เมนูหน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562

เอ็นข้อมืออักเสบ เจอกันแน่ คุณแม่มือใหม่


เอ็นข้อมืออักเสบ 
เจอกันแน่ คุณแม่มือใหม่

เห็นผมขึ้นหัวข้อมาแปลกๆแบบนี้เพื่อนๆอาจจะงงๆกันว่า เอ็นอักเสบมันเกี่ยวอะไรกับคุณแม่มือใหม่? แล้วคุณแม่ลูกสอง หรือคุณพ่อมือใหม่จะเป็นด้วยมั้ย? ก่อนที่เพื่อนๆจะคิดเลยเถิ่ดเรื่องพ่อๆแม่ๆไปมากกว่านี้ ผมเฉลยให้เลยดีกว่า

โรคเอ็นข้อมืออักเสบที่ผมจะพูดถึงนี้มีชื่อโรคอย่างเป็นทางการว่า de quervain (ดูปากณัชชานะคะ อ่านว่า เดอ-กา-แวง) ซึ่งโรคนี้เป็นอาการอักเสบของเส้นเอ็นนิ้วโป้งที่อยู่ใกล้ๆข้อมือครับ ตำแหน่งดูตามรูปด้านล่างได้เลย

ภาพแสดงตำแหน่งที่เส้นเอ็นอักเสบ

ส่วนเหตุที่ผมบอกว่าเสี่ยงพบในคุณแม่มือใหม่ก็เพราะว่า เป็นผลจากการใช้งานข้อมือนานๆจากการอุ้มลูก ถ้าเราอุ้มอย่างถูกวิธีเต็มที่ก็แค่ปวดเมื่อยล้าแขนธรรมดานะ แต่จะมีคุณแม่ที่ไม่ระวังตัวอุ้มลูกโดยใช้มือข้างหนึ่งสอดรับที่ใต้ก้นลูก แล้วเผลอหักข้อมือไปทางนิ้วก้อยและงอนิ้วโป้งค้างไว้นานๆ ซึ่งการอยู่ในท่านี้มันเป็นการยืดเอ็นนิ้วโป้งตรงข้อมือพอดีเป๊ะ (คล้ายๆกับท่ารับปริญญาบัตรที่มีการหักข้อมือหน่อยๆนั่นแหละครับ)

ภาพขวาแสดงท่าที่เสี่ยงทำให้เอ็นอักเสบ

ถ้าเป็นการยืดธรรมดาก็ไม่มีปัญหาหรอกนะ มันมีปัญหาตรงที่นํ้าหนักตัวของลูกเนี่ยแหละครับ ยิ่งลูกนํ้าหนักตัวมาก กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่มือยิ่งต้องรับแรงกดดันมากขึ้นตามไปด้วย แล้วมันจะมีจังหวะไคลแม็กซ์ตอนที่ลูกดื้นแล้วเราดันไปเผลอหักข้อมือไปทางนิ้วก้อยเร็วๆ ซึ่งการทำแบบนี้มันเป็นการกระชากเส้นเอ็นที่นิ้วโป้ง ทำให้เอ็นอักเสบได้ทันที คุณแม่มือใหม่มักจะเป็นโรค de quervain ก็ตอนที่ลูกดื้นเนี่ยแหละครับ 

เสริม : ผู้หญิงในช่วงตั้งครรภ์จนคลอดลูกออกมาใหม่ๆ โดยมากเส้นเอ็นค่อนข้างจะอ่อนแอกว่าปกติอยู่แล้ว จากฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่หลั่งออกมาในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อให้เส้นเอ็นรอบๆเชิงกรานอ่อนตัวลง (แต่ในความเป็นจริงมันทำให้เอ็นทั่วร่างกายอ่อนตามไปหมด) เพื่อจะได้ขยายกระดูกเชิงกรานให้มากขึ้น ไว้รองรับเด็กในท้องที่โตขึ้นเรื่อยๆแล้วจะคลอดได้ง่ายนั่นเองนะ 

ภาพขวา แสดงท่าอุ้มลูกที่เสี่ยงทำให้เป็น de quervain

เจ้าหนูสงสัย : แล้วเจอโรคนี้ในคุณแม่มือใหม่เท่านั้นเองหรอ?

