วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2562

รู้มั้ย..กระดูกสันหลังเสื่อม ก็ทำให้ขาชาได้เหมือนกันนะ


รู้มั้ย..กระดูกสันหลังเสื่อม 
ก็ทำให้ขาชาได้เหมือนกันนะ

เมื่อมีอาการขาชา โรคที่คนส่วนใหญ่นึกถึงกันคงไม่พ้นหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ไม่ก็กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท ถ้าคนที่ชอบกินหวานมากๆอาการชาก็อาจมาจากเบาหวานได้ แต่เพื่อนๆทราบกันมั้ยว่า ข้อกระดูกสันหลังของคนเราถ้าเสื่อมมากๆเข้า มันก็ทำให้ขาชาได้เช่นกัน

ทำไมกระดูกสันหลังเสื่อมถึงทำให้ขาชาได้?

ก่อนที่ผมจะอธิบายว่า ทำไมข้อกระดูกสันหลังเสื่อมถึงทำให้ขาชาได้นั้น เราต้องทำความเข้าใจโครงสร้างข้อกระดูกสันหลังและเส้นประสาทที่อยู่โดยรอบกันก่อน ดูรูปประกอบทางด้านล่างนี้เลยครับ


intervertebral foramen คือ ช่องที่รากประสาทไขสันหลังออกมา

จากรูปเพื่อนๆจะเห็นแล้วว่า ตัวรากประสาทไขสันหลังจะออกมาจากข้อกระดูกสันหลังเพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อขาส่วนต่างๆได้ ตัวเส้นประสาทต้องรอดผ่านรูที่มีชื่อว่า intervertebral foramen แล้วเจ้ารูนี้แหละครับที่เป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทได้

เพราะเมื่อเราอายุมากขึ้น สารนํ้าในหมอนรองกระดูกจะลดน้อยลง ข้อกระดูกสันหลังเกิดการทรุดตัว พอข้อกระดูกทรุดตัวลง รูที่รากประสาทไขสันหลังออกมาก็เริ่มตีบแคบ ในระยะแรกการกดทับจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะรูยังมีขนาดใหญ่อยู่

แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ข้อกระดูกทรุดตัวมากขึ้น ทำให้รูที่รากประสาทออกมา (intervertebral foramen) ตีบแคบลงไปอีก จนในที่สุดรากประสาทก็ถูกกดทับ แล้วเกิดอาการชาลงขาได้นั่นเอง


เมื่อกระดูกเสื่อม intervertebral foramen จะตีบแคบลงจนไปกดทับเส้นประสาท 

จุดเด่นของคนที่เป็นกระดูกเสื่อมทับเส้นก็คือ เวลาแอ่นหลังจะมีอาการปวดตึงขัดในหลัง รู intervertebral foramen ก็จะยิ่งตีบแคบลงกว่าเดิมทำให้ขาชามากขึ้นจากการกดทับเส้นประสาท แต่จะรู้สึกสบายทันทีเมื่อก้มหลัง หรือนั่งหลังค่อม เพราะการก้มหลังจะช่วยให้ข้อกระดูกที่ทรุดอยู่ได้ยืดออก และช่วยเพิ่มช่องว่างของ intervertebral foramen อาการชาก็จะหายไปทันทีด้วยเช่นกัน 

แต่ทำไมบางคนไม่ว่าจะก้มหลังแค่ไหนก็ตาม  อาการชาก็ยังคงมีอยู่ตลอดเวลาได้ละ?

คนที่เป็นข้อกระดูกสันหลังเสื่อม นอกจากจะมีข้อกระดูกสันหลังทรุดตัว และรูที่รากประสาทออกมาจะตีบแคบลงแล้ว ยังมีอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ เกิดกระดูกงอกที่ข้อกระดูกสันหลังครับ ซึ่งตัวกระดูกงอกมันจะเกิดบริเวณรอยต่อระหว่างข้อกระดูกสันหลังชิ้นบนกับชิ้นล่างมาบรรจบกัน ซึ่งตรงที่ข้อกระดูกทั้ง 2 มาต่อกันตรงนี้มีชื่อเรียกว่า facet joint 



รูปข้อกระดูก facet joint 

แล้วที่สำคัญคือ ตัวข้อ facet joint มันดันไปอยู่ใกล้กับ intervertebral foramen ที่เป็นทางผ่านของรากประสาทไขสันหลังออกมา แล้วถ้าตัว facet joint เสื่อมมาก มันก็จะเกิดกระดูกงอกมากตามไปด้วย ผลก็คือ เจ้าตัวกระดูกงอกเนี่ยแหละ มันก็จะงอกไปเบียดเส้นประสาท จนทำให้เราเกิดอาการชาลงขาได้ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบทใดก็ตามนั่นเองครับผม 

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่า แม้ข้อกระดูกจะไม่ได้ทรุดมากจนรู intervertebral foramen ตีบแคบจนไปกดทับรากประสาท แต่ถ้าข้อกระดูก facet joint มันเสื่อมเยอะจนเกิดกระดูกงอกมากๆเข้า มันก็จะทำให้กระดูกงอกไปกดรากประสาทได้อีกต่อหนึ่งเช่นกัน 


ภาพเปรียบเทียบ facet joint สุขภาพดี กับเสื่อม

แล้วแบบไหนอันตรายกว่ากัน?

จริงๆแล้วมันก็อันตรายพอๆกันทั้งคู่นะ แต่ถ้าให้เทียบกับคนเป็นหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาทละก็ คนเป็นกระดูกหลังเสื่อมทับเส้นถือว่าเบากว่าเยอะครับ คือ เราจะรู้สึกปวดบ้าง ชาบ้าง แต่มันก็ไม่ได้ชาตลอดเวลา เว้นแต่ว่าเราไปทำท่าที่กระตุ้นอาการให้ทับเส้นมากขึ้น เช่น แอ่นหลัง ยกของหนัก นั่งนาน แต่พอเปลี่ยนอิริยาบทอาการก็ดีขึ้นเอง


ภาพแสดง ลักษณะโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

แต่ในรายที่เสื่อมมากๆ เส้นประสาทถูกกดทับมานานก็อาจทำให้เราเกิดอาการชาค้างตลอดเวลาได้เช่นกัน โดยมากมักจะชาที่ฝ่าเท้านะ จะมีบ้างที่ชาตั้งแต่ต้นขาลงไปถึงปลายเท้าตลอดร่วมกับมรอาการปวด แล้วอาการชามันก็จะอยู่แบบนั้นทั้งปีแบบกำหนดไม่ได้ด้วยนะว่า จะหายชาเมื่อไหร่ 

แล้วถ้าถามว่ามันจะแย่ไปกว่านี้อีกมั้ย? โดยปกติร่างกายคนเรามีกลไกรักษาตัวเองโดยธรรมชาติอยู่แล้วครับ ถ้าร่างกายเราจับได้ว่า ข้อกระดูกสันหลังเสื่อม พอขยับข้อกระดูกชิ้นนั้นมากๆเข้าจะยิ่งไปทำอันตรายต่อรากประสาทที่อยู่ใกล้ๆ ร่างกายก็จัดการให้ข้อกระดูกชิ้นนั้นอยู่นิ่งๆไปเลย โดยการสร้างกระดูกงอกมาพอกรอบข้อกระดูกสันหลังชิ้นนั้นซะ ให้ข้อมันติดไปเลย เพื่อแลกกับการที่รากประสาทจะไม่ถูกกดทับ ไม่ถูกเสียดสีจนเสียหายไปมากกว่านี้ 

ฉะนั้น ในคนไข้ที่เป็นข้อกระดูกหลังเสื่อมทับเส้นบางคน แม้จะไม่ได้รับการรักษาอะไรมากมาย แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งเค้าจะรู้สึกว่าหลังมันแข็ง จะก้มจะเงยก็ลำบาก แต่เอ๊ะ! อาการขาชา ปวดขามันก็หายไปแล้ว เนี่ยแหละครับกระบวนการที่ร่างกายมันรักษาตัวเอง

การรักษา ข้อกระดูกสันหลังเสื่อมทับเส้นประสาท

สำหรับการรักษาผมจะอธิบายใน 2 มุมมองนะ 

1) นักกายภาพรักษาให้ : 

- ปัญหาของคนที่เป็นข้อสันหลังเสื่อมทับเส้นประสาท คือ ข้อทรุด แล้วไปทับเส้นใช่มั้ยครับ วิธีรักษาคือ เราจะใช้การดึงยืดข้อกระดูกสันหลังก่อน เพื่อเพิ่มช่องว่างข้อกระดูกที่ตีบแคบให้ยืดออกกัน การกดทับเส้นประสาทก็จะไม่เกิดขึ้น (ณ ตอนที่ยืด) 

ซึ่งการดึงหลังมันมีหลายวิธีนะ ถ้าเราไปแผนกกายภาพตามรพ.เราก็จะเห็นนักกายภาพใช้เครื่องดึงหลัง แต่ถ้าไม่มีเครื่องดึงก็จะใช้มือดึงหลังโดยตรงก็ได้ หรือใช้เทคนิคกายบริหารบางท่าร่วมกับการหายใจ ก็ทำให้ข้อกระดูกสันหลังถูกยืดออกได้ไม่ยาก 


เครื่องดึงหลังที่มักเห็นตามแผนกกายภาพในโรงพยาบาล

บางรายที่มีข้อกระดูกสันหลังติดมาก จากกระดูกงอกที่พอกขึ้นมายึดเยอะเกินไป จนทำให้คนไข้รู้สึกหลังแข็ง ก้มหลัง แอ่นหลังลำบากละก็ นักกายภาพก็จะใช้เทคนิคการขยับข้อต่อข้อนั้นโดยตรง เพื่อให้ข้อกระดูกกลับมาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติอีกครั้ง แล้วจะรู้สึกสบายหลังโล่งมากขึ้น แล้วหลายคนจะหายชาด้วยการรักษาแบบนี้ ซึ่งเทคนิคการขยับข้อจัดกระดูกมันมีหลายเทคนิคมาก ผมไม่ขอลงรายละเอียดนะ 

สุดท้ายคือ การออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางให้แข็งแรง กล้ามเนื้อแกนกลางถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยชะลอการเสื่อมของข้อกระดูกสันหลัง หรือถ้าใครเสื่อมแล้วก็จะช่วยไม่ให้เสื่อมไปมากกว่าเดิม เพราะกล้ามเนื้อมันจะเป็นตัวพยุงโครงสร้างกระดูกเอาไว้นั่นเองครับ

ถ้าคนไข้เอาแต่ดึงหลัง ไปให้นักกายภาพดัดกระดูกให้ แต่ไม่ยอมออกกำลังกายเลย ในท้ายที่สุดไม่ช้าก็เร็วข้อกระดูกสันหลังมันก็จะกลับมาทรุดใหม่จนเกิดอาการปวด ชาซํ้าแล้วซํ้าเล่าไม่หายขาดซะทีนะครับ


กล้ามเนื้อแกนกลาง ที่ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อหน้าท้อง สีข้าง และหลังมัดลึก

2) รักษาตัวเอง :

- ขั้นตอนการรักษาตัวเองก็จะเริ่มต้นคล้ายๆกันครับ คือ เริ่มจากการดึงหลังก่อน เพื่อยืดข้อกระดูกที่ทรุดตัวให้ยืดออกจากกัน การกดทับเส้นประสาทก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งเทคนิคการดึงหลังเองก็ดูได้ตามคลิปด้านล่างนี้เลยนะครับ อ่อ แล้วการดึงหลัง เราก็สามารถดึงได้บ่อยเท่าที่เราต้องการเลยนะ 




วิธีดึงหลังด้วยตนเอง https://youtu.be/YYWAEvEmwuk

เมื่อดึงหลังเสร็จปุ๊บ เราก็จัดการดัดข้อกระดูกสันหลังเองต่อ แม้จะไม่รู้สึกโล่งทันทีเหมือนตอนที่นักกายภาพดัดให้ แต่ถ้าอาศัยว่าทำอย่างสมํ่าเสมอก็เห็นผลและรู้สึกดีขึ้นได้เช่นกันครับ วิธีการดูได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้เลยนะ


วิธีดัดหลัง ยืดหลังด้วยตนเอง https://youtu.be/d35bwx0GiGk
ท่าที่ 2 ในนาทีที่ 1:55 และ ท่าที่ 6 นาทีที่ 11:00 นะครับ

และสุดท้ายก็คือ การออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลาง วิธีการออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางนั้นมีหลากหลายมาก เช่น การเล่นพิลาทิส การฝึก core exercise ทั่วๆไปที่เห็นตามฟิตเนส แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีเวลาไปออกกำลังกายจริงๆจังๆแบบนั้น ผมก็แนะให้ฝึกท่าเดียวง่ายๆเลยตามคลิปด้านล่างนี้ครับ ดูนาทีที่ 7:53 นะครับ



ดูนาทีที่ 7:53 นะ https://youtu.be/hjxqfRwjMe0

สรุป 

ถึงแม้ว่าโรคกระดูกสันหลังเสื่อมอาจจะฟังดูน่ากลัวสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับผมกลับมองว่า มันเป็นธรรมชาติของร่างกายมากกว่านะ คือ พอเราอายุมากขึ้นร่างกายของเรามันก็ต้องสึกหรอบ้างเป็นธรรมดา เราคงไม่สามารถหยุดการเสื่อมของข้อกระดูกได้ แต่เราสามารถชะลอการเสื่อมได้หลายวิธีเลยนะ เช่น...

