พอกล้ามเนื้อตึงมันก็จะดึงให้หลังยื่นมาด้านหน้าจนหลังแอ่นในที่สุด โดยการที่กล้ามเนื้อมัดนี้ตึงได้เกิดได้หลายปัจจัยนะ เช่น ชอบนั่งทำงานนานๆ มีพฤติกรรมนั่งหลังแอ่น ชอบวิ่งออกกำลังกายโดยไม่ได้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้มากพอ เป็นต้น 


กล้ามเนื้อ psoas major ถ้ามัดนี้ตึง จะดึงให้หลังแอ่นจากตำแหน่งที่มันเกาะกระดูกสันหลัง

การรักษาในส่วนที่ 2 นี้ผมก็คลายกล้ามเนื้อโดยใช้นิ้วกดๆคลึงๆไปที่หน้าท้องของคนไข้ (ตามภาพด้านล่าง) ซึ่งเป็นตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่วางตัวอยู่นั่นเองครับ แล้วก็แน่นอน คนที่หลังแอ่นมากขนาดนี้ กล้ามเนื้อ iliopsoas จะตึงขนาดไหน อย่าว่าแต่กดเลยครับ แค่แตะลงไปเบาๆก็ตึงปวดจากหน้าท้องแล้วสะท้านไปทั่วทั้งหลังเลย 


ตัวอย่างการกดหน้าท้องเพื่อคลายกล้ามเนื้อ iliopsoas 
ดูคลิปเต็มๆได้ที่ https://youtu.be/IR4WHHbAfgM

3) ข้อกระดูกสันหลังระดับเอวยึดติดกันเป็นแผง สังเกตุได้จากที่ผมให้คนไข้ทำท่าแมวขู่ (cat pose) ถ้าคนที่กระดูกสันหลังมีความยืดหยุ่นดี เค้าจะสามารถทำหลังให้โค้งเป็นรูปตัว C ควํ่าได้ แต่สังเกตุรายนี้ให้ดี เค้าทำหลังโค้งได้เฉพาะหลังส่วนบน แต่หลังส่วนเอวดันเป็นเส้นตรงซะงั้น 

สังเกตุหลังส่วนล่างจะเป็นเส้นตรง

เมื่อเทียบกับคนที่หลังมีความยืดหยุ่นดี หลังส่วนล่างจะดูโค้งกว่า

นั่นหมายความว่า คนไข้รายนี้มีปัญข้อกระดูกสันหลังยึดติดกันอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างหลังแอ่นที่เป็นมานานนั่นเองครับผม เคสนี้จะต้องใช้การดัดข้อกระดูกสันหลังที่ติดทั้งหมดให้เกิดการคลายตัว จนข้อกระดูกสันหลังเคลื่อนไหวได้เป็นอิสระแล้วสามารถทำหลังโค้งๆเป็นรูปตัว C ควํ่าได้ทั้งสันหลัง แต่แม้จะคลายข้อกระดูกสันหลังที่ติดดีแล้ว ก็ไม่ได้หมายความจะทำให้หลังหายแอ่นได้นะ ข้อติดก็ส่วนข้อติด หลังแอ่นก็ส่วนหลังแอ่น ไม่เกี่ยวกันครับ 

การรักษาในส่วนที่ 3 ก็จะใช้การดัดข้อสันหลังที่ติดทั้งหมดให้เกิดการคลายตัวก็เป็นอันเรียบร้อย แล้วจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการแก้หลังแอ่นซึ่งเป็นปัญหาใหญ่กันต่อเลยครับ

โดยการที่เราคลายข้อที่ติด จะทำให้คนไข้ฝึกปรับท่าเพื่อแก้หลังแอ่นทำได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเองครับผม สังเกตุได้จากคนไข้หลายคนที่มารักษากับผม มักจะเคยไปรักษาโดยการดัดหลังให้มีเสียงกร๊อบๆ พอดัดจนเสียงดังปุ๊บ จะรู้สึกว่าหลังมันโล่งขึ้น หลังเบาขึ้นทันที แต่ประมาณ 2 สัปดาห์ หรือไม่ก็ 1 เดือน อาการปวดหลังก็จะค่อยๆกลับมาเป็นใหม่ได้ เพราะพฤติกรรมความเคยชินต่อการทำท่าแอ่นหลังขณะยืน เดิน นั่งยังคงมีอยู่ ถ้าจะให้หายขาดตลอดชีวิตเลย ต้องแก้ที่สมองครับ 


