วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ทำไม...ยิ่งดึงหลังอาการยิ่งทรุด กับคนเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น


ใครที่เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแล้วไปทำกายภาพโดยใช้เครื่องดึงหลังกันบ้าง เชื่อว่าส่วนใหญ่เคยกันแทบทั้งนั้นนะ แต่ทีนี้มีผู้ป่วยบางรายที่ไปดึงหลัง พอดึงหลังไปได้สักพักจู่ๆรู้สึกปวดหลังขึ้นมาซะงั้น แรกๆก็ไม่คิดไรมาก แต่พอไปดึงหลังครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 ก็ปวดหลังเพิ่มขึ้นทุกครั้งเลย ทั้งที่คนอื่นดึงแล้วหายปวด แต่เราดันปวดเพิ่มขึ้น? เป็นไปได้ไงกัน? ทำไมยิ่งดึงหลังยิ่งปวดเพิ่มขึ้นได้อ่ะ? นี่เป็นคำถามที่ถูกถามมากที่สุด ฉะนั้น ในบทความนี้ผมจะมาอธิบายว่ามันมีสาเหตุมาจากอะไรกัน

ทำไมดึงหลัง แล้วยิ่งปวดหลัง?

ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ลักษณะการปลิ้นของหมอนรองกระดูกสันหลังนั้นมี 3 แบบด้วยกันนะครับ คือ 
แบบที่ 1 : ปลิ้นมาทางด้านหลังตรงๆ (posterior) ซึ่งลักษณะจะไปกดทับที่ไขสันหลัง (spinal cord) โดยตรง จัดว่าเป็นอาการปวดหลังที่รุนแรงมาก 
แบบที่ 2 : shoulder type ลักษณะนี้คือ จะปลิ้นออกทางด้านข้างเยื้องไปด้านหลัง ซึ่งทำให้ไปกดเบียดรากประสาทที่ออกมาขากไขสันหลังอีกที
แบบที่ 3 : axillary type ลักษณะนี้จะปลิ้นออกมาคล้ายกับแบบที่ 2 นะครับ แต่ต่างกันที่ตำแหน่งที่ปลิ้นออกมาเล็กน้อยคือ มันปลิ้นออกมาตรงกลางระหว่างรากประสาทและไขสันหลัง ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนกับลำตัวเราคือไขสันหลังแล้งกางแขนออก แขนที่กางออกก็เหมือนกับรากประสาท ซึ่งตำแหน่งที่ปลิ้นออกมาดันไปกระจุกอยู่ที่ใต้หัวไหล่เรานั่นเอง แล้วเจ้าแบบที่ 3 เนี่ยแหละครับที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังมากขึ้นเมื่อเราดึงหลัง 

ทำไมหมอนรองกระดูกปลิ้นแบบ axillary type ถึงทำให้ปวดมากเมื่อดึงหลัง?

ถ้าให้สรุปสั้นๆเลยก็คงตอบว่า เกิดจากตัวหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมานั้นไปงัดกับรากประสาทในขณะที่ข้อกระดูกสันหลังถูกยืดในขณะดึงหลัง สรุปสั้นๆแบบนี้เข้าใจมั้ย? ถ้าไม่เข้าใจไปดูภาพประกอบด้านล่างเลยครับ


L4 และ L5 คือ หมอนรองกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4 และ ข้อที่ 5

จากภาพด้านบนแสดงตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทั้ง 2 แบบ 
โดยภาพซ้ายคือ shoulder type จะสังเกตุเห็นว่าตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมาจะค่อนไปทางด้านข้างพอสมควร 
ส่วนภาพขวาคือ axillary type ตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นจะอยู่กึ่งกลางระหว่างประสาทไขสันหลังกับรากประสาท ซึ่งมีโอกาสที่จะไปกดเบียดได้ทั้งรากประสาทและเส้นประสาทไขสันหลัง 


ถ้าให้เปรียบเทียบเส้นประสาทไขสันหลังกับรากประสาทก็เหมือนกับคนที่กำลังยืนกางแขนอยู่ 



ทีนี้เมื่อถูกดึงหลัง แรงดึงจากเครื่องดึงหลังจะทำให้ข้อกระดูกสันหลังแต่ละข้อห่างออกจากกัน ความกว้างของหมอนรองกระดูกสันหลังเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับผู้ป่วยที่หมอนรองกระดูกปลิ้นแบบ axillary type มันเหมือนกับฝันร้าย เพราะเมื่อข้อปล้องถูกดึงลงจะทำให้รากประสาทไปติดกับหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมา ผู้ป่วยจึงมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นในขณะที่ถูกดึงหลัง บางรายก่อนดึงหลังก็ยังพอเดินได้ แต่เมื่อดึงเสร็จต้องนอนเปลออกไปเลยก็มี ฉะนั้น ในขณะที่ดึงหลังอยู่แล้วรู้สึกอาการปวดแย่ลงเรื่อยๆควรแจ้งนักกายภาพหรือเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องให้ทราบ เพื่อที่จะหยุดเครื่องนะครับ


ภาพแสดงวิธีการตรวจเพื่อแยกว่าเป็นหมอนรองกระดูกประเถทไหน

แล้วจะรู้ได้ไงว่าเป็นหมอนรองกระดูกปลิ้นแบบไหน?

วิธีการตรวจแยกว่าเป็น shoulder type หรือ axillary type ให้เรายืนตรงแล้วเอียงตัว (lateral bending) ไปทางซ้ายและขวาสลับกันครับ หากเอียงตัวไปทางซ้ายแล้วรู้สึกปวดหลังมากขึ้น ชามากขึ้นแสดงว่าเป็น shoulder type แต่หากเอียงขวาแล้วมีอาการปวดมากขึ้นแสดงว่าเป็น axillary type ครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น การตรวจลักษณะนี้อาจไม่เห็นความแตกต่างชัดมากนัก ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังในระยะเฉียบพลัน หรือหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทับไขสันหลังตรงๆครับ

4 วิธีดึงหลังด้วยตัวเอง ไม่ต้องง้อเครื่อง traction ในรพ.

ปล. หากผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมากขึ้นขณะดึงหลังควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้หยุดเครื่องทันที
ปลล. หากดึงหลังแล้วมีอาการปวดหลังเพิ่มขึ้นทุกๆครั้ง ควรปฎิเสธการรักษาโดยการใช้เครื่องดึงหลังไปนะครับ ไม่ต้องกลัวว่าเค้าจะว่าอะไร เพราวิธีการรักษาของผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังนั้นมีอะไรมากกว่าแค่การดึงหลังครับผม 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท (หมอนรองกระดูกทับเส้น โรคยอดฮิตที่ใครๆก็รู้จัก)

คลิป วิธีลดปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น (9 วิธีลดปวดหลังด้วยตนเอง จากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น)

เครดิตภาพ
- http://www.coreconcepts.com.sg/article/traction-therapy-no-help-in-long-term/#gsc.tab=0
- https://www.google.co.th/url?sa=i&rct=j&q=&esrc=s&source=images&cd=&cad=rja&uact=8&ved=0ahUKEwiWnMX59M_NAhVKRY8KHdM8ChcQjhwIAw&url=http%3A%2F%2Ffiles.academyofosteopathy.org%2Fconvo%2F2012Handouts%2FFossum_AAO-Convocation2012Lecture.pdf&psig=AFQjCNHDOGqZLqMxkKa-vHXPKaqE_mHlog&ust=1467355424738287
- www.doobody.com

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

iliotibial band syndrome อีก 1 โรคที่นักวิ่งมักเป็นกัน


อาการปวดเข่าด้านนอก (iliotibial band syndrome : ITB syndrome)

เมื่อพูดถึงชื่อโรค iliotibial band syndrome หลายคนคงจะไม่ค่อยรู้จักกัน แต่ถ้าบอกว่ามันคืออาการปวดเข่าทางด้านนอก บางคนอาจร้องอ๋อทันที เพราะอาการปวดเข่าด้านนอกนี้พบได้บ่อยในหมู่นักวิ่ง และนักปั่นจักรยาน หากเพื่อนๆชอบออกกำลังกายโดยการวิ่งอย่างสมํ่าเสมอละก็ ติดตามบทความนี้ให้ดีครับ

