วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

ปวดใต้ข้อพับเข่า อาการที่ไม่ได้เป็นเข่าเสื่อม แถมพบมากในนักวิ่ง


อาการปวดใต้ข้อพับเข่า จากโรค hamstring strain

ถ้าเอ่ยถึงอาการปวดเข่า โรคอันดับแรกๆที่คนทั่วไปจะนึกถึงกันก็คงไม่พ้น "โรคเข่าเสื่อม" แน่นอน พร้อมกับคำอธิบายประกายว่า "ก็มันปวดที่เข่า ก็ต้องเป็นเข่าเสื่อมนั่นแหละ จะเป็นโรคอะไรได้?" ถ้าพูดแบบนี้มันก็มีส่วนถูกอยู่นะ แต่โรคเข่าเสื่อม โดยส่วนมากมักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไปน่ะสิ แล้วถ้าเราอายุแค่ 20 ต้นๆแล้วมีอาการปวดใต้ข้อพับเข่าอย่างนี้จะเป็นเข่าได้ยังไงล่ะ? 


สีแดงที่เห็นนั้น คือกล้ามเนื้อ hamstring

จากคำพูดข้างต้น มักจะเป็นบทสนทนาผมได้ยินบ่อยในคนที่ปวดเข่า พอปวดเข่าทีก็เหมาไปเลยว่าน่าจะเป็นเข่าเสื่อมแน่ๆอะไรทำนองนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคที่ข้องกับอาการปวดเข่านั้นมีเยอะมากๆ แถมอาการปวดก็มีความคล้ายคลึงกันซะด้วย ต้องให้แพทย์หรือนักกายภาพตรวจจึงทราบได้ว่า อาการปวดที่เกิดขึ้นมันมาจากสาเหตุอะไร แต่มีอยู่โรคนึงที่เป็นจุดเด่นของมันเลย ถ้าเรามีอาการปวดใต้ข้อพับเข่า แถมเรามักทำกิจกรรมเกี่ยวกับการวิ่งบ่อยๆด้วยละก็ เราพอจะสันนิษฐานได้ทัยทีว่า น่าจะเกิดจากโรค hamstring strain หรืออาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ hamstring (กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง) นั่นเอง ซึ่งพบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในนักวิ่ง หรือคนที่ต้องวิ่งบ่อยๆ แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากนัก ฉะนั้น เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า

โรค hamstring strain คืออะไร?

โรคนี้คือการบาดเจ็บกล้ามเนื้อธรรมด๊าธรรมดาเลยคับ ซึ่งการบาดเจ็บนั้นเกิดที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง ซึ่งทำหน้าที่งอเข่าที่มีชื่อว่ากล้ามเนื้อ hamstring นั่นเองคับผม โดยอาการปวดส่วนมากนั้นมักจะเกิดที่บริเวณใกล้ข้อพับเข่า เนื่องจากเป็นรอยต่อระหว่างกล้ามเนื้อกับเส้นเอ็นที่จะไปเกาะที่กระดูกต้นขา (tendo muscular junction) ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนแอ (weak spot) ที่ง่ายต่อการฉีกขาด เนื่องจากเส้นใยกล้ามเนื้อและเส้นใบของเส้นเอ็นที่มาเชื่อมต่อกันนั้น มันเป็นคนล่ะประเภท การยึดเกาะกันและกันจึงทำได้ไม่ดีทำให้ฉีกขาดได้ง่ายนั่นเองคับ


ตำแหน่งของ tendo muscular junction ที่เกิดการบาดเจ็บบ่อยๆ

ถ้าให้เปรียบเทียบเส้นใยทั้ง 2 ประเภท กล้ามเนื้อก็คงเหมือนกับหนังยางที่มีความยืดหยุ่นดี ส่วนเส้นเอ็นก็เปรียบเหมือนกับเชือกที่มีความเหนียวและมีความยืดหยุ่นน้อย และทั้ง 2 ก็มาเชื่อมต่อกัน พอมีการหดตัว มีการกระชากเกิดขึ้นซํ้าแล้วซํ้าเล่า ตรงจุดเชือมต่อนั้นจึงเกิดการฉีกขาดได้ง่ายกว่าปกตินั่นเงอคับผม

สาเหตุ ของโรค hamstring strain

โดยทั่วไปแล้วโรคนี้เกิดจากการใช้งานของกล้ามเนื้อมากเกินไปคับ ซึ่งพอจะเป็นเป็นข้อๆได้ดังนี้เลย
- ทำกิจกรรมที่มีการหดตัวของกล้ามเนื้อ hamstring อย่างเฉียบพลัน เช่น การวิ่งเร็ว การวิ่งเร็วสลับกับหยุดวิ่งแบบฉับพลันทันทีอย่างต่อเนื่อง 
- การใช้งานของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังมากเกินไป
- กล้ามเนื้อต้นขาทั้ง 2 ฝั่งแข็งแรงไม่สมดุลกัน คือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps) แข็งแรงกว่าต้นขาด้านหลัง (hamstring) จึงทำให้กล้ามเนื้อ hamstring ถูกกระชากในขณะที่กล้ามเนื้อ quadriceps ออกแรง เหตุที่ถูกกระชาก เนื่องจากกล้ามเนื้อ hamstring มีแรงไม่พอต้านกล้ามเนื้อ quadriceps
- กล้ามเนื้อ hamstring ตึงมาก และขาดความยืดหยุ่นจึงทำให้ง่ายต่อการบาดเจ็บเมื่อใช้งานหนัก
- การฝึกออกกำลังกายงอเข่า โดยมีลูกตุ้มมาถ่วงที่ขาแล้วมีนํ้าหนักมากเกินไป หรือทำถี่เกินไปจนกล้ามเนื้อล้าและบาดเจ็บ
- ออกกำลังกายโดยการวิ่งบ่อย วิ่งนาน หรือวิ่งถี่เกินไป โดยที่ไม่ยืดกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อน


