เมนูหน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562

เคสน่าศึกษา 06 เปรียบเทียบแผ่นเสริมรองเท้า ในคนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน


เคสน่าศึกษา 06
เปรียบเทียบแผ่นเสริมรองเท้า ในคนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน

สำหรับเคสกรณีศึกษาในตอนที่ 6 นี้ ผมจะพูดถึงขา ในหัวข้อที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยนึกถึงกัน นั่นคือเรื่องขาสั้นยาวไม่เท่ากัน โดยทั่วไปแล้วคนเรามักจะขาสั้นยาวไม่เท่ากัน 100% กันแทบทุกคนอยู่แล้วนะ ซึ่งส่วนต่างที่ยอมรับได้คือ ความยาวขาทั้ง 2 ข้างต้องต่างกันไม่เกิน 2 ซม. เช่น หากวัดความยาวขาซ้ายได้ 60 ซม. แต่พอวัดความยาวขาขวาปรากฎได้ 63 ซม. นั่นหมายความว่า ขาทั้ง 2 ข้างมีส่วนต่างกันมากถึง 3 ซม. เลย ซึ่งถือว่าเกินเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ในเคสแบบนี้สิ่งที่ผมแนะนำได้ก็คือ การหาซื้อแผ่นเสริมรองเท้ามาเสริมขาในข้างที่สั้นกว่าครับ เพื่อให้ความยาวขาทั้ง 2 ข้างกลับมาสมดุลดังเดิม และเพื่อเลี่ยงอาการปวดตามส่วนต่างๆของร่างกายได้ด้วยครับ

โดยบางคนอาจจะมองว่าขาสั้นยาวต่างกันเกิน 2 ซม.ก็จริง แต่ก็ไม่เห็นจะรู้สึกว่าร่างกายตัวเองมีปัญหาอะไรเลยยังคงเดินได้ตามปกตินี่หน่า ถ้าใครที่คิดว่าขาสั้นยาวไม่เท่ากันแล้วไม่เป็นอะไร ไม่ต้องใส่แผ่นเสริมรองเท้าก็ได้ล่ะก็ ผมมีเคสตัวอย่างมาให้ดูกันครับ แล้วเปรียบเทียบให้เห็นไปเลยว่าระหว่างใส่แผ่นเสริมรองเท้ากับเท้าเปล่า เราจะเห็นความผิดปกติอะไรกันบ้างนะ

สำหรับเคสนี้มาหาผมด้วยปัญหาหัวข้อสะโพกซ้ายเสื่อม จากโรคหัวข้อสะโพกขาดเลือด (avascular necrosis) ทำให้หัวข้อสะโพกเกิดการผุกร่อนแล้วเกิดการทรุดตัวตามมา ปัญหาที่ผู้ป่วยรายนี้เป็นอยู่ก็คือ ไม่สามารถยกขาซ้ายได้เกิน 90 องศา หากฝืนยกขาสูงกว่านั้นจะรู้สึกตึงขัดภายในข้อสะโพก มีอาการตึงที่ขาหนีบบ้างเป็นบางครั้ง ในช่วงเช้าจะรู้สึกข้อสะโพกซ้ายมันหนืดๆขยับได้ลำบากเล็กน้อย 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ป่วยไม่มีอาการปวดที่ข้อสะโพกเลยนะ ไม่ว่าจะเดินเยอะ เดินนานแค่ไหนก็ตาม แถมตัวคนไข้ยังไปเต้นซุมบ้าด้วยอีกต่างหาก ซึ่งสำหรับคนที่เป็นโรคหัวข้อสะโพกขาดเลือดโดยมากมักจะมีอาการปวดข้อสะโพกมาก แล้วจะปวดมากขึ้นไปอีกเมื่อต้องเดิน ยืนเป็นเวลานานๆ มันจะปวดชนิดที่เรียกว่าแทบเดินต่อไม่ได้เลยนะ แต่รายนี้มาแปลกไม่มีปัญหาดังกล่าวเลย 