- การปรับพฤติกรรม วิธีนี้เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุดเลยนะ มากกว่าการออกกำลังกาย มากกว่าเรื่องโภชนาการซะอีก เช่น ถ้าใครที่นั่งทำงานนาน มันแน่นอนอยู่แล้วว่าการนั่งนานจะทำให้นํ้าหนักตัวเรากดที่กระดูกสันหลังโดยตรง ถ้านั่งนานก็ยิ่งกดนาน ข้อกระดูกก็เสื่อมไวเป็นธรรมดาจากแรงกดของนํ้าหนักตัวที่กดอย่างต่อเนื่อง 

ถ้าเราเลี่ยงการนั่งทำงานไม่ได้ ผมก็แนะให้ลุกขึ้นยืน เดินทุกๆ 50 นาที ลุกขึ้นมายืนสัก 5 นาที ให้หลังได้พักจากการกดทับนานๆ แล้วค่อยกลับไปนั่งทำงานต่อ ถ้ากลับมาบ้านก็ให้ยืนกินข้าวเย็น ยืนดูทีวีบ้าง เพราะตลอดเวลางานเราก็นั่งมาทั้งวันแล้ว 

- การออกกำลังกาย อย่างที่บอกไปว่า ถ้ากล้ามเนื้อโดยรวมเราแข็งแรงดี โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแกนกลาง กล้ามเนื้อเหล่านี้จะช่วยพยุงโครงสร้างกระดูกไม่ให้รับแรงกระแทกโดยตรงขณะที่เรายืน เดิน นั่ง วิ่ง คนทีกล้ามเนื้อแข็งแรงก็เหมือนกับช่วยยืดอายุของข้อกระดูกให้ยืนยาวได้อีกด้วย

- ทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง เพื่อนๆอ่านกันดีๆนะครับ ผมใช้คำว่า "อาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง" ไม่ใช่ทานวิตามินที่มีแคลเซี่ยมสูงนะ จริงอยู่ที่การทานแคลเซี่ยมเม็ดมันจะสะดวกและง่าย แค่เปิดขวด แล้วหยิบแคลเซี่ยมเม็ดใส่ปาก จบ! 

แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่าแคลเซี่ยมเม็ดที่เราทานเข้าไปนั้นมันจะมีผลกระทบต่อร่างกายเราอย่างไรบ้างในระยะยาว แล้วที่สำคัญเราก็ไม่รู้ด้วยว่าแคลเซี่ยมเม็ดที่ทานเข้าไปร่างกายเราดูดซึมเอาไปใช้ได้หมดมั้ย หรือจะไปตกค้างที่ส่วนไหนอีกบ้าง 

ฉะนั้น ผมแนะให้เพื่อนๆทานอาหารตามธรรมชาติที่มีแคลเซี่ยมสูงจะสบายใจกว่าครับ อาหารที่มีแคลเซี่ยมสูงเราก็น่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น นมวัว ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ใบชะพลู ผักกระเฉด เป็นต้น พืชตระกูลถั่ว งาดำ เต้าหู้ นมถั่วเหลือง อาหารบ้านๆเหล่านี้แหละครับที่เป็นแหล่งแคลเซี่ยมที่ดี ที่เราหาทานได้ทุกวัน และที่สำคัญราคาก็ไม่ได้แพงมาก แถมสารอาหารก็ได้หลากหลายด้วยนะครับ 

เรื่องของกระดูกหลังเสื่อม เพื่อนๆอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ แต่คนไข้ที่มาคลินิกผม บางคนอายุแค่ 30 ต้นๆก็เริ่มมีสัญญาณของกระดูกสันหลังเสื่อมกันแล้วนะ เช่น ข้อหลังบางข้อเริ่มติด องศาการบิดของกระดูกทำได้ไม่สุด ภาพ x-ray บางคนก็เริ่มเห็นเป็นฝ้าขาวๆที่ข้อกระดูกหลังแล้ว บ่งบอกว่าเริ่มมีกระดูกหนาตัวขึ้น ซึ่งผลตรวจร่างกยกับการซักประวัติก็สอดคล้องกันด้วย นั่นคือ คนกลุ่มนี้มักมีพฤติกรรมที่นั่งนานมาก ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ดื่มนํ้าหวานเยอะ 

นี่แค่อายุ 30 ต้นข้อกระดูกก็เริ่มไปแล้ว นี่ถ้าอายุสัก 60 จะขนาดไหนผมนี่แทบไม่อยากจะจินตนาการเลยนะนี่ สุขภาพที่ดีได้มันอยู่ที่พฤติกรรมของเราล้วนๆครับ 

แล้วถ้าเพื่อนๆต้องการปรึกษาอะไรป็นพิเศษ หรือต้องการนัดเข้าคลินิกก็ทักมาได้ใน Line ID : @doobody ได้เลยนะครับ


วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2562

10 ข้อควรรู้ ของคนผ่าเข่าทุกประเภท


8 ข้อควรรู้
ของคนผ่าเข่าทุกประเภท

ถ้าเพื่อนๆคนไหนที่ไปผ่าเข่ามาแล้ว หรืออยู่ในช่วงรอคิวผ่าเข่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าละก็ เนื้อหาในบทความนี้จะช่วยให้เพื่อนๆเข้าใจเข่าตัวเองมากขึ้นและช่วยลดความกังวลใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังผ่าเข่าได้แน่ครับ 

แล้วไม่ว่าจะผ่าเข่าแบบไหนมา จะผ่าเล็กอย่างผ่าซ่อมเอ็นไขว้หน้า หรือผ่าตัดใหญ่อย่างผ่าตัดเปลี่ยนข้อก็อ่านได้เหมือนกันครับ เพราะไม่ว่าเราจะผ่าแบบไหน ส่วนใหญ่จะเจอเหตุการณ์ที่ผมกำลังจะพูดถึงเหมือนกันหมดครับผม ส่วนจะมากหรือน้อยก็เป็นอีกเรื่องนึงนะ 

1) เข่าต้องบวม :

=> ดูเหมือนเรื่องเข่าบวมหลังผ่าตัดจะเป็นเรื่องที่คนไข้กังวลกันมากที่สุด ซึ่งการที่เข่าบวมมันเป็นเรื่องปกติมากครับ ถ้าเนื้อเยื่อในร่างกายส่วนไหนเสียหาย บริเวณโดยรอบมันต้องบวมเป็นเรื่องธรรมดาม๊ากมากเลย 

เนื่องจากว่า พอเนื้อเยื่อเราเสียหาย บาดเจ็บ อักเสบอะไรก็ตามแต่ มันบ่งบอกว่าเส้นเลือดฝอยที่อยู่โดยรอบมันฉีกขาด เสียหายตามไปด้วย พอเส้นเลือดมันลำเลียงเลือดไม่ดี เลือดก็ตกค้างอยู่บริเวณนั้นมากขึ้นจนทำให้เกิดการบวมขึ้น แค่นั้นเอง 

ถ้าให้เปรียบเทียบ เส้นเลือดคนเราก็เหมือนกับถนนนั่นแหละครับ สมมติถนนมี 4 เลน แต่พังไป 2 เลน วิ่งได้จริงแค่ 2 แต่ปริมาณรถมีเท่าเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ "รถติด" ใช่มั้ยครับ เส้นเลือดที่เสียหายหลายส่วน การลำเลียงมันไม่ดีเลือดก็ไปตกค้างมากจนดูบวม แค่นั้นเอง

นานมั้ยกว่าจะหายบวม?

ขึ้นอยู่กับขนาดแผลครับ ถ้าแผลใหญ่มากอย่างคนผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เนื้อเยื่อมันเสียหายเป็นบริเวณกว้างจากรอยผ่า กว่าเนื้อเยื่อจะสมานตัวเองก็เป็นปกติดีก็ใช้เวลา การบวมก็กินเวลานานขึ้นเช่นกัน ซึ่งบางคน 4 เดือนกว่ายังบวมตุ่ยอยู่ก็มีเยอะแยะ 

ส่วนคนที่ผ่าส่องกล้อง บางคนเห็น 2 เดือนหายบวม แต่บางคน 3 เดือนแล้วยังไม่หายบวมก็มีเยอะแยะครับ มันขึ้นอยู่กับร่างกายของเราเอง และการฟื้นฟูหลังผ่าเข่าด้วย ถ้าหมั่นบริหารเข่า กระดกปลายเท้าขึ้นลงบ่อยๆ ให้กล้ามเนื้อได้มีการขยับ พอกล้ามเนื้อขยับมันก็ปั๊มเอาสารนํ้าที่กองค้างอยู่จนทำให้ดูบวม มันก็ไล่สารนํ้าเหล่านี้ออกไป จนบวมน้อยลงได้ 

ลักษณะแผลของคนผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

ทำไมบริหารเข่าจนหายบวมแล้ว แต่พอเดิน ยืนสักพักมันถึงบวมใหม่ได้ละ?

