สะพายกระเป๋าข้างเดียว กับต้นเหตุที่ทำให้
ปวดหัว ปวดตา ปวดกราม
เพื่อนๆคนไหนมีอาการปวดหัวข้างเดียว ปวดกระบอกตา ปวดขมับ ปวดตึงบ่า หรือแม้กระทั่งปวดกรามร้าวไปที่หัวคิ้วอยู่ละก็ อย่าพึ่งคิดว่าเป็นผลจากโรคไมเกรนไปซะหมดนะครับ โดยมากแล้วเกิดจากพฤติกรรมการใช้ร่างกายผิดๆของเราแทบทั้งนั้นเลย แล้วพฤติกรรมไหนบ้างที่เสี่ยงทำให้ปวดเหมือนที่ผมบอกไปข้างต้น เพื่อนๆลองเช็คกันดูเลย
- ทำงานอยู่ในท่าซํ้าๆเดิมๆนานๆ แล้วไม่ค่อยเปลี่ยนอิริยาบถอื่นเลย เช่น เล่นมือถือ ขับรถ ทำงานหน้าคอม คนทำงานโรงงาน
- ยืน-นั่งหลังค่อมไหล่ห่อ
- กล้ามเนื้อช่วงคอ บ่า และหัวไหล่ไม่แข็งแรง
- ความเครียด (ความเครียดสะสม มีผลทำให้กล้ามเนื้อตึงตัว แล้วพอตึงมากๆก็ทำให้กล้ามเนื้อล้า และเกิดอาการปวดได้ในที่สุด)
- และการสะพายกระเป๋าข้างเดียวเป็นเวลานาน
การนั่งหลังค่อม ไหล่ห่อ หรือก้มหน้านานๆ ทำให้ปวดคอบ่าและหัวได้ง่าย
ซึ่งการสะพายกระเป๋าข้างเดียวเนี่ยแหละครับ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณผู้หญิงหลายคนต้องปวดคอบ่ากันอยู่บ่อยๆ เนื่องจากการสะพายกระเป๋าที่มีนํ้าหนักประมาณนึง จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อช่วงบ่าเกร็งตัวขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เพราะถ้ากล้ามเนื้อไม่เกร็งตัวสู้กับนํ้าหนักกระเป๋า จะทำให้สายรัดกระเป๋ากดทับกล้ามเนื้อมากเกินไปจนบาดเจ็บได้นั่นเองครับ
การเกร็งกล้ามเนื้อแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกตินะครับ แต่ถ้ากล้ามเนื้อเกร็งค้างเป็นเวลานานจากการสะพายกระเป๋าเป็นเวลานาน แถมเราไม่ค่อยยืดกล้ามเนื้อที่บ่าด้วย จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งค้าง ความยืดหยุ่นน้อยลง หรือที่เราเรียกกันว่า "กล้ามเนื้อตึง" นั่นแหละครับ
พอตึงมากๆก็ปวด แล้วการหดตัวกล้ามเนื้อบ่าก็ทำได้ไม่เต็มที่ จนทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง แล้วปวดเรื้อรังทุกครั้งที่สะพายกระเป๋า หรือถือของหนักๆนั่นเองครับ
นอกจากนี้ สายสะพายก็มีส่วนที่ทำให้กล้ามเนื้อบ่าเราตึงมากขึ้นได้ด้วยนะ โดยเฉพาะสายสะพายที่มีขนาดเล็ก แข็ง จะยิ่งทำให้กดรัดกล้ามเนื้อเราเพียงแค่จุดเดียวมากเกินไป เมื่อเทียบสายสะพายที่มีหน้ากว้างจะกระจายนํ้าหนักได้ดีกว่า ทำให้สะพายกระเป๋าได้นาน กว่าจะรู้สึกปวดตึงบ่านั่นเองครับ
สายสะพายที่มีขนาดเล็กและแข็งมีผลทำให้ปวดคอบ่าได้ง่ายกว่า
สายสะพายที่ใหญ่และกว้าง จะช่วยกระจายนํ้าหนักไม่ให้กดกล้ามเนื้อเพียงจุดเดียว
แล้วนํ้าหนักของกระเป๋าก็มีส่วนทำให้ปวดได้ด้วยนะ ถ้าเพื่อนๆที่ปวดหัว คอ บ่าเรื้อรังอยู่บ่อยๆละก็ การใส่ของในกระเป๋าให้น้อยชิ้นที่สุดคือทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะป้องกันอาการปวดได้ดีทีเดียวเลยละครับ
