วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

คอยื่นคอหดแค่ไหน ถึงทำให้ปวดคอ


คอยื่นคอหดแค่ไหน
ถึงทำให้ปวดคอ

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่คนไข้มารักษากับผมในคลินิกด้วยอาการปวดคอบ่า หลังจากตรวจร่างกายเสร็จสัพ ผมก็สรุปให้คนไข้ฟังว่า "สาเหตุที่ทำให้ปวดคอบ่าเกิดจากบุคคลิกที่เป็นคนคอยื่นนะ เลยทำให้กล้ามเนื้อรอบๆคอมันถูกยืดอยู่ตลอดจนความแข็งแรงกล้ามเนื้อลดลงไป" 

พออธิบายแบบนี้ไปคนไข้ก็ทำสีหน้างงๆ แล้วถามผมกลับมาว่า "คุณดูนคะ แล้วมันมีจุดสังเกตุยังไงบ้างว่าตอนนี้คอยื่นมากเกินไป?" พอคนไข้ทักมาแบบนี้ ผมก็คิดในใจ "เออแฮะ เคยพูดติดปากซะจนชินว่าคอยื่นยังงั้นยังงี้ แต่ก็ไม่ได้อธิบายต่อว่ามันมีจุดสังเกตุยังไง" ฉะนั้น ในบทความนี้ผมจะแนะวิธีสังเกตุกันครับว่า ต้องคอยื่นขนาดไหนถึงทำให้เราปวดคอได้กันครับผม 

ลักษณะของคนที่คอปกติ เส้นสีเหลืองจะลากจากหลังหูถึงตาตุ่มเท้า

คอยื่น

วิธีสังเกตุว่าเราเป็นคนคอยื่น หรือคอปกตินั้นง่ายมากครับ เมื่อมองจากด้านข้างในคนคอตรงปกติ แล้วลากเส้นตรงยาวๆจากหลังหู-หัวไหล่-สะโพก และตาตุ่มเท้าด้านนอก ทั้ง 4 ส่วนนี้จะอยู่ตรงกันพอดีเป๊ะครับ 

แต่ในคนที่คอยื่น เมื่อลากเส้นลงมาแล้วจะพบว่า หลังหูมันอยู่ทางด้านหน้าของเส้นทึบที่วางอยู่นั่นเองครับ ดูภาพประกอบด้านล่างได้เลยนะ

คนที่คอยื่น หลังหูจะอยู่ด้านหน้าหัวไหล่

แค่นี้เองครับกับวิธีการสังเกตุว่า จริงๆแล้วเราคอยื่นหรือไม่ครับผม เพียงแต่ว่าการตรวจแบบนี้ เราไม่สามารถใช้การเหลือบมองกระจกแล้วตรวจเองได้นะ ต้องให้คนช่วยดูให้ หรือไม่ก็ตั้งกล้องถ่ายรูปทางด้านข้างเอาเองเลยครับผม 

ทีนี้ ถ้าเพื่อนๆรู้แล้วว่าตัวเองเป็นคนคอยื่น วิธีแก้ก็เพียงแค่เราหดคอกลับเข้าไปจนหลังหูตรงกับแนวหัวไหล่ก็ใช้ได้แล้ว แต่จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยก็คือ ในขณะที่ฝึกหดคอกลับเข้าไป ต้องมีคนช่วยดูก่อนนะว่าคอเราหดกลับเข้าไปจนตรงแนวแล้วหรือยัง ถ้าตรงแล้วก็ให้หดค้างไว้อย่างนั้น 1 นาที แล้วจำความรู้สึกในขณะที่หดคออยู่ในแนวตรงเอาไว้ เพื่อให้เราสามารถก่ะระยะของการหดคอเองได้โดยไม่ต้องให้คนช่วยดูอีกในอนาคตนั่นเองครับ 

หากเพื่อนๆไม่รู้ว่าจะหดคอยังไง ฝึกไม่เป็นล่ะก็ คลิ๊กดูท่าหดคอได้ที่ลิงค์นี้เลยนะ https://youtu.be/VRFIp9NbOtU ดูนาทีที่ 4:10 ครับ

หดคอมากเกินไป?

