เมนูหน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กระดูกคอเสื่อม เป็นง่าย แต่หายยาก


กระดูกคอเสื่อม (cervical spondylosis )

มั่นใจว่าหลายคนรู้จัก"โรคกระดูกคอเสื่อม"กันไม่มากก็น้อย ทั้งจา่กคนใกล้ตัวที่เป็นอยู่ หรือบทความตามนิตยสารสุขภาพที่มีให้เห็นกันทั่วไป แล้วผมก็หยิบเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังก็เกรงว่าซํ้ากับคนอื่นๆ ฉะนั้น ผมจะมาอธิบายเรื่องโรคกระดูกคอเสื่อมแบบจัดหนักจัดเต็มที่ไม่สามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้ตามหน้าเว็บทั่วไปกัน เรามาเริ่มกันเล้ย..

โรคกระดูกคอเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเกิดจากการเสื่อมตามวัย หรือในบางรายก็เกิดจากวิถีชีวิตในการทำงาน เช่น งานที่ต้องเงยหน้าอยู่ตลอดเวลา ช่างไฟ ช่างทาสี หรือในคนที่ชอบนำของหนักๆมาแบกไว้ที่ศีรษะก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคกระดูกคอเสื่อมได้เร็วขึ้น บางรายอายุ 35 ปีก็พบว่ามีสัญญาณของโรคกระดูกคอเสื่อมแล้วละครับ 


ภาพเปรียบเทียบของกระดูกสันหลังปกติกับกระดูกเสื่อม

ลักษณะการเกิดโรคกระดูกคอเสื่อม
แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ

ระยะที่ 1 เกิดการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง : ซึ่งในหมอนรองกระดูกสันหลังนั้นจะมีสารนํ้าอยู่ภายในซึ่งทำหน้าที่ดูดซับแรงและกระจายนํ้าหนัก ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นของตัวกระดูกสันหลัง แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น มากขึ้น สารนํ้าในหมอนรองกระดูกสันหลังเริ่มมีปริมาณน้อยลง น้อยลง น้อยลงไปเรื่อยๆ ร่วมกับกระดูกสันหลังส่วนคอที่ต้องรับนํ้าหนักของกระโหลกศีรษะอยู่ตลอดเวลา ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังตีบแคบลง

ระยะที่ 2 เกิดการเสื่อมของข้อต่อ facet joint : ข้อต่อ facet คืออะไร? นี่คงเป็นคำถามที่หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ ข้อต่อ facet เป็นส่วนเชื่อมต่อและสัมผัสกันกับกระดูกสันหลังชิ้นบนและชิ้นล่าง ซึ่งจะทำหน้าที่ให้กระดูกสันหลังเกิดการเคลื่อนไหวได้ไม่ว่าจะเป็นการก้ม การเงย การเอี้ยวคอ หมุนคอ เป็นส่วนที่ทำให้กระดูกสันหลังมีความยืดหยุ่นได้เต็มที่ ถ้าเราเราไม่มีข้อต่อ facet กระดูกสันหลังของคนเราก็คงไม่ต่างอะไรจากปล้องไม้ไผ่ที่มีเป็นข้อ เป็นปล้องคล้ายกระดูกสันหลังแต่งอได้ไม่สุด ถ้าฝืนงอมากๆเข้าก็จะหักได้นั่นเอง

เรารู้หน้าที่ของข้อต่อ facet กันแล้ว มาอธิบายโรคต่อ : หลังจากที่หมอนรองกระดูกแคบลง กระดูกสันหลังชิ้นบนกับชิ้นล่างก็อยู่ชิดกันมากขึ้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ข้อต่อ facet จะเกิดการกดเบียดมากขึ้นตามไปด้วย และเมื่อผ่านไประยะเวลานานๆเข้า ข้อต่อ facet ก็เสื่อมลง เป็นเหตุให้เรารู้สึกปวดตึงคอ รู้สึกขัดๆเมื่อเงยหน้า หรือก้มหน้า 


