วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560

[คลิป 68] วิธีฟื้นฟูเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด สัปดาห์ที่ 3-4 (Part 3)


วิธีฟื้นฟูเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด สัปดาห์ที่ 3-4 (Part 3)

และแล้วก็มาถึง part ที่ 3 กันแล้วนะครับ สำหรับวิธีการฟื้นฟูข้อเข่าหลังผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า โดยเป้าหมายหลักในสัปดาห์ที่ 3 และ 4 นี้ก็คือการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา และข้อเข่าให้มัความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้นไปอีกระดับ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำได้ปกติโดยเร็วครับผม

รายละเอียดในคลิป

สัปดาห์ที่ 3 (นาทีที่ 0:31)
วิธีที่ 1 : ถีบยางยืด (นาทีที่ 1:15)
วิธีที่ 2 : นอนควํ่างอเข่า (นาทีที่ 3:02)
วิธีที่ 3 : ยืนเขย่งปลายเท้า (นาทีที่ 4:40)
วิธีที่ 4 : หลังพิงกำแพง ย่อเข่าครึ่งนึง (นาทีที่ 5:50)
วิธีที่ 5 : นอนหงาย ยกก้น (นาทีที่ 7:43)

สัปดาห์ที่ 4 (นาทีที่ 9:34)
วิธีที่ 1 : ย่อเข่า บนหมอน (นาทีที่ 10:00)
วิธีที่ 2 : ยืนขาเดียว บนหมอน (นาทีที่ 11:24)
วิธีที่ 3 : ยืนขาเดียว ก้มหยิบของ (นาทีที่ 13:20)
วิธีที่ 4 : ยืนขาเดียว ตีเข่า (นาทีที่ 15:12)
วิธีที่ 5 : เดินต่อส้น หลับตา (นาทีที่ 17:10)
วิธีที่ 6 : ขึ้น step เตะขา (นาทีที่ 18:50)



[คลิป VDO 67] วิธีฟื้นฟูเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด สัปดาห์ที่ 1-2 (part 2)



วิธีฟื้นฟูเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด สัปดาห์ที่ 1-2 (part 2)

เอาล่ะครับ ในที่สุดก็มาถึงแนวทางในการดูแลข้อเข่าหลังจากผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าขาดกันแล้วครับผม โดยในคลิปนี้จะเป็นวิธีการฟื้นฟูข้อเข่าในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 หลังจากผ่าตัดนะครับ

ซึ่งรายละเอียดที่ผมบอกในคลิปนั้น เป็นเพียงแนวทางการรักษานะ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการรักษาได้ขึ้นอยู่กับแต่ล่ะบุคคลด้วยนะครับผม หากต้องการที่จะได้ข้อมูลที่ตรงกับอาการของเรามากที่สุดนั้น ลองปรึกษากับแพทย์ที่ผ่าตัดเรา หรือนักกายภาพที่ดูแลเรานะครับ ว่าเราจะออกกำลังกายได้ท่าไหน จะเดินได้เมื่อไหร่ครับผม

รายละเอียดในคลิป

1-3 วัน หลังผ่าตัด
วิธีที่ 1 : นอนหงาย ยกขาสูง (นาทีที่ 1:37)
วิธีที่ 2 : ประคบเย็น (นาทีที่ 2:30)
วิธีที่ 3 : กระดกปลายเท้าขึ้น-ลง (นาทีที่ 3:42)
วิธีที่ 4 : นั่งกดหมอน (นาทีที่ 5:00)

4-14 วันหลังผ่าตัด (นาทีที่ 7:00)
วิธีที่ 1 : ยืดน่อง (นาทีที่ 8:04)
วิธีที่ 2 : นั่งกอดเข่า (นาทีที่ 9:20)
วิธีที่ 3 : ส้นเท้า ครูดพื้น (นาทีที่ 11:00)
วิธีที่ 4 : งอเข่า เกร็งค้าง 5 วิ (นาทีที่ 12:28)
วิธีที่ 5 : นอนหงาย ยกขาตรง (นาทีที่ 14:00)
วิธีที่ 6 : นอนตะแคง กางขา (นาทีที่ 16:00)
วิธีที่ 7 : นอนตะแคง กางขาล่าง (นาทีที่ 18:05)



วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

[คลิป VDO 66] สาเหตุเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด พร้อมวิธีตรวจโรค (Part 1)



สาเหตุเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด พร้อมวิธีตรวจโรค Part 1

ช่วงนี้มีคนไข้ที่ผ่าเอ็นไขว้หน้ามาสอบถามเยอะเกี่ยวกับวิธีการดูแล และการฟื้นฟูต่างๆ ซึ่งผมก็แนะนำให้บริหารท่านั้นท่านี้ไป แต่จะมำถามนึงเกี่ยวโรคเอ็นไขว้หน้าขาดที่ผมอธิบายเป็นตัวอัษรหรือคำพูดได้ยากเหลือเกิน คนไข้มักถามว่า "เอ็นไขว้หน้ามันขาดได้ยังไงครับ สาเหตุมันเกิดจากอะไรหรอครับ" เหตุที่มันอธิบายยากก็เพราะมันต้องใช้ภาพประกอบเพื่อทำความเข้าใจนั่นครับผม 

ในท้ายที่สุดหลังจากที่ผมพยายามอธิบายเรื่องสาเหตุการเกิดโรคนี้กับคนไข้ที่มาถาม จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครเข้าใจสักที ผมจึงบอกไปว่า "งั้นรอผมทำคลิปอธิบายเรื่องนี้แล้วกันนะ จะเข้าใจง่ายกว่าที่เอาแต่พูดปากเปล่า" และวันนี้ก็มาถึงแล้วครับ กับคลิปการอธิบายสาเหตุการเกิดโรคเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด พร้อมด้วยวิธีการตรวจโรคนี้ 

ซึ่งวิธีการตรวจโรคเอ็นไขว้หน้านั้นมีหลายวิธีนะ แต่วิธีที่ผมใช้ในคลิปนั้นมีชื่อว่า Drawer Test ครับผม เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้วนะ ส่วนวิธีการดูแลรักษานั้น ติดตามได้ใน part ที่ 2 และ 3 เลยครับผม

รายละเอียดในคลิป

สาเหตุ การเกิดโรค (นาทีที่ 1:00)
อาการ ของโรค (นาทีที่ 7:46)
วิธีตรวจแยกโรคเอ็นไขว้หน้าขาด (นาทีที่ 11:40)



วันอังคารที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560

osgood schlatter อาการปวดเข่า เข่าปูดในวัยรุ่น ที่ปวดจนนั่งคุกเข่าไม่ได้


โรค osgood schlatter disease (OSD)
หรือ โรคหัวเข่าปูดจากปุ่มกระดูกอักเสบ

ถ้าพูดถึงสาเหตุของอาการปวดเข่า เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงโรคข้อเข่าเสื่อม เอ็นไหว้หน้าอักเสบ หมอนรองกระดูกข้อเข่าฉีกขาด โรครูมาตอยด์ เก๊าต์ เป็นต้น ซึ่งโรคที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ มักพบในในวัยกลางคนจนถึงวัยผู้สูงอายุซะมากกว่า แต่ถ้าพบในวัยรุ่น วัยเด็ก หรือนักกีฬาล่ะก็จะมีเพียงไม่กี่โรคหรอกครับ และหนึ่งในนั้นก็คือ โรค osgood schlater disease ซึ่งเป็นภาวะที่หัวกระดูกหน้าแข้งใกล้ๆข้อเข่า (tibial tuberosity) เกิดการอักเสบ หรือไม่ก็แตกร้าวจากแรงดึงของเส้นเอ็นที่มาเกาะอยู่บริเวณนั้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ใช้แรงขามากๆ เช่น วิ่ง กระโดด และถ้านั่งคุกเข่าไม่ได้ด้วยแล้วล่ะก็ ใช่เลยครับสำหรับโรคนี้ เพราะขณะที่เรานั่งคุกเข่า เจ้าเศษกระดูกตรงหน้าเข่านั้น มันจะกดอัดกับเส้นเอ็นและเนื้อเยื่อรอบๆทำให้เกิดอาการปวดนั่นเอง

