เมนูหน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เคสน่าศึกษา 07 หมอนรองทับเส้นระดับหน้าอก


เคสน่าศึกษา 07
หมอนรองทับเส้นระดับอก
โรคที่ 1 ใน 1,000 จะเจอซักคน

ห่างหายไปนานเลยครับ กับเคสกรณีศึกษา ในบทความนี้ผมจะพูดถึงโรคที่เพื่อนๆรู้จักกันดีอยู่แล้วอย่าง "โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" ส่วนจะทับเส้นที่คอ หรือหลังส่วนล่างก็เป็นอีกเรื่องนึง แต่ถ้าเป็นทับเส้นทั่วไปคงไม่ได้ถูกหยิบยกมาเป็นกรณีตัวอย่างแน่ๆครับ ส่วนเคสนี้จะมีความพิเศษอย่างไรบ้าง ติดตามกันได้เลย

คนไข้ที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้ เป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นที่ระดับทรวงอกครับ โดยตามหลักสรีรวิทยาแพทย์จะแบ่งโครงสร้างกระดูกสันหลังออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1) กระดูกสันหลังระดับคอ 2) ระดับทรวงอก 3) ระดับเอว 4) กระเบนเหน็บ

ลักษณะโครงสร้างข้อกระดูกสันหลังระดับทรวงอก 
ที่มีซี่โครงอยู่รอบๆ ทำให้ข้อกระดูกส่วนนี้เคลื่อนไหวมากไม่ได้

ซึ่งการเกิดหมอนรองทับเส้นประสาท มักจะเกิดที่ระดับเอวมากที่สุด รองลงมาก็คอ เนื่องจากแนวกระดูกทั้ง 2 ส่วน เป็นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด คือ ก้ม เงย เอียงตัว เอี้ยวตัว เท่านั้นยังไม่พอ ยังเป็นส่วนที่ต้องรับนํ้าหนักร่างกายมากที่สุดด้วย โดยเฉพาะที่ระดับเอว จึงทำให้หมอนรองกระดูกต้องแบบรับนํ้าหนัก ถูกใช้งานอยู่ตลอดเวลา จนเกิดการฉีกขาดแล้วทำให้หมอนรองปลิ้นได้ง่าย

แต่กระดูกสันหลังระดับทรวงอกนั้นต่างออกไป มันเป็นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวน้อยมากเมื่อเทียบกับคอ และหลังล่าง เพราะติดกระดูกซี่โครงแค่นั้นเองครับ แล้วพอเคลื่อนไหวได้น้อยโอกาสที่หมอนรองจะปลิ้นมันก็น้อยลงไปด้วย นี่จึงเป็นเหตุว่าทำให้การจะพบคนเป็นหมอนรองทับเส้นประสาทระดับทรวงอกถึงพบได้น้อยมากนั่นเองครับผม

อาการ ของผู้ป่วยรายนี้

ครั้งแรกที่ผู้ป่วยมาหานั้น มาด้วยอาการปวดเนินหน้าอก ข้อศอกทั้ง 2 ข้าง สะบักทั้ง 2 ข้าง ปวดไหปลาร้าซ้าย แล้วก็มีการตึงคออยู่ลึกๆตลอดเวลา จะเป็นมากที่สุดช่วงตี 4 โดยจะรู้สึกปวดหน้าอก ปวดลึกๆอยู่ข้างในจับจุดไม่ถูก กดตรงไหนก็ไม่โดนจุดซะที รู้แค่ว่ามันอยู่ข้างในจนนอนต่อไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมานั่ง ยืน เดิน ถึงจะรู้สึกดีขึ้นเล็กน้อย แต่จะให้นอนต่อก็คงทำไม่ได้แน่นอน เพราะมันปวดอยู่ตลอดเวลาแล้ว

แล้วอาการปวดก็เป็นมาตั้งแต่กลางปี 2561 แต่เริ่มเป็นหนักสุดจนต้องตื่นนอนตี 4 เกือบทุกคืนก็ช่วงสิ้นปี 2561 ยาวมาจนถึงปัจจุบัน แล้วแน่นอนว่าคนไข้ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆนะครับ เข้ารับการรักษาทุกรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งทานยา ทำกายภาพ นวดรักษาตามศาสตร์ต่างๆที่มี ซึ่งในช่วงที่ทำการรักษาอาการดีขึ้นมาก แต่พอกลับมาบ้านอาการปวดก็ค่อยๆกลับมาเป็นดังเดิม วนเวียนอยู่แบบนี้ทุกวันทรมานมาก

ตำแหน่งเนินหน้าอกที่คนไข้ปวดอยู่ทุกวัน

การตรวจประเมินเบื้องต้น

จากการซักประวัติในเบื้องต้น ตอนแรกผมก็สันนิษฐานว่า คงเป็นหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทแน่ๆเลย แต่พอตรวจองศาการเคลื่อนไหวของคอ วิธีการตรวจจะคล้ายๆคลิปนี้ https://youtu.be/3b8ySxLXeGw ขณะตรวจก็เห็นว่าองศาการเคลื่อนไหวของคอก็ปกติดี ไม่มีการติดขัด หรือมีองศาที่ทำให้ปวดมากขึ้นแต่อย่างใด


แต่ยังไม่วางใจ ผมก็ให้คนไข้นอนควํ่าแล้วกดไปที่ข้อกระดูกคอทีละข้อ เพื่อเช็คว่าข้อไหนมันติดขัด หรือมีการกดทับเส้นประสาทอะไรมั้ย เพราะถ้าเป็นจริง เวลากดไปที่ข้อนั้นโดยตรง คนไข้จะรู้สึกปวดตรงจุดที่นิ้วผมกดลงไปพอดี หรือไม่ก็ปวดร้าวลงแขนตามแนวที่เส้นประสาทถูกกดทับ แต่คนไข้บอกว่าแค่เจ็บตามแรงกดนิ้วธรรมดา จากนั้นก็ใช้เทคนิคตรวจพิเศษอื่นๆเพิ่มอีกเล็กน้อย เช่น การกดไปที่ศีรษะโดยตรงเพื่อเพิ่มแรงอัดในข้อเพื่อดูอาการว่าปวดมากขึ้นมั้ย และอีก 2-3 เทคนิคอื่นๆ ปรากฎว่า เฉยๆทุกอย่างเลย

สาธิตการกดไล่กระดูกคอทีละข้อเพื่อหาว่าข้อไหนมีปัญหา

พอตรวจจนแน่ใจแล้วว่า เคสนี้ไม่ได้เป็นหมอนรองทับเส้นที่คอแน่นอน ผมก็เล็งไปที่การกดทับเส้นประสาทของกล้ามเนื้อรอบๆคอ และทรวงอก ที่มีชื่อโรคกลุ่มนี้ว่า โรค thoracic outlet syndrome (TOS) 

ผมก็ตรวจแยกโรคว่าเป็น TOS รึเปล่า ตรวจๆไปก็ไม่ได้มีอาการเด่นชัดอะไรมากมาย คนไข้บอกว่าก็มีชาบ้างนะ แต่ไม่ได้หนักหนาอะไร พอตรวจเสร็จก็ทดโรคนี้ไว้ในใจก่อนยังพอมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง

(รายละเอียดของโรค TOS ดูได้ที่ลิงค์นี้ครับ https://youtu.be/6ThAv7xU8fQ)

นอกนั้นผมก็ตรวจลักษณะโครงสร้างร่างกายทั่วๆไป เช็คระดับหัวไหล่เท่ากันมั้ย กล้ามเนื้อรอบๆบ่าตรงไหนตึงบ้าง ตรงไหนอ่อนแรงบ้าง เส้นประสาทเส้นไหนตึง มีข้อติดมั้ย ก็ตรวจๆๆๆๆไล่ไปจนครบ ซึ่งรูปแบบอาการปวดไม่ได้ตอบสนองต่อเทคนิคหนึ่งเทคนิคใดเป็นพิเศษ พูดง่ายๆก็คือ ยังไม่สามารถระบุได้ 100% ว่าอาการที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้คือโรคอะไรนั่นเองครับ แต่มีความเป็นไปได้ว่า เป็น TOS นะ

