วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ปวดขา (hamstrings) หลังตึง วิ่งไม่ได้ เพราะก้นงอน


ปวดขา (hamstrings) หลังตึง วิ่งไม่ได้ 
เพราะก้นงอน

ขึ้นหัวข้อแบบนี้สาวๆที่ภูมิใจกับการมีบั้นท้ายสวยๆ ก้นงอนๆ หรือก้นใหญ่ๆก็ตามแต่ อาจตกใจว่าการมีก้นงอนๆมันทำให้ปวดหลังแล้ววิ่งออกกำลังกายไม่ได้ยังงั้นหรือ ถ้างั้นแสดงว่าการมีก้นงอนก็ไม่ดีน่ะสิ เพื่อนๆอย่าพึ่งคิดไปไกลกันนะครับ 

คำว่าก้นงอนสำหรับผมในที่นี้ หมายถึงคนที่มีบุคคลิกการนั่งหรือยืนที่หลังดูแอ่น แล้วก้นดูกระดกขึ้นมา ถ้าใช้ศัพท์วิชาการเลยเค้าจะเรียกลักษณะแบบนี้ว่า anterior pelvic tilt หากนึกภาพไม่ออกก็ดูภาพด้านล่างเลยนะ 

รูปที่ 2 คือลักษณะการยืน anterior pelvic tilt หรือก้นงอนที่พูดถึงนั่นเอง

เมื่อมองจากด้านข้าง จะเห็นว่าเชิงกรานหมุนมาด้านหน้าจึงทำให้ดูก้นงอน

ทีนี้เพื่อนๆก็น่าจะเข้าใจกันแล้วนะครับ คำว่าก้นงอนในความหมายของผมหน้าตาเป็นยังไง แม้ผู้หญิงหลายคนก้นจะใหญ่แค่ไหน แต่เมื่อมองไปที่กระดูกเชิงกรานแล้วไม่ได้มีการบิดหมุนตามภาพด้านบน หลังก็ไม่ได้แอ่น ก็ไม่ถือว่าเป็นคนก้นงอนแต่อย่างใดนะ ฉะนั้น ต้องแยกให้ออกก่อนระหว่างก้นงอน กับก้นใหญ่นะครับ

ทีนี้ เรามาเข้าสู่ประเด็นสำคัญกันว่า การที่ก้นงอน (anterior pelvic tilt) มันทำให้เกิดอาการตึงหลัง แล้วปวดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (hamstrings) ได้อย่างไรกัน และที่สำคัญคือ เมื่อเป็นแบบนี้แล้วทำไมถึงทำให้วิ่งได้ไม่ดีด้วย เรามาหาคำตอบกันครับ

ผมจะแยกออกเป็น 2 ประเด็นด้วยกัน เพื่อให้เพื่อนๆเข้าใจได้ง่าย เริ่มจาก...

1) ก้นงอน ทำให้ปวดหลังได้อย่างไร?

การที่ก้นเราจะงอนได้ (anterior pelvic tilt) มันต้องมาคู่กับการมีกระดูกสันหลังที่แอ่น (hyperlordosis of lumbar spine) ร่วมด้วยนะ 2 อย่างนี้ต้องมาคู่กันเสมอ ซึ่งการที่จะเกิดอาการปวดตึงหลังระดับเอวได้ง่ายนั้น ก็มาจากกล้ามเนื้อหลังมันหดสั้นค้างอยู่ตลอดเวลานั่นเองครับ ดูจากภาพด้านล่างนี้เลยนะ 

ภาพแสดง กล้ามเนื้อหน้าหลังตึงหย่อนไม่สมดุลกันในคนก้นงอน

การที่กล้ามเนื้อหลังมันหดเกร็งอยู่ตลอดเวลาในท่านี้ มันก็เป็นเหมือนการบังคับให้กล้ามเนื้อหลังทำงานอยู่ตลอดนั่นเองครับ เมื่อกล้ามเนื้อออกแรงอยู่ตลอดเวลาที่เราตื่นนอน มันก็เกิดการตึงสะสม พอตึงสะสมนานๆเข้าก็เกิดการล้า เมื่อล้าแต่เรายังคงมีพฤติกรรมนี้อยู่ ในที่สุดกล้ามเนื้อหลังก็ประท้วงโดยการแสดงอาการปวดหลังในที่สุด 

สรุปง่ายๆก็คือ คนที่มีก้นงอน กล้ามเนื้อหลังมันจะถูกบังคับให้เกร็งอยู่ตลอด แต่พอกล้ามเนื้อเกร็งจนทนไม่ไหวก็เกิดอาการปวดแค่นั้นเองครับ

ซึ่งคนที่มีบุคคลิกก้นงอนจะมีนิสัยเหมือนๆกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เวลานั่งทำงานจะพยายามนั่งให้หลังตรงตลอด แต่บางทีเราไม่เห็นตัวเองในขณะนั่งว่าเรานั่งหลังตรงอย่างถูกวิธี หรือนั่งหลังตรงจนหลังมันแอ่นไปข้างหน้าเยอะ แล้วเมื่อนั่งไปนานๆก็ติดนิสัยก้นงอน หลังแอ่นในที่สุด ปัญหาเหล่านี้เกิดจากพฤิตกรรมของเราเองเสียเป็นส่วนใหญ่ครับ

2) ก้นงอน ทำให้กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (hamstrings) ปวดได้ง่ายกว่าปกติ แล้วทำให้บาดเจ็บจากการวิ่งได้อย่างไร? 

ก่อนจะอธิบาย อยากให้ย้อนกลับมาดูที่ภาพด้านล่างนี้กันอีกรอบครับ

คนที่ยืนก้นงอน กล้ามเนื้อ hamstrings (ต้นขาหลัง) จะถูกยืดตลอด

ผมอยากให้เพื่อนๆสังเกตุเส้นสีเขียวทางต้นขาด้านหลัง ซึ่งเส้นนั้นคือกล้ามเนื้อ hamstrings โดยเจ้ากล้ามเนื้อ hamstrings มีจุดเกาะส่วนต้นอยู่บริเวณกระดูกเชิงกรานด้านหลัง และจุดเกาะปลายอยู่ที่ใต้ข้อพับเข่า ซึ่งกล้ามเนื้อมัดนี้มันทำหน้าที่หลักคือ การงอเข่านั่นเองครับ 

แต่ทันทีที่เรายืนก้นงอน (ยืน anterior pelvic tilt) เจ้าตัวกระดูกเชิงกรานมันเกิดการบิดหมุนไปด้านหน้า แล้วจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อ hamstrings มันก็ไปเกาะอยู่ที่กระดูกเชิงกรานเช่นกัน การกระทำเช่นนี้มีผลทำให้กล้ามเนื้อ hamstrings ถูกยืดทันทีครับ 

ภาพเปรียบเทียบ กระดูกเชิงกรานปกติ กับ เชิงกรานหมุนไปด้านหน้าในคนก้นงอน
มีผลทำให้ hamstrings ถูกยืด

โดยปกติถ้ายืนแป๊บเดียวก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ คนที่ยืนก้นงอนโดยส่วนใหญ่เค้าไม่รู้ตัวหรอกว่ากำลังยืนก้นงอน หลังแอ่นอยู่ จึงทำให้กล้ามเนื้อ hamstrings ถูกยืดค้างอยู่ตลอดเวลา แล้วการที่กล้ามเนื้อมัดใดก็ตามถูกยืดค้างอยู่ตลอดเป็นเวลานานๆ จะมีผลให้กล้ามเนื้อมัดนั้นเกิดการอ่อนแรงลงด้วยนะ 

ซึ่งถ้าเราใช้ชีวิตตามปกติทั่วไป คือ ยืน เดิน นั่ง ไม่ได้ออกกำลังกายอะไรมากมาย เต็มที่ตัวเราก็จะรู้สึกแค่เมื่อยๆต้นขาหลังเท่านั้นเองครับ แต่ถ้าเราออกกำลังกายหนัก ใช้แรงเยอะ ปีนเขา หรือขึ้นบันไดเป็นพันขั้น โดยเฉพาะนักวิ่งทั้งหลายที่ชอบวิ่งเร็ว วิ่ง sprint  อยู่เป็นประจำ หรือคนที่ชอบเล่นกีฬาที่เกี่ยวข้องกับการกระโดดล่ะก็ จะเกิดการบาดเจ็บที่ hamstrings ได้ง่ายกว่าปกติมาก 

ตำแหน่งจุดเกาะของกล้ามเนื้อ hamstrings 

ต้องอธิบายอย่างงี้ก่อนว่า กล้ามเนื้อ hamstring นอกจากจะทำหน้าที่งอเข่าแล้ว มันยังทำหน้าที่เสริมอีกอย่างก็คือ ชะลอการหดตัวของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps) ด้วยนะ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของขาที่สมูธที่สุด ไม่เกิดการดีดของขา หรือเกิดการกระตุกขณะเคลื่อนไหว แล้วด้วยเหตุนี้ กล้ามเนื้อ hamstrings จึงเหมือนออกแรงสู้กับกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าตลอด (กล้ามเนื้อ quadriceps)

แต่การที่เรายืนก้นงอนนานๆ มันมีผลให้กล้ามเนื้อ hamstrings อ่อนแรงจากการถูกยืดนานๆ แล้วไม่มีกำลังเพียงพอที่จะไปสู้ quadriceps พอเราไปทำกิจกรรมที่วิ่งเร็ว กระโดด ซํ้าๆบ่อยๆเข้า กล้ามเนื้อ hamstrings จึงถูกกระชากซํ้าแล้วซํ้าเล่าจนเส้นใยกล้ามเนื้อบางส่วนฉีกขาดแล้วเกิดการบาดเจ็บได้ในที่สุด

แล้วข้อผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ในคนที่ก้นงอนก็คือ พอเราเกิดการตึงหรือปวดกล้ามเนื้อต้นขาหลัง (hamstrings) จากการออกกำลังกาย เราก็ใช้การยืดกล้ามเนื้อ hamstrings ต่อซะเลย ซึ่งโดยปกติกล้ามเนื้อมัดนี้มันก็ถูกยืดตลอดเวลาอยู่แล้วในคนก้นงอน พอเราไปยืดซํ้ามันก็เหมือนเป็นการยืดกล้ามเนื้อที่มากเกินไปจนเส้นใยกล้ามเนื้อฉีกขาดมากกว่าเดิม จนเกิดอาการปวดเรื้อรัง ขาตึง งอเข่าลำบาก แล้วในที่สุดก็กลับไปวิ่งออกกำลังกายไม่ได้ในที่สุด

ท่ายืด hamstrings 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆที่วิ่งออกกำลังกายเป็นประจำก็จะงงๆกันเล็กน้อยว่า "ฉันวิ่งมาเป็นปีๆไม่เห็นจะปวด hamstrings อะไรเลย เต็มที่ก็ปวดหน้าแข้ง ปวดเข่าซะมากกว่า" ต้องบอกยังงี้ว่า คนที่จะเจ็บ hamstrings ได้นั้น ต้องเป็นการวิ่งในลักษณะวิ่งเร็วครับ เช่น การวิ่ง sprint วิ่งก้าวขายาวๆ วิ่งเร็วสลับวิ่งช้า เช่น การเล่นฟุตบอล รักบี้ หรือการเล่นกีฬาที่ต้องกระโดดซํ้าๆ อย่าง วอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ hamstrings ได้ง่ายหากเป็นคนก้นงอน และจะเป็นง่ายขึ้นไปอีกหากกล้ามเนื้อ hamstrings ไม่แข็งแรงครับ 

ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนที่วิ่งมาราธอน หรือวิ่งจ๊อกกิ้งจะไม่ค่อยพบว่าจะมีอาการปวดที่กล้ามเนื้อ hamstrings นั่นเองครับผม 

หลังอ่านบทความนี้จบ หากเพื่อนๆนึกสงสัยอะไรก็ทักมาคุย หรือนัดเข้ามาตรวจร่างกายได้ใน https://www.facebook.com/doobodys/ เลยนะครับ











วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เคสน่าศึกษา 04 ตึงสะโพก ปวดหลัง เพราะเท้าแบน


จะว่าไปแล้วก็มีหลายเคสเหมือนกันที่มาหาผมด้วยอาการปวดหลัง ตึงขาจากโครงสร้างเท้าแบน ซึ่งในเคสที่ผมจะยกตัวอย่างนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกันครับ โดยคนไข้รายนี้มาหาผมด้วยอาการตึงต้นขา ปวดสะโพก และหลังเล็กน้อย แต่จะมีอาการอยู่ตลอดเวลา เป็นๆหายๆมาหลายปี รักษามาแทบจะทุกวิธีแล้วก็ไม่หายขาด ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ในบทความนี้เรามาหาคำตอบกันครับ

เนื่องด้วยคนไข้รายนี้มีอาการปวดแบบนี้มาหลายปีมากจนผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจุดเริ่มต้นจริงๆของอาการมันเกิดจากอะไร แต่จากที่ได้ตรวจร่างกายโดยละเอียด ผมค่อนข้างมั่นใจเลยว่า อาการตึงขา ปวดสะโพกและหลังส่วนหนึ่งนั้นมาจากเท้าแบนแน่นอน

เพราะการที่เท้าเราแบนข้างใดข้างหนึ่งนั้น ทำให้เกิดความสูงตํ่าของขาไม่เท่ากัน (แบบปลอมๆ) ผลที่ตามมาก็ทำให้เกิดปัญหากระดูกเชิงกรานกรานระหว่างซ้ายและขวาไม่เท่ากัน กระดูกสูงหลังเกิดคดงอ พอโครงสร้างกระดูกผิดปกติไป กล้ามเนื้อทั้ง 2 ฝั่งระหว่างซ้ายขวาก็ไม่สมดุลกัน โดยข้างหนึ่งอาจจะตึงไป อีกข้างก็หย่อนเกินไป ระยะแรกก็จะรู้สึกเมื่อยๆตึงๆธรรมดา แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็เกิดอาการปวดขึ้นตั้งแต่ขาจนถึงหลังได้ในที่สุด

ภาพซ้าย แสดงตัวอย่างการเกิดเท้าแบนของเท้าซ้ายทำให้สมดุลข้างซ้ายขวาเปลี่ยนไป

โดยคนไข้รายนี้เมื่อตรวจร่างกายส่วนอื่นๆนอกจากเท้าแล้ว ก็พบความผิดปกติอื่นๆอีก ดังนี้
- คนหลังแอ่นมาก (lumbar hyperlordosis)
- กระดูกสันหลังระดับทรวงอกงองุ้ม จะเรียกว่าหลังค่อมก็ได้ (thoracic kyphosis)
- มีลักษณะก้นงอน (anterior pelvic tilt)
- คอยื่น (forward head posture)
- กลุ่มกล้ามเนื้อ iliopsoas ตึงมาก
- กล้ามเนื้อ hamstring ตึงทั้ง 2 ข้าง
- ปุ่มกระดูก PSIS ข้างขวาไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวเมื่อยกขาขวาขึ้นลง บ่งบอกว่าข้อต่อตรงนี้ติดแข็ง (ปุ่มกระดูก PSIS คือ รอยต่อระหว่างกระดูกกระเบนเหน็บกับเชิงกราน)

ซึ่งรูปแบบการรักษาผมจะทำคล้ายๆกับในบทความ เคสน่าศึกษา 02 นะครับ ผมจะไม่ลงรายละเอียดในการรักษาส่วนนี้มาก โดยบทความนี้จะเน้นไปที่เรื่องเท้าแบนเป็นหลักนะครับ หากเพื่อนๆต้องการทราบรูปแบบการรักษาว่าผมทำยังไงบ้าง ให้ดูที่บทความนี้เลยนะ เคสน่าศึกษา 02 ปวดหลังเป็นปีๆ เพราะหลังแอ่นแท้ๆ

โอเค พอรู้ลักษณะโครงสร้างร่างกายคนไข้ไปแบบคร่าวๆกันแล้ว ทีนี้เรามาโฟกัสที่เท้ากัน คนไข้เป็นเท้าแบนข้างขวามาประมาณ 2 ปี (2 ปีที่ว่านี้คือ พึ่งสังเกตุเห็นว่าตัวเองเป็นเท้าแบนนะ อาจจะเป็นมานานกว่านั้นก็ได้แต่ไม่ได้สังเกตุเห็นเอง) แล้วการที่เท้าแบนข้างขวาทำให้สะโพกสูงตํ่าห่างกันได้ขนาดไหนดูจากภาพด้านล่างนี้นะครับ 

ภาพแสดง เท้าขวาแบน แล้วทำให้ระดับของกระดูกเชิงกรานขวาตํ่าลงกว่าซ้าย 
โดยจุดสีม่วงๆที่เอวนั้น แทนปุ่มกระดูก PSIS นะครับ

ภาพแสดง ตำแหน่งของปุ่มกระดูก PSIS 

เพื่อนๆจะเห็นว่าที่อุ้งเท้าด้านในของเท้าขวามันแบนราบติดพื้นไปเลยเมื่อเทียบกับขาซ้าย แต่หากดูไม่ออกว่ามันแบนยังไง ก็ให้สังเกตุเส้นสีเหลืองที่ผมลากจากส้นเท้าขึ้นไปยังน่องนะ  จะเห็นว่าเส้นข้างขวามันเอียงและทำมุมจุดตัดตรงเอ็นร้อยหวายมากกว่า 

เป้าหมายของการรักษาเท้าแบนในรายนี้มี 2 ส่วนก็คือ 
1) ทำให้อุ้งเท้าด้านในที่มันแบนติดพื้นอยู่นั้น ให้มันลอยขึ้นจากพื้นขึ้นมาจนมีอุ้งเท้าเหมือนข้างซ้ายดังเดิมให้ได้ และ 
2) ทำให้เส้นสีเหลืองที่ผมลากของข้างขวาให้มันตรงเหมือนข้างซ้ายให้ได้ 

วิธีการของผมก็คือ ผมให้คนไข้ขยุ้มเท้าขวาขึ้นมาแล้วเกร็งเท้าค้างไว้เลย ผลที่ได้ก็ตามรูปด้านล่างนี้เลยครับ 

ภาพเปรียบเทียบระหว่างขยุ้มเท้า (ขวา) กับไม่ขยุ้มเท้า (ซ้าย) 

สังเกตุว่าพอให้คนไข้ขยุ้มเท้าขวา อุ้งเท้าข้างขวาเกิดขึ้นทันทีเลย แต่พอมองที่เส้นตรงน่องกับเอ็นร้อยหวายปรากฎว่า เส้นยังคงเอียงอยู่เหมือนเดิมเลย สิ่งนี้บ่งบอกว่าการที่จะให้คนไข้ขยุ้มเท้าอย่างเดียวคงไม่ช่วยให้หายเท้าแบนได้อย่างถาวรแน่นอน เนื่องจากคนไข้มีโครงสร้างของกระดูกส้นเท้าที่เกิดการบิดร่วมด้วย ต้องแก้ที่ส่วนนี้ถึงจะหายขาด 

ซึ่งวิธีการทำให้ส้นเท้ากลับมาอยู่ในแนวตรงได้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ไม่ต้องดัด ไม่ต้องดึงอะไรทั้งสิ้น ผมใช้การติดเทปพยุงอุ้งเท้าให้สูงขึ้น และติดเทปที่ส้นเท้าเพื่อไกด์ให้กระดูกส้นเท้ามันบิดกลับมาอยู่ในแนวเดิม หลังจากติดเทปเรียบร้อยก็จะได้ภาพด้านล่างนี้เลยครับ 

ภาพการติดเทปที่เท้า ทำให้อุ้งเท้าสูงขึ้น ส้นเท้าบิดน้อยลง และระดับเชิงกราน 2 ข้างเท่ากัน

สังเกตุเห็นมั้ยครับว่า หลังจากติดเทปไปแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถึง 3 อย่างด้วยกัน นั่นคือ 
1) ระดับเชิงกรานทั้ง 2 ฝั่งมีความใกล้เคียงกันแล้ว 
2) อุ้งเท้าข้างขวาสูงขึ้น ซึ่งขณะนั้นผมให้คนไข้ยืนตามสบาย ไม่ได้ให้เกร็งอุ้งเท้าแต่อย่างใดนะ
3) ส้นเท้าข้างขวาบิดน้อยลง สังเกตุได้จากเส้นสีเหลืองที่ลากจากเอ็นร้อนหวายไปถึงน่อง
หากเพื่อนๆยังมองความแตกต่างไม่ออก ดูภาพด้านล่างนี้ต่อได้เลยครับ

ภาพเปรียบเทียบระหว่างก่อนติดเทป กับหลังติดเทป ในขณะที่คนไข้ขยุ้มเท้าอยู่ทั้ง 2 ภาพ

ภาพเดียวกับด้านบน แต่ผมไม่ได้ลากเส้นให้ดู ให้เพื่อนๆลองสังเกตุกันเล่นๆดูนะ

พอเพื่อนๆเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างก่อนติดเทป กับหลังติดเทปไปแล้ว ทีนี้ผมจะให้เพื่อนๆดูความแตกต่างในช่วงที่ติดเทปอยู่ โดยเทียบกันระหว่างขยุ้มเท้ากับไม่ขยุ้มเท้าตามภาพด้านล่างนะครับ

ภาพเปรียบเทียบระหว่างขยุ้มเท้า กับไม่ขยุ้มเท้าขณะติดเทป

ถ้าสังเกตุที่อุ้งเท้าด้านในให้ดี เราจะเห็นว่าภาพขณะขยุ้มเท้าจะดูมีอุ้งเท้าสูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยจนแทบจะไม่เห็นความแตกต่างว่าเป็นเท้าแบนแล้วนะ แล้วผมก็ถามคนไข้ด้วยว่า ขณะติดเทปเนี่ย รู้สึกยังไงบ้าง คนไข้ก็บอกว่า "เหมือนตัวเทปมันช่วยพยุงอุ้งเท้าให้สูงขึ้น แล้วรู้สึกว่าตัวเราไม่ต้องพยายามมากที่จะต้องขยุ้มเท้าอยู่ตลอด เหมือนมีตัวเบาแรงแล้วมีตัวที่คอยกระตุ้นให้เท้าเราอยู่ในแนวนี้ตลอด" 

ทีนี้เรามาดูการทำงานของเทปที่ผมติดให้ดีกว่าครับ ว่าเส้นหลักๆที่ผมติดนี่ ติดเพื่อจุดประสงค์อะไรบ้าง

ภาพแสดงการทำงานของเทปว่าเทปแต่ล่ะส่วนช่วยพยุงเท้ายังไง

โดยตัวเทปสีชมพูที่เห็นนั้น ผมติดเพื่อเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ tibialis posterior ซึ่งกล้ามเนื้อมัดนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการดึงอุ้งเท้าให้สูงขึ้นได้นั่นเองครับ เนื่องจากจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อมัดนี้จะไปเกาะที่อุ้งเท้าด้านในพอดี ถ้ากล้ามเนื้อมัดนี้แข็งแรงจะเป็นเรื่องง่ายที่จะช่วยให้อุ้งเท้าสูงขึ้นได้ 