ปัญหาต่อมาที่ผมเจอเวลาให้ฝึกหดคอก็คือ คนไข้มักจะหดคอมากเกินไป หดคอมาเกินไปในที่นี้ก็คือ หดคอจนแนวหลังหูไปอยู่ด้านหลังหัวไหล่เลยครับ ซึ่งถ้าเราไม่ได้หดค้างมันก็ไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่เวลาฝึกปรับบุคคลิกคอผมจะให้ฝึกค้างไว้ 1 นาทีน่ะสิ พอเราหดคอมากไปแล้วค้างไว้นาน สิ่งแรกที่เราจะรู้สึกก็คือ 
- รู้สึกเกร็ง และฝืนมากเกินไป
- รู้สึกหายใจลำบาก จากหลอดลมที่โดนกดอยู่
- รู้สึกคอตัวเองไม่เป็นธรรมชาติ 

แล้วในคนที่เป็นกระดูกคอเสื่อมมากๆ การฝืนหดคอเยอะเกินไป มันจะทำให้กระดูกคอที่ทรุดอยู่เกิดเสียดสีกันจนเรารู้สึกขัดๆที่คอด้วยนะ บางรายก็รู้สึกปวดคอทุกครั้งที่หดคอเข้าไป ดังนั้น ให้เราหดคอจนหลังหูอยู่ตรงกับแนวหัวไหล่ก็เพียงพอแล้วครับ

ลักษณะคนที่หดคอมากเกินไป

ทำไมคนที่คอยื่นมากๆ ถึงปวดคอได้ง่ายกว่าคอตรง?

เพื่อให้เห็นภาพ ผมอยากให้เพื่อนๆลองพิสูจน์ด้วยตัวเองกันเองเลยโดยการ ให้เราถือดัมเบล 2 กิโลกรัมด้วยมือขวา แล้วถือดัมเบลให้แนบตัวเราให้ได้มากที่สุดเหมือนกับเราหวงของชิ้นนี้มากๆไม่อยากให้ใครแย้งไป กับถืออีกแบบหนึ่งคือ 

ให้เราถือดัมเบล 2 กิโลกรัมด้วยมือขวาเหมือนเดิม แต่คราวนี้เราเหยืยดแขน เหยียดศอกออกไปให้ไกลลลลลที่สุด เหมือนกับดัมเบลชิ้นนี้เป็นของเน่าเหม็นอะไรสักอย่างที่เราไม่อยากอยู่ใกล้ 

จากนั้น เราก็ถือค้างไว้แบบนี้สัก 5 นาที เพื่อนๆคิดว่าการถือแบบไหนจะทำให้เราเมื่อยแขนมากที่สุด?? 

ไม่ต้องลองเพื่อนๆก็พอจะรู้กันใช่มั้ยว่าคือ แบบที่ถือดัมเบลแล้วเหยียดแขนนั่นแหละ เหตุที่เราถือของหนักแล้วของอยู่ไกลตัวมากๆทำให้เมื่อยแขนได้มากกว่าก็เป็นเพราะ ระยะวัตถุยิ่งอยู่ไกลตัว(ฐาน)มากเท่าไหร่ นํ้าหนัก(เสมือน)ของวัตถุก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น กล้ามเนื้อเราจึงต้องออกแรงมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับนํ้าหนักของวัตถุนั่นเองครับ

ลักษณะคอยื่น

คอที่เรายื่นก็เช่นกันนะ ถ้าคอยิ่งยื่นออกไปมากเท่าไหร่ นํ้าหนักศีรษะเราก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ผลก็คือ กล้ามเนื้อรอบๆคอบ่าก็ต้องออกแรงมากขึ้นอย่างแน่นอน แล้วถ้าเราเป็นคนบุคคลิกคอยื่นตลอดเวลา กล้ามเนื้อคอบ่าก็ต้องเกร็งค้างตลอดเวลาจนกล้ามเนื้อล้า รับนํ้าหนักศีรษะไม่ไหวจนประท้วงออกมาเป็นอาการปวดในที่สุดนั่นเองครับ 