การรักษา ในเบื้องต้น

สำหรับวิธีการรักษาโรค TOS ก็ไม่ได้มีความยุ่งยากซับซ้อนอะไรเลยครับ ผมก็ใช้เทคนิค myofascial release ซึ่งเป็นเทคนิคการคลายกล้ามเนื้อและพังผืดในส่วนที่ตึงให้มันคลายตัว ซึ่งจะเน้นเฉพาะส่วนที่ตึง หรือส่วนที่มีปัญหาอยู่นะ ตรงไหนไม่มีปัญหาก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งให้คนไข้ต้องเจ็บตัวหรอกครับผม

ตำแหน่งที่จะเน้นคลายเป็นพิเศษก็คือ ช่วงก้านคอ กล้ามเนื้อแผงหน้าอกทั้งหมด เพราะเป็นส่วนที่ตึงมากที่สุด และถ้ากล้ามเนื้อกลุ่มนี้ตึงมากๆจะไปกดเบียดเส้นประสาททำให้เกิดอาการปวด และชาได้นั่นเองครับ

สาธิตการคลายกล้ามเนื้อหน้าอก (คลาย pectoralis minor)

นอกจากการคลายกล้ามเนื้อแล้ว ผมก็ยังยืดเส้นประสาท ยืดดึงผิวหนังให้พังผืดที่อยู่ใต้คลายตัว อาการตึงปวดที่ข้อศอกแบบปวดลึกๆจะได้คลาย คนไข้จะรู้สึกเบาลง

สาธิตการคลายพังผืดท่อนแขนโดยการดึงคนไข้จะรู้สึกตึงมาก

ซึ่งแน่นอนว่าขณะรักษาคนไข้บอกว่ารู้สึกดีขึ้นมาก โดยเฉพาะตอนดึงแขนเพื่อคลายพังผืดให้มันอ่อนตัวลง คนไข้รู้สึกว่าอาการปวดในแขน และข้อศอกลึกๆแทบจะหายไปในทันที หลังการรักษาเสร็จก็สอนท่ากายบริหารง่ายๆไป 2-3 ท่า เน้นกล้ามเนื้อสะบักให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อช่วงแผงหน้าอกกลับไปตึงใหม่

ทุกอย่างดูจะเป็นไปได้ด้วยดี จนกระทั่งในสัปดาห์ถัดไปคนไข้กลับมาหาผมด้วยอาการเดิมเลยครับ คือ ปวดแผงหน้าอกโดยรอบ ข้อศอก สะบัก แต่ตรงไหปลาร้าหายปวดแล้ว ผมก็ทำการตรวจร่างกายอีกรอบ (คนไข้เก่า คนไข้ใหม่ต้องตรวจร่างกายก่อนรักษาเสมอครับ เพื่อประเมินอาการว่าดีขึ้นหรือแย่ลงยังไงบ้าง และเป็นการกรองโรคใหม่ๆที่เราอาจตรวจไม่เจอในครั้งแรกด้วย) ตรวจแล้วก็ได้ผลดังเดิม ผมก็ใช้วิธีการรักษาดังเดิมเลย พอรักษาเสร็จก็รู้สึกดีขึ้น (ณ ตอนที่รักษาเสร็จนะ)

มาครั้งที่ 3 คราวนี้คนไข้บอกว่า อาการแย่ลงมากเลย จากเดิมที่รักษาครั้งแรกจะหายปวดไปได้ 2 วัน แต่ครั้งล่าสุดนี่พบกลับไปถึงบ้านก็ปวดเหมือนเดิมเลย มาครั้งนี้ก็ปวดเหมือนเดิมทุกอย่างแล้ว ทำยังไงดี? พอพูดคุยซักถามอาการเพิ่มเติมเสร็จ ผมก็ชักจะรู้สึกแปลกๆแล้ว "เอ๊ะ! ทำไมมันเป็นแบบนี้ไปได้ ปกติโรค TOS ถ้าไม่ได้เป็นหนักหนาอะไรมากมาย รักษากันครั้งที่ 2 ก็แทบจะหายขาดแล้วนะ แต่ทำไมเคสนี้อาการแย่ลงได้หว่า?" ผมคิดในใจ

สรุปในครั้งที่ 3 ผมไม่ได้เน้นคลายกล้ามเนื้ออะไรมาก แต่ลองปรับเปลี่ยนให้เน้นการออกกำลังกายเป็นหลัก และปิดท้ายด้วยการยืดคลายพังผืดที่แขน กับช่วงชายโครงไป ซึ่งผลการรักษาก็ไม่ได้เห็นชัดอะไรมากมาย

และแล้วความจริงก็ปรากฎ

หลังจากห่างหายไป 1 สัปดาห์กว่า คนไข้ก็กลับมาอีกครั้ง คราวนี้ไม่ได้มามือเปล่า แต่มาพร้อมแผ่นฟิลม์ MRI กระดูกสันหลังตั้งแต่หัวจรดเอวเลยครับ ผมไม่รอช้า รีบดูแผ่นฟิลม์ก่อนเลย ผมดูไล่ข้อกระดูกสันหลังไปทีละข้อ ทีละข้อ ทีละข้อ จนไปเจอข้อนึงที่เป็นเป้าหมาย ผมถึงกับปรบมือดังฉากทันที!

รู้เลยว่าทำไมการรักษาก่อนหน้านี้ถึงไม่เห็นผล เพราะอาการที่คนไข้เป็นอยู่ไม่ได้เกิดจาก TOS แต่เป็นเพราะโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทที่ระดับทรวงอกนั่นเองครับ ข้อที่ T2-T3

ภาพ MRI ของคนไข้รายนี้ครับ มีหมอนรองปลิ้นที่ T2-T3
ส่วนที่ระดับคอก็ปลิ้นเหมือนกัน แต่จากผลการตรวจการเคลื่อนไหวที่คอไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร

เพื่อนๆจะเห็นผมวงตรงจุดสีแดงๆ ตรงนั้นแหละครับที่เกิดหมอนรองปลิ้นทับเส้นประสาทไขสันหลังอยู่ แล้วเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนไข้เกิดอาการปวดเนินหน้าอก สะบัก และโดยรอบทรวงอกอย่างที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้ เพราะเส้นประสาทบริเวณที่ถูกกดทับอยู่นั้น จะส่งสัญญาณประสาทไปเลี้ยงบริเวณหน้าอกและสะบักพอดี ตามหลัก dermatome

ตำแหน่งที่คนไข้ปวดอยู่ตลอด
ซึ่งตรงตามตำแหน่งที่เส้นประสาทถูกกดทับพอดี

คิดใหม่ ทำใหม่

พอรู้สาเหตุที่แท้จริงแล้ว ความมั่นใจในการรักษาเคสนี้ก็กลับมาเต็ม 100 เลย เป้าหมายหลักของการรักษามีอยู่แค่อย่างเดียวคือ ดันหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นอยู่ให้กลับเข้าที่ ถ้าหมอนรองกลับเข้าที่แล้ว การกดทับเส้นประสาทก็ไม่เกิดขึ้น พอไม่มีการกดทับ อาการปวดทุกอย่างหายหมดได้แน่นอน

ส่วนเป้าหมายรองก็คือ เมื่อดันจนหมอนรองที่ปลิ้นอยู่กลับเข้าที่แล้ว ก็ต้องป้องกันไม่ให้หมอนรองกลับมาปลิ้นซํ้า ถ้าหมอนรองไม่ปลิ้นซํ้าจนเอ็นหุ้มหมอนรองกระดูกกลับมายึดติดกันดีดังเดิม ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน นั่นก็หมายความว่าคนไข้รายนี้หายขาด 100% แล้วครับผม