แต่จะแก้ที่อุ้งเท้าอย่างเดียวคงไม่ครบ เพราะส้นเท้ายังบิดอยู่ ผมจึงติดเทปสีขาวที่ด้านข้างส้นเท้าจากส้นเท้าด้านนอกดึงเทปรัดส้นเท้าเข้ามาติดทางด้านใน เพียงเท่านี้ส้นเท้าที่บิดอยู่ก็กลับมาแนวตรงแล้วครับ 

ถึงแม้เท้าจะดูหายแบนแล้ว แต่มันอยู่ได้เพราะมีเทปคอยช่วยพยุงอยู่ถ้าถอดเทปไปก็มีโอกาสสูงทีเดียวที่จะกลับมาเท้าแบนเหมือนเดิม ฉะนั้น ระหว่างที่ติดเทปอยู่ ผมจะแนะนำให้คนไข้ทำอยู่ 2 อย่างด้วยกัน นั่นก็คือ 

1) ฝึกยืนเขย่งปลายเท้าขึ้นลงช้าๆ เพราะการเขย่งปลายเท้าเป็นการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อ tibialis posterior แข็งแรงเพิ่มขึ้น โดยจะให้ยืนเขย่งวันล่ะ 100 ครั้ง คือ ถ้าว่างก็ยืนเขย่งขึ้นลงไปเรื่อยๆ (แต่ไม่ให้ทำ 100 ครั้งรวดเดียวนะ กล้ามเนื้อมันจะล้าเกินไป)

2) เวลาที่ยืน เดิน ให้คนไข้พยายามขยุ้มเท้าหน่อยๆอยู่ตลอดเวลา แล้วให้จับความรู้สึกว่าเราลงนํ้าหนักที่ข้างเท้ามากกว่าที่อุ้งเท้านะ (เหมือนตะแคงเท้ายืนหน่อยๆ) ซึ่งการทำแบบนี้ก็เพื่อให้กล้ามเนื้อในอุ้งเท้าแข็งแรง และกระตุ้นการเรียนรู้ของกล้ามเนื้อในอุ้งเท้าไปในตัวด้วยว่า ต้องออกแรงแบบนี้นะ เท้าจะได้กลับมาอยู่ในแนวเดิมนะเฮ้ย ทำนองนี้แหละครับ 

ท่าออกกำลังกายแก้เท้าแบน โดยการขยุ้มเท้าให้อุ้งเท้าสูงขึ้น โดยที่ไม่งอนิ้วเท้าเข้ามา
เป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อเท้ามัดลึก

ภาพเปรียบเทียบ เท้าก่อนติดเทป และหลังติดเทป

หลังอ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆก็พอจะเห็นภาพรวมการรักษาที่ผมใช้ในคนไข้เท้าแบนรายนี้แล้วนะ ซึ่งไม่มีอะไรซับซ้อนมากมาย แค่คิดเทป ออกกำลังกายเท้า แล้วให้มีสติกับการลงนํ้าหนักที่เท้าตลอดแค่นั้นเอง 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มีคนที่เท้าแบนทักเข้ามาสอบถามเช่นกันว่า ถ้าเราไม่สามารถไปหานักกายภาพที่แก้เรื่องเท้าแบนแบบนี้ได้ แล้วซื้อแผ่นเสริมรองเท้าที่มีอุ้งเท้าแทนล่ะ มันจะเหมือนกันมั้ย? 

เรื่องนี้ต้องดูเป็นเคสต่อเคสไปครับ ยกตัวอย่างในเคสนี้ ถ้าเคสนี้ไปซื้อแผ่นเสริมอุ้งเท้ามาใส่ แล้วใส่ตลอดเวลาเลยนะทั้งในบ้านและนอกบ้าน ภายในไม่กี่วันคนไข้รายนี้น่าจะบ่นเหมือนหลายๆเคสที่ผมเจอว่า "แผ่นเสริมอุ้งเท้าอันนี้มันไปกดกับกระดูกตรงอุ้งเท้า ยิ่งใส่แล้วยิ่งเจ็บกว่าเดิมอีก" สุดท้ายก็เลิกใส่แผ่นเสริมอุ้งเท้าไปในที่สุด เพราะทนเจ็บตัวแแผ่นเสริมอุ้งเท้าที่มันไปกดกระดูกไม่ไหว ทำไมถึงเป็นแบบนั้นได้ล่ะ...?

นั่นก็เพราะตัวปัญหาจริงๆมันอยู่ที่กระดูกส้นเท้าที่มันโย้ออกไปด้านนอกนั่นเองครับ เราต้องปรับตัวส้นเท้าให้กลับมาอยู่ในแนวตรงดังเดิมก่อน ไม่เช่นนั้นมันก็เหมือนกับในเคสนี้ที่ขยุ้มเท้าแล้ว อุ้งเท้ามันสูงขึ้น แต่ส้นเท้ามันยังบิดอยู่เหมือนเดิมดูได้จากเส้นสีเหลืองที่ลากนั่นแหละครับ 

ภาพขวา ขยุ้มเท้าจนอุ้งเท้าดูสูงขึ้นแล้ว แต่ส้นเท้ายังคงบิดอยู่เช่นเดิม

ซึ่งถ้าไม่แก้ที่ส้นเท้าให้ตรง แต่ใช้แผ่นเสริมอุ้งเท้า หรือเอาเทปไปรัดที่อุ้งเท้าให้สูงขึ้นโดยตรงเลยเนี่ย เวลาคนไข้ยืน หรือเดิน การลงนํ้าหนักของเท้ามันก็ยังคงไปลงที่อุ้งเท้าด้านในอยู่ดี เท้าก็แบนเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือความเจ็บปวดของอุ้งเท้าด้านในจากการโดนกดที่มากขึ้น

แต่ก็มีบางเคสที่โครงสร้างเท้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร การใส่แผ่นเสริมรองเท้าก็ช่วยประคับประคองไม่ให้เท้าแบนมากกว่าเดิมได้ แล้วก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกปวดขณะใช้ด้วย แต่ก็ต้องออกกำลังกายกล้ามเนื้อเท้าอยู่ดีเพื่อให้เท้ากลับเข้าสู่โครงสร้างเท้าปกติ 

แล้วก็มีอีกบางเคสที่ทั้งเท้าแบน แล้วโครงสร้างข้อต่อกระดูกในเท้ายึดติดกันแน่นมาก ไม่มีความยืดหยุ่นเลย ให้ลองขยุ้มเท้า อุ้งเท้าก็ไม่ขึ้น ลองให้หมุนควงเท้าวนซ้ายวนขวา องศาของเท้าก็หมุนได้น้อยมากๆ ลองดัดขยับข้อต่อในเท้าเบาๆ ก็รู้สึกว่าข้อต่อติดแข็งปั๊กไม่กระดิกเลย ถ้าเป็นลักษณะนี้คือต้องดัดข้อต่อต่างๆภายในเท้า และดัดข้อเท้าก่อนเลยครับ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อภายในเท้า ซึ่งเคสนี้ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการใส่แผ่นเสริมรองเท้า หรือการติดเทปที่เท้าเลยนะ ถ้าข้อต่อภายในเท้ายังติดกันแน่นเสริมอะไรเข้าไปก็ไม่เป็นผลแน่นอนครับ 

โครงสร้างกระดูกในเท้า ที่มีกระดูกหลายชิ้นมาต่อกัน แต่ก็มีความยืดหยุ่นมากเช่นกัน

ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไข้เท้าแบนหลายคนจะมีความรู้สึกว่าการไปหาซื้อแผ่นเสริมรองเท้ามาใช้เอง โดยที่ไม่ได้ให้ผู้ที่มีความชำนาญเรื่องเท้าตรวจก่อน จะรู้สึกว่าการใส่แผ่นเสริมมันไม่ค่อยได้ผล แล้วเรื่องเท้าจะมีความสำคัญมากต่ออาการปวดทั่วทั้งร่างกาย ถ้าคนไข้ที่เดินมาหาผมแล้วบอกว่ามีอาการปวดอะไรก็ตามตั้งแต่หลังลงไป ผมจะก้มไปมองที่เท้าก่อนเสมอว่าเท้าผิดปกติอะไรรึเปล่า เพราะเท้าคือฐานของการลงนํ้าหนักที่สำคัญมากๆขณะที่เรายืน เดิน วิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ชอบออกกำลังกายเป็นประจำ จงหมั่นดูแลสุขภาพเท้าให้ดีไว้ตลอดนะครับ มีหลายเคสที่ไม่สามารถออกกำลังกายที่ตนเองชอบได้เพราะละเลยเรื่องการดูแลเท้าเนี่ยแหละ 

หากเพื่อนๆมีข้อสงสัยอะไรเดี่ยวกับเท้าก็ลองทักเข้ามาคุยกันได้ที่ https://www.facebook.com/doobodys/ ผมเชื่อแหละว่า หลังจากอ่านบทความนี้จบคงมีคำถามต่อยอดให้สงสัยเพิ่มกันอีกเพียบแน่เลย ^^ 



วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561

การนวดบ่อยๆ ทำให้กล้ามหาย..จริงหรือ?


มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังรักษาคนไข้ที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งคนไข้รายนี้ดูจากภายนอกก็รู้ว่าชอบออกกำลังกายประเภทยกนํ้าหนักแน่ๆ เพราะกล้ามแน่น เห็นลายกล้ามเนื้อชัดมากๆ แต่ขณะเดียวกันตัวเค้าก็ตึงมากเช่นกันจนผมต้องใช้แรงเยอะกว่าปกติในการรักษาคนไข้รายนี้

ผมจึงชวนคนไข้คุยขณะรักษาไปด้วนว่า "ปกติได้ยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกายบ้างรึเปล่า" คนไข้ก็ตอบว่า "ได้ยืดบ้าง แต่ก็ไม่บ่อยนัก" แล้วผมก็ถามต่อไปว่า "แล้วได้เคยไปนวดตัวบ้างมัย้" คนไข้นี่รีบตอบกลับมาทันทีว่า "ไม่หรอก ไม่เคยนวดเลย แล้วไม่กล้านวดด้วย กลัวว่าไปนวดแล้วกล้ามแน่นๆที่ผมออกแรงมาจะหายไปหมด" 

คุยมาถึงตรงนี้ ผมก็คิดในใจทันทีเลยว่า จะมีคนที่เล่นกล้ามสักกี่คนที่คิดแบบนี้กันบ้างเนี่ย ด้วยความคิดที่ว่า ไม่กล้านวด เพราะกลัวกล้ามหาย!! แล้วการนวดมันทำให้กล้ามหายได้จริงหรือเปล่า? ติดตามได้ในบทความนี้เลยครับ

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าทำไมคนเล่นกล้ามถึงคิดว่าการนวดถึงทำให้กล้ามหายไป เท่าที่ผมได้คุยกับนักกล้ามที่กลัวการนวด (นวดในที่นี้คือการนวดทั่วๆไปนะ เช่น นวดไทย นวดนํ้ามัน) เค้าจะพูดประมาณว่า "หลังจากที่นวดเสร็จ ตัวเค้าจะรู้สบาย รู้สึกโล่งดี แต่ที่กล้ามเนื้อน่ะสิ มันรู้สึกว่าไม่ค่อยกระฉับกระเฉง ตัวมันดูหยุ่นๆไม่เหมือนเดิม รู้สึกความตึงกระชับของกล้ามเนื้อมันน้อยลง เลยคิดว่าการนวดทำให้กล้ามเนื้อมันฝ่อไป ทำให้ความฟิตของร่างกายลดลง"
ในภาพผมกำลังยกผิวหนัง เพื่อลดความตึงของพังผืดใต้ผิวหนัง
เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดอาการปวดตึงได้