นอกจากนี้ผมทดสอบให้คนไข้ก้มหลังแตะปลายเท้า ปรากฎคนไข้ก้มหลังได้ตามภาพ C ครับ หลังแข็ง

โดยการแก้ที่สมองในที่นี้ผมไม่ได้ให้ไปผ่าตัดเปลี่ยนสมองแต่อย่างใดนะ แต่ให้ใช้การปรับพฤติกรรม และปรับความรู้สึกให้เราม้วนก้นห่อหลังน้อยๆอยู่ตลอดเวลานั่นเองครับผม 


คลิปตัวอย่างการฝึกคนไข้ให้ม้วนก้นในท่ายืน

ซึ่งผมจะให้คนไข้ยืนหลับตาแล้วพยายามม้วนก้นขึ้น เก็บพุงหน่อยๆจนหลังมันหายแอ่น (ดูคลิปตัวอย่างการฝึกที่ลิงค์ด้านบนได้ครับ) จากนั้นก็ถามคนไข้ว่า "ขณะนี้รู้สึกว่าตัวเองยืนยังไง?" คนไข้จะตอบทันทีว่า "รู้สึกว่าตัวเองกำลังยืนห่อหลัง ทำหลังค่อมมากๆอยู่อ่ะ" พอคนไข้ตอบมาแบบนี้ ผมก็ให้คนไข้ลืมตาขึ้น แล้วมองกระจกทันที คนไข้ก็จะแปลกใจตัวเองว่า "ภาพในกระจกตัวเรายืนหลังตรงดีมากๆ หลังไม่แอ่น พุงก็ไม่ยื่นแล้ว (เหมือนภาพด้านล่างทางขวา) แต่ความรู้สึกตอนทำม้วนก้นเหมือนตัวเองกำลังยืนหลังค่อมมากๆอยู่เลยนะ ทำไมภาพที่เห็นกับความรู้สึกมันไม่ตรงกันเลย?" 


ภาพเปรียบเทียบยืนตามความเคยชิน กับยืนม้วนก้นลงตลอดเวลา (หลังจะแอ่นน้อยลง)

ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวข้อต่อแถวเชิงกรานและหลังระดับเอวมันคุ้นชินกับการทำงานแบบนี้อยู่ เราต้องใช้สติ (สมอง) เข้าไปสั่งการให้ม้วนก้นจนหลังมันตรงเป็นปกติอยู่ตลอดเวลา จนเส้นประสาทรอบๆข้อเชิงกรานมันเกิดการเรียนรู้ แล้วค่อยๆปรับความรู้สึกให้ตรงกับความเป็นจริงตามภาพที่เราเห็น พูดง่ายๆก็คือ เราต้องสอนเส้นประสาทส่วนนั้นให้มันจำใหม่ เรียนรู้ใหม่ทั้งหมด คนไข้ถึงจะหายปวดหลังได้อย่างถาวร แล้วไม่กลับมาหลังแอ่นจนปวดหลังได้อีกเลยตลอดชีวิต เพราะเราสามารถยืนในท่าที่ถูกต้องได้เป็นอัตโนมัติแล้วนั่นเองครับ


ภาพเปรียบเทียบ ยืนปล่อยตามสบาย กับยืนม้วนก้น 
(ผมฝึกให้คนไข้กายใจเข้าลึกๆร่วมกับม้วนก้น ร่องสันหลังจึงตื้นขึ้นไว)

ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าที่ตัวเราจะปรับพฤติกรรมได้นั้น มันขึ้นอยู่กับความถี่ของการฝึก และสติของตัวเองเนี่ยแหละครับ ถ้าขยันดีมากมีสติที่จะบังคับให้ม้วนก้นอยู่ตลอด บางรายแค่สัปดาห์เดียวหายขาดก็มี แต่บางราย 2 เดือนแล้วยังไม่หายก็มีเช่นกัน 

ในช่วงแรกของการฝึก มันจะยากที่จะควบคุมสติตัวเองให้ม้วนก้นอยู่ตลอดเวลา (เพื่อไม่ให้หลังแอ่น) ดังนั้น ผมจะต้องติดเทปรอบๆเชิงกรานเป็นตัวช่วย เพื่อให้การม้วนก้นขณะยืน-นั่งทำได้ง่าย และเป็นการเตือนสติของคนไข้เองด้วยนั่นเองครับ ซึ่งคนไข้ที่มีอาการแบบนี้ จะโดนผมติดเทปที่หลัง ที่เชิงกรานจนดูเหมือนมอมมี่ไปหลายคนอยู่นะ ฮาๆๆ

-----------------------------------------------------
เวลาทำการดูบอดี้ คลินิกกายภาพบำบัด 
วันเสาร์-อาทิตย์ 8.00-20.00 น.
วันจันทร์-ศุกร์ 16.00-20.30 น. 

โปรดนัดจองเวลาก่อนเข้าคลินิกทุกครั้งนะครับ
เบอร์ 064-008-7537 
1) แจ้งชื่อผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษา
2) แจ้งวัน และเวลาที่ต้องการเข้าคลินิก เพื่อล็อกเวลา

แผนที่ดูบอดี้ คลินิกกายภาพ => https://goo.gl/shPWGR

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เคสน่าศึกษา 01 วิ่งจนเจ็บ เพราะขาสั้นยาวไม่เท่ากัน


เคสน่าศึกษา 01
วิ่งจนเจ็บ เพราะขาสั้นยาวไม่เท่ากัน (แบบหลอกๆ)

ในระยะหลังๆมานี้ มีคนไข้ที่เจ็บจากการวิ่งมาผมบ่อยมากๆ แล้วแทบทุกเคสจะมีอาการปวดขาแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะปวดเท้า ปวดหน้าแข้ง ปวดสะโพก ปวดข้างเข่าด้านนอก แล้วสาเหตุของอาการปวดส่วนใหญ่ที่พบก็มาจากขาสั้นยาวไม่เท่ากันทั้งนั้นเลยนะ .

อย่างเคสนี้ก็เช่นกัน มีอาการเจ็บที่ฝ่าเท้าซ้าย กับด้านข้างเท้าใกล้กับส้นเท้าซ้าย และปวดที่ก้นซ้าย แล้วจะปวดมากหากนั่งนานๆ ซึ่งอาการทั้งหมดพึ่งเป็นได้ 3-4 วันหลังจากที่ไปวิ่ง trail 
(วิ่ง trail คือวิ่งในพื้นที่ธรรมชาติ วิ่งตามป่าเขา พื้นลูกรัง พูดง่ายๆคือ ไม่ได้วิ่งบนถนนคอนกรีตน่ะครับ) 

โดยคนไข้ก็เล่าว่า "ตัวเองก็วิ่งออกกำลังกายแบบนี้มา 3 ปีแล้ว วิ่งบนถนนทุกรูปแบบก็ไม่ได้ปวดอะไรมากมาย รองเท้าวิ่งก็เปลี่ยนเมื่อ 7-8 เดือนก่อน ถ้าเป็นเพราะรองเท้าวิ่งมันน่าจะเจ็บตั้งแต่ช่วงแรกๆแล้ว ทำไมถึงมาเจ็บหนักจนลงนํ้าหนักที่เท้าซ้ายแทบไม่ได้เลย แถมที่สะโพกซ้ายก็ปวดหนักมากโดยเฉพาะตอนนั่งทำงานนานๆ อาการมาเป็นพร้อมกันหลังจากวิ่งมานี่เอง" พอรู้ประวัติการเจ็บคร่าวๆแล้ว เรามาหาคำตอบกันครับ 
.
ทีนี้มาดูกันว่าผมตรวจคนไข้แล้วเจอปัญหาอะไรบ้าง มาดูกัน..

