เมนูหน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559

โรคกิลแลง-บาร์เร โรคที่อยู่ดีๆก็เป็นอัมพาต


โรคกิลเลง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome ; GBS)

ไม่แปลกเมื่อเห็นชื่อโรคนี้แล้วจะอุทานว่า "ห๊ะ! นี่มันโรคอะไรกัน?" เพราะโรคไม่ค่อยเป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไปนัก และพบได้น้อยมากๆๆๆๆ เทียบอัตราส่วนแล้วพบเพียง 1 ใน 100,000 คนเท่านั้นเองครับ พบน้อยมากจริงๆ

Guillain-Barre syndrome คือโรคเกี่ยวกับอะไร?

โรคกิลเลง-บาร์เรคือ กลุ่มอาการอักเสบเฉียบพลันของเส้นประสาทหลายเส้นพร้อมๆกัน จนทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาต และหากเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อช่วยหายใจเสียหายก็อาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลวถีงขั้นเสียชีวิตได้เลยนะครับ

ภาพเปรียบเทียบปลอกหุ้มเส้นประสาทปกติ กับที่ถูกทำลาย

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค Guillain-Barre syndrome

สาเหตุที่จู่ๆก็เกิดการอักเสบที่ปลายประสาทจนทำให้เป็นอัมพาตนั้น เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราเนี่ยแหละครับไปทำลายเส้นประสาทในส่วนของปลอกประสาท (myelin sheath) ของตัวเอง เพราะภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดคิดว่าเส้นประสาทคือเชื้อโรคนั่นเองครับ จัดว่าเป็นโรคในกลุ่มภูมิต้านทานทำลายตนเอง (autoimmune) แต่ทั้งนี้จะเป็นการทำลายแค่เพียงเส้นประสาทเท่านั้น ไม่ได้ทำลายเนื้อเยื่ออื่นๆร่วมด้วย

ส่วนสาเหตุว่าทำไมภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดแล้วไปทำลายเส้นประสาทนั้นยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดครับ แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากผู้ป่วยเคยติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจมาก่อน แต่เมื่อรักษาจนเชื้อโรคหายหมดแล้วระบบภูมิคุ้มกันดันเกิดรวนแล้วเข้าใจว่าเส้นประสาทคือเชื้อโรค ผลลัพท์ก็คือเส้นประสาทถูกทำลายอย่างเฉียบพลันทันที (ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักมีการดำเนินโรคที่รวดเร็วมาก บางรายตอนเช้าก็เป็นปกติดี แต่พอตกเย็นก็ปวด ชาไปทั้งตัวจนเดินไม่ได้แล้วก็มีครับ) โดยเส้นประสาทจะถูกทำลายที่ส่วนปลายขาไล่ขึ้นมาจนถึงลำตัวครับ ดังนั้น ในระยะแรกผู้ป่วยจึงเริ่มมีอาการปวด ชา อ่อนแรงที่ขาเท่าๆกันทั้ง 2 ข้างก่อนนั่นเองครับ

ภาพเปรียบเทียบปลอกหุ้มปกติกับที่โดนทำลายไป

อาการของผู้ป่วย Guillain-Barre syndrome

ผู้ป่วยจะมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน โดยมักเป็นเท่ากันทั้งสองข้าง อาการอ่อนงแรงนั้นจะเริ่มที่ขาก่อน จากนั้นอาการอ่อนแรงจะลุกลามไปทั่วทั้งร่างกาย และที่อันตรายที่สุดหากกล้ามเนื้อที่ควบคุมการหายใจอ่อนแรงด้วยอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหากไม่ได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจอย่างทันท่วงที

