เมนูหน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

หมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบ ก็ทำให้ขาชาได้เหมือนกันนะ


หมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบ
ก็ทำให้ขาชาได้นะ

เมื่อเรามีอาการขาชา ไม่ว่าจะชามากชาน้อย ชาตลอดเวลา หรือเป็นๆหายๆก็ตามแต่ พอเป็นแบบนี้ สิ่งที่เพื่อนๆจะทำก่อนไปหาหมอก็คือ เปิด google แล้วหาข้อมูลเกี่ยวกับขาชาว่า มันเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้างหว่า?

ซึ่งโรคที่เผยแพร่กันอยู่ก็มีไม่กี่โรค แล้วเป็นโรคยอดฮิตแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท (บ้างก็เรียกหมอนรองปลิ้นทับเส้น), โรคข้อกระดูกสันหลังเสื่อมทับเส้นประสาท, กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท และก็เบาหวานก็ทำให้เท้าชาได้เช่นกันนะ

แต่ข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการขาชามันจะเพิ่มเป็นทวีคูณ เมื่อเราไปโรงพยาบาลตรวจกับหมอ ใช้เครื่องมือตรวจสารพัดทั้ง x-ray, MRI, เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าต่างๆนาๆ พอตรวจเสร็จผลก็ออกมาว่า ร่างกายคุณปกติดี ไม่ได้เป็นโรคเกี่ยวกับข้อสันหลัง พอตรวจกล้ามเนื้อก็บอกว่าไม่ได้เป็นกล้ามเนื้อหนีบเส้นอะไรทั้งสิ้น

อ้าว? แล้วทำไมอาการขาชามันถึงยังเป็นได้อยู่ล่ะ? ผลตรวจบอกว่าไม่เป็นอะไร แต่มันยังชาอยู่นะหมอ มาถึงตรงนี้เราก็คงเครียดหนักกว่าเดิม เพราะถ้าไม่รู้สาเหตุก็รักษาไม่ได้ แล้วจะทำยังไงกันต่อล่ะทีนี้?

อารัมภบทมาซะยืดยาว สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อในบทความนี้ก็คือ ในกรณีที่เรามีอาการขาชา แม้จะไม่ได้ชาหนักมาก แต่ตรวจแล้วก็ไม่พบอะไร บางทีมันก็มีอีกสาเหตุหนึ่งที่หลายคนมักจะมองข้ามไปนั่นก็คือ "มันเกิดจากตัวหมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบเอง"

รูปหมอนรองกระดูกที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยง

จากรูปภาพที่เพื่อนๆเห็นทางด้านบน เพื่อนๆจะเห็นว่าที่หมอนรองกระดูกสันหลังของคนเราจะมีแขนงเส้นประสาทเส้นเล็กๆมาเลี้ยงอยู่ ซึ่งหน้าที่ของเส้นประสาทเหล่านี้ก็จะทำหน้าที่รับความรู้สึกของหมอนรองกระดูก

ถ้าหมอนรองกระดูกของเราปกติดี เส้นประสาทตรงนี้ก็ไม่ได้ถูกกระตุ้นอะไร แต่เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบโดยตรง เช่น จากอุบัติเหตุมีอะไรมาชนที่หลังแรงๆ หรือเกิดจากการทำงานที่ต้องบิดเอวอยู่ตลอด หรืออยู่ในท่าทางที่ต้องก้มๆเงยๆบ่อยๆ 

แม้จะไม่ถึงขั้นเป็นหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมา แต่พอเส้นเอ็นที่หุ้มหมอนรองกระดูกทางด้านนอก (anulus fibrosus) มันฉีกขาดบางส่วน เส้นประสาทที่อยู่รอบๆหมอนรองกระดูกมันก็ฉีกขาด หรือไม่ก็อักเสบตามไปด้วย พอเส้นประสาทรอบๆหมอนรองมีปัญหา ส่งสัญญาณประสาทได้ไม่ปกติ มันจึงทำให้เรารู้สึกขาชา

แล้วอาการชาเด่นๆของคนที่เป็นหมอนรองกระดูกอักเสบแบบนี้ก็คือ ชาลงขา แต่อาการชาจะเป็นลักษณะชากว้างๆ ไม่มีรูปแบบการชาที่แน่นอน แล้วจะไม่ชาเลยหัวเข่านะ

เพื่อนๆอาจจะงงกันเล็กน้อยว่า มันมีรูปแบบการชาด้วยหรอ? แล้วเป็นยังไงกัน ดูในรูปด้านล่างเลยครับ

รูป dermatome ตามลักษณะการรับความรู้สึกของรากประสาทไขสันหลัง

จากรูป เพื่อนๆจะเห็นว่าเส้นประสาทไขสันหลังแต่ล่ะส่วน ที่ออกมาจากข้อกระดูกสันหลังส่วนเอวแต่ล่ะข้อ มันจะมีตำแหน่งระบุชัดว่าเส้นประสาทคู่นี้ไปเลี้ยงที่บริเวณไหนของร่างกายบ้าง เช่น เส้นประสาทไขสันหลังคู่ที่ 5 หรือ L5 จะเห็นว่า เส้นประสาทคู่นี้จะเลี้ยงบริเวณที่ข้างต้นขา ไล่ลงมาถึงหน้าแข้ง และฝ่าเท้า