1. คนไข้มีระดับความสูงตํ่าของสะโพกไม่เท่ากัน ดูจากรูปที่ 1 จะเห็นว่าระดับของสะโพกซ้ายอยู่ตํ่ากว่าขามาก สงสัยว่ามีปัญหาที่เท้าซ้ายแบนรึเปล่า หรือไม่ก็ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน หรือเกิดจากหลังคด ทดเอาไว้ในใจก่อน


ระดับกระดูกเชิงกรานซ้ายตํ่ากว่าขวา

2. เช็คระดับของหัวไหล่ทั้ง 2 ข้าง ปรากฎว่าหัวไหล่ซ้ายอยู่ตํ่ากว่าขวาเล็กน้อย ซึ่งคล้อยตามตำแหน่งของสะโพกซ้ายอยู่ตํ่ากว่าขวาด้วย 

3. ดูไหล่ ดูสะโพกแล้ว เรามาดูเท้ากันต่อ พอก้มไปมองเท้าจากด้านหลังป๊าบบบบ จากภาพที่ 2 จะเห็นเลยว่า คนไข้รายนี้มีปัญหาเท้าซ้ายแบนนะ ถึงแม้จะไม่มากแต่เมื่อเทียบกับข้างขวาแล้วก็ดูแบนอยู่ดี หากเพื่อนๆดูไม่ออกว่ามันแบนยังไง ก็ดูเส้นสีชมพูที่ผมลากจากส้นเท้าผ่านเอ็นร้อยหวายดูครับ จะเห็นว่าเส้นด้านซ้ายมันไม่ได้ตรงเหมือนข้างขวา 


เท้าซ้ายแบน

4. มองจากด้านข้างที่ระดับเอว จะเห็นว่าคนไข้มีปัญหาหลังแอ่นร่วมด้วย (hyperlordosis of lumbar spine) แต่เพื่อความแน่ใจเลยให้คนไข้นอนหงายเหยียดขาทั้ง 2 ข้างไป จากนั้น ผมเอามือสอดที่หลังระดับเอวปรากฎว่ามือทั้ง 2 ข้างรอดใต้เอวได้สบายๆเลย ทั้งๆที่ไม่ควรจะเอามือสอดใต้เอวได้นะ 


ลักษณะกระดูกสันหลังระดับเอวที่แอ่น

5. ต่อมา ที่ผมทดเอาไว้ในใจ สงสัยว่าคนไข้รายนี้มีปัญหาสะโพกสูงตํ่าไม่เท่ากันนั้น มีสาเหตุมาจากขาสั้นยาวไม่เท่ากันรึเปล่า จึงนำสายวัดมาวัดความยาวขาดู โดยขาซ้ายยาว 81 cm. ส่วนขาขวายาว 81 cm. เช่นกัน สรุปขายาวเท่ากันดีนี่หว่า

6. ผมให้คนไข้นอนควํ่า เพื่อดูระดับของกระดูกเชิงกรานว่ามันเท่ากันมั้ย จากภาพที่ 3 จะเห็นเลยว่าที่ก้นซ้ายมันอยู่ตํ่ากว่าขวา ผมสงสัยว่ากล้ามเนื้อก้นซ้ายมันฝ่อรึเปล่าถึงทำให้ดูเป็นแบบนี้ จึงเอามือกดที่ก้นทั้ง 2 เพื่อเช็คความตึงของกล้ามเนื้อก้น ปรากฎว่ากล้ามเนื้อก้นมีความตึงตัวดี ไม่ได้มีภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบแต่อย่างใด ผมจึงมั่นใจว่า เคสนี้มีปัญหากระดูกเชิงกรานบิดร่วมด้วยแน่นอน


