วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

เก๊าท์ หายได้ถ้ารักษาถูกวิธี


เก๊าท์ (gout)

จากประสบการณ์ของผมพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการปวดตามข้อต่างๆไม่ว่าจะเป็นข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อเท้า หรือแม้กระทั่งข้อเข่า ผู้ป่วยมักจะถามผมทันทีว่า "ปวดข้ออย่างนี้ใช่โรคเก๊าทืหรือเปล่า?" ฮาๆ อยากจะบอกว่าอาการที่ปวดตามข้อต่อต่างมันยังมีอีกหลายโรคไม่ได้มีเพียงแค่เก๊าท์หรอกนะครับ ฉะนั้น เรามาทำความรู้จักกับโรคเก๊าท์ให้มากขึ้นกันดีกว่า

โรคเก๊าท์ เกิดจากการสะสมของกรดยูริกในกระแสเลือดสูงมากกว่าปกติ จนเกิดการตกตะกอนเป็นผลึกเกลือยูเรตสะสมตามเนื้อเยื่อตามข้อต่อและไต ถ้าเรามีกล้องจุลทรรศน์ส่องไปที่ผลึกเกลือยูเรตจะพบว่ามีลักษณะคล้ายเข็มมีความแหลมคม ซึ่งเจ้าผลึกเกลือยูเรตเหล่านี้แหละครับที่ไปทิ่มไปตำเนื้อเยื้อรอบข้อของเราให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนขึ้นนั่นเอง โดยจะพบในข้อเล็กๆส่วนล่างของร่างกายซะเป็นส่วนใหญ่ เช่น ข้อนิ้วเท้า ข้อเท้า น้อยมากๆๆๆๆที่จะพบตามข้ออย่างข้อนิ้ว ข้อมือ หรือข้อไหล่นะครับ


ผลึกเกลือยูเรต


กรดยูริก คืออะไร?

 คือกรดชนิดหนึ่งในร่างกายของเรา ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายของเราย่อยสารพิวรีน (Purine) ซึ่งเจ้าสารพิวรีนนี้เกิดจากร่างกายเราได้รับจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป หรือให้เข้าใจง่ายดังนี้
-------------------------------------------------------------------------------
1.ร่างกายได้รับพิวรีน => 2.ร่างกายก็พยายามกำจัดพิวรีน => 3.เมื่อกำ

จัดพิวรีนได้จึงเกิด => 4.กรดยูริก => 5.ร่างกายไม่สามารถขับยูริกออก

ทางไตได้หมด => 6.กรดยูริกไปสะสมตามข้อ => 7.เกิดโรคเก๊าท์ใน

ที่สุด
--------------------------------------------------------------------------------

สาเหตุ

- เกิดจากความผิดปกติของเอนไซม์ในเมตาบอลิซึมของสารพิวรีนในร่างกาย (สารพิวรีนเป็นสารตั้งต้นของกรดยูริก) ทำให้ร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากเกินปกติ
- เกิดจากร่างกายสร้างขึ้นเอง จากการสลายเซลล์ต่างๆของร่างกายที่เพิ่มขึ้น เช่น มะเร็งต่อมนํ้าเหลือง มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ร่างกายมีของเสียเพิ่มขึ้นในกระแสเลือดและหนึ่งในของเสียนั่นก็คือ กรดยูริก จนร่างกายกำจัดไม่หมดทำให้เกิดการสะสมของกรดยูริกตามข้อต่อต่างๆนั่นเอง
- เกิดจากภาวะไตทำงานผิดปกติ เนื่องจากกรดยูริกกว่า 2 ใน 3 จะถูกขับออกทางไตเป็นหลัก เมื่อไตทำงานบกพร่องจึงเกิดการตกค้างของกรดยูริกเพิ่มสูงขึ้น
- เกิดจากการได้รับยาหรือสารอาหารบางอย่างที่มีส่วนผสมของสารพิวรีนที่สูงจนร่างกายกำจัดออกไม่หมดแล้วเกิดการตกค้างขึ้นในที่สุด เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก ปลาดุก ปลาซาร์ดีน ซุปก้อน กุ้งแห้ง  พืชที่กินยอด เช่น แตงกวา ชะอม หน่อไม้ ผักโขม

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์

- รับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง(พบในเครื่องในสัตว์ อาหารทะเล หน่อไม้ฝรั่ง ยอดผัก เป็นต้น) เป็นประจำ
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์นั้นลดการขับกรดยูริคออก
- เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
- เป็นโรคไต
- พบในเพศหญิงที่หมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงจะทำหน้าที่เร่งขับกรดยูริกออกทางไต เมื่อหมดประจำเดือนฮอร์โมนเพศหญิงก็จะลดลง การขับกรดยูริกก็ทำได้ไม่ดีเท่าเดิม
- พบในเพศชายอายุตั้งแต่ 30-45 ปี เมื่อเทียบกันแล้วจะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงนะครับ

อาการ ของโรคเก๊าท์
แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะนะครับ

ระยะที่1 :
เป็นช่วงที่ยังไม่มีอาการ แต่พบระดับกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ครับว่าต้องเข้ารับการรักษาหรือไม่ ขึ้นอยู่ดุลพินิจของแพทย์

ระยะที่ 2 :
ระยะข้ออักเสบ เมื่อยู่ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ และข้ออักเสบรุนแรง โดยอาจจะเกิดขึ้นเอง หรือมีสิ่งเร้ามากระตุ้น เช่น เกิดอุบัติเหตุโดยตรงที่ข้อต่อ ดื่มสุรา หรือ ทางอาหารที่มีสารพิวริน เช่น เครื่องในสัตว์ ยอดผัก เป็นต้น ในรายที่มีอาการอักเสบรุนแรงจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อนอย่างเห็นได้ชัด ร่วมกับมีการขยับข้อลำบาก โดยข้ออักเสบจะเป็นอยู่ 1-2 ข้อ ปวดอยู่ 5-7 วันอาการปวดจะหายไปได้เอง และกลับมาปวดใหม่ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยในระยะแรกๆอาการปวดจะเป็นห่างกันมากๆ แต่ถ้ายังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผลึกเกลือยูเรตจะสะสมในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ข้ออักเสบจึงเป็นถี่ขึ้น ในบางรายอาจเป็นทุกๆเดือนเลยครับ

ระยะที่ 3 :
ระยะสงบ ซึ่งเป็นระยะที่ไม่มีอาการปวด หรืออักเสบใดๆ ซึ่งอาจนานเป็นปีๆจนผู้ป่วยแทบจะลืมไปแล้วด้วยซํ้าว่าเคยมีอาการปวดข้อมาก่อน

ระยะที่ 4 :
ระยะมีก้อนโทฟัส เป็นระยะท้ายของโรค มักพบในผู้ป่วยที่เป็นมานานมากกว่า 5 ปี และรักษาผิดวิธี จนเป็นเหตุให้ผลึกเกลือยูเรตที่สะสมตามเนื้อเยื่อต่างๆเพิ่มมากขึ้นจนเป็นก้อนปูดนูนออกมาบริเวณผิวหนังรอบๆ ไอปุ่มนูนๆนี่แหละครับที่เรียกว่า "ปุ่มโทฟัส" ซึ่งจะกัดกินเนื้อเยื่อของข้อจนกระดูกแหว่ง ข้อถูกทำลายและเกิดความพิการในที่สุด ซึ่งในระยะนี้ผู้ป่วยไม่ได้มีเพียงแค่ปวดข้อ แต่จะมีความผิดปกติของระบบอื่นๆในร่างกายร่วมด้วย เช่น ไตวาย นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น


ปุ่มก้อนโทฟัสในโรคเก๊าท์

การรักษา โรคเก๊าท์

วิธีสังเกตุว่าตนเองเป็นโรคเก๊าท์หรือไม่ในเบื้องต้น ให้สังเกตุอาการปวดของเราครับว่า มักปวดตามข้อนิ้วเท้ารึเปล่า เพราะลักษณะพิเศษของโรคเก๊าท์คือมักปวดตามข้อเล็กๆ อย่างข้อนิ้วเท้า และข้อเท้า ซึ่งเป็นข้อที่อยู่ส่วนล่างของร่างกาย และลักษณะอาการปวดจะรู้สึกปวดเหมือนมีเข็มตำบริเวณข้ออยู่ตลอดไม่ว่าจะอยู่นิ่งๆหรือขยับร่างกายก็ตาม หากมีอาการดังกล่าวให้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจโดยละเอียดและทานยาตามกำหนดของแพทย์ เพื่อรักษาให้หายก่อนที่อาการปวดจะรุนแรงจนเกินเยียวยานะครับ

การวินิจฉัยโรคเกาต์ที่แม่นยำที่สุดจึงจำเป็นต้องเจาะตรวจน้ำไขข้อในขณะที่ข้อมีการอักเสบ ซึ่งเมื่อนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบผลึกเกลือรูปเข็มในน้ำไขข้อ ในกรณีที่ไม่มีข้ออักเสบ แต่ตรวจร่างกายพบปุ่มโทฟัส แพทย์อาจใช้เข็มสะกิดบริเวณปุ่มนั้นๆ ซึ่งจะได้สารสีขาวคล้ายชอล์กมา เมื่อไปส่องกล้องดูก็จะพบผลึกเกลือยูเรตเช่นกัน

ข้อห้าม กับความเชื่อผิดของคนเป็นโรคเก๊าท์

- ห้ามนวด หรือหักนิ้วบริเวณที่ข้ออักเสบ เพราะการทำเช่นนั้นจะกระตุ้นให้ข้ออักเสบเพิ่มขึ้นได้
- ห้ามประคบเย็น เชื่อว่านี่อาจจะขัดความรู้สึกของคนส่วนใหญ่อยู่พอสมควร เมื่ออักเสบต้องประคบเย็นสิมันถึงจะช่วยลดปวดได้ ผมอยากจะบอกว่าถ้าเป็นกรณีทั่วไปถูกต้องครับ แต่สำหรับคนเป็นโรคเก๊าท์ ยิ่งประคบเย็นหรืออยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นจะยิ่งกระตุ้นให้ปวดเพิ่มมากขึ้นได้ เนื่องจากความเย็นจะทำให้สารนํ้าบริเวณนั้นลดน้อยลง ผลึกเกลือยูเรตจากเดิมที่ลอยอยู่ในสารนํ้าแต่เมื่อสารนํ้าน้อยลง ผลึกเกลือจึงอยู่ใกล้ชิดเนื่อเยื่อเพิ่มขึ้นจนไปทิ่มตำเนื้อเยื่อได้ง่ายและถี่ขึ้นนั่นเอง

เครดิตรูปภาพ

- http://emedicine.medscape.com/article/329958-overview
- http://www.healthcare-online.org/What-Causes-Gout.html
- http://www.med.upenn.edu/synovium/SFMSUGallery/index.html


วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559

เอ็นอักเสบ โรคยอดฮิตวัยทำงาน




โรคปลอกเอ็นหุ้มข้ออักเสบ (De Quervain's disease)