ภาพแสดงโครงสร้างของเข่า และตำแหน่งที่ทำให้เกิดโรค osgood schlatter

สาเหตุของโรค osgood schlatter disease

โรคนี้โดยมากมักพบในวัยเด็ก วัยรุ่น และในนักกีฬาเสียเป็นส่วนใหญ่ครับผม และโดยเฉพาะนักกีฬาจะพบได้มากที่สุด ซึ่งกีฬาหรือกิจกรรมที่จะทำให้เสี่ยงเป็นโรคนี้ยกตัวอย่างเช่น การวิ่ง ซึ่งการวิ่งไม่ใช่การวิ่งมาราธอนนะ แต่เป็นการวิ่งระยะสั้น 100 เมตร 200 เมตร, กีฬาที่เกี่ยวข้องกับการกระโดด เช่น บาสเก็ตบอล วอลเล่ย์บอล หรือจะเป็นกีฬาที่มีการวิ่งระยะสั้นสลับกับหยุดวิ่งเป็นระยะๆ เช่น ฟุตบอล รักบี้ เป็นต้น 

ภาพแสดงกระดูกเข่าที่แตกออก

ซึ่งสาเหตุที่กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เป็นโรค osgood schlatter disease ได้ง่ายเนื่องจาก ขณะที่เราออกแรงกล้ามเนื้อต้นขาให้หดตัวมากๆในการวิ่ง หรือกระโดด จะทำให้เส้นเอ็นตรงใต้กระดูกลูกสะบ้าเกิดการตึงตัวตามและดึงรั้งปุ่มกระดูกใต้เข่า (tibial tuberosity) ที่มันเกาะอยู่ ทำให้ผิวกระดูกบริเวณนั้นเกิดการแตกร้าวขึ้นเล็กๆจากแรงดึง แต่ถ้ายังคงมีการทำกิจกรรมหนักๆอย่างต่อเนื่อง ผิวกระดูกก็แตกร้าวมากขึ้นจนเกิดอาการปวดที่หน้าเข่าได้ในที่สุด และหากผู้ป่วยยังเป็นเด็กอายุอยู่ในช่วง 8-12 ปี แล้วชอบเล่นกีฬาก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าปกติ เนื่องจากในวัยเด็ก มวลกระดูกยังไม่แข็งแรงมาก เมื่อเกิดการดึงรั้ง เกิดการกระชากของเส้นเอ็นหน้ากระดูกจึงทำให้กระดูกแตกร้าวได้ง่ายกว่าปกตินั่นเองครับผม ส่วนใหญ่จะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงนะ

ภาพมองจากด้านข้างเข่า ของตำแหน่งที่กระดูกหน้าเข่าแตก

นอกจากในวัยเด็กที่ชอบเล่นกีฬาแล้ว คนทั่วไปก็พบได้เช่นเดียวกัน แต่โดยมากมักเกิดจากอุบัติเหตุซะมากกว่านะ เช่น การหกล้มหัวเข่ากระแทกพื้น ทำให้ปุ่มกระดูกหน้าเข่าแตกร้าว หรือเกิดอุบัติเหตุมีของแข็งมาโดนที่หน้าเข่าตรงปุ่มกระดูก เป็นต้น

ภาพเปรียบเทียบเข่าข้างปกติกับข้างที่เป็นโรคของผมครับ 
จำได้ว่าเป็นตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันนี้เข่าก็ยังปูดนูนอยู่ แต่ไม่มีอาการปวดใดๆแล้ว

อาการของโรค osgood schlatter disease

อาการของผู้ที่เป็นโรคนี้ก็คือ จะมีอาการเจ็บที่หน้าเข่าเมื่อวิ่ง หรือกระโดด เมื่อใช้มือกดลงไปตรงปุ่มกระดูกหน้าเข่าจะมีอาการปวดมากขึ้น ไม่สามารถนั่งคุกเข่าได้เพราะแรงกดของนํ้าหนักตัวกดลงไปที่เข่าจะไปกดตรงกระดูกที่แตกร้าวทำให้เกิดอาการปวด 