สรุป 

หากใครที่มีอาการปวดคอเรื้อรังอยู่เป็นประจำจากการทำงาน ลองสังเกตุคอตัวเองดูนะครับว่า ตอนที่เรานั่งทำงานเราเผลอนั่งคอยื่นอยู่รึเปล่านะ เพราะโรคหลายๆโรคที่คนวัยทำงานเป็นกันอยู่ล้วนเกิดจากพฤติกรรมของตัวเราเองแทบทั้งนั้น เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาการปวดก็หายได้เกินครึ่งแล้วครับ







วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562

เอ็นข้อมืออักเสบ เจอกันแน่ คุณแม่มือใหม่


เอ็นข้อมืออักเสบ 
เจอกันแน่ คุณแม่มือใหม่

เห็นผมขึ้นหัวข้อมาแปลกๆแบบนี้เพื่อนๆอาจจะงงๆกันว่า เอ็นอักเสบมันเกี่ยวอะไรกับคุณแม่มือใหม่? แล้วคุณแม่ลูกสอง หรือคุณพ่อมือใหม่จะเป็นด้วยมั้ย? ก่อนที่เพื่อนๆจะคิดเลยเถิ่ดเรื่องพ่อๆแม่ๆไปมากกว่านี้ ผมเฉลยให้เลยดีกว่า

โรคเอ็นข้อมืออักเสบที่ผมจะพูดถึงนี้มีชื่อโรคอย่างเป็นทางการว่า de quervain (ดูปากณัชชานะคะ อ่านว่า เดอ-กา-แวง) ซึ่งโรคนี้เป็นอาการอักเสบของเส้นเอ็นนิ้วโป้งที่อยู่ใกล้ๆข้อมือครับ ตำแหน่งดูตามรูปด้านล่างได้เลย

ภาพแสดงตำแหน่งที่เส้นเอ็นอักเสบ

ส่วนเหตุที่ผมบอกว่าเสี่ยงพบในคุณแม่มือใหม่ก็เพราะว่า เป็นผลจากการใช้งานข้อมือนานๆจากการอุ้มลูก ถ้าเราอุ้มอย่างถูกวิธีเต็มที่ก็แค่ปวดเมื่อยล้าแขนธรรมดานะ แต่จะมีคุณแม่ที่ไม่ระวังตัวอุ้มลูกโดยใช้มือข้างหนึ่งสอดรับที่ใต้ก้นลูก แล้วเผลอหักข้อมือไปทางนิ้วก้อยและงอนิ้วโป้งค้างไว้นานๆ ซึ่งการอยู่ในท่านี้มันเป็นการยืดเอ็นนิ้วโป้งตรงข้อมือพอดีเป๊ะ (คล้ายๆกับท่ารับปริญญาบัตรที่มีการหักข้อมือหน่อยๆนั่นแหละครับ)

ภาพขวาแสดงท่าที่เสี่ยงทำให้เอ็นอักเสบ

ถ้าเป็นการยืดธรรมดาก็ไม่มีปัญหาหรอกนะ มันมีปัญหาตรงที่นํ้าหนักตัวของลูกเนี่ยแหละครับ ยิ่งลูกนํ้าหนักตัวมาก กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่มือยิ่งต้องรับแรงกดดันมากขึ้นตามไปด้วย แล้วมันจะมีจังหวะไคลแม็กซ์ตอนที่ลูกดื้นแล้วเราดันไปเผลอหักข้อมือไปทางนิ้วก้อยเร็วๆ ซึ่งการทำแบบนี้มันเป็นการกระชากเส้นเอ็นที่นิ้วโป้ง ทำให้เอ็นอักเสบได้ทันที คุณแม่มือใหม่มักจะเป็นโรค de quervain ก็ตอนที่ลูกดื้นเนี่ยแหละครับ 