ใครบ้างที่เป็นแม่ครัวทำกับข้าว หรือขายอาหาร สับหมู สับไก่อยู่บ่อยๆ หรือคนที่ทำงานประเภทใช้ข้อมือ กระดกข้อมือขึ้นลงบ่อยครั้งละก็ อ่านบทความนี้สักนิด เพราะคุณมีความเสี่ยงเป็นโรคปลอกเอ็นหุ้มข้ออักเสบ 

โรคนี้คือกลุ่มอาการอักเสบของเอ็นนิ้วหัวแม่มือ 2 เส้นประกอบด้วยเส้นเอ็น abductor pollicis longus และ extensor pollicis brevis tendon ซึ่งเอ็นทั้ง 2 นี้จะทำหน้าที่กางนิ้วและกระดกนิ้วหัวแม่มือ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตึงบริเวณโคนนิ้วโป้งหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า snuffbox และจะปวดมากยิ่งขึ้นเมื่อผู้ป่วยกำมือและให้กระดกข้อมือลง ในบางรายที่มีอาการอักเสบรุนแรงจะพบอาการบวม แดง ร้อนที่โคนนิ้วโป้งเพียงแค่กำมือก็จะรู้สึกปวดสุดๆแล้วละครับ


ภาพแสดงตำแหน่งของเส้นเอ็นทั้ง 2 ที่อักเสบ

สาเหตุของโรคปลอกเอ็นหุ้มข้ออักเสบ

เชื่อว่าเกิดจากการใช้งานของข้อมือในท่ากระดกขึ้นลงซํ้าๆกัน เช่น แม่ครัวที่ทำกับข้าวสับมืออยู่เป็นประจำ การเขียนหนังสือ การซักผ้าด้วยมือปริมาณมากๆ หรือในผู้ป่วยที่มีประวัติว่าตั้งครรภ์ทั้งก่อนและหลังคลอด

อาการของโรคปลอกเอ็นหุ้มข้ออักเสบ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและบวมบริเวณข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ จะปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของ นิ้วหัวแม่มือ เช่น เวลาเหยียดและงอนิ้วหัวแม่มือเต็มที่ บิดเสื้อผ้า ยกขันน้ำ กวาดพื้น เป็นต้น ในผู้ป่วยบางรายอาจคลำพบก้อนบริเวณข้อมือด้วย 

ซึ่งโรคนี้แพทย์และนักกายภาพบำบัดสามารถตรวจและวินิจฉัยโรคได้โดยไม่ต้อง x-ray ผู้ป่วยสามารถตรวจโรคนี้ได้ด้วยตนเองโดยการทำ Finkelstein's test คือให้ผู้ป่วยกำนิ้วหัวแม่มือข้างที่ปวดและให้หักข้อมือลงทางด้านนิ้วก้อย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มืออย่างมาก จากการที่เส้นเอ็นถูกยืด บางรายเพียงแค่กำมืออย่างเดียวก็ปวดมากแล้วละครับ แต่ในคนทั่วไปถ้าทำการทดสอบนี้จะรู้สึกแค่ตึงบริเวณโคนนิ้วโป้งไม่มีอาการปวดแต่อย่างใด
วิธีการทดสอบว่าเป็นโรคเอ็นหุ้มข้ออักเสบ (Finkelstein's test)

การรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้น

เมื่อรู้ว่าเราเป็นโรคนี้แน่ๆ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ พักการใช้งานของนิ้วโป้งข้างที่ปวด และหมั่นประคบนํ้าแข็งทุกๆ 10 นาทีเพื่อลดอาการอักเสบ นอกจากนี้เราอาจนําผ้ามาพันที่ข้อมือจนถึงนิ้วโป้งเพื่อลดการใช้งานของเส้นเอ็นและป้องกันไม่ให้เราเผลอใช้งานนิ้วข้างที่ปวดจนกระตุ้นให้อักเสบเพิ่มขึ้นได้ 

แต่ถ้ารักษาด้วยตนเองแล้วอาการไม่ทุเลาลงเลย 1 อาทิตย์ แนะนำให้เข้าพบนักกายภาพบำบัดเพื่อใช้เครื่องมือทางกายภาพลดปวด ลดอักเสบ และกระตุ้นให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่เสียหายได้เร็วขึ้น เช่น เครื่อง ultrasound, laser, cold pack, เป็นต้น และนักกายภาพอาจใช้ kinesio tape ติดบริเวณเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่ปวดเพื่อลดการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดนั้นและลดอาการปวดได้ส่วนหนึ่ง โดยที่การพัน tape จะไม่ไปขัดขวางการทำงานเหมือนการใส่เฝือกครับ

การติด kinesio tape ในผู้ป่วยที่เป็นโรคปลอกเอ็นหุ้มข้ออักเสบ

แต่ถ้าเราปวดมากจริงๆจนไม่เป็นอันกินอันนอน แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับยาลดปวดลดอักเสบ เช่น ยากลุ่ม NSAID หรือฉีดยา steroid ที่เส้นเอ็นก็ได้ผลลดปวดชะงักเช่นกันครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรเข้ารับการรักษาควบคู่กับกายภาพบำบัดจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และลดโอกาสการกลับมาเป็นซํ้าได้ดีกว่าการรับยาเพียงอย่างเดียวนะครับ และเมื่ออาการปวดลดลงนักกายภาพจะแนะนำท่าบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงเป็นลำดับต่อไป 

ข้อห้าม ห้าม ห้าม

- ห้ามแช่นํ้าอุ่น หรือประคบร้อนบริเวณที่ปวดอย่างเด็ดขาดถ้ามีอาการปวด บวมแดง ร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่นะครับ เพราะความร้อนจะทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยายตัวและบวมมากขึ้นได้ มันจะกระตุ้นให้อาการปวดเพิ่มขึ้นแทนทีจะลดลง
- ห้ามนวดบริเวณที่ปวดและอักเสบ เพราะการนวดอาจจะกระตุ้นให้เส้นเอ็นอักเสบเพิ่มมากขึ้น
- ห้ามทายาที่มีฤทธิ์ร้อนลงบริเวณที่อักเสบ
- แต่กรณีที่พบว่าไม่มีอาการบวม แดง ร้อนแล้วก็สามารถประคบร้อน แช่นํ้าอุ่นได้ตามปกตินะครับ เช่น ในผู้ปว่ยที่เป็นโรคปลอกเอ็นหุ้มข้ออักเสบเรื้อรังมามากกว่า 1 เดือน


เครดิตภาพ 
- https://myhealth.alberta.ca/Health/pages/conditions.aspx?hwid=zd1018spec
- http://www.westchestermagazine.com/Westchester-Magazine/De-Quervains-Syndrome-How-To-Identify-Prevent-and-Treat-Tendonitis-in-the-Wrist/
- http://www.ch8.ch/hand-surgery/common-hand-problems/de-quervain-disease.php



วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

ข้อเท้าแพลง ลองได้เป็นแล้วจะเป็นซํ้าง่ายมาก




ข้อแพลง (ankle sprain)

พูดถึงข้อเท้าแพลงคงไม่ต้องสาธยายรายละเอียดเยอะมากหลายคนก็ทราบดีว่ามีนคือภาวะข้อเท้าพลิกจนทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ข้อเท้านะครับ แต่รู้หรือไม่ว่าข้อเท้าพลิกข้อเท้าแพลงนี่ไม่ได้มีเพียงแค่อย่างเดียวคือข้อเท้าพลิกเข้าด้านในนะครับ แต่ยังมีภาวะข้อเท้าพลิกออกด้านนอกด้วยเช่นกัน โดยมากมักเกิดจากอุบัติเหตุมากกว่าที่จะพบเห็นได้ทั่วไป เช่น ในนักกีฬาฟุตบอลที่โดนคู่แข่งสไลต์บอลไปโดนข้อเท้าด้านในจนทำให้ข้อเท้าพลิกออกด้านนอกนั่นเอง 

เมื่อข้อเท้าพลิกจะสร้างความเสียหายและการบาดเจ็บต่อเส้นเอ็น anterior talofibular ligament ได้มากที่สุด รองลงมาคือ calcaneofibular ligament ซึ่งเส้นเอ็นทั้ง 2 นี้จะทำหน้าที่เสริมความมั่นคงให้ข้อเท้า ในกรณีที่เส้นเอ็นเหล่านี้บาดเจ็บหรือมีการฉีกขาดจะทำให้สูญเสียความมั่นคงของข้อเท้าไป ขณะเดินผู้ป่วยจะรู้สึกว่าข้อเท้าไม่มีความมั่นคง ไม่มีความมั่นใจเมื่อใส่ส้นสูง และข้อเท้าพลิกง่ายกว่าปกติ
ภาพแสดงข้อเท้าแพลงทั้ง 2 แบบ

เหตุที่คนเคยเป็นข้อเท้าแพลงแล้วเป็นซํ้าเนื่องจาก ในเส้นเอ็นรอบๆข้อเท้าของเรานั้นจะมีเส้นประสาทเล็กๆอยู่ภายใน เพือทำหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทให้ตัวเรารับรู้ว่า ขณะนี้ข้อเท้าเราเอียงอยู่มั้ย งออยู่รึเปล่า หรือข้อเท้าพลิกมากเกินไปจนเส้นเอ็นตึงมาก มันก็จะส่งสัญญาณประสาทเพื่อบอกตัวเราให้ปรับสมดุลข้อเท้าให้อยู่ในแนวปกติก่อนที่จะเกิดอันตรายกับข้อเท้าได้นั่นเอง  

แต่ที่นี้เมื่อเกิดข้อเท้าแพลงขึ้นเส้นเอ็นฉีกขาดและแน่นอนเส้นประสาทเล็กๆในเส้นเอ็นก็ได้รับความเสียหายไปด้วยเช่นกัน เมื่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกการเคลื่อนไหวของข้อเท้าเสียหาย การส่งสัญญาณประสาทก็จะทำได้ช้าลง จากปกติที่เท้าพลิกนิดหน่อยสัญญาณประสาทจะบอกให้เรารับรู้ทันที แต่เมื่อเส้นประสาทเสียหาย ข้อเท้าพลิกไปแล้วเรายังไม่รู้สึกว่าข้อเท้าพลิกเลยด้วยซํ้า นี่จึงเป็นสาเหตุหนึงที่คนเป็นข้อเท้าแพลงแม้หายดีแล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นซํ้าได้ง่ายกว่าคนปกตินั่นเองครับ


ภาพแสดงโครงสร้างของเส้นเอ็นทั้ง 3 เส้นที่อักเสบ เมื่อข้อเท้าแพลง

เราสามารถแบ่งความรุนแรงของข้อเท้าแพลงได้เป็น 3 ระดับ

ระดับที่ 1: เอ็นถูกดึงหรือยืดมากเกินไป ทำให้เอ็นบาดเจ็บ แต่เส้นใยของเอ็นไม่ฉีกขาด อาจจะพบเพียงอาการบวมและกดเจ็บบริเวณเอ็นที่ได้รับบาดเจ็บ สามารถเดินลงน้ำหนักได้
ระดับที่ 2 : มีการฉีกขาดของเอ็นบางส่วน ทำให้ข้อเท้ามีความมั่นคงลดลง ในกลุ่มนี้จะปวดและบวมค่อนข้างมากและอาจมีเลือดคั่ง จนอาจจะทำให้เดินลงน้ำหนักไม่ค่อยได้
ระดับที่ 3 : จะมีการฉีกขาดของเอ็นทั้งหมด ทำให้ข้อเท้าสูญเสียความมั่นคง ในกลุ่มนี้จะมีอาการปวดบวมมากและมีเลือดคั่ง ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ ต้องเข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมเส้นเอ็น