นอกจากนี้ก็จะสังเกตุได้ว่าปุ่มกระดูกตรงหน้าเข่านั้น มันมีลักษณะปูดบวมมากกว่าข้างปกติอย่างเห็นได้ชัด ในระยะแรกที่เป็นใหม่ๆอาจมีกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps) มันตึงมากกว่าปกติ และเมื่อเอามืออังที่ปุ่มกระดูกจะรู้สึกอุ่นๆ และผิวหนังโดยรอบมีสีแดงเล็กน้อยจากการอักเสบ

เมื่อใช้นิ้วกดลงไปที่ปุ่มกระดูกหน้าข้อเข่าจะทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้น

การรักษาของโรค osgood schlatter disease

สำหรับโรคนี้ไม่ต้องเข้ารับการรักษาอะไรมากก็ได้ครับ เพราะมันไม่ใช่การบาดเจ็บที่ใหญ่มากจนทำให้เกิดอันตรายอะไรได้ครับผม หลักๆคือหากพบว่าตนเองมีอาการปวดปุ่มกระดูกตรงหน้าเข่ามา กดลงไปตรงปุ่มกระดูกแล้วเจ็บ นั่งคุกเข่าไม่ได้ วิ่งเร็วไม่ได้เหมือนเดิมเนื่องจากอาการบาดเจ็บก็ให้หยุดพักก่อนครับ แล้วใช้การประคบนํ้าแข็ง หรือผ้าเย็นบริเวณที่ปวดแทน เพื่อป้องกันไม่ให้เศษกระดูกที่แตกร้าวอยู่เกิดการแตกมากขึ้น และลดการอักเสบ ซึ่งการพักนั้นอาจกินเวลา 15 วัน หรือมากกว่า 1 เดือนก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคลครับผม แต่ระหว่างที่พักผู้ป่วยก็ยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถเดินได้ นั่งได้ เพียงแต่เมื่อวิ่ง หรือเดินขึ้นบันไดอาจจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้นเท่านั้นเองครับผม 

นอกจากนี้ก็ใช้การยืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าร่วมด้วย เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ในระยะแรกๆ นอกจากจะมีอาการปวดแล้ว กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าก็ยังมีความตึงมากด้วย ก็ใช้การยืดกล้ามเนื้อต้นขาตามคลิปด้านล่างนี้เลยครับผม โดยยืดค้างไว้ 15 วินาที นะครับ

วิธียืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps)

ส่วนปุ่มกระดูกที่ปูดยื่นออกมานั้น เราคงไม่สามารถทำอะไรมันได้ครับ ไม่ต้องไปกด ดัน หรือผ่าตัดใดๆทั้งสิ้น เพราะโครงสร้างกระดูกเหล่านั้นมันเกิดการเชื่อมติดกัน และเปลี่ยนรูปร่างไปแล้วครับผม 

เครดิตภาพ
- http://kneesafe.com/osgood-schlatter-disease/
- https://en.wikipedia.org/wiki/Osgood%E2%80%93Schlatter_disease
- https://www.gillettechildrens.org/conditions-and-care/osgood-schlatter-disease/
- http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00411
- http://emedicine.medscape.com/article/1993268-overview

วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปวดขาหนีบ ดูดีๆอาจเป็น 1 ใน 4 โรคนี้แล้วก็ได้


ไม่ว่าจะคุณผู้หญิงหรือคุณผู้ชาย หากได้มีอาการปวดที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งย่อมสร้างความทุกข์ทรมานเป็นที่แน่นอน แล้วนอกจากอาการปวดที่เกิดขึ้นแล้ว คำถามแรกที่เราคิดขึ้นในหัวนั่นก็คือ มันเกิดจากอะไรหว่า?? ถ้าอาการปวดเกิดขึ้นที่หลัง มันก็มีอยู่ไม่กี่โรคที่เรารู้จักกันดี นั่นคือ กล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน กระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้น กระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นต้น แต่ถ้าอาการปวดนั้น เกิดขึ้นที่ขาหนีบล่ะ มันเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่?