คำว่า iliotibial band syndrome นั้นมีที่มาจากเส้นเอ็นข้างเข่าที่มีชื่อว่า iliotibial band เกิดการอักเสบจากการใช้งานซํ้าๆกันเป็นเวลานาน และเกิดจากที่ส่วนปลายของเส้นเอ็นไปเสียดสีกับปุ่มกระดูกข้างเข่าอยู่บ่อยๆ (lateral femoral epicondyle) ในขณะก้าวขา ซึ่งพบได้มากกว่าในเพศหญิง เพราะสรีรวิทยาขาของผู้หญิงมักเฉียงเข้าด้านในมากกว่าผู้ชาย จึงเพิ่มโอกาสให้เส้นเอ็นไปเสียดสีกับปุ่มกระดูกข้างเข่ามากขึ้น ทีนี้ผมจะแจงสาเหตุของโรคนี้กันต่อ


ภาพแสดงเส้นเอ็นของ iliotibial band และจุดสีแดงคือตำแหน่งที่ปวด

สาเหตุ ของอาการปวดเข่าด้านนอก

- ชอบวิ่งไขว้ขา : การที่เราวิ่งขาไขว้กัน หรือที่ในขณะวิ่งแล้วเรามีความรู้สึกว่าข้างเข่าด้านในมันเสียดสีกันอยู่บ่อยนั่นแหละครับ แล้วส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่าเราวิ่งไขว้ขาอยู่ด้วย ผลก็คือ ทำให้แรงกระแทกขณะที่เท้าสัมผัสพื้นถูกส่งผ่านมาที่เส้นเอ็น iliotibial band โดยตรง เส้นเอ็นจึงรับแรงเครียดมากขึ้นจนเกิดการอักเสบ โดยปกติแล้วแรงกระแทกของเท้าจะส่งผ่านมายังกล้ามเนื้อต้นขาแล้วเกิดการกระจายแรงพร้อมๆกัน กล้ามเนื้อจึงไม่รับแรงเครียดมากเกินไป


อีกหนึ่งหน้าที่ของกล้ามเนื้อ gluteus medius คือ คงระดับสะโพกให้เท่ากันเมื่อเรายืนขาเดียว(ภาพA)

แล้วสาเหตุที่เราวิ่งไขว้ขาโดยที่ไม่รู้ตัวก็สืบเนื่องมาจากกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่กางขา (gluteus medius) ไม่แข็งแรงเพียงพอ ซึ่ีงโดยปกติกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่หุบขาและกางขาจะทำงานสมดุลกัน เพื่อไม่ให้เราเดินขาชิดหรือเดินขาถ่างมากจนเกินไป แต่กรณีที่กล้ามเนื้อกางขาอ่อนแรง (gluteus medius) ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่หุบขา (adductor group) เกิดแรงดึงมากกว่า ทำให้เราเดินหรือวิ่งไขว้ขาโดยที่ไม่รู้ตัวนั่นเองครับ


ภาพเปรียบเทียบของคนที่เป็นขาโก่ง (genu valrus) กับเป็นขาชิด (genu valgus)

- สรีรของขาหุบเข้าด้านในมากกว่าปกติ (genu valgus) : กรณีนี้มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายนะครับ หากใครที่เดินหรือวิ่งแล้วมักรู้สึกว่าหัวเข่าด้านในมักเบียดกันเองอยู่บ่อยๆ พอส่องกระจกดูขาตัวเองขณะยืนก็รู้สึกว่าหัวเข่าทั้ง 2 ข้างอยู่ชิดกันมากกว่าปกติ นั่นแสดงว่าคุณอาจมีความผิดปกติของโครงสร้างขาก็ได้ ซึ่งอาจเป็นมาแต่กำเนิด หรือเป็นจากอายุที่มากขึ้นก็ได้ครับ ใครที่มีโครงสร้างขาลักษณะนี้ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายเกี่ยวกับวิ่งต่อเนื่องนานๆนะครับ


ภาพแสดงตำแหน่งปุ่มกระดูกข้างเข่าที่ไปเสียดสีกับเส้นเอ็นจนเกิดอาการปวดที่ข้างเข่า

- เส้นเอ็นเสียดสีกับปุ่มกระดูกข้างเข่า : สาเหตุนี้เกิดจากเส้นเอ็น iliotibial band ไปเสียดสีกับปุ่มกระดูกข้างเข่าที่มีชื่อว่า lateral epicondyle of femur

การป้องกัน และการดูแลรักษา จาก iliotibial band syndrome

หากเป็นการรักษาทางกายภาพให้หายจากอาการปวดก็คงหนีไม่พ้นการยืดกล้ามเนื้อ การนวด การประคบร้อน การใช้เครื่องมือทางกายภาพต่างๆนาๆ ซึ่งผมจะไม่ลงรายละเอียดในส่วนนี้นะครับ เพราะมันอาจต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์และผลการรักษาก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวดได้อย่างถาวรนั่นเอง สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากกว่าคือ การปรับพฤติกรรม และการออกกำลังกายกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนครับ

- การปรับพฤติกรรมการวิ่ง : หากทราบว่าตัวเองชอบเผลอวิ่งไขว้ขาไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีที่สุดคือ การวิ่งคล่อมเส้นจราจรครับ วิธีนี้จะเหมือนเป็นการช่วยเตือนตัวเองอยู่ตลอดว่าให้วิ่งขาห่างอย่างพอเหมาะครับ

- การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่กางขา : อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนนี้ว่า การที่เราวิ่งไขว้ขาโดยไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งก็มาจากกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่กางขา (gluteus medius) ไม่แข็งแรง กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่หุบขาเข้าจึงดึงรั้งขาให้ชิดกันมากกว่าปกติ ฉะนั้น การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ gluteus medius จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

จากงานวิจัยล่าสุดเค้าได้ทดลองนำกลุ่มคน 2 กลุ่มที่ปวดเข่าด้านนอกมาทดลอง โดยกลุ่ม 1 ให้ยืดเส้นเอ็น iliotibial band เพียงอย่างเดียว ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ gluteus medius ผลปรากฎว่า กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยมีอาการปวดลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญกว่ากลุ่มแรกมาก ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการออกกำลังกายนั้นสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวิ่งและช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการวิ่งได้ดีในระดับนึงเลยทีเดียว

ส่วนวิธีการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกางตามนี้เลยครับ


ภาพเปรียบเทียบระหว่างกางขาที่ถูกและผิด

ท่าที่ 1 : นอนตะแคงกางขา

อันนี้เป็นท่าพื้นฐานเลยครับ โดยให้เรานอนตะแคง เอาขาข้างที่ต้องการฝึกอยู่ด้านบน จากนั้นกางขาขึ้นแล้วลง ไม่ต้องกางค้างนะครับ และขณะที่กางขาไม่พลิกตัว หรือเตะขาไปข้าง-ข้างหลัง เพราะเป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดอื่นร่วมทำด้วย ทำให้กล้ามเนื้อที่เราต้องการฝึกไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มที่ 

กางขาจำนวน 10-12 ครั้ง จำนวน 3-5 set ด้วยกันครับ


ท่า bridging

ท่าที่ 2 : ท่า bridging

โดยปกติแล้วท่า bridging จะแค่ยกก้นไม่ต้องยกขาใช่มั้ยครับ แต่กรณีนี้เราต้องการฝึกกล้ามเนื้อ gluteus medius ซึ่งทำหน้าที่กางขาและทำหน้าที่ทรงตัวของข้อสะโพก วิธีการคือ ให้เราอยู่ในท่าเริ่มต้นเหมือนท่าที่ 1 จากนั้นให้ยกก้นขึ้น โดยลงนํ้าหนักของขาข้างที่ต้องการฝึก พร้อมทั้งเตะขาอีกข้างขึ้นมาตรงๆให้สูงเท่าที่ทำได้ จากนั้นก็กลับมาสู่ท่าเริ่มต้นใหม่ครับ เราอาจจะเพิ่มความยากขึ้นโดยการยกก้นค้างไว้ 10 วินาทีก่อนลงก็ได้ครับ 