เสริม : ผู้หญิงในช่วงตั้งครรภ์จนคลอดลูกออกมาใหม่ๆ โดยมากเส้นเอ็นค่อนข้างจะอ่อนแอกว่าปกติอยู่แล้ว จากฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่หลั่งออกมาในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อให้เส้นเอ็นรอบๆเชิงกรานอ่อนตัวลง (แต่ในความเป็นจริงมันทำให้เอ็นทั่วร่างกายอ่อนตามไปหมด) เพื่อจะได้ขยายกระดูกเชิงกรานให้มากขึ้น ไว้รองรับเด็กในท้องที่โตขึ้นเรื่อยๆแล้วจะคลอดได้ง่ายนั่นเองนะ 

ภาพขวา แสดงท่าอุ้มลูกที่เสี่ยงทำให้เป็น de quervain

เจ้าหนูสงสัย : แล้วเจอโรคนี้ในคุณแม่มือใหม่เท่านั้นเองหรอ?

ไม่หรอกครับ จริงๆแล้วคุณพ่อก็เป็นได้นะ แต่จะน้อยกว่าพอสมควรเลยล่ะ เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของผู้ชายจะแข็งแรงกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว ความเสี่ยงที่ทำให้เอ็นฉีกขาดก็น้อยลงแน่นอน แล้วที่สำคัญคุณพ่อจะอุ้มลูกไม่นานเท่าคุณแม่นะ คุณแม่จะอุ้มลูกนานกว่าอย่างน้อยก็ช่วงให้นมลูกเนี่ยแหละครับ 

นอกจากจะพบได้ในคนที่อุ้มลูกนานๆแล้วก็ยังพบได้ในคนทั่วไปด้วยนะ เช่น... 

- คนที่ยกกระถางต้นไม้หนักๆ แล้วเผลอไปหักข้อมือตอนยกจนเอ็นถูกกระชากกระทันหันทำให้เอ็นอักเสบ

- คนที่ชอบเล่นเกมส์มือถือแล้วใช้นิ้วโป้งจิ้มหน้าจอเร็วๆนานๆ

- คนที่ใช้กรรไกรตัดของแข็งบ่อยๆ เช่น ชาวสวน ที่ต้องใช้กรรไกรตัดเล็มกิ่งไม้ ซึ่งการที่เราอ้ากรรไกรออกแล้วหุบกรรไกรเร็วๆแรงๆ ทำให้เอ็นนิ้วโป้งถูกกระชากซํ้าๆจนปวดได้

- คนลวกก๋วยเตี๋ยว อาจจะงงว่าการลวกก๋วยเตี๋ยวทำให้เจ็บเอ็นได้ยังไง ถ้าแค่ลวกเส้นเฉยๆยังไงก็ไม่เจ็บหรอกครับ มันจะเจ็บตอนที่เราถือตะกร้อลวกเส้นแล้วสบัดข้อมือ เพื่อสะเด็ดนํ้าออกนั่นแหละ

- แม่ค้าที่ทำอาหารตามสั่ง เคสนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลกที่พึ่งเจอ คือเค้าไม่ได้เจ็บจากการใช้ตะหลิวผัดกับข้าวหรอกครับ แต่เกิดจากท่าเปิดปิดเตาแก๊ส! ตอนแรกผมก็งงว่าแค่ท่าเปิดปิดเตาแก็สมันทำให้เอ็นนิ้วโป้งอักเสบได้ยังไงกัน กลับมาบ้านเลยผมลองใช้มือเปิดปิดเตาแก๊สแล้ววิเคราะห์ข้อมือดู สรุป มันเป็นได้จริงๆครับ เพราะตอนที่หมุนเปิดเตาแก๊สเราใช้แรงแค่ข้อมือเพื่อเปิดเตา มันจะเหมือนกับการหักขือมือเลย แล้วถ้าวาวมันหนืดก็ต้องใช้แรงมากขึ้น แล้ววันนึงก็เปิดๆปิดๆเ็นร้อยครั้ง การทำกระชากเอ็นซํ้าๆกันแบบนี้เนี่ยแหละที่ทำให้เป็นโรค de quervain ได้ในที่สุด



ภาพตัวอย่างที่ทำให้เสี่ยงเป็นเอ็นข้อมืออักเสบ เช่น ท่ายกของหนักอย่างเก้าอี้, ท่าเปิดเตาแก๊ส

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตรงข้อมือทางฝั่งนิ้วโป้ง ถ้าเป็นใหม่ๆจะบวม แดงอย่างเห็นได้ชัด เพียงแค่เอามือลูบๆตรงข้อมือก็ปวดได้ ถ้ากำมืองอนิ้วโป้ง หรือกระดกข้อมือขึ้นๆลงๆ(เหมือนท่ารับปริญญา)ก็ทำให้ปวดได้อีกเช่นกัน 

วิธีเช็คว่าเป็น de quervain จริงรึเปล่า?