หากเพื่อนๆกำลังประสบกับอาการปวดขาหนีบอยู่ล่ะก็ ลองติดตามเนื้อด้านล่างนี้ให้ดีนะครับ เพราะผมจะบอกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดขาหนีบ โดยมีทั้งหมด 4 โรคด้วยกัน เพื่อให้เราได้รู้วิธีการแยกโรค และดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง 

ภาพแสดง กล้ามเนื้อ piriformis หนีบเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขา

สาเหตุที่ 1 : 
เกิดจากโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

โดยโรคนี้เกิดจากกล้ามเนื้อในก้นมัดเล็กมัดนึงที่มีชื่อว่า กล้ามเนื้อ piriformis แล้วเจ้ากล้ามเนื้อมัดนี้มันเกิดตึงตัวจากการนั่งทำงานนาน หรือขับรถนาน ทำให้ไปกดทับเส้นประสาท sciatic nerve ที่ไปเลี้ยงขา จนทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดก้น ปวดขา ขาชา ขาอ่อนแรง และก็ทำให้ปวดขาหนีบได้ด้วยเช่นเดียวกัน 

ซึ่งคนเป็นโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทส่วนมาก มักมีอาการปวดหลายๆอย่างรวมกัน ทั้งปวดก้น ปวดขา ขาตึงๆ ชาขาบ้าง เดินทรงตัวไม่ดี ไม่ได้ปวดขาหนีบเพียงอย่างเดียวครับผม หากเราได้หมั่นยืดกล้ามเนื้อ piriformis บ่อยๆอย่างต่อเนื่อง อาการปวดดังกล่าวก็จะค่อยๆทุเลาลงเอง รวมทั้งปวดขาหนีบด้วยนะ หากอาการปวดขาหนีบไม่ลดลงเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆที่อาการปวดขา ปวดก้นหายไปหมดแล้วล่ะก็ ดูสาเหตุถัดไปได้เลยครับ 

อ้อ! ลืมบอกไปว่า เจ้าโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัยเลยนะ ตั้งแต่วัยรุ่นยันวัยชราเลยครับผม แต่ส่วนใหญ่มักพบในวัยทำงานมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานนั่งนาน

รายละเอียดเพิ่มเติม โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (ชาร้าวลงขา อย่าพึ่งคิดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น ยังมีอีกโรคที่น้อยคนจะรู้จัก)
คลิป : วิธีการรักษากล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (5 วิธี รักษากล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท Part 1)

ภาพเปรียบเทียบข้อสะโพกปกติ กับข้อสะโพกเสื่อม

สาเหตุที่ 2 : 
ข้อสะโพกเสื่อม 

โรคข้อสะโพกเสื่อมกับอาการปวดขาหนีบจัดว่าเป็นของคู่กันเลยก็ว่าได้ เพราะตำแหน่งของขาหนีบนั้นอยู่ใกล้กับข้อสะโพกมากๆ เมื่อข้อสะโพกมีปัญหา ก็จะทำให้เกิดอาการปวดรอบๆข้อสะโพก และปวดร้าวอยู่ตรงตำแหน่งขาหนีบ อาการปวดขาหนีบของผู้ป่วยจะพูดเหมือนๆกันอยู่อย่างนึงคือ จะรู้สึกปวดลึกๆอยู่ข้างในขาหนีบ เอามือกด เอามือทุบยังไงก็ไม่รู้สึกดีขึ้นเลย ต้องยกขา กางขา เตะขา แกว่งขา หรือให้ขามีการเคลื่อนไหวจึงจะรู้สึกดีขึ้นมาหน่อย 

นอกจากอาการปวดรอบๆข้อสะโพก และปวดบริเวณขาหนีบแล้ว ผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการปวดร้าวลงก้นได้บ้าง ปวดมากหลังจากตื่นนอน หรือไม่ก็รู้สึกข้อสะโพกมันหนืดๆต้องขยับขาไปสักพักจึงจะเริ่มรู้สึกดีขึ้น เป็นต้น 

จุดเด่นของโรคนี้คือ พบในผู้ป่วยที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือในผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนก็จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น วิธีการตรวจโรคนี้ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากครับ แค่ไป x-ray กระดูกข้อสะโพกก็ทราบผลแล้ว แต่หากอายุยังไม่มาก หรือผล x-ray ไม่เห็นความผิดปกติใดๆของข้อสะโพกก็ข้ามไปยังสาเหตุที่ 3 ได้เลยครับผม

