เมนูหน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559

เอ็นอักเสบ โรคยอดฮิตวัยทำงาน




โรคปลอกเอ็นหุ้มข้ออักเสบ (De Quervain's disease)

ใครบ้างที่เป็นแม่ครัวทำกับข้าว หรือขายอาหาร สับหมู สับไก่อยู่บ่อยๆ หรือคนที่ทำงานประเภทใช้ข้อมือ กระดกข้อมือขึ้นลงบ่อยครั้งละก็ อ่านบทความนี้สักนิด เพราะคุณมีความเสี่ยงเป็นโรคปลอกเอ็นหุ้มข้ออักเสบ 

โรคนี้คือกลุ่มอาการอักเสบของเอ็นนิ้วหัวแม่มือ 2 เส้นประกอบด้วยเส้นเอ็น abductor pollicis longus และ extensor pollicis brevis tendon ซึ่งเอ็นทั้ง 2 นี้จะทำหน้าที่กางนิ้วและกระดกนิ้วหัวแม่มือ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตึงบริเวณโคนนิ้วโป้งหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า snuffbox และจะปวดมากยิ่งขึ้นเมื่อผู้ป่วยกำมือและให้กระดกข้อมือลง ในบางรายที่มีอาการอักเสบรุนแรงจะพบอาการบวม แดง ร้อนที่โคนนิ้วโป้งเพียงแค่กำมือก็จะรู้สึกปวดสุดๆแล้วละครับ


ภาพแสดงตำแหน่งของเส้นเอ็นทั้ง 2 ที่อักเสบ

สาเหตุของโรคปลอกเอ็นหุ้มข้ออักเสบ

เชื่อว่าเกิดจากการใช้งานของข้อมือในท่ากระดกขึ้นลงซํ้าๆกัน เช่น แม่ครัวที่ทำกับข้าวสับมืออยู่เป็นประจำ การเขียนหนังสือ การซักผ้าด้วยมือปริมาณมากๆ หรือในผู้ป่วยที่มีประวัติว่าตั้งครรภ์ทั้งก่อนและหลังคลอด

อาการของโรคปลอกเอ็นหุ้มข้ออักเสบ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและบวมบริเวณข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ จะปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของ นิ้วหัวแม่มือ เช่น เวลาเหยียดและงอนิ้วหัวแม่มือเต็มที่ บิดเสื้อผ้า ยกขันน้ำ กวาดพื้น เป็นต้น ในผู้ป่วยบางรายอาจคลำพบก้อนบริเวณข้อมือด้วย 

ซึ่งโรคนี้แพทย์และนักกายภาพบำบัดสามารถตรวจและวินิจฉัยโรคได้โดยไม่ต้อง x-ray ผู้ป่วยสามารถตรวจโรคนี้ได้ด้วยตนเองโดยการทำ Finkelstein's test คือให้ผู้ป่วยกำนิ้วหัวแม่มือข้างที่ปวดและให้หักข้อมือลงทางด้านนิ้วก้อย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มืออย่างมาก จากการที่เส้นเอ็นถูกยืด บางรายเพียงแค่กำมืออย่างเดียวก็ปวดมากแล้วละครับ แต่ในคนทั่วไปถ้าทำการทดสอบนี้จะรู้สึกแค่ตึงบริเวณโคนนิ้วโป้งไม่มีอาการปวดแต่อย่างใด
วิธีการทดสอบว่าเป็นโรคเอ็นหุ้มข้ออักเสบ (Finkelstein's test)

การรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้น

เมื่อรู้ว่าเราเป็นโรคนี้แน่ๆ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ พักการใช้งานของนิ้วโป้งข้างที่ปวด และหมั่นประคบนํ้าแข็งทุกๆ 10 นาทีเพื่อลดอาการอักเสบ นอกจากนี้เราอาจนําผ้ามาพันที่ข้อมือจนถึงนิ้วโป้งเพื่อลดการใช้งานของเส้นเอ็นและป้องกันไม่ให้เราเผลอใช้งานนิ้วข้างที่ปวดจนกระตุ้นให้อักเสบเพิ่มขึ้นได้ 

แต่ถ้ารักษาด้วยตนเองแล้วอาการไม่ทุเลาลงเลย 1 อาทิตย์ แนะนำให้เข้าพบนักกายภาพบำบัดเพื่อใช้เครื่องมือทางกายภาพลดปวด ลดอักเสบ และกระตุ้นให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่เสียหายได้เร็วขึ้น เช่น เครื่อง ultrasound, laser, cold pack, เป็นต้น และนักกายภาพอาจใช้ kinesio tape ติดบริเวณเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่ปวดเพื่อลดการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดนั้นและลดอาการปวดได้ส่วนหนึ่ง โดยที่การพัน tape จะไม่ไปขัดขวางการทำงานเหมือนการใส่เฝือกครับ

การติด kinesio tape ในผู้ป่วยที่เป็นโรคปลอกเอ็นหุ้มข้ออักเสบ

แต่ถ้าเราปวดมากจริงๆจนไม่เป็นอันกินอันนอน แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับยาลดปวดลดอักเสบ เช่น ยากลุ่ม NSAID หรือฉีดยา steroid ที่เส้นเอ็นก็ได้ผลลดปวดชะงักเช่นกันครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรเข้ารับการรักษาควบคู่กับกายภาพบำบัดจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และลดโอกาสการกลับมาเป็นซํ้าได้ดีกว่าการรับยาเพียงอย่างเดียวนะครับ และเมื่ออาการปวดลดลงนักกายภาพจะแนะนำท่าบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงเป็นลำดับต่อไป 

ข้อห้าม ห้าม ห้าม

- ห้ามแช่นํ้าอุ่น หรือประคบร้อนบริเวณที่ปวดอย่างเด็ดขาดถ้ามีอาการปวด บวมแดง ร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่นะครับ เพราะความร้อนจะทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยายตัวและบวมมากขึ้นได้ มันจะกระตุ้นให้อาการปวดเพิ่มขึ้นแทนทีจะลดลง
- ห้ามนวดบริเวณที่ปวดและอักเสบ เพราะการนวดอาจจะกระตุ้นให้เส้นเอ็นอักเสบเพิ่มมากขึ้น
- ห้ามทายาที่มีฤทธิ์ร้อนลงบริเวณที่อักเสบ
- แต่กรณีที่พบว่าไม่มีอาการบวม แดง ร้อนแล้วก็สามารถประคบร้อน แช่นํ้าอุ่นได้ตามปกตินะครับ เช่น ในผู้ปว่ยที่เป็นโรคปลอกเอ็นหุ้มข้ออักเสบเรื้อรังมามากกว่า 1 เดือน


เครดิตภาพ 
- https://myhealth.alberta.ca/Health/pages/conditions.aspx?hwid=zd1018spec
- http://www.westchestermagazine.com/Westchester-Magazine/De-Quervains-Syndrome-How-To-Identify-Prevent-and-Treat-Tendonitis-in-the-Wrist/
- http://www.ch8.ch/hand-surgery/common-hand-problems/de-quervain-disease.php



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น