รายที่อักเสบมากจะมีรอยแดงคลํ้าอย่างเห็นได้ชัด

อาการ ของโรค hamstring strain

- ปวดใต้ข้อพับเข่า 
- ปวดมากขึ้นเมื่องอเข่า โดยมีสิ่งของที่มีนํ้าหนักมากมาถ่วงไว้ที่ปลายเท้า
- จะรู้สึกปวดแปล็บที่ใต้ข้อพับเข่าเมื่อวิ่งเร็ว หรือเปลี่ยนจากท่านั่งไปยืนแบบฉับพลัน เมื่อเรานั่งนานๆอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจาก ขณะนั่งกล้ามเนื้อ hamstring หดตัวอยู่ แต่พอเราลุกขึ้นยืน กล้ามเนื้อถูกยืดแบบฉับพลันจึงทำให้เกิดอาการปวดได้
- ปวดมากขึ้นเมื่อกระโดดสูง
- ในรายที่มีอาการปวดในระยะแรกๆ อาจมีอาการบวมที่ต้นขาด้านหลังใกล้ข้อพับเข่าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับข้างปกติ
- ในรายที่อักเสบรุนแรง อาจเดินได้ลำบาก และจะปวดทุกครั้งที่ก้าวขาลงนํ้าหนัก
- คนที่ปวดเรื้อรังมานาน แล้วไม่ได้รักษาให้หายขาด ในระยะยาวจะมีกล้ามเนื้อ hamstring อ่อนแรง ผู้ป่วยจะรู้สึกขาล้าได้ง่าย เมื่อเดินหรือยืนนาน กำลังขาลดลง บาดเจ็บได้ง่ายกว่าปกติ เป็นต้น


การติด kinesiotape เพื่อป้องกัน และลดปวดที่กล้ามเนื้อ hamstring

การรักษาโรค hamstring strain ด้วยตนเอง

สำหรับการดูแลรักษาคนที่เป็นโรค hamstring strain นั้นไม่ยากคับ เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้ออักเสบธรรมดา ไม่ซับซ้อนเหมือนเข่าเสื่อม หรือเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดคับ โดยการรักษาหลักๆแล้วให้ทำตามดังนี้เลย

- ประคบเย็น ประคบนํ้าแข็งทันทีที่รู้สึกปวด โดยให้ประคบไว้ 10-15 นาที ทุกๆช.ม.จนกว่าอาการปวด บวมจะลดลง
- นอนยกขาข้างที่ปวดให้สูงกว่าระดับหัวใจร่วมกับประคบเย็น เพื่อลดการบวมได้
- ให้ยืดกล้ามเนื้อ hamstring บ่อยเท่าที่บ่อยได้ เพื่อลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อที่เป็นอีก 1 สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด โดยการยืดกล้ามเนื้อนั้นไม่มีอะไรยุ่งยากคับ แค่นั่งเหยียดขาข้างที่ปวดออกไป ให้เข่าเหยียดตรง จากนั้นเอามือก้มแตะปลายเท้าจนรู้สึกจึงที่ต้นขาด้านหลัง หรือใต้ข้อพับเข่า ค้างไว้ 20 วินาทีคับผม
วิธียืดกล้ามเนื้อ hamstring

- ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ hamstring ให้แข็งแรง เมื่ออาการปวดของเราทุเลาลงมากแล้ว ซึ่งการออกกำลังกายสำหรับคนเป็นโรคนี้ถือว่าสำคัญมาก ถ้าเราต้องการให้หายปวดอย่างถาวร ซึ่งวิธีการออกกำลังกายกล้ามเนื้อ hamstring สามารถดูได้จากคลิปทางด้านล่างนี้เลยคับผม ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกทุกท่านะคับ เลือกมาแค่ 1-2 ท่าที่เราทำได้ก็เพียงพอแล้วคับผม
- การผ่าตัด ซึ่งจะผ่าในรายที่กล้ามเนื้อ hamstring เกิดการฉีกขาดโดยสมบูรณ์ ซึ่งพบได้น้อยมากในคนทั่วไป


วิธีออกกำลังกายกล้ามเนื้อ hamstring


จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การรักษาของคนที่เป็นโรคนี้ไม่มีอะไรยาก และไม่มีอะไรซับซ้อนเลย แค่พักผ่อน หยุดทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้น ประคบเย็น ยืดกล้ามเนื้อ และออกกำลังกายเอง ถ้าเราทำได้อย่างสมํ่าเสมอ รับรองหายจากโรคนี้ได้ไม่ยากเลยคับ

เครดิตภาพ
- https://www.paulgoughphysio.com/sports-injury-clinic/hamstring
- http://rugbyrescue.com/Hamstring_Rugby.htm
- https://www.newleafphysio.ca/physiotherapy/research/kinesiology-tape-does-it-help-with-pain/
- https://breakingmuscle.com/learn/stretching-your-hamstrings-isnt-always-best
- http://eorthopod.com/hamstring-injuries/


วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

[คลิป VDO 60] 6 วิธี ลดปวดที่หน้าแข้ง และตาตุ่มด้านใน จากกล้ามเนื้อ tibialis posterior อักเสบ


ก่อนหน้านี้ผมเคยลงคลิปวิธีการลดปวดหน้าแข้งจากโรค shin splint ที่พบได้ในนักวิ่งไปแล้ว แต่ยังมีอีกโรคนึงที่มีอาการที่คล้ายคลึงกันมากๆ แถมตำแหน่งที่ปวดก็ใกล้เคียงกันด้วย เนื่องจากโรค shin splint มักจะปวดที่บริเวณหน้าแข้งด้านนอก จนถึงสันกระดูกหน้าแข้ง แต่มาในคลิปนี้ก็เป็นวิธีการลดปวดที่หน้าแข้งเช่นกัน แต่เป็นการลดปวดที่หน้าแข้งด้านในจากตัวกล้ามเนื้อ tibialis posterior มันเกิดการอักเสบ

หากเพื่อนๆไม่คุ้นชื่อของกล้ามเนื้อ tibialis posterior ก็ไม่เป็นไร แต่มีวิธีสังเกตุง่ายๆของคนเป็นโรคนี้ นั่นก็คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่บริเวณหน้าแข้งด้านใน และที่รอบๆตาตุ่มด้านใน แล้วจะปวดมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยต้องเดิน หรือยืนเป็นเวลานานๆ หากเพื่อนๆคนไหนที่มีอาการปวดบริเวณนั้นอยู่บ่อยๆละก็ ติดตามวิธีการลดปวดจากในคลิปนี้ให้ดีนะครับ 

รายละเอียดในคลิป 


วิธีที่ 1 : ประคบเย็น (นาทีที่ 3:27)
วิธีที่ 2 : ยืดน่อง งอเข่า (นาทีที่ 4:50)
วิธีที่ 3 : รูดหน้าแข้งด้านใน (นาทีที่ 6:28)
วิธีที่ 4 : ไขว้ขา บิดเท้าเข้าใน (นาทีที่ 12:12)
วิธีที่ 5 : ถีบปลายเท้าลง (นาทีที่ 14:57)
วิธีที่ 6 : ยืนเขย่งปลายเท้า (นาทีที่ 17:17)



วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

พาร์กินสัน อาการสั่นๆหยุดๆที่ควบคุมไม่ได้ แต่รักษาได้ถ้ารู้ตัวเร็ว


โรคพาร์กินสัน (Parkinson disease)

เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกับโรคนี้กันมากพอสมควร เพราะเมื่อไปรพ.ก็จะมีการพูดถึงโรคนี้กันบ่อยๆทั้งจากหมอ คนไข้ผู้สูงอายุด้วยกันเอง ใบโบรชัวร์ที่แจกให้อ่าน หรือตามหน้าจอทีวีที่เราจะเห็นคนออกมาพูดถึงโรคนี้อยู่เป็นระยะๆ และโดยส่วนใหญ่เราก็พอจะทราบกันว่า คนเป็นโรคนี้มักจะสั่น เดินช้า ล้มง่าย เจอในผู้สูงอายุซะส่วนมาก เป็นต้น แต่ถ้าถามถึงสาเหตุหรือว่ามันเกิดจากความผิดปกติของร่างกายโดยละเอียด เราอาจจะไม่ทราบกัน ฉะนั้น เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้เพิ่มเติมกันสักเล็กน้อยดีกว่า แล้วถ้าที่บ้านใครมีผู้สูงอายุละก็ ควรรู้จักโรคนี้กันไว้นะ เพราะถ้าเรารู้เร็ว รักษาเร็ว ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนที่รับรักษาช้าครับ

โรคพาร์กินสันเกิดจากสาเหตุอะไร?

สาเหตุของโรคพาร์กินสันนั้น เกิดจากเซลล์สมองในส่วนเล็กๆที่มีชื่อว่า substantia nigra เกิดการเสื่อม ซึ่งเจ้า substantia nigra จะทำหน้าที่ผลิตสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า dopamine(โดปามีน) โดยสารสื่อประสาท dopamine นี้จะทำหน้าที่สำคัญคือ ช่วยควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นไปอย่างราบรื่นและสมดุล ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาททำงานประสานสอดคล้องกันได้ดี พูดง่ายๆคือ ไม่เกิดการกระตุกขณะเคลื่อนไหวว่างั้นเถอะ

แต่เมื่อไหร่ที่เซลล์สมองส่วน substantia nigra เกิดการเสื่อม พอเซลล์สมองส่วนนั้นเสื่อมผลที่ตามมาก็คือ เซลล์สมองจะผลิตสาร dopamine ได้น้อยลงไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ผลที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัดเลยคือ ผู้ป่วยจะมือสั่น ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหลายๆมัดได้ไม่ดี เคลื่อนไหวร่างกายช้า ควบคุมการทรงตัวได้ไม่ดี เป็นต้น

ภาพ ตำแหน่งของสมองส่วน substantia nigra ในส่วนใต้สมอง 

แต่เหตุการณ์ดังกล่าวนั้น มันไม่เกิดแบบปุ๊บปั๊บทันทีทันใดหรอกครับ ส่วนใหญ่จะใช้เวลานาน 8-10 ปีกว่าจะเริ่มแสดงอาการ เพราะเซลล์สมองส่วน substantia nigra มันจะค่อยๆเสื่อมครับ โดยเซลล์สมองส่วนนี้ต้องเสื่อมไปถึง 60-80% จึงเริ่มแสดงอาการนะ ซึ่งกว่าจะเห็นอาการชัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็อายุ 60 ปีขึ้นไปแล้วครับผม

