วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

ภาวะกระดูกงอก ในคนกระดูกเสื่อม อันตรายมั้ย?


ภาวะกระดูกงอก หรือที่เรียกว่า spur นั้น เกิดจากกระดูกที่เสื่อม ผุกร่อนจากการใช้งานและอายุที่มากขึ้น ร่างกายจึงซ่อมแซมส่วนที่เสียหายด้วยตัวเอง โดยการนำแคลเซี่ยมไปเกาะบริเวณนั้น แต่ทีนี้ร่างกายเราไม่ได้มีตาหรือมีเครื่องมือฉาบแบบที่ช่างก่อสร้างเขาทำกัน การเกาะของแคลเซี่ยมจึงดูตะปุ่มตะปั่มไม่ราบเรียบ และบางส่วนอาจมีปลายแหลมไปเสียดสีกับเนื้อเยื่อรอบๆทำให้เกิดอาการปวดได้ ซึ่งเป็นผลของกระดูกงอกนั่นเองครับ

แสดงว่ากระดูกงอกอันตรายน่ะสิ ?

ก็ไม่เชิงครับ เพราะโดยส่วนมากแล้วผู้สูงอายุล้วนมีกระดูกงอกตามข้อต่างๆด้วยกันทั้งหมด เพียงแต่ไม่มีอาการแสดงเท่านั้นเอง เพราะการเกิดกระดูกงอก หรือหินปูนนั้นเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายในการซ่อมแซมกระดูก ยกเว้นการเกิดกระดูกงอกจะไปเกิดบริเวณที่ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น เกิดกระดูกงอกที่กระดูกสันหลังใกล้เส้นประสาทจากภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม และเมื่อกระดูกงอกมีขนาดโตขึ้นจนไปกดเบียดเส้นประสาทไขสันหลังทำให้เกิดอาการขาชา ขาอ่อนแรง นอกจากที่กระดูกสันหลังแล้วที่พบได้บ่อยในคนไทยคือเกิดภาวะกระดูกงอกที่เข่าในผู้สูงอายุที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเกิดจากกระดูกงอกที่เกินมาไปเสียดสีกับเนื้อเยื่อรอบๆข้อเข่า ทำให้เกิดอาการปวดเสียวเข่าในขณะที่เดินนั่นเองครับ สรุปสั้นๆแล้วกระดูกงอกไม่อันตรายถ้าไม่ไปเกิดกับส่วนที่สำคัญต่อร่างกายครับผม

กระดูกงอกในผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อม

รักษากระดูกงอกให้หายไปได้มั้ย ?

สามารถรักษาให้หายได้ครับ แต่มันเป็นการรักษาที่ปลายเหตุเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปกระดูกงอกก็จะเกิดขึ้นใหม่เพราะเป็นกลไกการซ่อมแซมกระดูกตามธรรมชาติของร่างกายเรา การรักษาทางกายภาพบำบัดนั้นจะดูเป็นกรณีไปครับ เช่น เป็นกระดูกสันหลังเสื่อมแล้วกระดูกงอกไปเบียดเส้นประสาท นักกายภาพจะใช้เทคนิคการขยับข้อต่อ (mobilization) เพื่อให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นและช่วยสลายกระดูกงอกบางส่วนออกไป ซึ่งการรักษาจะใช้เวลาสั้นยาวไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับอาการที่เป็นของผู้ป่วย หรือ ในกรณีที่เป็นกระดูกงอกที่ส้นเท้า อาการจะคล้ายๆกับโรครองชํ้า เพียงแต่เมื่อ X-ray ออกมาจะเห็นกระดูกงอกที่ส้นเท้าชัดเจน แต่ในโรครองชํ้าจะไม่เห็นใน x-ray นักกายภาพจะใช้เครื่อง shock wave ซึ่งเป็นเครื่องยิงแรงดันอากาศอย่างนึงไปที่กระดูกงอก เพื่อสลายกระดูกงอกออก และซํ้าด้วยการกดจุดนั่นเองครับ

สามารถป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกงอกขึ้นมาอีกได้มั้ย ?

อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็สามารถทำได้ครับ เพราะการเกิดกระดูกงอกมันมาคู่กับกระดูกเสื่อมและผู้สูงอายุ เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกงอกเฉพาะส่วนได้ เช่น มีปัญหาเรื่องเข่าเสื่อม เข่าเสื่อมเกิดจากอะไรล่ะ? ก็เกิดจากกระดูกต้นขากับกระดูกหน้าแข้งมาชนกันจนทำให้หมอนรองกระดูกหายไปเนื้อกระดูกก็เสียหายจึงเกิดกระดูกงอกขึ้นมา แล้วต้นเหตุของเข่าเสื่อมเกิดจากอะไร? หลักๆเลยก็คืออายุที่มากขึ้น ซึ่งเราคงแก้อะไรตรงนี้ไม่ได้ ต่อมาเกิดจาก "กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง"ครับ ซึ่งเราแก้ตรงจุดนี้ได้โดยการให้ผู้ป่วยออกกำลังกายแบบ weight training ของกล้ามเนื้อขา เพื่อให้กล้ามเนื้อมีแรงพยุงข้อเข่า ไม่ให้กระดูกชิ้นบนกับชิ้นล่างมาชนกันได้จนเกิดเป็นวงจรกระดูกงอก 

หรือ ในผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อมก็เช่นเดียวกันครับ ใช้การออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลาง (core stability exercise) และแบบ weight training จนกล้ามเนื้อหลังและลำตัวแข็งแรงมากขึ้นแล้ว โอกาสการเกิดกระดูกงอกที่กระดูกสันหลังก็จะน้อยลงครับ (ผมใช้คำว่าน้อยลงนะครับไม่ใช่หายไปหมด)

กินแคลเซี่ยมแล้วทำให้เกิดกระดูกงอกจริงรึเปล่า ?

ถ้าใครได้อ่านบทความมาจนถึงบรรทัดนี้ก็พอจะเดาได้นะครับว่าคำตอบคืออะไร แต่นแต้น...ไม่เป็นความจริงครับ อย่างที่ได้กล่าวไป การเกิดกระดูกงอกนั้นเกิดจากร่างกายพยายามซ่อมกระดูกที่เสียหาย แต่เพราะภายในร่างกายไม่มีตาและเครื่องมือคอยฉาบให้กระดูกเรียบเหมือนช่างปูน มันจึงเกิดเป็นกระดูกส่วนเกินขึ้นมาที่เรียกว่ากระดูกงอกนั่นเอง

ร่างกายคนเรามันก็เปรียบเสมือนโอ่งใบนึงละครับ คือรับปริมาณแคลเซี่ยมได้จำกัด ถ้ากินแคลเซี่ยมไปมากๆจนล้นโอ่ง ส่วนเกินที่กินเข้าไปก็จะถูกไตกำจัดออกไป ฉะนั้น สรุปสั้นๆก็คือ การทานแคลเซี่ยมไม่ทำให้เกิดกระดูกงอกครับผม เพียงแต่คนที่เป็นโรคไตหรือมีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคไตควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทานแคลเซี่ยมอัดเม็ดนะครับ

เครดิตภาพ
- http://www.neurocirurgiabh.com/coluna/lombalgia.html
- http://www.drjefflamour.com/heel-pain/confusion-causes-cures-heel-spur-diagnosis/





วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

สะพายกระเป๋าเป้ผิดๆ พาลให้กระดูกหลังคดตลอดชีวิต



กระดูกสันหลังคด (scoliosis)

ใครชอบสะพายกระเป๋าเป้เป็นชีวิตจิตใจกันบ้างเอ่ย โดยเฉพาะการสะพายกระเป๋าเป้าข้างเดียว รู้หรือไม่ว่าการสะพายกระเป๋าเป้ข้างเดียวที่หนักมากๆนั้น มีความเสี่ยงที่จะทำให้กระดูกสันหลังคดได้ง่ายๆนะครับ ยิ่งในเด็กวัยเรียนหนังสือที่พบบ่อยมากมักจะสะพายกระเป๋าเป้ข้างเดียว แถมในกระเป๋าก็บรรจุหนังสือ หรือสิ่งของต่างๆจนมีนํ้าหนักมาก ถึงแม้ในวัยผู้ใหญ่จะไม่ได้สะพายกระเป๋าเป้ใดๆแล้วก็ใช่ว่าจะไม่เสี่ยงกับโรคกระดูกสันหลังคดกันนะครับ เพราะพฤติกรรมหนึ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสันหลังคดที่มักพบได้บ่อยไม่แพ้กันคือ การนั่งไขว้ห้าง นั่นเองครับ

บทความอธิบายว่าทำไมนั่งไขว่ห้างถึงทำให้หลังคด (นั่งไขว่ห้าง อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หลังคด)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสะพายกระเป๋าเป้ข้างเดียวก็ดี การนั่งไขว้ห้างก็ดีนั้น จัดอยู่ในภาวะกระดูกสันหลังคดไม่ถาวรเท่านั้น เพียงแค่ปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ หยุดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกสันหลังคด เพียงเท่านี้ภาวะกระดูกสันหลังคดก็หายไปได้ครับ