กระบวนการรักษาคนเป็นหมอนรองปลิ้นที่ระดับอก

วิธีการรักษาก็ใช้การกดไปที่ข้อกระดูกตรงตำแหน่งที่ปลิ้นโดยตรงเลยครับ โดยให้คนไข้นอนควํ่าแล้วกดลงไปตามจังหวะ เพื่อให้แรงดันจากมือ ดันตัวหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นค่อยๆไหลซึมกลับเข้าที่ ซึ่งแน่นอนขณะดันข้อที่ปลิ้น คนไข้จะรู้สึกปวดลึกๆ ปวดแสบตามแรงกดอยู่แล้ว

สาธิตการกดข้อที่หมอนรองปลิ้น เพื่อดันให้หมอนรองกลับเข้าไป

แต่เมื่อกดลงไปได้สักระยะจนคนไข้รู้สึกว่าปวดน้อยลงแล้ว ผมก็จะให้คนไข้ตั้งศอกและแอ่นหลังขึ้นมา ร่วมกับการกดตรงหมอนรองที่ปลิ้นอยู่ให้กลับเข้าไปใหม่ ซึ่งวิธีนี้จะเพิ่มแรงดันให้หมอนรองที่ปลิ้นถูกดันเข้าไปมากกว่าเดิม

สาธิตการดัดข้อร่วมกับการออกกำลังกาย
เพื่อให้หมอนรองที่ปลิ้นกลับเข้าที่ได้มากขึ้น

กระบวนการรักษาจะทำๆหยุดๆ เพื่อให้คนไข้ได้พักเหนื่อยบ้าง ใช้เวลาเบ็ดเสร็จ 40 นาที ก็จบการดัดข้อ หลังดัดเสร็จคนไข้บอกได้ทันทีว่า อาการปวดตรงหน้าอกหายไปโดยสิ้นเชิง จะมีเหลือที่ข้อศอกนิดหน่อยเท่านั้นเอง "สุดยอดไปเลย!!" อันนี้ผมชมตัวเองนะ ฮาๆๆ

ท่ากายบริหารที่บ้าน

หลังการรักษาเสร็จ สิ่งที่คนไข้ทุกคนจะได้กลับไปก็คือ ท่ากายบริหารเพื่อให้กลับไปรักษาตัวเองต่อที่บ้าน เปรียบเสมือนกับหมอจ่ายยาเวลาไปโรงพยาบาลนั่นแหละครับ หมอให้ยา แต่นักกายภาพให้ท่ากายบริหาร

ท่ากายบริหารจะมีความคล้ายตลึงกับคนที่เป็นหมอนรองปลิ้นที่เอวนะ คือจะเน้นการแอ่นหลังให้มาก เพื่อดันตัวหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นให้ไหลกลับเข้าที่ไป

1) นอนควํ่าตั้งศอกแแอ่นหลัง

ท่าบริหารเพื่อดันหมอนรองที่ปลิ้นให้กลับเข้าที่ด้วยตนเอง

เมื่อปวดมากและทำกายบริหารไม่ไหวก็ให้นอนหมอนรองหน้าอกไว้

2) นั่งเก้าอี้ พิงพนัก

นั่งแอ่นหลัง ไว้ฝึกระหว่างวัน

3) ห้ามก้มหลังในทุกกรณี

การก้มหลังเก็บของตามภาพจะเพิ่มโอกาสให้หมอนปลิ้นได้
รวมทั้งการนั่งหลังค่อมด้วย

สรุป

ในสัปดาห์ถัดไปคนไข้ก็กลับมาเจอผมอีกครั้ง รวมเป็น 5 ครั้งพอดี ซึ่งคนไข้เล่าให้ฟังว่าครั้งล่าสุดกลับไปรู้สึกโล่งมาก ไม่ปวดอีกเลย ตอนตี 4 ก็ไม่ปวดจนต้องสดุ้งตื่นอีกแล้ว เหมือนตัวเองกลับมาเป็นปกติดีทุกอย่าง จนเมื่อวันสองวันก่อนอาการตึงๆปวดๆที่หน้าอกเริ่มกลับมา เลยรีบมาหาก่อนที่จะเป็นมากกว่าเดิม ซึ่งรูปแบบการรักษาก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากเดิมมาก

ก่อนกลับคนไข้ก็ถามผมว่า พอจะประเมินได้มั้ยว่า โรคนี้จะหายเมื่อไหร่? ผมก็บอกไปว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นที่คอหรือเอว โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนถึงมั่นใจได้ว่าหายขาดแน่ แต่คนที่เป็นหมอนรองปลิ้นที่ระดับอกอาจจะเร็วกว่านั้นมาก นั่นคือ 1 เดือน 

เพราะข้อกระดูกสันหลังที่ทรวงอกเป็นข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวน้อยมาก และไม่ต้องรับนํ้าหนักร่างกายอะไรมากมายเมื่อเทียบกับข้อส่วนล่าง โอกาสที่จะปลิ้นซํ้าซากเลยน้อย พอปลิ้นซํ้าน้อย ร่างกายก็จะมีเวลาซ่อมแซมเอ็นหุ้มหมอนรองได้เร็วกว่า และหายไวกว่านั่นเองครับ

ซึ่งกระบวนการซ่อมแซมเอ็นหุ้มหมอนรองจนปิดสนิท ไม่ให้หมอนรองปลิ้นออกมาได้อีก มันใช้เวลา 1 เดือนโดยประมาณ แต่มีข้อแม้ตัวโตๆเลยว่า ใน 1 เดือนนี้ต้องไม่มีอาการปวดซํ้าอีกเลยนะ ถ้าทำได้ครบ 1 เดือนก็คือจบบริบูรณ์ แล้วการที่จะไม่ให้ปลิ้นซํ้าได้ เราก็ต้องคอยเตือนตัวเองว่าอย่าก้มหลัง หรือนั่งหลังค่อมในทุกกรณี เพราะพฤติกรรมดังกล่าวมันทำให้หมอนรองปลิ้นซํ้าได้นั่นเองครับผม

ฟิล์ม MRI อีกแผ่นของคนไข้

เพื่อนจะเห็นว่า กว่าที่ผมจะตรวจเจอว่าอาการที่เป็นอยู่เกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นที่ระดับทรวงอกได้ก็เจอกันครั้งที่ 4 แล้ว และที่ตรวจเจอได้ก็เพราะคนไข้ไปทำ MRI มาด้วยจึงระบุโรคได้อย่างชัดเจน ถ้าไม่ได้ไปทำ MRI คงใช้เวลาอีกพักใหญ่เลยกว่าเอะใจว่าเป็นโรคนี้

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นที่ระดับทรวงอกมันไม่ได้เป็นกันง่ายๆครับ แล้วไม่มีใครคิดด้วยว่าจะมีคนเป็นกัน อย่างอาจารย์ผมรักษาคนไข้มาร่วม 20 ปี เจอคนไข้ที่เป็นหมอนรองทับเส้นที่ระดับอกแค่ 6 คนเท่านั้นเอง เมื่อเทียบกับเคสที่เป็นระดับเอวที่เจอมาเป็นพันๆคน

แล้วก็เป็นความรอบคอบของคนไข้ด้วยที่ไปทำ MRI แบบสแกนทั้งตัว เพราะถ้าคนไข้ทำ MRI ที่คอ เราอาจจะถูกหลอกด้วยภาพก็ได้ว่า คนไข้รายนี้เป็นหมอนรองปลิ้นที่คอแล้วทำให้เกิดอาการ เพราะดูจากภาพแล้วจะเห็นว่ามีหมอนรองปลิ้นที่คอหน่อยๆด้วยนะ (แต่ตรวจคอโดยละเอียดแล้วมั่นใจว่าอาการที่เป็นอยู่ไม่ได้มาจากหมอนรองปลิ้นที่คอแน่)