ถ้าเส้นประสาทคู่ที่ 5 ถูกกดทับจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือข้อกระดูกสันหลังเสื่อมทับเส้นประสาท ก็จะทำให้เราชาตามแนวข้างต้นขา หน้าแข้ง และฝ่าเท้าทันที นี่คือรูปแบบของเส้นประสาทไขสันหลังที่มาเลี้ยงขานะ

แต่กรณีที่เราเป็นแค่หมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบ แล้วเส้นประสาทที่อยู่รอบๆหมอนรองก็อักเสบตามไปด้วย เส้นประสาทเหล่านี้เป็นแค่เส้นประสาทเส้นเล็กๆ ไม่ได้มีบทบาทในการสั่งการ หรือรับความรู้สึกอะไรที่ขาอย่างเป็นทางการเท่ารากประสาทไขสันหลัง พอเส้นประสาทเหล่านี้ถูกกระตุ้น มันจึงทำให้เราแค่รู้สึกชาลงขาแบบกว้างๆ ไม่มีขอบเขตการชาที่ชัดเจน แล้วที่สำคัญก็คือ จะรู้สึกชาได้ไกลสุดแค่หัวเข่าเท่านั้น เพราะอย่างที่บอกไปว่า มันเป็นแค่แขนงเส้นประสาทเส้นย่อยๆนะครับ

โครงสร้างหมอนรองกระดูกที่มีเส้นประสาทย่อยอยู่รอบๆหมอนรอง

แล้วทำไมถึงชาลงขา เจ็บที่หมอนรองก็น่าจะชาแถวหลังไม่ใช่หรอ?

เป็นคำถามที่ดีครับ ก่อนที่ผมจะอธิบายว่าทำไมถึงชาลงขาได้ทั้งๆที่เราเจ็บแค่หมอนรอง ผมขออธิบายโครงสร้างเส้นประสาทบริเวณข้อกระดูกสันหลังกันซะหน่อย จากรูปด้านบน เพื่อนๆจะเห็นว่าเส้นประสาทมีอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆด้วยกัน (จริงๆมีมากกว่านี้ แต่ถ้าอธิบายหมดเดี๋ยวจะงงกัน) 

1) เริ่มจากพี่ใหญ่สุดเลยก็คือ เส้นประสาทไขสันหลัง (spinal cord)
2) รากประสาทที่แยกออกมาจากไขสันหลังอีกที (spinal nerve root) ซึ่งเส้นประสาทเหล่านี้จะวิ่งไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ถ้าเป็นรากประสาทไขสันหลังคู่ที่ 5 (L5) จะส่งสัญญาณประสาทไปเลี้ยงยังต้นขาทางด้านข้าง หน้าแข้ง และฝ่าเท้า เป็นต้น 
3) สุดท้ายเส้นประสาทที่ยิบย่อยที่สุด ถูกละเลยมากที่สุดก็คือ แขนงเส้นประสาทย่อย ซึ่งเส้นประสาทนี้แตกแยกออกมาจาก spinal nerve root อีกที โดยเจ้าแขนงประสาทเหล่านี้แหละครับที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกรอบๆหมอนรองกระดูกสันหลังของคนเรา 

ภาพแสดง ลักษณะเส้นประสาทที่อยู่รอบๆหมอนรองกระดูก

อธิบายมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆพอจะเริ่มจับจุดกันได้รึยังครับว่า ทำไมแขนงเส้นประสาทย่อยรอบหมอนรองอักเสบ ถึงทำให้เราขาชาได้? 

ถ้ายังเดากันไม่ถูก เดี๋ยวผมอธิบายง่ายๆเลยล่ะกัน นั่นเป็นเพราะ เจ้าแขนงเส้นประสาทมันแยกออกมาจากรากประสาท (spinal nerve root) ที่เส้นนี้ไปเลี้ยงที่ขาของเราไงครับ ซึ่งการที่แขนงเส้นประสาทย่อยรอบหมอนรองมันเสียหายแล้วถูกกระตุ้น มันก็ส่งสัญญาณกลับไปที่รากประสาทที่เป็นนายใหญ่ของมัน ด้วยเหตุการณ์นี้มันเลยพาลให้ตัวรากประสาทที่ไปเลี้ยงขาของเราถูกกระตุ้นตามไปด้วย (เส้นประสาทมันไวต่อการรับความรู้สึกมาก) 

ผลก็คือ เจ้ารากประสาท (spinal nerve root) มันเลยถูกกระตุ้น ทำให้เรารู้สึกชาลงขา เพียงแต่จะไม่ชาหนา หนัก และชาไปไกลจนถึงปลายเท้า เมื่อเทียบกับตัวรากประสาทมันถูกกดทับโดยตรงซะเอง 

แล้วนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมการที่หมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบ ฉีกขาด ถึงทำให้เราเกิดขาชาได้นั่นเองครับผม 

ลักษณะเส้นประสาทรอบๆหมอนรองกระดูก

และคำถามสำคัญที่เพื่อนๆชอบถามกันเมื่ออธิบายเกี่ยวกับโรคอะไรก็ตามคือ มันอันตรายมั้ย? แล้วรักษาได้มั้ย?

