วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เล่นโยคะทุกวัน แต่ทำไมฉันยังปวดคอ บ่าได้อีก ดูจากสะบักขวาสิ

 


เล่นโยคะทุกวัน แต่ทำไมฉันยังปวดคอ บ่าได้อีก

ดูจากสะบักขวาสิ


มีเคสที่น่าสนใจมาให้เพื่อนๆได้ศึกษากันต่อเนื่องเลยครับ สำหรับเคสนี้มาด้วยอาการปวดตึงคอ บ่า และสะบักขวา โดยอาการปวดจะเป็นๆหายๆเหมือนคนเป็นโรค office syndrome ทั่วไป ไม่ถึงขั้นปวดร้าวขึ้นหัว หรือปวดจนทรมานอะไรแบบนั้น นอกจากนี้ก็ยังมีอาการตึงหลังล่างหน่อยๆด้วย


อาการปวดที่เล่ามาทั้งหมดไม่ได้สร้างปัญหาอะไรให้กับคนไข้รายนี้มากนัก คนไข้ยังคงทำงานได้ นอนหลับได้ กินได้ดี ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ แต่ แต่อาการนี้มันสร้างความสงสัยและความรำคาญใจให้คนไข้มากกว่า เพราะว่าคนไข้รายนี้เล่นโยคะทุกวัน แถมเล่นได้ดีมากๆซะด้วย 



วิธีสังเกตุสะบักหลังโดยการตีเส้น


แล้วมันน่าแปลกใจที่ว่า "ทำไมฉันเล่นโยคะทุกวัน ยืดเหยียดกล้ามเนื้ออยู่บ่อยๆ ยืนจนตัวอ่อนสุดๆแล้ว แต่ทำไมฉันยังปวดกล้ามเนื้อได้อยู่อีกละ" เรื่องนี้เรามาหาคำตอบในร่างกายคนไข้รายนี้กันครับ


เหมือนกับคนไข้หลายๆคนที่มาคลินิกผม คือ พอมาถึงป๊าบก็จับถอดเสื้อออกเพื่อดูแนวกระดูกสันหลัง และโครงสร้างกระดูกกล้ามเนื้อทั้งซีกซ้ายและขวาว่า มันสมดุลกันมั้ย จากนั้นก็ใช้ปากกาขีดๆเขียนๆลากเส้นไปบนหลังคนไข้เพื่อให้เห็นความผิดปกติได้อย่างชัดๆ พอลากเสร็จป๊าบบบบ ถึงได้รู้สาเหตุว่าทำไมถึงปวดคอ บ่า สะบักขวาเรื้อรัง

เปรียบเทียบสะบักทั้ง 2 ข้าง


มันเกิดจากบุคลิกคนไข้เองนั่นแหละครับ โดยคนไข้มีภาวะไหล่ห่อข้างขวา คอยื่นไปด้านหน้าตลอดเวลา และยืนทิ้งนํ้าตัวไปด้านหน้าตลอดนั่นเอง


ซึ่งการที่ไหล่ขวาห่อไปด้านหน้าตลอด มันทำให้กล้ามเนื้อบ่าขวา และสะบักหลังถูกยืดอยู่ตลอดเวลา แล้วการที่กล้ามเนื้อถูกยืดอยู่ตลอดเนี่ยแหละ มันก็ทำให้กล้ามเนื้อตึงได้เหมือนกันนะ (ถูกยืดมากจนตึงค้าง) พอกล้ามเนื้อตึงมากๆเข้าเส้นใยกล้ามเนื้อภายในก็หดรั้งตึงจนเป็นก้อนนูนขึ้นมาที่เรียกว่า ก้อน trigger point ที่สร้างอาการปวดกล้ามเนื้อให้เราได้อยู่เนืองๆนั่นเอง



สังเกตุสะบักขวาจะมีช่องว่างมากกว่าซ้าย


แล้วเจ้าก้อน trigger point เหล่านี้ สำหรับคนที่กล้ามเนื้อยืดหยุ่นดีมากๆอยู่แล้ว การยืดกล้ามเนื้อไม่ได้ช่วยให้ก้อน trigger point คลายตัวลงได้นะ เราต้องใช้การกด การนวดไปที่ก้อนเหล่านี้โดยตรง หรือใช้การออกกำลังกายแบบมีแรงต้านก็จะช่วยคลายความตึงลงได้เช่นกัน


นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมเราเล่นโยคะ หรือเน้นยืดกล้ามเนื้ออย่างเดียวอาการปวดตึงกล้ามเนื้อถึงไม่หายขาดไปได้ซะที นานวันเข้าเราก็จะสังเกตุได้ว่า เราสามารถยืดกล้ามเนื้อได้เยอะขึ้น ตัวอ่อนมากขึ้น แต่ยิ่งยืดมากเท่าไหร่อาการปวดกลับไม่ได้ลดลงเลย มิหนำซํ้ายิ่งยืดมากเรากลับยิ่งรู้สึกปวดมากกว่าเดิมด้วยซํ้า ถ้าเพื่อนๆมีอาการคล้ายๆกันแบบนี้อยู่ละก็ แนะนำว่าให้ออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน โดยเน้นออกมัดที่เราปวดเป็นประจำจะช่วยให้หายปวดได้ชะงักเลยละครับ


ลักษณะการยืนของคนไข้ ที่ทำให้ปวดหลังล่าง


ส่วนอาการปวดตึงหลังล่างก็มาจากท่ายืนที่ชอบยืนเอนตัวไปด้านหน้าตลอดเวลา (ดูจากรูปถ่ายด้านข้าง) พอตัวเอนไปด้านหน้ามากๆเข้า ตัวเราจะเสียสมดุลแล้วเสี่ยงล้มไปด้านหน้าได้ ร่างกายก็จะปรับตัวโดยการแอ่นหลังล่างร่วมด้วย แล้วการที่หลังแอ่นเนี่ยแหละ มันทำให้กล้ามเนื้อหลังล่างต้องออกแรงเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย ซึ่งการที่กล้ามเนื้อเกร็งอยู่ตลอดมันทำให้กล้ามเนื้อล้า และเกิดอาการปวดได้นั่นเองครับ 




วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ดูเผินๆแล้วเป็นหลังคด แต่จริงๆแล้วมันไม่ช่ายยยยย

 


ดูเผินๆแล้วเป็นหลังคด

แต่จริงๆแล้วมันไม่ช่ายยยยย


มีเคสนึงที่น่าสนใจมาให้เพื่อนๆได้ศึกษากัน ซึ่งคนไข้รายนี้มาหาผมด้วยอาการปวดตึงหลังล่างตามแนวขอบกางเกงใน โดยอาการปวดหลังจะปวดแบบตึงๆ ชวนให้รำคาญมากกว่าจะปวดแบบทรมาน 


แต่สิ่งที่สร้างความลำบากใจจริงๆก็คือ คนไข้มีอาการปวดเรื้อรังมาเป็นปี รักษามาทุกรูปแบบแล้ว ส่วนใหญ่ก็ดีขึ้นชั่วคราว แล้วก็กลับมาปวดใหม่ซํ้าไปซํ้ามาแบบนี้ ทั้งๆที่ตนเองก็อายุแค่ 20 ปลายๆ ร่างกายก็แข็งแรงดี ออกกำลังกายเล่นกีฬาได้ตามปกติ แต่ทำไมรักษาไม่หาย แล้วถ้าอายุมากขึ้นอาการปวดหลังจะรุนแรงกว่านี้มั้ย นั่นจึงเป็นที่มาของการตระเวนไปรักษาหลังมาหลายที่นั่นเอง 


พอคนไข้มาถึงผมก็จับตรวจร่างกายตามปกติ โดยให้คนไข้ถอดเสื้อ แล้วใช้ปากการะบุตำแหน่งตามปุ่มกระดูกช่วงหัวไหล่ สะบัก และเชิงกรานทั้ง 2 ข้าง เพื่อดูว่าร่างกายซีกซ้าย-ขวามันเท่ากันมั้ย 


ร่างกายซีกขวาตํ่าซ้าย


แล้วพอวาดลวดลายบนร่างกายคนไข้เสร็จป้าบบบบ ผมก็ร้อง "เอ๊ะ!? ทำไมมันเบี้ยวขนาดนี้" ถ้าดูจากรูป เราจะเห็นเลยว่าร่างกายซีกขวาตํ่ากว่าซีกซ้ายทั้งหมด ไม่ว่าจะหัวไหล่ สะบัก และเชิงกรานซีกขวาตํ่ากว่าทั้งหมดเลย พอเป็นแบบนี้แสดงว่าไม่น่าจะเกิดจากแค่ยืนตัวเบี้ยวเองแล้ว น่าจะเกิดจากโครงสร้างกระดูกสันหลังบิด หรือไม่ก็คดร่วมด้วยแน่ๆ