ภาพแสดงตำแหน่งข้อข้อต่อ facet joint

ระยะที่ 3 ข้อต่อขาดความมั่นคง หรือข้อหลวม : หลังจากที่ข้อต่อ facet เกิดการเสื่อม ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อต่อกระดูกสันหลังชิ้นบนกับชิ้นล่างเคลื่อนไหวได้ไม่ดี เส้นเอ็นที่ยึดข้อต่อต่างๆภายในกระดูกสันหลังก็เกิดการเสื่อมสภาพตามไปด้วย ความมั่นคงของข้อต่อจึงลดลงเรื่อยๆ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดคอเรื้อรังเป็นๆหายๆ แต่ในบางรายก็ไม่มีอาการปวด แต่รู้สึกเมื่อยคอง่ายกว่าแต่ก่อน 

ระยะที่ 4 เป็นระยะที่ร่างกายปรับตัว : ร่างกายคนเรานั้นมีความพิเศษตรงที่ เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งเสียหาย ร่างกายจะพยายามซ่อมแซมส่วนนั้นให้กลับมาใช้งานได้ ที่กระดูกคอก็เช่นกัน เมื่อข้อต่อขาดความมั่นคงทำให้มีความเสี่ยงที่กระดูกจะผิดรูป หรือสร้างความเสียหายมากขึ้นได้ ร่างกายจึงสร้างกระดูกงอก (spur) ขึ้นมาบริเวณที่กระดูกเสื่อม เพื่อยึดข้อต่อที่หลวมอยู่นั้นให้กลับมามีความมั่นคง ทำให้ผู้ป่วยในระยะนี้จะมีอาการปวดที่ดีขึ้น แต่การเคลื่อนไหวของคอก็ทำได้น้อยลงเช่นกัน จากเดิมที่เคยก้มหน้าจนคางชิดอกก็ทำไม่ได้แล้ว จะหันซ้ายแลขวาก็หันได้ไม่สุด รู้สึกติดๆขัดๆที่คอมากที่สุด 

ถึงแม้กระดูกงอก (spur) จะทำให้ข้อต่อกลับมามีความมั่นคงดังเดิม แต่ข้อเสียก็คือ กระดูกที่งอกมานั้นไม่ได้มีพื้นผิวราบเรียบเหมือนที่เราฉาบปูนแต่อย่างใด แต่มีลักษณะพื้นผิวที่ขรุขระ ตะปุ่มตะปั่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กระดูกที่งอกขึ้นมาใหม่ดันไปอยู่ใกล้เส้นประสาท ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทจนเกิดอาการชาแขนขึ้นนั่นเองครับ

สาเหตุ ของโรคกระดูกคอเสื่อม

- อายุมากกว่า 40 ปี
- ช้งานศีรษะในท่าก้ม เงย หรือหมุนคอบ่อยๆ
- อยู่ในอิริยาบทที่ไม่เหมาะสมเป้นเวลานานๆ เช่น ทำงานที่ต้องเงยหน้าต้างไว้นานๆเป้นประจำ
- เกิดอุบัติเหตุ เกิดการกระแทกที่กระดูกสันหลังโดยตรง
- การเล่นกีฬาที่มีการกระแทก การปะทะกันบ่อยๆ เช่น อเมริกันฟุตบอล หรือการเล่นโยคะในท่าหัวโหม่งพื้นนานๆ