โอเค พอเราเข้าใจความคิดของคนกลุ่มนี้แล้ว เราก็มาวิเคราะห์กันแบบบ้านๆกันว่าทำไมการนวดถึงทำให้เค้ารู้สึกอย่างนั้นกัน

การที่เรารู้สึกว่าความตึงกระชับของกล้ามเนื้อลดลงหลังจากที่นวดนั้น เป็นผลมาจากเส้นใยกล้ามเนื้อที่ตึงรั้งอยู่จากการออกกำลังกายมันเกิดการคลายตัว พวกก้อน trigger point บางส่วนก็เกิดการคลายตัว หรือก้อนมีขนาดเล็กลง ระบบการไหลเวียนภายในกล้ามเนื้อส่วนที่นวดนั้นก็ไหลเวียนดีขึ้น เราจึงรู้สึกผ่อนคลายพร้อมกับรู้สึกว่ากล้ามเนื้อมันหยุ่นๆแลดูนิ่มลงนั่นเอง

(trigger point คือ กลุ่มของเส้นใยกล้ามเนื้อที่จับตัวกันเป็นก้อนจากการที่กล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นเวลานาน ซึ่งอาจมาจากการทำงานในท่าซํ้าๆเดิมติดต่อกันหลายชั่วโมง หรือการออกกำลังกายในท่าเดิมๆอย่างต่อเนื่องก็ได้ ถ้าใช้นิ้วกดไปที่ก้อนนี้คนไข้จะปวดจี๊ดที่กล้ามเนื้อมาก)

คลิป อธิบายเรื่อง trigger point 
(คลิ๊ก https://youtu.be/q3uiqiag2FE)

แล้วการที่กล้ามเนื้อดูนิ่มลง หรือรู้สึกตัวเบาโล่งก็ไม่ได้หมายความว่ากล้ามเนื้อเราอ่อนแรงลง หรือทำให้กล้ามเราหายแต่อย่างใดนะ กล้ามเนื้อมันแค่อยู่ในโหมดผ่อนคลายเท่านั้นเอง จริงอยู่ที่หลังจากนวดเสร็จเราจะลองไปออกกำลังกายดูซะหน่อยแล้วจะพบว่าความฟิตของร่างกายมันหายไปบ้าง แต่ก็อย่างที่บอกนั่นแหละว่ากล้ามเนื้อมันอยู่ในโหมดผ่อนคลาย ต้องทิ้งช่วงไปประมาณ 3-4 ชั่วโมงถึงจะรู้สึกว่าความฟิตมันกลับมาดังเดิม

แล้วอีกอย่าง การที่มวลกล้ามเนื้อเราจะมีขนาดเล็กลง กล้ามเนื้อฝ่อลง หรือภาษาบ้านๆที่เรียกว่ากล้ามหายได้นั้น มีปัจจัยดังนี้...

- ได้รับสารอาหารจำพวกโปรตีนไม่เพียงพอ ร่างกายจึงปรับขนาดเส้นใยกล้ามเนื้อให้มีขนาดเล็กลงเพื่อรับกับปริมาณอาหารกินที่เข้าไป

- เกิดจากเราไม่ค่อยได้ใช้งานกล้ามเนื้อเอง ลองนึกภาพผู้ป่วยนอนติดเตียงดูก็ได้นะครับ ที่เค้านอนเฉยๆแล้วตัวก็ลีบเล็กลงไปเรื่อยๆ แม้จะได้รับสารอาหารเพียงพอแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่ขยับเขยื้อนร่างกายเลย กล้ามเนื้อก็ฝ่ออยู่ดี กล้ามเนื้อเราจะโตขึ้นต้องได้รับสารอาหารที่เพียงพอร่วมกับการหมั่นใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นอย่างสมํ่าเสมอครับ

- เกิดจากการบาดเจ็บเรื้อรัง การบาดเจ็บเรื้อรังของกล้ามเนื้อส่วนนั้นๆก็มีผลให้กล้ามเนื้อมีขนาดเล็กลงได้เช่นกัน เนื่องจาก เมื่อเราบาดเจ็บส่วนไหนของร่างกาย เราจะไม่กล้าใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้นมาก พอไม่ค่อยได้ใช้งานนานๆเข้า กล้ามเนื้อมันก็ลีบเล็กลงเป็นธรรมดา ตามกฎของร่างกายที่ว่า "ถ้าไม่ใช้ ฉันลดขนาดลง" เพราะร่างกายมองว่ามันเป็นการเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุที่จะให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นโตทั้งที่ไม่ได้ใช้งานอะไร

ลักษณะโครงสร้างเส้นใยกล้ามเนื้อที่หุ้มกันเป็นชั้นๆ 
แล้วแต่ล่ะชั้นจะมีพังผืดแทรกอยู่ระหว่างกลาง

แล้วทั้งนี้ท้้งนั้น เพื่อนๆก็ไม่ต้องกลัวว่าถ้ากล้ามเนื้อมันลีบเล็กลง หรือกล้ามเนื้อฝ่อไปแล้วจะไม่สามารถกลับมาเป็นคนมีกล้ามโตได้ดังเดิมนะ ผมต้องบอกอย่างนี้ว่า กล้ามเนื้อที่มันฝ่อ มันคือการลดขนาดตัวเส้นใยกล้ามเนื้อตัวเอง ไม่ได้ถูกกำจัดออกให้สลายหายไปไหนครับ เส้นใยกล้ามเนื้อคนเราก็เหมือนกับลูกโป่งนั่นแหละ ถ้าได้อาหารเพียงพอและได้ใช้งานสมํ่าเสมอ มันก็พองโตขึ้น แต่ถ้าช่วงไหนได้อาหารน้อยแล้วไม่ค่อยได้ใช้งานกล้ามเนื้ออีก มันก็แฟบลงเป็นธรรมดาครับ

ฉะนั้น ใครที่คิดว่าการนวดแล้วจะทำให้กล้ามเนื้อลีบเล็กลง หรือทำให้กล้ามหายไปล่ะก็ ลืมไปได้เลยครับ มันเป็นไปไม่ได้แน่นอน แล้วอีกอย่างนักกีฬาอาชีพหลังจากที่เค้าซ้อม หรือแข่งขันเสร็จเค้าจะไปนวดกันด้วยซํ้านะ เพียงแต่การนวดจะไม่ได้เหมือนการนวดไทย หรือนวดนํ้ามันแบบที่เราคุ้นๆกันนะ 

ภาพตัวอย่างแสดงถึงการนวดในนักกีฬา

เค้าจะไปนวดในเชิงนวดนักกีฬา หรือที่เรียกกันว่า sport massage เพื่อให้ความตึงตัวของกล้ามเนื้อและพังผืดใต้ผิวหนังอ่อนตัวลง เพิ่มระบบการไหลเวียนเลือดให้ดีขึ้นทั่วทั้งร่างกาย ช่วยฟื้นฟูการบาดเจ็บเล็กๆน้อยๆได้จากการไหลเวียนเลือดที่ดีขึ้น เพราะเลือดจะนำพาสารอาหารไปซ่อมแซมส่วนที่เสียหายได้มากขึ้นนั่นเองครับผม

โอเค ทีนี้เพื่อนๆก็น่าจะเข้าใจกันบ้างแล้วเนอะว่า การนวดไม่ได้ทำให้กล้ามเนื้อเราลีบเล็ก หรืออ่อนแรงลงแต่อย่างใด ฉะนั้น ถ้าใครที่ชอบนวดอยู่แล้ว จะไปนวดผ่อนคลายสักหน่อยก็ไม่ต้องกังวลใจแต่อย่างใดนะครับ




วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ตุ่มใต้ข้อพับเข่าคืออะไร ใช่เข่าบวมนํ้ารึเปล่า



เมื่อไม่กี่วันก่อนคนแถวบ้านเดินมาหาผมพร้อมกับชี้ให้ดูที่ใต้ข้อพับเข่าของเค้า แล้วถามผมว่าตรงใต้ข้อพับเข่านี้มันคืออะไร พึ่งสังเกตุเห็นว่ามันบวมออกมา แบบนี้เค้าเรียกว่าเข่าบวมนํ้ารึเปล่า มันอันตรายมั้ย แล้วต้องไปให้หมอเจาะออกดีรึเปล่า ฉะนั้น ในบทความนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับว่า ตรงที่บวมๆนี้มันคืออะไรกันนะ

สำหรับการบวมใต้ข้อพับเข่ามันมีหลายสาเหตุหลายปัจจัยด้วยกันนะ แต่ผมจะเลือกที่พบได้บ่อยมาให้เพื่อนๆได้ทราบกันอยู่ 2 สาเหตุ

1) เกิดจากร่างกายผลิตนํ้าเลี้ยงข้อเข่ามากเกินไป

โดยปกติแล้วร่างกายเราจะผลิตนํ้าเลี้ยงข้อ (synovial fluid) ซึ่งเปรียบเสมือนนํ้ามันหล่อลื่นให้ทุกๆข้อต่อทั่วร่างกายของเราอยู่แล้ว เพื่อให้การขยับข้อต่อขยับได้ราบลื่นไม่ติดขัด แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกข้อเข่าเริ่มหายไป ข้อเข่าเริ่มเสื่อมจากการใช้งานมานาน ข้อเข่าเริ่มฝืด เคลื่อนไหวข้อต่อได้ไม่ราบลื่นเหมือนก่อน


ภาพแสดงโตรงสร้างของข้อเข่า

ร่างกายเราก็จับความผิดปกตินี้ได้ จึงเร่งการผลิตนํ้าเลี้ยงข้อเข่าให้มากขึ้นเพราะร่างกายมองว่าข้อเข่ามันเริ่มฝืดแล้ว เผื่อจะได้ทำให้เข่าขยับได้ลื่นขึ้นนั่นเอง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไอเดียที่เข้าท่าที่ร่างกายพยายามช่วยเหลือข้อเข่าของเรานะ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ช่องว่างภายในข้อเข่าของเรามันมีอยู่อย่างจำกัด การที่มีนํ้าเลี้ยงข้อถูกเติมเข้ามามากเกินช่องว่างภายในข้อแบบนี้ มันทำให้เกิดแรงดันภายในข้อเข่ามากขึ้น แล้วดันเส้นเอ็นและเยื่อหุ้มข้อเข่ารอบๆให้ขยายตัวตามแรงดันภายในข้อเข่าที่มากขึ้น เปรียบเสมือนกับลูกโป่งที่ถูกใส่นํ้าเข้าไปมากๆจนมันพองตัวขึ้นมา


โครงสร้างเข่าปกติ เทียบกับเข่าที่บวม

ซึ่งโดยทั่วไปคนที่เข่าบวมจากข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ (หรือวัยกลางคนก็พบได้เช่นกัน) จะบวมรอบๆข้อเข่าเสมอกัน แต่ก็มีอีกบางกลุ่มที่ดันไปบวมเฉพาะใต้ข้อพับเข่าเท่านั้น ที่อื่นไม่บวมเลย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ...?