ส่วนสาเหตุที่ทำให้สมองส่วน  substantia nigra มันเสื่อมนั้น ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้แน่ชัด แต่สันนิษฐานได้ดังนี้

- เกิดจากพันธุกรรม ถ้าผู้ป่วยมีญาต์หรือคนในครอบครัวเป็นโรคพาร์กินสัน ก็จะทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้นถึง 3 เท่า
- เกิดจากสารอนุมูลอิสระไปทำลายเซลล์สมองส่วนนี้
- เกิดจากเซลล์แก่กว่าวัยโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
- เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น อยู่ในพื้นที่ที่ใช้ยาฆ่าแมลงเป็นประจำ, เคยได้การกระทบกระเทือนทางสมองโดยตรง เป็นต้น

แต่ที่แน่ๆก็คือ โรคพาร์กินสันยังไม่สามารถหาทางป้องกัน หรือพยากรณ์โรคได้ว่าจะเป็นจนกว่าจะเริ่มเห็นอาการนะครับ

ภาพ ตำแหน่ง substantia nigra ภาพทางด้านข้าง

อาการของโรคพาร์กินสัน

ในระยะแรกของผู้ป่วยที่เริ่มมีการเสื่อมของสมองในส่วน  substantia nigra นั้นจะยังไม่มีอาการแสดงที่เด่นชัดจนกว่าเซลล์สมองส่วนนี้จะเสื่อมไปแล้ว 60-80% นะครับ โดยเมื่อเซลล์สมองส่วนนี้เสื่อมมากจนทำให้ผลิตสารสื่อประสาท dopamine ได้น้อยลงจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงทำให้เกิดอาการได้ดังนี้

- มือสั่นขณะอยู่นิ่งๆ แต่เมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกายอาการสั่นจะหายไป พอหยุดเคลื่อนไหวร่างกายอาการมือสั่นก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม และอาการสั่นที่มือและนิ้วนั้นจะมีท่าทางคล้ายๆกับว่า เรากำลังปั้นยาลูกกลอนอยู่
- เดินก้าวแรกได้ลำบาก เมื่อต้องการเดิน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ากว่าจะยกเท้าก้าวเดินในก้าวแรกๆนั้นทำได้ยากลำบากมาก ทุกอย่างมันดูเชื่องช้าไปหมด แต่พอเดินได้แล้วก็จะหยุดไม่ได้ หรือต้องใช้เวลาสักพักถึงจะหยุดเดินได้ (อธิบายง่ายๆเลยก็คือ ถ้าเดินๆอยู่แล้วจะให้หยุดกึกทันที ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำได้ ต้องค่อยๆชะลอจนหยุดเอง เหมือนรถไฟจอดที่ชานชาลา)
- เมื่อผู้ป่วยเดิน จะเดินก้าวขาสั้นๆ แต่เดินถี่ เหมือนเดินซอยเท้า บางรายก็จะเดินถอยหลังก่อนเดินหน้า
- กล้ามเนื้อหดเกร็งค้างทั่วทั้งตัว ตึง มีลักษณะบุกคลิกหลังค่อม คอยื่นอยู่ตลอดเวลา
- เคลื่อนไหวร่างกายได้เชื่องช้า งานประจำวันที่เคยทำได้ก็ทำได้แย่ลง หรือทำไม่ได้เลย
- ควบคุมการทรงตัวได้ลำบาก เสี่ยงต่อการล้มได้ง่ายมาก
- มีปัญหาเรื่องการพูด จะพูดช้า พูดเป็นคำๆ หรือพูดติดอ่าง
- เคี้ยวและกลืนอาหารทำได้ลำบาก จากการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่ทำงานไม่ประสานกัน
- อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า

การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของผู้ป่วยพาร์กินสัน

การรักษาโรคพาร์กินสัน

เนื่องจากปัจจุบันนี้ยังไม่ยาตัวไหนที่ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคพาร์กินสันได้อย่างถาวร ที่ทำได้คือการรักษาตามอาการ และชะลอให้อาการแย่ลงอย่างช้าๆ ซึ่งการรักษาหลักๆแล้วคือ การทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง และการออกกำลังกายประเภทแอโรบิคเบาๆ ซึ่งผมจะอธิบายเพิ่มเติมในเนื้อหาข้างล่างนี้

การทำกายภาพในผู้ป่วยพาร์กินสันสำคัญแค่ไหน?

การทำกายภาพผู้ป่วยโรคพาร์กินสันถือว่ามีความสำคัญมากครับ เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหาหลักๆคือ การเคลื่อนไหวร่างกายไม่ดี ล้มง่าย กล้ามเนื้อหดเกร็งค้างจนตึงไม่ทั้งตัว และอาจมีปัญหาเรื่องข้อติดแข็งตามมาอีกด้วย ซึ่งการทำกายภาพจะไปช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ (ช่วยได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคนี้มานานแค่ไหน กับผู้ป่วยให้ความร่วมมือรึเปล่าด้วยนะ)

เช่น ผู้ป่วยมีปัญหากล้ามเนื้อเกร็งค้างมากจนตึงไปทั้งตัว นักกายภาพก็จะไปยืดกล้ามเนื้อเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว การหดเกร็งก็จะลดลง เมื่อการเกร็งลดลงแล้ว ผู้ป่วยก็จะเคลื่อนไหวร่างกายได้ง่ายขึ้น ต่อมานักกายภาพจะฝึกเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัว ฝึกการก้าวเดินให้เดินได้อย่างมั่นคง เป็นต้น