การประคบนํ้าแข็งและการพันผ้าในผู้ที่ข้อเท้าแพลง

การรักษา ในเบิ้องต้นของผู้ที่เป็นข้อเท้าแพลง

เมื่อพบว่าเป็รข้อเท้าแพลงสิ่งแรกที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ นั่งพักแล้วยกขาสูงเหนือระดับหัวใจ เพื่อลดอาการอักเสบและการบวมของข้องเท้า ถ้าเราฝืนเดินต่ออาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและบวมเพิ่มขึ้นได้ 
จากนั้นให้นำนํ้าแข็งมาประคบข้อเท้าเพื่อลดอาการอักเสบ และนำผ้ามาพันยึดข้อเท้าไว้ไม่ให้ข้อเท้าเคลื่อนไหวได้ เพราะอาจจะไปกระตุ้นให้เส้นเอ็นรอบข้อเท้าอักเสบเพิ่มขึ้นได้

แต่ในกรณีที่ปฐมพบาบาลเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นเลย แนะนำให้เข้ารับการรักษากับแพทย์เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคว่ารุนแรงมากน้อยแค่ไหน ต้องเข้าเฝือกมั้ย หรือต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือไม่นะครับ ถ้าอาการไม่รุนแรงมากแพทย์จะส่งเข้ารับการทำกายภาพบำบัด เพื่อลดปวด ลดอักเสบ โดยใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น ultrasound, laser, cold pack และการพัน tapping ร่วมกับแนะนำท่าบริหารข้อเท้าให้มีความแข็งแรงและมั่นคง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะข้อเท้าแพลงซํ้าได้นั่นเองครับผม

ข้อห้ามสำหรับผู้ที่เป็นข้อเท้าแพลง

- ห้ามประคบร้อนบริเวณที่เป็นแผลโดยเด็ดขากหากยังมีภาวะปวด บวม แดง ร้อนของแผล เพราะความร้อนจะทำให้เลือดมาไหลเวียนบริเวณนั้นมากยิ่งขึ้นจนเกิดอาการบวมได้
- ห้ามนวดด้วยมือและนวดนํ้ามันที่มีฤทธิ์ร้อนในขณะที่ยังบาดเจ็บอยู่ เพราะการนวดนั้นอาจไปกระตุ้นให้เกิดการบาดเจ็บต่อเส้นเอ็นเพิ่มขึ้นและหายช้ากว่าปกติได้

6 ท่าบริหารข้อเท้า สำหรับคนเป็นข้อเท้าแพลง

เครดิตภาพ
- http://kenoshaorthopedics.com/ankle-sprain/
- http://yoffielife.com/sweat-dictionary/ankle-sprains/
- http://www.drugs.com/cg/ankle-sprain.html




ตะคริว แค่คิดก็เจ็บจี๊ด




ตะคริว (cramp)

เมื่อพูดถึงตะคริวหลายคนคงทราบดีว่า มันคืออาการเจ็บทรมานที่กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งที่ร่างกาย คลำพบก้อนแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อได้ชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อน่อง ซึ่งตะคริวไม่ได้ทำให้เกิดผลอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตเรา เว้นแต่ว่ามาเกิดผิดที่ผิดเวลาอย่าง เช่น เป็นตะคริวขณะขับรถ หรือขณะเล่นกีฬา เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดตะคริว
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดตะคริว แต่สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากสาเหตุดังนี้

- การขาดเกลือแร่ : 
เป็นการสูญเสียเหงื่อขณะเล่นกีฬาหรือขณะทำงานที่ต้องใช้แรงงาน ทำให้ร่างกายสูญเสียโพแตสเซี่ยมและโซเดี่ยม ซึ่งเป็นเหตุให้เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะโพแตสเซี่ยมถ้ามีปริมาณน้อยจะส่งผลต่อการเกิดตะคริวได้มากที่สุด ซึ่งโพแทสเซี่ยมจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายจากความร้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างวันหรือขณะออกกำลังกาย ช่วยกำจัดของเสียในร่างกาย

- การอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ : 
เช่นในนักกีฬาที่ต้องใช้กล้ามเนื้ออย่างหนักขณะเล่นกีฬา, การทำงานที่ต้องยืน เดินต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน การใส่รองเท้าส้นสูงก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดตะคริวได้เช่นกันนะครับ ถ้าใครที่ใส่ส้นสูงแล้วเป็นตะคริวบ่อยๆลองเปลี่ยนเป็นใส่รองเท้าผ้าใบดูนะครับอาการที่เป็นตะคริวจะได้ทุเลาลง

- การขาดเลือดหล่อเลี้ยง : 
ในบางครั้งการใส่เสื้อผ้าหรือกางเกงที่รัดแน่นจนเกินไปทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หรือในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ทำให้หลอดเลือดใหญ่ภายในช่องท้องถูกกดทับจึงอาจทำให้เกิดอาการได้ เป็นต้น

- การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิร่างกายอย่างฉับพลัน : 
เปลี่ยนจากร้อนเป็นเย็น หรือจากเย็นเป็นร้อนทันที เช่น การว่ายน้ำ ที่นักว่ายน้ำมักเป็นตะคริวก็น่าจะเกิดจากสาเหตุนี้โดยเฉพาะในนํ้าที่เย็น

- การดื่มนํ้าน้อย : 
ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดีเซลล์กล้ามเนื้อจึงขาดนํ้า และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดตะคริว โดยมากมักพบในผู้สูงอายุ ถ้าผู้สูงอายุคนไหนที่มีอาการช่วงนอนหลับตอนกลางคืนบ่อยๆคาดว่าจะมาจากสาเหตุนี้แหละครับ ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดื่มนํ้าอุ่นก่อนนอนสัก 1 แก้ว สวมถุงเท้าก่อนนอนเพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงที่และให้ระบบการไหลเวียนเลือดทำงานได้เป็นปกติ


ท่ายืดกล้ามเนื้อน่อง

การดูแลตนเองเมื่อเป็นตะคริว และการป้องกัน

- ยืดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวค้างไว้ 15-20 วินาทีและทำซํ้าจนกว่าอาการปวดจะทุเลาลง เช่น ถ้าเป็นตะคริวที่น่องให้ใช้มือดันข้อเท้าขึ้นจนรู้สึกตึงน่องค่างไว้ และทำซํ้าจนกว่าอาการจะทุเลาลง
- หมั่นออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปที่กล้ามเนื้อมัดนั้น
- ดื่มนํ้าไม่ตํ่ากว่าวันละ 8 แก้ว
- ในนักกีฬา หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำนั้น แนะนำให้ทานอาหารที่มีส่วนประกอบของโพแตสเซี่ยมเพื่อลดโอกาสการเป็นตะคริว เช่น นมสด, กล้วยหอม เป็นต้น
- วอร์มร่างกายก่อนและหลังออกกำลังกาย 15 นาทีทุกครั้ง
- ไม่ใส่รองเท้าส้นสูง ซึ่งเป็นผลให้กล้ามเนื้อน่องเกิดการหดเกร็งค้างเป็นเวลานานจนทำให้กล้ามเนื้อล้า ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดตะคริว


การยืดกล้ามเนื้อน่องเมื่อเป็นตะคริว

ในมุมมองของผมต่อผู้ที่เป็นตะคริวนะครับ

ถ้าคนไหนออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสมํ่าเสมอแต่ก็ยังคงมีอาการเป็นตะคริวรบกวนอยู่บ่อยครั้งแนะนำให้ทานเครื่องดื่มเกลือแร่ กล้วย หรือนมสดเป็นประจำทุกวันเพราะมีส่วนประกอบของโพแตสเซี่ยม ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นตะคริวได้ และผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ทำตามคำแนะนำนี้ปัญหาเรื่องตะคริวลดลงอย่างเห็นได้ชัด


อีกหนึ่งท่ายืดกล้ามเนื้อน่องเมื่อเป็นตะคริว

แต่ถ้าในบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ กรณีนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุมาก เช่น การขาดนํ้า, กล้ามเนื้ออ่อนล้าจากการทำงาน, ระดับของเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล, ใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แนะนำให้ลองสังเกตุและค่อยๆปรัปเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสาเหตุของการเกิดตะคริวที่แท้จริงนะครับ

เครดิตภาพ
- http://www.wikihow.com/Get-Rid-of-a-Thigh-Cramp
- http://www.naturalalternativeremedy.com/natural-herbal-remedies-for-muscle-cramps/
- http://www.aquaticsphysicaltherapy.com/muscle-cramps-pain-therapy-sarasota-florida.html
- http://www.huffingtonpost.com/2013/11/15/muscle-cramps-causes_n_4269593.html


วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

ใครชอบนอนฟุบโต๊ะ ระวังจะเจอโรคนี้




Saturday night palsy โรคชาปลายแขนที่นักดื่มควรรู้จัก

ใครที่ชอบนอนฟุบโต๊ะแล้วตื่นขึ้นมามีอาการชาปลายมือ ข้อมือตก กระดกมือไม่ขึ้นอยู่เป็นระยะกันบ้าง ถ้ามีอาการ 1 ใน 3 ที่กล่าวมาละก็ บทความนี้จะช่วยชีวิตคุณได้ครับ 

เมื่อพูดถึงอาการชาปลายมือ และแขนอ่อนแรงบรรดาหมอหรือนักกายภาพจะเพ่งเล็งไปว่า น่าจะเกิดจากกระดูกคอเสื่อมจนทรุดตัวแล้วไปทับกับเส้นประสาท ซึ่งโดยส่วนมากมักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ยังมีอีกโรคที่มีอาการคล้ายๆกันจนสร้างความสับสนให้กับตัวผู้ป่วยและหมอในบางครั้งได้เช่นกัน นั่นคือ โรค Saturday night palsy 

โรค Saturday night palsy เกิดจากเส้นประสาท radial nerve ที่อยู่ตรงปลายแขน (ตรงจุดที่เราชอบใช้ท่อนแขนหนุนหัวตอนเราฟุบหลับคาโต๊ะนั่นแหละ) ถูกกดทับเป็นเวลานาน จนทำให้เส้นประสาทชํ้า และเสียหายบางส่วน จนเกิดอาการชาที่ปลายแขนในที่สุด ซึ่งโรคนี้พบได้บ่อยในนักดื่มตามผับ บาร์ที่ดื่มหนักจนเมาแอ๋แล้วฟุบหลับคาโต๊ะ แล้วหลับลึกด้วยฤทธ์ของแอลกอฮอล์ทำให้อาการชาที่ค่อยเป็นไม่สามารถกระตุ้นให้นักดื่มตื่นได้ และเมื่อตื่นมาก็รู้สึกว่ากระดกข้อมือไม่ขึ้นร่วมกับมีอาการชาเรียบร้อยแล้ว 