รายละเอียดเพิ่มเติม (5 สัญญาณ เช็คข้อสะโพกเสื่อม)
คลิป : วิธีการลดปวดข้อสะโพกเสื่อม (7 วิธี ดัดข้อสะโพก เพื่อรักษาข้อสะโพกเสื่อม)
คลิป : วิธีการออกกกำลังกายบริหารข้อสะโพก ในผู้ป่วยข้อสะโพกเสื่อม (8 ท่า บริหารข้อสะโพกให้แข็งแรง สำหรับโรคข้อสะโพกเสื่อม)

ภาพในวงกลมแสดง ตำแหน่งรอยต่อระหว่าง กระดูกเชิงกรานกับกระเบนเหน็บที่มีปัญหา

สาเหตุที่ 3 :
กระดูกเชิงกรานและกระเบนเหน็บมีปัญหา หรือที่เรียกโรคนี้ว่า SI joint dysfunction syndrome

โรค SI joint dysfunction syndrome ยังไม่มีชื่อภาษาไทยที่ระบุแน่ชัดนัก ผมจึงขอเรียกทับศัพท์ไปเลยก็แล้วกันนะครับ โรคนี้ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก แต่คนเป็นโรคนี้ก็จัดว่าน้องๆโรคกระดูกสันหลังเสื่อมเลยทีเดียว โดยเจ้าโรคนี้เกิดจากข้อกระดูกเชิงกรานและกระดูกกระเบนเหน็บมันเกิดการชิดกันมาก หรือมีการขบกันมากเกินไปจากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยการนั่งนาน หรือมีกิจกรรมที่ต้องมีการบิดเอี้ยวตัวเร็วๆแรงๆอยู่บ่อยๆจึงทำให้เกิดอาการปวดขึ้นได้ 

โดยอาการปวดของโรคนี้จะมีจุดเด่นคือ ปวดตามแนวขอบกางเกงในครับ และจะปวดมากขึ้นเมื่อต้องนั่งนาน หรือขับรถนาน บางรายก็ปวดมากจนร้าวลงขาหนีบเลยก็มี ซึ่งนี่ก็เป็นอีก 1 โรคที่ทำให้เกิดอาการปวดขาหนีบได้ 

แล้วโรคนี้ไม่สามารถตรวจได้ด้วยผล x-ray นะครับผม 

รายละเอียดเพิ่มเติม โรค SI joint syndrome : (ปวดสะโพกร้าวลงขา ทั้งที่ x-ray แล้วกระดูกสันหลังฉันก็ปกติดีนี่)
คลิป : วิธีรักษาโรค SI joint syndrome (5 วิธี รักษาอาการปวดเอว กระเบนเหน็บ จากโรค SI joint syndrome)

ภาพแสดง อาการปวดกล้ามเนื้อช่วงขาหนีบ

สาเหตุที่ 4 :
ปวดกล้ามเนื้อช่วงขาหนีบธรรมดา

สำหรับสาเหตุที่ 4 นี้ ตรงไปตรงมามากๆเลยครับ คือ อักเสบตรงไหนก็ปวดตรงนั้นแหละ นั่นคือภาวะกล้ามเนื้อช่วงขาหนีบมันเกิดการอักเสบธรรมดา มักพบได้ในคนที่ชอบออกกำลังกายโดยการวิ่ง การกระโดดอยู่เป็นประจำ หรือเคยมีอุบัติเหตุมีสิ่งของมากระแทกบริเวณช่วงขาหนีบจนทำให้เกิดอาการปวดดังกล่าว 

วิธีเช็คก็ไม่มีอะไรยุ่งยากครับ แค่เราเอามือกดที่ขาหนีบข้างที่มีปัญหา เราจะรู้สึกปวดตึงขึ้นมาทันทีจากอาการที่เป็นอยู่ หรือเวลานั่งแบะขาให้ฝ่าเท้ามาประกบกันก็จะรู้สึกปวดตึงที่ขาหนีบมากขึ้นนั่นเองครับผม 