ทำซํ้าจำนวน 10-12 ครั้ง จำนวน 3-4 set 


ท่า one legged squat 

ท่าที่ 3 : ท่า one legged squat

ท่านี้เหมือนท่าย่อเข่าทุกประการเลยครับ เพียงแต่ให้ย่อเข่าข้างเดียวแทนพร้อมทั้งเตะขาอีกข้างขึ้นไปตรงๆ แล้วในขณะที่เตะขาขึ้นนั้น ให้เป็นลักษณะการเตะขาขึ้นช้าๆไม่เหวี่ยงขาขึ้นนะครับ มิเช่นนั้นอาจทำให้เสียการทรงตัวแล้วล้มได้ และที่สำคัญคือมันเป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดอื่นช่วยทำงานครับ ซึ่งท่านี้อาจจะยากกว่า 2 ท่าแรกพอสมควร หากใครมรอาการปวดเข่าอยู่หรือเป็นโรคเข่าเสื่อมควรเลี่ยงท่านี้นะครับ เพราะมันอาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดเข่าเพิ่มขึ้นได้ อ้อ! เกือบลืมบอกไป หากใครที่เคยเป็นข้อเท้าแพลงอยู่บ่อยๆ การฝึกท่านี้จะช่วยให้ข้อเท้าเราแข็งแรงมากขึ้น ลดความเสี่ยงการเกิดข้อเท้าพลิกวํ้าได้ด้วยนะ

วิธีการคือ ให้เราย่อเข่าของขาข้างที่ต้องการฝึก แล้วเตะขาอีกข้างขึ้นไปตรงๆอย่างช้าๆ และไม่ก้มหลังนะครับ จำนวน 10 ครั้ง 3 set 

- ใส่รองเท้าที่เหมาะกับเท้าของเรา : นักวิ่งบางรายมีปัญหาโครงสร้างของขาที่หุบเข้าด้านในมากกว่าปกติ (genu valgus) ผลก็คือ ทำให้เกิดแรงเครียดไปยังเส้นเอ็น iliotibial band มากกว่าปกติ แทนที่แรงเครียดจากการลงนํ้าหนักจะกระจายไปที่กล้ามเนื้อต้นขาเท่าๆกัน ตัวเส้นเอ็นจึงเกิดการอักเสบขึ้น ซึ่งเราคงไปดัดขาแก้ตัวโครงสร้างอะไรได้ไม่มาก เค้าจึงปรับเปลี่ยนการใช้รองเท้าที่เหมาะกับโครงสร้างเท้าของตัวเองโดยเฉพาะ แต่การตัดรองเท้าประเภทนี้มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากครับ เพราะต้องวัดลักษณะการเดิน ลักษณะการลงนํ้าหนักของเท้า โครางสร้างของเท้าเราเอง ด้วย podoscope หรือเครื่องคอมพิวเตอร์เฉพาะทางครับ ส่วนมากจะใช้กับนักกีฬามากกว่านะ


IT band ที่ใช้รัดจุดที่ปวดจากโรค iliotibial band syndrome

- ใช้ IT band support รัดตรงจุดที่ปวด : เจ้า IT band support จะช่วยรับแรงเครียดแทนกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น ณ จุดที่เรารัดอยู่ครับ ช่วยให้กลุ่มเนื้อหรือเส้นเอ็นไม่ต้องรับแรงเครียดมาก พูดง่ายๆคือเป็นตัวช่วยกระจายแรงนั่นแหละครับ แต่ข้อเสียของเจ้าอุปกรณ์ support ทั้งหลายก็คือ หากเราใส่ติดต่อกันนานๆใส่แทบทุกวันโดยไม่มีเหตุจำเป็นจะทำให้กล้ามเนื้อ ณ จุดที่รัดอยู่ฝ่อลีบได้

- ปรับเปลี่ยนโปรแกรมการวิ่ง : หากมีอาการปวดเข่าด้านนอกมารบกวนอยู่เสมอ บางทีการออกกำลังกายโดยการวิ่งก็อาจจะไม่เวิร์ค ให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการวิ่งจากวิ่งอย่างเดียว เป็นวิ่งสลับเดิน วิ่งบ้างปั่นจักรยานบ้าง หรือลองไปว่ายนํ้าดูก็ถือว่าเป็นผลดีไม่แพ้กันครับ

อีก 1 โรคที่สร้างปัญหาให้กับนักวิ่งไม่แพ้กัน (กล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ โรคยอดฮิตในหมู่นักวิ่ง)

อธิบายสาเหตุอาการปวดเข่าด้านนอก


4 วิธีลดปวดเข่าด้านนอก

เครดิตภาพ
- https://www.facebook.com/LearnandRun
- http://jonaschiropractic.com/blog/is-knee-injury-inevitable/
- https://www.pinterest.com/explore/iliotibial-band-syndrome/
- http://sectionhiker.com/iliotibial-band-syndrome-a-hikers-guide/
- http://deansomerset.com/some-big-reasons-why-your-it-band-hurts/
- http://www.doobody.com/
- http://www.slideshare.net/drsarthy/coxa-vara-genu-varum-valgum-under-gradts
- http://www.pt.ntu.edu.tw/hmchai/SurfaceAnatomy/SFAlower/KneeThigh.htm

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ตีบ แตก ตัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคที่ใครๆก็เป็นได้


โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) 

เชื่อเหลือเกินว่าแทบไม่มีใครไม่รู้จักกับโรคหลอดเลือดสมอง ที่คุ้นหูคุ้นตามากที่สุดก็คงไม่พ้นโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน แต่จริงๆแล้วยังมีหลอดเลือดสมองตีบ และหลอดเลือดสมองแตกด้วย (แต่พบน้อยกว่า) เมื่อเป็นโรคนี้แล้วทุกๆคนคงคิดว่าจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เดินไม่ได้อีกตลอดชีวิตแน่ๆ แต่จริงๆแล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองสามารถรักษาให้หายได้ใกล้เคียงปกติ สามารถกลับมาเดิน วิ่ง ช่วยเหลือตัวเองได้เลยนะครับ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ตำแหน่งของสมองที่เส้นเลือดถูกกดทับ ความรวดเร็วในการนำส่งโรงพยาบาล ความรวดเร็วในการทำกายภาพหลังจากอาการเริ่มดีขึ้น และกำลังใจของตัวผู้ป่วยเองครับ หากปัจจัยดังกล่าวดีหมด การฟื้นตัวของผู้ป่วยก็ทำได้รวดเร็วมากขึ้นเช่นกันครับ ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคหลอดเลือดสมองหรือที่เรียกกันว่า stroke กันดีกว่า


ภาพซ้ายหลอดเลือดสมองแตก ภาพขวาหลอดเลือดสมองตัน

โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

1) หลอดเลือดสมองตีบหรือตัน (ischemic stroke) :

กลุ่มนี้พบได้บ่อยมาก แต่อันตรายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับโรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งเกิดจากการสะสมตัวของลิ่มเลือดภายในหลอดเลือดสมองเอง หรือเกิดจากลิ่มเลือดจากส่วนอื่นของร่างกายเข้ามาอุดตันที่หลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ก็ยังเกิดจากไขมันไปสะสมที่ผนังหลอดเลือดจนหลอดเลือดตีบแคบและอุดตันในที่สุด ในกรณีที่หลอดเลือดสมองตีบแคบ ผู้ป่วยจะมีอาการแบบเป็นๆหายๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการแขนอ่อนแรง ขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว หยิบจับสิงของได้ไม่ถนัด ซึ่งหากเป็นระยะนี้แล้วรีบนำสง่โรงพยาบาลโอกาสที่จะหายมีสูงมาก แต่หากปล่อยไว้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการหรือคิดว่าเดี๋ยวมันก็หายเองละก็ จากที่หลอดเลือดตีบจะกลายเป็นหลอดเลือดตันทันทีครับ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงที่รุนแรงมากขึ้น อาจถึงขึ้นยืนทรงตัวไม่ได้ และล้มในที่สุด การฟื้นฟูรักษาก็จะใช้เวลามากขึ้นไปอีกครับ

2) หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) :

กลุ่มนี้พบน้อย แต่อันตรายมากๆ เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ไม่มีอาการแสดงล่วงหน้า เนื้อสมองเสียหายมากกว่า หากรักษาไม่ทันจะทำให้เกิดเลือดคั่งในสมองและมีโอกาสถึงขั้นเสียชีวิตสูงมาก ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดเปราะบางจากโรคความดันโลหิตสูง หรือเกิดจากลิ่มเลือดไปอุดตันทำให้หลอดเลือดโป่งพองจนปริแตก


ภาพ CT scan ของผู้ที่เป็น stroke โดยจุดดำใหญ่ด้านซ้าย นั่นคือเลือดออกในสมอง

อาการ ของโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)