ภาะเปรียบเทียบกระดูกสันหลังปกติกับสันหลังคด

เรามาทำความรู้จักกับประเภทของกระดูกสันหลังคดกันดีกว่าครับ 

1) กระดูกสันหลังคดถาวร (structural scoliosis)

ส่วนท่กทักเป็นมาแต่กำเนิดครับ อาจจะยังไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากในวัยทารก แต่เมื่อเด็กเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆเราถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลังที่คดมากขึ้น กว่าร้ายละ 80 นั้นเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุครับ (idiopathic) คือ เกิดมาก็เป็นแบบนี้เลย คาดว่ามีผลมาจากการสร้างกระดูกที่ผิดปกติระหว่างการเติบโตของร่างกาย กล้ามเนื้อ่อนแรงทำงานไม่สมดุลกัน เป็นต้น 

นอกจากนี้ อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาททำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง(neuropathic) หรืออาจเกิดความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกโดยตรง (osteopathic) เช่น กระดูกสันหลังบางข้อเกิดเป็นรูปลิ่ม, เกิดจากการล้มเหลวในการแบ่งแยกปล้องกระดูกสันหลังทำให้กระดูกเจริญเติมโตไม่เท่ากัน ทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังคดถาวรนั่นเองครับ

2) กระดูกสันหลังคดไม่ภาวร (nonstructural scoliosis)

ภาวะนี้เกิดได้ทุกช่วงอายุ มักเกิดจากพฤติกรรมของตัวผู้ป่วยเอง คือ ชอบนั่งไชว้ห้าง ชอบนั่งบิดเอี้ยวตัว สะพายกระเป๋าเป้ๆหนักข้องเดียว ชอบยืนเท้าสะเอว เป็นต้น แต่เมื่อปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพให้เหมาะสมภาวะกระดูกสันหลังคดก็หายไปได้เองครับ เช่น ชอบสะพายกระเป๋าเป้ข้างเดียวก็เปลี่ยนมาเป็นสะพายสองข้างแทน เพื่อให้การกระจายนํ้าหนักของเป้สมดุลกันทั้งสองฝั่ง เพียงเท่านี้กระดูกสันหลังที่ดูคดอยู่ก็หายไปแล้วครับ นอกจากพฤติกรรมแล้ว อาจเกิดจากตัวโครงสร้างอื่นๆได้ด้วยเช่นกัน ในผู้ป่วยที่ขาสั้นยาวไม่เท่ากันก็ทำให้ดูกระดูกสันหลังคดได้ เพียงแค่ใส่รองเท้าเสริมความสูงในข้างที่ขาสั้นกว่า เท่านี้กระดูกสันหลังก็ตรงเป็นปกติแล้วครับ หรืออาจเกิดจากกล้ามเนื้อหลังหดรั้งจากการบาดเจ็บ ทำให้ผู้ป่วยต้องเอียงตัวตามจึงดูเหมือนมีาภวะกระดูกสันหลังคด เป็นต้น

แต่ในรายที่เป็นกระดูกสันหลังคดถาวรนั้น ต่อให้ยืน นั่งอยู่เฉยๆ หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยังไงก็ไม่สามารถทำให้กระดูกกลับมายืดตรงได้ครับ เพราะมันเป็นที่ตัวโครงสร้างของกระดูกสันหลังโดยตรง

อาการของผู้ป่วยกระดูกสันหลังคด

โดยทั่วไปแล้วไม่มีอาการแสดงถึงความเจ็บปวดใดๆครับ แต่จะสังเกตุความผิดปกติได้ดังนี้ เมื่อส่องกระจกไหล่ทั้ง 2 ข้างจะดูสูงตํ่าไม่เท่ากัน, สะโพกดูสูงตํ่าไม่เท่ากันในขณะยืน, แผ่นหลังทางด้านซ้ายและขวานูนไม่เท่ากัน, หน้าอกทั้ง 2 ข้างนูนไม่เท่ากัน, กระดูกสะบ้าทั้ง 2 ข้างอยู่ในตำแหน่งสูงตํ่าไม่เท่ากัน นี่คือวิธีสังเกตุอาการคร่าวๆครับ ซึ่งควรสังเหตุองค์ประกอบหลายๆสั่งรวมกัน เพราะอาการบางอย่างก็มีความคล้ายคลึงกับโรคกนะดูกสันหลังคดได้ เช่น ไหล่ทั้งสองข้างสูงตํ่าไม่เท่ากันนั้น อาจเกิดจากกล้ามเนื้อคอบ่ามีความตึงตัวสูงจากโรคออฟฟิศ ซินโดรมก็ได้ครับ