ต้องบอกแบบนี้ว่า ถ้าหมอนรองกระดูกของเราฉีกขาด อักเสบ ถ้าไม่ได้ขาดแบบเละเทะ กระจุยกระจายจากอุบัติเหตุรถชนล่ะก็ ร่างกายคนเรามีกลไกซ่อมแซมตัวเองโดยธรรมชาติอยู่แล้วครับผม ส่วนจะใช้ระยะเวลาแค่ไหนมันก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยนะ เช่น ถ้าอายุน้อยก็ฟื้นฟูเร็ว ถ้าอายุมากก็นานขึ้น พฤติกรรมในชีวิตประจำวันไปกระตุ้นให้หมอนรองฉีกขาดซํ้าซากหรือไม่ เช่น ชอบก้มหลังยกของหนัก มีการบิดตัวเร็วๆ อย่างการตีกอล์ฟ หรือบิดตัวส่งของหนักของพนักงานส่งของ หรือชอบนั่งหลังค่อมทั้งวัน ปัจจัยเหล่านี้ก็จะทำให้หมอนรองอักเสบซํ้าซากแล้วหายได้ช้านะครับ

ในกรณีที่เราเป็นมานาน แล้วไม่หายซะที ไม่ถึงขั้นปวด หรือชาอะไรมากมาย แต่ก็ยังชาให้รู้สึกตุ่ยๆอยู่ตลอดล่ะก็ ก็แนะนำให้ลองดึงหลังด้วยตนเอง ตามคลิปนี้ https://youtu.be/YYWAEvEmwuk 



หรือลองยืดเส้นประสาทขาเพื่อลดอาการชาดู https://youtu.be/PhY5qokahls 

ซึ่งเป็นการบริหารหลังแบบง่ายๆ เพราะคนที่มีปัญหาหมอนรองกระดูกอักเสบ แล้วชานั้น โดยปกติจะใช้เวลาไม่นานก็รู้สึกดีขึ้นแล้วนะ เพราะแขนงเส้นประสาทรอบๆหมอนรองมันเล็กมากครับ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต หรือทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นพิการ หรือรบกวนชีวิตประจำวันอะไรมากมายชนิดทำงานไม่ได้หรอกนะ เส้นมันเส้นมันเล็กมากจริงๆ เล็กจนแทบมองตาเปล่าไม่เห็นเลยล่ะ

จริงๆแล้วรายละเอียดเกี่ยวกับขาชาเรื้อรังมันยังมีอีกมาก แล้วมีอีกหลายโรคปลีกย่อยที่ค่อนข้างจะเฉพาะเจาะจงมาก ส่วนใหญ่จะรู้เฉพาะในหมู่ผู้รักษาด้วยกันนะ คนทั่วไปจะค่อยทราบรายละเอียดเหล่านี้ ไม่ใช่ผู้รักษา หรือหมอกั๊กข้อมูลหรอกครับ แต่เนื้อหามันวิชาการณ์จ๋ามากๆ ศัพท์เฉพาะทางค่อนข้างเยอะ แต่นั่นไม่ใช่ปัญห่าสำหรับ doobody เดี๋ยวผมจะย่อยเอามาเป็นภาษาชาวบ้านให้เพื่อนๆได้อ่านกันต่อ กดติดตามกันไว้ได้เลยนะครับที่ https://www.facebook.com/doobodys/

สำหรับเนื้อหาในตอนนี้ ถ้าเพื่อนๆคนไหนอ่านแล้วไม่เข้าใจ หรือมันแย้งกับความรู้ของตัวเองก็ทักเข้ามาพูดคุยกันได้เลยที่ Line ID : @doobody หรือจะคอมเมนต์ทิ้งไว้ก็ได้ครับ บางทีผมอาจจะอธิบายตกหล่นไปจะได้มาแก้กันได้ครับ 

ส่วนเพื่อนๆที่งงกับอาการของตัวเองสุดๆแล้ว ลองทำกายบริหารด้วยตนเองจนสุดทางแล้วยังไม่หายซะที อยากเข้ามาตรวจร่างกายกับผม ก็ทักไลน์แจ้งชื่อ จองวันเวลาที่ต้องการเข้ามาได้เลยนะครับ 

ส่วนในบทความต่อไป ผมจะอธิบายว่าทำไมคนนั่งนานถึงตัวเตี้ยลง หมอนรองกระดูกก็ทรุดไว แล้วหมอนรองกระดูกกินอาหารยังไง (หมอนรองกระดูกก็กินอาหารเหมือนกันนะเออ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น