เชิงกรานขวาบิดไปด้านหน้า ทำให้เห็นเป็นภาพนี้

 โดยกระดูกเชิงกรานซีกขวาบิดไปด้านหน้า จึงทำให้เราเห็นภาพว่าทำไมก้นขวาของคนไข้ดูตํ่ากว่าซ้ายในท่านอนควํ่า (หากนึกภาพตามไม่ออก ให้เพื่อนๆลองยืนขึ้น แล้วลองบิดเอวไปด้านซ้าย แต่ให้ลำตัวและใบหน้ามองตรงไว้ คนไข้เค้ามีลักษณะเชิงกรานบิดๆแบบนี้แหละครับ แล้วบิดตลอดไม่ว่าจะนอน นั่ง ยืน และวิ่งด้วยนะ ลองจินตนาการดันเองดูนะครับว่า คนที่มีเชิงกรานบิดๆแล้วไปวิ่งมาราธอนมา 3 ปี ข้อกระดูกมันจะยึดติดกันขนาดไหน) 

7. ทีนี้ผมให้คนไข้ลุกขึ้นมายืนตรง แล้วให้ก้มหลังมือแตะปลายเท้าเพื่อดูลักษณะการเคลื่อนไหวของข้อกระดูกสันหลัง สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ คนไข้ก้มแบบหลังแข็ง คือ ข้อกระดูกสันหลังไม่สามารถโค้งงอได้ ดูภาพที่ 4 รูป C นะครับ คนไข้ก้มแบบนั้นเลย เคสนี้มีปัญหาข้อกระดูกสันหลังยึดติดด้วย


คนไข้ก้มแล้วเป็นลักษณะตามรูป C คือพับสะโพกได้ แต่ก้มหลังไม่ลง

8. สุดท้ายผมให้คนไข้เดินให้ผมดู ขณะที่เดินจะเห็นชัดเลยว่า คนไข้เดินตัวเอียงๆ โดยลักษณะการเดินจะเดินทิ้งนํ้าหนักลงขาซ้ายมากกว่าขวา ซึ่งเป็นอิทธิพลของกระดูกเชิงกรานซ้ายที่อยู่ตํ่ากว่าขวา จึงทำให้ขาซ้ายยาวกว่าขาขวา (แบบหลอกๆ) ส่งผลให้ขาซ้ายต้องลงนํ้าหนักมากกว่าปกติ แล้วเวลาเดินจะมีอาการปวดที่ฝ่าเท้าและข้างส้นเท้าซ้ายบ้างเป็นบางจังหวะ แต่พอให้ลองวิ่งกลับไม่ปวด ซึ่งคาดว่าคนไข้วิ่งลงนํ้าหนักที่ปลายเท้ากับกลางเท้าจึงไม่ไปกระตุ้นตำแหน่งที่ปวดขณะให้ลองวิ่ง

9. จากลักษณะการเดิน ผมเห็นความผิดปกติอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนไข้เดินเข่าเบียด (คือ เดินแล้วเข่ามันชิดเข้าหากันจนดูเบียด) โดยเฉพาะเข่าซ้ายจะดูเบียดมากกว่าขวาพอสมควร จับตรวจเข่าซํ้าจึงได้รู้ว่ามีปัญหาโครงสร้างเข่าเบียดจริงๆด้วยครับ (knock knee)


ภาพตัวอย่างของคนที่มีโครงสร้างเข่าเบียด

10. สุดท้าย ผมเช็คลักษณะแนวกระดูกสันหลังทั้งหมดเพื่อดูว่ามีปัญหาหลังคดมั้ย คำตอบคือ ไม่ได้เป็นหลังคดจากตัวโครงสร้างครับ
(จริงๆแล้วผมยังตรวจร่างกายเพิ่มเติมยิบย่อยอีกนะ ทั้งตรวจกำลังกล้ามเนื้อ การทรงตัว การรับความรู้สึกของข้อต่อต่างๆขณะยืน แต่เดี๋ยวเนื้อหาจะยาวเกินไปบวกกับการตรวจแบบนี้มันใช้ความรู้สึกของตัวคนไข้เอง จึงยากที่จะอธิบายเป็นภาษาเขียนครับ)