- ปากเบี้ยว 
- พูดไม่ชัด
- แขน ขา อ่อนแรงครึ่งซีก
- เดินเซ ทรงตัวได้ไม่ดี
- ชาที่ใบหน้าครึ่งซีก หรือที่ร่างกายครึ่งซีก
- มีอาการปวดศีาษะรุนแรง (มักจะเกิดกับโรคหลอกเลือดสมองแตก)
- อาเจียนพุ่ง (เกิดกับโรคหลอดเลือดสมองแตก)
- หยิบจับสิ่งของไม่ถนัด ของหลุดมือบ่อย
ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นแบบชั่วคราว หรือเกิดขึ้นอย่างถาวรก็ได้ หากเกิดขึ้นแบบชั่วคราวผู้ป่วยจะมีอาการดังกล่าวแต่ไม่นานนักก็หายไปได้เอง แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาการจะเกิดขึ้นถี่และเกิดอาการขึ้นอย่างถาวรในที่สุดครับ ฉะนั้น หากรู้ตัวว่ามีอาการเกิดขึ้นแล้วควรรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยทันที ไม่ควรไปซื้อยามาทานเองนะครับ เพราะโรคหลอดเลือดสมองอันตรายมาก และใช้เวลาการฟื้นฟูนานอย่างเร็วสุดก็ 3 เดือนแน่ะ 

ปัจจัยเสี่ยง ของโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)

ความเสี่ยงของผู้ที่จะเป็นโรคนี้มีเยอะมากครับ และพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่คนหนุ่มสาวก็อย่าได้ประมาทนะครับ เพราะผมเคยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอายุ 30 ต้นๆมาแล้วก็มี ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะวิถีชีวิตแบบผิดๆ ไม่ว่าจะเป็นชอบทานของมัน นอนดึก มีความเครียดสูง ปัจจัยเหล่านี้ก็มีส่วนทำให้เราเป็นโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่หนุ่มสาวเลยทีเดียว ทีนี้เรามารู้จักกับปัจจัยทั่วไปที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองกันครับ

- อายุมากขึ้น : หากผู้ป่วยอายุมากจะทำให้หลอดเลือดบอบบางลง ปริแตกได้ง่ายขึ้นจากการใช้งานมานาน รวมทั้งมีหินปูนหรือลิ่มเลือดมาเกาะด้วยครับ
- ความดันโลหิตสูง : ผู้ป่วยแทบทุกคนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง มักมีโรคประจำตัวนี้กันแทบจะทุกคนเลยครับ จัดว่าเป็นโรคที่มาคู่กันเลย หากผู้ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงก็เหมือนก้าวเท้าเข้าไปทักทายโรคหลอดเลือดสมองแล้วหนึ่งข้าง
- เป็นเบาหวาน : โรคเบาหวานจะทำให้หลอดเลือดแข็งตัวได้ง่าย ความยืดหยุ่นลดลง ผลก็คือ ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่ายมากขึ้น
- ทำงานที่ต้องนั่งนาน หรือไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย : เพราะการนั่งอยู่กับที่นานๆไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงาน หรือต้องโดยสารไปที่ไกลๆใช้เวลานานๆอย่างนั่งเครื่องบิน จะทำให้เลือดไปคั่งอยู่ที่ปลายเท้าของเราได้ เป็นเหตุให้เกิดลิ่มเลือดขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของโรค deep vein thrombosis หากลิ่มเลือดที่อยู่ปลายเท้าของเราเกิดหลุดออกไปตามกระแสเลือดเข้าสู่สมองจนเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันได้เช่นกันนะครับ แม้จะพบได้ไม่มาก แต่ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่เราไม่ควรมองข้ามเช่นกัน
รายละเอียดโรค deep vein thrombosis (นั่งเครื่องบิน เท้าบวม แล้วก็พิการ กับโรคที่ไม่มีใครรู้จัก)
- ไขมันในเลือดสูง : ก่อนอื่นต้องแยกกันก่อนนะครับระหว่างไขมันใต้ผิวหนังมาก (อ้วน) กับไขมันในเลือดสูงสูง ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กันเสมอไป เพราะผู้ป่วยบางรายตัวผอมแห๊งแห้ง แต่พอไปตรวจเลือดปรากฎมีไขมันในเลือดสูงเกินเกณฑ์ซะงั้น ซุึ่งการที่มีไขมันในเลือดสูงจะทำให้ไขมันไปเกาะตามผนังหลอดเลือดจนกีดขวางการลำเลียงเลือดได้
- การสูบบุหรี่ : การสูบบุหรี่จะทำให้ผนังหลอดเลือดแข็งตัวได้ง่ายกว่าปกติ ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดน้อยลง จึงมีความเสี่ยงทำให้หลอดเลือดปริแตกได้


F A S T สโลแกน 4 ตัวนี้จำให้ขึ้นใจเลยนะครับ

การรักษา ของโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)

หากผู้ป่วยมีอาการดังที่ผมได้กล่าวมาไม่ว่าจะเป็นมากหรือน้อยก็ตาม ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลให้ทันภายใน 3 ชั่วโมง เพราะผลการรักษาและการให้ยาจะมีประสิทธิภาพก็อยู่ในช่วงนี้ หากนานกว่านี้ผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง ตอบสนองต่อการรักษาน้อยลง หรืออาจถึงขึ้นเสียชีวิต ซึ่งกระบวนการนำผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่งโรงพยาบาลเค้าเรียกกันว่า stroke fast track นั่นเองครับ

การรักษาจะแบ่งเป็น 2 ประเภท

- รักษาหลอดเลือดสมองอุดตัน : การรักษาจะเป็นการให้ยาละลายลิ่มเลือดเป็นหลักครับ แต่อาจจะให้ยาอื่นๆร่วมด้วยก็ได้ครับ จากนั้นก็ดูอาการผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยมักคิดว่าเป็นโรคนี้แล้วจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเปิดกะโหลก จริงๆแล้วแค่ให้ยาก็เพียงพอแล้วครับ แต่หากไปพบแพทย์แล้วไม่ให้ยา ไม่รักษา ไม่ทำไรทั้งสิ้น นอนดูอาการอย่างเดียวละก็รีบย้ายโรงพยาบาลเลยครับ เพราะมันเคยมีกรณีที่แพทย์ให้นอนดูอาการอย่างเดียวจนคนไข้ทรุดก็มี ฉะนั้น เราควรรู้เท่า ถึงการณ์ไว้ก่อนเป็นดีที่สุดครับ

- รักษาหลอดเลือดสมองแตก : กรณีนี้อาจมีการผ่าตัดร่วมด้วยนะครับ หากผู้ป่วยมีปริมาณเลือดออกในสมองมาก โดยเป้าหมายหลักของการรักษาในกลุ่มโรคนี้คือ การควบคุมปริมาณเลือดที่ไหลออกมานั่นเองครับผม

การฟื้นฟู ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

การฟื้นฟูจะเป็นหน้าที่หลักของนักกายภาพแล้วครับคราวนี้ เป้าหมายมีอยู่อย่างเดียวเลยครับ คือ ให้ผู้ป่วยหลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติให้ได้มากที่สุด แต่รูปแบบการรักษาจะแตกต่างกันออกไปบ้างตามอาการของผู้ป่วย หากผู้ป่วยอาการหนักมาก คือ อ่อนแรงสุดๆ เกรดกำลังกล้ามเนื้อเป็น 0 เลย นักกายภาพจะเน้นการขยับข้อต่อเพื่อป้องกันข้อติด และคอยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อทำงาน หากไปโรงบาลแล้วเห็นนักกายภาพยกแขนยกขาผู้ป่วยฮึ่บฮั่บ ฮึ่บฮับนั่นแหละครับ คือ การฟื้นฟูในระยะเริ่มต้น แล้วจากประสบการณ์การฟื้นฟูผู้ป่วยของผมเองมักเห็นญาติผู้ป่วยถ่ายรูปตอนผมฟื้นฟูผู้ป่วยอยู่ พอถ่ายได้ครบทุกท่าแล้วก็ยกเลิกการทำกายภาพไปเลย เพราะเข้าใจว่าแค่ยกแขนยกขาไปเรื่อยๆเดี๋ยวผู้ป่วยก็หายเอง ฮาๆๆ จริงๆมันมีอะไรมากกว่านั้นเยอะมากกกกกกกกก