เลือด นํ้าเหลือง หรือสารนํ้าในร่างกายคนเราเป็นของเหลวครับ ซึ่งของเหลวเหล่านี้จะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ตํ่าเสมอ พอเรายืน เดิน สารนํ้าในร่างกายมันก็พร้อมใจกันไหลลงไปที่ส่วนขาของเราเป็นเรื่องปกติ แต่ในคนที่ร่างกายปกติดีไม่มีการบาดเจ็บ กล้ามเนื้อก็ช่วยบีบให้เลือดไหลกลับไปที่หัวใจได้ตามปกติ ร่วมกับหลอดเลือดไม่มีการอุดตันหรือเสียหาย การไหลเวียนจึงทำได้ปกติไม่บวม

แต่คนที่ผ่าตัดมา มันทำให้เส้นเลือดฝอยหลายส่วนฉีกขาด การไหลกลับของเลือดจึงทำได้ไม่ดี แถมด้วยการบาดเจ็บจากการผ่า ยิ่งทำให้เราไม่อยากใช้กล้ามเนื้อด้วย พอกล้ามเนื้อไม่ได้ขยับ การปั๊มเลือดกลับก็แย่เข้าไปอีก แถมเรายังต้องยืน เดิน เลือดมันเลยยิ่งเทไปกองที่ขามากเกินกว่ากำลังที่เนื้อเยื่อบริเวณนั้นจะปั๊มเลือดให้ไหลกลับไปที่หัวใจได้ สุดท้ายเราจึงขาบวม เข่าบวมทุกครั้งที่ยืนนั่นเองครับ (บางคนแค่นั่งห้อยขาก็บวมแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนะ)

คลิปแก้เข่าบวมหลังผ่า

ดูวิธีการลดบวมตามคลิปนี้เลยครับ คลิปที่ 125 : 3 วิธีแก้เข่าบวม หลังผ่าเข่า https://youtu.be/riKk4noHzWc

2) อาการปวดเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเจอ

=> ทันทีที่มีดกรีดลงไปที่เนื้อเยื่อ ไม่ว่าจะกรีดกว้างหรือกรีดแคบก็ตาม เนื้อเยื่อจะได้รับการบาดเจ็บทันที แล้วร่างกายจะตอบสนองต่อการบาดเจ็บโดยการหลั่งสารอักเสบขึ้นมาบริเวณเนื้อเยื่อที่เสียหายจากแผลผ่าตัด 

ซึ่งสารอักเสบนี้แหละที่ทำให้เราปวดหลังจากผ่าตัด ยิ่งเนื้อเยื่อเสียหายมากเท่าไหร่ กินวงกว้างแค่ไหน อาการปวดจะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น แล้วการที่ร่างกายหลั่งสารอักเสบจนทำให้เรารู้สึกปวดขึ้นมา มันก็มีข้อดีเหมือนกันนะ เพราะมันทำให้เราเลี่ยงการใช้งานร่างกายบริเวณที่บาดเจ็บอยู่ ให้ร่างกายได้มีเวลาพักฟื้นตัวเองได้อย่างเต็มที่นั่นเองครับ

ลองคิดดูนะ ถ้าเราไม่รู้สึกปวดเข่าแล้ว แต่เนื้อเยื่อมันยังไม่สมานตัวกันดีจะเกิดอะไรขึ้น สมมติเราชอบเล่นบอล พอผ่าเสร็จดูแผลภายนอกเห็นว่าแห้งสนิทดีแล้ว วันรุ่งขึ้นเรารีบลงสนามไปเตะบอลกับเพื่อนๆทันที ทั้งๆที่เนื้อเยื่อภายในข้อเข่ามันยังไม่สมานตัวยึดติดกันดีเลย ผลลัพท์มันก็เสี่ยงที่จะทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หลอดเลือดภายในฉีกขาดมากกว่าเดิม แล้วหายช้ากว่าเดิมได้นั่นเองครับ 

ถ้าพูดแบบนี้ก็หมายความว่า เราไม่ควรขยับร่างกายส่วนที่บาดเจ็บเลยน่ะสิ?

มันแล้วแต่เคสครับ อย่างเคสผ่าเอ็นไขว้หน้าขาดแบบส่องกล้องซึ่งแผลจะเล็ก เคสนี้ประมาณวันที่ 3 ก็ให้ขยับเข่าได้แล้ว แต่ถ้าเคสผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าจากเข่าแตกเพราะอุบัติเหตุล้มเข่ากระแทกพื้น แบบนี้ก็จะถูกใส่เฝือกที่เข่าหลังผ่าเสร็จแน่นอน เพื่อให้กระดูกมันเชื่อมกันดีก่อนตามระยะเวลา แล้วถึงค่อยขยับเข่าได้นะครับ 

3) ยังไงข้อเข่าก็ต้องติด

=> เป็นอีกเรื่องที่คนผ่าเข่าจะกลัวว่าเข่าจะติดกัน คือจะบอกว่าไม่ต้องกลัวครับ เข่าติดแน่นอน!! แต่จะติดมากหรือน้อย จะหายช้าหรือเร็วมันอยู่ที่การฟื้นฟูหลังผ่าเข่าเนี่ยแหละครับ

เหตุที่เข่าติดหลังผ่า ไม่ว่าจะผ่าตัดเล็กแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากทันทีที่เนื้อเยื่อเสียหาย ฉีกขาด ร่างกายมันก็จะพยายามซ่อมแซมฟื้นฟูตัวเอง แต่การจะซ่อมแซมตัวเองได้ดีนั้น ร่างกายต้องพยายามยึดเนื้อเยื่อและข้อเข่าให้อยู่นิ่งๆให้ได้มากที่สุดก่อน เพื่อให้เกิดการซ่อมแซมได้เต็มที่ 

นั่นคือ ร่างกายจะสร้างพังผืดโดยรวบส่วนที่บาดเจ็บให้หนาตัวขึ้น และทำให้เส้นเอ็นโดยรอบแข็งตัวขึ้น (ซึ่งปกติก็เหนียวและแข็งอยู่แล้วนะ) เพื่อให้ยากต่อการเคลื่อนไหวข้อเข่า 

ถ้าให้เปรียบเทียบกับการเย็บผ้าที่ขาดออกจากกันเป็น 2 ท่อน เราจะเย็บผ้าให้กลับมาเชื่อมกันได้สนิทดีดังเดิมคือ เราต้องเอาผ้ามาประกบกัน แล้วค่อยร้อยเข็มลงไปตรงผ้าทั้ง 2 ที่ประกบกันอยู่ แล้วมือเราต้องนิ่งด้วยถึงจะทำได้ 

แต่ลองคิดดูนะ ถ้าขณะเราเย็บผ้าอยู่แล้วมีเด็กที่ไหนไม่รู้มาดึง ฉุด กระชากลากผ้าที่เรากำลังเย็บอยู่ตลอดเวลา เพื่อนๆคิดว่าเราจะเย็บผ้าได้มั้ยครับ เช่นเดียวกันครับ ร่างกายจะสมานเนื้อเยื่อกันได้ดีก็ต่อเมื่อ ต้องให้ข้อต่อและกล้ามเนื้ออยู่นิ่งๆก่อนโดยการสร้างพังผืดและทำให้เอ็นแข็งขึ้น เท่านั้นยังไม่พอ ร่างกายยังหลั่งสารอักเสบออกมาอีกด้วยเพื่อเตือนว่า "อย่าพึ่งใช้ร่างกายตรงนี้ ฉันยังไม่พร้อม ขอซ่อมก่อนเด้อ"

ซึ่งเคสที่เราไม่ควรดัดเข่า หรือขยับข้อเข่าเลยจนกว่าหมอจะสั่งให้ดัดได้ก็ ส่วนใหญ่จะเป็นเคสกระดูกหักหักครับ เช่น ล้มเข่ากระแทกพื้นจนลูกสะบ้าแตกในผู้สูงอายุ หรือกระดูกหน้าแข้งร้าวจากการเล่นกีฬาที่ต้องปะทะกันแรงๆ แต่ถ้าเป็นเคสผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าธรรมดา หรือผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ก็สามารถดัดเข่าได้ภายใน 1 อาทิตย์ที่ผ่าเลย เพราะไม่ได้มีปัญหากระดูกแตกอะไร แต่ทั้งนี้ก็ต้องปรึกษาหมอ หรือนักกายภาพที่ดูแลเราให้ดีก่อนว่าดัดได้หรือยังนะครับ

คลิปที่ 82 : วิธีดัดเข่าให้เหยียดตรงได้ https://youtu.be/CDypMUAWARM

วิธีดัดเข่าให้ตรง



คลิปที่ 127 : วิธีดัดเข่าให้งอ https://youtu.be/dAH1RZ7uYWQ

วิธีดัดเข่าให้งอหลังผ่า

4) ถ้าข้อติดทั้งงอและเหยียด ให้เลือกดัดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน


=> เรื่องข้อเข่าติดคงเป็นปัญหาหนึ่งที่คนผ่าเข่าต้องพบเจอ แต่ปัญหาต่อมาก็คือ ดัดเข่ามานานแล้วทำไมเข่ายังงอ-เหยียดได้ไม่สุดซะที โดยเฉพาะคนที่เข่าติดทั้งงอและเหยียดพร้อมๆกัน

คนส่วนใหญ่อยากหายไวๆ ใจถึง ทนเจ็บได้ ดัดเองได้ เลยจัดการดัดเองอย่างเต็มที่ เวลาดัดก็ดัดเข่าให้เหยียดอย่างเต็มที่เลย พอเข่าเหยียดจนสุดแล้ว ก็ดัดเข่าให้งอต่อวนวันนั้นทันที ทีนี้พอดัดเข่าในท่างอเสร็จก็มาลองเหยียดเข่าดูอีกที ปรากฎว่าเข่าที่เคยเหยียดสุด มันกลับมาติดงอใหม่ เจอแบบนี้จะทำไงดี?

สำหรับคนที่เข่าติดทั้งงอและเหยียดนะ ผมแนะนำเลยว่า ให้เราเลือกดัดเข่าในทิศทางใดทิศทางหนึ่งให้สุดไปก่อนเลย โดยเลือกเอาความจำเป็นในชีวิตประวันเป็นหลัก เช่น ต้องรีบกลับไปทำงานให้ไวที่สุด ต้องเดินเยอะแม้เข่าจะยังไม่หายดี 

ถ้าเป็นแบบนี้ผมแนะนำว่าให้เราดัดเข่าในท่าเหยียดให้สุดก่อนเลย เพื่อให้เราได้ใช้ขาข้างที่เจ็บช่วยยันตัวในการเดิน แล้วในระหว่างวันก็อย่างอเข่ามากไป เพื่อไม่ให้เส้นเอ็นและพังผืดมันกลับมายึดให้อยู่ในท่างอนั่นเอง พอเราแน่ใจแล้วว่าเข่าเหยียดตรงได้เองโดยที่ไม่ต้องช่วยดัดแล้วติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เราก็ค่อยเริ่มดัดเข่าในท่างอต่อไป 

ค่อยๆดัดไปทีละทิศทางนะครับ จะงอก็งออย่างเดียว ถ้าจะดัดให้เหยียดก็เหยียดอย่างเดียว เอาทีละอย่างนะครับ

5) อาจมีชาที่เข่าบ้าง

=> เรื่องของอาการชาบริเวณที่ผ่าเข่านั้น จะเกิดขึ้นในบางคนนะครับ บางคนจะชาแค่ผิวๆเหมือนหนังมันด้านๆ ความรู้สึกจะไม่เท่ากันกับข้างปกติ บางคนก็แย่กว่านั้นคือ รู้สึกคัน ชาหนา บ้างก็แสบเหมือนนํ้าร้อนลวกบริเวณเข่า 

ซึ่งอาการชาจากการผ่าตัดไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนะครับ เพราะการผ่าตัดแต่ละครั้งมันก็มีบ้างที่จะตัดไปโดนเส้นประสาทส่วนย่อยที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกบริเวณผิวหนังรอบๆเข่า พอเส้นประสาทเสียหาย การส่งสัญญาณประสาททำได้ไม่ดีเลยเกิดอาการชาขึ้น 

ส่วนจะชามากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับขนาดแผลที่ผ่าว่าใหญ่แค่ไหน และความเสียหายของเส้นประสาทว่าเสียหายจากรอยมีดกรีดมากแค่ไหนครับผม แต่ก็ไม่ต้องกังวลว่าตัดโดนเส้นประสาทแล้วจะทำให้เราเป็นอัมพาตนะครับ เส้นประสาทเหล่านี้เป็นเส้นย่อยเท่านั้นเอง ไม่มีผลร้ายแรงอะไรมากนอกจากชา คัน หรือแสบร้อน ซึ่งจะทำให้เรารำคาญมากกว่า

ส่วนวิธีแก้อาการชาแบบทำเองนั้น ง่ายที่สุดเลยก็คือ การหาแผ่นประคบร้อนมาประคบตรงที่ผ่า แต่ตรงที่ผ่าต้องไม่มีบวม แดง ร้อนนะ ไม่งั้นเข่าจะบวมกว่าเดิมได้ หรือไม่ก็ใช้การประคบเย็นก็ได้ครับผม 

ส่วนจะหายชาเมื่อไหร่นั้น ตอบไม่ได้ครับ อะไรที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บของเส้นประสาท มันกำหนดเป็นตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้เลย บางคนไม่ชาเลย บางคนก็ 3 เดือน บางคน 7 ปียังไม่หายชาเลยก็มีเยอะนะ แต่อย่างที่บอกไปครับ อาการที่เกิดขึ้นมันแค่สร้างความรำคาญนะ 

ลิงค์บทความ : ประคบร้อน-เย็น ใช้ต่างกันยังไง? 