สรุปปัญหาคนไข้ที่ทำให้เกิดอาการปวดฝ่าเท้าซ้าย และก้นซ้ายได้ก็คือ 

- เท้าซ้ายแบน (ภาพ 2) ทำให้การกระจายนํ้าหนักเท้าทำได้ไม่สมดุล ตัวพังผืดใต้ฝ่าเท้าถูกยืดเยอะเกินไปจากโครงสร้างเท้าที่แบน ส่งผลให้เกิดอาการปวดฝ่าเท้าขณะเดิน


เท้าซ้ายแบน ทำให้นํ้าหนักตกที่ขาซ้ายมากกว่าปกติ

- โครงสร้างเข่าซ้ายที่มีภาวะเข่าเบียด ทำให้การลงนํ้าหนักไปตกที่ฝ่าเท้าด้านในมากขึ้น ยิ่งกระตุ้นให้เท้าแบนและปวดฝ่าเท้ามากขึ้นไปอีก

- ระดับของข้อสะโพกซ้ายอยู่ตํ่ากว่าขวา (ภาพ 1) ทำให้ขาซ้ายยาวกว่าขวาและขาซ้ายต้องรับนํ้าหนักมากกว่าขาขวา เวลาเดินจึงเดินตัวเอียงเหมือนคนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ทั้งๆที่วัดความยาวขาแล้วเท่ากันเป๊ะที่ 81 cm. เมื่อเดินวิ่งสะสมติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จึงทำให้เกิดอาการปวดที่เท้าซ้ายในที่สุด (คนไข้บอกเองด้วยว่า เมื่อวิ่งในระยะทางยาวๆประมาณกิโลเมตรที่ 20 หรือจนเริ่มล้ามากๆแล้ว จะรู้สึกว่าตัวเองวิ่งเอียงๆเป๋ๆด้วย) 


เท้าซ้ายแบน เป็นผลให้ระดับเชิงกรานทั้ง 2 ฝั่งไม่เท่ากัน

- มีปัญหาข้อเชิงกรานบิด โดยกระดูกเชิงกรานด้านขวาบิดไปด้านหน้า พอนอนควํ่าจึงเห็นภาพว่า ก้นขวามันอยู่ตํ่ากว่าซ้ายนั่นเอง (ภาพที่ 3) ซึ่งโครงสร้างเชิงกรานที่บิดๆแบบนี้ จะทำให้กล้ามเนื้อในก้นมัดลึกข้างซ้ายต้องออกแรงหนักขึ้นเพื่อพยุงโครงสร้างกระดูกเชิงกรานไม่ให้มันบิดไปมากกว่าเก่า แต่เมื่อกล้ามเนื้อต้องออกแรงมากๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานๆจนกล้ามเนื้อในก้นเกิดความตึงตัวสูงแล้วก็เกิดอาการปวดในที่สุด แล้วการที่เชิงกรานมันบิดแบบนี้ ก็มีผลต่อการก้าวขาด้วยนะ โดยการก้าวขาซ้ายมันจะก้าวได้สั้นกว่าขวา เนื่องจากเชิงกรานซ้ยมันบิดไปด้านหลัง คนไข้จะรู้สึกได้ชัดเมื่อวิ่งเป็นระยะทางยาวๆหรือล้าขา



- หลังแอ่น ตัวคนไข้มีภาวะหลังแอ่นมากขนาดนอนหงายแล้วยังสามารถเอามือสอดใต้เอวจนมือรอดออกมาอีกฝั่งได้สบายๆ ซึ่งคนที่มีหลังแอ่นมากๆ ในระยะยาวจะทำให้กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังตึง (hamstring muscle) กล้ามเนื้อหลังระดับเอวตึง แล้วถ้ามีการเปลี่ยนจังหวะการวิ่งโดยวิ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม หรือเพิ่มระยะทางการวิ่งจะทำให้เกิดการจุกแน่นอก หายใจไม่ทันได้ เนื่องจากหลังที่แอ่นจะมีผลให้กล้ามเนื้อหน้าท้องถูกยืดมากเกินไป กล้ามเนื้อกะบังลมต้องออกแรงมากขึ้นเพื่อสู้แรงตึงของหน้าท้องขณะหายใจเข้านั่นเองครับ