ภาพแสดงภาวะกระดูกคอชิ้นบนและชิ้นล่างชนกันจนเกิดกระดูกงอก

อาการ ของโรคกระดูกคอเสื่อม

- โดยส่วนใหญ่แล้วมักไม่มีอาการปวดใดๆที่บ่งชี้ได้ว่าเป็นกระดูกคอเสื่อม แต่จะมีอาการเมื่อยคอ เป็นๆหายๆมากกว่า
- ปวดคอเรื้อรัง ทานยาก็หายปวด เมื่อหมดฤทธิ์ยาก็กลับมาปวดใหม่ซํ้าแล้วซํ้าเล่า
- เมื่อเงยหน้าค้างไว้นานๆจะทำให้เกิดอาการปวดเพิ่มมากขึ้น บางรายมีอาการปวดร้าวลงสะบัก หรือมีอาการชาร้าวลงแขนร่วมด้วย
- รู้สึกแขนอ่อนแรง เมื่อเทียบกับข้างปกติ กำมือได้ไม่สุด ยกของหนักไม่ได้ เมื่อยกแล้วรู้สึกปวดตึงคอเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกระดูกงอกทับเส้นประสาท ทำให้การส่งสัญญาณประสาทไปยังกล้ามเนื้อมัดนั้นๆทำได้ไม่เต็มที่ และหากยังปล่อยทิ้งไว้จะพบว่าแขนข้างนั้นฟ่อลีบจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกเลยละครับ (แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยก็ไม่ยอมให้ถึงขั้นฟ่อลีบหรอกครับ)
- ในรายที่กระดูกงอกทับเส้นประสาทนั้น จะทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนได้ไม่ดีดังเดิม เช่น การเขียนหนังสือ การเย็บผ้า การติดกระดุมเสื้อ เป็นต้น
- กล้ามเนื้อรอบๆคอ บ่า และสะบักเกิดการตึงตัว ในรายที่เป็นโรคคอเสื่อมมาระยะเวลานานแล้วไม่ได้เข้ารับการรักษาจะสังเกตุเห็นว่ากล้ามเนื้อบ่าตึงแข็งเป็นลำ เมื่อให้ยืนส่องกระจกจะพบว่าหัวไหล่ทั้ง 2 ข้างสูงตํ่าไม่เท่ากัน

การดูแลรักษา

ก่อนอื่นต้องบอกข่าวร้ายก่อนเลยว่า โรคกระดูกคอเสื่อมหรือโรคอะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับกระดูกเสื่อมนั้น ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ครับ ทำได้เพียงชะลอการเสื่อมให้ช้าลง และลดอาการปวดเท่านั้น แต่ก็ไม่ต้องตกใจไปนะครับ ถึงแม้เราจะเป็นกระดูกคอเสื่อมแต่ถ้าดูแลร่างกายดี ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ทานอาหารที่มีประโยชน์ อาการปวด ชาต่างๆจากโรคกระดูกคอเสื่อมก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิตเลยนะครับ

การรักษาทางกายภาพในผู้ป่วยโรคกระดูกคอเสื่อม

การรักษาทางกายภาพนั้นมีหลากหลายวิธีครับ แต่วิธีที่ใช้กันบ่อยที่สุดคือ การดึงคอ (cervical traction) และการดัดดึงข้อ (mobilization) 

การดึงคอนั้นโดยมากจะใช้เครื่องดึงคอ โดยมีจุดประสงค์หลักคือ เพื่อให้ข้อต่อที่ทรุดอยู่เกิดการคืนตัว ลดการกดทับของเส้นประสาทในรายที่ข้อกระดูกตีบแคบมากๆ นอกจากการใช้เครื่องดึงคอแล้ว นักกายภาพที่มีประสบการณ์มากๆจะใช้การดึงคอด้วยมือแทน เพราะสามารถควบคุมแรงดึง และอาจจะใช้เทคนิคพิเศษบางอย่างในขณะที่ดึงคอร่วมด้วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดนั่นเองครับ

ต่อมาคือการดัดดึงข้อ (mobilization) วิธีนี้จะให้ผู้ป่วยนอนควํ่าแล้วนักกายภาพจะคลํ่าหาข้อต่อที่มีทรุดตัวหรือข้อต่อที่ติดแข็งมากๆ จากนั้นก็กดลงไปที่ปุ่มกระดูกของข้อที่เป็นปัญหาเป็นจังหวะ จนข้อต่อมีการติดแข็งที่น้อยลง และเคลื่อนไหวได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนดัดกระดูก ซึ่งจุดประสงค์ของเทคนิคนี้คือ เพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อที่มีการติดแข็งอยู่ และลดอาการปวดจากภาวะที่ข้อกระดูกชิ้นบนและชิ้นล่างกดเบียดกันอยู่

นอกจากการรักษาที่กล่าวมาก็ยังมีการประคบร้อน การนวดคลายกล้ามเนื้อ ใช้เครื่องมือ ultrasound ในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวมากๆ ซึ่งหากผู้ป่วยมีกล้ามเนื้อช่วงคอบ่าที่ตึงมากๆ นักกายภาพจะทำการคลายกล้ามเนื้อรอบๆคอบ่าให้คลายตัวซะก่อน เพราะกล้ามเนื้อที่ตึงจะทำให้การดัดดึงที่ข้อกระดูกทำได้ยากขึ้น ต้องใช้แรงมากขึ้น และอาจจะทำให้ผู้ป่วยปวดมากขึ้นได้