บทความประคบร้อนหรือเย็น ใช้ต่างกันยังไง

6) กำลังกล้ามเนื้อจะลดลง

=> พอเราผ่าตัดมา เนื้อเยื่อรอบๆเข่าบาดเจ็บ พอบาดเจ็บเราก็เลี่ยงการใช้งานกล้ามเนื้อรอบๆเข่า แล้วพอหยุดการใช้งานไปผลที่ตามมาคือ กำลังกล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรงลงทันที แล้วถ้าหยุดการใช้งานกล้ามเนื้อโดยสิ้นเชิงติดต่อกัน 1 เดือน (เช่น คนที่ใส่เฝือกเข่า) กล้ามเนื้อก็เกิดการฝ่อลีบอย่างเห็นได้ชัด 

คนที่ผ่าตัดมา พอเห็นขาตัวเองลีบเล็กลงก็จะตกใจกันยกใหญ่ แล้วพาลเข้าใจว่าตัวเองต้องกลายเป็นอัมพาตแน่ๆ ขาต้องเล็กเหมือนคนเป็นโปลิโอชัวๆ คือ จะบอกว่าขาลีบได้ ฝ่อได้ เราก็สามารถฟื้นฟูขาให้กลับมาเต่งตึง กระชับได้เหมือนกันครับ กระบวนการที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง ฝ่อลีบมันเป็นเรื่องธรรมดามากเลยครับผม 

ทันทีที่หมอเริ่มให้เราฝึกทำกายบริหารเข่าได้ แล้วฝึกไปเรื่อยๆอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากท่ากายบริหารง่ายๆ ความหนักไม่มาก พอกล้ามเนื้อเริ่มฟื้นตัวดี อาการปวดลดลงก็เพิ่มความหนักขึ้น กายบริหารท่าที่ยากขึ้น กำลังกล้ามเนื้อมันก็จะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม และแน่นอนกล้ามเนื้อที่เคยฝ่อลีบก็จะกลับมาเต่งตึงดังเดิมด้วยเช่นกันนะ

ส่วนจะกลับมาแข็งแรงอย่างเห็นได้ชัดจะใช้เวลานานแค่ไหนนั้น อันนี้ขึ้นอยู่กับความขยันของการทำกายบริหาร และเรื่องโภชนาการของเราเองนะ แต่โดยส่วนใหญ่ก็ประมาณ 3 เดือนครับ ถ้าฝึกอย่างต่อเนื่อง และทำอย่างถูกต้องนะ

คลิปที่ 50 : 5 วิธี ดูแลเข่าหลังผ่าตัด https://youtu.be/-zIfJICfhfo

คลิป วิธีดูแลเข่าหลังผ่า

7) มีเสียงก๊อกแก๊กในเข่า

=> อีกหนึ่งเรื่องกังวลที่คนผ่าเข่ามานานพากันใจหายแว็บทุกครั้งที่ได้ยินเสียงดังในเข่า แล้วอดคิดไม่ได้ว่า เข่ามันจะหลุดออกมามั้ย เอ็นในเข่ามันจะขาดอีกรอบ หรือเอ็นมันหลวมทำให้ข้อเคลื่อน สาระพัดความกังวลที่คนไข้ทักมาคุยกับผม 

ถ้าคนไข้พูดถึงเรื่องเสียงดังในเข่าเมื่อไหร่ ผมจะถามกลับไปก่อนเลยว่า "ตอนที่มีเสียงในเข่า มันปวดแปล็บในเข่ามั้ย หรือแค่มีเสียงดังเฉยๆ?" ถ้าตอบมาว่า "แค่มีเสียงดังเฉยๆ" ไม่ว่าจะดังถี่ หรือนานๆครั้งดังทีก็ตาม ผมก็จะบอกว่า ไม่มีอะไรน่ากังวลครับ แค่ข้อมันหลวมจากกล้ามเนื้อ และเอ็นรอบๆข้อเข่ามันยังไม่แข็งแรงพอ เวลาขยับเข่ามันเลยเกิดเสียงขึ้นแค่นั้นเอง

ซึ่งการที่เกิดเสียงในเข่า ถ้าเป็นเสียงครืดๆเหมือนมีอะไรมาขูดกันทุกครั้งที่งอ-เหยียดเข่าในบางมุมละก็ คาดว่าเป็นผลจากข้อกระดูกเสียดสีกันเป็นธรรมดา แต่ถ้าเป็นเสียงดังป๊อกแบบนานๆทีถึงจะดังละก็ อันนี้เกิดจากฟองอากาศในนํ้าเลี้ยงข้อมันแตกตัวครับ ก็ไม่มีอะไรน่ากังวลอีกเช่นกัน 

ถ้าเราฝึกกำลังกล้ามเนื้อรอบๆเข่าให้มั่นคงแข็งแรงดี เสียงดังในเข่ามันก็จะลดลงได้เองตามลำดับครับ หรือถ้าไม่ลดลงก็ไม่ได้มีผลเสียอะไรเช่นกันนะ

คลิปที่ 68 : วิธีบริหารข้อเข่าหลังผ่าเอ็นไขว้หน้า https://youtu.be/FDzRP2B6Ci8

วิธีบริหารข้อเข่าหลังผ่าเอ็นไขว้หน้า 

คลิปที่ 3 : สาเหตุเสียงดังในข้อ https://youtu.be/4FuVuf-6jCI

สาเหตุเสียงดังในข้อ

8) หมอบอก เดินลงนํ้าหนักได้แค่ 50% มันเดินกันยังไง?

=> อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไป ในคนที่ผ่าเข่ามาใหม่ๆไม่ว่าจะผ่าแบบไหนก็ตาม ในช่วงแรกหลังจากผ่า เราอาจจะยังไม่สามารถเดินลงนํ้าหนักขาข้างที่ผ่าได้ 100% 

หมอก็จะบอกว่าให้เราเดินลงนํ้าหนักขาข้างนั้นก่อน 50% นะ อย่าพึ่งลงเต็มที่ พร้อมทั้งบอกข้อควรระวังนู่นนี่นั่นต่างๆนาๆ คนที่ผ่ามาใหม่ๆก็คงมึนๆอยู่ หมอพูดอะไรมาก็คงพูดครับๆๆ/ค่ะๆๆ อย่างเดียว จนกระทั่งเรากลับมาบ้านแล้วต้องเดินจริงๆนั่นแหละ ถึงนึกสงสัยว่า แล้วเดินลงนํ้าหนัก 50% ที่หมอบอกเค้าเดินกันยังไงหว่า? 

พอนึกไม่ออกว่าจะเดินยังไง ก็ไม่ยอมเดินลงนํ้าหนักขาข้างนั้นเลย รอให้แผลหายก่อนแล้วค่อยเดินอะไรงี้ จนทำให้การฟื้นฟูกลับมาเดินได้จริงๆต้องใช้เวลานานกว่าปกติ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายโอากาสในการใช้ชีวิตพอสมควรนะ

ลงนํ้าหนักที่ปลายเท้า จะช่วยลดการปวดเข่าขณะเดินได้

วิธีการลงนํ้าหนักขา 50% มันก็ตรงตามชื่อเลยนะ คือ เรายืนลงนํ้าหนักขาแค่ครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับการยืนปกติ โดยมีไม้เท้าช่วยพยุงตัวไว้ แล้วเพื่อให้การคุมการลงนํ้าหนักขาทำได้ดี เราจะไม่ลงนํ้าหนักเต็มฝ่าเท้านะ เราจะลงนํ้าหนักแค่ปลายเท้าครับ เหมือนกับเดินเขย่งหน่อยๆ 

ซึ่งการจิกปลายเท้าลงแบบนี้จะช่วยลดแรงกระแทกที่เข่าได้ ในคนที่ปวดเข่ามากๆเวลาเดินในช่วงแรก การเดินแบบนี้จะช่วยให้เราปวดน้อยลงได้ครับผม จนเมื่อหมอบอกให้ลงนํ้าหนักขาได้เต็มที่ เราก็ค่อยเดินลงนํ้าหนักเต็มฝ่าเท้าตามปกติไปนะครับ

สรุป 

สำหรับเนื้อหาที่เพื่อนๆอ่านจบไปเป็นเพียงข้อมูลคร่าวๆที่ผมพบเจอมาแล้วมาเล่าสู่กันฟัง จริงๆแล้วรายละเอียดการรักษา หรือปัญหาของคนที่ผ่าเข่ามายังมีอีกมาก ถ้าเราไม่แน่ใจในส่วนไหนเพื่อนก็สามารถทักเข้ามาสอบถามเพิ่มเติมได้ใน Line ID : @doobody 

แต่ทางที่ดี ผมแนะนำให้ไปพบกับนักกายภาพใกล้บ้านเลยดีกว่า ให้เค้าตรวจร่างกาย ประเมินข้อเข่าเราโดยตรงจะดีกว่า เพราะคนที่ได้ตรวจโดยตรงจะเห็นปัญหาและให้คำแนะนำได้ดีกว่าคนที่คุยผ่านกันตัวอักษรนะครับ


วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562

หมอนรองกระดูกทับเส้นที่หลัง ทำไมปวดขา แต่ไม่ปวดหลัง??


หมอนรองกระดูกทับเส้นที่หลัง 
ทำไมปวดขา แต่ไม่ปวดหลัง??

หลายๆเคสที่ผมรักษาเกี่ยวกับอาการปวดขา ขาชาจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทที่หลัง พอผมตรวจร่างกายเสร็จสัพจนมั่นใจแล้วว่าคนไข้รายนี้เป็นโรคหมอนรองปลิ้นทับเส้นแน่นอน ผมก็จะบอกไปว่าคุณเป็นโรคนี้นะ พอพูดจบเท่านั้นแหละ คนไข้ส่วนใหญ่จะพูดสวนขึ้นมาทันทีว่า "คุณดูนแน่ใจแล้วหรอ ผมปวดขาแต่ไม่ได้ปวดหลัง แล้วจะเป็นหมอนรองปลิ้นทับเส้นได้ยังไง ถ้าเป็นหมอนรองทับเส้นมันต้องปวดหลังไม่ใช่หรอ เพราะโรคมันอยู่ที่หลัง?"

พอคนไข้ทักมาแบบนี้ ผมก็บอกตัวเองในใจว่า "ต้องคุยกันยาวแน่ๆ" ว่าแล้วก็หยิบหนังสือ anatomy มาอธิบายโครงสร้างข้อกระดูกสันหลังและเส้นประสาทว่า ทำไมหมอนรองปลิ้นทับเส้นที่หลังแล้วถึงทำให้เราขาชาได้ แล้วผมก็เชื่อว่าเพื่อนๆหลายคนก็น่าจะสงสัยเหมือนกันว่าทำไมหมอนรองปลิ้นที่หลังถึงทำให้ขาชา เรามาหาคำตอบกันครับ


ภาพแสดงโครงสร้างกระดูกสันหลังและเส้นประสาทสันหลังโดยรอบ

หมอนรองปลิ้นที่หลังแล้วทำไมถึงทำให้ปวด-ชาขา?