การรักษาสำหรับเคสนี้

- จุดแรกที่ผมต้องแก้เป็นอันดับแรกก็คือ เรื่องเท้าแบนครับ โดยนำเทปมาพันที่เท้าเพื่อพยุงโครงสร้างเท้าให้สูงขึ้นเพื่อแก้เท้าแบน 

- คลายกล้ามเนื้อส่วนที่ตึง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ iliopsoas ที่อยู่ตรงหน้าท้อง ซึ่งถ้ากล้ามเนื้อมัดนี้ตึงมาก มันมีส่วนดึงให้หลังแอ่นได้ แล้วขณะคลายกล้ามเนื้อมัดนี้คนไข้ก็ปวดตรงจุดนี้สุดๆแถมมีการปวดร้าวลงหลังลงก้นด้วย ต่อมาก็คลายกล้ามเนื้อช่วงก้นซ้ายที่มีอาการปวดตึง ซึ่งตรงกล้ามเนื้อก้นแม้ขณะคลายจะรู้สึกปวดมากแต่ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีก็คลายแล้วครับ จากนั้นก็ปิดท้ายด้วยการคลายกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง  (ตรงเอว) โดยกล้ามเนื้อทั้ง 3 ส่วนที่ผมคลายไป มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดก้นนั่นเองครับ


ตำแหน่งกล้ามเนื้อ ilipsoas หากตึงมากจะยิ่งทำให้หลังแอ่นได้

- เมื่อกล้ามเนื้อคลายตัวดี ต่อมาก็ทำการดัดข้อกระดูก SI ซึ่งอยู่ตรงตำแหน่งรอยต่อระหว่างกระดูกกระเบนเหน็บกับเชิงกราน โดยข้อต่อตรงนี้มีส่วนสำคัญในการรับนํ้าหนักของร่างกาย และการจายแรงกระแทกขณะที่เราเดินหรือวิ่งนั่นเอง ซึ่งเคสนี้ข้อกระดูก SI ข้างซ้ายมีการแข็งตึงมากๆ ซึ่งเป็นผลมาจากขาซ้ายที่ยาวกว่าขวา (แบบหลอกๆ) ทำให้ขาซ้ายต้องรับนํ้าหนักมากกว่าขาขวา ข้อต่อ SI ซ้ายเลยต้องรับภาระหนักตามไปด้วยนั่นเองครับผม 


ตำแหน่งข้อกระดูก SI (sacroiliac joint )

- เสร็จจากการดัดข้อ SI ก็มาคลายข้อกระดูกสันหลังที่ยังคงมีปัญหาหลังแอ่นและข้อกระดูกสันหลังติดกันเป็นแผ่นกระดานอยู่ (ยืนก้มหลังแตะปลายเท้าแล้ว ไม่สามารถทำให้หลังโค้งเป็นรูปตัว C ได้) 


หลังแข็งเหมือนในรูป C

ซึ่งวิธีการทำให้ข้อต่อกระดูกสันหลังระดับเอวคลายตัว จะให้คนไข้ทำท่า "ชายโพสต์" แล้วเอาลูกบอลอัดไว้ในท้อง จากนั้นให้หายใจเข้าลึกๆ 10 ครั้ง จำนวน 3 sets โดยผมจะคอยไกด์ว่าสูดลมหายใจได้ลึกพอแล้วรึยัง เพราะท่ายังหายใจได้ไม่ลึกพอ ข้อกระดูกสันหลังมันก็ยังไม่คลายตัวนั่นเองครับ จากนั้นก็ให้คนไข้ฝึกท่าม้วนก้นต่อทันที เพื่อปรับสมดุลของกระดูกเชิงกราน ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แล้วเป็นการคลายข้อกระดูกสันหลังที่ติด และคลายกล้ามเนื้อ iliopsoas ที่ยังคงตึงอยู่บางส่วนให้คลายไปทั้งหมด (ท่าม้วนก้นดูได้จากคลิปนี้นะครับ https://youtu.be/IR4WHHbAfgM นาทีที่ 6:46)