เครื่องออกกำลังกาย air walker 

นอกจากเราจะให้นักกายภาพรักษาให้แล้ว เราก้ควรหมั่นบริหารร่างกายตัวเองร่วมด้วยเช่นกัน เช่น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะส่วนขา เพราะจะเกี่ยวข้องกับการเดิน การฝึกก้าวเดินโดยใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายที่สำคัญอย่าง ตัว air walker ถ้าใครเป็นพาร์กินสันหรือมีคนในบ้านเป็นโรคนี้ แนะนำให้ซื้อเครื่อง air walker ติดบ้านไว้เลยครับ หรือจะไปรำไทเก๊กได้ยิ่งดีครับผม

ซึ่งการยืดเหยียดร่างกาย หรือบริหารร่างกายนั้น นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีแล้ว ยังช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อารมณ์ดีขึ้น ความเครียดน้อยลง ลดความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนต่างๆได้ดี แต่ถึงแม้เราจะรู้สึกดีขึ้นจนใกล้เคียงปกติแล้ว แต่ก็ไม่ควรหยุดทานยานะครับ

เครดิตภาพ
- http://www.absolute-healthcare.co.uk/care-at-home-agency-hampshire-alton-live-in-care/181-why-are-so-many-hiding-parkinson-s-symptoms
- http://economictimes.indiatimes.com/slideshows/tech-life/googles-smart-spoon-liftware-lets-you-eat-without-spilling/meet-anupam-pathak-lift-labs-founder/slideshow/45294922.cms
- https://hifitnessclub.wordpress.com/2013/05/
- https://jp.pinterest.com/explore/substantia-nigra/
- http://www.wikiwand.com/en/Substantia_nigra
- http://news.temple.edu/news/2016-01-19/hodge-brain-trauma-book

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

Alien Hand Syndrome สุดยอดโรคแปลก กับอาการควบคุมมือตัวเองไม่ได้



Alien Hand Syndrome กับโรคที่ควบคุมมือตัวเองไม่ได้

ลองนึกภาพตามเล่นๆดูนะครับว่า อยู่มาวันหนึ่งขณะที่เรากำลังทำกับข้าว หยิบมีดมาหั่นหมู แต่จู่ๆมือข้างขวาของเราดันควบคุมไม่ได้ แล้วมือขวาข้างนั้นพยายามเอามีกที่อยู่ในมือมาแทงท้องตัวเอง พอเห็นดังนั้น เราก็ต้องใช้มือซ้ายมาจับมือขวาเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีดที่อยู่ในมือขวามาปักท้องตัวเองได้ หลังจากการต่อสู้กับตัวเองมาสักพักใหญ่ๆ ในที่สุดมือข้างขวาที่เราควบคุมไม่ได้นั้น จู่ๆก็กลับมาใช้งานได้ตามปกติ แต่เราต้องใช้ความพยายามอย่างมากสำหรับการใช้มือข้างขวาในการใช้งาน และบางครั้งมันก็มีอาการควบคุมมือไม่ได้ บ้างก็บีบคอตัวเอง บ้างก็ไปจิกผมคนอื่นที่อยู่ใกล้เคียง หรือถ้าไม่ทำร้ายใครมือข้างนั้นก็จะอยู่ไม่สุขหยิบนั่นจบนี่อยู่ตลอดเวลาโดยที่เราควบคุมอะไรไม่ได้เลย และเราก็ต้องอยู่กับอาการแบบนั้นไปตลอดชีวิต

หลังจากที่อ่านเนื้อหาข้างต้น ผมเชื่อว่าเพื่อนๆหลายคนเลยทีเดียวที่มองว่าเป็นเรื่องตลกไร้สาระ มันจะเป็นไปได้ยังไงใช่มั้ยเอ่ย แต่หารู้ไม่ว่าอาการควบคุมมือไม่ได้จนนำมาสู่การทำร้ายตัวเองและคนรอบข้างนั้นมีอยู่จริงครับ ซึ่งมีชื่อเรียกว่ากลุ่มโรค alien hand syndrome นั่นเอง เหตุที่ได้ชื่อนี้ก้เนื่องมาจาก ผู้ป่วยมีความรู้สึกว่ามีใครคนหนึ่งหรือบางสิ่งกำลังควบคุมมือของเค้าอยู่ให้ทำสิ่งต่างๆโดยที่เจ้าตัวไม่สามารถทำอะไรได้เลย

ซึ่งโรคนี้เชื่อกันว่าเกิดจากการทำงานผิดปกติของสมอง (ไม่ใช่โรคทางจิตเวช) โดยเฉพาะสมองส่วน corpus callosum ซึ่งเป็นเส้นใยประสาทที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อสัญญาณระหว่างสมองทั้ง 2 ซีก ส่วนหนึ่งพบในผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดสมอง, มีเนื้องอกในสมอง, เป็นหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือไม่ก็ไม่ก็ไม่สามารถหาสาเหตุได้ (พูดง่ายๆก็คือ จู่ๆก็เป็นเอง) แต่อุบัติการณ์ของโรคนี้ถือว่าพบได้น้อยมากๆเลยนะครับ ฉะนั้น ไม่ต้องกังวลว่าถ้าสมองเรากระทบกระเทือนแล้วจะทำให้เป็นโรคนี้กัน

ตำแหน่งที่ลูกศรชี้ คือส่วนของ corpus callosum

อาการของโรค alien hand syndrome

อาการหลักๆก็คือ ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของมือข้างที่มีปัญหาได้ หรือถ้าควบคุมได้ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะควบคุมมือข้างนั้น และจะมีการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้า ไม่สามารถใช้งานของมือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ทำไมโรค alien hand syndrome ถึงอันตราย?