สาเหตุที่ได้ชื่อโรค Saturday night palsy เนื่องจากว่า คืนวันเสาร์ฝรั่งชอบไปเที่ยวสังสรรค์ดื่มเหล้าเที่ยวผับหลังจากที่ทำงานเหนื่อยมาทั้งอาทิตย์ คืนนี้จึงขอจัดหนักซะหน่อยดื่มมันให้เต็มที่ มีเหล้ากี่ขวดจัดมาให้หมดไม่เมาไม่เลิก จนฟุบหลับคาวงเหล้าไป แต่โต๊ะมันแข็งไปรองหัวตัวเองไม่ถนัดหมอนก็ไม่มีเลยใช้แขนตัวเองเนี่ยแหละหนุนศีรษะ จากนั้นก็หลับยาวโดยหารู้ไม่ว่าการนอนทับท่อนแขนตัวเองอย่างงั้นทำให้เส้นประสาท radial nerve ถูกกดทับจนอักเสบขึ้น และเมื่อตื่นมาพบว่ามีอาการชาแขนข้างที่ตนเองใช้หนุนศีรษะกันเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อโรค Saturday night palsy นั่นเอง 

นอกจากนี้ไม่ได้มีเฉพาะในนักดื่มนะ นักเรียนนักศึกษาก็มีโอกาสเ)็นโรคนี้ได้เช่นกันจากที่นั่งฟังอาจารย์สอนจนฟุบหลับคาโต๊ะเรียน แต่อาการโดยรวมไม่รุนแรงเท่ากับนักดื่ม เพราะในนักดื่มเมื่อเมาหนักจะหลับลึกกว่าจนทำให้ไม่รับรู้ถึงอาการชาที่เกิดขึ้น


ภาพแสดงตำแหน่งเส้นประสาท radial ที่แขน

radial nerve คืออะไร?

เส้นประสาท radial nerve คือเส้นประสาท 1ใน 3 ของเส้นประสาทแขนงใหญ่ของแขนโดยวิ่งออกมาจากรากประสาทคอ เข้าสู่ไหปลาร้า ออกจากรักแร้ รอดใต้วงแขน มาสู่ท่อนแขนด้านบน (จุดที่เราใช้แขนหนุนศีรษะขณะนอนฟุบโต๊ะ) และไปสิ้นสุดที่ปลายนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ซึ่งหน้าที่หลักของเส้นประสาทนี้คือ ควบคุมกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่กระดกข้อมือขึ้น ถ้าใครที่โรค Saturday night palsy ก็จะมีอาการชา กระดกข้อมือไม่ขึ้น เหยียดนิ้วชี้และนิ้วโป้งไม่ได้ แต่ยังคงกำมือ งอศอกเหยียดศอกได้ตามปกติครับ


ภาพแสดงอาการข้อมือตกเมื่อเทียบกับข้างปกติ

อาการของโรค Saturday night palsy 
แบ่งความรุนแรงได้ 3 ระดับ

1) ระดับเบา : 
เส้นประสาทถูกกดทับที่ส่วนปลายมากๆ หรือถูกกดทับไม่นาน อาจมีอาการแค่ชาปลายนิ้วโป้งนิ้วชี้ แต่ยังคงใช้งานได้ตามปกติ ไม่นานอาการชาก็หายไปเองได้ ไม่ต้องเข้ารับการักษาใดๆ

2) ระดับปานกลาง : 
ตื่นขึ้นมากระดกนิ้วชี้นิ้วโป้งไม่ได้ แต่ยังคงกระดกข้อมือขึ้นได้บ้าง กำมือ เหยียดแขน ยกแขนได้ตามปกติ มักไม่มีอาการชา แต่จะมีอาการปวดบริเวณข้อศอกด้านนอกร้าวมายังนิ้วชี้นิ้วโป้ง ซึ่งใช้เวลา 2-3 ช.ม.อาการก็หายเป็นปกติ

3) ระดับรุนแรง :
ตื่นขึ้นมากระดกนิ้วชี้และนิ้วโป้งไม่ได้ กระดกข้อมือไม่ได้ พนมมือไม่ได้ มีอาการข้อมือตก ยกมือไหว้ไม่ได้ เขียนหนังสือไม่ถนัด มีอาการชาที่หลังมือ นิ้วโป้งและนิ้วชี้ร้าวมาที่ต้นแขนด้านนอก แต่ยังคงกำมือ เหยียดแขน ยกแขนได้ตามปกติ (เพราะเส้นประสาทคนละเส้นกันจึงยังคงกำมือได้อยู่) ถ้ามีอาการเหล่านี้จะใช้เวลานานกว่าจะหายเป็นปกติอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้ารุนแรงมากอาจใช้เวลา 3-4 เดือน บางรายอาจใช้เวลานานกว่านั้น คือ 8-12เดือน และต้องพิจารณาการผ่าตัดด้วย สิ่งที่เราจะพบเห็นได้อีกอย่างหนึ่งสำหรับคนเป็นระยะนี้คือ กล้ามเนื้อแขนบริเวณจุดที่ชานั้นจะมีการฝ่อลีบเมื่อเทียบกับข้างปกติ 

การรักษา สำหรับผู้ที่เป็น  Saturday night palsy 

ถ้าเป็นในระดับ 1 และ 2 ไม่ต้องเข้ารับการรักษาครับ สามารถหายได้เอง แต่ในระดับ 3 แพทย์จะกระตุ้นไฟฟ้าที่กล้ามเนื้อแขนเพื่อตรวจดูความเสียหายของเส้นประสาท และอาจมีการผ่าตัดเล็กๆเพื่อตัดผังพืดที่เส้นประสาทออก ใครที่เป็นถึงระดับนี้อาจจะต้องบอกให้ทำใจสักเล็กน้อยว่ายังไม่มีวิธีการรักษาใดที่ทำให้กลับมาหายเป็นปกติได้ในเร็ววัน ต้องรอให้เส้นประสาทมันงอกทดแทนเส้นประสาทเดิมที่เสียหายไปวันละ 1 มิลลิเมตร อ่านไม่ผิดหรอกครับ 1 มิลลิเมตรต่อวัน ถ้าอยากรู้ว่าจะหายเมื่อไหร่ก็ลองเอาไม้บรรทัดทาบตรงจุดที่เริ่มต้นชาจนถึงปลายนิ้วชี้ได้กี่มิลลิเมตรก็คือจำนวนวันที่คุณจะหายดีแหละครับ 

บางท่านอาจจะเห็นนักกายภาพใช้ไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้อตรงจุดที่ชาหรือตรงจุดที่กล้ามเนื้อมันฝ่อ แล้วคิดว่าการกระตุ้นไฟฟ้ามันช่วยให้เส้นประสาทมันงอกเร็วขึ้น จริงๆแล้วไม่ใช่ครับ การกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อเท่านั้นเอง เพราะการที่เส้นประสาทไม่ส่งสัญญาณประสาทมาเลี้ยงที่กล้ามเนื้อจะทำให้กล้ามเนื้อฝ่อได้ และเพื่อให้กล้ามเนื้อมันฝ่อช้าที่สุดจึงต้องกระตุ้นไฟฟ้าเข้าไปที่กล้ามเนื้อมัดนั้นรอเวลาที่เส้นประสาทงอกมาใหม่นั่นเองครับ 

ทีนี้ถ้าใครจะไปดื่มไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ดื่มแต่พอประมาณนะครับ ถ้าเป็นโรคนี้ขึ้นมาจริงๆการดำเนินชีวิตจะลำบากน่าดู หรือคิดว่าคืนนี้ฉันเมาแน่ๆคงต้องหลับคาโต๊ะชัวๆ แบกหมอนไปสักใบก็ดีเหมือนกันนะ^^

เครดิตภาพ
- http://ergomomma.com/2012/10/11/thursdays-stretch-radial-nerve-the-third-amigo/
- http://www.thaimgreen.com/%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99/






โรคเข่าแม่บ้าน ไม่ต้องเป็นแม่บ้านก็ปวดเข่าได้




โรคเข่าแม่บ้าน (housemaid's knee, prepatellar bursitis)

อาจเป็นชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตากันสักเท่าไหร่สำหรับโรคเข่าแม่บ้าน คนไข้บางคนก็สงสัยว่าต้องเป็นแม่บ้านเท่านั้นหรอถึงจะเป็นโรคนี้ จริงๆแล้วชื่อนี้มันมีที่มาครับ 

ในอดีตเหล่าบรรดาแม่บ้านจะเช็ดถูทำความสะอาดพื้นต้องใช้ผ้าชุบนํ้าแล้วคุกเข่าเอามือถูพื้นกัน ยังไม่มีไม้ม็อบเหมือนในปัจจุบันนี้หรอกนะครับ เมื่อเหล่าแม่บ้านคุกเข่าเช็ดถูพื้นเป็นประจำถูครั้งนึงก็กินเวลานาน จนทำให้ถุงนํ้าใต้เข่าเกิดการเสียดสีจนอักเสบและบวมในที่สุด จึงเป็นที่มาของชื่อโรคเข่าแม่บ้านนั่นเองครับ


ภาพแสดงตำแหน่งของถุงนํ้าบริเวณข้อเข่า

โครงสร้างภายในข้อเข่าของเรานั้นไม่ได้มีแค่กระดูก เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อนะครับ แต่ยังมีถุงนํ้าเล็กๆ (bursa) ที่อยู่ในข้อต่อ โดยถุงนํ้าเหล่านี้จะทำหน้าที่ลดแรงเสียดทาน ลดแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นกับข้อต่อ เช่น ในกรณีที่เข่าเรากระแทกลงกับพื้นเจ้าถุงนํ้าอันนี้แหละครับจะทำหน้าที่กระจายแรงและลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับลูกสะบ้าและข้อเข่าได้ เปรียบเสมือนมีลูกโป่งนํ้าที่คอยดูดซับแรงอยู่นั่นเอง

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าหากถุงนํ้าเกิดการเสียดสี หรือถูกกดทับมากๆก็เกิดการอักเสบได้เช่นเดียวกัน ในปัจจุบันนี้เราอาจรจะไม่ได้ขุกเข่าถูพื้นเป็นเวลานานๆเหมือนแม่บ้านในสมัยก่อน แต่โรคเข่าแม่บ้านนี้ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่นะครับ โดยมากมักเกิดจาก การล้มเข่ากระแทกพื้นอย่างแรง(พบได้บ่อย) คุกเข่าเป็นเวลานาน เกิดอุบัติเหตุกระแทกกับเข่าโดยตรง เป้นต้น


อาการบวมของถุงนํ้าใต้เข่า

 อาการของโรคเข่าแม่บ้าน

อาการแรกที่เราสังเหตุได้ชัดเจนคือ มีอาการปวด บวม แดง ร้อนที่หน้าข้อเข่าอย่างชัดเจน ในระยะเริ่มแรกอาจยังไม่มีอาการบวมมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะยิ่งบวมมากและปวดมากขึ้นได้ ส่วนในระยะเรื้อรังอาการปวดอาจจะไม่มากเท่าระยะแรก แต่อาการบวมจะยังคงอยู่ทำให้เข่าดูผิดรูปและดูไม่สวยงาม