การดำเนินโรคใช้เวลายาวนานไม่เท่ากัน บางรายใช้เวลาเพียง 12 ชั่วโมงอาการอ่อนแรงก็ลุกลามทั่วทั้งตัว แต่ส่วนมากจะใช้เวลาลุกลามถึงขีดสุด 3 สัปดาห์ จากนั้นอาการจะทรงตัวแล้วค่อยๆฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งอาจใช้เวลายาวนานไม่เท่ากัน บางรายอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรืออาจเป็นปีจนฟื้นตัวเป็นปกติ แต่จะมีบางรายที่ยังคงมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงอยู่บ้าง แต่บางรายอาจมีความพิการตลอดชีวิตซึ่งพบได้ประมาณ 10-20% ของผู้ป่วย Guillain-Barre syndrome

อาการแสดงมีดังนี้
- มีการรับความรู้สึกที่แปลกไป ชา ซ่า ปวดแสบปวดร้อน สูญเสียการรับความรู้สึกและอุณหภูมิไป
- ปวดกล้ามเนื้อมัดที่อ่อนแรง
- ชาปลายมือ ปลายเท้าเหมือนเราสวมถุงมือถุงเท้าตลอดเวลา
- กลืนลำบาก เคี้ยวอาหารไม่ได้
- หายใจได้ไม่สะดวก หรือหายใจด้วยตนเองไม่ได้เลย
- ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
- กล้ามเนื้อฝ่อลีบ
- มีถาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เดินไม่ได้ หยิบจับสิ่งของไม่ถนัด เดินทรงตัวไม่ได้ หรืออาจถึงขั้นนอนอยู่เฉยๆเลยครับ

การวินิจฉัยโรค Guillain-Barre syndrome

แพทย์จะวินิจฉัยโดยการเจาะนํ้าในไขสันหลัง โดยจะพบเซลล์โปรตีนปนอยู่ในนํ้าไขสันหลัง แต่เซลล์เม็ดเลือดไม่สูงตาม นอกจากนี้ยังตรวจเลือดดูระดับปริมาณภูมิต้านภายในร่างกาย เป็นต้น

การรักษาโรค Guillain-Barre syndrome

โรคนี้แพทย์จะรักษาแบบประคับประคองตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลักครับ ไม่มียาตัวไหนที่ทำให้ภูิมิคุ้มกันหยุดทำลายเซลล์กระสาทได้ ส่วนวิธีการรักษาจะดูตามดุลพินิจของแพทย์ครับ

บทบาทหน้าที่ของนักกายภาพต่อผู้ป่วย Guillain-Barre syndrome

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้นักกายภาพจะไม่มีบทบาทมากนักในผู้ป่วยที่เป็นระยะเริ่มแรก แต่จะทำกายภาพใน 2 กรณีครับ คือ

1) ทำกายภาพในผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตแล้วต้องนอนติดเตียงเป็นเวลานาน หน้าที่หลักคือ การขยับข้อต่อ การยืดกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อติดแข็งและกล้ามเนื้อตึงตัวมากจนเกินไปครับ เพราะหากร่างกายผู้ป่วยเริ่มฟื้นตัวเริ่มขยับได้แล้ว แต่ข้อต่อติดแข็ง กล้ามเกร็งตัวสูงจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างถาวรครับผม พูดง่ายๆคือเป็นการเตรียมพร้อมรอให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวนั่นเองครับ

2) หากผู้ป่วยเริ่มเคลื่อนไหวได้เองบ้างแล้ว การรับความรู้สึกเริ่มเป็นปกติ นักกายภาพจะฝึกเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อให้กลับมาแข็งแรงดังเดิม ฝึกยืน ฝึกเดิน เพราะผู้ป่วยที่นอนนาน หรือไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อเป็นเวลานานกล้ามเนื้อจะฝ่อลีบเป็นธรรมดาอยู่แล้วครับ ส่วนระยะเวลาการฝึกจะนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่เป็น ระยะเวลาที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง ความร่วมมือของผู้ป่วย เบ็ดเสร็จแล้วมากกว่า 1 เดือนแน่นอนครับ

เครดิตภาพ
- http://www.biggiesboxers.com/understanding-guillain-barre-syndrome/
- http://cpreplab.weebly.com/guillain-barreacute-syndrome.html
- http://bandageer.info/a-picture-of-a-wheelchair/



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น