แต่ถึงแม้ภาพจะบอกว่าปลิ้นยังไงก็ตาม การตรวจร่างกายหน้างานก็เป็นสิ่งที่ต้องเช็คกันอีกรอบอยู่ดี เพราะคนไข้บางคนถือภาพ MRI มามีปลิ้นหลายข้อมาก แต่พอมาตรวจหน้างานปรากฎว่าไม่มีอาการอะไรปรากฎที่บ่งบอกว่าเป็นหมอนรองปลิ้นทับเส้นประสาทเลย..ก็มีนะครับ

การรักษาจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่เทคนิคการรักษาที่สูงส่ง เริ่ดเลอเพอร์เฟค หรือมีอุปกรณ์ที่ไฮเทคราคาแพงเสมอไปนะ มันคือการตรวจร่างกายแยกโรค ถ้าวินิจฉัยผิด ต่อให้เทคนิครักษาดีแค่ไหน คนไข้ก็ไม่มีทางหายขาดได้หรอกครับ ฉะนั้น ผู้รักษาทุกคนควรให้ความสำคัญกับการตรวจร่างกายเป็นอันดับหนึ่งเสมอนะ ถ้าตรวจแม่นที่เหลือก็ไม่ยากแล้วครับ

เป็นยังไงกันบ้างครับ หลังจากที่อ่านกันมาซะยืดยาว หวังว่าเพื่อนๆคงจะได้ความรู้ไปกับโรคแปลกๆที่ผมยกตัวอย่างกันมาไม่มากก็น้อยนะ และหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ที่ทำการรักษาทุกคนไม่ว่าจะวิชาชีพใดก็ตามนะครับ ^^

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

แชร์ประสบการณ์ นั่งรถนานแล้วทำไมถึงเมื่อยตูดได้



แชร์ประสบการณ์ นั่งรถนาน
แล้วทำไมถึงปวดเมื่อยตูดได้

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้นั่งรถทัวร์ไปต่างจังหวัด ซึ่งตลอดการเดินทางจะนั่งรถนานมากพอสมควร ถ้ารวมการนั่งรถตลอดการเดินทาง ก็คือ 9-10 ชั่วโมงเห็นจะได้ 

ปัญหาที่เจอตอนนั่งรถทัวร์ก็คือ เบาะมันเล็กครับ รู้สึกเหยียดแข้งเหยียดขาไม่ถนัดเลย มันเหมือนเราต้องนั่งเกร็งอยู่ตลอดเวลา จะขยับอะไรก็ติดไปหมด ถ้าขยับพลิกบ่อยๆก็เกรงใจคนนั่งข้างๆด้วย เลยต้องนั่งเกร็งๆไปทั้งอย่างนั้น 

ซึ่งตลอดการเดินทางผมก็ได้เตรียมอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการนั่งเพื่อไม่ให้ปวดหลัง ปวดคอไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นผ้าขนหนูไว้รองหลัง ให้หลังเราตรงไว้จะได้ไม่ปวดหลังเวลานั่งนาน ถ้าง่วงก็มีหมอนรองคอไว้ คอจะได้ไม่พลิกไปมาจนปวดคอตอนที่เราเผลอหลับ 

แต่ถึงแม้จะเตรียมอุปกรณ์ไปพร้อมสัพแค่ไหน ตำแหน่งที่ไม่เคยปวดมาก่อนเลยก็ดันมาปวดได้ในครั้งนี้ นั่นก็คือที่"ก้น"นั่นเองครับ 

ความรู้สึกปวดก้น มันไม่ได้ปวดทรมาน ปวดจะเป็นจะตายอะไรขนาดนั้นนะครับ มันปวดแบบเมื่อยๆ แบบรำคาญซะมากกว่า คือ ถ้าได้ลุกขึ้นยืนเปลี่ยนอิริยาบถซะหน่อย อาการเมื่อยก้นก็จะหายได้ทันที 

แต่ปัญหาคือ เวลาอยู่ในรถมันทำแบบนั้นไม่ได้ไงครับ จะยกขาขึ้นมาไขว้แล้วยืดก้นก็ไม่ได้ด้วย เพราะพื้นที่มันเล็ก แค่นั่งเอาวางธรรมดาก็ติดเต็มพื้นที่แล้ว

ระหว่างที่นั่งเมื่อยไปกับการเดินทาง ผมก็มานั่งวิเคราะห์ตัวเองเล่นๆว่า ทำไมผมถึงเมื่อยก้นได้ ทั้งๆที่เดือนก่อนหน้าก็นั่งรถทัวร์นานพอกันแท้ๆแต่ก็ไม่ปวดอะไร คิดไปคิดมาผมเลยได้ข้อสรุปสำหรับตัวเอง ดังนี้ครับ

ตำแหน่งที่ผมเมื่อยก้นเวลานั่งรถนานๆครับ

1) ไม่ได้ออกกำลังกายช่วงขาเยอะเหมือนแต่ก่อน :

ด้วยปัญหาที่ผมมีงานเยอะขึ้น แล้วการจัดตารางเวลาเพื่อไปออกกำลังกายก็ไม่ได้ถี่เหมือนแต่ก่อน ซึ่งแต่ก่อนผมออกกำลังกาย 7 วันต่อสัปดาห์ แต่ปัจจุบันออกแค่ 2-3 วันต่อสัปดาห์ แล้วรูปแบบการออกกำลังกายก็จะเล่นแต่ช่วงแขน กับกล้ามเนื้อแกนกลางซะมากกว่าด้วย แทบไม่ได้เล่นเวทที่ขา แล้วไม่ได้วิ่งเลยช่วงนี้

และด้วยการขาดการออกแรงที่ขาหนักๆมานาน กล้ามเนื้อช่วงขาบางส่วน รวมทั้งก้นด้วยเกิดการอ่อนแรง และฝ่อลีบลง พอกล้ามเนื้อก้นมันฝ่อลง ก็เหมือนกับยางรถยนต์ที่ถูกสูบลมออก การรับนํ้าหนักตัว รวมทั้งแรงกระแทกต่างๆก็ทำได้ไม่ดีดังเดิม 

พอเรานั่งนานนํ้าหนักตัวก็ไปกดลงที่กล้ามเนื้อก้นโดยตรง กล้ามเนื้อก็ออกแรงเกร็งตัวน้อยๆอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยระยะเวลาการนั่งที่ยาวนาน จึงทำให้กล้ามเนื้อหมดแรง เกิดการเมื่อยล้าขึ้น แล้วเมื่อยเร็วขึ้นอีก เพราะพื้นที่นั่งที่คับแคบ การยืดเหยียดตัวให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายก็ทำได้ลำบาก

วิธีแก้ปัญหาในส่วนนี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแค่ผมไปออกกำลังกายกล้ามเนื้อช่วงก้น และขาให้กลับมาแข็งแรงดังเดิม เพิ่มมวลกล้ามเนื้อช่วงก้นให้มากขึ้นอีกเล็กน้อย ปัญหาการนั่งนานแล้วเมื่อยก้นก็ลดลงไปได้เกินครึ่งแน่นอน ถึงแม้จะได้นั่งเก้าอี้ที่มันแคบๆเหมือนเดิม ผมคงไม่เมื่อยเท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้แน่ครับ

ลักษณะเบาะนั่งที่ทำให้ผมปวดก้นครับ

2) เบาะนั่งเป็นแบบสโลป :

ลักษณะเบาะนั่งมันเป็นแบบสโลปครับ คือ ตรงกลางเบาะที่ก้นเราสัมผัสเก้าอี้มันเป็นหลุมยุบลงไปหน่อยๆ แต่ช่วงปลายเก้าอี้มันกระดกขึ้น ตอนนั่งเลยรู้สึกเหมือนตัวถูกเทไปด้านหลัง แล้วนํ้าหนักตัวก็ไปลงที่ก้นเต็มที่เช่นกัน 