การรักษา

ในระยะเริ่มแรกให้ประคบนํ้าแข็งตรงจุดที่ปวดบวมเพื่อลดการอักเสบ ทุกๆ 10 นาที(ห้ามประคบอุ่นหรือวางผ้าร้อนเด็ดขาดเพราะความร้อนจะทำให้ถุงนํ้าบวมมากขึ้นและอาการปวดจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้) แต่ถ้าอาการไม่ทุเลาลงแนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับยาลดการอักเสบ และพบนักกายภาพบำบัดเพื่อใช้เครื่องมือลดอาการปวด อาการอักเสบ เช่น เครื่อง ultrasound, laser, การพันเทปเพื่อลดบวม เป็นต้น

เครดิตภาพ
- http://www.interactivebiomechanics.com/?page_id=397
- http://www.medguidance.com/thread/Housemaid's-Knee.html
- http://www.physio-pedia.com/Prepatellar_bursitis


วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559

ปวดสะโพกร้าวลงขา ทั้งที่ x-ray แล้วกระดูกหลังฉันก็ปกตินี่





ปวดสะโพกร้าวลงขา (si joint dysfunction syndrome)

ใครบ้างที่มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา แถมมีอาการชาด้วย พอไปหาหมอตรวจ x-ray หลัง หมอดันบอกว่ากระดูกปกติดีไม่ได้เป็นอะไร อ้าว แล้วที่รู้สึกปวดอยู่นี่เป็นอะไรกันละ อาการเหล่านี้ผมได้ยินได้ฟังจากคนไข้ถึงอาการปวดที่ดูเหมือนจะหาสาเหตุไม่ได้ แต่มันมีสาเหตุครับ

โรคปวดสะโพกร้าวลงขา หรือ si joint dysfunction เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยไม่แพ้โรคกระดูกสันหลัง และก็สร้างความสับสนให้กับผู้ป่วยอยู่พอสมควรเพราะกระดูกข้อสะโพกและกระดูกสันหลังนั้นอยู่ใกล้กัน เมื่อมีอาการปวดบริเวณสะโพกและมีชาร้าวลงขาก็จะถูกเหมารวมกันไปว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นแน่ๆ ฉะนั้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า

เป็นภาวะ sacroiliac joint (กระดูกข้อต่อก้นกบ) มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งอาจมีการเคลื่อนไหวน้อยลง หรือมากขึ้น หรือมีการยึด ติด รั้ง เส้นเอ็นอักเสบที่ยึดข้อ มีการเคลื่อนที่ที่ไม่สมดุลกันระหว่างซ้านขวา หรือมีการวางตัวของแนวกระดูกที่ผิดปกติไปจนทำให้เกิดอาการปวดขึ้นนั่นเอง


จุดสีแดง คือจุดที่แสดงอาการปวด

สาเหตุของโรค

- ทำงานที่ต้องนั่งเป็นเวลานาน เช่น ขับรถเกิน 4 ช.ม.ติดต่อกัน, นั่งทำงานในท่าเดิมๆนานๆ
- เคยมีประวัติตั้งครรภ์ เพราะขณะที่ผู้หญิงตั้งครรภ์สะโพกจะขยายตัว เส้นเอ็นที่เคยมีความแข็งแรงกระชับก็อ่อนตัวลงจนทำให้ข้อสะโพกมีความมั่นคงน้อยลงและง่ายก็การเกิดอาการปวด
- เคยประสบอุบัติเหตุที่สะโพกโดยตรง เช่น ล้มก้นกระแทก, อุบัติเหตุทางรถยนต์
- ชอบนั่งไขว้ห้างเป็นประจำ
- ชอบบิดตัวให้กระดูกดังกร๊อบๆเป็นนิสัย การทำแบบนี้เป็นประจำจะทำให้เส้นเอ็นและข้อต่อหลวมและมีความมั่นคงน้อยลง จึงง่ายต่อการเกิดอาการปวด
- เล่นกีฬาที่ต้องเหวี่ยง ขว้าง หรือเตะอย่างแรง โดยใช้แขนหรือขาข้างนั้นเป็นประจำ



ลักษณะอาการ

- มีอาการปวดตื้อๆ แหลมๆบริเวณข้อต่อ กระเบนเหน็บ แต่ในรายที่ปวดมากจะปวดร้าวลงขาด้วย
- ปวดตามแนวขอบกางเกงใน
- ปวดมากขึ้นเมื่อให้ยืนขาข้างเดียว หรือเอียงตัวไปด้านข้าง
- ปวดเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นลุกขึ้นยืน แต่อาการปวดจะทุเลาลงเมื่อเดินไปได้สักระยะ
- บางรายขณะเดินๆอยู่รู้สึกเข่าทรุด ขาพับไปเองทั้งที่ไม่มีอาการปวดก็ได้
- รู้สึกขาอ่อนแรง เมื่อยล้าง่าย
- ไม่มีอาการปวดบริเวณหลัง โดยมากมักปวดตั้งแต่ขอบกางเกงในลงมา
- ไม่มีอาการชา
- หากใส่กระโปรง กระโปรงจะหมุนขณะเดิน 
ทำไมคนเป็นโรคนี้แล้วกระโปรงถึงชอบหมุน อ่านรายละเอียดได้ที่ลิงค์นี้เลยครับผม (เดินๆอยู่แล้วกระโปรงชอบหมุน ดูดีๆไม่แน่คุณอาจเป็นโรคนี้)

การรักษา

การรักษาสำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้ ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดนะครับ การทานยาอาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้บ้างแต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แนะนำให้เข้าทำกายภาพบำบัด หรือไคโรแพรคติกเพื่อจัดแนวกระดูกสันหลังและสะโพกให้อยู่ในแนวที่เหมาะสม และคลายเส้นเอ็นที่หดรั้งมากไปจนกระตุ้นให้เกิดอาการปวดนะครับ 

บางท่านที่ชอบออกกำลังกายก็อาจสงสัยว่า แล้วถ้าออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อช่วงหลังช่วงสะโพกให้แข็งแรงอาการปวดจะลดลงมั้ย? อันนี้ผมก็ตอบว่าไม่แน่ครับ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นว่าเป็นมานานแค่ไหน ถ้าในรายที่ปวดไม่มากแลพพึ่งมีอาการปวดการออกกำลังกาย เล่นเวทเฉพาะส่วนหลังและก้นก็ช่วยส่งเสริมให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นและลดอาการปวดได้ แต่ในรายที่อาการรุนแรงแนะนำให้เข้ารับการรักษาดีที่สุดร่วมกับการออกกำลังกายควบคู่กันจะมีประสิทธิภาพมากกว่านะครับ 

ส่วนใครที่ไม่ชอบออกกำลังกายขอนอนให้นักกายภาพรักษาให้อย่างเดียว บอกเลยครับว่าอาจจะหายยากและหายช้าพอสมควร เพราะการรักษาโครงสร้างกระดูกสันหลังและสะโพกให้อยู่ในแนวที่ปกติ ต้องใช้การออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงมากเพียงพอที่จะพยุงโครงสร้างกระดูกไว้ได้ ลองคิดตามเล่นๆนะครับ ถ้านักกายภาพจัดกระดูกให้เสร็จสัพ แต่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ร่วมกับมีพฤติกรรมเดิมๆที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ต่อให้รักษาดีแค่ไหน ไม่ช้าก็เร็วอาการปวดก็กลับมาเป็นซํ้าได้แน่นอนครับ

เครดิตภาพ
- http://www.progressiveptinc.com/sacroiliac-joint-dysfunction-si-joint-pain/
- http://hubpages.com/health/Is-the-SI-Joint-the-culprit-of-your-lower-back-pain
- http://www.coastalspineandpaincenter.com/condition/sacroiliac-joint-dysfunction/

วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

ภัยเงียบ จากโรคกระดูกขาดเลือด



กระดูกข้อสะโพกตาย (avascular necrosis of  the femoral head)

ถ้าพูดถึงเรื่องโรคขาดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายเราจะคิดถึงโรคอะไรกันมากที่สุดเอ่ย? คงเป็นคำตอบเดิมๆที่คุ้นหูกัน คือ โรคหัวใจขาดเลือดบ้าง โรคเส้นเลือดสมองตีบบ้างทำนองนี้ใช่มั้ยครับ แต่อยากจะบอกว่ามีอีกโรคนึงที่น้อยคนจะรู้จัก แม้จะไม่อันตรายถึงชีวิตเมื่อเทียบกับ 2 โรคที่กล่าวไป นั่นก็คือ โรคกระดูกข้อสะโพกตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง (avascular necrosis of  the femoral head)

บางคนพอได้ยินชื่อโรคนี้ก็งงๆก็ว่ากระดูกมันต้องมีเลือดไปเลี้ยงด้วยหรอ? ปกติเห็นกระดูกดูกรอบๆเหมือนกระดูกไก่กระดูกหมูที่เราชอบแทะกินกันอะไรงี้ไม่ใช่หรอ อยากจะบอกว่ากระดูกคนเราก็ต้องมีหลอดเลือดไปเลี้ยงไม่ต่างจากส่วนอื่นๆของร่างกายนะครับ และกระดูกเราก็ไม่ได้ดูกรอบเหมือนกระดูกไก่อย่างที่เราเห็นกันนะ มันมีความแข็งแรงและความยืเหยุ่นอยู่ในระดับหนึ่งด้วย เพราะได้รับสารอาหารจากหลอดเลือดไปเลี้ยงเนี่ยแหละครับ (กระดูกเราก็ต้องการสารอาหารนะ^^)

แต่เมื่อใดก็ตามเส้นเลือดสำคัญที่ทำหน้าที่ไปเลี้ยงกระดูกเกิดมีปัญหาขึ้น ไม่สามารถส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงได้ดังเดิม จากเดิมที่กระดูกเราแข็งแรงเหนียวหนึ่บ ก็คงมีสภาพไม่ต่างจากกระดูกไก่อย่างที่เราเห็นกันละครับ คือ จะดูกรอบและไม่สามารถรองรับนํ้าหนักของร่างกายได้จนเกิดอาการปวดขึ้น และเมื่อเกิดกับข้อที่สำคัญๆที่ทำหน้าที่รับนํ้าหนักของร่างกายอย่าง ข้อสะโพก(femoral head) มันจะทำให้เกิดอาการปวดและสร้างปัญหาต่อการเดินขนาดไหนกัน คนไม่เป็นนี่นึกไม่ออกเลยละ



 สาเหตุ การเกิดโรคกระดูกข้อสะโพกตาย

โรคนี้พบได้ในคนที่มีอายุ 30-40 ปี ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวกระดูกข้อสะโพก (femoral head) เกิดการอุดตัน หรืออาจเกิดการฉีกขาดขึ้นจากอุบัติเหตุ ทำให้เลือดไม่สามารถนำสารอาหารมาหล่อเลี้ยงหัวกระดูกข้อสะโพกได้ จนทำให้เซลล์หัวกระดูกข้อสะโพกค่อยๆตายหมู่ตามๆกันไป และเมื่อเซลล์กระดูกตายผิวข้อสะโพกก็เสีย จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งที่หัวกระดูกข้อสะโพกไม่สามารถรับนํ้าหนักร่างกายได้แล้วจึงเกิดการยุบตัวของหัวกระดูกในที่สุด สร้างความเจ็บปวดทรมานต่อผู้ที่เป็นอย่างมาก และทำให้คนไข้ไม่สามารถเดินได้เหมือนปกติ