แต่ในรายที่กระดูกสันหลังคดมากๆเกิน 50 องศาของการคดนั้น จะพบว่าปุ่มนูนกลางกระดูกสันหลัง (spinous process) มีการบิดหมุนดูไม่เท่ากันไปทั้งแนวกระดูกสันหลัง และมีอาการเหนื่อยง่าย หอบ เนื่องจากการที่กระดูกสันหลังคด ทำให้กระดูกซี่โครงไปกดเบียดโพรงในช่องปอดให้เล็กลง ปอดจึงขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ความจุปอดจึงลดลง 


ภาพแสดงวิธีการตรวจในผู้ป่วยกระดูกสันหลังคด

การตรวจ

การตรวจที่สามารถทำได้เองโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือช่วยนั้น ให้ผู้ป่วยยืนขาชิดตรง จากนั้นก้มหลังมือแตะปลายเท้าครับ ถ้าเป็นกระดูกสันหลังคดแบบถาวรจะพบว่าแผ่นหลังข้างซ้ายและขวานั้นสูงตํ่าไม่เท่ากัน แต่วิธีที่เห็นผลชัดแล้วสามารถนำมาวัดองศาของการคดได้คือ การ x-ray ครับ

การรักษา

สำหรับผู้ที่เป็นกระดูกสันหลังคดนั้น ไม่มีวิธีใดที่สามารถทำให้กระดูกสันหลังกลับมาตรงดิ่งเหมือนคนปกติ 100% นะครับ ที่ทำได้คือการคงโครงสร้างของกระดูกสันหลังไม่ให้คดลงไปมากกว่าเดิม โดยการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังและลำตัว ซึ่งนักกายภาพจะประเมินท่าออกกำลังกายตามความเหมาะสมของกระดูกสันหลังคดแต่ละประเภท (กระดูกสันหลังคดได้ 2 แบบคือคดแบบเป็นรูปตัว S และคดเป็นรูปตัว C) และแพทย์จะแนะนำให่ brace หรืออุปกรณ์ช่วยผยุงกระดูกสันหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดไปมากขึ้นกว่าเดิมนั่นเองครับ แต่ในรายที่กระดูกคดไปมากกว่า 50 องศาแล้ว แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัด เพื่อปรับแนวกระดูกสันหลังให้ตรงครับ 

ส่วนการออกกำลังกาย ควรเลี่ยงการออกกำลังที่ต้องมีการลงนํ้าหนัก มีแรงกระแทก เช่น การวิ่ง การกระโดดเชือก เป็นต้น เพราะแรงกระแทกจะทำให้กระดูกคดมากขึ้นได้ ควรเปลี่ยนเป็นการออกกำลังกายประเภท weight training หรือการว่ายนํ้าจะเหมาะสมกว่านะครับ 

เครดิตภาพ
- https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/001241.htm
- http://www.atozenchiropractic.com/scoliosis
- http://newsnetwork.mayoclinic.org/discussion/baby-boomers-and-scoliosis-osteoporosis-is-risk-factor/

น้องหนูยักไหล่ เอ๊ะ หรือว่าน้องหนูคอเอียงกันแน่


โรคคอเอียง (Torticollis)

ใครมีลูกก็อยากให้ลูกที่เกิดมาแข็งแรงเป็นปกติกันทุกคน แม้เด็กที่เกิดมาดูรวมๆแล้วก็ปกติดี แต่อยากให้สังเกตุที่ศีรษะเด็กกันสักเล็กน้อยว่า เด็กมีอาการคอเอียง คอหมุนค้างกันรึเปล่า โดยในเด็กที่หมอต้องใช้อุปกรณ์ดึงตัวเด็กออกมาขณะคลอด เพราะโอกาสที่จะเกิดโรค "คอเอียง หรือ torticollis" ในเด็กก็มีมากเช่นกัน แม้จะไม่ใช่โรคที่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็เสี่ยงที่จะทำให้เด็กสูญเสียบุคลิกภาพ จนนำไปสู่ภาวะกระดูกสันหลังส่วนคอคดตามมาได้

