วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตที่ใครๆก็รู้จัก


หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Nucleus Pulposus)

ถ้าจู่ๆคุณมีอาการปวดหลัง ขาชา ตึงหลัง เดินลำบากละก็ เชื่อว่าโรคแรกๆที่จะนึกถึงคงไม่พ้น "หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" อย่างแน่นอน แต่ส่วนใหญ่เราจะเรียกกันสั้นๆว่า"กระดูกทับเส้น" จริงๆกระดูกมันไม่ได้ทับเส้นนะครับ หมอนกระดูกครับหมอนรองกระดูกมันทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกมันทับเส้นประสาทได้ยังไงอ่ะ?

ให้พูดแบบกำปั้นทุบดินเลยนะครับ ก็คือหมอนรองกระดูกมันเสื่อมจากการใช้งานมานานจากการก้มๆเงยๆถือของหนัก ทำให้นํ้าในหมอนกระดูกสันหลังปลิ้นออกมาจนไปกดเบียดเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลังนั่นเองครับ แต่กลัวว่าบทความมันจะสั้นไป ฉะนั้นผมจะขยายความแบบละเอียดยิบด้วยภาษาบ้านๆให้อ่านกัน


ภาพแสดงส่วนประกอบของหมอนรองกระดูก

ภายในหมอนรองกระดูกของกระดูกสันหลังนั้นหลักๆจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนครับ คือ 

1) Nucleus pulposus : สารนํ้า(จริงๆแล้วเหมือนเจลมากกว่า)ภายในแกนกลางของหมอนรองกระดูก โดยมีหน้าที่ดูดซับแรงกระแทกและกระจายแรงของนํ้าหนักตัวที่ส่งผ่านมายังกระดูกสันหลังแต่ละข้อในขณะที่เคลื่อนไหวร่างกาย 
2) Annulus fibrosus : เส้นเอ็นก่อตัวเป็นชั้นๆห่อหุ้ม มีหน้าที่ให้ข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังมีความมั่นคงแข็งแรง จากการบิดตัวหรือการก้มเงย ป้องกันไม่ให้สารนํ้าใน nucleus pulposus ปลิ้นออกมาภายนอก 

กลไกการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

เรารู้จักองค์ประกอบของหมอนรองกระดูกสันหลังกันแล้ว ทีนี้เรามาทำความเข้าใจกลไกการเกิดโรคกันต่อ การเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหลักๆแล้วเกิดจาก การเสื่อมของ annulus fibrosus (เส้นเอ็นที่ก่อตัวเป็นหมอนรองกระดูกสันหลัง) จากการทำงานที่ส่งผลกระดูกสันหลังโดยตรง เช่น การก้มหลังยกของหนัก, การขับรถนาน, ทำกิจกรรมที่ต้องก้มๆเงยๆหลังเป็นประจำ, จากอุบัติเหตุต่อกระดูกสันหลังโดยตรง, เกิดจากการชอบก้มหลังพร้อมบิดตัว เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ที่เป็นการเพิ่มแรงเครียดต่อตัว annulus fibrosus อย่างมาก จนเกิดการฉีกขาดบางส่วน ทำให้สารนํ้าในหมอนรอง (nucleus pulposus) ค่อยๆดันตัว annulus fibrosus ออกมาทางด้านหลังจากนิสัยของคนที่ชอบก้มหลังยกของ จนในที่สุด annulus fibrosus เกิดการฉีกขาดเป็นรูทำให้สารนํ้าภายในทะลักออกมาได้ 

แต่เจ้าสารนํ้าที่ออกมานี้มันไม่ได้ออกมาเปล่าน่ะสิครับ เพราะที่ด้านหลังของหมอนรองกระดูกมีเส้นประสาทไขสันหลังอยู่ด้วย แถมตำแหน่งของสารนํ้าที่ออกมาดันไปโป๊ะเช๊ะกับเส้นประสาทพอดี จนเกิดิอาการปวดหลัง ชาขาต่างๆนาๆที่สุดจะบรรยาย และนี่แหละครับ คือที่มาของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท


ภาพแสดงการแบ่งความรุนแรงของหมอนรองกระดูกทับเส้น

เรายังสามารถแบ่งระดับความรุนแรงของหมอนรองกระดูกทับเส้นได้ 4 ระดับ

ระดับที่ 1 : Bulging disc
คือ การเคลื่อนของหมอนรองกระดูกมาทางด้านหลังไม่เกิน 3 มิลลิเมตร และตัว annulus fibrosus ยังปกติ
ระดับที่ 2 : Protrusion 
คือ การเคลื่อนของหมอนรองกระดูกมาทางด้านหลังมากกว่า 4 มิลลิเมตร และตัวสารนํ้าอยู่ชิดกับขอบนอกของ annulus fibrosus แต่ยังไม่ทะลุออกมา ระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดหลัง ขาชาเป็นๆหายๆ
ระดับที่ 3 : Extrusion 
คือ มีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกมาทางด้านหลัง มากกว่า 8 มิลลิเมตร และมีสารนํ้าภายในหมอนรองทะลุออกมาจาก annulus fibrosus แต่ก็ยังคงมีการเชื่อมติดกันอยู่ ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการอวดคงที่ ขาชาตลอดเวลา
ระดับที่ 4 : Sequestration 
คือ ภาวะที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนออกมาจาก annulus fibrosus เต็มที่ และไม่มีการเชื่อมติดกันของหมอนรองกระดูกที่ออกมากับที่อยู่ภายใน ระยะนี้ถือว่าร้ายแรงที่สุดผู้ป่วยมัดเข้ารับการผ่าตัดในระยะนี้เพราะทนอาการปวดไม่ไหว 


ภาพเปรียบเทียบผู้ที่เป็นหมอนรองกระดูบกับเส้นกับไม่เป็น

ผลกระทบที่ตามมาหลังหมอนรองกระดูกเสื่อม

หลังจากที่หมอนรองกระดูกเสื่อมลงจนสารนํ้าภายใน (nucleus pulposus) ปลิ้นออกมาภายนอก หรือสูญหายไปบ้าง จนมีปริมาณลดน้อยลง มีผลให้ความสูงของหมอนรองกระดูกนั้นค่อยๆตีบแคบลงเรื่อยๆ เพราะปริมาณสารนํ้าภายในที่เป็นตัวกำหนดความสูงของหมอนรองกระดูกสันหลังได้หายไป เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังที่ตีบแคบลงแล้วจะทำให้เกิดอีกโรคนึงตามมาเสมอนั่นคือ "โรคกระดูกสันหลังเสื่อมครับ" เพราะข้อต่อ facet joint ภายในกระดูกสันหลังที่ทำหน้าที่เป็นตัวเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังต้องแบกรับนํ้าหนักที่มากขึ้น และเมื่อถึงจุดหนึ่งข้อต่อ facet ก็แบกรับนํ้าหนักไม่ไหวจนเกิดการเสื่อมขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตึงหลัง รู้สึกหลังขัดๆเมื่อต้องก้มหรือแอ่นหลังนั่นเองครับ อ่านเรื่องโรคกระดูกสันหลังเสื่อมเพิ่มเติมได้ที่นี่

อาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

โดยทั่วไปแล้วเมื่อหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวดหลังนะครับ จะรู้สึกชาขาซะมากกว่า แล้วอาการชาจะไม่ได้ชาทั่วทั้งขานะ แต่จะชาเป็นตำแหน่งกว้างๆซะมากกว่า เช่น ชาบริเวณต้นขาด้านนอกจนถึงข้อเท้าด้านนอก แต่ขาด้านในไม่มีอาการชาแต่อย่างใด ซึ่งจะต่างจากโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทที่มีอาการชาทั่วทั้งขา อ่านเพิ่มเติมเรื่องโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทได้ที่นี่ 