หากผู้ป่วยมีกำลังกล้ามเนื้อมากขึ้นมาหน่อย นักกายภาพก็จะฝึกการทรงตัวในท่านั่ง ท่ายืน ฝึกเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรง ฝึกควบคุมการเหยียดงอ-เข่า ฝึกการก้าวขา ฝึกการกระดกข้อเท้า ฝึกการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไปหากล้ามเนื้อมัดเล็กของแขน ฝึกการเดินขึ้นบันได แล้วก็ฝึกอะไรอีกหลายอย่างจิปาถะอีกเพียบเลยครับ หากคิดว่าแค่ยกแขนยกขาแล้วจะหายละก็เป็นความคิดที่ผิดมหันต์เลยทีเดียวนะ

ส่วนระยะเวลาในการฟื้นฟูก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วย และระดับความรุนแรงของโรคที่เป็นด้วยนะครับ เพราะหากได้หมอดีแต่ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาก็ไร้ประโยชน์ครับ เพราะการทำกายภาพมันคือการให้ผู้ป่วยออกแรงเคลื่อนไหวร่างกายเองโดยมีนักกายภาพคอยช่วยไกด์ ไม่ใช่นักกายภาพมาทำให้แล้วผู้ป่วยจะหายเอง หากใครมีญาติเป็นโรคนี้อยู่ต้องหมั่นคอยให้กำลังใจผู้ป่วยอยู่เสมอนะครับ ผมว่ากำลังใจสำคัญมากกว่าความสามารถของหมอซะอีกนะ^^

เครดิตภาพ
- http://www.bbc.com/news/health-32690040
- http://www.kalasin3.go.th/view.php?article_id=27679
- http://brainpictures.org/p/130/stroke-brain/picture-130
- www.doobody.com
- http://fescenter.org/clinical-programs/current-clinical-trials/stroke-programs/


3 ท่านอน เพื่อลดอาการปวดหลัง


ใครที่มีอาการปวดหลังนี่จะรู้เลยว่า ไม่ว่าจะนั่ง จะเดิน หรือแม้แต่จะนอนก็ยังคงปวดหลังอยู่ตลอดไม่ว่างเว้น โดยเฉพาะเวลานอนถือว่าเป็นเวลาพักผ่อนแทนที่จะได้หลับสบายก็ต้องมานอนทุกข์ทรมานกับอาการปวดหลัง หลับๆตื่นๆอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น ในบทความนี้ผมจะมาบอกท่านอนที่ช่วยลดอาการปวดหลังกัน โดยเฉพาะคนที่เป็นหมอนรองกระดูกสันหลังทับวเส้นประสาท ท่านอนสำหรับคนเป็นโรคนี้สำคัญมากครับ

สำหรับท่านอนของคนเราโดยปกติจะมีอยู่ 3 ท่าด้วยกันนะครับ คือ ท่านอนหงาย นอนควํ่า และนอนตะแคง แล้วทราบหรือไม่ว่านอนท่าไหนช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้มากที่สุด ลองเดากันดูนะครับ ติ๊กต๊อก ติ๊กต๊อก โอเค เฉลยครับ ท่านอนที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังนั่นคือ "ท่านอนตะแคงไปข้างขวา" ครับ เพราะท่านี้กระดูกสันหลังไม่ต้องถูกนํ้าหนักตัวกดทับ และกระดูกสันหลังอยู่ในแนวปกติไม่ต้องคดงอไปตามระดับของเตียง ส่วนเหตุที่ตะแคงไปข้างขวาเพราะว่าหัวใจของเราอยู่ข้างซ้าย หากนอนตะแคงซ้ายนํ้าหนักตัวของเราจะกดทับทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น


ภาพแสดงกระดูกสันหลังขณะนอนตะแคง ระหว่างมีหมอนรองกับไม่มีหมอนรอง

แต่หากใครไม่สะดวก ไม่ชอบนอนตะแคง หรือไม่ชิน ชอบนอนหงายมากกว่าก็ไม่เป็นไรครับ ผมมีเทคนิคเล็กๆน้อยๆสำหรับการนอนหงายที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันอาการปวดหลังด้วยเช่นเดียวกัน

ท่านอนหงาย

วิธีการนอนหงายที่ถูกต้องคือ ให้เรานอนศีรษะหนุนหมอนใบใหญ่พอที่จะวางถึงหัวไหล่เราได้ด้วย จากนั้นให้หาหมอนใบใหญ่หรือหมอนข้างมารองไว้ที่ใต้เข่า ให้เข่างอเล็กน้อยขณะนอนหงาย เพื่อไม่ให้กระดูกสันหลังส่วนเอวแอ่นมากเกินไป (hyperlordosis) จนเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหลังหดเกร็งค้างในขณะนอนแล้วทำให้เรารู้สึกหลังตึงๆเมื่อตื่น นอกจากนี้หากกล้ามเนื้อหลังหดเกร็งค้างเป็นเวลานานยังเป็นเหตุให้เกิดอาการปวดหลังในอนาคตได้เช่นกันนะครับ


หากจะนอนยกขาสูงมากๆ ควรเอาหมอนออก เพื่อลดการกดทับที่กระดูกคอ

ท่านอนควํ่า

ส่วนท่านอนควํ่าก็ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เลยนะครับ ท่านอนควํ่าเหมาะกับผู้ป่วยที่ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในระยะที่ปวดรุนแรงครับ แต่จู่ๆจะให้นอนควํ่าเลยก็ไมใช่นะครับ วิธีการคือให้หาหมอนใบใหญ่สัก 2 ใบมาเรียงซ้อนกัน จากนั้นให้เรานอนทับหมอนทั้ง 2 ใบครับ โดยให้วางตำแหน่งหมอนอยู่ที่ท้องน้อยของเราในขณะที่เรานอนทับลงไป เพื่อให้กระดูกสันหลังส่วนเอวโค้งงอ ลดการกดเบียดของเส้นประสาท โดยนอนควํ่าไว้จนกว่าอาการปวดหลังจะทุเลาลง เหตุที่เรานอนควํ่าแล้วอาการปวดทุเลาลง เนื่องจากเจลภายในหมอนรองกระดูกสันหลังที่ปลิ้นออกมาทับเส้นประสาทค่อยๆถูกดันกลับเข้าไปภายในหมอนรอง โดยแรงดึงดูดของโลกนั่นเองครับ


ภาพแสดง ลำดับการนอนควํ่าสำหรับผู้ที่เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น จากปวดมาก-ปวดน้อย

หากเรารู้สึกว่าอาการปวดทุเลาลงแล้วก็ให้ดึงหมอนออก 1 ใบแล้วนอนทับหมอนที่เหลืออีก 1 ใบไว้จนกว่าอาการปวดจะทุเลาลง หากอาการปวดหายไปแล้วก็เอาหมอนใยสุดท้ายออกแล้วลองนอนควํ่าราบลงไปกับพื้นเลยครับ แต่หากนอนราบกับพื้นแล้วยังมีอาการปวดอยู่ก็ให้นอนควํ่าทับหมอน 1 ใบดังเดิมครับผม ซึ่งการนอนควํ่านี้สามารถช่วยลดอาการปวดหลังได้ก็จริง แต่ผลของมันก็ไม่อยู่ถาวรนะครับ ควรออกกำลังกายบริหารหลังร่วมด้วยจึงจะหายจากอาการปวดนี้อย่างถาวรนะครับ

รายละเอียดเทคนิคบริหารหลังให้แข็งแรง (5 เทคนิคดูแลสุขภาพหลัง ไม่ให้ปวดตลอดชีวิต)

คลิป วิธีลดปวดหลัง (9 วิธีลดปวดหลังด้วยตนเอง จากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น)

เครดิตภาพ
- http://xn--bnhthoihactsng-0gb40ax947bsfatf.com/thoai-hoa-dot-song-lung/chua-thoai-hoa-cot-song-lung/
- http://sleepsolutionsus.com/back-pain-sleeping/


วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559

รวมสาระพัด โรคเกี่ยวกับปวดหลังทั้งหมด พร้อมวิธีสังเกตุอาการ


เมื่อเราปวดหลัง คนทั่วไปมักนึกถึงโรคที่เกี่ยวกับหลังอยู่ 2 โรคด้วยกัน คือ หมอนรองกระดูกทับเส้นกับกล้ามเนื้อหลังอักเสบ แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆแล้วโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหลังมีมากกว่านั้น...เยอะมากกกกกกกก กอไก่ร้อยตัวเลยทีเดียว ถ้าให้อธิบายทั้งหมดมันดูเป็นวิชาการจนเกินไป เดี๋ยวเพื่อนๆจะหลับกันซะก่อน ฉะนั้น ผมจึงยกตัวอย่างเพียง 7 โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหลัง ที่พบได้บ่อยพบได้มากและมีให้เห็นกันแทบทุกวันในโรงพยาบาล แต่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้มาฝากกัน โดยเริ่มจากโรคที่เรารู้จักกันดี คือ...

1) โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (herniated disc pulposus : HNP)

ผมจะอธิบายแบบสรุปเลยนะครับ โรคนี้เกิดจากเจลในหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นออกมาไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal cord) หรือรากประสาท (spinal nerve root) ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งพบได้บ่อยมาก ทีนี้ผมจะแนะวิธีการสังเกตุอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทกัน 

ภาพแสดงหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทับเส้นประสาท

อาการ ของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

- ปวดหลังรุนแรง ปวดมากจนแทบกระดิกตัวไม่ได้ (ในกรณีที่ทับโดนเส้นประสาทไขสันหลัง)
- ปวดเมื่อไอ จาม เบ่งถ่ายขณะเข้าห้องนํ้า (อันนี้คือหัวใจสำคัญของโรคนี้เลยครับ)
- ไม่สามารถแอ่นหลังได้ ต้องก้มหลังตลอดเวลา ถ้าแอ่นหลังจะปวดมากขึ้น
- ขาชา
- ปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างเลย
- บางรายไม่มีอาการปวดหลังเลย แต่จะรู้สึกขาชาอย่างเดียว พอเบ่งถ่ายก็รู้สึกขาชามากขึ้น
- บางรายก็ไม่มีอาการชาขา หรือปวดหลังเลย แต่จะปวดขาอย่างเดียว จะบีบจะนวดขายังไงก็ไม่รู้สึกดีขึ้น รู้สึกปวดขาแบบหน่วงๆ เหมือนขาหนักๆครับ
- หากเป็นมานานขาจะอ่อนแรง ล้มพับง่าย ยืนไม่มั่นคง
- กล้ามเนื้อขาฝ่อลีบ ของมัดที่เส้นประสาทถูกกดทับ
- ในกรณีที่ถูกทับมากๆ แค่พูด ผู้ป่วยก็รู้สึกปวดหลังจนนํ้าตาไหลแล้ว
- ปวดมากเมื่อกดลงไปที่กระดูกสันหลังตรงๆ
รายละเอียดของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทฉับบเต็ม (หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตที่ใครๆก็รู้จัก)

2) โรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน (acute lower back pain)

โรคนี้แทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังเลยครับ เกิดจากตัวกล้ามเนื้อหลังของเราล้วนๆ แล้วที่น่าสนใจคือ โรคนี้จะมีอาการคล้ายกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมาก เพียงแต่ไม่มีอาการชาเท่านั้น ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหลังของเราถูกใช้งานมากเกินไป จากการก้มๆเงยๆ การยกของหนัก อุบัติเหตุโดนกระแทบที่หลังโดยตรง การเล่นกีฬาอย่างหนัก จนทำให้กล้ามเนื้อหลังอักเสบอักเสบเฉียบพลันทันที

ภาพแสดงโครงสร้างของกล้ามเนื้อหลังส่วนนอก

อาการ ของโรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน 

- ปวดตึงหลัง
- รู้สึกปวดหลังแบบกว้างๆ ระบุตำแหน่งชัดเจนไม่ได้ (นี่คือจุดที่แตกต่างระหว่างเป็นที่กล้ามเนื้อกับกระดูกสันหลัง ถ้าเป็นที่กระดูกสันหลังจะระบุตำแหนงที่ปวดได้ค่อนข้างชัด แต่ถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อจะรู้สึกปวดกว้างๆ บอกตำแหน่งชัดเจนไม่ได้)
- ผู้ป่วยจะเดินหลังเกร็ง และแอ่นหลังตลอดเวลา
- กล้ามเนื้อหลังหดเกร็งเป็นลำชัดเจน
- จะก้มหรือแอ่นหลังก็ทำไม่ได้ เพราะปวดตึงหลังไปหมด
- บางรายอาจจะปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือสองข้าง (อาการนี้จะสร้างความสับสนว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น)
- กำลังกล้ามเนื้อขายังคงเป็นปกติ

3) โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (spondylosis)

รู้หรือเปล่าว่า โดยปกติแล้วโรคกระดูกสันหลังเสื่อมในระยะแรกจะไม่มีอาการปวดใดๆเลยนะ ผู้ป่วยจะมามีอาการปวดหลังก็ต่อเมื่อข้อต่อ facet joint ที่ทำหน้าที่เชื่อมกระดูกสันหลังชิ้นบนกับชิ้นล่างไว้ด้วยหัน เกิดเสื่อมลงมากจนทรุดตัวแล้วนั่นแหละครับ ถึงจะเริ่มมีอาการปวดหลัง นอกจากนี้ ยังเกิดจากกระดูกงอก (หรือเรียกว่าหินปูนก็ได้) ที่เกิดจากการซ่อมแซมกระดูกสันหลังที่เสื่อมลง เกิดงอกมากเกินไปจนไปกดทับรากประสาทสันหลังเข้า ทำให้มีอาการขาชาได้ไม่ต่างจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเลยทีเดียว

ภาพแสดงตำแหน่งการเสื่อมของข้อต่อ facet joint 

อาการ ของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

- ในระยะแรกไม่มีอาการปวดใดๆเลยครับ แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ไปตรวจ X-ray อาจพบว่ากระดูกสันหลังอยู่ชิดกันมากขึ้น
- มีอาการปวดหลังแบบขัดๆภายในข้อ สามารถระบุตำแหน่งที่ปวดได้ชัดเจน
- ผู้ป่วยจะก้มหลังไม่ค่อยได้ หลังจะแอ่นอยู่ตลอดเวลา (ลองสังเหตุดู หากเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นจะตรงข้ามกันนะ)
- ผู้ป่วยจะก้มหลังได้ไม่สุด จะรู้สึกตึงๆขัดๆที่หลังในขณะที่ก้ม
- รู้สึกขาชาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง (แต่พบน้อยที่ชาทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน) เนื่องจากกระดูกงอกไปกดทับเส้นประสาท
- หากกดลงไปที่กระดูกสันหลังของข้อที่เสื่อม ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดขัดๆภายในข้อนั้น แต่หากกดที่ข้ออื่นจะไม่รู้สึกอะไร
- หากกระดูกสันหลังทรุดมาก อาจจะทำให้กล้ามเนื้อหลังหดเกร็งค้าง จนนำไปสู่อาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบ
โดยสรุปแล้ว อาการของโรคกระดูกสันหลังเสื่อมจะค่อนข้างซับซ้อนขึ้นมาหน่อย เพราะเป็นอาการรวมๆกันของหลายโรคครับ 
รายละเอียดของโรคกระดูกสันหลังเสื่อมฉบับจัดหนัก (กระดูกสันหลังเสื่อม ภัยเงียบที่ไร้อาการปวด)

4) โรคปวดสะโพกร้าวลงขา (sacroiliac joint dysfunction symptoms)

โรคนี้เอาจริงๆแล้วคนเป็นเยอะไม่แพ้โรคกระดูกสันหลังเสื่อมเลยนะ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักกัน เพราะอาการมันคล้ายกับกระดูกสันหลังเสื่อมมากๆ ต่างกันแค่ตำแหน่งที่ปวดเฉยๆ ซึ่งก็คือที่ตำแหน่งรอยต่อระหว่างกระดูกเชิงกราน (pelvic) กับกระดูกสันหลังส่วนปลาย (pelvic) นั่นเองครับ (หากงงก็รูปภาพประกอบได้) 


