เมนูหน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ผ่าเข่าเป็นปีๆ แต่ทำไมยังเจ็บที่เข่าอยู่ ทั้งที่แผลหายแล้วได้ละ


ผ่าตัดเข่าครบปีแล้ว แต่ทำไมยังเจ็บเข่าได้ละ ทั้งที่แผลก็หายสนิทแล้วนะ?

อาการนี้หากใครไม่เคยโดนผ่าตัดมาก่อน (และหวังจะไม่โดนผ่าตัดด้วยนะ) คงยากจะนึกออกครับ แต่สำหรับใครที่เคยผ่าตัด โดยเฉพาะผ่าตัดที่เข่า ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อในโรคเข่าเสื่อม ผ่าตัดต่อเส้นเอ็นที่ฉีกขาด หรือผ่าตัดด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม แต่ผ่าตัดเป็นปีๆแล้วแท้ๆ แผลก็หายสนิทแล้วนี่ X-ray กระดูกก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ทำไมมันยังปวดกว้างๆที่เข่าอยู่ละ?

คำถามนี้เจอบ่อยครับ ซึ่งคาดว่าเกิดจากเส้นประสาทเล็กๆที่อยู่บริเวณเข่ามันฉีกขาดในขณะที่ทำการผ่าตัดครับ และเป็นเรื่องยากที่จะกรีดไม่ให้โดนเส้นประสาทเล็กๆเหล่านี้ (เพราะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นไง) แต่ผลเสียก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไร อาจจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณเข่าอ่อนแรงลงบ้าง การตอบสนองรับความรู้สึกช้าลงเล็กน้อย เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบในระยะแรกๆหลังผ่าตัดเท่านั้นละครับ แต่อาการปวดกว้างๆรอบๆเข่านี่สิที่จะตามหลอกหลอนกันเป็นปีๆ 

ทำไมเส้นประสาทเล็กๆที่ฉีกขาดถึงทำให้ปวดได้เป็นปีๆ?

นั่นก็เพราะว่าร่างกายของเรามีการซ่อมแซมตัวมันเองอยู่ตลอดเวลาครับ ไม่ว่าจะเป็นกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น รวมถึงเส้นประสาท ซึ่งเส้นประสาทนี่นแหละครับที่ใช้เวลานานสุดในการฟื้นตัว ว่ากันว่า เส้นประสาทที่ถูกตัดขาดไปมันจะงอกใหม่วันละ 1 มิลลิเมตรอย่างมากนะครับ เช่น หากเส้นประสาทขาดตั้งแต่ข้อศอกลงไป การที่จะให้เส้นประสาทงอกยาวตั้งแต่ข้อศอกยาวลงไปจนถึงปลายนิ้วนั้นจะใช้เวานานแค่ไหน ก็ลองเอาไม้บรรทัดวัดดูว่า ตั้งแต่ข้อศอกจนถึงปลายนิ้วของเรายาวกี่มิลลิเมตร นั่นแหละคือจำนวนวันที่เส้นประสาทจะงอกไปถึง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับอีกหลายๆปัจจัยด้วยเช่นกันนะ เช่น เส้นประสาทขาดเลือดมาเลี้ยงนานทำให้เซลล์ประสาทตาย การต่อเส้นประสาทไม่สมบูรณ์ เป็นต้น (คนนะไม่ใช่ปลาดาวที่จะงอกส่วนที่ขาดไปแล้วให้งอกกลับมาใหม่ได้ง่ายๆ)

พูดนอกเรื่องไปซะยาว สรุปก็คือ การซ่อมแซมเส้นประสาท และการที่ร่างกายพยายามให้เส้นประสาทมาต่อกันใหม่นั่นแหละครับ เป็นที่มาของอาการปวดกว้างๆหลังผ่าตัดเข่าที่คอยตามรำควาญผู้ป่วยเป็นปีๆ 

ทำไมการที่เส้นประสาทพยายามมาต่อกัน ถึงทำให้เกิดอาการปวดได้ละ?

อันนี้ต้องเข้าวิชาการเล็กน้อยครับ คือ เส้นประสาทของเราจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ตัวเซลล์ที่เรียกว่า cell body และ ตัวเส้นใยประสาทที่เรียกว่า axon ซึ่งผมจะเปรียบเทียบเจ้าตัว axon เสมือนว่าเป็นสายไฟละกันนะครับ เพราะมันมีหน้าที่เป็นสะพานส่งสัญญาณประสาทไปมาระหว่างเซลล์ประสาท และเซลล์กล้ามเนื้อ 

ทีนี้เมื่อเซลล์ประสาทประสาทถูกตัดขาดจากการผ่าตัด ทำให้เจ้าตัว axon ฉีกขาด การส่งสัญญาณก็ทำไม่ได้เช่นเดิมแล้ว ร่างกายจึงพยายามซ่อมแซมเจ้าตัว axon ให้กลับมาเชื่อมต่อกันกับเส้นประสาทอื่นๆได้เหมือนเดิม แต่จะทำยังไงละ ในเมื่อ axon มันไม่มีตาที่จะคอยมองหาว่าคู่ที่ขาดมันอยู่ตรงไหน? แต่มันก็ไม่ยอมแพ้ต้องกลับมาต่อกันให้ได้ดังเดิม โดยการ"แยกร่าง"ครับ 

ภาพแสดงการเกิด axon sprouting

วิธีการแยกร่างก็คือ เจ้าตัว axon จะพยายามแตกตัวออกมาเป็นเส้นเล็กเส้นน้อยกระจายไปทั่วบริเวณ เพื่อเพิ่มโอกาสให้เส้นประสาทที่ขาดสามารถกลับมาเชื่อมกันได้อีกครั้งนั่นเอง ซึ่งเรียกระยะนี้ว่า axon sprouting ในระยะนี้แหละครับ ที่ทำให้เกิดอาการปวดแบบกว้างๆ ปวดอย่างบอกไม่ถูก ปวดแบบระบุตำแหน่งไม่ได้ อาจมีอาการชาร่วมด้วย และที่สำคัญคือ ในบริเวณนั้นผู้ป่วยจะมีการรับรู้ความรู้สึกไวกว่าปกติและมากกว่าปกติด้วย ถามว่ามากขนาดไหนหรอครับ ก็แค่พัดลมเป่าขา หรือแค่มือแตะเบาๆก็แสบจนต้องร้องโอดโอยกันแล้วละครับ 

วิธีการรักษา

การรักษานั้นทำได้แค่ลดอาการปวดเท่านั้นครับ โดยการประคบอุ่น ประคบเย็น และการกระตุ้นไฟฟ้าด้วย TENs เพื่อลดการส่งสัญญาณประสาท ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าอาการปวดเบาลง แต่ไม่สามารถเร่งให้เส้นประสาทงอกเร็วขึ้นได้นะ ส่วนระยะเวลาที่อาการปวดจะหายไปนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลครับ ไม่สามารถรุบุได้ชัดเจน แต่ที่แน่ๆก็คือ ไม่ตํ่ากว่า 3 เดือนครับผม

เครดิตภาพ
- http://www.henrycalasmd.com/neurologist-education/migraine-headache

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น