ภาพเปรียบเทียบหมอนรองกระดูกทับเส้นกับไม่เป็น

แต่ในรายที่เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนอกจากจะมีอาการชาขาแล้วยังมีอาการปวดหลังด้วยนั้น ผมมองเป็น 2 ประเด็นนะครับ 1) มีภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมทำให้ข้อต่อ facet อักเสบจนเกิดอาการปวดหลัง กับอีกประเด็นคือ 2) เกิดหมอนรองกระดูกปลิ้นมาทับเส้นประสาทแขนงใหญ่ที่อยู่กลางกระดูกสันหลังเลย ซึ่งอย่างที่ 2 นี้ถือว่าอันตรายมาก เพรามีความเสี่ยงที่จะเป็นอัมพาต และการที่จะเกิดหมอนรองกระดูกปลิ้นมาทับเส้นประสาทแกนกลางนี้มักจะเกิดแบบเฉียบพลัน เช่น ก้มหลังยกของหนักแล้วจู่ๆได้ยินเสียงดีงปึ้กกลางหลัง ซึ่งเป็นเสียง annulus fibrosus ฉีกขาดแล้วสารนํ้าภายในหมอนรองทะลักออกมากดทับเส้นประสาททันที บางรายก็ปวดหลังมากจนขยับไม่ได้ แต่บางรายหนักกว่านั้นคือจู่ๆขาพับและไร้ความสึกท่อนล่างทันที พูดง่ายๆคือเป็นอัมพาตเฉียบพลันนั่นแหละครับ 

เพราะโดยทั่วไปหมอนรองกระดูกจะทับเส้นประสาทที่เป็นแขนงเล็กๆไปเลี้ยงกล้ามเนื้อขาบางมัดทางด้านข้างมากกว่า ซึ่งอาการแบบนี้จะรักษาได้ง่ายและหายเร็ว หากเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆนะครับ แต่หากทิ้งไว้นานๆฝืนทนไม่เข้ารับการรักษาใดๆ นอกจากอาการชาขาที่เป็นอยู่จะมีอาการขาอ่อนแรงตามมา กล้ามเนื้อขาข้างที่ชาเริ่มฝ่อลีบ สูญเสียประสาทรับความรู้สึกและสั่งการบางส่วนไป เดินเซ เสี่ยงล้ม และสุดท้ายคือ เดินไม่ได้อีกต่อไปครับ 


9 วิธีลดปวดหลังด้วยตนเอง จากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น

การดูแลรักษา

การรักษาด้วยตนเองนี้ เหมาะกับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงมาก หรือเคยเข้ารับการรักษามาแล้วจนอาการดีขึ้นแต่อยากรู้วิธีบริหารร่างกายด้วยตนเองเท่านั้นนะครับ ในรายที่ปวดมาก ชาเยอะ หรือเป็นมานานจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อฝ่อลีบแล้วแนะนำให้เข้ารับการรักษาตามรูปแบบดีกว่าครับ 

วิธีการลดปวดง่ายๆคือให้นอนควํ่าแล้วนำผ้าร้อนประคบหลังไว้ 20-30 นาที แต่รายที่หมอนรองกระดูกปลิ้นออกมามากอาจจะนอนควํ่าไม่ได้เลย ให้นำหมอนใบใหญ่มาหนุนไว้ที่หน้าท้องขณะที่นอนควํ่าครับ ยํ้านะครับว่าหนุนไว้ที่หน้าท้องบางรายนำหมอนใบใหญ่มากๆแทนที่จะหนุนแค่หน้าท้อง แต่ดันไปรองหน้าอกด้วยจนหลังแอ่นปวดมากกว่าเดิมอีก ในขณะที่นอนควํ่าอยู่นั้นหากรู้สึกว่าอาการปวดทุเลาลงแล้ว ก็ค่อยๆปรับขนาดหมอนให้ใบเล็กๆลงเรื่อยๆจนไม่ต้องใช้หมอนรองหน้าท้องอีกต่อไป

หากเรานอนควํ่าแล้วไม่มีอาการปวด ต่อมาให้เราใช้แขนยันตัวขึ้นโดยที่เอวยังคงติดเตียงอยู่ พยายามแอ่นหลังให้มากที่สุดโดยที่ไม่รู้สึกปวด หากแอ่นไปถึงจุดที่ปวดแล้วให้หยุดแล้วกลับสู่ท่านอนควํ่าเหมือน ทำท่านี้จำนวน 10 ครั้งนะครับ เพื่อดันสารนํ้าให้กลับเข้าที่ เปรียบเหมือนกับการปั๊มนํ้าแหละครับ 