นั่นก็เป็นผลมาจากการที่เราไม่สามารถควบคุมมือของตัวเองได้ไงครับ แล้วถ้าวันดีคืนดีมือข้างนั้นไปหยิบมีดมาแทงตัวเอง หรือคนรอบข้างมันจะอันตรายมาก หรือถ้าไม่มีอาวุธอยู่ในมือ มือข้างนั้นก็อาจมาบีบคอตัวเองจนขาดอากาศได้เช่นกัน นี่คือตัวอย่างอันตรายจากโรคนี้นี่แหละครับ

ส่วนหนึ่งของอาการควบคุมมือไม่ได้

การรักษา

ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้อย่างแน่ชัด แต่เราก็สามารถลดการใช้งานของมือ หรือจำกัดการเคลื่อนไหวของมือได้ เช่น เอามือซุกกระเป๋า ให้มือกำสิ่งของไว้อยู๋ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้ไปจับของอื่นๆที่เป็นอันตราย หรือไปคว้าเสื้อของคนอื่นเข้าน่ะ ซึ่งถ้าสมองได้รับความเสียหายน้อย และสมองค่อยๆมีการฟื้นฟูตัวมันเอง อาการดังกล่าวก็จะค่อยๆลดลง การควบคุมมือก็สามารถใช้การได้ดีขึ้นเรื่อยๆตามเวลาที่ผ่านไปครับ

ฉะนั้น ถ้าวันดีคืนดีเราเดินอยู่ตามท้องถนนแล้วเห็นคนทำมือแปลกๆอยู่ล่ะก็ ไม่แน่เค้าอาจจะเป็นโรคนี้อยู่ก้ได้นะ^^ ยํ้าอีกครั้ง โรค alien hand syndrome พบได้น้อยมากๆครับ

เครดิตภาพ
- http://science.howstuffworks.com/life/inside-the-mind/human-brain/alien-hand.htm
- https://neuwritesd.org/2015/08/27/two-brains-in-one-head-the-story-of-the-split-brain-phenomenon/
- http://moodnudges.com/2016/01/

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2560

ปวดตาตุ่มด้านใน ปวดหน้าแข้งด้านใน กับความเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคเท้าแบน


อาการปวดตาตุ่มด้านใน (โรค tibialis posterior dysfunction)

เมื่อพูดถึงชื่อโรคเต็มๆอย่าง tibialis posterior dysfunction ผมเชื่อว่าหลายคนพอได้ยินชื่อนี้แล้วคงเกาหัวแกรกๆพร้อมกับสงสัยว่ามันคือโรคอะไรหว่า? แต่ถ้าผมบอกว่ามันคืออาการปวดหน้าแข้งด้านใน หรือปวดช่วงตาตุ่มด้านในล่ะ บางท่านก็อาจจะร้องอ๋อกันไม่มากก็น้อย เพราะอาการปวดช่วงที่กล่าวมานั้นมักพบในคนที่ชอบออกกำลังกายโดยการวิ่งอยู่เป็นประจำ หรือคนอายุ 40 ปีขึ้นไปแล้วมีกิจกรรมเกี่ยวกับการเดินเยอะ หรือไม่ก็ชอบใส่ส้นสูงบ่อยๆนั่นเองครับ 

โดยอาการปวดดังกล่าวนั้นมาจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่มีชื่อว่า tibialis posterior มันอักเสบหรืออาจถึงขั้นเกิดฉีกขาดบางส่วนนั่นเองครับ ซึ่งตำแหน่งของกล้ามเนื้อมัดนี้จะอยู่ที่ขอบกระดูกหน้าแข้งด้านในเยื้องมาทางด้านหลัง แล้วเส้นเอ็นก็ลากยาวต่อจากกล้ามเนื้อไปทางตาตุ่มด้านในจนถึงปลายเท้า แล้วพอเจ้ากล้ามเนื้อ tibialis posterior อักเสบ เราจึงรู้สึกปวดอยู่ 2 จุดหลักๆ นั่นก็คือ ตรงตำแหน่งด้านในของกระดูกหน้าแข้ง หรือไม่ก็ตรงตำแหน่งของตาตุ่มด้านในนั่นเองครับผม



บริเวณที่ปวดตรงตาตุ่มด้านใน

สาเหตุของโรค tibialis posterior dysfunction

โดยทั่วๆไปแล้วโรคนี้เกิดจากการใช้งานของกล้ามเนื้ออย่างหนักต่อเนื่องกัน หรือไม่ก็เกิดจากเท้าของเราโดนกระแทกอย่างแรงเช่น การตกจากที่สูง จนทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบและเป็นที่มาของโรคนี้

- ใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนักและต่อเนื่อง เช่น การวิ่งออกกำลังกายเป็นประจำ 
- การเล่นกีฬา หรือมีกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อเท้ารับแรงกระแทกอยู่บ่อยๆ เช่น บาสเก็ตบอล วอลเล่บ์บอล เป็นต้น
- ใส่รองเท้าที่มีขนาดเล็ก และคับเกินไป
- ใส่รองเท้าส้นสูงอยู่เป็นประจำ
- อายุ 40 ปีขึ้นไป (ส่วนมากผู้หญิงจะเกิดได้ง่ายกว่า)
- มีภาวะอ้วน นํ้าหนักเกิน
- มีภาวะเท้าแบน