ปัจจัยเสี่ยง

1) เกิดจากอุบัติเหตุโดยตรงต่อผิวข้อ ที่พบได้บ่อยคือ พบการแตกหักของกระดูกบริเวณข้อสะโพก ส่งผลให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงนั้นถูกทำลาย หรือกรณีที่ข้อสะโพกหลุดไปด้านหลัง เส้นเลือดที่ฝังตัวอยู่ฉีกขาด ทำให้เกิดการตายของหัวกระดูกต้นขาในที่สุด
2) สาเหตุอื่นๆ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ, ทานยาสเตียรอยด์จำนวนมากเป็นประจำ, กลุ่มคนที่มีไขมันในกระแสเลือดสูง, การเป็นพิษต่อเซลล์ (cytotoxicity) เกิดจาสารพิษไปทำลายเซลล์ เช่น การได้รับเคมีบำบัดเป็นต้น



อาการของโรค

- ในระยะแรกที่อาการไม่รุนแรงคือ จะรู้สึกปวดตุ้บๆหรือปวดตื้อๆที่ขาหนีบหรือข้อสะโพก และโดยเฉพาะเวลาเดินจะมีอาการปวดมากขึ้น ถ้าใครมีอาการปวดขาหนีบให้สงสัยไว้ก่อนเลยครับว่าเป็นโรคที่เกี่ยวกับข้อสะโพกแน่ๆ
- เมื่อเป็นมากขึ้น คนไข้จะยืนเดินลำบากมาก รู้สึกขัดเสียวภายในข้อสะโพก และรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อขยับข้อสะโพก

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจที่เห็นชัดที่สุดคือ MRI และ x-ray นะครับ
โดย x-ray จะมองเห็นถึงความแข็งแรงของโครงสร้างและดูว่าหัวกระดูกสะโพกทรุดตัวมากน้อยแค่ไหน
ส่วน MRI นั้นมีข้อดีคือ สามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกระดูกในช่วงแรกได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในช่วงแรกอาจไม่เห็นในภาพถ่าย x-ray และ MRI ยังช่วยประเมินได้ว่าโรคนี้ส่งผลต่อกระดูกได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ยังสามารถตรวจพบภาวะกระดูกข้อสะโพกตายได้ตั้งแต่เริ่มต้น แม้ยังไม่แสดงอาการใดๆก็ตามครับ

การรักษา

ถ้าใครเป็นโรคนี้การทำกายภาพบำบัดหรือการรักษาด้วยศาสตร์อื่นๆนั้นทำได้เพียงประคับประคองอาการเท่านั้น เมื่อถึงจุดๆหนึ่งคนไข้ต้องเข้ารับการผ่าตัดข้อสะโพกแต่จะเป็นการผ่าตัดเล็กหรือผ่าตัดใหญ่อย่างการเปลี่ยนข้อสะโพกเลยนั้นขึ้นอยู่กับว่าตรวจพบรวดเร็วแค่ไหนครับผม 

การพิจารณาการผ่าตัดนั้นแบ่งได้เป็น 3 ระยะ


การผ่าตัด core decompression

1) core decompression 
วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่ตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ อาการยังไม่รุนแรง ยังไม่พบการทรุดตัวของหัวกระดูกที่มากนัก วิธีนี้จะใช้การเจาะรูเข้าไปในหัวกระดูกข้อสะโพก เพื่อลดแรงกดกระดูกที่มีต่อเส้นเลือดและสร้างช่องหลอดเลือดใหม่เพื่อบำรุงกระดูกที่มีปัญหา ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระดูกให้กลับมาแข็งแรงและป้องกันการทรุดตัวของหัวกระดูกข้อสะโพก


การผ่าตัด vascularized fibula graft

2) vascularized fibula graft
วิธีนี้จะใช้การตัดกระดูกส่วนเล็กที่หน้าแข้ง (fibula bone) ตามด้วยเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยง ไปปลูกถ่ายบริเวณหัวและคอกระดูกสะโพก (femoral head and neck) 



การผ่าตัด total hip replacement 

3) total hip replacement 
ในรายที่หัวและคอกระดูกสะโพกทรุดมากจนไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นแล้ว ต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกที่เสียหายออกไปแทนด้วยข้อเทียมครับ

เครดิตภาพ
- http://www.lookfordiagnosis.com/mesh_info.php?term=Necrosis&lang=2
- http://www.livestrong.com/article/555144-femoral-bone-contusions-stretching/
- http://www.wright.com/physicians/prodense/surgical-techniques/advanced-core-decompression-system










อย่าดึงแขนหนู เดี๋ยวศอกหนูหลุด


Pulled elbow กระดูกข้อศอกเคลื่อน
อุบัติเหตุจากการจูงมือเด็กที่พ่อแม่ทุกคนต้องรู้!

ถ้าในบ้านในครอบครัวของคุณมีลูกมีเด็กน้อยวัยซนอยู่ละก็ บทความนี้จะเป็นข้อคิดเตือนใจให้ระวังถึงอันตรายที่จะเกิดกับเด็กได้ด้วยนํ้ามือของพ่อแม่โดยไม่ตั้งใจนะครับ

เมื่อพูดถึงอุบัติเหตุในเด็กเราคงคิดถึงการหกล้มบ้าง ตกนํ้าบ้าง ปั่นจักรยานล้มบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีอีกอุบัติเหตุหนึ่งที่เกิดจากความไม่รู้ของพ่อแม่เองจากการจับ การจูง กระชากตัวเด็กโดยการจับที่แขนเด็กนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุให้กระดูกข้อศอกเคลื่อนหลุดได้หรือเรียกว่า pulled elbow นั่นเอง มักพบได้ในเด็กอายุ 2-5 ปี


ภาพแสดงกระดูกแขนท่อนล่าง

สาเหตุของโรค

เกิดจากการดึง กระชากที่แขนเด็กอย่างรุนแรง ในท่าที่เด็กเหยียดศอกและควํ่ามืออยู่ ทำให้กระดูก radius (กระดูกแขนท่อนล่างของเรามีกระดูกอยู่ 2 ชิ้น คือกระดูก radius และ ulnar) หลุดออกจากเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกไว้บริเวณข้อศอก เหตุที่กระดูกหลุดได้ง่ายเนื่องจากเส้นเอ็นในข้อต่อของเด็กเล็กยังไม่มีความมั่นคงแข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ เมื่อข้อศอกของเด็กอยู่ในท่าที่เหมาะสมร่วมกับมีแรงดึงที่แขนจึงทำให้กระดูก radius เคลื่อนได้ง่ายนั่นเองครับ 

วิธีป้องกันอุบัติเหตุดังกล่าว

- อย่ายกตัวเด็กโดยจับที่ข้อมือ เช่น พ่อจับแขนขวาแม่จับแขนซ้ายแล้วยกเด็กลอยขึ้น ห้ามเลยนะครับ
- อย่ากระชากแขนเด็ก
- ถ้าต้องจูงมือเด็ก แนะนำให้จับที่ท่อนแขนต้องส่วนที่มีกล้ามเนื้อจะปลอดภัยกว่าครับ


การสังเกตุอาการของเด็ก

ด้วยความไม่รู้ประสีประสาของเด็ก หรือเด็กบางคนอาจจะยังพูดไม่รู้เรื่องจึงเป็นเรื่องยากที่เด็กจะเดินมาบอกพ่อแม่ว่า "แม่ๆหนูศอกหลุดพาหนูไปหาหมอหน่อย" คงเป็นไปได้ยากแน่นอน ผมจึงแนะวิธีสังเกตุอาการของเด็กง่ายๆดังนี้นะครับ

- เด็กจะงอศอกอยู่ตลอดเวลา 
- ไม่ยอมเหยียดศอก ควํ่ามือหรือหงายมือ 
- เด็กบางคนจะใช้มืออีกข้างจับข้อศอกตลอด
- พ่อแม่จะต้องสังเกตุนิดนึง เพราะโรคนี้ไม่ได้สร้างความเจ็บปวดต่อเด็กมาก เด็กจึงไม่ร้องไห้โยเยมากนัก
- บางรายอาจมีอาการบวมแดงที่ข้อศอก
- เด็กยังคงวิ่งเล่นได้ตามปกติ เพียงแต่จะไม่ยอมใช้แขนข้างที่เป็นปัญหา

แนวทางการรักษา

เมื่อพ่อแม่สงสัยแล้วว่าลูกฉันข้อศอกหลุดแน่ๆ ห้ามดัดดึงดันกระดูกของเด็กเองโดยเด็ดขาดนะครับ เพราะข้อต่อของเด็กนั้นบอบบางกว่าที่คิดอาจเกิดอันตรายเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น ควรพาเด็กไปพบกุมารแพทย์หรือหมอเฉพาะทางกระดูก แล้วก็ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนผ่าตัดจัดกระดูกเป็นแผลเหวอะหวะอะไรอย่างงั้น แพทย์จะใช้วิธีการจัดกระดูกแป็ปเดียวก็เสร็จแล้วครับไม่ต้องใช้ยาชาเลยด้วยซํ้านะครับ

เครดิตภาพ
- http://www.rch.org.au/kidsinfo/fact_sheets/Pulled_Elbow/
- https://ittcs.wordpress.com/2010/10/15/notes-on-anatomy-and-physiology-the-elbow-forearm-complex/
- https://pedclerk.bsd.uchicago.edu/page/nursemaids-elbow

วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559

นิ้วล็อค นิ้วล็อค นิ้วล็อค โรคยอดฮิตวัยทำงาน




นิ้วล็อค (trigger finger)

ฮัลโหล ฮัลโหล ใครบ้างเอ่ยที่ทำงานต้องใช้มืออยู่ในท่าซํ้าๆเดิมๆเป็นเวลานานกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็น การพิมพ์งาน การเขียนหนังสือ การซักผ้าด้วยมือ ช่างซ่อมที่ใช้เครื่องมือขนาดเล็กต่างๆนาๆ แม่บ้านที่ต้องหิ้วของหนักๆ แม่ครัวที่จับมีดจับตะหลิวเป็นพัลวัน หรือสาวก BB และ iphone ทั้งหลายที่ชอบพิมพ์ข้อความส่งกันทางมือถือ ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่ใช้มือจากกิจกรรมเหล่านี้ติดต่อกันนานๆละก็ ระวังให้ดี คุณอาจจะเป็นนิ้วล็อคได้นะครับ

โรคนี้พบในผู้หญิงร้อยละ 80 พบในผู้ชายร้อยละ 20 และพบมากในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป เหตุที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายนั้นสันนิษฐานว่า ความแข็งแรงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย เมื่อทำกิจกรรมที่มีการคงค้างของนิ้วมือเป็นเวลานานจึงง่ายต่อการเกิดการอักเสบขึ้น