ผลก็คือ มันยิ่งทำให้ก้นต้องรับนํ้าหนักตัวมากกว่าเดิม และตำแหน่งที่นํ้าหนักตัวกดลงไปมันเป็นตำแหน่งของกล้ามเนื้อก้นมัดใหญ่ ไม่ใช่ปุ่มกระดูกตรงก้นที่ไว้สำหรับรับนํ้าหนักตัวด้วย มันเลยเหมือนเป็นการบังคับให้กล้ามเนื้อต้องเกร็งอยู่ตลอด แล้วเบาะนั่งแบบนี้ก็ไม่ค่อยเอื้อให้เรานั่งหลังตรงด้วย เมื่อเทียบกับเก้าอี้ปกติ

วิธีแก้ปัญหาเมื่อเราต้องนั่งเบาะแบบนี้ก็คือ แค่หาผ้ามารองเบาะตรงที่มันเป็นสโลปแค่นั้นก็ช่วยได้เยอะแล้วครับ

วิธีแก้ให้เอาผ้ามารองแบบนี้ แต่ผ้าไม่ต้องหนาเท่าในรูปนะครับ

แล้วผมขอแถมอีกสักเล็กน้อยเกี่ยวกับอาการเมื่อยก้นเวลานั่งนาน ไม่ว่าจะนั่งรถ หรือนั่งเก้าอี้ที่ทำงาน ถ้าคนที่เมื่อยก้น ปวดก้น ตึงก้นมากๆ นั่งทำงานได้ไม่นานก็ปวดแล้วล่ะก็ จากประสบการณ์ที่คนไข้มารักษากับผมในคลินิก คนไข้กลุ่มนี้จะมีปัญหาเหมือนๆกันอยู่อย่างนึงก็คือ "กล้ามเนื้อก้นฝ่อลีบครับ" 

คือมวลกล้ามเนื้อมันหายไปบางส่วน โดยเฉพาะกล้ามเนื้อก้นมัดใหญ่ เวลานั่งนานๆนํ้าหนักตัวเราเลยไปกดที่กล้ามเนื้อก้นมัดลึกได้โดยตรง เพราะกล้ามเนื้อก้นมัดใหญ่ที่อยู่ด้านนอกกว่ามันลีบไปแล้ว ไม่มีตัวคอยดูดซับแรงได้ดีดังเดิม 

ผลก็คือ กล้ามเนื้อก้นมัดลึกที่เป็นมัดเล็กกว่ามากๆ เลยต้องออกแรงเกร็งตามไปด้วย ทำให้เกิดอาการปวดตึงที่ก้นได้ง่ายกว่าปกติ บางคนนั่งได้ไม่ถึง 15 นาทีก็ต้องรีบลุกแล้ว เพราะทนอาการปวดในก้นลึกๆไม่ไหว 

ดังนั้น ถ้าเพื่อนๆคนไหนที่มีอาการปวดก้นเวลานั่งนาน (หรือนั่งแป๊ปเดียวก็ตาม) วิธีแก้อาการที่ทำให้หายได้ทันทีก็คือการยืดกล้ามเนื้อช่วงก้นตามคลิปนี้ https://youtu.be/wEeZaC99PhQ 

แต่ถ้าหวังให้หายถาวร ไม่ต้องกลับมาปวดเมื่อยก้นให้รำคาญใจอีกละก็ ต้องออกกำลังกายกล้ามเนื้อช่วงก้นให้แข็งแรง เพิ่มขนาดกล้ามเนื้อช่วงก้นให้กระชับขึ้น และหมั่นลุกจากที่นั่งทุกๆ 50 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อได้พักบ้าง ถ้าเพื่อนๆได้ทำตามที่บอกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 1 เดือนก็เห็นผลแล้วนะครับ 

ส่วนท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อช่วงก้น และสะโพกก็ดูได้ตามคลิปเหล่านี้เลยนะ เลือกท่าบริหารมา 3-4 ท่าทำเป็นประจำทุกวันก็เพียงพอแล้วครับ https://youtu.be/H2L4qz_aoYg และ https://youtu.be/UMuGkxphXmI









วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

นั่งนาน นอนน้อย ระวัง! หมอนรองกระดูกหลังเสื่อมไวแน่


นั่งนาน นอนน้อย ระวัง!
หมอนรองกระดูกหลังเสื่อมไวแน่

ในบทความก่อนหน้าผมได้พูดถึงเรื่องหมอนรองกระดูกสันหลังฉีกแล้วทำให้เกิดอาการขาชาไปบ้างแล้ว ครั้งนี้ผมก็ยังคงพูดถึงเรื่องหมอนรองกระดูกสันหลังอีกเช่นเคย แต่จะพูดถึงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมนะ 

เมื่อเรานึกถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อม เราจะเข้าใจกันว่ามันคงเกี่ยวข้องกับอายุกันใช่มั้ยครับ ประมาณว่า อายุมากก็เสื่อมมากเป็นธรรมดา แต่ในความเป็นจริงแล้วพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เป็นตัวเร่งให้หมอนรองกระดูกเราเสื่อมไวขึ้นด้วยนะ โดยเฉพาะการนั่งนาน และการนอนน้อย แล้วทำไม 2 พฤติกรรมนี้ถึงทำให้หมอนรองเราเสื่อมได้เร็วขึ้นนั้น เราต้องมาทำความเข้าใจการรับสารอาหารของหมอนรองกระดูกกันก่อนนะ
โครงสร้างหมอนรองกระดูก

หมอนรองกระดูกก็ต้องกินข้าวนะ

ลักษณะโครงสร้างของหมอนรองกระดูกจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆก็คือ เอ็นหุ้มหมอนรองกระดูกสันหลัง (annulus fibrosus) และสารนํ้าในหมอนรองกระดูก (nucleus pulposus) โดยเอ็นหุ้มหมอนรองจะมีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงรอบนอกตามปกติ แต่สารนํ้าในหมอนรองที่อยู่ตรงกลางหมอนรองเนี่ย มันไม่มีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงเลย

ซึ่งโดยปกติแล้วเซลล์ในร่างกายจะได้รับสารอาหารต้องพึ่งเม็ดเลือดแดงคอยขนส่งสารอาหารผ่านเส้นเลือดฝอยนะ ถ้าเซลล์ไม่ได้รับสารอาหารเป็นเวลานาน ไม่ได้ขนถ่ายของเสียจากกระบวนการทำงานของเซลล์ออกไป ในท้ายที่สุดเซลล์ก็จะตาย

ตรงกลางหมอนรองกระดูกสันหลัง ไม่มีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยง เลยหรอ??

ก่อนจะอธิบายอะไรไปมากกว่านี้ ผมอยากให้ดูรูปภาพประกอบด้านล่างนี้กันก่อน ซึ่งเป็นลักษณะโครงสร้างหมอนรองที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงอยู่รอบๆ

 โครงสร้างหลอดเลือดที่มาเลี้ยงหมอนรองกระดูก

จากรูป เราจะเห็นว่าหมอนรองกระดูกสันหลังก็มีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงรอบๆอยู่ แล้วเส้นเลือดฝอยบางเส้นก็เจาะเข้ามาเลี้ยงภายในเอ็นหุ้มหมอนรองด้วย คือ ดูจากรูปแล้วยังไงเอ็นหุ้มหมอนรองยังไงก็ไม่มีปัญหาเรื่องขาดสารอาหารแน่นอน

แต่ก็อีกนั่นแหละ เราจะเห็นว่าตรงกลางไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงเลย ถึงแม้ตรงกลางหมอนรองจะเป็นเพียงแค่สารนํ้า (เป็นเหมือนเจลมากกว่า) แต่ถ้าสารนํ้าในหมอนรองกระดูกไม่มีการระบายออก สารนํ้าในหมอนรองมันก็จะเน่าเสีย เป็นพิษ แล้วทำให้เนื้อเยื่อรอบๆหมอนรองเสียหายไปด้วย

หลอดเลือดที่มาเลี้ยงหมอนรองกระดูกสันหลัง

หมอนรองกระดูกจะได้รับสารอาหารได้ยังไง?