นั่นก็เป็นเพราะว่า คนเหล่านั้นเค้ามีโครงสร้างข้อเข่าแอ่น (knee hyperextension) ร่วมด้วยนั่นเองครับ โดยการที่เข่าเราแอ่น มันทำให้เกิดแรงอัดที่เข่าทางด้านหน้ามากกว่าด้านหลัง นํ้าเลี้ยงข้อในข้อเข่าจึงถูกดันให้ไปทางด้านหลังมากกว่าปกติ


ผู้สูงอายุที่มีภาวะเข่าแอ่นร่วมกับเข่าเสื่อมเล็กน้อย จะมีการบวมใต้เข่าเล็กน้อยตามภาพ


เทียบกับคนเข่าปกติที่ไม่บวม

ผลที่ตามมาก็อย่างที่เราเห็นในรูปนั่นแหละครับ คือ ใต้ข้อพับเข่าจึงดูบวมนั่นเองครับผม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ไม่สามารถเหมารวมไปว่าคนที่เข่าแอ่นทุกคนจะต้องมีการบวมที่ใต้ข้อพับเข่าทุกคนนะ คนที่เข่าแอ่นหลายคนเค้าก็ไม่ได้บวมกันนะ

ซึ่งการที่เราจะบวมใต้ข้บพับเข่าได้นั้น ต้องมีปัจจัยดังนี้
- อายุ คือ เป็นผู้สูงอายุ
- มีภาะวะข้อเข่าเสื่อม
- มีภาวะข้อเข่าแอ่น (knee hyperextension)
- บางคนก็เข่าเสื่อมมากจนมีภาวะข้อเข่าโก่งร่วมด้วยก็มี


คนที่เข่าแอ่นหลายคนก็ไม่จำเป็นต้องมีการบวมใต้เข่าเสมอไป 
ช่วงอายุก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เข่าบวม

2) เกิดก้อนซีสต์ที่ใต้ข้อพับเข่าโดยตรง

สำหรับการบวมในสาเหตุที่ 2 นี้จะดูรุนแรงกว่าแบบแรกเล็กน้อยนะครับ ในแบบแรกเป็นการบวมแบบทั่วๆไป ซึ่งคนไข้โดยส่วนมากจะไม่ได้รู้สึกปวด หรือตึงใต้ข้อพับเข่าอะไรมากมายยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในแบบที่ 2 คนไข้จะรู้สึกว่ามีก้อนนูนที่ใต้ข้อพับเข่า แล้วก้อนก็มีความแข็ง เมื่อเดินหรือมีการขยับข้อเข่าก็จะรู้สึกปวด หรือรู้สึกตึงรั้งที่ใต้ข้อพับเข่า ซึ่งการเกิดก้อนซีสต์ที่ใต้ข้อพับเข่าแบบนี้มีชื่อเรียกว่า Baker's cyst นั่นเองครับ


ก้อนซีสต์ใต้เข่า หรือที่เรียกว่า Baker's cyst

สาเหตุการเกิด Baker's cyst 

สาเหตุการเกิดก็คล้ายๆกับแบบแรกนะ คือ ร่างกายมีการสร้างนํ้าหล่อเลี้ยงข้อเข่าที่มากเกินไป จากภาวะข้อเข่าอักเสบ มีประวัติเป็นเกาต์ หมอนรองกระดูกในเข่าบางส่วนฉีกขาด หรือเอ็นหุ้มข้อเข่าฉีกขาดบางส่วนจากการเล่นกีฬา หรืออุบัติเหตุ จึงทำให้เกิดการบวมที่เข่าขึ้น 

โดยในระยะแรกการบวมก็จะเป็นเหมือนการบวมนํ้าทั่วๆไป ยังไม่ได้เป็นก้อนแข็งที่ชัดเจน แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาวนํ้าหล่อลื่นก็เกิดการจับตัวกับตะกอนเศษเนื้อเยื่อในเข่าบางส่วนทำให้เกิดการแข็งตัวขึ้นจนเป็นก้อนแข็งๆขึ้น จนเป็นที่มาของการเกิด Baker's cyst  

ใต้เข่าเริ่มบวมเป็นก้อนอย่างเห็นได้ชัดกว่าการบวมแบบทั่วๆไปในอันแรก

เมื่อปล่อยทิ้งไว้จะบวมจนกลายเป็นก้อนแข็งๆขึ้น

ส่วนเหตุที่เกิดก้อนแข็งๆใต้ข้อพับเข่าแทนที่จะเป็นด้านหน้า หรือด้านข้างก็เนื่องจากว่า ที่ใต้ข้อพับเข่าไม่มีกระดูก หรือกล้ามเนื้อที่มีความหนาอะไรเลย เป็นแค่เยื่อพังผืดบางๆมาปิดไว้เท่านั้น สารนํ้าต่างๆจึงไหลมารวมที่ใต้ข้อพับได้ง่ายจนเกิดการบวมที่ใต้ข้อพับเข่านั่นเองครับผม

เมื่อเกิดเป็นก้อนแข็งๆที่ใต้ข้อพับเข่า ตัวคนไข้จะรู้สึกถึงความผิดปกติ เช่น... 
- คลำพบก้อนที่ใต้ข้อพับเข่า 
- เมื่อยืนหรือเดินนานๆจะมีอาการปวดใต้ข้อพับเข่า  
- บางรายแค่ขยับเข่าก็รู้สึกปวดใต้เข่าแล้วก็มี 
- งอเข่าลำบากเหมือนมีอะไรมารั้งที่ใต้เข่าเอาไว้ 
- เมื่อพยายามพับเข่าให้สุดจะรู้สึกปวดใต้ข้อพับเข่ามากขึ้น


บางรายก็มีการบวมและอักเสบจนเป็นตุ่มดังภาพ

การรักษา Baker's cyst 


โดยปกติก้อนซีต์ที่ใต้เข่ามันสามารถหายได้เองครับ การดูแลในระยะที่เป็นช่วงแรกก็คือ เลี่ยงการเดิน เลี่ยงการใช้ขาข้างที่เป็นปวดเพราะอาจไปกระตุ้นให้เกิดการบวมมากขึ้นได้ หมั่นประคบเย็นที่ใต้ข้อพับเข่า 15 นาทีทุกๆ 1 ชั่วโมง แล้วก็อย่าพยายามกด คลึง นวดตรงก้อนนั้นนะครับ เพราะมันไม่ได้ช่วยให้ก้อนซีต์หายไป ในทางตรงกันข้ามมันจะยิ่งทำให้เกิดการอักเสบแล้วบวมมากกว่าเดิมได้ครับผม 

ในกรณีที่ก้อนซีสต์มีขนาดใหญ่ และปวดมากจริงๆผมก็แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์โดยตรงเลยดีกว่าครับ 



วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เรื่องเล่าจากคนไข้ 2 : ข้อติด เดินไม่ได้ และพิการ เพราะเบาหวาน



สวัสดีครับ ในบทความนี้ผมจะเล่าเรื่องโรคใกล้ตัวที่เพื่อนๆรู้จักกันดีอย่างโรคเบาหวาน ในมุมมองที่ไม่มีใครนึกถึง แล้วไม่มีใครคาดคิดกันด้วยว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริงๆของคนไข้รายนี้..

ในเช้าวันหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นวันที่แสนจะธรรมดาของป้าเนียม (นามสมมติ) ที่ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพตามหมอนัดเป็นเรื่องปกติ แล้วป้าเนียมจะได้รับยามาทานเพิ่มหลังจากที่ยาชุดเก่าใกล้จะหมดแล้ว เหตุที่ต้องทานยาก็เนื่องมาจากคุณป้ามีโรคยอดฮิตสิงอยู่ในร่างอย่างโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน

ซึ่งการเดินทางของป้าเนียมก็เพียงแค่นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ของหลาน ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 10 นาทีก็ถึงที่หมายแล้ว

แล้วเมื่อถึงโรงพยาบาล คุณป้าก็เดินตรงไปยังแผนกคลินิกเท้า เพื่อตรวจประเมินลักษณะโครงสร้างเท้า ตรวจรับความรู้สึกของเท้าตามปกติเหมือนที่คนเป็นเบาหวานเค้าต้องตรวจกัน ทันทีที่เดินเข้าไปในคลินิก นักกายภาพคนหนึ่งก็ทักทายแล้วแซวคุณป้าว่า..
"ทำไมวันนี้เดินใส่รองเท้าข้างเดียวมาล่ะป้า?"

ยังไม่ทันที่คุณป้าจะตอบกลับอะไร นักกายภาพท่านนั้นก็ร้องเสียงหลงด้วยความตกใจทันที "เฮ้ย ป้าๆ ป้าไปเดินเหยียบอะไรมาเนี้ย เลือดออกเต็มเท้าเลย!!" ว่าแล้วก็ให้คุณป้านั่งลง แล้วจัดการพลิกเท้าขึ้นมาดู สิ่งที่เห็นเต็มตาเลยก็คือ ผิวหนังตรงฝ่าเท้าของคุณป้าหายไป!! เห็นแต่เนื้อแดงๆกับเอ็นขาวๆของพังผืดใต้ฝ่าเท้าของป้า แถมมีรอยเนื้อไหม้บางส่วนอยู่ด้วย แต่ไม่เห็นว่าเนื้อที่เท้ามีรอยโดนตําของตะปูหรือของมีคมแต่อย่างใด แต่ทำไมผิวหนังที่ฝ่าเท้าของคุณป้ายหายไปได้ล่ะ?

ในช่วงที่กำลังงงๆกันอยู่นั้น นักกายภาพก็ตัดสินใจส่งป้าเนียมเข้าห้อง ICU ให้ไปทำแผลทันที ระหว่างที่เข็นรถวีลแชร์ไปส่งคุณป้าที่ห้อง ICU นักกายภาพก็สอบถามเพิ่มเติมว่า เดินทางมายังไง ใครมาส่ง รองเท้าหลุดไปตอนไหนจำได้มั้ย อะไรทำนองนี้ คุรป้าก็ตอบๆกลับมาจึงสรุปได้ความว่า "ให้หลานขับมอเตอร์ไซค์มาส่งที่โรงพยาบาล โดยใส่รองเท้าหูคีบธรรมดาเนี่ยแหละ แล้วคิดว่ารองเท้ามันหลุดระหว่างทางล่ะมั้ง เลยอาจไปเดินเหยียบอะไรเข้าเลยทำให้เป็นแผลเหวอะวะที่เท้าขนาดนี้ แต่นึกยังไงก็นึกไม่ออกอยู่ดีว่าไปเดินเหยียบอะไร เพราะที่เท้าของป้าไม่มีความรู้สึกอะไรเหลืออยู่เลย ไม่เจ็บ ไม่ร้อน ไม่เย็น ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้นจากโรคเบาหวาน!!"

หลังจากที่ไปส่งที่ห้อง ICU เสร็จก็เดินกลับเข้าแผนกตัวเองตามปกติ แต่สายตาดันเหลือบไปเห็นพื้นตรงทางเดินเข้าแผนกคลินิกเท้าว่ามีรอยเลือดที่เป็นรูปเท้าเป็นจํ้าๆอยู่ ซึ่งก็แน่นอนแหละว่าเป็นรอยเท้าของป้าเนียมแน่นอน โดยรอยเท้าเป็นรอบยาวตามทางเดินจากหน้าโรงพยาบาลเข้ามาเลย นักกายภาพก็เดินตามรอยเลือดเท้าไปจากหน้าแผนกคลินิกเท้า จนไปถึงหน้าโรงพยาบาล แล้วเดินเรื่อยไปจนถึงลานจอดรถหน้าโรงพยาบาล จนไปสิ้นสุดตรงรถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่ง...