ถ้าผู้ป่วยมีอาการชา แล้วนักกายภาพดัดดึง และดึงคอไปแล้ว แต่ยังมีอาการชาอยู่จะใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า กระตุ้นตามแนวที่รู้สึกชาของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดอาการชาลงได้นั่นเองครับ แต่จะหายช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับว่ามีการกดทับของเส้นประสาทมานานแค่ไหน และกดทับมากน้อยเพียงไร ทุกอย่างล้วนต้องใช้เวลาทั้งสิ้นครับ

เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ

- กระดูกคอของคนเรามีทั้งหมด 7 ข้อ โดยข้อที่มีการเสื่อมมากที่สุดคือข้อที่ C5-C6 ครับ เนื่องจากเป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวได้มากที่สุด ต้องรับนํ้าหนักมากที่สุดเมื่อเทียบกับข้อต่อทั้ง 7 ชิ้น ด้วยภาระงานของข้อที่ 5 และ 6 รับอยู่นั้นมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดการเสื่อมได้ง่าย
- ผู้ป่วยที่เป็นกระดูกคอเสื่อมมักมีภาวะที่กล้ามเนื้อรอบๆคอบ่าตึงตัว เนื่องจากเป็นปฎิกิริยาตอบสนองของร่างกายอัตโนมัติ เช่น เมื่อมีคนมาหยิกแขนเรา เราก็จะเผลอเกร็งแขนในทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บมากขึ้น ที่คอก็เช่นกัน เมื่อกระดูกคอเสื่อมอยู่ ในรายที่มีอาการปวดคออยู่ตลอดเวลานั้นร่างกายจึงตอบสนองโดยการเกร็งกล้ามเนื้อรอบๆคอบ่านั่นเอง เพื่อช่วยพยุงข้อต่อให้มีความมั่นคงมากขึ้น ดังนั้น ในผู้ป่วยที่ปวดคอมานานจะพบว่า ผู้ป่วยไม่สามารถหันศีรษะไปได้สุด ก้มศีรษะก็ตึง เงยหน้าก็ตึงไปหมด องศาการเคลื่อนไหวของคอจะลดลงอย่างหน้าใจหายเลยละครับ ฉะนั้น นักกายภาพจึงต้องคลายกล้ามเนื้อคอบ่าก่อนเสมอ

6 เทคนิค ลดปวดคอบ่า แบบฉบับทำเอง หายเอง

5 เทคนิค แก้คอเสื่อม คอยื่นให้หายถาวร

เครดิตภาพ
- http://www.lookfordiagnosis.com/mesh_info.php?term=spondylosis&lang=1
- https://mulliganconcept.wordpress.com/anatomy/
- https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/imagepages/9852.htm
- http://www.newhealthadvisor.com/Cervical-Spondylosis-with-Myelopathy.html

6 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากเลยนะคะ อาการเหมือนที้เป็นอยู่เลยรอไปพบแพทย์ตามนัดเสารฺนี้

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณสำหรับความรู้นะคะ

    ตอบลบ
  3. มีคลินิกไหมคะ อยากไปพบเพื่อปรึกษา และรักษาค่ะ

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณมากๆ ค่ะ กำลังดึงคออยู่ ไม่ค่อยกล้าถามหมอมากเพราะคนใข้ในโรงพยาบาลที่รักษาอยู่เยอะมาก มีคนรอต่อคิวเราเพียบ เข้ามาอ่านที่นี่ ทำให้ทราบรายละเอียดมากขึ้นและคลายความกังวลลงได้มากทีเดียวค่ะ

    ตอบลบ
  5. เป็นความรู้ที่ดีมากๆเลยค่ะ

    ตอบลบ
  6. กำลังเป้นเป้นอยุ่เลยคะแต่ก็กลัวไม่หายตอนนี้หมอให้ยามากินและก็ไปทำกายภาพค่ะ

    ตอบลบ