สรุปง่ายๆเลยนะ หมอนรองกระดูกคนเราจะได้รับสารอาหารอย่างทั่วถึงผ่านการซึมและการปั๊มครับ  คือ โครงสร้างหมอนรองกระดูกจะมีความยืดหยุ่นสูงมาก ยืดได้ หดได้ บิดได้เหมือนสปริงเลยล่ะ เช่น เรากระโดดสูง ช่วงที่เรากระโดดลอยตัวอยู่ หมอนรองกระดูกจะถูกยืดยาวออก แต่พอตกลงมาจนเท้ากระแทกพื้น หมอนรองกระดูกก็หดตัวกลับดังเดิม แล้วในช่วงเช้าหมอนรองกระดูกจะถูกยืดยาวมากที่สุด เพราะไม่มีนํ้าหนักตัวมากดหมอนรอง สารนํ้าในหมอนรองจึงมีอยู่มาก

ถ้าตื่นนอนมาแล้วไปวัดส่วนสูง เราจะเห็นเลยว่าส่วนสูงเพิ่มขึ้นกว่าปกติ 1-2 ซม.เลยนะ แต่พอตกเย็นเท่านั้นแหละ ไปวัดส่วนสูงอีกทีปรากฎส่วนสูงหายไป 1-2 ซม.ซะงั้น นั่นเป็นผลจากสารนํ้าในหมอนรองบางส่วนถูกดันออกไปจากนํ้าหนักตัวที่กดลงมาที่กระดูกสันหลังนั่นเองครับ

แล้วการที่หมอนรองกระดูกถูกกดบ้าง ถูกยืดบ้างจากกิจกรรมในระหว่างวัน มันเลยทำให้เกิดการปั๊มของสารอาหารเข้าๆออกๆในหมอนรองกระดูกขึ้น พอหมอนรองกระดูกถูกกด สารนํ้าในหมอนรองก็ค่อยๆถูกดันออก (ของเสียบางส่วนก็ถูกดันออกไปด้วย) แต่พอหมอนรองกระดูกยืดสารนํ้ารอบๆหมอนรองรวมทั้งสารอาหารจากเส้นเลือดฝอยรอบๆก็ไหลกลับเข้าไปใหม่ การทำแบบนี้แหละครับที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารอาหาร และขับของเสียออกจากหมอนรองกระดูกสันหลัง

อ้าว ถ้างั้นคนที่นอนติดเตียงหมอนรองก็เน่าน่ะสิ เพราะไม่มีการยืด-หดของหมอนรองเลย สารอาหารก็ปั๊มเข้าไปไม่ได้?

การยืดหดของหมอนรองแม้จะเป็นการปั๊มสารอาหารเข้าไปเลี้ยงในหมอนรองที่ดีแล้ว แต่หมอนรองก็ยังคงได้รับสารอาหารอยู่ดีจากการซึมผ่านเส้นเลือดฝอยที่อยู่รอบๆ เพียงแต่ว่าถ้าเราเอาแต่นอนเฉยๆเหมือนคนไข้นอนติดเตียง แรงดันในหมอนรองจะไม่มาก การปั๊มเอาสารอาหารดันเข้าไปเลี้ยงตรงกลางหมอนรองก็จะทำได้ไม่เต็มที่เท่านั้นเองครับ

โครงสร้างภายในหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยง

ลักษณะการให้สารอาหารแก่หมอนรองกระดูกสันหลังโดยการซึมเข้ามา

แล้วการนั่งนาน กับนอนน้อยมันทำให้หมอนรองเสื่อมได้ยังไง?

นั่นเป็นเพราะว่าการนั่ง ไม่ว่าจะนั่งพื้น นั่งเก้าอี้ นั่งอะไรก็ตามแต่ มันจะเกิดแรงกดที่หมอนรองกระดูกมากกว่าท่ายืน แล้วยังทำให้สารนํ้าในหมอนรองถูกดันออกไปมากกว่าปกติอีกด้วย 

เท่านั้นยังไม่พอ ถ้าวันๆนึงเราอยู่ในท่านั่งทั้งวัน ไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบทเลย หมอนรองกระดูกก็ถูกกดอยู่อย่างนั้น สารนํ้าก็ค่อยๆทยอยไหลออก ไหลออกไปเรื่อยๆ ความสมดุลระหว่างสารนํ้าไหลออกมากกว่าไหลเข้า 

พอทำพฤติกรรมนี้เป็นสิบๆปี ก็ทำให้หมอนรองมีสารนํ้าภายในน้อยลง พอมีสารนํ้าน้อยลง สารอาหารที่จะปั๊มเข้าปั๊มออกระหว่างหมอนรองก็น้อยลง เอ็นหุ้มหมอนรองก็เริ่มเสื่อม เปราะบาง ข้อกระดูกสันหลังทรุดตัว แล้วนี่จึงเป็นที่มาของหมอนรองกระดูกเสื่อม

แล้วการนอนน้อยล่ะ ทำให้หมอนรองเสื่อมได้ยังไง?

ในขณะที่นอนหลับ หมอนรองกระดูกไม่ได้ถูกกดเหมือนตอนนั่งหรือยืน หมอนรองจึงยืดขยายพองตัวได้เต็มที่ แล้วการที่หมอนรองยืดออกมันก็เหมือนเป็นการดึงเอาสารอาหารและสารนํ้ารอบๆหมอนรองให้ค่อยๆซึมเข้ามาได้อย่างเต็มที่ นำของดีเข้า ดันของเสียออกผ่านการซึม ซึ่งช่วงที่นอนหลับถือว่าเป็นช่วงที่หมอนรองกระดูกสันหลังได้พักฟื้นอย่างเต็มที่เลยล่ะครับ

แต่พอเรานอนน้อย นั่งนาน หมอนรองจึงถูกกดนานกว่าปกติ สารนํ้าภายในไหลออกมากกว่าไหลเข้า จนโครงสร้างหมอนรองจากที่เคยพองตัวเหมือนลูกโป่งที่ถูกสูบนํ้าจนเต่งตึง ก็ค่อยๆฟีบลงเหมือนลูกโป่งที่ถูกสูบนํ้าออก แล้วถ้ายังคงทำพฤติกรรมเดิมๆ หมอนรองก็ฟีบเล็กลง เล็กลง เล็กลงไปเรื่อยๆ

จนในที่สุดความสูงของหมอนรองก็น้อยลงอย่างถาวร แล้วนี่ก็เป็นที่มาว่าทำไมคนอายุมากขึ้นถึงตัวเตี้ยลงเรื่อยๆนั่นเองครับ แล้วบางคนหมอนรองฟีบเล็กลงมากจนทำให้ข้อต่อระหว่างข้อกระดูกสันหลัง (facet joint) อยู่ชิดกันมากเกินไป ก็ทำให้เกิดโรคข้อกระดูกสันหลังเสื่อมได้อีก 

ภาพ MRI หมอนรองกระดูกทรุดตัว

เห็นมั้ยครับว่าพฤติกรรมไม่ดีเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าทำอย่างสมํ่าเสมอเป็นเวลานานมันก็ทำให้เราเกิดโรคตามมาอีกมากมาย จากแค่นั่งนาน และนอนน้อยเท่านั้นเองนะเนี่ย 

นี่ยังไม่รวมนั่งผิดท่านานๆ เช่น นั่งไขว้ห้าง นั่งหลังค่อม หลังแอ่น ชอบนั่งเอี้ยวตัว หรือคนที่ยกของหนัก ต้องทำงานแบกหามทุกวัน คนกลุ่มนี้ก็เสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกฉีก หรือโป่งพองจนไปกดเบียดเส้นประสาทได้อีก หรือไม่ก็เป็นโรคปวดกล้ามเนื้อหลังเรื้อรังตามมาอีก พูดง่ายๆคือ เวลาโรคเหล่านี้มาที มันมาเป็นแพ็คเกจเลยล่ะครับ

คุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้น เริ่มจากที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเองนะ นอนให้พอ ลุกขึ้นยืนเดินทุกๆ 50 นาทีสำหรับคนที่ต้องนั่งทำงาน ออกกำลังกายบ้าง ทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างสมํ่าเสมอ แค่นี้ก็ทำให้เราห่างไกลโรคได้ระดับนึงแล้ว ไม่มีใครรู้จักร่างกายเราได้ดีเท่าตัวเราเองแล้วล่ะครับ เพราะคุณคือหมอ รักษาตัวเองนะ ^^



วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

หมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบ ก็ทำให้ขาชาได้เหมือนกันนะ


หมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบ
ก็ทำให้ขาชาได้นะ

เมื่อเรามีอาการขาชา ไม่ว่าจะชามากชาน้อย ชาตลอดเวลา หรือเป็นๆหายๆก็ตามแต่ พอเป็นแบบนี้ สิ่งที่เพื่อนๆจะทำก่อนไปหาหมอก็คือ เปิด google แล้วหาข้อมูลเกี่ยวกับขาชาว่า มันเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้างหว่า?

ซึ่งโรคที่เผยแพร่กันอยู่ก็มีไม่กี่โรค แล้วเป็นโรคยอดฮิตแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท (บ้างก็เรียกหมอนรองปลิ้นทับเส้น), โรคข้อกระดูกสันหลังเสื่อมทับเส้นประสาท, กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท และก็เบาหวานก็ทำให้เท้าชาได้เช่นกันนะ

แต่ข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการขาชามันจะเพิ่มเป็นทวีคูณ เมื่อเราไปโรงพยาบาลตรวจกับหมอ ใช้เครื่องมือตรวจสารพัดทั้ง x-ray, MRI, เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าต่างๆนาๆ พอตรวจเสร็จผลก็ออกมาว่า ร่างกายคุณปกติดี ไม่ได้เป็นโรคเกี่ยวกับข้อสันหลัง พอตรวจกล้ามเนื้อก็บอกว่าไม่ได้เป็นกล้ามเนื้อหนีบเส้นอะไรทั้งสิ้น

อ้าว? แล้วทำไมอาการขาชามันถึงยังเป็นได้อยู่ล่ะ? ผลตรวจบอกว่าไม่เป็นอะไร แต่มันยังชาอยู่นะหมอ มาถึงตรงนี้เราก็คงเครียดหนักกว่าเดิม เพราะถ้าไม่รู้สาเหตุก็รักษาไม่ได้ แล้วจะทำยังไงกันต่อล่ะทีนี้?

อารัมภบทมาซะยืดยาว สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อในบทความนี้ก็คือ ในกรณีที่เรามีอาการขาชา แม้จะไม่ได้ชาหนักมาก แต่ตรวจแล้วก็ไม่พบอะไร บางทีมันก็มีอีกสาเหตุหนึ่งที่หลายคนมักจะมองข้ามไปนั่นก็คือ "มันเกิดจากตัวหมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบเอง"

รูปหมอนรองกระดูกที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยง

จากรูปภาพที่เพื่อนๆเห็นทางด้านบน เพื่อนๆจะเห็นว่าที่หมอนรองกระดูกสันหลังของคนเราจะมีแขนงเส้นประสาทเส้นเล็กๆมาเลี้ยงอยู่ ซึ่งหน้าที่ของเส้นประสาทเหล่านี้ก็จะทำหน้าที่รับความรู้สึกของหมอนรองกระดูก

ถ้าหมอนรองกระดูกของเราปกติดี เส้นประสาทตรงนี้ก็ไม่ได้ถูกกระตุ้นอะไร แต่เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบโดยตรง เช่น จากอุบัติเหตุมีอะไรมาชนที่หลังแรงๆ หรือเกิดจากการทำงานที่ต้องบิดเอวอยู่ตลอด หรืออยู่ในท่าทางที่ต้องก้มๆเงยๆบ่อยๆ 

แม้จะไม่ถึงขั้นเป็นหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมา แต่พอเส้นเอ็นที่หุ้มหมอนรองกระดูกทางด้านนอก (anulus fibrosus) มันฉีกขาดบางส่วน เส้นประสาทที่อยู่รอบๆหมอนรองกระดูกมันก็ฉีกขาด หรือไม่ก็อักเสบตามไปด้วย พอเส้นประสาทรอบๆหมอนรองมีปัญหา ส่งสัญญาณประสาทได้ไม่ปกติ มันจึงทำให้เรารู้สึกขาชา

แล้วอาการชาเด่นๆของคนที่เป็นหมอนรองกระดูกอักเสบแบบนี้ก็คือ ชาลงขา แต่อาการชาจะเป็นลักษณะชากว้างๆ ไม่มีรูปแบบการชาที่แน่นอน แล้วจะไม่ชาเลยหัวเข่านะ

เพื่อนๆอาจจะงงกันเล็กน้อยว่า มันมีรูปแบบการชาด้วยหรอ? แล้วเป็นยังไงกัน ดูในรูปด้านล่างเลยครับ

รูป dermatome ตามลักษณะการรับความรู้สึกของรากประสาทไขสันหลัง

จากรูป เพื่อนๆจะเห็นว่าเส้นประสาทไขสันหลังแต่ล่ะส่วน ที่ออกมาจากข้อกระดูกสันหลังส่วนเอวแต่ล่ะข้อ มันจะมีตำแหน่งระบุชัดว่าเส้นประสาทคู่นี้ไปเลี้ยงที่บริเวณไหนของร่างกายบ้าง เช่น เส้นประสาทไขสันหลังคู่ที่ 5 หรือ L5 จะเห็นว่า เส้นประสาทคู่นี้จะเลี้ยงบริเวณที่ข้างต้นขา ไล่ลงมาถึงหน้าแข้ง และฝ่าเท้า

ถ้าเส้นประสาทคู่ที่ 5 ถูกกดทับจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือข้อกระดูกสันหลังเสื่อมทับเส้นประสาท ก็จะทำให้เราชาตามแนวข้างต้นขา หน้าแข้ง และฝ่าเท้าทันที นี่คือรูปแบบของเส้นประสาทไขสันหลังที่มาเลี้ยงขานะ

แต่กรณีที่เราเป็นแค่หมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบ แล้วเส้นประสาทที่อยู่รอบๆหมอนรองก็อักเสบตามไปด้วย เส้นประสาทเหล่านี้เป็นแค่เส้นประสาทเส้นเล็กๆ ไม่ได้มีบทบาทในการสั่งการ หรือรับความรู้สึกอะไรที่ขาอย่างเป็นทางการเท่ารากประสาทไขสันหลัง พอเส้นประสาทเหล่านี้ถูกกระตุ้น มันจึงทำให้เราแค่รู้สึกชาลงขาแบบกว้างๆ ไม่มีขอบเขตการชาที่ชัดเจน แล้วที่สำคัญก็คือ จะรู้สึกชาได้ไกลสุดแค่หัวเข่าเท่านั้น เพราะอย่างที่บอกไปว่า มันเป็นแค่แขนงเส้นประสาทเส้นย่อยๆนะครับ

โครงสร้างหมอนรองกระดูกที่มีเส้นประสาทย่อยอยู่รอบๆหมอนรอง

แล้วทำไมถึงชาลงขา เจ็บที่หมอนรองก็น่าจะชาแถวหลังไม่ใช่หรอ?