ภาพแสดงตำแหน่งข้อต่อ sacroiliac joint จุดที่ทำให้เราปวด

อาการ ของโรคปวดสะโพกร้าวลงขา

- ปวดบริเวณขอบกระดูกเชิงกราน ใกล้กับแนวกระดูกสันหลัง (ตรงจุดนี้แหละที่ทำให้เข้าใจผิดบ่อยๆว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อม)
- ปวดเมื่อบริเวณหลังเมื่อนั่งนาน
- จะมีอาการปวดเสียวที่หลัง เมื่อเปลี่ยนจากท่านั่งไปยืน โดยเฉพาะหลังจากขับรถมานาน
- จะสังเกตุเห็นเอวทั้ง 2 ข้างอยู่สูงตํ่าไม่เท่ากัน
- ปวดบริเวณหลังส่วนล่างร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง
- ปวดมากเมื่อนั่งนาน 
- ผู้ป่วยไม่สามารถนั่งนานๆได้ หากนั่งนานก็จะนั่งเอี้ยวตัวลงนํ้าหนักที่ก้นข้างใดข้างหนึ่งแทน
- รู้สึกขาอ่อนแรง บางครั้งเดินๆอยู่ก็รู้สึกเข่าพับไปดื้อๆ
- รู้สึกปวดแบบแหลมๆที่กระเบ็นเหน็บ เมื่อนั่ง
- ไม่มีอาการชาใดๆ
- ปวดตามแนวขอบกางเกงใน
- X-ray จะไม่เห็นความผิดปกติมากนัก ไม่เหมือนโรคกระดูกสันหลังเสื่อม
- หากกดลงไปที่กระดูกสันหลังตรงๆ ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกปวดอะไร แต่หากกดที่รอยต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานจะปวดร้าวลงขา บางรายอาจจะปวดร้าวลงหน้าแข้งเลยก็มีครับ
รายละเอียดแบบจัดเต็มของโรคปวดสะโพกร้าวลงขา (ปวดสะโพกร้าวลงขา ทั้งที่ X-ray แล้วกระดูกสันหลังก็ปกตินี่)

5) โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (piriformis syndrome)

โรคนี้พบได้เยอะมากกกกก แล้วเป็นโรคที่โดนเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เพราะว่ามันมีอาการชาร้าวลงขาเหมือนกันเลย ต่างกันแค่ตำแหน่งที่เส้นประสาทถูกหนีบเท่านั้นเองครับ โรคนี้เกิดจากกล้ามเนื้อ piriformis ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดลึกอยู่ภายในก้นของเรา เกิดตึงตัวมากๆจากการนั่งนานไปหนีบเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขาชื่อว่า sciatic nerve ผลก็คือ ผู้ป่วยจะมีอาการขาชา ขาอ่อนแรง กล้ามเนื้อขาฝ่อลีบ แต่เมื่อไอจามแล้วไม่มีอาการปวดเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ภาพแสดงตำแหน่งกล้ามเนื้อ piriformis และเส้นประสาท sciatic ที่ถูกทับ

อาการ ของโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

- รู้สึกปวดลึกๆที่แก้มก้น หรือก้นย้อย คลำหาจุดกดเจ็บไม่ค่อยเจอ เพราะกล้ามเนื้ออยู่ลึกมาก
- รู้สึกขาชา แต่จะรู้สึกชาตั้งแต่ก้นลงมา
- จะรู้สึกปวดก้นมากขึ้น หรือขาชามากขึ้นหากนั่งนาน
- ไม่มีอาการปวดหลังใด
- มีจุดกดเจ็บที่ก้น เมื่อนักกายภาพใช้นิ้วกดลงไปทีแก้มก้นจะรู้สึกปวดมากที่ก้นและบางรายปวดร้าวลงถึงปลายเท้า
- ไอ จาม หรือเบ่งถ่ายไม่ทำให้เกิดอาการปวดเพิ่มมากขึ้น
- รู้สึกขาอ่อนแรง เมื่อเดินลงนํ้าหนักจะรู้สึกว่า ขาเหยีบพื้นได้ไม่เต็มที่
- รู้สึกขาหนักๆ ยกขาข้างที่เป็นไม่ค่อยขึ้น
รายละเอียดของโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทตามลิงค์นี้เลยครับ (ชาร้าวลงขา อย่าพึ่งคิดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น ยังมีอีกโรคที่น้อยคนจะรู้จัก)

6) โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (spondylolisthesis)

โรคนี้อาจจะสังเกตุอาการยากนิดนึงครับสำหรับคนทั่วไป ส่วนใหญ่จะใช้การตรวจ X-ray จึงเห็นชัดครับ ซึ่งโรคนี้เกิดจากตัวเชื่อมระหว่างปล้องกระดูกสันหลังกับส่วนหางของกระดูกสันหลัง (pars interarticularis) มันหัก ทำให้ตัวปล้องกระดูกสันหลังเคลื่อนไปด้านหน้ามากกว่าปกติ อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่กระดูกสันหลังโดยตรง จากที่เคยตั้งครรถ์ หรืออ้วนลงพุงมากก่อนก็ได้ครับ

ลักษณะการยื่นของปล้องกระดูกสันหลัง

อาการ ของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน

- ระยะแรกไม่มีอาการแสดงใดๆเลยครับ 
- หากเคลื่อนมากขึ้น จะรู้สึกปวดหลัง ปวดหลังร้าวลงขา 
- หากเคลื่อนไปทับเส้นประสาท จะมีอาการขาชา ขาอ่อนแรง
- ผู้ป่วยจะยืนเดินนานไม่ค่อยได้ 
ซึ่งโรคนี้จะไม่มีอาการเด่นชัดมากเหมือนโรคอื่นๆครับ
รายละเอียดของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนตามลิงค์นี้เลย (กระดูกสันหลังเคลื่อน ภัยเงียบที่มากกว่าแค่ปวดหลัง)

7) โรคกระเพาะ (gastritis)

คงคาดไม่ถึงกันใช่ม้าาาาว่า โรคกระเพาะก็ทำให้ปวดหลังได้ด้วย จริงๆแล้วมันเกิดจากอาการปวดร้าวไปยังด้าหลังมากกว่าครบ สังเกตุง่ายๆเลยคือ หากเริ่มมีอาการปวดกระเพาะ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดหลังด้านซ้ายแบบตุ่ยๆ ก่อนที่จะมีอาการปวดท้องตามมานั่นเองครับ

ทีนี้ก็จบลงไปแล้วสำหรับโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหลังที่เราพบได้บ่อยมากๆ หวังว่าบทความนี้จะเป็นคู่มือการสังเกตุโรคของตัวเองได้ไม่มากก็น้อยนะครับ^^

เครดิตภาพ
- http://www.physica.com.au/piriformis-syndrome/
- http://advancedpainmedical.com/our-services/spondylolisthesis/
- http://www.sheffieldbackpain.com/
- http://www.behandelcentrumneurologie.nl/meer_over_hernia_(HNP).html
- http://www.jmaxfitness.com/blog/muscle-specific-hypertrophy-guide-targeted-muscle-building/
- http://www.spines.com/conditions/spondylosis
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sacroiliac_joint_dysfunction
- www.doobody.com

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

โรค text neck syndrome โรคเก่าที่นิยามใหม่


โรคใหม่ๆที่มาคู่กับวิทยาการใหม่ๆ และพฤติกรรมผู้คนที่เปลี่ยนไป หนึ่งในนั้นก็คือ โรค text neck syndrome โรคที่มาคู่กับพฤติกรรมการก้มหน้าเล่นมือถือติดต่อกันเป็นเวลานานจนทำให้กล้ามเนื้อคอและกระดูกสันหลังที่คอต้องรับนํ้าหนักมากขึ้นจนเกิดอาการปวดนั่นเองครับ

ถ้าดูลักษณะอาการของโรค text neck syndrome มันก็คล้ายๆกับโรค office syndrome นั่นแหละครับ เพียงแต่โรค text neck syndrome เค้านิยามให้เจาะจงขึ้นอีกหน่อยว่า เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของคนที่ชอบเล่นมือจนปวดคอ ไหล่ห่อ หลังค่อม ซึ่งเกิดได้แม้แต่เด็กวัยรุ่นเลยนะครับ 
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรค office syndrome (ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง โรคสุดฮิตวัยทำงาน)

การก้มหน้าเล่นมือถือทำให้ปวดคอได้ยังไงกัน?

เหตุที่เราปวดคอจากการก้มหน้านานๆเนื่องจากว่า ในขณะที่เราตั้งคอตรงกระดูกสันหลังจะรับนํ้าหนักศีรษะเพียง 4-5 กิโลกรัมเท่านั้น แต่เมื่อก้มหน้าลงประมาณ 45 องศา กระดูกสันหลังที่คอต้องรับนํ้าหนักเพิ่มมากขึ้นถึง 20 กิโลกรัม เกิดแรงเครียดแรงเค้นต่างๆที่ข้อต่อกระดูกสันหลังระดับคอ ข้อต่อที่คอต้องรับภาระมากขึ้นจนทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมตามมาได้เร็วขึ้น ส่วนกล้ามเนื้อรอบๆคอโดยปกติจะทำงานสมดุลกัน แต่เมื่อก้มคอค้างไว้กล้ามเนื้อคอด้านหลังต้องออกแรงเกร็งมากขึ้น ทำให้เกิดอาการล้าและปวดตามมา หากเรายังคงทำพฤติกรรมซํ้าๆเดิมๆอยู่ก็จะเกิดเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังตามมาอีกซํ้าแล้วซํ้าเล่า 


ยิ่งก้มศีรษะมากเท่าไหร่กระดูกคอก็ยิ่งรับนํ้าหนักมากขึ้นเท่านั้น จนหัวหลุด อ่ะอ้าว!!