สาเหตุของโรคคอเอียง

ส่วนมากมักพบในเด็กครับ ส่วนสาเหตุนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน โดยสันนิษฐานว่าที่พบได้มากที่สุด เกิดจากอุบัติเหตุขณะคลอด เช่น ใช้อุปกรณ์ช่วยดึงขณะคลอดทารกออกมาจนทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนของคอ (sternocleidomastoid muscle) บาดเจ็บจนเกิดบาดแผลขึ้นภายใน เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหดรั้งและตึงในที่สุด หรืออาจเกิดจากการบิดและเอียงคอของตัวทารกมากเกินไปในขณะที่คลอด ทำให้เลือดไป่สามารถไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อคอ (sternocleidomastoid muscle) กล้ามเนื้อจึงบวมและเกิดพังผืดขึ้นมาที่กล้ามเนื้อทำให้เกิดการหดรั้งขึ้น 

นอกจากสาเหตุดังกล่าว ก็อาจเกิดจากตัวโครงสร้างกระดูกคอของเด็กเองที่มีการเจริญเติบโตไม่สมดุลกัน จึงทำให้กล้ามเนื้อทั้งสองฝั่งมีความยาวไม่เท่ากันกล้ามเนื้อจึงหดรั้งข้างหนึ่งและเกิดคอเอียงตามมา หรืออาจเกิดจากสายตาของเด็กได้ด้วยเช่นกัน เช่น เด็กที่ตาเหล่ ตาเขต่างๆทำให้ชอบเอียงคอคอมองสิ่งต่างๆจนเคยชินทำให้เกิดการหดรั้งของกล้ามเนื้อตามมาได้

ภาพเปรียบเทียบคนปกติกับคนที่เป็นโรคคอเอียง

อาการของโรคคอเอียง

ในเด็กแรกเกิดอาจจะสังเหตุเห็นยากนิดนึงครับ แต่เมื่อโตขึ้นได้ 3 เดือนจะเห็นความผิดปกติขึ้น คือ เด็กน้อยจะเอียงคอข้างใดข้างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา บางรายอาจมีอาการเอียงคอร่วมกับหันศีรษะไปยังข้างที่กล้ามเนื้อหดเกร็งอยู่ตลอดเวลา จะพบเห็นการเกร็งของกล้ามเนื้อคอส่วน sternocleidomastoid muscle ขึ้นเป็นลำ (กล้ามเนื้อ sternocleidomastoid เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านข้างของคอ โดยจะมีจุดเกาะของกล้ามเนื้อระหว่างบริเวณกกหูกับไหปลาร้า) เมื่อคลำเทียบกันทั้ง 2 ข้าง จะพบว่ากล้ามเนื้อฝั่งที่มีปัญหานั้นมีการแข็งเกร็ง และเมื่อจับศีรษะเด็กให้เอียงหรือหันไปด้านตรงข้ามจะเห็นลำกล้ามเนื้อตึงขึ้นชัดเจน และเด็กอาจจะต่อต้าน หรือดิ้นจากความไม่สบายตัวดังกล่าว ซึ่งต้องใช้ความละมุนละม่อมพอสมควรครับ

การรักษา

โรคนี้ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว หรือโรคที่รักษายากแต่อย่างใด เพียงแต่อาจจะใช้เวลานานหลายเดือนหรืออาจจะหลายปีจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเด็กจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กล้ามเนื้อก็มีการเปลี่ยนแปลงความยาวตามไปจึงต้องคอยหมั่นยืดกล้ามเนื้อตาม 

วิธีการรักษาก็คือการจับยืดกล้ามเนื้อ โดยการหันศีรษะของเด็กไปยังฝั่นงตรงข้ามกับข้างที่ตึง หรือใช้วิธีการให้เด็กน้อยบริหารคอเองโดยการ ใช้ของเล่นมาหลอกล่อให้เด็กน้อยหันหน้าไปฝั่งตรงข้ามกับข้างที่ตึง ในเวลานอน เราก็จับให้เด็กนอนควํ่าแล้วหันศีรษะไปฝั่งตรงข้ามกับข้างที่ตึงก็ได้เช่นเดียวกัน 

ในเด็กโตขึ้นมาหน่อยแพทย์อาจจะให้ใส่ปลอกคอ เพื่อปรับแนวกระดูกให้ตรงอยู่ตลอด ลดการหดรั้งของกล้ามเนื้อ ส่วนนักกายภาพอาจใช้เครื่องมือเข้าช่วยในการคลายกล้ามเนื้อ เช่น เครื่อง ultrasound, laser, การระกตุ้นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อที่หดรั้ง เป็นต้น ซึ่งนักกายภาพจะพิจารณาตามความเหมาะเป็นรายๆไปครับ 

เครดิตภาพ
- http://www.webmd.com/children/congenital-torticollis
- http://www.harrowphysiotherapy.ca/torticollis.html