เป็นคำถามที่ดีครับ ก่อนที่ผมจะอธิบายว่าทำไมถึงชาลงขาได้ทั้งๆที่เราเจ็บแค่หมอนรอง ผมขออธิบายโครงสร้างเส้นประสาทบริเวณข้อกระดูกสันหลังกันซะหน่อย จากรูปด้านบน เพื่อนๆจะเห็นว่าเส้นประสาทมีอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆด้วยกัน (จริงๆมีมากกว่านี้ แต่ถ้าอธิบายหมดเดี๋ยวจะงงกัน) 

1) เริ่มจากพี่ใหญ่สุดเลยก็คือ เส้นประสาทไขสันหลัง (spinal cord)
2) รากประสาทที่แยกออกมาจากไขสันหลังอีกที (spinal nerve root) ซึ่งเส้นประสาทเหล่านี้จะวิ่งไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ถ้าเป็นรากประสาทไขสันหลังคู่ที่ 5 (L5) จะส่งสัญญาณประสาทไปเลี้ยงยังต้นขาทางด้านข้าง หน้าแข้ง และฝ่าเท้า เป็นต้น 
3) สุดท้ายเส้นประสาทที่ยิบย่อยที่สุด ถูกละเลยมากที่สุดก็คือ แขนงเส้นประสาทย่อย ซึ่งเส้นประสาทนี้แตกแยกออกมาจาก spinal nerve root อีกที โดยเจ้าแขนงประสาทเหล่านี้แหละครับที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกรอบๆหมอนรองกระดูกสันหลังของคนเรา 

ภาพแสดง ลักษณะเส้นประสาทที่อยู่รอบๆหมอนรองกระดูก

อธิบายมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆพอจะเริ่มจับจุดกันได้รึยังครับว่า ทำไมแขนงเส้นประสาทย่อยรอบหมอนรองอักเสบ ถึงทำให้เราขาชาได้? 

ถ้ายังเดากันไม่ถูก เดี๋ยวผมอธิบายง่ายๆเลยล่ะกัน นั่นเป็นเพราะ เจ้าแขนงเส้นประสาทมันแยกออกมาจากรากประสาท (spinal nerve root) ที่เส้นนี้ไปเลี้ยงที่ขาของเราไงครับ ซึ่งการที่แขนงเส้นประสาทย่อยรอบหมอนรองมันเสียหายแล้วถูกกระตุ้น มันก็ส่งสัญญาณกลับไปที่รากประสาทที่เป็นนายใหญ่ของมัน ด้วยเหตุการณ์นี้มันเลยพาลให้ตัวรากประสาทที่ไปเลี้ยงขาของเราถูกกระตุ้นตามไปด้วย (เส้นประสาทมันไวต่อการรับความรู้สึกมาก) 

ผลก็คือ เจ้ารากประสาท (spinal nerve root) มันเลยถูกกระตุ้น ทำให้เรารู้สึกชาลงขา เพียงแต่จะไม่ชาหนา หนัก และชาไปไกลจนถึงปลายเท้า เมื่อเทียบกับตัวรากประสาทมันถูกกดทับโดยตรงซะเอง 

แล้วนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมการที่หมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบ ฉีกขาด ถึงทำให้เราเกิดขาชาได้นั่นเองครับผม 

ลักษณะเส้นประสาทรอบๆหมอนรองกระดูก

และคำถามสำคัญที่เพื่อนๆชอบถามกันเมื่ออธิบายเกี่ยวกับโรคอะไรก็ตามคือ มันอันตรายมั้ย? แล้วรักษาได้มั้ย?

ต้องบอกแบบนี้ว่า ถ้าหมอนรองกระดูกของเราฉีกขาด อักเสบ ถ้าไม่ได้ขาดแบบเละเทะ กระจุยกระจายจากอุบัติเหตุรถชนล่ะก็ ร่างกายคนเรามีกลไกซ่อมแซมตัวเองโดยธรรมชาติอยู่แล้วครับผม ส่วนจะใช้ระยะเวลาแค่ไหนมันก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยนะ เช่น ถ้าอายุน้อยก็ฟื้นฟูเร็ว ถ้าอายุมากก็นานขึ้น พฤติกรรมในชีวิตประจำวันไปกระตุ้นให้หมอนรองฉีกขาดซํ้าซากหรือไม่ เช่น ชอบก้มหลังยกของหนัก มีการบิดตัวเร็วๆ อย่างการตีกอล์ฟ หรือบิดตัวส่งของหนักของพนักงานส่งของ หรือชอบนั่งหลังค่อมทั้งวัน ปัจจัยเหล่านี้ก็จะทำให้หมอนรองอักเสบซํ้าซากแล้วหายได้ช้านะครับ

ในกรณีที่เราเป็นมานาน แล้วไม่หายซะที ไม่ถึงขั้นปวด หรือชาอะไรมากมาย แต่ก็ยังชาให้รู้สึกตุ่ยๆอยู่ตลอดล่ะก็ ก็แนะนำให้ลองดึงหลังด้วยตนเอง ตามคลิปนี้ https://youtu.be/YYWAEvEmwuk 



หรือลองยืดเส้นประสาทขาเพื่อลดอาการชาดู https://youtu.be/PhY5qokahls 

ซึ่งเป็นการบริหารหลังแบบง่ายๆ เพราะคนที่มีปัญหาหมอนรองกระดูกอักเสบ แล้วชานั้น โดยปกติจะใช้เวลาไม่นานก็รู้สึกดีขึ้นแล้วนะ เพราะแขนงเส้นประสาทรอบๆหมอนรองมันเล็กมากครับ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต หรือทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นพิการ หรือรบกวนชีวิตประจำวันอะไรมากมายชนิดทำงานไม่ได้หรอกนะ เส้นมันเส้นมันเล็กมากจริงๆ เล็กจนแทบมองตาเปล่าไม่เห็นเลยล่ะ

จริงๆแล้วรายละเอียดเกี่ยวกับขาชาเรื้อรังมันยังมีอีกมาก แล้วมีอีกหลายโรคปลีกย่อยที่ค่อนข้างจะเฉพาะเจาะจงมาก ส่วนใหญ่จะรู้เฉพาะในหมู่ผู้รักษาด้วยกันนะ คนทั่วไปจะค่อยทราบรายละเอียดเหล่านี้ ไม่ใช่ผู้รักษา หรือหมอกั๊กข้อมูลหรอกครับ แต่เนื้อหามันวิชาการณ์จ๋ามากๆ ศัพท์เฉพาะทางค่อนข้างเยอะ แต่นั่นไม่ใช่ปัญห่าสำหรับ doobody เดี๋ยวผมจะย่อยเอามาเป็นภาษาชาวบ้านให้เพื่อนๆได้อ่านกันต่อ กดติดตามกันไว้ได้เลยนะครับที่ https://www.facebook.com/doobodys/

สำหรับเนื้อหาในตอนนี้ ถ้าเพื่อนๆคนไหนอ่านแล้วไม่เข้าใจ หรือมันแย้งกับความรู้ของตัวเองก็ทักเข้ามาพูดคุยกันได้เลยที่ Line ID : @doobody หรือจะคอมเมนต์ทิ้งไว้ก็ได้ครับ บางทีผมอาจจะอธิบายตกหล่นไปจะได้มาแก้กันได้ครับ 

ส่วนเพื่อนๆที่งงกับอาการของตัวเองสุดๆแล้ว ลองทำกายบริหารด้วยตนเองจนสุดทางแล้วยังไม่หายซะที อยากเข้ามาตรวจร่างกายกับผม ก็ทักไลน์แจ้งชื่อ จองวันเวลาที่ต้องการเข้ามาได้เลยนะครับ 

ส่วนในบทความต่อไป ผมจะอธิบายว่าทำไมคนนั่งนานถึงตัวเตี้ยลง หมอนรองกระดูกก็ทรุดไว แล้วหมอนรองกระดูกกินอาหารยังไง (หมอนรองกระดูกก็กินอาหารเหมือนกันนะเออ)