เรื่องนี้ตอบง่ายๆเลยก็เพราะว่า เส้นประสาทแต่ละเส้นที่ออกจากข้อกระดูกสันหลังแต่ละข้อ จะมีโซนกล้ามเนื้อที่วิ่งไปหล่อเลี้ยงเป็นโซนๆของตัวเองอยู่แล้ว ถ้าเปรียบเทียบเส้นประสาทของคนก็เหมือนกับสายไฟบ้าน บ้านมี 3 ชั้น สายไฟก็มี 3 เส้น เส้นที่ 1 เลี้ยงชั้น 1 เส้นที่ 2 เลี้ยงชั้น 2 ส่วนเส้นที่ 3 ก็วิ่งไปเลี้ยงชั้น 3 ของบ้าน เปรียบเทียบแบบนี้พอจะนึกภาพออกนะครับ

สมมติวันดีคืนดีดันมีหนูมากัดสายไฟเส้นที่ 2 ที่ไปเลี้ยงชั้น 2 ของบ้าน แต่สายไฟไม่ได้ขาดออกจากกันเป็น 2 ท่อน สัญญาณไฟยังคงวิ่งไปที่ชั้น 2 ได้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่เสถียรเหมือนแต่ก่อน ไฟติดๆดับๆอยู่เป็นระยะ แต่ชั้นที่ 3 ของบ้านไฟหลับเปิดไม่ติดเลย พอไปดูสายไฟเส้นที่ 3 ปรากฎว่าหนูกัดสายไฟขาดออกจากกันเลย ทำให้ไม่มีไฟฟ้าไปเลี้ยงที่ชั้น 3 ของบ้านเลย

ลักษณะแบบนี้ก็เหมือนกับหมอนรองปลิ้นทับเส้นประสาทนั่นแหละครับ สมมติเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขาคู่ที่ 5 ถูกกดทับ ซึ่งเส้นนี้จะส่งสัญญาณประสาทไปเลี้ยงยังกล้ามเนื้อช่วงข้างต้นขา หน้าแข้ง จนถึงปลายเท้าฝั่งนิ้วก้อย พอเส้นนี้ถูกทับปุ๊บเราจึงรู้สึกปวดตามแนวที่เส้นประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อโซนนั้นพอดี 


ภาพ dermatome ที่แสดงถึงเส้นประสาทสันหลังแต่ละคู่มาเลี้ยงร่างกายส่วนไหนบ้าง
ซึ่งทั้งหมอ และนักกายภาพจะใช้ภาพนี้เช็คว่าหมอนรองกระดูกทับเส้นที่ข้อไหน

แล้วถ้าหมอนรองปลิ้นมาก เราก็จะรู้สึกปวดตามโซนนั้นมากขึั้น เริ่มชา จนถึงชามาก ส่งผลให้การสั่งงานของกล้ามเนื้อที่เส้นประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อกลุ่มนั้นอยู่ทำงานผิดปกติไป คือ รู้สึกขาไม่มีแรง รู้สึกขาแข็ง ก้าวขาลำบาก ทรงตัวไม่ดี ล้มง่าย 

และในกรณีที่หมอนรองปลิ้นออกมาเยอะมากจริงๆละก็ ก็มีบ้างบางเคสที่จะมอาการปวดหลังร่วมด้วยครับ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะปวดลงขามากกว่านะ คนไข้จะรู้สึกตัวว่าปวดหลังจริงๆก็ตอนที่นักกายภาพกำลังกดข้อกระดูกสันหลัง เพื่อดันหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นอยู่ให้กลับเข้าที่นั่นแหละครับ ตอนนั้นแหละเราจะรู้สึกว่า มันทั้งปวดตึงในหลัง แถมยังปวดร้าวลงขาตามแนวที่ปวดอยู่ตลอดด้วย พอโดนแบบนี้เข้า คนไข้จะบอกกับตัวเองได้ทันทีเลยว่า "ฉันเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแน่นอน" 


ถ้าเส้นประสาทที่ถูกกดทับตามรูปเป็นเส้นประสาทคู่ที่ 5 
คนไข้จะรู้สึกปวดก้นขวา ข้างต้นขา หน้าแข้ง ไล่ลงไปจนถึงปลายเท้า 
แต่ถ้าการกดทับน้อย อาจจะปวดตุ่ยๆอยู่แค่ก้นก็ได้

แล้วถ้าเป็นหมอนรองปลิ้นทับเส้นที่คอก็จะปวดลงแขนเหมือนกันใช่มั้ย?

ใช่ครับ หลักการเดียวกันเลยครับผม คือ ถ้าเส้นประสาทจากคอที่ไปเลี้ยงแขนส่วนไหนถูกกดทับ เราก็จะรู้สึกปวดตามโซนที่เส้นประสาทไปเลี้ยงเลยครับ

สรุป 

คนที่เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่หลัง มักจะมีอาการปวดและชาลงขา ไม่ค่อยปวดหลัง เนื่องจากเส้นประสาทจะส่งสัญญาณประสาทไปเลี้ยงกล้ามเนื้อเป็นโซนๆอยู่แล้ว แต่พอถูกทับ ทำให้ส่งสัญญาณประสาทไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ได้ แล้วเกิดอาการปวดตามโซนนั้น ถ้าถูกทับมากก็จะมีอาการชาร่วมด้วย

ถ้าเพื่อนๆต้องการปรึกษาอะไรเพิ่มเติม หรือต้องการนัดเข้าคลินิกก็ทักเข้ามาได้ที่ Line ID : @doobody ได้เลยนะครับ


--------------------------------------------

รายละเอียดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท : หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตที่มาพร้อมกระดูกเสื่อม

คลิปที่ 7 : 9 วิธีลดปวด จากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นด้วยตนเอง

คลิปที่ 58 : 3 วิธี ดึงหลังด้วยตนเอง

คลิปที่ 81 : วิธีลุกจากเตียง ของคนเป็นหมอนรองทับเส้น ป้องกันไม่ให้เป็นซํ้า






วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562

นั่งนานแล้วปวดขาหนีบ เกิดจากอะไรหว่า?


นั่งนานแล้วปวดขาหนีบ 
เกิดจากอะไรหว่า?

ในชีวิตของคนวัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานอย่างพนักงานออฟฟิศ อาการปวดที่เราจะคุ้นเคยกันดีนั่นคือ อาการปวดหลัง แต่จะปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังตึง อักเสบ เกิดจากหลังแอ่น เกิดจากพฤติกรรมการนั่งที่ไม่ดี หรือเกิดจากข้อกระดูกสันหลังนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยรวมแล้วมันก็คืออาการปวดหลังละกัน 

ทั้งนี้ก็ยังมีอาการปวดอีกอย่างหนึ่งที่คนนั่งนานมักเป็นกันถึงแม้จะไม่ได้พบมากก็ตาม นั่นคืออการปวดขาหนีบนั่นเองครับ 

โดยทั่วไปพอคนเรามีอาการปวดขาหนีบ ผู้ชายจะนึกถึงไส้เลื่อนทันทีส่วนโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องก็ไม่ค่อยจะมีมากแล้ว ส่วนผู้หญิงนี่มีอะไรให้คิดเยอะกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นมดลูกผิดปกติรึเปล่า? มีซีสต์ที่รังไข่มั้ย? ประจำเดือนมาผิดปกติแน่ๆ หรือจะเป็นท่อปัสสาวะอักเสบหว่า? 

ซึ่งอาการทั้งหมดทั้งมวลนั้นจะมีจุดสังเกตุเบื้องต้นว่า ถ้ามีอาการปวดขาหนีบตลอดเวลา หรือปวดบ่อยๆแบบไม่ขึ้นอยู่กับอิริยาบทท่านั่ง ท่ายืน การใช้ชีวิตของเราละก็ มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นโรคใดโรคหนึ่งที่ผมกล่าวมา เราก็ต้องไปตรวจภายในกันดูถ้ามีสัญญาณทีแย่ลงเรื่อยๆ แต่ถ้าเพื่อนๆมีอาการปวดขาหนีบเวลานั่งนานเท่านั้นละก็ เชิญอ่านต่อได้เลยครับ

อาการปวดขาหนีบจากการนั่งนานเกิดจากอะไร?

ถ้าให้พูดแบบกำปั้นทุบดินเลยละก็ มันเกิดจากกล้ามเนื้อช่วงขาหนีบมันตึงครับ จบ...

ที่บอกว่ากล้ามเนื้อตึง มันคือกล้ามเนื้ออะไรละ?

ถ้าให้ขยายประเด็นไปอีกหน่อยว่า กล้ามเนื้อที่ตึงมันคือกล้ามเนื้ออะไรนั้นละก็ มันคือกลุ่มกล้ามเนื้อหลังมัดลึกที่มีชื่อว่า iliopsoas ครับ โดยแบ่งกล้ามเนื้อออกเป็น 2 ส่วนย่อยดังนี้ 1) psoas major 2) iliacus ถ้าเพื่อนๆเห็นภาษาอังกฤษแล้วเกิดอาการหน้ามือตาลาย ก็ไม่เป็นไปครับ ดูรูปประกอบด้านล่างได้เลย

ภาพแสดงกลุ่มกล้ามเนื้อ iliopsoas ทางด้านหน้าและด้านข้าง

โอเค พอเราเห็นลักษณะโครงสร้างกล้ามเนื้อที่เป็นต้นเหตุของการปวดขาหนีบทั้ง 2 มัดกันแล้ว ทีนี้เรามาทำความเข้าใจกันต่อว่า แล้วกล้ามเนื้อส่วนนี้ทำให้ปวดขาหนีบได้ยังไงกัน? ซึ่งการที่จะเข้าใจอาการปวดของกล้ามเนื้อได้ เราต้องเข้าใจการทำงานของกล้ามเนื้อกลุ่มนี้กันก่อนนะ

หน้าที่หลักของกล้ามเนื้อกลุ่มนี้คือ ทำหน้าที่ยกต้นขาขึ้น (hip flexion) ถ้านึกไม่ออกว่ายกต้นขาขึ้นมันทำยังไง ให้นึกนึกถึงท่าตีเข่าในนักมวยดูครับ ท่านั้นเลย 

พอกล้ามเนื้อกลุ่มนี้หดตัว ต้นขาเราก็จะยกขึ้นมาให้อยู่ในท่าตีเข่า ในทางตรงกันข้ามพอกล้ามเนื้อกลุ่มนี้คลายตัวก็ต้นขาเราก็จะกลับมายืนตรงได้เหมือนเดิม ซึงถ้ากล้ามเนื้อมีการหดตัวและคลายตัวสลับไปมาแบบนี้ตลอดทั้งวันมันก็ไม่มีปัญหาอะไร จนกระทั่งเรานั่งนาน...