ถ้าเราก้มคอนานๆเพียงอย่างเดียวก็อาจมีอาการแค่นั้น แต่โรค text neck syndrome เราต้องเล่นมือถือด้วยนิครับ นั่นเท่ากับว่าเราต้องยกโทรศัพท์ขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การห่อไหล่ ทำให้กล้ามเนื้อหน้าอกเกิดการหดเกร็งค้าง หลังค่อมโดยไม่รู้ตัว ผลที่ตามมาแน่ๆเลยก็คือ บุคคลิกภาพเสียกลายเป็นคนติดนิสัยชอบเดินห่อไหล่ นอกจากนี้ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรค TOS ในส่วนของกลุ่มอาการที่มีชื่อว่า hyperabduction syndrome ตามมาอีก 
รายละเอียดของโรค TOS ตามลิงค์นี้เลยครับ (โรค TOS ปวดไหล่ก็ไม่ใช่ ปวดคอก็ไม่เชิง)

เห็นมั้ยครับว่า แค่เป็นโรค text neck syndrome เพียงโรคเดียว แต่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคอื่นๆตามมาถึง 3 โรคด้วยกันเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น 
1) โรคกระดูกคอเสื่อม 
2) กล้ามเนื้อรอบคออักเสบเรื้อรัง (office syndrome) 
3) คือโรค TOS ในส่วนของ hyperabduction syndrome 

ฉะนั้น อย่ามองข้ามนะครับว่า แค่เล่นมือถือแล้วจะเป็นแค่เพียงปวดคอ อาการปวดคอเป็นแค่ออเดิฟ แต่อาการอื่นๆที่จะตามจากนั้นแหละคือของจริงและน่ากลัวกว่าเยอะเลย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคกระดูกคอเสื่อมได้ที่ลิงค์นี้เลยครับ (กระดูกคอเสื่อม เป็นง่ายแต่หายยาก)


สังคมก้มหน้า เป็นบ่อเกิดของโรค text neck syndrome 

อาการของโรค text neck syndrome 

- ปวดตึงคอ ที่ต้นคอทางด้านหลัง
- มีอาการปวดบ่า ไหล่ หลังตรงช่วงทรวงอก
- รู้สึกเวียนหัว ปวดหัว จนคิดว่าเป็นไมเกรน แต่จริงๆแล้วเกิดจากกล้ามเนื้อช่วงคอบ่าตึงมากจนปวดร้าวขึ้นหัว 
ความแตกต่างระหว่างปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังกับโรคไมเกรน (ไมเกรน VS ออฟฟิศซินโดรม กับวิธีเช็คว่าเราเป็นไมเกรนจริงหรือ)
- รู้สึกแขนชา มือชา
- ในกรณีที่อาการรุนแรงมากขึ้นจีมีอาการแขนอ่อนแรง ล้าง่าย
- หลังค่อม

วิธีการรักษาโรค text neck syndrome 

การรักษาจะไร้ประโยชน์สุดๆหากผู้ป่วยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะต้นเหตุมันอยู่ที่พฟติกรรมการใช้มือถือไงครับ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกๆเลยคือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้มือถือ โดยไม่ควรใช้มือถือนานติดต่อกัน 1-2 ชั่วโมง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ควรยกมือถือขึ้นมาให้อยู่ในระดับสายตาจนคอตั้งตรง หรือหาโต๊ะมาวางเท้าแขนขณะใช้โทรศัพท์ นำกระจกมาวางไว้บนโต๊ะเพื่อให้เราสังเกตุบุคลิกภาพตัวเองได้ตลิดว่า เราเผลอนั่งหลังค่อมห่อไหล่หรือไม่ นั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิงเพื่อไม่ให้เผลอนั่งหลังค่อม เพียงแค่ลองปรับพฤติกรรมเหล่านี้แหละครับ อาการปวดต่างๆที่เกิดขึ้นจากโรค text neck syndrome ก็หายไปได้เอง แต่ในกรณีที่เป็นเรื้อรังอาจต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัดร่วมนะครับ 

การทำกายภาพหลักๆแล้วก็จะใช้การยืดกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อต้นคอ การใช้เครื่องมือทางกายภาพ เช่น เครื่องอัลตร้าซาวด์, laser, การกระตุ้นไฟฟ้า และที่คลาสสิกที่สุดคือการใช้ผ้าประคบร้อนที่คอเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว แล้วอาการปวดจะลดลงนั่นเองครับ

ส่วนวิธีการรักษาด้วยตนเองก็ไม่ยุ่งยากอะไรครับ เพียงแค่การยืดกล้ามเนื้อก็ช่วยลดอาการปวดได้แล้ว โดยการให้เรานำมือมาประสานกันไว้ที่ด้านหลังกระโหลกศีรษะ (เหมือนท่ายอมแพ้เข้ามอบตัวแบบในหนังอ่ะครับ) จากนั้น ใช้มือทั้งสองข้างกดหัวลงจนรู้สึกตึงที่ด้านหลังคอค้างไว้ 15-20 วินาที ซึ่งเราจะทำกี่ครั้งก็ได้ครับจนกว่าอาการปวดจะทุเลาลง และจะหายปวดเร็วมากหากเรานำผ้าอุ่นๆมาประคบที่ต้นคอทั้งก่อนและขณะยืดกล้ามเนื้อ จะช่วยให้กล้ามเนื้อที่ตึงคลายตัวเร็วขึ้น 

ส่วนที่กระดูกคอ เราก็ใช้วิธีการดึงคอด้วยตนเองก็ช่วยลดอาการปวดเสียวภายในข้อต่อได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรงจนเป็นกระดูกคอเสื่อมแล้วนั่นแหละครับ 
วิธีการดึงคอด้วยตนเอง ดูได้เพิ่มเติมจากคลิปนี้เลยครับผม (เทคนิคการดึงคอด้วยตนเองง่ายๆ ไม่ง้อเครื่อง traction)

เครดิตภาพ
- http://www.dynamicstrength.com/text-neck-syndrome-is-a-real-threat-to-our-health/
- http://www.indiatimes.com/health/healthyliving/smartphone-addiction-are-you-suffering-from-text-neck-syndrome-237955-4.html
- http://blog.beaumont.edu/undo-text-neck/
- https://www.emaze.com/@AIORWTRZ/Text-Neck-Syndrome
- www.doobody.com

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

(คลิป VDO) ปวดคอก็ไม่ใช่ ปวดไหล่ก็ไม่เชิง กับวิธีตรวจโรค TOS แบบฉบับทำเอง



โรค TOS หรือชื่อเต็มคือ thoracic outlet syndrome คือกลุ่มอาการ "เส้นประสาทและเส้นเลือดถูกหนีบที่ทรวงอก" โดยตำแหน่งที่ถูกหนีบนั้นมี 3 จุดด้วยกัน ดังนี้ครับ 

ตำแหน่งที่ 1 : ที่ตอ เรียกกลุ่มอาการจุดนี้ว่า scalenus anticus syndrome 
ตำแหน่งที่ 2 : ที่ไหปลาร้า เรียกกลุ่มอาการจุดนี้ว่า costoclavicular syndrome
ตำแหน่งที่ 3 : ที่หน้าอกใกล้หัวไหล่ เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า hyperabduction syndrome

ส่วนวิธีการตรวจทั้ง 3 ตำแหน่งให้อธิบายเป็นตัวอักษรอาจจะงงกัน ผมจึงทำคลิปอธิบายซะเลย หวังว่าคลิปนี้จะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆพี่ไม่มากก็น้อยนะครับ 

แล้วหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊กอ่านได้ที่ลิงค์นี้เลยครับ (โรค TOS ปวดคอก็ไม่ใช่ ปวดไหล่ก็ไม่เชิง กับโรคแปลกๆที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก)



หากเพื่อนๆมีข้อสงสัยอะไรเพิ่มเติมสามารถเม้นไว้ที่ใต้บทความนี้ หรือเม้นใน youtube ก็ได้ครับ เดี๋ยวผมจะทยอยตอบให้ครับผม^^