ในบางคนก็ปวดข้อมืออยู่เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ปวดทั้งข้อมือเลย แถมยังปวดใกล้ๆนิ้วโป้งด้วย ทีนี้เราจะรู้ได้ยังไงว่าอาการปวดที่เป็นอยู่มันเกิดจากเอ็นทางฝั่งนิ้วโป้งอักเสบจริงๆจนทำให้เป็น de quervain เพื่อนๆอาจจะสงสัยกันอยู่ใช่มั้ยครับ 

วิธีการก็ง่ายๆครับ ให้ทำ 3 ขั้นตอน เริ่มจาก

1. เหยียดนิ้วทั้ง 5 ให้ทรง แล้วงอนิ้วโป้งให้ไปแตะโคนนิ้วก้อยค้างไว้
2. งอนิ้วที่เหลือทั้ง 4 ให้กดลงมาที่นิ้วโป้ง (เหมือนกำมือปกติ เพียงแต่นิ้วโป้งอยู่ด้านในแทน)
3. สุดท้ายให้กดข้อมือลงไปทางฝั่งนิ้วก้อย 
ถ้าคนที่เป็น de quervain จะปวดจี๊ดที่ข้อมือใกล้ๆนิ้วโป้งทันทีเลย บางรายอักเสบมากอยู่แล้วเพียงแค่ทำขั้นตอนที่ 2 คือกำมือให้นิ้วโป้งอยู่ด้านในก็ปวดจนสะดุ้งแล้วครับ

วิธีเช็คว่าเป็นโรค de quervain ทำ 3 ขั้นตอนตามรูป
การรักษา

โรคอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเส้นเอ็นมักจะหายช้าเสมอเมื่อเทียบกับการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือกระดูก เพราะเส้นเอ็นมีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงน้อยกว่ามาก การซ่อมแซมจึงทำได้ช้ากว่ามาก เช่นเดียวกับโรค de quervain ที่จัดว่าเป็นเส้นเอ็นอักเสบเช่นเดียวกัน 

ถ้าเรามั่นใจแล้วว่าตัวเองเป็นโรคนี้จริงๆ อันดับแรกที่ต้องทำเลยคือ หมั่นประคบเย็น/นํ้าแข็งตรงจุดที่ปวดบ่อยๆเลยครับ บ่อยที่ว่านี่บ่อยแค่ไหน คือ ถ้าเป็นไปได้ก็เกือบจะตลอดเวลาตั้งแต่เช้ายันคํ่าเลยนะ หรือถ้าไม่ได้จริงๆก็ 15 นาที ทุกๆชั่วโมงครับ เพราะความเย็นมันจะช่วยลดการบวม อักเสบ และปวดได้ดีมากๆ ทำให้อาการไม่แย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่ แล้วถ้าไม่ได้เป็นมาก จะยิ่งทำให้เราหายไวมากขึ้นตามไปด้วยนะ แค่ใช้การประคบเย็นเนี่ยแหละครับ

การรักษาทางกายภาพบำบัด

ถ้าเพื่อนๆมีความรู้สึกว่า มันปวดมากจริงๆ แล้วอาการที่เป็นอยู่หายช้าเหลือเกิน มีวิธีไหนที่ทำให้หายไวบ้างมั้ย? 