การนั่งนานจะทำให้ iliopsoas ตึง

การที่เรานั่งเก้าอี้ ด้วยลักษณะท่าทางแบบนี้มันจะเป็นเหมือนกับให้กล้ามเนื้อ iliopsoas หดตัวอยู่ตลอดเวลา (เหมือนเราตีเข่า 2 ข้างอยู่ตลอดแม้จะไม่ได้ออกแรงก็ตาม) ซึ่งในระยะแรกของการนั่งเราจะไม่รู้สึกปวดตึงอะไร เพราะกล้ามเนื้อคนเราโดยปกติจะมีความยืดหยุ่นสูง 

แต่เมื่อเราทำพฤติกรรมเดิมๆไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ คือ ตื่นเช้ามา ก็นั่งขับรถ พอถึงที่ทำงานก็นั่งทำงานไปยาวๆ พักเที่ยงก็นั่งกินข้าว กินข้าวเสร็จก็กลับไปนั่งทำงานต่อ ตกเย็นก็นั่งขับรถกลับบ้าน ถ้าดวงซวยก็เจอรถติดอีก กลับถึงบ้านก็เหนื่อยไม่อยากยืดเหยียดกล้ามเนื้อหรืออกกำลังกายอะไรทั้งสิ้นได้แต่นั่งเล่นมือถือต่อไป จนเข้านอน... จบไป 1 วัน วันรุ่งขึ้นก็ทำแบบเดิมซํ้าไปซํ้ามาเป็นปีๆ

โดยเฉลี่ยชีวิตของคนเมืองจะอยู่ในท่านั่งวันนึงไม่ตํ่ากว่า 10-12 ชั่วโมงเลยนะ แล้วพฤติกรรมที่ทำอะไรซํ้าๆกันแบบนี้แหละที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของกล้ามเนื้อเราได้ คือ จากกล้ามเนื้อที่โดยธรรมชาติแล้วจะมีความยืดหยุ่นสูง 

แต่พอเราอยู่ในท่านั่งนานๆ กล้ามเนื้อ iliopsoas มันก็หดตัวค้างจนกลายเป็นภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวอยู่ตลอดเวลา พอกล้ามเนื้อตึงมากๆ การหด-คลายของกล้ามเนื้อก็ทำได้ไม่ดีดังเดิม แล้วอะไรที่ตึงมากๆมันก็พร้อมที่ฉีกขาดได้ง่ายด้วยเช่นกัน 

เหมือนกับหนังยางที่ถูกยืดให้ตึงตลอดเวลา พอเราไปกระชากหนังยางเส้นนั้นแรงๆหนังยางมันก็พร้อมขาดได้ทันที กล้ามเนื้อที่ตึงก็เช่นกันครับมันพร้อมจะบาดเจ็บได้ตลอด

เพราะเหตุนี้แหละคนที่นั่งทำงานมาทั้งชีวิต ไม่เคยออกกำลังกายอะไรเลย แล้วจู่ๆก็ลุกขึ้นมาวิ่งออกกำลังกายเบาๆ ทั้งๆที่ตัวเองวิ่งเบาๆแล้วนะ พอวันรุ่งขึ้นดันปวดเมื่อยทั่วทั้งตัว รวมทั้งขาหนีบด้วย เพราะกล้ามเนื้อมันตึงเยอะ ความยืดหยุ่นมีน้อย เส้นใยกล้ามเนื้อมันพร้อมจะฉีกขาดได้ตลอดเวลา จึงไม่แปลกที่คนกลุ่มนี้จะปวดกล้ามเนื้อกันมากหลังจากออกกำลังกายครั้งแรกๆ 

กลุ่มกล้ามเนื้อ iliopsoas มี 2 มัด คือ 1) psoas major 2) iliacus

อ้าว แต่ฉันไม่ได้ออกกำลังกายแล้วทำไมปวดขาหนีบได้ละ?

ทีนี้ในส่วนคนที่นั่งทำงานนานแล้วไม่ได้ออกกำลังกายแต่ก็ดันมาปวดขาหนีบได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อ iliopsoas ที่มีจุดเกาะต้นที่กระดูกสันหลังและลากยาวมาเกาะที่ขาหนีบนั้น เวลาเรานั่งนานๆกล้ามเนื้อจะหดตัวค้างจนตึง การหดตัวคลายตัวของกล้ามเนื้อไม่ดีเท่าเก่า พอกล้ามเนื้อทำงานได้ไม่เต็มที่ 

ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อก็ลดน้อยลง พอความแข็งแรงน้อยลง แต่เรายังคงใช้งานกล้ามเนื้อเท่าเดิม นั่นคือการนั่งนาน (แม้เราจะนั่ง กล้ามเนื้อก็ยังคงทำงานอยู่นะ) ในท้ายที่สุดกล้ามเนื้อมันก็เกิดอาการล้า และแสดงอาการออกมาเป็นอาการปวดตึงในขาหนีบอย่างที่หลายคนเป็นกันอยู่นั่นเองครับ

ซึ่งอาการปวดขาหนีบจากกล้ามเนื้อ iliopsoas ตึงไม่ใช่อาการปวดที่ร้ายแรงจนต้องล้มหมอนนอนเสื่อเหมือนคนที่ปวดหลังเรื้อรังแต่อย่างใด เพียงแค่สร้างความรำคาญให้กับการทำงานของเรามากกว่า คือ ถ้าได้นั่งนานเมื่อไหร่ก็จะตึงในขาหนีบทันที แต่ในคนที่กล้ามเนื้อ iliopsoas  ตึงมาก สะสมบารมีมานาน คนกลุ่มนี้ถ้าได้นั่งเก้าอี้แค่แป๊ปเดียวก็จะรู้สึกตึงในขาหนีบทันที 

วิธีแก้อาการปวดขาหนีบ

จากที่ผมเล่ามาจะเห็นว่าการนั่งนานจะมีผลให้กล้ามเนื้อ iliopsoas หดตัวค้าง ตึง แล้วปวดได้ วิธีป้องกันและแก้ไขที่ง่ายที่สุดเลยก็คือ หมั่นลุกขึ้นยืนเดินสัก 5-10 นาทีทุกๆชั่วโมงในเวลางานครับ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้มีการขยับเคลื่อนไหวอยู่ตลอด พอกล้ามเนื้อได้มีการเคลื่อนไหวบ่อยๆ โอากาสที่กล้ามเนื้อจะตึงก็มีน้อยลง อาการปวดขาหนีบก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าเราทำแบบนี้ 

แต่ในกรณีที่เราอยากได้ผลทันใจเลย คือจะเอาให้หายนะตอนนั้นทันที จะให้ลุกทุกๆชั่วโมงแบบนั้นไม่ไหว ด้วยภาระงานมันทำไม่ได้จริงๆละก็ คงต้องใช้การยืดเหยียดกล้ามเนื้อกลุ่ม iliopsoas โดยตรงเลยครับ คือ ถ้าปวดเมื่อไหร่ก็ยืดเมื่อนั้น ดูวิธีการยืดกล้ามเนื้อ iliopsoas ได้ในคลิปนี้เลยครับ https://youtu.be/IR4WHHbAfgM ดูท่ายืดท่าที่ 1-3 นะครับ

วิธีคลายอาการปวดขาหนีบ https://youtu.be/IR4WHHbAfgM

แต่ข้อเสียของการเอาแต่ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียว โดยไม่ปรับพฤติกรรม และไม่ออกกำลังกายร่วมด้วย พอเรายืดกล้ามเนื้อไปถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้แล้วคือ ยืดจนสุดองศาของขาเราแล้ว ถ้ายืดไปมากกว่านี้ก็ขาหักแน่นอน แต่ถึงแม้จะยืดสุดแล้วเราก็ยังรู้สึกตึงข้างในอยู่ลึกๆ ไม่หายขาดเหมือนตอนยืดแรกๆแล้ว ถ้าเพื่อนๆมีอาการแบบนี้ละก็ คงต้องใช้การออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าขาร่วมด้วยแล้วละครับ การเอาแต่ยืดกล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียวเอาไม่อยู่แล้วแน่นอน (ดูท่าออกกำลังกายเบาๆได้ในคลิปเดิมแต่เป็นท่าที่ 4 นาทีที่ 6:46 )

นั่นเพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความตึงของกล้ามเนื้อ แต่อยู่ที่กล้ามเนื้อมันอ่อนแรงครับ ต้องให้กล้ามเนื้อได้ออกแรงบ้างก็หายแล้ว

สรุป

1) คนนั่งนานมักจะปวดขาหนีบ เพราะกล้ามเนื้อ iliopsoas ตึง แล้วที่ต้องไปปวดตรงขาหนีบ เพราะช่วงปลายสุดของกล้ามเนื้อมันไปเกาะที่ขาหนีบพอดีครับ

2) วิธีแก้อาการปวดตึงขาหนีบของคนนั่งนานก็ใช้การยืดกล้ามเนื้อ iliopsoas ตามคลิปนี้ https://youtu.be/IR4WHHbAfgM  แต่ถ้ายืดแล้วไม่หายก็ต้องใช้การออกแรงที่กล้ามเนื้อมัดนั้นโดยตรง

3) ถ้าไม่นับอาการปวดขาหนีบจากอวัยวะภายในมีปัญหา เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ลำไส้อักเสบ เป็นไส้เลื่อน ปวดประจำเดือน แล้วละก็ อาการปวดขาหนีบก็ยังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 

- ปวดจากข้อสะโพกเสื่อม คนไข้จะปวดในขาหนีบ แต่จะปวดขัดๆ เหมือนมีอะไรงัดกันอยู่ในขาหนีบมากกว่าปวดตึงๆ แล้วจะรู้สึกมากขึ้นเมื่อหุบขาเข้าด้านใน เหมือนในภาพด้านล่าง

 คนไข้ข้อสะโพกเสื่อม เวลาหุบขาเข้าด้านในตามภาพจะปวดในขาหนีบมากขึ้น

- คนที่วิ่งมาราธอน ปั่นจักรยาน หรือเล่นกีฬาที่ต้องวิ่งบ่อยๆก็มีอาการปวดขาหนีบได้เช่นกัน เพราะกล้ามเนื้อ iliopsoas ทำหน้าที่ยกขาให้เราวิ่งได้ ซึ่งการวิ่งนานๆแล้วสมดุลของกล้ามเนื้อโดยรวมไม่ทำงานสัมพันธ์กันดี จะทำให้กล้ามเนื้อ iliopsoas  ตึงมากขึ้นจากการออกแรงซํ้าๆกัน แล้วเกิดภาวะกล้ามเนื้ออักเสบ แล้วปวดขาหนีบได้ในที่สุด

- ปวดจากโรค SI joint syndrome ซึ่งโรคนี้เป็นภาวะที่ข้อต่อระหว่างกระดูกกระเบนเหน็บและเชิงกรานเสื่อม ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดร้าวรอบเชิงกราน หลัง และอาจปวดลงขาหนีบได้ด้วยเช่นกัน 

อาการปวดขาหนีบเพียงจุดเดียว แต่ก็มีสาเหตุที่จะเกิดจากโรคอื่นๆมากมาย ถ้าเพื่อนๆอ่านแล้วยังจับจุดไม่ได้ว่าตัวเองปวดขาหนีบจากการนั่งนาน หรือเกิดจากโรคอื่นละก็ ลองเสียเวลาไปพบแพทย์ให้ตรวจภายในกันละเอียดเลยดูครับ ถ้าตรวจภายในจนมั่นใจแล้วว่าภายในปกติดีแน่แล้วละก็ ที่เหลือก็ไม่มีอะไรยุ่งยากแล้วครับ ไม่ข้อสะโพกก็กล้ามเนื้อ iliopsoas เนี่ยแหละที่มีปัญหา ซึ่งหน้าที่ตรงนี้นักกายภาพจัดการต่อได้สบายแฮนด์ ^^

ต้องการปรึกษาเพิ่มเติม หรือนัดเข้าคลินิกก็ทักมาได้ที่ Line ID : @doobody เลยนะครับ เขียนคำถามที่สงสัยมาเป็นข้อๆเลยนะครับ ถ้าผมเคลียงานระหว่างวันเสร็จเรียบร้อยจะเข้ามาทยอยตอบให้นะครับผม





วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เคสน่าศึกษา 07 หมอนรองทับเส้นระดับหน้าอก


เคสน่าศึกษา 07
หมอนรองทับเส้นระดับอก
โรคที่ 1 ใน 1,000 จะเจอซักคน

ห่างหายไปนานเลยครับ กับเคสกรณีศึกษา ในบทความนี้ผมจะพูดถึงโรคที่เพื่อนๆรู้จักกันดีอยู่แล้วอย่าง "โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" ส่วนจะทับเส้นที่คอ หรือหลังส่วนล่างก็เป็นอีกเรื่องนึง แต่ถ้าเป็นทับเส้นทั่วไปคงไม่ได้ถูกหยิบยกมาเป็นกรณีตัวอย่างแน่ๆครับ ส่วนเคสนี้จะมีความพิเศษอย่างไรบ้าง ติดตามกันได้เลย

คนไข้ที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้ เป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นที่ระดับทรวงอกครับ โดยตามหลักสรีรวิทยาแพทย์จะแบ่งโครงสร้างกระดูกสันหลังออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1) กระดูกสันหลังระดับคอ 2) ระดับทรวงอก 3) ระดับเอว 4) กระเบนเหน็บ