ภาพเปรียบเทียบยืนเสริมแผ่นเสริมรองเท้ากับไม่ได้เสริม


พอคิดได้ดังนั้น ผมให้คนไข้ยืนก้มหลังเอามือแตะปลายเท้าต่อทันที พอคนไข้ก้มตัวป๊าบบบบบ โอ้...เห็นจะจะเลยว่าหลังซีกซ้ายของคนไข้สูงกว่าซีกขวาอย่างมาก ซึ่งการที่คนไข้ก้มหลังเอามือแตะปลายเท้าแล้วหลังเบี้ยวแบบนี้ มันเป็นเทคนิคการตรวจหลังคดได้อย่างหนึ่ง(อย่างหยาบๆนะ) แต่เรายังปักใจเชื่อไม่ได้ว่าคนไข้เค้าหลังคดจริงๆหรือคดหลอกๆ


หลังซีกซ้ายดูนูนกว่าขวา ขณะก้มเอามือแตะปลายเท้า


ผมเลยให้คนไข้นอนบนเตียง แล้วหยิบสายวัดมาวัดความยาวขาทั้ง 2 ข้างของคนไข้ พอวัดเสร็จสัพถึงได้รู้ว่า ปัญหาร่างกายซีกขวาตํ่ากว่าซ้ายทั้งแถบ แถมหลังซีกซ้ายยังดูนูนกว่าปกติจนดูเหมือนเป็นหลังคดนั้น เกิดจากขาข้างขวาสั้นกว่าขาซ้ายถึง 1 ซม.!! 


ซึ่งการที่ขาขวาสั้นกว่าขาซ้ายถึง 1 ซม. มันมีผลให้เวลายืนตรง เราจะเห็นว่าหัวไหล่ขวา สะบักขวา และสะโพกขวา(Rt. SI joint) มันดูตํ่ากว่าข้างซ้ายอย่างเห็นได้ชัดนั่นเอง


ส่วนเวลาก้มหลังเอามือแตะปลายเท้า แล้วเห็นว่าหลังซีกซ้ายดูนูนกว่าซีกขวาจนดูเหมือนเป็นหลังคดนั้น ก็เพราะขาขวามันสั้นกว่าขาซ้าย ร่างกายซีกขวาเลยดูเตี้ยลงจนซีกซ้ายดูสูงนูนกว่าปกติเท่านั้นเอง ซึ่ง ณ จุดนี้ถ้าผู้รักษาไม่สังเกตุให้ดีหรือตรวจไม่ครอบคลุมพอ เราอาจวินิจฉัยผิดพลาดว่าคนไข้รายนี้เป็นกระดูกสันหลังคด จนวางแผนการรักษาผิด แล้วทำให้อาการปวดหลังไม่หายขาดซะที


ภาพเปรียบเทียบ ยืนก้มมือแตะปลายเท้าเสริมแผ่นรองเท้ากับไม่ได้เสริม


วิธีการรักษา

การรักษาคนไข้รายนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยครับ ทำแค่ 3 อย่างเท่านั้นเอง 

.

1) เสริมแผ่นรองเท้าข้างขวา 

ผมแนะนำให้คนไข้ไปซื้อแผ่นรองเท้ามาเสริมเฉพาะเท้าขวา ในช่วงแรกผมแนะให้ใช้แผ่นรองเท้าทั่วๆไปก่อน ยังไม่ถึงขั้นไปตัดแผ่นเสริมสูง 1 ซม.ทันทีนะ เพราะคนไข้เคยชินกับการยืนขาขาสั้นยาวไม่เท่ากันมานาน ถ้าจู่ๆเราไปเสริมเท้าขวาให้ขา 2 ข้างเท่ากันทันที ร่างกายจะยังปรับตัวไม่ทัน แล้วอาจทำให้ยืนตัวเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากกว่าเดิมก็ได้ 


เสริมแผ่นรองเท้าข้างขวา (ขาขวาสั้นกว่าขาซ้าย 1 ซม.)


