3 สัญญาณ เช็คข้อสะโพกเสื่อม (osteoarthritis of hip joint)
เมื่อเราไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเป็นประจำมาตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว เมื่ออายุมากขึ้นจนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ มักจะเป็นโรคเกี่ยวกับปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อกระดูกต่างๆตามมาเป็นพัลวัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คงหนีไม่พ้นโรคข้อสะโพกเสื่อม แม้จะพบได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับโรคข้อเข่าเสื่อม แต่บอกเลยว่า คนเป็นข้อสะโพกเสื่อมมักจะได้รับความทรมานกว่าโรคข้อเข่าเสื่อมอยู่มากพอสมควร
ผู้ป่วยที่เป็นข้อเข่าเสื่อมมักจะปวดเข่าเวลาเดิน แต่สำหรับข้อสะโพกเสื่อม ถ้ายิ่งเสื่อมเยอะๆแล้วด้วย ไม่ว่าเราจะยืน เดิน นอน หรือนั่งก็ปวดตลอดเวลานะครับ เพราะข้อสะโพกเป็นข้อหลักที่รับนํ้าหนักของร่างกายเราที่มาจากลำตัว ก่อนจะกระจายนํ้าหนักไปที่ขาทั้ง 2 ข้าง แล้วเวลาเรานั่ง ข้อเข่าได้พัก แต่ข้อสะโพกยังคงรับนํ้าหนัก เวลานอนข้อเข่าได้พัก แต่ข้อสะโพกก็ยังคงมีนํ้าหนักมากดอยู่บ้าง ยิ่งนอนตะแคงทับข้างที่เสื่อมอยู่ด้วยจะยิ่งปวดมาก เวลาเดินก็ไม่ต้องพูดถึงครับ ปวดทรมานจนเดินกันไม่ไหวเลยทีเดียว
ภาพซ้ายแสดงถึงข้อปกติ ภาพขวาข้อสะโพกเสื่อม
จากที่เกริ่นไปข้างต้น พอจะนึกภาพออกแล้วนะครับว่า คนเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมนั้นทรมานขนาดไหน ฉะนั้น ก่อนที่ผมจะลงคลิปวิธีการรักษาข้อสะโพกเสื่อมแบบทำเองอีกภายในไม่กี่วันข้างหน้า เรามารู้วิธีสังเกตุอาการปวดของคนเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมกันก่อนดีกว่าครับผม
อาการของคนเป็นข้อสะโพกเสื่อม
1) ปวดกว้างรอบข้อสะโพก
=> ในข้อแรกยี้ถือว่าเป็นอาการเริ่มต้นของคนที่เป็นข้อสะโพกเสื่อมเลยละครับ คือจะมีอาการปวดรอบๆข้อสะโพก อาจปวดร้าวขึ้นเอว แต่ส่วนมากจะร้าวลงขาด้านนอกจนถึงเข่าครับผม อาจจะปวดตลอดเวลา หรือเป็นๆหายๆก็ได้ แต่จะปวดมากขึ้นเมื่อต้องเดินระยะทางไกลครับผม โดยอาการปวดที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ป่วยมักจะบอกตำแหน่งได้ไม่ชัด ทายาก็ไม่หาย ใช้มือกด มืดนวดก็ไม่โดนจุดซะที รู้แค่ว่ามันอยู่รอบๆนั้นแหละ ปวดจนไม่รู้จะทำยังไงให้ปวดนอกจากกินยา!
ตำแหน่งที่ปวดขาหนีบจากข้อสะโพกเสื่อม
2) ปวดช่วงขาหนีบ
=> จัดว่าเป็นอาการเด่นของคนเป็นข้อสะโพกเสื่อมเลยก็ว่าได้นะครับ ถ้าปัจจัยเรื่องอายุถึง คือปู้ป่วยอายุมากขึ้นจนเลยวัย 45 ขึ้นไป เป็นเพศหญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน มีอาการปวดรอบๆข้อสะโพก และมีอาการปวดขาหนีบด้วย ถ้าปัจจัยเหล่านี้ครบละก็ สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นข้อสะโพกเสื่อมแน่ๆ (แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการครบทุกอย่าง แต่อายุยังน้อย ไม่ถึง 40 ปี โรคข้อสะโพกเสื่อมอาจจะยังไม่ใช่นะครับ)
โดยอาการปวดขาหนีบนั้น ผู้ป่วยจะระบุชัดเลยครับว่า ปวดช่วงขาหนีบเป็นเส้นเลย และจะปวดมากยิ่งขึ้นเมื่อเดินนาน หรือต้องก้าวขาเดินขึ้นบันไดครับ
3) รู้สึกข้อสะโพกหนืดในตอนเช้า
=> อาการข้อสะโพกหนือ หรือข้อฝืดนั้น นอกจากจะเกิดจากตัวผิวข้อที่มันเสื่อมแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็ยังเกิดจากนํ้าเลี้ยงข้อมันน้อยลงด้วย ถ้าข้อยังเสื่อมไม่เยอะมาก การทานยาที่ช่วยสร้างนํ้าเลี้ยงข้อก็จะช่วยลดอาการปวดข้อได้นะครับ