ด้วยความสงสัยผมจึงถามคนไข้เกี่ยวกับการดูแลตนเอง การกิน การอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นยังไงบ้าง ผมไข้ก็เล่าให้ผมฟัง สรุปคร่าวๆได้ว่า กินอาหารตามปกติแหละ ไม่ได้กินคลีนอะไรมากมาย แต่ที่เด่นชัดที่สุดเลยก็คือ คนไข้รายนี้ชอบการออกกำลังกายมากครับ 

รูปแบบการออกกำลังกายก็จะมีไม่กี่อย่างที่ทำซํ้าๆกัน เช่น เดินเร็ว, เล่นเครื่อง elliptical, เล่นพีลาทิส, โยคะ, เข้าคลาสเต้นบ้างนานๆครั้ง แล้วก็มียกเวทบ้างเล็กน้อย ซึ่งคนไข้ไม่ได้เล่นทั้งหมดพร้อมกันในวันเดียวนะ จะเฉลี่ยๆกันไปในแต่ล่ะวัน แต่ที่แน่ๆคือ คนไข้ออกกำลังกายเป็นประจำต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้วครับ พอคนไข้เล่าจบผมก็กระจ่างทันที เข้าใจแล้วว่าทำไมถึงไม่ค่อยมีอาการปวดข้อสะโพกเหมือนเคสอื่นๆเค้า เนื่องจากกล้ามเนื้อทั้งตัวของคนไข้แข็งแรงดีมากๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแกนกลาง (core body) ซึ่งคนที่กล้ามเนื้อแข็งแรงดีการพยุงข้อกระดูกต่างๆก็ทำได้ดี ช่วยชะลอการเสื่อมของข้อต่อคนเราได้มากเลยนะ

เครื่อง elliptical 

ดูจากลักษณะโดยรวมแล้วคนไข้รายนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนะ แต่เพื่อความสบายใจเลยอยากมาตรวจเช็คร่างกายว่า ที่ดูแข็งแรงเนี่ย จริงๆแล้วมันมีปัญหาอะไรซ้อนอยู่มั้ยน้อ ผมก็ตรวจๆๆๆๆ ตรวจจนครบก็พบปัญหาอยู่ 2 อย่าง 

1) ข้อสะโพกซ้ายติด ไม่สามารถยกขา หรือกางขาได้สุด ถ้าเป็นเคสข้อเสื่อมทั่วไป หรือปวดตึงรอบๆสะโพก ผมก็ใช้วิธีการดัดดึงให้ จนข้อต่อมันขยับได้ปกติ แต่ในคนที่เป็นโรคหัวข้อสะโพกขาดเลือดการไปดัดดึงหรือยืดข้อสะโพกไม่ควรทำนะ เพราะคนที่เป็นโรคนี้หัวข้อสะโพกมันเปราะบางในระดับนึงอยู่แล้ว การไปดัดมีความเสี่ยงทำให้ข้อมันอักเสบเพิ่ม หรือถึงขั้นหักได้เลย ที่ทำได้ก็เพียงแค่คลายกล้ามเนื้อรอบๆข้อสะโพกในจุดที่ตึงเท่านั้นครับ ไม่ได้ไปยุ่งกับข้อสะโพกเลยครับผม

2) ขาซ้ายสั้นกว่าขาขวามากพอสมควรจากหัวข้อสะโพกที่ทรุดไป โดยจะเห็นได้ชัดเวลาที่คนไข้ยืน ตัวคนไข้จะยืนเอียงมาทางซ้ายมากกว่าปกติจากขาซ้ายที่ดูสั้นกว่าครับ และในบางครั้งคนไข้ก็บอกว่า ชอบมีคนมาทักว่าขาเจ็บหรอเพราะเห็นเดินเป๋ๆไปทั้งที่ตัวเองไม่ได้เจ็บขาอะไรเลย ซึ่งในเคสนี้เราจะมาแก้ปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากันด้วยการใส่แผ่นเสริมรองเท้ากันครับผม