2) ยืนปรับบุคลิก 

วิธีการนี้ผมให้คนไข้ยืนตัวตรง โดยใส่แผ่นเสริมรองเท้าแบบทั่วๆไปที่เท้าขวา จากนั้นคอยไกด์ให้ยืนตัวตรง ปรับไหล่ให้เท่ากัน ยืนลงนํ้าหนักเท้าให้เท่ากันทั้ง 2 ข้าง แล้วให้ยืนนิ่งไว้อย่างนั้นเป็นเวลา 15 นาที เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับการยืนตรงอย่างถูกต้องจริงๆ ไม่ใช่การยืนตัวบิดเบี้ยวไปมา 


ภาพเปรียบเทียบ เสริมแผ่นรองเท้าข้างขวาอย่างเดียว กับปรับบุคลิกร่วมด้วย


แล้วทันทีที่ผมไกด์จนคนไข้ยืนตรงได้ถูกต้องแล้ว คนไข้บอกผมทันทีเลยว่า "นี่ตรงแล้วหรอครับ ผมรู้สึกยืนตัวเบี้ยวมากๆ แถมต้องเกร็งมากๆเลยถึงจะยืนแบบนี้ได้" พอคนไข้บอกแบบนี้ผมไม่ได้โต้ตอบอะไร แต่ชี้ไปที่กระจกให้ดูเงาสะท้อนของตัวเองในกระจก แล้วถามว่า "มองตัวเองในกระจกแล้ว คิดว่าเรายืนตัวตรงมั้ย หัวไหล่ และสะโพกทั้ง 2 ข้างสูงใกล้เคียงกันมั้ย?" คนไข้ตอบว่า "หัวไหล่และสะโพกทั้ง 2 ข้างแทบจะเท่ากันแล้วครับ" ผมเลยบอกต่อไปว่า "เวลากลับไปฝึกที่บ้าน ให้ดูกระจกตลอดนะ จงเชื่อสายตา อย่าพึ่งเชื่อความรู้สึกของร่างกายตอนนี้ มันยังชินกับการยืนเบี้ยวๆอยู่เด้ออออ"


3) ออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว

สำหรับการออกกำลังกายในคนไข้รายนี้ จะเน้นกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวเป็นหลักเลยครับ เป็นท่าออกกำลังกายทั่วๆไปที่เราเห็นตามฟิตเนสเลยนะ เช่น ท่า plank, side plank, ฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้อง เป็นต้น เพื่อให้กล้ามเนื้อเหล่านี้ช่วยพยุงโครงสร้างแกนกลางลำตัวให้นิ่ง เวลายืนปรับบุคลิกจะได้ยืนคุมตัวให้ตรงได้ง่ายขึ้นนั่นเองครับ


สำหรับเพื่อนๆบางคนอาจจะมีข้อสงสัยว่า จู่ๆขาคนเรามันสั้นยาวไม่เท่ากันมันเกิดได้ยังไง? หลักๆเลยเกิดจาก 2 สาเหตุครับ 

1) เป็นมาแต่กำเนิด : คือ เกิดมาปุ๊บขามันก็สั้นยาวไม่เท่ากันเองดื้อๆเลย หรือขาข้างนึงดันโตช้ากว่าอีกข้างนึงโดยไม่ทราบสาเหตุ

2) เกิดจากอุบัติเหตุ : เช่น เคยรถล้มกระดูกขาหักไปข้างนึง เนื้อกระดูกหายไปบางส่วนจากการหักครั้งนั้น เลยทำให้ขาข้างนั้นสั้นกว่าอีกข้าง คนไข้รายนี้ก็เกิดจากสาเหตุนี้เช่นกันครับ คนไข้บอกว่าในวัยเด็กเคยเกิดอุบัติเหตุข้อเท้าขวาหัก จนทำให้กระดูกขาส่วนข้อเท้าขวาเจริญเติบโตช้ากว่าข้างซ้าย จนส่งผลให้ขาขวาสั้นกว่าขาซ้ายก็เป็นไปได้




สรุป

อาการปวดหลังของคนไข้รายนี้มาจากขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ส่งผลให้การยืนลงนํ้าหนักขา 2 ข้างไม่เท่ากัน จนเกิดแรงกดที่เชิงกรานข้างซ้ายและขวาไม่เท่ากันตามมา และทำให้สมดุลความตึงของกล้ามเนื้อซีกซ้ายและขวาไม่เท่ากันตามมาแล้วทำให้ปวดหลังได้นั่นเอง เมื่อคนไข้เสริมแผ่นรองเท้าข้างขวาแล้วฝึกยืนปรับบุคลิกจนร่างกายคุ้นเคยกับการยืนแบบใหม่อย่างถูกต้องแล้ว อาการปวดหลังในระหว่างวันจะค่อยๆหายไปเองครับ