ภาพตัวอย่าง รอยเท้าที่เปื้ยนเลือดของป้าเนียมขณะเดินเข้าโรงพยาบาล

นักกายภาพท่านนั้นเห็นหนังไก่ย่างที่ไหม้เกรียมอยู่ตรงท่อไอเสียมอเตอร์ไซค์ แรกๆก็สงสัยว่าใครมันพิเรนเอาหนังไก่มาวางอะไรตรงนี้ แต่เอ๊ะ! ทำไมหนังไก่มันชิ้นใหญ่จังหว่า มองเข้าไปใกล้ๆอีกที เฮ้ย! นี่มันหนังตีนคนนี่หว่า!! แล้วหนังตีนนี่ต้องเป็นของป้าเนียมแน่นอน

พอลำดับเหตุการณ์ไปมาถึงรู้ว่า ป้าเนียมออกจากบ้าน แล้วบังเอิญรองเท้าหลุดไปตอนไหนไม่รู้ แล้วที่แย่ยิ่งกว่าคือ ป้าแกดันเอาเท้าไปวางบนท่อไอเสียมอเตอร์ไซค์ตลอดทางที่วิ่งจากบ้านมาถึงโรงพยาบาล เพราะเข้าใจผิดคิดว่าท่อไอเสียที่เท้าวางอยู่มันคือที่วางเท้า แล้วด้วยความที่ป้าเป็นเบาหวานมานาน จนเส้นประสาทส่วนเท้ามันตายด้านหมดแล้วเลยทำให้ไม่รู้สึกปวดอะไร แต่เพราะความไม่รู้สึกปวดเนี่ยแหละทำให้ผิวหนังที่ฝ่าเท้าต้องไหม้เกรียมจนไม่สามารถเอาหนังมาเชื่อมต่อกันได้แล้ว

ผลก็คือ คุณหมอให้ทางเลือกคุณป้าอยู่ 2 อย่าง คือ
1) ตัดเท้าข้างนั้นทิ้งไปเลย กับ
2) ทำ skin grafting โดยตัดผิวหนังที่ต้นขาบางส่วนมาใช้แทนผิวหนังที่ฝ่าเท้าที่ไหม้เกรียมไป

ทำ skin grafting คือการตัดชิ้นผิวหนังออกมาไปเข้าเครื่องรีดผิวหนังให้แบนแล้วนำไปแปะตรงส่วนที่ผิวหนังหายไป

ซึ่งแน่นอนล่ะครับ ใครจะยอมโดนตัดเท้าออก ป้าเลยขอเลือกวิธีที่ 2 แทน คือการทำ skin grafting แต่ด้วยปัญหาของคนที่เป็นเบาหวานคือ เลือดมันข้นหนืดด้วยนํ้าตาลในกระแสเลือดมีสูงมาก แถมยังเป็นที่เท้าและไร้ความรู้สึกโดยสิ้นเชิงอีกด้วย หมอคิดว่าการเอาหนังไปโปะที่เท้าเฉยๆคงไม่ได้ผลแน่นอน จึงต้องเอาฝ่าเท้าข้างที่รักษาไปประกบกับต้นขาด้านในแทน ซึ่งคนไข้จะต้องอยู่ในท่านี้ไปประมาณ 2-3 เดือน จนกว่าร่างกายมันจะฟื้นฟูผิวหนังได้อย่างสมบูรณ์

ภาพตัวอย่าง แสดงท่าที่ป้าเนียมต้องอยู่ในท่านี้ตลอด 2-3 เดือน

ในช่วงระหว่างที่ทำการรักษา ป้าเนียมต้องอยู่ในท่านี้เพื่อแลกกับการไม่โดนตัดเท้าทิ้ง ไม่ต้องกลายเป็นคนพิการเดินไม่ได้ แต่หารู้ไม่ว่า การที่ข้อต่อของร่างกายเรา หากไม่ได้มีการขยับเขยื้อนติดต่อกันนานๆ แค่ 1 เดือนก็เริ่มมีปัญหาข้อติดกันแล้วนะ แต่ป้าต้องอยู่ในท่านี้ร่วมๆ 3 เดือน ผลคือ แผลที่เท้าป้าหายสนิท แต่ป้าก็ยังเดินไม่ได้อยู่ดีเนื่องจากข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้าของป้าเนียมติดแข็งโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถงอเหยียดข้อได้เลย เวลาจะเดินไปไหนป้าต้องใช้ไม้เท้ากระเตงตัวเองไปในท่าฝ่าเท้าแตะต้นขานั่นแหละครับ บางทีป้าโดนตัดเท้าไปอาจจะเดินได้สบายกว่าด้วยซํ้านะ

ภาพตัวอย่าง แม้แผลจะหายแล้ว แต่เวลาเดินไปไหนต้องเดินยืนท่านี้ตลอดจากข้อสะโพก-เข่าติด

สรุป ป้าจะตัดเท้า หรือไม่ตัดเท้าในท้ายที่สุดก็ไม่สามารถเดินได้เหมือนคนปกติอยู่ดี นี่คือผลพวงของโรคที่เรารู้จักกันดีอย่างโรคเบาหวาน แล้วลองคิดต่อไปนะครับว่า คนที่ต้องอยู่ในสภาพนี้ไปนานๆ จิตใจเค้าจะเศร้าหมองขนาดไหน ขยับไปไหนก็ลำบาก ต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอด ความเชื่อมั่นในตนเองก็ลดลง คนไข้ก็จะจมอยู่กับความคิดในทางลบ หงุดหงิดง่าย ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากพบใครเพราะอายผู้อื่นที่ต้องกลายเป็นคนพิการ วันๆเอาแต่กินแล้วก็นอน พอเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงเรื่อยๆกล้ามเนื้อก็ฝ่อลีบ ได้แต่นอนอยู่บนเตียงเฉยๆ กลายเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง เมื่อเวลาผ่านไปได้สักระยะผู้ป่วยก็เสียชีวิตไปอย่างทุกข์ทรมานด้วยโรคแทรกซ้อนสาระพัดจากการนอนติดเตียงนานๆ 

หากวันนั้น คนไข้ที่เป็นเบาหวานจนเท้าไร้ความรู้สึกไปแล้วจะระวังตัวเองโดยการใส่รองเท้าหุ้มส้น รองเท้าผ้าใบ หรือรองเท้ารัดข้อต่างๆ เรื่องเหล่านี้ก็คงจะไม่เกิดขึ้น จริงมั้ยครับ ฉะนั้น หากที่บ้านเพื่อนๆมีญาติพี่น้องที่เป็นโรคเบาหวานอยู่ล่ะก็ โปรดให้ความสำคัญกับรองเท้าให้มากๆ ให้ใส่ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน หรือนอกบ้านก็ตามนะ เพราะเรื่องการเจ็บป่วยใหญ่ๆมันเริ่มมาจากเรื่องที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยแทบทั้งนั้นนะครับผม





วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เคสน่าศึกษา 03 ปวดเข่าด้านใน จากสะโพกอ่อนแรง


เคสน่าศึกษา 03
ปวดเข่าด้านใน จากสะโพกอ่อนแรง

ถ้านึกถึงอาการปวดเข่า คนวัยทำงานหลายคนจะคิดถึงโรคข้อเข่าเสื่อม โรคที่มีความผิดปกติของข้อเข่า แล้วคิดว่าจะพบในผู้สูงอายุกันเสียเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็มองว่าเป็นอาการปวดที่เกิดจากเอ็นอักเสบ เอ็นฉีกทั่วๆไปกันใช่มั้ยครับ แต่ในเคสที่ผมจะยกตัวอย่างให้ดูกันนี้ เกิดอาการปวดเข่าด้านในจากกล้ามเนื้อสะโพกอ่อนแรงครับผม กล้ามเนื้อสะโพกอ่อนแรงมีผลทำให้ปวดเข่าด้านในได้อย่างไร ติดตามได้เลยครับ

สำหรับผู้ป่วยรายนี้มาหาผมด้วยอาการปวดเข่าด้านในอย่างไม่ทราบสาหตุ คือ จู่ๆก็ปวดขึ้นมาซะดื้อๆอย่างงั้น ไม่ได้ล้ม ไม่ได้เกิดอุบัติเหตุ ไม่ได้เล่นกีฬา ไม่ได้ออกกำลังกายอะไรด้วย ตอนแรกคิดว่าเดินเยอะเลยทำให้ปวดเลยทนๆไป ทนไปได้เดือนกว่าอาการปวดไม่มีทีท่าว่าจะหายซะที แถมเป็นหนักกว่าเดิมด้วยซํ้า

จากเดิมที่จะปวดมากเวลาเดินขึ้นลงบันได ปัจจุบันนี้แม้แต่เดินบนพื้นราบก็ปวดแล้ว แถมเวลาขึ้นลงบันไดต้องตะแคงตัวเดินทางด้านข้าง ค่อยๆย่องลงมาทีล่ะขั้น ทีล่ะขั้น แล้วลักษณะงานต้องเดินขึ้นลงบันไดตลอดเวลาด้วย เป็นอะไรที่ทรมานมากๆ พักหลังมานี้จึงเดินแบบคนขาแข็งเหมือนคนใส่เฝือกขา คือ ไม่กล้าเดินงอเข่ามากเพราะกลัวเจ็บเข่า

คนไข้เล่าประวัติมาแบบนี้ ผมก็เฉลียวใจตั้งแต่ที่คนไข้บอกว่าเดินขึ้นลงบันไดไม่ค่อยได้แล้วล่ะครับ และอีกอย่าง ตัวคนไข้ก็อายุแค่ 30 ต้นๆ ไม่มีประวัติว่าเคยบาดเจ็บที่ข้อเข่าแบบรุนแรงมาก่อนด้วย ตัดเรื่องข้อเข่าเสื่อมไปได้เลย ช่วงอายุแค่นี้ไม่มีทางเป็นเข่าเสื่อมแน่นอน สันนิษฐานว่าน่าจะมีปัญหาที่ข้อเข่ามันบิด หรือไม่ก็กล้ามเนื้อสะโพกอ่อนแรงแน่ๆถึงทำให้ปวดแบบนี้ได้ ผมจึงทดสอบให้คนไข้ลองยืนขาเดียว ปรากฎได้ตามภาพข้างล่างนี้ครับ...

ยืนขาเดียว เพื่อทดสอบความแข็งแรงกล้ามเนื้อสะโพกที่เรียกว่า trendelenburg test
โดยในภาพเป็นการทดสอบความแข็งแรงกล้ามเนื้อสะโพกข้างขวา

จากภาพด้านบนเป็นการทดสอบที่มีชื่อว่า trendelenburg test ซึ่งทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพกที่ทำหน้าที่กางขา โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ gluteus medius ถ้าคนที่กล้ามเนื้อแข็งแรงดีจะตรงกับภาพซ้าย แต่ถ้าสะโพกอ่อนแรงจะตรงกับภาพขวา นั่นคือ พอยืนขาเดียวปุ๊บสะโพกข้างใดข้างหนึ่งมันจะตกลงมาทันที ซึ่งกรณีคนไข้รายนี้มีปัญหากล้ามเนื้อสะโพกอ่อนแรงข้างซ้ายครับ คือ ยืนขาซ้าย ยกขาขวาลอย แล้วสะโพกข้างขวามันตกลงมา 


ภาพแสดงตำแหน่งของกล้ามเนื้อ gluteus medius ที่อยู่ด้านข้างสะโพก

ทีนี้ผมรู้แล้วว่า คนไข้รายนี้มีปัญหากล้ามเนื้อสะโพกอ่อนแรง แต่ที่ยังคาใจอยู่ก็คือ คนที่สะโพกอ่อนแรงไม่จำเป็นต้องปวดเข่าทุกคนเสมอไป ทำไมรายนี้ถึงปวดเข่าด้านในมาก แถมเค้ายํ้าด้วยนะว่า ยิ่งขึ้นลงบันไดยิ่งปวดสุดๆ ผมจึงให้คนไข้ลองเอาขาข้างนึงขึ้นไปบนเก้าอี้ แล้วทำท่าเหมือนจะเดินขึ้นบันไดเท่านั้นแหละ ผมร้องอ๋อทันที คนไข้ทำตามภาพด้านล่างนี้ครับ...