ทีนี้เรามาดูลักษณะกระดูกเชิงกรานของคนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน เวลาที่ไม่ได้ใส่แผ่นเสริมรองเท้าว่า มันจะมีความแตกต่างกันมากแค่ไหนนะ โดยจุด landmark ที่ใช้วัดก็คือตำแหน่ง PSIS ซึ่งเป็นปุ่มกระดูกเชิงกรานจุดหนึ่งครับ

ตำแหน่ง PSIS ที่ใช้เป็น landmark
ซึ่งตำแหน่งนี้รู้จักกันในอีกชื่อว่า ลักยิ้มก้น นั่นเองครับ

ภาพชุดที่ 1 ไม่ใส่แผ่นเสริมรองเท้า

(ภาพขวา) ภาพชุดที่ 1 ตำแหน่ง PSIS ซ้ายจะอยู่ตํ่ากว่าขวา (สังเกตุจุดสีม่วงๆ)
(ภาพซ้าย) เมื่อก้มหลัง จะเห็นหลังซีกขวาอยู่สูงกว่า เกิดจากกระดูกสันหลังที่บิด

เพื่อนๆเห็นภาพกันแล้วนะครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับระดับกระดูกเชิงกรานในคนที่ขาสั้นยาวไม่เท่ากันแล้วไม่ได้ใส่แผ่นเสริมรองเท้า เราจะเห็นว่าระดับของเชิงกรานซ้ายอยู่ตํ่ากว่าขวาอย่างเห็นได้ชัดเลย พอเห็นดังนี้แล้ว ผมก็ให้คนไข้ลองใส่แผ่นเสริมรองเท้าข้างซ้ายไป 1 แผ่น ผลก็ออกมาเป็นตามภาพด้านล่างครับ

ภาพชุดที่ 2 ใส่แผ่นเสริมรองเท้าไป 1 แผ่นที่ขาซ้าย

ภาพชุดที่ 2 (ภาพขวา) จะเห็นว่าระดับของ PSIS ซ้ายสูงขึ้นมาเล็กน้อย

หลังจากที่ผมเสริมแผ่นรองเท้าที่ขาซ้ายไป 1 แผ่น เราจะเห็นว่าระดับ PSIS ซ้ายสูงขึ้นมาเล็กน้อย เมื่อก้มหลังจะเห็นว่าหลังบิดน้อยลงแล้วนะ ต่อมาผมก็ลองเสริมแผ่นรองเท้าข้างซ้ายอีก 1 แผ่น ผลก็ออกมาตามภาพด้านล่างครับ

ภาพชุดที่ 3 เสริมแผ่นรองเท้า 2 แผ่น

ภาพชุดที่ 3 (ภาพขวา) เราจะเห็นว่าจุด PSIS ซ้ายเริ่มสูงใกล้เคียงกับขวาแล้ว

จากภาพชุดที่ 3 เมื่อเสริมแผ่นรองเท้าไป 2 แผ่นแล้ว กระดูกเชิงกรานทั้ง 2 ข้างมีระดับที่ใกล้เคียงกันแล้วนะครับ พอให้ก้มหลังจะเห็นว่ากระดูกสันหลังก็ดูบิดน้อยลงแล้วด้วยเช่นกัน แต่เท่านั้นยังไม่พอ คนไข้ได้ตัดแผ่นเสริมรองเท้าพิเศษไว้ที่รองเท้าซ้ายแล้ว เรามาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ภาพชุดที่ 4 คนไข้ตัดแผ่นเสริมรองเท้าสอดไว้ที่รองเท้าซ้ายเรียบร้อยแล้ว

ภาพชุดที่ 4 (ภาพขวา) เห็นได้ชัดเลยว่าตำแหน่ง PSIS แทบจะเท่ากันทั้ง 2 ข้างเลย

เป็นยังไงกันบ้างครับ เพื่อนๆพอจะเห็นความแตกต่างระหว่างการใส่แผ่นเสริมรองเท้ากับไม่ใส่ในคนที่ขาสั้นยาวไม่เท่ากันแล้วใช่มั้ย แล้วเพื่อสรุปภาพให้ดูง่ายๆ ผมจะยกภาพแต่ล่ะชุดมาเทียบกันให้เห็นจะๆกันเลยนะ