ทีนี้หากเหยียดศอกจนตึงแล้วแอ่นหลังได้สุดโดยที่ไม่มีอาการใดๆแล้วละก็ ถึงเวลาที่บริหารกล้ามเนื้อหลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและป้องกันไม่ให้หมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาได้อีก โดนการนอนควํ่าเช่นเดิมครับ เอาแขนไว้ข้างลำตัว จากนั้นให้แอ่นหลังขึ้นจนอกพ้นพื้นแล้วลงจำนวน 10 ครั้ง และหากรู้สึกว่ากล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้นก็ให้เพิ่มความยากโดยการเอาแขนไขว้หลังไว้ แล้วยกลําตัวขึ้นค้างไว้ 10 วินาที จำนวน 10 ครั้งครับ

อีกวิธีหนึ่งในการดันสารนํ้าให้กลับเข้าที่โดยไม่ต้องออกแรงอะไรมากมายเลย คือ การเดินในนํ้าครับ ให้เราไปเดินในสระนํ้าที่มีความสูงระดับอก โดยขณะที่เดินไล่ไปตามขอบสระนั้นให้เดินเตะขาไปด้วย หรือหากมีอาการปวดเมื่อเดินก็ให้ยืนนิ่งๆแล้วย่อตัวลงคล้ายกับท่านั่งเก้าอี้ลม เหตุที่ให้ลงนํ้าความสูงระดับอกนั้นก็เพื่อใช้แรงดันนํ้าเนี่ยแหละครับเป็นตัวดันให้สารนํ้าที่ปลิ้นออกมากลับเข้าที่ 

เหตุผลที่นอนควํ่าแล้วอาการชา อาการปวดเบาลงนั้น เนื่องจากในขณะที่เรานอนควํ่าแรงดึงดูดของโลกจะดึงสารนํ้าของหมอนรองกระดูกสันหลังที่ปลิ้นออกไปทางด้านหลังนั้นให้ไหลย้อนกลับมาเข้าไปในหมอนรองกระดูก เส้นประสาทที่ถูกสารนํ้ากดทับอยู่ก็จะหายไปนั่นเองครับ 


4 วิธีออกกำลังหายหลัง สำหรับผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้น Part 1


https://youtu.be/t2MKVX3Tp1I
5 วิธีฝึก core stabilize สำหรับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น Part 2

แต่อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น หากมีอาการปวดรุนแรง ชามากๆก็ควรเข้ารับการรักษาทางกายภาพบำบัดจะเหมาะสมที่สุดนะครับ 

เพิ่มติม
- (คลิป VDO) 4 วิธีดึงหลังด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องง้อเครื่อง traction ในรพ.


เครดิตภาพ
- http://korsetlumbal.weebly.com/blog/category/all
- http://www.duluthdisabilitylawyer.com/back-injuries/
- http://drtonysetiobudi.com/2014/12/18/can-slipped-disc-or-hnp-herniated-nucleus-pulposus-recover-by-itself/
- http://morphopedics.wikidot.com/cervical-disc-herniation
- https://en.wikipedia.org/wiki/Spinal_disc_herniation