ภาพเปรียบเทียบท่าเดินขึ้นบันไดของขาทั้ง 2 ข้าง

เพื่อนๆเห็นความผิดปกติอะไรมั้ยครับ สังเกตุที่ภาพซ้ายกระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้งวางตัวอยู่ในแนวเกือบจะเป็นเส้นตรงดีเมื่อผมลากเส้นจากบนลงล่าง แต่พอมาดูอีกฝั่งหนึ่ง โอ้โห ขาของคนไข้โย้เข้ามาด้านในเต็มที่เลย พอลากเส้นจากบนลงล่าง จะเห็นเลยว่า เส้นมันตัดกันเยอะมากเมื่อเทียบกับข้างปกติ

ซึ่งคนไข้ไม่รู้เลยว่า ตัวเองเดินขึ้นบันไดในลักษณะขาแบบนี้ แล้วที่สำคัญ ผมลองให้คนไข้ลงนํ้าหนักขาซ้ายเต็มที่แล้วทำท่าเหมือนจะก้าวขาขึ้นบันไดจริงๆ ปรากฎคนไข้มีอาการปวดเข่าแปล็บที่ด้านในทันที แต่พอผมแนะให้กางขาเยอะหน่อย ทำเหมือนให้เหมือนขาข้างปกติเลยนะ แล้วก็ลงนํ้าหนักขาเหมือนจะก้าวขาขึ้นบันไดเหมือนเดิม คราวนี้รู้สึกว่าอาการปวดเข่าด้านในมันน้อยลงทันทีเลย (แต่ยังปวดอยู่นะ)

เหตุที่คนไข้บิดเข่าเข้าด้านในเยอะๆตามภาพขวาขณะเดินขึ้นบันได แล้วเกิดอาการปวดเข่าได้นั้น มันเป็นเรื่องของแนวแรงครับ...

โดยปกติแล้วขณะที่เราเดินลงนํ้าหนัก เมื่อเท้าสัมผัสกับพื้นมันจะเกิดแรงสะเทือนจากพื้นสู่เท้า จากเท้าก็กระจายไปที่ข้อเข่า ข้อสะโพก จนถึงกระดูกเชิงกรานแล้วแรงสะเทือนก็ลดลงไป แล้วถ้าเรามีการวิ่ง หรือการกระโดด แรงสะเทือนจะสะท้อนขึ้นมาจากเท้าจนถึงสะโพกก็มากขึ้นตามลำดับ ซึ่งโดยปกติมันควรเป็นอย่างนั้นนะ 

แต่ในรายที่การวางเท้าขณะเดินไม่ได้อยู่ในแนวปกติเหมือนในภาพขวา แนวแรงสะเทือนแทนที่จะเลยเข่าไปที่สะโพก แต่แนวแรงดันไปกระจุกอยู่ที่หัวเข่าด้านในแทน ตามลักษณะการลงนํ้าหนักของขา และองศาของเข่าที่บิดไป จึงทำให้เอ็นเข่าด้านในถูกยืด ถูกกระชากจากองศาเข่าที่บิดไป ระยะแรกๆก็ไม่เป็นไรหรอกครับ แต่เมื่อเดินแบบนี้ซํ้าๆกันเป็นเดือนๆเป็นปีๆ ในที่สุดเอ็นมันก็รับสภาพไม่ไหวจนทำให้เอ็นอักเสบได้ในที่สุด  

ลักษณะแนวแรงที่สะท้อนขึ้นไปที่เข่า

ซึ่งกระบวนการที่ทำให้ปวดเข่าด้านในได้นั้น ไมได้เกิดปุบปับทันทีนะ บางรายเดินขึ้นบันไดด้วยเข่าบิดๆแบบนี้มา 5-6 เดือนแล้วพึ่งมีอาการ บางรายก็ 1 เดือนก็มี มันขึ้นอยู่กับพื้นฐานความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของเราด้วยครับ 

ซึ่งวิธีการรักษาของคนไข้รายนี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยนะ เริ่มจาก..

1) ผมสังเกตุเห็นว่าคนไข้มีกระดูกหน้าแข้งข้างซ้ายบิดเข้าด้านใน (internal rotate) มากกว่าข้างปกติ จึงดัดกระดูกหน้าแข้งให้กลับไปอยู่ในองศาเดิมร่วมกับให้มีการเคลื่อนไหวของข้อเข่า (mobilization with movement) เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่าได้ออกแรงและจดจำองศาข้อเข่าในแบบที่ควรจะเป็น ซึ่งผมไม่ขอลงรายละเอียดเทคนิคตรงนี้นะครับ เพราะมันเป็นเทคนิคเฉพาะทางที่อธิบายเป็นภาษาเขียนลำบากและมีความละเอียดสูงครับผม

2) เมื่อผมดัดหน้าแข้งให้อยู่ในแนวเดิมได้แล้ว ผมก็ให้คนไข้ฝึกลงนํ้าหนักขาซ้าย โดยให้ทำท่าเหมือนกับเราจะเดินขึ้นบันได แล้วให้คนไข้ฝืนตัวเองขณะลงนํ้าหนักเท้าซ้าย ให้เข่ากับเท้าตรงกันเป็นแนวเส้นตรงเหมือนขาข้างปกติ ซึ่งตัวคนไข้บอกเลยว่า การทำแบบนี้รู้สึกฝืนมากๆ ไม่ชินเลย โดย 20 ครั้งแรกเข่าคนไข้จะเป๋ไปเป๋มาตลอด แทบจะคุมให้เข่าตรงได้ยากต้องคอยมองขาตลอดเวลาที่ทำ หากไม่มองขาขณะฝึกลงนํ้าหนักขาเหมือนจะขึ้นบันไดนะ เข่าพร้อมจะบิดเข้าด้านในทันทีเลยครับ แต่พอฝึกไปได้ประมาณครั้งที่ 30 ก็เริ่มรู้สึกว่าเริ่มคุมเข่าได้ง่ายขึ้นแล้ว

3) สุดท้ายก็แนะนำท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะโพกกลุ่มที่ทำหน้าที่กางขาให้แข็งแรง (hip abduction) โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่มีชื่อว่า gluteus medius เพราะกล้ามเนื้อกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะป้องกันไม่ให้เข่าบิดเข้านด้านในขณะที่เราเดินขึ้นบันได แล้วทำให้เราหายปวดเข่าได้ถาวรจริงๆนั่นเองครับผม ซึ่งท่าออกกำลังกายในส่วนของเราโรคนี้ ผมยังไม่ได้ทำคลิปออกมาในส่วนนี้นะ แต่มีคลิปอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันใน youtube ให้เพื่อนลองไปเลือกดูกันได้หลายคลิปเลย ตามลิงค์นี้ครับ www.youtube.com/exercise gluteus medius  

ซึ่งผมใช้เวลาในการรักษาคนไข้รายนี้จนหายขาดประมาณ 6 สัปดาห์ครับผม แต่จะหายช้าหรือเร็วนั้นจริงๆแล้ว มันขึ้นอยู่กับวินัยการทำกายบริหารของคนไข้เองด้วยนะ ถ้าขยันดี พื้นฐานเป็นคนแข็งแรงดีอยุ่แล้วก็จะหายไวกว่านี้แน่นอนครับผม 

หลังจากอ่านกรณีศึกษานี้จบ ผมจะให้การบ้านเพื่อนๆอยู่ 1 อย่าง นั่นก็คือ ทุกๆครั้งที่เพื่อนๆเดินขึ้นบันได ผมอยากให้สังเกตุเข่าทั้ง 2 ข้างของตัวเองว่า เราเผลอเดินเข่าบิดเข้าด้านในเหมือนคนไข้รายนี้รึเปล่า แล้วถ้าเห็นว่าเป็นล่ะก็ ทุกๆครั้งที่เดินขึ้นบันได ให้เราพยายามบังคับเข่าให้ตรงทุกครั้งนะครับ ไม่เช่นนั้น ด้วยพฤติกรรมผิดเล็กๆน้อยๆสะสมแบบนี้แหละ ที่จะทำให้เราเกิดอาการปวดเข่าด้านในจนแทบเดินกันไม่ได้เลยนะครับผม ^^

-----------------------------------------------------
เวลาทำการดูบอดี้ คลินิกกายภาพบำบัด 
วันเสาร์-อาทิตย์ 8.00-20.00 น.
วันจันทร์-ศุกร์ 16.00-20.30 น. 
.
โปรดนัดจองเวลาก่อนเข้าคลินิกทุกครั้งนะครับ
เบอร์ 064-008-7537 
1) แจ้งชื่อผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษา
2) แจ้งวัน และเวลาที่ต้องการเข้าคลินิก เพื่อล็อกเวลา
.
แผนที่ดูบอดี้ คลินิกกายภาพ => https://goo.gl/shPWGR



วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เคสน่าศึกษา 02 ปวดหลังเป็นปีๆ เพราะหลังแอ่นแท้ๆ


เคสน่าศึกษา 02 
ปวดหลังเป็นปีๆ เพราะหลังแอ่นแท้ๆ

อาการปวดหลัง ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหน ยังไงเสียเพื่อนๆก็คงเคยเป็นกันแทบทุกคนแน่นอน แต่สำหรับเคสนี้มีอาการปวดหลังเรื้อรังมานานมาก มีอาการปวดแบบเป็นๆหายๆอยู่ตลอดเวลา รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หายขาดซะที รักษามาก็นานมาก แถมเป็นคนที่ออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอด้วยนะ ทำไมคนที่ร่างกายแข็งแรง และออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอถึงปวดหลังเรื้อรังได้ ในโพสนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับผม

เพื่อไม่ให้โพสยาวเกินไปจนเพื่อนๆหลับคาบทความ ผมจะสรุปเลยนะครับ ปัญหาของคนไข้รายนี้ก็คือ 

**ปัญหาหลัก : 
คนไข้รายนี้เป็นคนมีบุคคลิกหลังแอ่น (lumbar hyperlordosis) ตลอดเวลาครับ ไม่ว่าจะยืน เดิน นอน นั่ง หลังจะแอ่นอย่างนี้ตลอดเลยนะ สังเกตุจากรูปภาพทางด้านหลังจะเห็นว่า คนไข้ยืนหลังแอ่นจนเห็นร่องหลังมันลึกเข้าไปเลย แล้วพอมองจากด้านข้าง จะเห็นคนไข้มีพุงยื่นออกมาด้วย ซึ่งคนไข้ไม่ใช่คนอ้วน หุ่นออกจะดีด้วยซํ้าไป แต่ดันมีพุงซะงั้น 


คนไข้มีลักษณะพุงยื่นหลังแอ่น สังเกตุจากเส้นลากที่เว้าเข้าไป

มองจากด้านหลัง จะเห็นเป็นร่องเว้าเข้าไปในร่องสันหลัง


ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพุงที่เห็นไม่ได้เกิดจากไขมันที่หน้าท้องเยอะอะไรหรอกนะครับ แต่เกิดจากหลังที่แอ่นมากเนี่ยแหละ มันเลยทำให้ดูมีพุงนั่นเองครับผม 