- เมื่อทุกอย่างคลายตัวดีแล้ว ก็ได้เวลาปรับบุคคลิกในท่ายืนกันต่อ โดยผมให้คนไข้ฝึกการยืนลงนํ้าหนักขาซ้ายและขวาให้เท่ากัน เนื่องจากตัวคนไข้ติดการยืนทิ้งนํ้าหนักลงขาซ้ายมานาน หากไม่ปรับแก้พฤติกรรมการยืนเสียใหม่จะมีผลให้คนไข้วิ่งลงนํ้าหนักขาซ้ายมากกว่าขวาอยู่ดีแล้วอาการปวดก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ส่วนเรื่องสะโพกที่บิดก็ให้คนไข้หลับตาแล้วผมคอยไกด์ให้ว่าต้องยืนจัดระเบียบร่างกายยังไง บิดสะโพกนิด ยัดสะโพกหน่อย แล้วการฝึกปรับท่าทางนั้น จะให้คนไข้หลับตาตลอดที่ยืน เพื่อให้เส้นประสาทที่ควบคุมข้อต่อนั้นๆได้เกิดการเรียนรู้และจดจำความรู้สึกใหม่ๆนี้ขึ้นมา แล้วถ้าเส้นประสาทเหล่านี้จำได้แล้ว มันจะทำให้เรายืน เดิน วิ่งได้แบบไม่บิดๆอีกต่อไป โดยช่วงแรกที่ผมจับให้คนไข้อยู่ในท่าที่ถูกต้องขณะหลับตา ตัวคนไข้บอกว่ารู้สึกฝืนมากๆ เหมือนยืนตัวเบี้ยวอยู่ แต่พอให้ลืมตาปุ๊บ อ้าว ตัวฉันยืนตรงแล้วนี่หว่าแต่ทำไม่ยังรู้สึกว่ามันเบี้ยวๆ ผมก็ต้องให้คนไข้ยืนหลับตาลืมตา หลับตาลืมตาอยู่แบบนี้จนความรู้สึกของข้อต่อและสายตาที่เรามองเห็นผ่านกระจกมันจะตรงกันก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการปรับท่าทางการยืน 

- เมื่อยืนได้ดีแล้ว ก็ต้องลองเดิน และวิ่งครับ แล้วให้คนไข้จับความรู้สึกของขา และการลงนํ้าหนักใหม่ โดยผมจะถ่ายคลิปตัวคนไข้ขณะเดินและวิ่งไว้ให้คนไข้ดูเองว่าขณะที่เราเดินและวิ่งเรามีบุคคลิกเป็นยังไง 

แล้วนี่ก็คือรูปแบบการรักษาสำหรับเคสที่เป็นนักวิ่งแล้วมีอาการบาดเจ็บนี้นะครับ ซึ่งคนไข้ที่เป็นนักวิ่งมารักษากับผม แม้จะมีอาการปวดก้น ปวดเท้าเหมือนกัน แต่รูปแบบการรักษาจะไม่เหมือนกันหมดนะ เพราะโครงสร้างร่างกายของแต่ล่ะคนมันไม่เหมือนกันครับผม 

-----------------------------------------------------
เวลาทำการดูบอดี้ คลินิกกายภาพบำบัด 
วันเสาร์-อาทิตย์ 8.00-20.00 น.
วันจันทร์-ศุกร์ 16.00-20.30 น. 
.
โปรดนัดจองเวลาก่อนเข้าคลินิกทุกครั้งนะครับ
เบอร์ 064-008-7537 
1) แจ้งชื่อผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษา
2) แจ้งวัน และเวลาที่ต้องการเข้าคลินิก เพื่อล็อกเวลา
.
แผนที่ดูบอดี้ คลินิกกายภาพ => https://goo.gl/shPWGR