15 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีครับคุณหมอ ผมชื่อ ปรัชญาครับ อายุ 25ปี กำลังมีอาการแบบที่คุณหมอเขียนไว้ในบล็อคเลยครับ ปวดหลัง/เอวร้าวลงขาซ้าย แต่ยังไม่ชานะครับ ไปโรงพยาบาลใกล้บ้านเอ็กซเรย์แล้วก็ได้ยามาทานครับ ไม่ทราบว่าควรนอนท่าไหนดีครับ แล้วการออกกำลังที่เรียกว่ากายภาพ ทำเองที่บ้านได้ใช่ไหมครับ ของผมหมอนัดอีกทีวันที่27มิ.ย. ไปหาหมอกระดูก ขอบคุณสำหรับบทความคุณหมอมากเลยครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีคร้าบคุณปรัชญา อาการปวดหลัง เอวร้าวลงขา แต่ไม่มีอาการชานั้น ไม่ได้มีแค่โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นน้อ แต่ยังมีโรคปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบเรื้อรัง ปวดหลังจากกระดูกสันหลังเสื่อม หรืออาจจะเกิดจากโรคข้อสะโพกเสื่อม ซึ่งจะมีอาการคล้ายๆกับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาททั้งนั้นเลยครับ
      แต่ทีนี้ ถ้าคุณปรัชญาไปพบมอ X-ray เรียบร้อยแล้วหมอระบุว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเป็นที่แน่นอน สิ่งที่คุณต้องทำเป็นอันดับต่อไปคือ แนะนำไปทำกายภาพบำบัดก่อนครับ อย่าพึ่งออกกำลังกายเอง เพราะต้องให้นักกายภาพประเมินดูก่อนว่าระดับความรุนแรงของโรคมีมากน้อยแค่ไหน หากออกกำลังกายแบบผิดๆอาจจะทำให้หมอนรองกระดูกปลิ้นออกมามากขึ้นแล้วทำให้อาการแย่ลงได้ แล้วนักกายภาพจะแนะนำท่าออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นมาให้ครับ ปลอดภัยไว้ก่อนดีที่สุดครับผม
      ส่วนท่านอนสำหรับผู้ที่ปวดหลังที่เหมาะสมที่สุดคือ ท่านอนตะแคงกอดหมอนข้างครับ เป็นท่าที่ปลอดภัยต่อกระดูกสันหลังมากที่สุด แต่ถ้าไม่ถนัดก็ให้นอนหงายแล้วนำหมอนรองใต้เข่าให้สูงระดับนึงจะช่วยให้หลังแอ่นน้อยลงอาการปวดหลังขณะนอนก็เบาลงได้เช่นกันครับ แต่หากยังปวดหลังอยู่อีก ก็แนะนำให้นอนควํ่าแล้วนำหมอนมารองไว้ใต้ท้องเลยครับ ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยที่ปวดหลังมากๆครับผม
      หากมีข้อสงสัยอะไรสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ครับ^^

      ลบ
  2. ขอบคุณมากครับ หมอบอกว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นนั้นแหละครับ ผมนอนตะแคงกอดหมอนข้างโดยเอาข้างที่ปวดเกยข้างบน โอเคอยู่ครับ แต่พอพลิกตัวลุกจากเตียงจะทรมาณนิดหน่อย เวลาจะลุกก็ต้องไปนั่งที่เก้าอี้ไม้ในห้องที่มีพนักพิง ให้ทุเลาลงก่อนถึงจะไปเข้าห้องน้ำหรือลุกไปทำงานบ้านได้ครับ รอหมอนัดตามอาการก่อน กลัวต้องผ่ามากๆเลยครับ ถ้าหายแล้วคงต้องหมั่นดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ จริงๆอาการแปล๊บๆหลังมีมาสักพักแล้วครับ หลายเดือนละ ทำงานในฟาร์มที่บ้านต้องใช้แรงบ่อย ยกถังแก๊ส แบกกระสอบปุ๋ยอะไรทำนองนี้น่ะครับ หลังจากนี้คงต้องหลีกเลี่ยงใช่ไหมครับ ขอบคุณคำแนะนำจากคุณหมอมากๆครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. หากมีอาการปวดหลังอยู่ ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักทุกชนิดเลยครับผม แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้แนะนำให้ซื้อเข็มขัดรัดเอวสำหรับพยุงหลังมาใส่ก็ช่วยได้ครับ แต่ไม่ควรใส่ติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมงนะ เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อหลังฝ่อลีบได้

      และผมแนะนำให้ไปคลินิกกายภาพใกล้บ้านเพื่อรักษาอาการปวดหลังร่วมด้วยนะครับ ลำพังเพียงกินยาอย่างเดียวอาจหายช้า แต่ถ้าไม่สะดวกผมแนะนำให้ไปว่ายนํ้าที่ความสูงระดีบอกเลยครับ จริงๆไม่ต้องว่ายนํ้าก็ได้นะ แค่ไปเดินในนํ้าที่ลึกประมาณอกของตัวเรา เพื่อให้แรงดันนํ้ามันดันหมอนรองกระดูกที่ปริ้นออกมากลับเข้าที่ครับ เมื่อว่ายนํ้าเสร็จให้มานอนควํ่าเอาหมอนรองใต้ท้องต่อ เพื่อให้แรงดึงดูดของโลกดึงหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นกลับเข้าที่