บริเวณที่ปวดตรงตาตุ่มด้านใน

อาการของโรค tibialis posterior dysfunction

ถ้าเป็นในนักวิ่ง หรือคนที่ออกกำลังกายที่ต้องใช้การวิ่งร่วมด้วยอยู่เป็นประจำ โดยมากมักจะมีอาการปวด บวม แดง พอเอามือจับที่กล้ามเนื้อตรงกระดูกหน้าแข้งด้านในจะรู้สึกถึงกล้ามเนื้อที่เกร็งอยู่ข้างใน พอกดลงไปจะรู้สึกปวดตึงร้าวลงไปถึงปลายเท้า บางรายก็ไม่มีอาการปวดที่กระดูกหน้าแข้งด้านใน แต่จะปวดตุ้บๆที่ตาตุ่มด้านในใกล้เท้าข้อแทน และจะปวดมากเมื่อเดินลงนํ้าหนัก ข้อเท้าด้านในอาจมีบวมร่วมด้วย

แต่สำหรับคนทั่วไปอาการปวดอาจไม่หนักเท่าคนที่ใช้งานกล้ามเนื้อหนักๆอย่างนักกีฬา แต่จะเป็นลักษณะอาการปวดตุ้บๆ ปวดร้าวที่หน้าแข้งด้านในลงไปถึงตาตุ่มด้านในธรรมดา อาการเป็นๆหายๆ ถ้าเดินเยอะก็ปวดมาก รู้สึกเมื่อยขาง่าย เมื่อยข้อเท้า รู้สึกข้อเท้าไม่ค่อยมั่นคง ยืนขาเดียวได้ไม่นาน

- ปวดหน้าแข้งด้านในร้าวลงไปถึงตาตุ่มด้านใน บางรายก็ปวดแค่ตาตุ่มด้านในจนถึงรอบๆข้อเท้า
- ข้อเท้าบวมในรายที่อักเสบในระยะแรกๆ
- รู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อขามาก เช่น วิ่ง เขย่งปลายเท้า หรือเดินเป็นเวลานาน
- รู้สึกปวดตึงมากขึ้นเมื่อใช้มือกดตามแนวกล้ามเนื้อบริเวณขอบกระดูกหน้าแข้งด้านใน
- รู้สึกข้อเท้าไม่ค่อยมั่นคงเมื่อยืนขาเดียว
- รู้สึกเมื่อล้าที่ขาและข้อเท้าได้งายกวาปกติ


ตำแหน่งของกล้ามเนื้อ tibialis posterior

แล้วโรคนี้ทำให้เป็นโรคเท้าแบนได้ยังไง?

จริงๆแล้วคนที่จะเป็นโรคเท้าแบนได้นั้นมีหลายๆปัจจัยร่วมกันนะ เช่น นํ้าหนักมาก เป็นเท้าแบนมาแต่กำเนิด โครงสร้างเท้าผิดปกติจากอุบัติเหตุ และโรค tibialis posterior dysfunction ก็เป็นหนึ่งในนั้น เนื่องจากเจ้ากล้ามเนื้อ tibialis posterior จะมีหน้าที่หลักๆคือ การหมุนปลายเท้าไปด้านใน (inversion) การถีบปลายเท้าลง (หรือเขย่งปลายเท้า) และที่สำคัญก็คือ การคงลักษณะโครงสร้างของเท้าให้อยู่ในแนวปกติ แล้วหากกล้ามเนื้อ tibialis posterior เกิดอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน พออักเสบเราก็เกิดอาการปวด พอปวดเราก็ไม่อยากใช้งานขาข้างนั้นมาก จากเดิมที่เคยชอบออกกำลังกายก็ไม่ออก จากเดิมที่เคยชอบเดินก็เดินน้อยลง เมื่อเราหลีกเลี่ยงการใช้งานกล้ามเนื้อนานๆเข้า กล้ามเนื้อจึงเกิดภาวะอ่อนแรง แล้วพอกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผลที่ตามมาก็คือ กล้ามเนื้อ tibialis posterior ก็ไม่มีแรงเพียงพอที่จะไปพยุงโครงสร้างเท้าให้อยู่ในแนวปกติไว้ได้ จนโครงสร้างของเราก็เกิดการเปลี่ยนแปลงตามแรงกดของนํ้าหนักตัวและก็กลายเป็นโรคเท้าแบนในที่สุดนั่นเอง ซึ่งพอเราเป็นเท้าแบนก็เกิดโรครองชํ้าตามมาอีก จนกลายเป็นอาการปวดไปทั่วทั้งเท้าได้นั่นเองครับผม


ภาพเปรียบเทียบระหว่างเท้าแบน กับเท้าปกติ

หลังจากที่อธิบายมาซะยืดยาวเพื่อนๆก็คงเห็นความสำคัญของกล้ามเนื้อ tibialis posterior ที่เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคเท้าแบนกันแล้วนะครับ 