ไม่หรอกครับ จริงๆแล้วคุณพ่อก็เป็นได้นะ แต่จะน้อยกว่าพอสมควรเลยล่ะ เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของผู้ชายจะแข็งแรงกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว ความเสี่ยงที่ทำให้เอ็นฉีกขาดก็น้อยลงแน่นอน แล้วที่สำคัญคุณพ่อจะอุ้มลูกไม่นานเท่าคุณแม่นะ คุณแม่จะอุ้มลูกนานกว่าอย่างน้อยก็ช่วงให้นมลูกเนี่ยแหละครับ 

นอกจากจะพบได้ในคนที่อุ้มลูกนานๆแล้วก็ยังพบได้ในคนทั่วไปด้วยนะ เช่น... 

- คนที่ยกกระถางต้นไม้หนักๆ แล้วเผลอไปหักข้อมือตอนยกจนเอ็นถูกกระชากกระทันหันทำให้เอ็นอักเสบ

- คนที่ชอบเล่นเกมส์มือถือแล้วใช้นิ้วโป้งจิ้มหน้าจอเร็วๆนานๆ

- คนที่ใช้กรรไกรตัดของแข็งบ่อยๆ เช่น ชาวสวน ที่ต้องใช้กรรไกรตัดเล็มกิ่งไม้ ซึ่งการที่เราอ้ากรรไกรออกแล้วหุบกรรไกรเร็วๆแรงๆ ทำให้เอ็นนิ้วโป้งถูกกระชากซํ้าๆจนปวดได้

- คนลวกก๋วยเตี๋ยว อาจจะงงว่าการลวกก๋วยเตี๋ยวทำให้เจ็บเอ็นได้ยังไง ถ้าแค่ลวกเส้นเฉยๆยังไงก็ไม่เจ็บหรอกครับ มันจะเจ็บตอนที่เราถือตะกร้อลวกเส้นแล้วสบัดข้อมือ เพื่อสะเด็ดนํ้าออกนั่นแหละ

- แม่ค้าที่ทำอาหารตามสั่ง เคสนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลกที่พึ่งเจอ คือเค้าไม่ได้เจ็บจากการใช้ตะหลิวผัดกับข้าวหรอกครับ แต่เกิดจากท่าเปิดปิดเตาแก๊ส! ตอนแรกผมก็งงว่าแค่ท่าเปิดปิดเตาแก็สมันทำให้เอ็นนิ้วโป้งอักเสบได้ยังไงกัน กลับมาบ้านเลยผมลองใช้มือเปิดปิดเตาแก๊สแล้ววิเคราะห์ข้อมือดู สรุป มันเป็นได้จริงๆครับ เพราะตอนที่หมุนเปิดเตาแก๊สเราใช้แรงแค่ข้อมือเพื่อเปิดเตา มันจะเหมือนกับการหักขือมือเลย แล้วถ้าวาวมันหนืดก็ต้องใช้แรงมากขึ้น แล้ววันนึงก็เปิดๆปิดๆเ็นร้อยครั้ง การทำกระชากเอ็นซํ้าๆกันแบบนี้เนี่ยแหละที่ทำให้เป็นโรค de quervain ได้ในที่สุด



ภาพตัวอย่างที่ทำให้เสี่ยงเป็นเอ็นข้อมืออักเสบ เช่น ท่ายกของหนักอย่างเก้าอี้, ท่าเปิดเตาแก๊ส

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตรงข้อมือทางฝั่งนิ้วโป้ง ถ้าเป็นใหม่ๆจะบวม แดงอย่างเห็นได้ชัด เพียงแค่เอามือลูบๆตรงข้อมือก็ปวดได้ ถ้ากำมืองอนิ้วโป้ง หรือกระดกข้อมือขึ้นๆลงๆ(เหมือนท่ารับปริญญา)ก็ทำให้ปวดได้อีกเช่นกัน 

วิธีเช็คว่าเป็น de quervain จริงรึเปล่า?

ในบางคนก็ปวดข้อมืออยู่เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ปวดทั้งข้อมือเลย แถมยังปวดใกล้ๆนิ้วโป้งด้วย ทีนี้เราจะรู้ได้ยังไงว่าอาการปวดที่เป็นอยู่มันเกิดจากเอ็นทางฝั่งนิ้วโป้งอักเสบจริงๆจนทำให้เป็น de quervain เพื่อนๆอาจจะสงสัยกันอยู่ใช่มั้ยครับ 