      ถ้ารู้สึกดีขึ้นก็ให้เอาหมอนออก แล้วนอนควํ่าบนพื้นเรียบต่อ ถ้าไม่มีอาการปวดหลัง ก็ให้ฝึกการปั๊มหมอนรองกระดูกให้กลับเข้าที่ต่อเลยครับ โดยนอนควํ่าเหมือนเดิมแล้วใช้แขนค่อยๆดันลำตัวช่วงอกขึ้นคล้านท่าวิดพื้น แต่ออกแรงที่แขนอย่างเดียวนะ ให้สูงเท่าที่ทำได้โดยไม่มีอาการปวด ขึ้นแล้วลง นับเป็น 1 ครั้ง ทำซํ้า 10 ครั้งดูนะ
      ซึ่งท่าที่บอกไปเป็นท่าพื้นฐานง่ายๆแต่ใช้ได้ผลจริงครับผม

      หากสงสัยอะไรสอบถามเพิ่มได้เลยนะ เดี๋ยวจะทยอยตอบให้ครับ (วันนี้ตอบช้าไปนิดเพราะพึ่งเห็นน้อ)

      ลบ
  3. น้ำหนักมีส่วนไม๊ครับคุณหมอ
    รู้สึกว่าน้องปรัชญาสูง180ซม.น่าจะได้
    น้ำหนัก167กกหรือบวกลบไท่เกิน10กก

    ตอบลบ
  4. น้ำหนักมีส่วนไม๊ครับคุณหมอ
    รู้สึกว่าน้องปรัชญาสูง180ซม.น่าจะได้
    น้ำหนัก167กกหรือบวกลบไท่เกิน10กก

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. นํ้าหนักมากขนาดนั้นมีส่วนทำให้ปวดหลังแน่นอนครับ ยิ่งถ้าอ้วนลงพุงยิ่งแย่ใหญ่ เพราะนํ้าหนักที่มากจะทำให้กระดูกสันหลังแอ่นมากขึ้นและทำให้กล้ามเนื้อหลังเกร็งค้างมากขึ้น จนเกิดอาการปวดหลังทั้งจากกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง และตัวกระดูกดูสันหลัง สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับต้นๆเลยคือ การลดนํ้าหนักครับ ไม่งั้นรักษาไม่หายขาดแน่นอน และวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับคนที่นํ้าหนักมากและปวดหลังจากหมอนรองกระดูกทับเส้นคือการว่ายนํ้าวันละ 30 นาที เป้นอย่างตํ่านะครับ ถ้าออกกำลังกายบนบกอาจทำให้หลังต้องรับนํ้าหนักมาก และอาจเกิดอาการปวดๆหายๆจนน้องท้อแล้วเบื่อหน่ายการออกกำลังกายไปได้ครับผม
      แต่ทั้งนี้ก็ควรพบแพทย์หรือนักกายภาพอย่างสมํ่าเสมอร่วมด้วยนะครับ เพื่อประเมินอาการของโรคว่ารุนแรงมากขึ้นหรือเบาลงอย่างไร
      ส่วนเหตุผลของการว่ายนํ้าสำหรับผู้ป่วยที่ปวดหลัง ผมอธิบายไว้ในบทความนี้แล้ว ลองเข้าไปอ่านเพิ่มเติมดูได้นะครับ https://boringdoc.blogspot.com/2016/05/blog-post_17.html
      หากสงสัยอะไรเพิ่มเติมสอบถามได้ตลอดครับ ถ้าว่างเดี๋ยวมาตอบให้นะ^^

      ลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ10 ธันวาคม 2559 เวลา 12:44

    สวัสดีครับ ผมชื่อ ยะ อายุ 39 ปี เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมา 1 เดือนครึ่ง ได้ครับ อาการตอนแรก ชา ที่หลังเท้า ข้างแข้ง ข้างซ้าย ปวดก้น สะโพกซ้าย นั่งหรือยืนจะปวดมาก ต้องนอนถึงจะไม่ปวด ทำ MRI แล้ว หมอบอกว่าหมอนรองกระดูก L4-L5 แตกทะลุ ทับเส้นประสาท หมอแนะนำให้ผ่า แต่พอดีว่าผมได้รับคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัด รพ. แห่งหนึ่งว่า ให้ลองกายภาพบำบัดก่อน โดยใช้หลักการการเอาหมอนมารองที่หน้าท้องให้สูงๆ แล้วนอนคว่ำทับ ทำทุกชั่วโมง ๆ ละ 10 นาที ผมทำมาได้ประมาณ 1 เดือน อาการเริ่มดีขึ้น จากเมื่อก่อนที่นั่งแล้งจะปวด ก็ไม่ปวดแล้ว เดินได้มากขึ้น อาการชาก็เหลือชานิดหน่อยที่หลังเท้า แต่ในช่วงสัปดาห์หลัง เหมือนอาการจะไม่ก้าวหน้า คืออาการชาคงที่ การยืน ยังไม่สามารถยืนได้นาน ถ้ายืนนานความชาจะมากขึ้นเรื่อยๆ ผมอยากถามว่า ผมต้องทำอย่างไรต่อไปดีครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ทำตาม 3 คลิปนี้เลยคับ https://youtu.be/mQE9aQU53q0 กับ https://youtu.be/3SLcMoxdcgw และ https://youtu.be/lda8kKZm-xU ลองบริหารดูทุกวันนะ ขออภัยที่ตอบช้านะคับ

      ลบ
    2. ไม่ระบุชื่อ25 มกราคม 2560 เวลา 11:01

      สวัสดีค่ะค่ะคุณหมอมีเบอร์ติดต่อไม๊คะ

      ลบ
    3. ทักมาที่ Line ID : doobody นี้ก็ได้คับ
      เว็บไซค์ทั้ง 2 นี้อยู่ในเคลือเดียวกันคับผม

      ลบ
  6. หมอนรองกระดูกทับเส้นสามารถหายเองได้ไหมคับ

    ตอบลบ
  7. วันชัย ชัชวัสวิมล2 พฤศจิกายน 2560 เวลา 22:06

    ผมไปตรวจหมอบอกว่าหมอนรองกระดูกเสื่อม ยุบลงมานิดนึง... ผมถามว่าแล้วอาการปวดตรงสะโพกใกล้ๆ ก้นและแปลบๆ ที่เอวจะหายมั๊ย.. หมอบอกว่าหาย.. แต่หากยกของหนักก็จะกลับมาเป็นอีก.. (หมอให้ยาแก้ปวดมาแต่ผมไม่ได้ทานเพราะปวดไม่มาก.. ผ่านไป 20 กว่าวันอาการปวดไม่มากก็ไม่หายไปทั้งๆ ที่ผมก็ไม่ยกของหนัก.. แต่รู้สีกบ่อยๆ ว่ากระดูกมันกรุบๆ กันแต่ก็ไม่เจ็บ.. ผมสงสัยครับ ว่าที่ปวดๆ นิดๆแปลบที่เอวบ้าง.. เป็นอาการของหมอนรองกระดูกเสี่อมรึเแล่า ครับ ) ขอบคุณ ครับ

    ตอบลบ
  8. สวัสดีค่ะ ลุงเป็นกระดูกทับเส้น ปวดขามากแล้วขาข้างที่ปวดก็เล็กลงกว่าอีกข้างด้วยค่ะ ไปหาหมอได้ฉีดยาและให้ยามาทาน แต่ก็ยังปวดอยู่อ่ะค่ะ อยากทราบว่าลุงควรเดินหรือออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อขาไหมคะ หรือไม่ควรเดินบ่อยคะ

    ตอบลบ
  9. สวัสดีค่ะ แฟนเป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมมา11ปีแล้วค่ะ หมอทMRI แล้วแนะนำว่าให้รักษาแบบประคับประคองถ้าผ่าตัดเสี่ยงเกินไป แต่เค้ามีอาการปวดหลัง,ปวดขาทั้งสองข้างมาก เวลาขยับตัวจะมีเสียงกระดูกสันหลังดังกึกๆ บางทีดังจนเราอยู่ใกล้ได้ยินแล้วตกใจ อยากสอบถามว่ามีวิธีรักษาที่ดีกว่านี้มั้ยคะ เค้าสามารถออกกำลังกายอะไรได้บ้าง เพราะเค้าไม่สามารถไปทำงานได้เนื่องจากปวดและอ่อนแรง

    ตอบลบ