ภาพเหล่านี้ เทียบกันระหว่างใส่แผ่นเสริมรองเท้า 2 แผ่น กับไม่ใส่แผ่นเสริมรองเท้า

ภาพซ้าย ใส่แผ่นเสริมรองเท้า 2 แผ่น
ภาพขวา ไม่ได้เสริมแผ่นรองเท้า

ภาพซ้าย ใส่แผ่นเสริมรองเท้า 2 แผ่น
ภาพขวา ไม่ได้เสริมแผ่นรองเท้า

ส่วนภาพเหล่านี้เทียบกันระหว่างใส่แผ่นเสริมรองเท้า 1 แผ่น กับ แผ่นเสริมรองเท้า 2 แผ่น

ภาพซ้าย ใส่แผ่นเสริมรองเท้า 1 แผ่น
ภาพขวา ใส่แผ่นเสริมรองเท้า 2 แผ่น

ภาพซ้าย ใส่แผ่นเสริมรองเท้า 1 แผ่น
ภาพขวา ใส่แผ่นเสริมรองเท้า 2 แผ่น

เพื่อนๆเริ่มเห็นความสำคัญของแผ่นเสริมรองเท้าในคนที่ขาสั้นยาวไม่เท่ากันแล้วใช่มั้ยครับจากภาพที่ผมเปรียบเทียบให้ดู เพื่อนๆลองคิดตามดูนะว่า ถ้าเราเป็นคนขาสั้นยาวไม่เท่ากันมากๆ แต่ก็ไม่ได้แก้ไขอะไร โครงสร้างร่างกายเราก็จะเกิดการเปลี่ยนแผลงตามไปด้วย ในระยะยาวสิ่งที่คนเหล่านี้จะเป็นกันก็คือ จะเกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง และเกิดภาวะกระดูกสันหลังคดตามมาครับ

ความสำคัญของแผ่นเสริมรองเท้าในคนที่ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน นอกจากจะช่วยให้ระดับของเชิงกรานอยู่ในระดับเดียวกันแล้ว 
- ยังทำให้บุคคลิกการเดินของเราดีขึ้น ไม่เดินเหมือนคนขากะเผลก 
- ช่วยป้องกันการปวดหลังเรื้อรังในระยะยาวจากระดับเชิงกรานที่ไม่เท่ากันแล้วส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังซีกซ้ายขวาตึงต่างกัน 
- ป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกสันหลังคด เนื่องจากขาที่สั้นกว่าปกติข้างหนึงจะมีผลให้กระดูกสันหลังโค้งเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งอยู่ตลอดเวลาที่เรายืนหรือเดิน จนในที่สุดก็ทำให้กระดูกสันหลังโค้งเอียงถาวรจนกลายเป็นคนกระดูกสันหลังคดในที่สุด 
- ลดความเสียงจากการปวดเข่า ปวดข้อสะโพก

หลังจากอ่านบทความนี้จบ เพื่อนๆก็ลองให้คนในบ้านคลำหาตำแหน่ง PSIS หรือที่เรียกกันว่า ลักยิ้มก้นกันดูนะครับ แล้วเอาปากกามาวงๆไว้ พอยืนขึ้นก็สังเกตุดูว่าระดับ PSIS ของเรามันเท่ากันมั้ยนะ แม้วิธีนี้จะไม่ละเอียดเท่ากับการใช้สายวัดมาวัดขาเราในท่านอน ซึ่งจะรู้เป็นตัวเลขชัดเจนเลยว่าขาสั้นยาวต่างกันกี่ซ.ม. แต่อย่างน้อยเราก็พอรู้วิธีเช็คร่างกายตัวเองกันแบบคร่าวๆแล้วเนอะ ^^





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น