*ปัญหารอง : 
โดยปัญหารองจะมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ 

1) กล้ามเนื้อหลังส่วนเอวตึงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างกระดูกสันหลังระดับเอวที่แอ่นไปด้านหน้ามากๆ เลยทำให้กล้ามเนื้อหลังส่วนนี้ต้องออกแรงเกร็งตามไปด้วย เพื่อพยุงกระดูกสันหลังไม่ให้แอ่นไปมากกว่าเดิม 


มองจากด้านหลัง จะเห็นลำกล้ามเนื้อที่ตึงขึ้นมา

แต่ด้วยหลังที่แอ่นตลอดเวลา กล้ามเนื้อหลังส่วนนี้จึงต้องเกร็งค้าง แล้วเมื่อเกร็งค้างนานๆ กล้ามเนื้อมันก็ล้า พอล้ามากๆเข้าก็กลายเป็นอาการปวดในที่สุด หากคนไข้รายนี้ไปนวดหลัง นวดแบบธรรมดาเลยนะ อาการปวดหลังจะดีขึ้นทันทีเลยครับ แต่ไม่นานอาการปวดหลังก็จะกลับมาเป็นใหม่ เพราะหลังตึง..เป็นเพียงปัญหารองของกระดูกสันหลังที่แอ่นอยู่นั่นเองครับผม

การรักษาในจุดนี้ผมก็ใช้การกด การคลายกล้ามเนื้อหลัง การยืดกล้ามเนื้อหลังธรรมดาๆเลยครับ เพื่อลดแรงตึงของกล้ามเนื้อ แล้วเตรียมพร้อมสำหรับการรักษาในส่วนอื่นต่อไป

2) กล้ามเนื้อกลุ่ม iliopsoas ที่อยู่ทางด้านหน้ากระดูกสันหลังส่วนเอวมันตึงมาก ซึ่งหากกล้ามเนื้อมัดนี้เกิดตึงมากๆ จะทำให้เราเกิดภาวะกระดูกสันหลังแอ่นได้ง่ายขึ้น เนื่องจากกล้ามเนื้อมัดนี้ไปเกาะที่หน้ากระดูกสันหลังตามภาพ พอกล้ามเนื้อตึงมันก็จะดึงให้หลังยื่นมาด้านหน้าจนหลังแอ่นในที่สุด โดยการที่กล้ามเนื้อมัดนี้ตึงได้เกิดได้หลายปัจจัยนะ เช่น ชอบนั่งทำงานนานๆ มีพฤติกรรมนั่งหลังแอ่น ชอบวิ่งออกกำลังกายโดยไม่ได้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้มากพอ เป็นต้น 


กล้ามเนื้อ psoas major ถ้ามัดนี้ตึง จะดึงให้หลังแอ่นจากตำแหน่งที่มันเกาะกระดูกสันหลัง

การรักษาในส่วนที่ 2 นี้ผมก็คลายกล้ามเนื้อโดยใช้นิ้วกดๆคลึงๆไปที่หน้าท้องของคนไข้ (ตามภาพด้านล่าง) ซึ่งเป็นตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่วางตัวอยู่นั่นเองครับ แล้วก็แน่นอน คนที่หลังแอ่นมากขนาดนี้ กล้ามเนื้อ iliopsoas จะตึงขนาดไหน อย่าว่าแต่กดเลยครับ แค่แตะลงไปเบาๆก็ตึงปวดจากหน้าท้องแล้วสะท้านไปทั่วทั้งหลังเลย 


ตัวอย่างการกดหน้าท้องเพื่อคลายกล้ามเนื้อ iliopsoas 
ดูคลิปเต็มๆได้ที่ https://youtu.be/IR4WHHbAfgM

3) ข้อกระดูกสันหลังระดับเอวยึดติดกันเป็นแผง สังเกตุได้จากที่ผมให้คนไข้ทำท่าแมวขู่ (cat pose) ถ้าคนที่กระดูกสันหลังมีความยืดหยุ่นดี เค้าจะสามารถทำหลังให้โค้งเป็นรูปตัว C ควํ่าได้ แต่สังเกตุรายนี้ให้ดี เค้าทำหลังโค้งได้เฉพาะหลังส่วนบน แต่หลังส่วนเอวดันเป็นเส้นตรงซะงั้น 

สังเกตุหลังส่วนล่างจะเป็นเส้นตรง

เมื่อเทียบกับคนที่หลังมีความยืดหยุ่นดี หลังส่วนล่างจะดูโค้งกว่า

นั่นหมายความว่า คนไข้รายนี้มีปัญข้อกระดูกสันหลังยึดติดกันอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างหลังแอ่นที่เป็นมานานนั่นเองครับผม เคสนี้จะต้องใช้การดัดข้อกระดูกสันหลังที่ติดทั้งหมดให้เกิดการคลายตัว จนข้อกระดูกสันหลังเคลื่อนไหวได้เป็นอิสระแล้วสามารถทำหลังโค้งๆเป็นรูปตัว C ควํ่าได้ทั้งสันหลัง แต่แม้จะคลายข้อกระดูกสันหลังที่ติดดีแล้ว ก็ไม่ได้หมายความจะทำให้หลังหายแอ่นได้นะ ข้อติดก็ส่วนข้อติด หลังแอ่นก็ส่วนหลังแอ่น ไม่เกี่ยวกันครับ 

การรักษาในส่วนที่ 3 ก็จะใช้การดัดข้อสันหลังที่ติดทั้งหมดให้เกิดการคลายตัวก็เป็นอันเรียบร้อย แล้วจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการแก้หลังแอ่นซึ่งเป็นปัญหาใหญ่กันต่อเลยครับ

โดยการที่เราคลายข้อที่ติด จะทำให้คนไข้ฝึกปรับท่าเพื่อแก้หลังแอ่นทำได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเองครับผม สังเกตุได้จากคนไข้หลายคนที่มารักษากับผม มักจะเคยไปรักษาโดยการดัดหลังให้มีเสียงกร๊อบๆ พอดัดจนเสียงดังปุ๊บ จะรู้สึกว่าหลังมันโล่งขึ้น หลังเบาขึ้นทันที แต่ประมาณ 2 สัปดาห์ หรือไม่ก็ 1 เดือน อาการปวดหลังก็จะค่อยๆกลับมาเป็นใหม่ได้ เพราะพฤติกรรมความเคยชินต่อการทำท่าแอ่นหลังขณะยืน เดิน นั่งยังคงมีอยู่ ถ้าจะให้หายขาดตลอดชีวิตเลย ต้องแก้ที่สมองครับ 


นอกจากนี้ผมทดสอบให้คนไข้ก้มหลังแตะปลายเท้า ปรากฎคนไข้ก้มหลังได้ตามภาพ C ครับ หลังแข็ง

โดยการแก้ที่สมองในที่นี้ผมไม่ได้ให้ไปผ่าตัดเปลี่ยนสมองแต่อย่างใดนะ แต่ให้ใช้การปรับพฤติกรรม และปรับความรู้สึกให้เราม้วนก้นห่อหลังน้อยๆอยู่ตลอดเวลานั่นเองครับผม 


คลิปตัวอย่างการฝึกคนไข้ให้ม้วนก้นในท่ายืน

ซึ่งผมจะให้คนไข้ยืนหลับตาแล้วพยายามม้วนก้นขึ้น เก็บพุงหน่อยๆจนหลังมันหายแอ่น (ดูคลิปตัวอย่างการฝึกที่ลิงค์ด้านบนได้ครับ) จากนั้นก็ถามคนไข้ว่า "ขณะนี้รู้สึกว่าตัวเองยืนยังไง?" คนไข้จะตอบทันทีว่า "รู้สึกว่าตัวเองกำลังยืนห่อหลัง ทำหลังค่อมมากๆอยู่อ่ะ" พอคนไข้ตอบมาแบบนี้ ผมก็ให้คนไข้ลืมตาขึ้น แล้วมองกระจกทันที คนไข้ก็จะแปลกใจตัวเองว่า "ภาพในกระจกตัวเรายืนหลังตรงดีมากๆ หลังไม่แอ่น พุงก็ไม่ยื่นแล้ว (เหมือนภาพด้านล่างทางขวา) แต่ความรู้สึกตอนทำม้วนก้นเหมือนตัวเองกำลังยืนหลังค่อมมากๆอยู่เลยนะ ทำไมภาพที่เห็นกับความรู้สึกมันไม่ตรงกันเลย?" 


ภาพเปรียบเทียบยืนตามความเคยชิน กับยืนม้วนก้นลงตลอดเวลา (หลังจะแอ่นน้อยลง)

ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวข้อต่อแถวเชิงกรานและหลังระดับเอวมันคุ้นชินกับการทำงานแบบนี้อยู่ เราต้องใช้สติ (สมอง) เข้าไปสั่งการให้ม้วนก้นจนหลังมันตรงเป็นปกติอยู่ตลอดเวลา จนเส้นประสาทรอบๆข้อเชิงกรานมันเกิดการเรียนรู้ แล้วค่อยๆปรับความรู้สึกให้ตรงกับความเป็นจริงตามภาพที่เราเห็น พูดง่ายๆก็คือ เราต้องสอนเส้นประสาทส่วนนั้นให้มันจำใหม่ เรียนรู้ใหม่ทั้งหมด คนไข้ถึงจะหายปวดหลังได้อย่างถาวร แล้วไม่กลับมาหลังแอ่นจนปวดหลังได้อีกเลยตลอดชีวิต เพราะเราสามารถยืนในท่าที่ถูกต้องได้เป็นอัตโนมัติแล้วนั่นเองครับ


ภาพเปรียบเทียบ ยืนปล่อยตามสบาย กับยืนม้วนก้น 
(ผมฝึกให้คนไข้กายใจเข้าลึกๆร่วมกับม้วนก้น ร่องสันหลังจึงตื้นขึ้นไว)

ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าที่ตัวเราจะปรับพฤติกรรมได้นั้น มันขึ้นอยู่กับความถี่ของการฝึก และสติของตัวเองเนี่ยแหละครับ ถ้าขยันดีมากมีสติที่จะบังคับให้ม้วนก้นอยู่ตลอด บางรายแค่สัปดาห์เดียวหายขาดก็มี แต่บางราย 2 เดือนแล้วยังไม่หายก็มีเช่นกัน 

ในช่วงแรกของการฝึก มันจะยากที่จะควบคุมสติตัวเองให้ม้วนก้นอยู่ตลอดเวลา (เพื่อไม่ให้หลังแอ่น) ดังนั้น ผมจะต้องติดเทปรอบๆเชิงกรานเป็นตัวช่วย เพื่อให้การม้วนก้นขณะยืน-นั่งทำได้ง่าย และเป็นการเตือนสติของคนไข้เองด้วยนั่นเองครับ ซึ่งคนไข้ที่มีอาการแบบนี้ จะโดนผมติดเทปที่หลัง ที่เชิงกรานจนดูเหมือนมอมมี่ไปหลายคนอยู่นะ ฮาๆๆ

-----------------------------------------------------
เวลาทำการดูบอดี้ คลินิกกายภาพบำบัด 
วันเสาร์-อาทิตย์ 8.00-20.00 น.
วันจันทร์-ศุกร์ 16.00-20.30 น. 

โปรดนัดจองเวลาก่อนเข้าคลินิกทุกครั้งนะครับ
เบอร์ 064-008-7537 
1) แจ้งชื่อผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษา
2) แจ้งวัน และเวลาที่ต้องการเข้าคลินิก เพื่อล็อกเวลา

แผนที่ดูบอดี้ คลินิกกายภาพ => https://goo.gl/shPWGR