ลักษณะโครงสร้างข้อกระดูกสันหลังระดับทรวงอก 
ที่มีซี่โครงอยู่รอบๆ ทำให้ข้อกระดูกส่วนนี้เคลื่อนไหวมากไม่ได้

ซึ่งการเกิดหมอนรองทับเส้นประสาท มักจะเกิดที่ระดับเอวมากที่สุด รองลงมาก็คอ เนื่องจากแนวกระดูกทั้ง 2 ส่วน เป็นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด คือ ก้ม เงย เอียงตัว เอี้ยวตัว เท่านั้นยังไม่พอ ยังเป็นส่วนที่ต้องรับนํ้าหนักร่างกายมากที่สุดด้วย โดยเฉพาะที่ระดับเอว จึงทำให้หมอนรองกระดูกต้องแบบรับนํ้าหนัก ถูกใช้งานอยู่ตลอดเวลา จนเกิดการฉีกขาดแล้วทำให้หมอนรองปลิ้นได้ง่าย

แต่กระดูกสันหลังระดับทรวงอกนั้นต่างออกไป มันเป็นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวน้อยมากเมื่อเทียบกับคอ และหลังล่าง เพราะติดกระดูกซี่โครงแค่นั้นเองครับ แล้วพอเคลื่อนไหวได้น้อยโอกาสที่หมอนรองจะปลิ้นมันก็น้อยลงไปด้วย นี่จึงเป็นเหตุว่าทำให้การจะพบคนเป็นหมอนรองทับเส้นประสาทระดับทรวงอกถึงพบได้น้อยมากนั่นเองครับผม

อาการ ของผู้ป่วยรายนี้

ครั้งแรกที่ผู้ป่วยมาหานั้น มาด้วยอาการปวดเนินหน้าอก ข้อศอกทั้ง 2 ข้าง สะบักทั้ง 2 ข้าง ปวดไหปลาร้าซ้าย แล้วก็มีการตึงคออยู่ลึกๆตลอดเวลา จะเป็นมากที่สุดช่วงตี 4 โดยจะรู้สึกปวดหน้าอก ปวดลึกๆอยู่ข้างในจับจุดไม่ถูก กดตรงไหนก็ไม่โดนจุดซะที รู้แค่ว่ามันอยู่ข้างในจนนอนต่อไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมานั่ง ยืน เดิน ถึงจะรู้สึกดีขึ้นเล็กน้อย แต่จะให้นอนต่อก็คงทำไม่ได้แน่นอน เพราะมันปวดอยู่ตลอดเวลาแล้ว

แล้วอาการปวดก็เป็นมาตั้งแต่กลางปี 2561 แต่เริ่มเป็นหนักสุดจนต้องตื่นนอนตี 4 เกือบทุกคืนก็ช่วงสิ้นปี 2561 ยาวมาจนถึงปัจจุบัน แล้วแน่นอนว่าคนไข้ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆนะครับ เข้ารับการรักษาทุกรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งทานยา ทำกายภาพ นวดรักษาตามศาสตร์ต่างๆที่มี ซึ่งในช่วงที่ทำการรักษาอาการดีขึ้นมาก แต่พอกลับมาบ้านอาการปวดก็ค่อยๆกลับมาเป็นดังเดิม วนเวียนอยู่แบบนี้ทุกวันทรมานมาก

ตำแหน่งเนินหน้าอกที่คนไข้ปวดอยู่ทุกวัน

การตรวจประเมินเบื้องต้น

จากการซักประวัติในเบื้องต้น ตอนแรกผมก็สันนิษฐานว่า คงเป็นหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทแน่ๆเลย แต่พอตรวจองศาการเคลื่อนไหวของคอ วิธีการตรวจจะคล้ายๆคลิปนี้ https://youtu.be/3b8ySxLXeGw ขณะตรวจก็เห็นว่าองศาการเคลื่อนไหวของคอก็ปกติดี ไม่มีการติดขัด หรือมีองศาที่ทำให้ปวดมากขึ้นแต่อย่างใด


แต่ยังไม่วางใจ ผมก็ให้คนไข้นอนควํ่าแล้วกดไปที่ข้อกระดูกคอทีละข้อ เพื่อเช็คว่าข้อไหนมันติดขัด หรือมีการกดทับเส้นประสาทอะไรมั้ย เพราะถ้าเป็นจริง เวลากดไปที่ข้อนั้นโดยตรง คนไข้จะรู้สึกปวดตรงจุดที่นิ้วผมกดลงไปพอดี หรือไม่ก็ปวดร้าวลงแขนตามแนวที่เส้นประสาทถูกกดทับ แต่คนไข้บอกว่าแค่เจ็บตามแรงกดนิ้วธรรมดา จากนั้นก็ใช้เทคนิคตรวจพิเศษอื่นๆเพิ่มอีกเล็กน้อย เช่น การกดไปที่ศีรษะโดยตรงเพื่อเพิ่มแรงอัดในข้อเพื่อดูอาการว่าปวดมากขึ้นมั้ย และอีก 2-3 เทคนิคอื่นๆ ปรากฎว่า เฉยๆทุกอย่างเลย

สาธิตการกดไล่กระดูกคอทีละข้อเพื่อหาว่าข้อไหนมีปัญหา

พอตรวจจนแน่ใจแล้วว่า เคสนี้ไม่ได้เป็นหมอนรองทับเส้นที่คอแน่นอน ผมก็เล็งไปที่การกดทับเส้นประสาทของกล้ามเนื้อรอบๆคอ และทรวงอก ที่มีชื่อโรคกลุ่มนี้ว่า โรค thoracic outlet syndrome (TOS) 

ผมก็ตรวจแยกโรคว่าเป็น TOS รึเปล่า ตรวจๆไปก็ไม่ได้มีอาการเด่นชัดอะไรมากมาย คนไข้บอกว่าก็มีชาบ้างนะ แต่ไม่ได้หนักหนาอะไร พอตรวจเสร็จก็ทดโรคนี้ไว้ในใจก่อนยังพอมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง

(รายละเอียดของโรค TOS ดูได้ที่ลิงค์นี้ครับ https://youtu.be/6ThAv7xU8fQ)

นอกนั้นผมก็ตรวจลักษณะโครงสร้างร่างกายทั่วๆไป เช็คระดับหัวไหล่เท่ากันมั้ย กล้ามเนื้อรอบๆบ่าตรงไหนตึงบ้าง ตรงไหนอ่อนแรงบ้าง เส้นประสาทเส้นไหนตึง มีข้อติดมั้ย ก็ตรวจๆๆๆๆไล่ไปจนครบ ซึ่งรูปแบบอาการปวดไม่ได้ตอบสนองต่อเทคนิคหนึ่งเทคนิคใดเป็นพิเศษ พูดง่ายๆก็คือ ยังไม่สามารถระบุได้ 100% ว่าอาการที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้คือโรคอะไรนั่นเองครับ แต่มีความเป็นไปได้ว่า เป็น TOS นะ

การรักษา ในเบื้องต้น

สำหรับวิธีการรักษาโรค TOS ก็ไม่ได้มีความยุ่งยากซับซ้อนอะไรเลยครับ ผมก็ใช้เทคนิค myofascial release ซึ่งเป็นเทคนิคการคลายกล้ามเนื้อและพังผืดในส่วนที่ตึงให้มันคลายตัว ซึ่งจะเน้นเฉพาะส่วนที่ตึง หรือส่วนที่มีปัญหาอยู่นะ ตรงไหนไม่มีปัญหาก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งให้คนไข้ต้องเจ็บตัวหรอกครับผม

ตำแหน่งที่จะเน้นคลายเป็นพิเศษก็คือ ช่วงก้านคอ กล้ามเนื้อแผงหน้าอกทั้งหมด เพราะเป็นส่วนที่ตึงมากที่สุด และถ้ากล้ามเนื้อกลุ่มนี้ตึงมากๆจะไปกดเบียดเส้นประสาททำให้เกิดอาการปวด และชาได้นั่นเองครับ

สาธิตการคลายกล้ามเนื้อหน้าอก (คลาย pectoralis minor)

นอกจากการคลายกล้ามเนื้อแล้ว ผมก็ยังยืดเส้นประสาท ยืดดึงผิวหนังให้พังผืดที่อยู่ใต้คลายตัว อาการตึงปวดที่ข้อศอกแบบปวดลึกๆจะได้คลาย คนไข้จะรู้สึกเบาลง

สาธิตการคลายพังผืดท่อนแขนโดยการดึงคนไข้จะรู้สึกตึงมาก

ซึ่งแน่นอนว่าขณะรักษาคนไข้บอกว่ารู้สึกดีขึ้นมาก โดยเฉพาะตอนดึงแขนเพื่อคลายพังผืดให้มันอ่อนตัวลง คนไข้รู้สึกว่าอาการปวดในแขน และข้อศอกลึกๆแทบจะหายไปในทันที หลังการรักษาเสร็จก็สอนท่ากายบริหารง่ายๆไป 2-3 ท่า เน้นกล้ามเนื้อสะบักให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อช่วงแผงหน้าอกกลับไปตึงใหม่

ทุกอย่างดูจะเป็นไปได้ด้วยดี จนกระทั่งในสัปดาห์ถัดไปคนไข้กลับมาหาผมด้วยอาการเดิมเลยครับ คือ ปวดแผงหน้าอกโดยรอบ ข้อศอก สะบัก แต่ตรงไหปลาร้าหายปวดแล้ว ผมก็ทำการตรวจร่างกายอีกรอบ (คนไข้เก่า คนไข้ใหม่ต้องตรวจร่างกายก่อนรักษาเสมอครับ เพื่อประเมินอาการว่าดีขึ้นหรือแย่ลงยังไงบ้าง และเป็นการกรองโรคใหม่ๆที่เราอาจตรวจไม่เจอในครั้งแรกด้วย) ตรวจแล้วก็ได้ผลดังเดิม ผมก็ใช้วิธีการรักษาดังเดิมเลย พอรักษาเสร็จก็รู้สึกดีขึ้น (ณ ตอนที่รักษาเสร็จนะ)

มาครั้งที่ 3 คราวนี้คนไข้บอกว่า อาการแย่ลงมากเลย จากเดิมที่รักษาครั้งแรกจะหายปวดไปได้ 2 วัน แต่ครั้งล่าสุดนี่พบกลับไปถึงบ้านก็ปวดเหมือนเดิมเลย มาครั้งนี้ก็ปวดเหมือนเดิมทุกอย่างแล้ว ทำยังไงดี? พอพูดคุยซักถามอาการเพิ่มเติมเสร็จ ผมก็ชักจะรู้สึกแปลกๆแล้ว "เอ๊ะ! ทำไมมันเป็นแบบนี้ไปได้ ปกติโรค TOS ถ้าไม่ได้เป็นหนักหนาอะไรมากมาย รักษากันครั้งที่ 2 ก็แทบจะหายขาดแล้วนะ แต่ทำไมเคสนี้อาการแย่ลงได้หว่า?" ผมคิดในใจ

สรุปในครั้งที่ 3 ผมไม่ได้เน้นคลายกล้ามเนื้ออะไรมาก แต่ลองปรับเปลี่ยนให้เน้นการออกกำลังกายเป็นหลัก และปิดท้ายด้วยการยืดคลายพังผืดที่แขน กับช่วงชายโครงไป ซึ่งผลการรักษาก็ไม่ได้เห็นชัดอะไรมากมาย

และแล้วความจริงก็ปรากฎ

หลังจากห่างหายไป 1 สัปดาห์กว่า คนไข้ก็กลับมาอีกครั้ง คราวนี้ไม่ได้มามือเปล่า แต่มาพร้อมแผ่นฟิลม์ MRI กระดูกสันหลังตั้งแต่หัวจรดเอวเลยครับ ผมไม่รอช้า รีบดูแผ่นฟิลม์ก่อนเลย ผมดูไล่ข้อกระดูกสันหลังไปทีละข้อ ทีละข้อ ทีละข้อ จนไปเจอข้อนึงที่เป็นเป้าหมาย ผมถึงกับปรบมือดังฉากทันที!