วิธีการรักษาก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก หากมีอาการปวดใหม่ๆ เช่น ไปวิ่งมาแล้วรู้สึกปวดที่ขาหนีบก็หาผ้าเย็นมาประคบบริเวณที่ปวด 10 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมงจนกว่าอาการปวดจะหายไป แล้วหมั่นยืดกล้ามเนื้อตามรูปภาพด้านล่างนี้ เป็นเวลา 20 วินาที/รอบ จำนวน 3-5 รอบ/วัน หรือจะทำมากกว่านั้นก็ได้ครับผม

ภาพแสดง วิธีการยืดกล้ามเนื้อช่วงขาหนีบ

จากสาเหตุทั้ง 4 ที่ผมได้กล่าวมานั้น เป็นการบอกถึงต้นเหตุที่มาจากกล้ามเนื้อ และกระดูกเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคทางระบบภายในร่างกายกายที่ทำให้เกิดอาการปวดขาหนีบได้นั้นมีมากมายไม่ต่างกัน เช่น ไส้เลื่อน มีปัญหาที่มดลูก ลำไส้อักเสบ เป็นต้น หากเราไม่แน่ใจว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสาเหตุอะไร แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อให้เค้าได้ตรวจอย่างละเอียดอีกทีนะครับผม

เครดิตภาพ
- https://nydnrehab.com/blog/main-causes-of-pain-in-the-hip-thigh-and-groin/
- http://painsensation.blogspot.com/2013/07/groin-pain.html
- http://www.mayfieldclinic.com/PE-SIjointpain.htm
- http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/osteoarthritis/symptoms-causes/dxc-20198250
- http://www.physica.com.au/piriformis-syndrome/
- http://positivemed.com/2015/03/18/groin-pain-symptoms-treatments/
- http://www.newhealthadvisor.com/Piriformis-Syndrome-Exercises.html

วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2560

[คลิป VDO 65] 7 วิธี บริหารข้อไหล่ ลดปวด ลดเสียงดังในข้อให้หายถาวร


7 วิธี บริหารข้อไหล่ ลดปวด ลดเสียงดังในข้อให้หายถาวร

และแล้วก็มาถึง part ที่ 2 กันแล้วนะครับ กับวิธีการบริหารข้อไหล่ให้แข็งแรง เพื่อลดปวด ลดเสียงก๊อกแก๊กในข้อไหล่ ซึ่งในคลิปนี้จะเน้นการเพิ่มความแข็งแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อ rotator cuff เป็นพิเศษนะ เพราะกล้ามเนื้อกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยในการหยุงข้อไหล่ หากกล้ามเนื้อกลุ่มนี้อ่อนแรง จะทำให้เกิดอาการปวดข้อไหล่ได้ง่าย และเกิดเสียงดังในข้อนั่นเองครับผม

โดยเฉพาะคนที่ชอบเล่นกีฬาที่ใช้แขนหนักๆในการเหวี่ยง การขว้าง การสบัดอยู่บ่อยๆ เช่น เล่นเทนนิส กีฬาแบต ปิงปอง เป็นต้น หากเราใช้งานแขนหนัก แต่ไม่เคยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆข้อไหล่เลย โอกาสที่จะบาดเจ็บข้อไหล่เรื้อรังนับว่ามีสูงมากเลยครับ 

รายละเอียดในคลิป

วิธีที่ 1 : กางแขน แนวเฉียง (นาทีที่ 4:26)
วิธีที่ 2 : มือวางเป้า กางแขนออก (นาทีที่ 6:58)
วิธีที่ 3 : ยืดหนังยาง กางแขน (นาทีที่ 8:50)
วิธีที่ 4 : ดึงหนังยาง หมุนแขนออก (นาทีที่ 10:37)
วิธีที่ 4 เสริม : (นาทีที่ 12:34)
วิธีที่ 5 : หมุนแขน เข้าด้านใน (นาทีที่ 13:53)
วิธีที่ 5 เสริม : (นาทีที่ 15:10)
วิธีที่ 6 : ดึงหนังยาง หน้าประตู (นาทีที่ 16:30)
วิธีที่ 7 : หุบแขน ยืดหนังยาง (นาทีที่ 17:53)