วิธีการก็ง่ายๆครับ ให้ทำ 3 ขั้นตอน เริ่มจาก

1. เหยียดนิ้วทั้ง 5 ให้ทรง แล้วงอนิ้วโป้งให้ไปแตะโคนนิ้วก้อยค้างไว้
2. งอนิ้วที่เหลือทั้ง 4 ให้กดลงมาที่นิ้วโป้ง (เหมือนกำมือปกติ เพียงแต่นิ้วโป้งอยู่ด้านในแทน)
3. สุดท้ายให้กดข้อมือลงไปทางฝั่งนิ้วก้อย 
ถ้าคนที่เป็น de quervain จะปวดจี๊ดที่ข้อมือใกล้ๆนิ้วโป้งทันทีเลย บางรายอักเสบมากอยู่แล้วเพียงแค่ทำขั้นตอนที่ 2 คือกำมือให้นิ้วโป้งอยู่ด้านในก็ปวดจนสะดุ้งแล้วครับ

วิธีเช็คว่าเป็นโรค de quervain ทำ 3 ขั้นตอนตามรูป
การรักษา

โรคอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเส้นเอ็นมักจะหายช้าเสมอเมื่อเทียบกับการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือกระดูก เพราะเส้นเอ็นมีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงน้อยกว่ามาก การซ่อมแซมจึงทำได้ช้ากว่ามาก เช่นเดียวกับโรค de quervain ที่จัดว่าเป็นเส้นเอ็นอักเสบเช่นเดียวกัน 

ถ้าเรามั่นใจแล้วว่าตัวเองเป็นโรคนี้จริงๆ อันดับแรกที่ต้องทำเลยคือ หมั่นประคบเย็น/นํ้าแข็งตรงจุดที่ปวดบ่อยๆเลยครับ บ่อยที่ว่านี่บ่อยแค่ไหน คือ ถ้าเป็นไปได้ก็เกือบจะตลอดเวลาตั้งแต่เช้ายันคํ่าเลยนะ หรือถ้าไม่ได้จริงๆก็ 15 นาที ทุกๆชั่วโมงครับ เพราะความเย็นมันจะช่วยลดการบวม อักเสบ และปวดได้ดีมากๆ ทำให้อาการไม่แย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่ แล้วถ้าไม่ได้เป็นมาก จะยิ่งทำให้เราหายไวมากขึ้นตามไปด้วยนะ แค่ใช้การประคบเย็นเนี่ยแหละครับ

การรักษาทางกายภาพบำบัด

ถ้าเพื่อนๆมีความรู้สึกว่า มันปวดมากจริงๆ แล้วอาการที่เป็นอยู่หายช้าเหลือเกิน มีวิธีไหนที่ทำให้หายไวบ้างมั้ย? 

มีครับ เครื่องมือทางกายภาพที่ใช้รักษาเอ็นอักเสบที่นิยมกันก็คือ การใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ กับเลเซอร์ยิงไปจุดที่ปวดนะ เพราะเครื่องมือทั้ง 2 นี้ ช่วยเร่งกระบวนการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อให้หายไวขึ้น แต่ช่วงแรกก็ต้องไปทำถี่หน่อยนะ 

ถ้ารู้สึกว่าการพยายามระวังนิ้วโป้งตัวเองเป็นเรื่องยาก ก็ซื้ออุปกรณ์ตามรูปมาช่วยได้ครับ

แล้วสิ่งสำคัญต่อมาก็คือ พยายามชูนิ้วโป้งตลอดเวลาเมื่อต้องกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมือข้างที่เจ็บอยู่ เช่น ถ้าต้องยกถังหนักๆก็ให้ชูนิ้วโป้งไว้แล้วใช้ 4 นิ้วที่เหลือเป็นนิ้วที่ออกแรงแทน หรืออย่างการบิดหมุนอะไรสักอย่างที่ต้องใช้แรงมาก เช่น การเปิดวาล์วแก๊ส ก็๋ให้หมุนโดยชูนิ้วโป้งไว้ตลอดเลย 

ที่ต้องให้ชูนิ้วโป้งไว้ตลอดก็เพื่อต้องการให้เอ็นที่อักเสบได้พัก เพราะการที่เรายังใช้นิ้วโป้งออกแรงหนักๆอยู่ จะทำให้เอ็นที่บาดเจ็บถูกยืด ถูกกระชากจนเส้นเอ็นบาดเจ็บซํ้าซาก กระบวนการซ่อมแซมร่างกายทำได้ไม่สมบูรณ์ซะที เหมือนเราเป็นแผลมีดบาดแล้วเราดันไปเกาแผล หยิกแผลตัวเองบ่อยๆ แผลมันก็ยังคงฉีกอยู่อย่างนั้นแหละครับ 

ตัวอย่างที่ทำให้เอ็นข้อมืออักเสบอย่างการเปิดวาล์วแก๊สร่วมกับงอนิ้วโป้ง 
ทำให้เอ็นนิ้วโป้งถูกกระชากจนอักเสบได้ง่าย

เจ้าหนูสงสัย : ก็รู้นะว่าการยกของหนักโดยออกแรงนิ้วโป้งด้วยจะทำให้อักเสบเพิ่มขึ้น แต่คนที่มีลูกแล้วต้องอุ้มลูกอยู่บ่อยๆ เลี่ยงไม่ได้จริงๆจะทำยังไงดี? 