รู้เลยว่าทำไมการรักษาก่อนหน้านี้ถึงไม่เห็นผล เพราะอาการที่คนไข้เป็นอยู่ไม่ได้เกิดจาก TOS แต่เป็นเพราะโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทที่ระดับทรวงอกนั่นเองครับ ข้อที่ T2-T3

ภาพ MRI ของคนไข้รายนี้ครับ มีหมอนรองปลิ้นที่ T2-T3
ส่วนที่ระดับคอก็ปลิ้นเหมือนกัน แต่จากผลการตรวจการเคลื่อนไหวที่คอไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร

เพื่อนๆจะเห็นผมวงตรงจุดสีแดงๆ ตรงนั้นแหละครับที่เกิดหมอนรองปลิ้นทับเส้นประสาทไขสันหลังอยู่ แล้วเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนไข้เกิดอาการปวดเนินหน้าอก สะบัก และโดยรอบทรวงอกอย่างที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้ เพราะเส้นประสาทบริเวณที่ถูกกดทับอยู่นั้น จะส่งสัญญาณประสาทไปเลี้ยงบริเวณหน้าอกและสะบักพอดี ตามหลัก dermatome

ตำแหน่งที่คนไข้ปวดอยู่ตลอด
ซึ่งตรงตามตำแหน่งที่เส้นประสาทถูกกดทับพอดี

คิดใหม่ ทำใหม่

พอรู้สาเหตุที่แท้จริงแล้ว ความมั่นใจในการรักษาเคสนี้ก็กลับมาเต็ม 100 เลย เป้าหมายหลักของการรักษามีอยู่แค่อย่างเดียวคือ ดันหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นอยู่ให้กลับเข้าที่ ถ้าหมอนรองกลับเข้าที่แล้ว การกดทับเส้นประสาทก็ไม่เกิดขึ้น พอไม่มีการกดทับ อาการปวดทุกอย่างหายหมดได้แน่นอน

ส่วนเป้าหมายรองก็คือ เมื่อดันจนหมอนรองที่ปลิ้นอยู่กลับเข้าที่แล้ว ก็ต้องป้องกันไม่ให้หมอนรองกลับมาปลิ้นซํ้า ถ้าหมอนรองไม่ปลิ้นซํ้าจนเอ็นหุ้มหมอนรองกระดูกกลับมายึดติดกันดีดังเดิม ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน นั่นก็หมายความว่าคนไข้รายนี้หายขาด 100% แล้วครับผม

กระบวนการรักษาคนเป็นหมอนรองปลิ้นที่ระดับอก

วิธีการรักษาก็ใช้การกดไปที่ข้อกระดูกตรงตำแหน่งที่ปลิ้นโดยตรงเลยครับ โดยให้คนไข้นอนควํ่าแล้วกดลงไปตามจังหวะ เพื่อให้แรงดันจากมือ ดันตัวหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นค่อยๆไหลซึมกลับเข้าที่ ซึ่งแน่นอนขณะดันข้อที่ปลิ้น คนไข้จะรู้สึกปวดลึกๆ ปวดแสบตามแรงกดอยู่แล้ว

สาธิตการกดข้อที่หมอนรองปลิ้น เพื่อดันให้หมอนรองกลับเข้าไป

แต่เมื่อกดลงไปได้สักระยะจนคนไข้รู้สึกว่าปวดน้อยลงแล้ว ผมก็จะให้คนไข้ตั้งศอกและแอ่นหลังขึ้นมา ร่วมกับการกดตรงหมอนรองที่ปลิ้นอยู่ให้กลับเข้าไปใหม่ ซึ่งวิธีนี้จะเพิ่มแรงดันให้หมอนรองที่ปลิ้นถูกดันเข้าไปมากกว่าเดิม

สาธิตการดัดข้อร่วมกับการออกกำลังกาย
เพื่อให้หมอนรองที่ปลิ้นกลับเข้าที่ได้มากขึ้น

กระบวนการรักษาจะทำๆหยุดๆ เพื่อให้คนไข้ได้พักเหนื่อยบ้าง ใช้เวลาเบ็ดเสร็จ 40 นาที ก็จบการดัดข้อ หลังดัดเสร็จคนไข้บอกได้ทันทีว่า อาการปวดตรงหน้าอกหายไปโดยสิ้นเชิง จะมีเหลือที่ข้อศอกนิดหน่อยเท่านั้นเอง "สุดยอดไปเลย!!" อันนี้ผมชมตัวเองนะ ฮาๆๆ

ท่ากายบริหารที่บ้าน

หลังการรักษาเสร็จ สิ่งที่คนไข้ทุกคนจะได้กลับไปก็คือ ท่ากายบริหารเพื่อให้กลับไปรักษาตัวเองต่อที่บ้าน เปรียบเสมือนกับหมอจ่ายยาเวลาไปโรงพยาบาลนั่นแหละครับ หมอให้ยา แต่นักกายภาพให้ท่ากายบริหาร

ท่ากายบริหารจะมีความคล้ายตลึงกับคนที่เป็นหมอนรองปลิ้นที่เอวนะ คือจะเน้นการแอ่นหลังให้มาก เพื่อดันตัวหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นให้ไหลกลับเข้าที่ไป

1) นอนควํ่าตั้งศอกแแอ่นหลัง

ท่าบริหารเพื่อดันหมอนรองที่ปลิ้นให้กลับเข้าที่ด้วยตนเอง

เมื่อปวดมากและทำกายบริหารไม่ไหวก็ให้นอนหมอนรองหน้าอกไว้

2) นั่งเก้าอี้ พิงพนัก

นั่งแอ่นหลัง ไว้ฝึกระหว่างวัน

3) ห้ามก้มหลังในทุกกรณี

การก้มหลังเก็บของตามภาพจะเพิ่มโอกาสให้หมอนปลิ้นได้
รวมทั้งการนั่งหลังค่อมด้วย

สรุป

ในสัปดาห์ถัดไปคนไข้ก็กลับมาเจอผมอีกครั้ง รวมเป็น 5 ครั้งพอดี ซึ่งคนไข้เล่าให้ฟังว่าครั้งล่าสุดกลับไปรู้สึกโล่งมาก ไม่ปวดอีกเลย ตอนตี 4 ก็ไม่ปวดจนต้องสดุ้งตื่นอีกแล้ว เหมือนตัวเองกลับมาเป็นปกติดีทุกอย่าง จนเมื่อวันสองวันก่อนอาการตึงๆปวดๆที่หน้าอกเริ่มกลับมา เลยรีบมาหาก่อนที่จะเป็นมากกว่าเดิม ซึ่งรูปแบบการรักษาก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากเดิมมาก

ก่อนกลับคนไข้ก็ถามผมว่า พอจะประเมินได้มั้ยว่า โรคนี้จะหายเมื่อไหร่? ผมก็บอกไปว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นที่คอหรือเอว โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนถึงมั่นใจได้ว่าหายขาดแน่ แต่คนที่เป็นหมอนรองปลิ้นที่ระดับอกอาจจะเร็วกว่านั้นมาก นั่นคือ 1 เดือน 

เพราะข้อกระดูกสันหลังที่ทรวงอกเป็นข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวน้อยมาก และไม่ต้องรับนํ้าหนักร่างกายอะไรมากมายเมื่อเทียบกับข้อส่วนล่าง โอกาสที่จะปลิ้นซํ้าซากเลยน้อย พอปลิ้นซํ้าน้อย ร่างกายก็จะมีเวลาซ่อมแซมเอ็นหุ้มหมอนรองได้เร็วกว่า และหายไวกว่านั่นเองครับ

ซึ่งกระบวนการซ่อมแซมเอ็นหุ้มหมอนรองจนปิดสนิท ไม่ให้หมอนรองปลิ้นออกมาได้อีก มันใช้เวลา 1 เดือนโดยประมาณ แต่มีข้อแม้ตัวโตๆเลยว่า ใน 1 เดือนนี้ต้องไม่มีอาการปวดซํ้าอีกเลยนะ ถ้าทำได้ครบ 1 เดือนก็คือจบบริบูรณ์ แล้วการที่จะไม่ให้ปลิ้นซํ้าได้ เราก็ต้องคอยเตือนตัวเองว่าอย่าก้มหลัง หรือนั่งหลังค่อมในทุกกรณี เพราะพฤติกรรมดังกล่าวมันทำให้หมอนรองปลิ้นซํ้าได้นั่นเองครับผม

ฟิล์ม MRI อีกแผ่นของคนไข้

เพื่อนจะเห็นว่า กว่าที่ผมจะตรวจเจอว่าอาการที่เป็นอยู่เกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นที่ระดับทรวงอกได้ก็เจอกันครั้งที่ 4 แล้ว และที่ตรวจเจอได้ก็เพราะคนไข้ไปทำ MRI มาด้วยจึงระบุโรคได้อย่างชัดเจน ถ้าไม่ได้ไปทำ MRI คงใช้เวลาอีกพักใหญ่เลยกว่าเอะใจว่าเป็นโรคนี้

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นที่ระดับทรวงอกมันไม่ได้เป็นกันง่ายๆครับ แล้วไม่มีใครคิดด้วยว่าจะมีคนเป็นกัน อย่างอาจารย์ผมรักษาคนไข้มาร่วม 20 ปี เจอคนไข้ที่เป็นหมอนรองทับเส้นที่ระดับอกแค่ 6 คนเท่านั้นเอง เมื่อเทียบกับเคสที่เป็นระดับเอวที่เจอมาเป็นพันๆคน

แล้วก็เป็นความรอบคอบของคนไข้ด้วยที่ไปทำ MRI แบบสแกนทั้งตัว เพราะถ้าคนไข้ทำ MRI ที่คอ เราอาจจะถูกหลอกด้วยภาพก็ได้ว่า คนไข้รายนี้เป็นหมอนรองปลิ้นที่คอแล้วทำให้เกิดอาการ เพราะดูจากภาพแล้วจะเห็นว่ามีหมอนรองปลิ้นที่คอหน่อยๆด้วยนะ (แต่ตรวจคอโดยละเอียดแล้วมั่นใจว่าอาการที่เป็นอยู่ไม่ได้มาจากหมอนรองปลิ้นที่คอแน่)

แต่ถึงแม้ภาพจะบอกว่าปลิ้นยังไงก็ตาม การตรวจร่างกายหน้างานก็เป็นสิ่งที่ต้องเช็คกันอีกรอบอยู่ดี เพราะคนไข้บางคนถือภาพ MRI มามีปลิ้นหลายข้อมาก แต่พอมาตรวจหน้างานปรากฎว่าไม่มีอาการอะไรปรากฎที่บ่งบอกว่าเป็นหมอนรองปลิ้นทับเส้นประสาทเลย..ก็มีนะครับ

การรักษาจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่เทคนิคการรักษาที่สูงส่ง เริ่ดเลอเพอร์เฟค หรือมีอุปกรณ์ที่ไฮเทคราคาแพงเสมอไปนะ มันคือการตรวจร่างกายแยกโรค ถ้าวินิจฉัยผิด ต่อให้เทคนิครักษาดีแค่ไหน คนไข้ก็ไม่มีทางหายขาดได้หรอกครับ ฉะนั้น ผู้รักษาทุกคนควรให้ความสำคัญกับการตรวจร่างกายเป็นอันดับหนึ่งเสมอนะ ถ้าตรวจแม่นที่เหลือก็ไม่ยากแล้วครับ

เป็นยังไงกันบ้างครับ หลังจากที่อ่านกันมาซะยืดยาว หวังว่าเพื่อนๆคงจะได้ความรู้ไปกับโรคแปลกๆที่ผมยกตัวอย่างกันมาไม่มากก็น้อยนะ และหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ที่ทำการรักษาทุกคนไม่ว่าจะวิชาชีพใดก็ตามนะครับ ^^