ทีนี้ ตำแหน่งสายสะพายที่กดทับกล้ามเนื้อบ่านั้น มีชื่อเรียกว่ากล้ามเนื้อ upper trapezius ซึ่งถ้ากล้ามเนื้อมัดนี้ตึงมากๆ จนเส้นในกล้ามเนื้อที่เรียงตัวกันดีๆขมวดกันเป็นปมจนกลายเป็นก้อนแข็งๆอยู่ในกล้ามเนื้อแล้วละก็ จะทำให้เราปวดบ่าแล้วร้าวขึ้นไปที่ขมับ หัวคิ้ว กระบอกตา บางรายก็ปวดกรามด้วย ขึ้นอยู่กับความตึงของกล้ามเนื้อ
กล้ามเนื้อ trapezius ทั้ง 3 ส่วน
ตำแหน่งที่สายสะพายกดลงบนกล้ามเนื้อมัดนี้จนตึงปวด
โดยก้อนแข็งๆในกล้ามเนื้อมันไม่ใช่พังผืดนะครับ เป็นแค่เส้นใยกล้ามเนื้อที่ขมวดกันเป็นปมแล้วนูนจนเป็นก้อนขึ้น มีชื่อเรียกเจ้าก้อนนี้อย่างเป็นทางการว่า trigger point นั่นเองครับผม
แล้วพอสายรัดกระเป๋าที่เราสะพายมันไปกดรัดโดนก้อน trigger point เข้า ก็จะทำให้ปวดร้าวขึ้นขมับ หัวคิ้ว กระบอกตาได้ ตามความตึงของก้อนนี้ว่าตึงมากน้อยแค่ไหน
ซึ่งการที่เราตึงบ่าแล้วร้าวไปจุดอื่นๆได้ไกลจนถึงหัวคิ้วหรือกระบอกตานั้น เป็นผลจากปลายประสาทเส้นเล็กๆภายในกล้ามเนื้อ upper trapezius ที่เชื่อมต่อกันกับกล้ามเนื้อหรือผิวหนังส่วนอื่นๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางทีเราสะพายกระเป๋าหรือนั่งทำงานนานๆแล้วปวดขมับ ขึ้นหัวคิ้ว วิ่งเข้ากระบอกตา หรือบางรายก็ถึงขั้นปวดกรามจนอ้าปากได้ลำบากนั่นเองครับผม
ลักษณะก้อน trigger point เมื่อกดโดนก้อนแล้วจะทำให้ปวดร้าวไปส่วนอื่นของร่างกาย
จุดสีแดงๆคือตำแหน่งที่ปวดร้าว เมื่อกดโดน trigger point ของกล้ามเนื้อ upper trapezius
วิธีรักษา
วิธีการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ และการคลายก้อน trigger point ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยครับ นั่นคือใช้การยืดกล้ามเนื้อ เราตึงกล้ามเนื้อมัดไหนก็ยืดกล้ามเนื้อมัดนั้นทุกครั้งที่รู้สึกตึงเมื่อย (ดูวิธียืดกล้ามเนื้อ upper trapezius ในคลิปนี้)
แต่ถ้ายืดแล้วไม่หายปวดซะที ก็ใช้การบีบ นวด เอานิ้วกดคลึงตรงจุดที่ปวดจนกว่าจะหาย ก็ทำให้ก้อน trigger point นิ่มลง แล้วอาการปวดร้าวที่เราเป็นอยู่ก็จะเบาลงได้เองครับ
แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การออกกำลังกายกล้ามเนื้อช่วงคอบ่าและหัวไหล่ให้แข็งแรง เพราะความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจะมีความสัมพันธ์กับอาการปวดเสมอ ถ้ากล้ามเนื้อแข็งแรงดี แต่มีก้อน trigger point ที่ใหญ่เราก็จะไม่ปวดมากเท่ากับคนที่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงเลยครับผม
คลิป วิธียืดกล้ามเนื้อคอบ่าเพื่อลดปวด
คลิ๊ก
คลิป ท่าออกกำลังกายบ่า สะบัก คอแข็งแรง
คลิ๊ก
คลิป อธิบายก้อน trigger point คืออะไร
คลิ๊ก