ผมจะบอกความจริงที่ไม่ค่อยน่าฟังว่า คนที่เป็นโรคนี้แล้วยังคงมีความจำเป็นต้องอุ้มลูกอยู่ตลอด ส่วนใหญ่หายช้ามากครับ จะเริ่มหายก็ตอนที่ลูกเริ่มโตจนไม่คุ้ยได้อุ้มนั่นแหละ ถึงแม้ผมจะแนะว่า ให้ชูนิ้วโป้งไว้ตลอดตอนอุ้มลูกน้าาาา อย่าใช้นิ้วโป้งออกแรงประคองเด็กน้าาาาาา แต่ในทางปฎิบัติจริงทำได้ยากมากเลยนะ 

เพราะเด็กก็คือเด็กต้องดิ้นต้องซน โดยปกติผมจะแนะคนอุ้มว่า ให้ใช้มือข้างที่ไม่เจ็บอุ้มแล้วใช้มือข้างที่เจ็บเป็นตัวประคอง ถ้าเด็กดิ้นไม่มากยังพอประคองไหว แต่พอดื้นเยอะๆเข้าสัญชาตญาณความเป็นพ่อเป็นแม่คนก็ต้องใช้ 2 มือ โอบลูกหนักขึ้น ใช้แรงมือมากขึ้นรวมทั้งนิ้วโป้งข้างที่เจ็บด้วยเพราะกลัวลูกตก และนั่นแหละเป็นเหตุว่าทำไมคนที่อุ้มลูกถึงไม่หายจากโรคนี้กันจนกว่าลูกจะโต

ท่าอุ้มลูก ภาพซ้ายให้ชูนิ้วโป้งไว้จะลดความเสี่ยงเอ็นอักเสบได้ 
แต่ถ้าลูกตัวใหญ่แล้วชอบดื้น เราก็จะเผลองอนิ้วโป้งอยู่ดี

ข้อห้าม ถ้ารู้ว่าเป็นโรคนี้แล้ว

- ห้ามประคบร้อน หรือใช้ยาที่มีฤทธ์ร้อน ในระยะอักเสบใหม่ๆ โดยระยะอักเสบใหม่ๆให้สังเกตุดังนี้ มีบวม แดง และตรงที่ปวดมันอุ่นๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะความร้อนจะยิ่งทำให้ข้อมือบวม และอักเสบมากขึ้นได้
- ห้ามกด นวดตรงจุดที่เจ็บ เพราะการกดนวดจรงจุดที่เจ็บซํ้าๆบ่อยๆจะขัดขวางกระบวนการรักษาตัวเอง ทำให้หายช้า ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้อักเสบมากกว่าเดิม แต่เราสามารถลูบๆตรงจุดที่เจ็บได้นะ
- ห้ามใช้นิ้วโป้งออกแรงยกของหนัก พยายามชูนิ้วโป้งไว้ถ้าต้องใช้งานมือข้างนั้นหนักๆ 

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมพบว่าคนไข้หลายคนรักษามาหลายวิธีมาก บางคนรักษากันมาเป็นปีๆแต่ไม่หายขาดซะที ส่วนหนึ่งที่ไม่หายก็เพราะคนไข้ไม่รู้ข้อปฎิบัติว่า ตอนที่เป็นโรคนี้อยู่ห้ามทำอะไรบ้าง ซึ่งจะพลาดกันอยู่ 2 เรื่องใหญ่คือ 1) คนไข้ชอบไปกด ไปนวดตรงที่เจ็บเพราะคิดว่าจะทำให้หายไวขึ้น 2) เผลอไปยกของหนักโดยใช้แรงนิ้วโป้ง จนทำให้บาดเจ็บซํ้าซากนั่นเองครับ 

โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเราไม่ได้เข้ารับการรักษา ใช้แต่การประคบเย็น และเลี่ยงการใช้งานนิ้วโป้งข้างที่เจ็บอยู่อย่างน้อยประมาณ 2 เดือนเราก็รู้สึกได้แล้วครับว่าอาการปวดดีขึ้นนะ แต่ถ้าเพื่อนๆรอไม่ไหว มันปวดมากจริงๆแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อฉีดยาบรรเทาปวดก่อนก็ได้ครับผม





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น