ลักษณะการเกิดนิ้วล็อค

เกิดจากการการอักเสบของเส้นเอ็นที่นิ้ว เนื่องจากการใช้งานของนิ้วมือที่เกิดการเสียดสีกับวัตถุ เกิดจากการเกร็งของข้อนิ้วติดต่อกันนานๆ และที่นิ้วมือของเราไม่ได้มีเพียงเส้นเอ็นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปลอกหุ้มเส้นเอ็นอีก 5 เส้นนั่นคือ A1-A5 pulley ซึ่งเจ้า pulley นี่จะทำหน้าที่ห่อหุ้มเส้นเอ็นของนิ้วเราให้อยู่ชิดกับกระดูก แต่ในกรณีที่เส้นเอ็นนิ้วเกิดการอักเสบขึ้นจากกิจกรรมใดๆก็แล้วแต่จะทำให้เส้นเอ็นเกิดเป็นปุ่มบวมขึ้นมา เมื่อบวมแล้วที่นี้ก็งานเข้าละสิ เพราะเมื่อเรางอเหยียดนิ้วเส้นเอ็นจะต้องรอดผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็น แต่ถ้าเส้นเอ็นมีปุ่มบวมขึ้นมาละก็ตรงปุ่มบวมนั่นแหละครับจะไปติดกับปลอกหุ้นเส้นเอ็น ในกรณีที่ยังอักเสบไม่มากปุ่มก็อาจจะยังเล็กอยู่ แต่ถ้าปุ่มบวมบนเส้นเอ็นมีขนาดใหญ่จะรอดผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นได้ยากขึ้น แต่ถ้าผ่านได้จะมีเสียงดังป็อกที่นิ้วมือร่วมกับอาการปวดจนนํ้าตาเล็ดกันเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้แหละครับที่ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากเหยียดนิ้วที่ปวดอยู่ เมื่อนานวันเข้าก็เกิดภาวะนิ้วล็อกถาวรไม่สามารถเหยียดนิ้วมือได้อีกต่อไป



อาการของโรค

ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดที่บริเวณโคนนิ้ว โดยส่วนมากมักเป็นที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วนางขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ทำว่าใช้งานนิ้วไหนมากกว่ากันนะครับ นอกจากอาการปวดแล้วจะรู้สึกว่านิ้วสะดุดขณะเหยียดนิ้วออกร่วมกับมีเสียงดังกึกอยู่ภายใน แต่เมื่องอนิ้วก็สามารถงอนิ้วเข้าได้ตามปกติ

- รู้สึกฝืดเมื่อขยับนิ้ว
- ปวดบริเวณโคนนิ้ว
- คลำเจอก้อนนูนที่โคนนิ้ว 
- เมื่อเหยียดนิ้วจะได้ยินเสียงดังกึกที่ข้อนิ้ว และมีอาการปวด
- ไม่สามารถเหยียดนิ้วเองได้ ต้องใช้มืออีกข้างช่วยจับเหยียดออก
- งอนิ้วสะดวก แต่เหยียดนิ้วลำบาก
- นิ้วติดอยู่ในท่างอ
- ในรายที่เป็นมานานจะพบการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่เหยียดนิ้ว

เราสามารถแบ่งระดับความรุนแรงของโรคได้ทั้งหมด 4 ระดับ

ระดับที่ 1 : ปวดบริเวณโคนนิ้ว จากภาวะเส้นเอ็นอักเสบ รู้สึกฝืดเป็นบางครั้งเมื่อเหยียดงอนิ้วในช่วงตื่นนอนหรืออากาศเย็น แต่เมื่อขยับนิ้วมือไปสักพักก็จะกำมือได้สะดวกขึ้น
ระดับที่ 2 : รู้สึกฝืดทุกครั้งเมื่อขยับนิ้ว และเป็นมากเมื่อเหยียดนิ้วออกร่วมกับมีอาการปวด
ระดับที่ 3 : เหยียดนิ้วได้ยากมากขึ้น ต้องมืออีกข้างช่วยเหยียดนิ้วออก และมีเสียงดังป๊อกขระเหยียดนิ้วออก
ระดับที่ 4 : ถือว่าเป็นระดับที่รุนแรงที่สุดนะครับ คือนิ้วจะงออยู่ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกมาได้อีกเลย เนื่ยงจากปุ่มเส้นเอ็นมีขนาดใหญ่มากจนไม่สามารถรอดผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นได้นั่นเองครับ และเมื่ออยู่ในท่างอนิ้วนานๆจะทำให้นิ้วมือเกิดการผิดรูปขึ้นตามมาในที่สุด

การรักษา

1) การรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้น
ถ้าใครที่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นนิ้วล็อกแน่ๆแล้วละก็เบื้ยงต้นให้หยุดการใช้งานของนิ้วข้างที่ปวดโดยการดาม splint ที่นิ้วมือ เพื่อลดการใช้งานของนิ้วไม่ให้อาการปวดลุกลามจนนำไปสู่นิ้วล็อกสมบูรณ์ แต่ถ้าหา splint ใส่ไม่ได้ก็ใช้ผ้าพันนิ้วให้อยู่ในท่างอนิ้วประมาณ 15 องศาก็ได้เช่นกันครับ


การพัน kinesio tape เพื่อลดการทำงานของเส้นเอ็นที่อักเสบ

หมั่นแช่นํ้าอุ่นทุกวัน อย่างน้อยวันละ 10 นาที และควรแช่ที่มือจนถึงข้อศอกเลยนะครับ เพราะกล้ามเนื้อที่แขนบางมัดมีจุดเกาะปลายอยู่ที่เส้นเอ็นของนิ้วเรา ซึ่งจะเห็นผลดีกว่าแช่แค่มือนะครับ

หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การเกร็งนิ้ว หรือทำกิจกรรมใดๆที่ทำให้นิ้วต้องเกิดการเสียดสี แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้แนะนำให้ใส่ถุงมือนะครับ

หมั่นยืดเหยียดนิ้วมือทุกๆชั่วโมง เพื่อให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อผ่อนคลายอาการปวดจะได้ทุเลาลง

2) การรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน
ในรายที่อาการยังไม่รุนแรงมากแพทย์จะให้ทานยาลดปวดและฉีดยาตรงจุดที่มีอาการ ซึ่งจะเห็นผลดีในผู้ปว่ยที่อาการยังไม่รุนแรงมาก


การฉีดสเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวด

การผ่าตัด ในกรณีที่การฉีดยาไม่ได้ผลแพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดเพื่อคลายปลอกหุ้มเส้นเอ็นออกให้ปุ่มนู่นบนเส้นเอ็นสามารถผ่านไปได้อย่างสะดวก

3) การทำกายภาพบำบัด
ถ้าผู้ป่วยไม่ต้องการผ่าตัด การทำกายภาพก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่ได้ผลดีไม่แพ้กัน แต่อาจจะใช้ระยะเวลานานพอสมควรในรายที่เป็นนิ้วล็อกรุนแรง การทำกายภาพจะใช้เครื่องมือเพื่อลดปวด ลดอักเสบ และคลายเส้นเอ็นที่เป็นปุ่มนูนอยู่ เช่น เครื่อง ultrasound, laser, shock wave และการจุ่มไขพาราฟิน เป็นต้น


การจุ่มพาราฟินในกายภาพบำบัด

4) แพทย์แผนไทยประยุกต์
การรักษาของแพทย์แผนไทยประยุกต์จะใช้วิธีการนวด จับเส้น ไล่เส้นที่กล้ามเนื้อแขนและนิ้วมือที่เป็นปัญหา ร่วมกับการใช้ยาสมุนไพรครับ



เครดิตภาพ 
- http://www.stou.ac.th/Schools/Shs/booklet/book55_2/thai.htm
- http://handcare.org/blog/9-steps-to-treating-your-hands-with-paraffin-wax/
- http://www.maurerlaw.net/blog/2013/08/trigger-finger---evaluation-and-treatment.shtml









วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

โรคข้อเข่านักกระโดด ชื่อโรคแปลกๆที่หลายคนก้เป็นกัน



โรคข้อเข่านักกระโดด (jumper knee, pattelar tendinitis)

โรคข้อเข่านักกระโดดชื่อนี้อาจไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตาสำหรับคนทั่วไปเท่าไหร่นัก แต่ก็เชื่อว่าหลายคนพอจะเดาได้ว่ามันต้องเป็นโรคที่เกี่ยวกับการกระโดดอะไรสักอย่างแน่ๆเลย 

ใช่แล้วครับผม โรคนี้มักพบได้ในนักกีฬาซะเป็นส่วนใหญ่ คนทั่วไปพบได้น้อยมากเพราะกิจวัตรประจำวันของเราๆท่านๆมันไม่จพเป็นต้องกระโดดหรือวิ่งด้วยความเร็วสูงอยู่เป็นประจำนี่เนอะ โรคนี้พบมากในนักกีฬาที่ต้องกระโดดบ่อยๆ เช่น นักกีฬากระโดสูง, นักบาสเก็ตบอล, นักวอลเล่ย์บอล บางครั้งก็พบในนักกีฬาวิ่งระยะสั้นด้วยนะครับ 

สาเหตุ

สาเหตุนั้นเกิดจากการกระชากของเส้นเอ็นใต้กระดูกสะบ้าจากการหดตัวของกล้ามเนื้อต้นขา (quadriceps m.) อย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เส้นเอ็นเกิดการฉีกขาด ซึ่งในระยะแรกอาจฉีกขาดในในระดับ microtear คือการฉีกขาดเล็กๆน้อยๆที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและยังไม่รู้สึกถึงอาการเจ็บปวด แต่ถ้าเรายังคงทำกิจกรรมเดิมๆ มันจะกระตุ้นให้เกิดการฉีกขาดที่มากขึ้นเป็น macrotear หรือก็คือการฉีกขาดขนาดใหญ่ที่มองเห็นด้วยตาเปล่าและสร้างความเจ็บปวดทรมานมากขึ้นนั่นเองครับ 

ในนักกีฬาที่กล้ามเนื้อต้นขา (quadriceps m.) ไม่แข็งแรงจะมีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บได้ง่ายกว่านักกีฬาที่ฝึกกำลังกล้ามเนื้อต้นขามาอย่างดีนะครับ 

อาการ

อาการปวดโดยส่วนใหญ่นั้นไม่รุนแรงมากจนถึงกับเดินไม่ได้หรอกนะครับ อาการปลักๆคือปวดบริเวณรอบๆกระดูกสะบ้า เป็นได้ที่ตำแหน่งเดียวจนถึงหลายๆตำแหน่งรอบๆกระดูกสะบ้า ซึ่งอาการมันจะต่างจากผู้ที่เป็นโรคเข่าเสื่อมอยู่พอสมควร ผู้ที่เป็นโรคเข่าเสื่อมจะมีอาการปวดลึกๆขัดๆในข้อเข่า โดยเฉพาะเข่าทางด้านใน และปวดมากเมื่องอเข่า แต่สำหรับโรค jumper knee จะปวดผิวๆครับ 

ในรายที่มีการฉีกขาดมากจะมีอาการปวดอยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะนั่งพักเฉยๆ แต่ในรายที่เส้นเอ็นฉีกขาดน้อยอาจมีอาการเฉพาะขณะเดินหรือวิ่งเท่านั้นนะครับ