การรักษาโรค tibialis posterior dysfunction

ส่วนวิธีการรักษานั้น ในระยะอักเสบที่เราเห็นแล้วว่ามีอาการปวด เท้าบวม ผิวหนังรอบๆข้อเท้าและหน้าแข้งแดงเรื่อๆ เอามืออังดูก็รู้สึกอุ่น เบื้องต้นให้เอานํ้าแข็งหรือผ้าเย็นมาประคบตรงบริเวณที่ปวดเป็นเวลา 10 นาทีทุกๆชั่วโมงเป็นเวลา 2-3 วัน หรือจนกว่าอาการอักเสบจะหายไป 

จากนั้นให้หมั่นยืดกล้ามเนื้อน่องเพื่อลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ เพราะหากกล้ามเนื้อเราอักเสบมานานจะส่งผลให้น่องตึง เอ็นร้อยหวายตึงตามมาได้ โดยการยืดน่องนั้นแนะนำให้ดูตามคลิปนี้เลยครับ 4 วิธียืดน่อง ลดปวด ลดตึง แก้ตะคริว

ส่วนวิธีการรักษาที่สำคัญที่สุดหากเราต้องการให้อาการปวดหายไปอย่างถาวร แล้วสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้โดยไม่มีอาการปวดตามมาได้อีกนั้น ต้องใช้การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน่อง และกล้ามเนื้อ tibialis posterior ควบคู่กันนะครับ 

ซึ่งคลิปวิธีการรักษาดูได้ที่ด้านล่างนี้เลยครับผม


เครดิตภาพ
- https://www.pinterest.com/pin/251005379206083183/
- http://www.clinicapodium.es/lesiones-corredor-tendinitis-tibial-posterior-fisioterapia-zaragoza/
- http://eorthopod.com/posterior-tibial-tendon-problems/
- http://www.drkarlmichel.com/posterior-tibial-dysfunction-pttd.html
- http://www.triggerpointtherapist.com/blog/tibialis-posterior-pain/tibialis-posterior-trigger-point-runners-achilles-tendonitis/

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

[คลิป VDO 59] 2 ท่า ดึงคอด้วยตนเองง่ายๆ ด้วยผ้าขนหนูเพียงผืนเดียว Part 2


หลังจากที่ในคลิปวิธีดึงคอด้วยตนเอง โดยใช้มือข้างเดียวได้เผยแพร่ไปเมื่อหลายเดือนก่อน ก็มีเพื่อนๆทักเข้ามาคุยอยากให้ผมทำวิธีการดึงคอด้วยตนเองเพิ่ม เพราะบางคนก็ไม่สามารถใช้มือดึงคอด้วยตนเองได้ บ้างก็แรงแขนน้อย บ้างก็ผมยาวเลยจับคอไม่ถนัดอะไรทำนองนี้

จนในที่สุดผมก็ไปเลือกวิธีดึงคอด้วยตนเองที่เห็นว่าเหมาะกับคนไทยมา 1 วิธี แล้วผมก็เห็นว่าต่อให้เราเป็นคนผมยาว หรือแรงแขนน้อยแค่ไหนยังไงก็ทำตามกันได้แน่นอนคับ

ส่วนวิธีการดึงคอนั้นเหมาะกับใครบ้าง ก็เหมาะกับคนที่มีอาการปวดคอ คอตึง มีอาการคอติดขัดจากข้อกระดูกทรุด เป็นกระดูกคอเสื่อม เป็นหมอนรองกระดูกคอทับเส้น หรือมีอาการแขนชาจาเส้นประสาทที่คอถูกกดทับครับผม

รายละเอียดในคลิป

เทคนิค ผ้าขนหนู พาดคอ
ท่ายืน : นาทีที่ 1:42
ท่านั่ง : นาทีที่ 6:22


วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

[คลิป VDO 58] 3 วิธี ดึงหลัง ด้วยตนเอง Part 2


หลังจากที่ในคลิปวิธีการดึงหลังใน part แรกได้ออกไป มีคนไข้ทักเข้ามาพูดคุยกันหลายคน โดยส่วนหนึ่งจะพูดไปในทำนองเดียวกันว่า อยากให้ทำวิธีการดึงหลังด้วยตนเองแบบใหม่ที่เหมาะกับคนที่ไม่ค่อยมีแรง กำลังแขนน้อย หรือบางคนอ้วนมากแล้วดึงหลังตามที่บอกใน part ที่ 1 ไม่ได้ 

ดังนั้น ผมจึงรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดึงหลัง เพื่อให้เป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการดึงหลังด้วยตนเองที่ทำได้ง่ายขึ้น จนกลายมาเป็นคลิปนี้นั่นเองครับผม แต่ประสิทธิภาพในการดึงหลังทั้ง 2 part นั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันนะ เราสะดวกทำตาม part ไหนก็เน้น part นั้นเลยครับผม แล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำทุกท่านะ เลือกเอาแค่ 1-2 ท่าที่เราทำได้ดีก็เพียงพอแล้วครับผม

โดยการดึงหลังนี้จะเหมาะกับคนที่มีอาการปวดหลัง ตึงหลัง รู้สึกหลังขัดๆเวลาก้มๆเงยๆ หรือคนที่มีอาการขาชาจากกระดูกสันหลังเสื่อม หรือที่เป็นหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทนะครับ 

รายละเอียดในคลิป
วิธีที่ 1 : โหนบาร์ (นาทีที่ 3:10)
วิธีที่ 2 : นอนหงาย ดันต้นขา (นาทีที่ 6:02)
วิธีที่ 3 : นั่งพื้น ยกตัว (นาทีที่ 10:57)

ดูจบแล้วถ้าเห็นว่าคลิปนี้มีประโยชน์ก็ช่วยกดแชร์ กด subscribe กันด้วยนะคับ