ส่วนที่ว่า ข้อหนืดในตอนเช้านั้นคือ พอเราตื่นเช้ามาลึกลงจากเตียงจะมีความรู้สึกว่าก้าวขาข้างที่มีปัญหาไม่ค่อยออก ต้องนอนขยับขาขึ้นๆลงๆสักพักใหญ่ๆจึงจะรู้สึกว่าเคลื่อนไหวข้อได้ดีขึ้นจึงสามารถลุกขึ้นเดินได้ตามปกติ หรือถ้าเรานั่งนานๆแล้วลึกขึ้นจะเดินทันทีก็จะรู้สึกถึงปัญหาข้อหนืดเช่นกันครับผม
ตำแหน่งปวดกว้างๆของข้อสะโพกเสื่อม
4) มีเสียงภายในข้อสะโพก
=> โดยปกติแล้วเวลาเราเคลื่อนไหวข้อสะโพก หรือข้อต่อส่วนไหนของร่างกายก็ตาม มักจะไม่มีเสียงภายในข้อใดๆทั้งสิ้น แต่ถ้าเกิดเสียงดังภายในข้อละ ที่เป็นเสียงแบบว่าครืดคราด กึกกักๆ ซึ่งเป็นเสียงของกระดูกข้อสะโพกไปกดเบียดกับเบ้าของข้อสะโพกเรานั่นเอง โดยปกติแล้วเวลาเราเคลื่อนไหวข้อสะโพกก็จะมีบางจังหวะที่ผิวข้อมันไปกดเบียดกันนะครับ แต่มันไม่ได้เกิดเสียงดังกล่าว เนื่องจากข้อต่อของเรานั้นยังคงมีกระดูกอ่อนหุ้นผิวข้ออยู่ และยังมีนํ้าเลี้ยงข้ออยู่ภายในที่ทำหน้าที่ลดการเสียดสี แต่พอผิวกระดูกอ่อนที่หุ้นข้อเริ่มบางลง ผุกร่อน แถมนํ้าเลี้ยงข้อยังลดลงอีก จึงไม่ใช่เรื่องแปกลเลยครับที่จะเกิดเสียงดังในข้อแบบนั้น
ภาพ ภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
5) ข้อสะโพกติดขัด
=> เมื่อเกิด 4 อาการที่ผมกล่าวมาก่อนหน้านี้ได้สักพักใหญ่ๆจนข้อเสื่อมถึงที่สุดแล้ว ผลสุดท้ายที่เกิดตามมาก็คือ ภาวะข้อติดนั่นเองครับ ลักษณะข้อติดนั้นจะไม่เหมือนกันข้อหนืดนะ ข้อหนืดนี่ถ้าเราได้เคลื่อนไหวข้อไปได้สักพักอาการโดยรวมก็จะดีขึ้น
แต่ข้อติดนี่ ไม่ว่าจะขยับแค่ไหนก็ยังคงติดเหมือนดิม จากเดิมที่ยกขาตั้งฉากกับลำตัวได้สบายๆ ตอนนี้ก็ทำไม่ได้ จากเดิมที่เดินก้าวขายาวๆได้ ตอนนี้แค่ก้าวขาเดินสั้นก็รู้สึกข้อติดขัดไปหมดแล้ว เดินก้าวขาขึ้นบันไดได้ลำบาก ต้องเดินก้าวขาขั้นต่อขั้น ขึ้นขั้นนึงแล้วต้องหยุด แล้วไม่สามารถใช้ขาข้างที่เสื่อมก้าวขึ้นไปก่อนได้ และสุดท้ายก็คือ ไม่สามารถเดินก้าวขาได้เลย ต้องเดินก้าวขาสั้นๆ แถมต้องใช้การเดินยักสะโพกข้างที่เสื่อมร่วมด้วยในขณะที่เดินอีก พอเดินยักสะโพกบ่อยๆกล้ามเนื้อหลังก็เกิดตึง เกร็งแล้วก็เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังตามมาอีก จนในที่สุดคนไข้ทนกับคุณภาพชีวิตที่แย่ลงแบบนี้ไม่ไหวต้องเข้ารับการผ่าตัดในที่สุด แต่อย่าคิดว่าผ่าตัดแล้วจะจบนะครับ เพราะหลังผ่าตัดตัวคนไข้จะเจอกับอาการปวดแสนสาหัสจากบาดแผล แถมยังต้องฝึกขยับข้อ ฝึกออกกำลังกายกล้ามเนื้อขาทั้งๆที่ยังปวดต่ออีก พอกล้ามเนื้อแข็งแรงก็ต้องมาฝึกเดินด้วยไม้เท้านู่นนี่นั่นอีกเพียบ ทีนี้เห็นถึงความน่ากลัวของโรคข้อสะโพกเสื่อมกันแล้วรึยังเอ่ย
คลิป VDO ที่เกี่ยวข้อง
- วิธีออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะโพกให้แข็งแรง (8 ท่า บริหารข้อสะโพกให้แข็งแรง สำหรับคนเป็นข้อสะโพกเสื่อม)
เครดิตภาพ
- http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00213
- http://www.arthritis-health.com/blog/7-core-exercises-relieve-back-and-hip-arthritis-pain
- http://peterborten.com/thigh-pain-coming/
- https://rushchiropractic.com/chiropractic-services/hip-pain-chiropractic/
- http://www.health2click.com/index.php?mo=3&art=42096188