การรักษาด้วยตนเองเบื้องต้น

การักษาก็ง่ายๆครับ นำนํ้าแข็งมาประคบบริเวณที่ปวดเพื่อลดอาการอักเสบและลดปวด ต่อมาก็ให้พักการทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการขึ้น และพัน tapping เพื่อประคองข้อเข่าและลดการใช้งานของเส้นเอ็นนะครับ 

แต่ในกรณีที่รักษาด้วยตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาแก้ปวด แก้อักเสบ หรือพบนักกายภาพบำบัดเพื่อใช้เครื่องมือ ultrasound, laser, shock wave ยิงจุดที่อักเสบเพื่อกระตุ้นให้เส้นเอ็นที่ฉีกขาดนั้นซ่อมแซมตัวเองเร็วขึ้นครับผม 



วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559

ไหล่ติด อยู่เฉยๆก็เป็นได้ไง เรามีคำตอบ


ข้อไหล่ติด (frozen shoulder, adhesive capsulitis)

หากว่าเรากำลังสบายจงยกมือขึ้น ฮึ่บๆโอ้ยๆ ถ้าเราไปเรียนหรือมัมนาที่ไหนแล้วกิดมีคำถามอยากถามครูขึ้นมา แต่ก็ยกถือถามก็ไม่ได้เพราะไหล่ติดพอฝืนยกหน่อยก็เจ็บทั่วไปทั่งหัวไหล่จนต้องขอนั่งหุบแขนนิ่งๆไว้เหมือนเดิมดีกว่า นี่เป็นคำบอกเล่าของคนไข้ที่ผมได้พบเจอคนหนึ่งที่โรคไหล่ติดสร้างความเจ็บปวดและสร้างปัญหาการดำเนินชีวิตอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องของผู้หญิ๊งผู้หญิงอย่างการใส่ยกทรง การจะเอามือไขว้หลังไปติดตะขอเสื้อในนี่ลืมไปได้เลย ก่อนที่จะอารัมภบทกันซะยืดยาว เรามาทำความรู้จักกับภาวะไหล่ติดกันดีกว่า

ภาวะข้อไหล่ติดนั้นเกิดจากเส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่อักเสบ ทำให้เส้นเอ็นเหล่านั้นหนาตัวขึ้น และเมื่อเรายกแขนหรือเอามือไขว้หลังจะทำให้เส้นเอ็นถูกยืดและกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดขึ้น จนทำให้เราไม่กล้ายกแขนขึ้นเหนือศีรษะนั่นเอง แล้วเมื่อเราหลีกเลี่ยงการยกแขน การเคลื่อนไหวหัวไหล่ จะยิ่งทำให้เอ็นรอบข้อไหล่หนาตัวมากขึ้น มากขึ้น องศาการเคลื่อนไหวเราจะยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ ทีนี้อย่าว่าแต่จะยกแขนเลยครับ แค่ขยับแขนนิดๆหน่อยๆก็ร้องโอดโอยกันแล้ว 

คุณผู้ชมอ่านมาถึงตรงนี้ก็พอจะจินตนาการออกแล้วว่า การเป็นไหล่ติดมันลำบากขนาดไหน แต่มันไม่จบแค่นั้น่ะสิครับ เมื่อเราหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวหัวไหล่ หรือการใช้แขนข้างที่เป็นไหล่ติดนั้นเป็นเวลานานเข้า กล้ามเนื้อแขนข้างนั้นก็จะฝ่อลีบลงอย่างช้าๆตามมาอีก สังเกตุได้ง่ายๆเลยว่า แต่ก่อนเราเดินจ่ายตลาดถือข้าวปลาอาหารได้อย่างชิวๆเป็นสิบกิโล แต่เมื่อเป็นไหล่ติดและไม่ค่อยได้ใช้แขนนานๆเข้า แค่เดินถือของนิดๆหน่อยๆก็รู้สึกปวดแขนเมื่อยแขน หรือให้พยายามยกแขนข้างไว้สัก 10 วินาทีก็แทบจะทนไม่ไหวแล้วจ้า

สาเหตุ : แบ่งได้เป็น 2 ประเภท

1) แบบทราบสาเหตุ
มักพบในผู้ป่วยที่เกิดอุบัติเหตุโดยตรงที่หัวไหล่ เช่น โดนกระแทก, เล่นกีฬาที่ต้องใช้การเหวี่ยง การขว้างแรงๆ เป็นต้น พบในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกที่มักไม่ได้เคลื่อนไหวข้อไหวข้อไหล่นานๆ ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดที่หัวไหล่แล้วไม่ยอมเคลื่อนไหว 

2) แบบไม่ทราบสาเหตุ
มักพบในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งจู่ๆก็รู้สึกปวดหัวไหล่โดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งๆที่ไม่มีประวัติว่าเคยประสบอุบัติเหตุใดๆทั้งสิ้น อาการเริ่มแรกจะรู้สึกปวดบริเวณข้อไหล่ เมื่อพยายามยกแขนจะรู้สึกปวดแต่ก็ยังยกแขนได้เต็มช่วงการเคลื่อนไหว และเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งอาการปวดก็ยังคงอยู่แต่ผู้ป่วยไม่กล้ายกแขนแล้วเพราะกลัวจะเจ็บ หลังจากผ่านไปไม่กี่วันจะพบว่า จากเดิมที่มีแค่เจ็บปวดเพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยจะรู้สึกตึงกล้ามเนื้อรอบๆข้อไหล่ร่วมด้วยเมื่อยกแขน และจึงเป็นที่มาของภาวะข้อไหล่ติดนั่นเองครับผม (ถ้าใครรู้สึกเริ่มมีอาการเจ็บๆตึงๆที่ไหล่ละก็ แนะนำให้หมั่นแกว่งแขนยกแขนบ่อยๆเลยครับ แม้จะปวดบ้างก็ควรทำครับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไหล่ติดได้)



อาการ

- รู้สึกปวดตึงที่บริเวณหัวไหล่ และปวดมากเมื่อยกแขนขึนเหนือศีรษะ 
- เอามือพาดหลังไม่ได้ หรือเอามือติดตะขอเสื้อในไม่ได้
- เมื่อนอนตะแคงทับแขนข้างที่ไหล่ติด จะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดมากขึ้น

โดยสามารถแบ่งระยะของข้อไหล่ติดได้เป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 : freezing stage
ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของผู้ที่เริ่มมีภาวะข้อไหล่ติด โดยจะมีอาการปวดขณะเคลื่อนไหวข้อไหล่ และปวดมากขึ้นเมื่อพยายามขกแขนขึ้นเหนือศีระษะ แต่ระยะนี้จะยังไม่รู้สึกถึงภาวะข้อไหล่ติดอย่างเด่นชัด หากเข้ารับการรักษาทางกายภาพบำบัดในระยะนี้จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะข้อไหล่ติดที่มากขึ้นได้ หรือหมั่นยกแขน แกว่งแขนไปข้างหน้าและไปข้างหลังให้สุดวันละ 100 ครั้งหรือมากกว่าได้จะดีมากๆเลยนะครับ ซึ่งในระยะนี้กินเวลาตั้งแต่ 6 สัปดาห์ถึง 9 เดือนเลยที่เดียว

ระยะที่ 2 : frozen stage
หากผู้ป่วยเป็นในระยะที่ 1 แล้วไม่เข้ารับการรักษาหรือปล่อยทิ้งไว้จะเข้าสู่ระยะ frozen stage หรือระยะติดแข็งนั่นเอง ระยะนี้ชื่อมันก็บอกชัดแล้วเนอะว่า เป็นระยะที่ข้อไหล่ติดแข็ง องศาการเคลื่อนไหวน้อยลง รู้สึกตึงรั้งกล้ามเนื้อรอบๆข้อไหล่จนถึงต้นคอ อาการปวดจะลดน้อยลงแล้วในระยะนี้ จากเดิมที่อยู่ในระยะที่ 1 อยู่เฉยๆก็ปวด แต่ระยะที่ 2 อยู่เฉยๆอาการปวดอาจหายไปแล้ว แต่ถ้าฝืนดัดแขนก็มีอาการปวดอยู่บ้าง ซึ่งระยะนี้จะกินเวลา 4-9 เดือน

ระยะที่ 3 : thawing stage
และแล้วก็มาถึงระยะสุดท้าย (เย้) นั่นก็คือระยะ thawing stage ถ้าแปลตรงตัวก็คือ"ระยะละลาย"ครับ อ่านดูแล้วมันแหม่งๆเนอะ ฮาๆ สรุปง่ายๆระยะนี้องศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะน้อยลงเรื่อยๆจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างชัดเจน จะหยิบจะยกของก็ทำได้ลำบากมากขึ้น จะสวมเสื้อก็ทำไม่ได้ ติดตะขอเสื้อในก็ไม่สะดวก หวีผมก็ลำบาก จะสระผมก็สระได้แค่มือเดียวเพราะแขนอีกข้างยกไม่ได้ สาระพัดปัญหาจะมาในระยะนี้แหละครับ แต่เมื่อฝนตกฟ้าย่อมสดใส เช่นกันครับ เมื่อถึงจุดที่ไหล่ติดสุดๆแล้ว ร่างกายก็จะเริ่มฟื้นฟูอาการไหล่ติดจะค่อยๆน้อยลง แต่ถึงบอกว่าน้อยลงนี่ก็ใช้เวลาพอสมควรเลยนะครับ นั่นคือ 5-26 เดือนแนะ ถ้าผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษาเลยปล่อยให้อาการมันหายไปเองเบ็ดเสร็จก็ใช้เวลาร่วมๆ 3 ปีแน่ะ (โอ้ แม่เจ้า)

การักษา

การรักษาที่นิยมกันจะมีอยู่ 3 ประเภทหลักๆนะครับ 



1) แพทย์แผนปัจจุบัน 
โดยการรักษาหลักๆนั้นคือการทานยา ฉีดยา และการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อตัดขยายเอ็นรอบข้อไหล่ให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
2) กายภาพบำบัด
การทำกายภาพจะใช้การดัด ดึงข้อไหล่เพื่อเพิ่มองศาให้เคลื่อนไหวได้มากขึ้น อาจใช้เครื่องมือบางประเภทเข้าช่วย เช่น ultrasound, short wave, laser เป็นต้น ร่วมกับการสอนท่าบริหารข้อไหล่ให้กลับไปทำเองที่บ้าน
3) แพทย์แผนไทย
การรักษาจะใช้หลักการนวด กดจุด การย้ายเส้นเอ็นร่วมกับสมุนไพรไทย

ซึ่งแนวทางการรักษาแต่ละแบบอาจจะต่างกันออกไปแต่มีจุดประสงค์เดียวกันคือการเพิ่มองศาของข้อไหล่ให้หายเป็นปกตินั่นเอง (แต่จะแนะนิดนึงว่า การผ่าตัดขอให้เป็นตัวเลือกสุดท้ายน้อ)

เครดิตถาพ http://kneeandshoulderclinic.com.au/shoulders/surgical-conditions/frozen-shoulder/
http://arogyasanjeevani.blogspot.com/2015/05/frozen-shoulder-symptoms-diagnosis-and.html