มีครับ เครื่องมือทางกายภาพที่ใช้รักษาเอ็นอักเสบที่นิยมกันก็คือ การใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ กับเลเซอร์ยิงไปจุดที่ปวดนะ เพราะเครื่องมือทั้ง 2 นี้ ช่วยเร่งกระบวนการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อให้หายไวขึ้น แต่ช่วงแรกก็ต้องไปทำถี่หน่อยนะ 

ถ้ารู้สึกว่าการพยายามระวังนิ้วโป้งตัวเองเป็นเรื่องยาก ก็ซื้ออุปกรณ์ตามรูปมาช่วยได้ครับ

แล้วสิ่งสำคัญต่อมาก็คือ พยายามชูนิ้วโป้งตลอดเวลาเมื่อต้องกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมือข้างที่เจ็บอยู่ เช่น ถ้าต้องยกถังหนักๆก็ให้ชูนิ้วโป้งไว้แล้วใช้ 4 นิ้วที่เหลือเป็นนิ้วที่ออกแรงแทน หรืออย่างการบิดหมุนอะไรสักอย่างที่ต้องใช้แรงมาก เช่น การเปิดวาล์วแก๊ส ก็๋ให้หมุนโดยชูนิ้วโป้งไว้ตลอดเลย 

ที่ต้องให้ชูนิ้วโป้งไว้ตลอดก็เพื่อต้องการให้เอ็นที่อักเสบได้พัก เพราะการที่เรายังใช้นิ้วโป้งออกแรงหนักๆอยู่ จะทำให้เอ็นที่บาดเจ็บถูกยืด ถูกกระชากจนเส้นเอ็นบาดเจ็บซํ้าซาก กระบวนการซ่อมแซมร่างกายทำได้ไม่สมบูรณ์ซะที เหมือนเราเป็นแผลมีดบาดแล้วเราดันไปเกาแผล หยิกแผลตัวเองบ่อยๆ แผลมันก็ยังคงฉีกอยู่อย่างนั้นแหละครับ 

ตัวอย่างที่ทำให้เอ็นข้อมืออักเสบอย่างการเปิดวาล์วแก๊สร่วมกับงอนิ้วโป้ง 
ทำให้เอ็นนิ้วโป้งถูกกระชากจนอักเสบได้ง่าย

เจ้าหนูสงสัย : ก็รู้นะว่าการยกของหนักโดยออกแรงนิ้วโป้งด้วยจะทำให้อักเสบเพิ่มขึ้น แต่คนที่มีลูกแล้วต้องอุ้มลูกอยู่บ่อยๆ เลี่ยงไม่ได้จริงๆจะทำยังไงดี? 

ผมจะบอกความจริงที่ไม่ค่อยน่าฟังว่า คนที่เป็นโรคนี้แล้วยังคงมีความจำเป็นต้องอุ้มลูกอยู่ตลอด ส่วนใหญ่หายช้ามากครับ จะเริ่มหายก็ตอนที่ลูกเริ่มโตจนไม่คุ้ยได้อุ้มนั่นแหละ ถึงแม้ผมจะแนะว่า ให้ชูนิ้วโป้งไว้ตลอดตอนอุ้มลูกน้าาาา อย่าใช้นิ้วโป้งออกแรงประคองเด็กน้าาาาาา แต่ในทางปฎิบัติจริงทำได้ยากมากเลยนะ 

เพราะเด็กก็คือเด็กต้องดิ้นต้องซน โดยปกติผมจะแนะคนอุ้มว่า ให้ใช้มือข้างที่ไม่เจ็บอุ้มแล้วใช้มือข้างที่เจ็บเป็นตัวประคอง ถ้าเด็กดิ้นไม่มากยังพอประคองไหว แต่พอดื้นเยอะๆเข้าสัญชาตญาณความเป็นพ่อเป็นแม่คนก็ต้องใช้ 2 มือ โอบลูกหนักขึ้น ใช้แรงมือมากขึ้นรวมทั้งนิ้วโป้งข้างที่เจ็บด้วยเพราะกลัวลูกตก และนั่นแหละเป็นเหตุว่าทำไมคนที่อุ้มลูกถึงไม่หายจากโรคนี้กันจนกว่าลูกจะโต

ท่าอุ้มลูก ภาพซ้ายให้ชูนิ้วโป้งไว้จะลดความเสี่ยงเอ็นอักเสบได้ 
แต่ถ้าลูกตัวใหญ่แล้วชอบดื้น เราก็จะเผลองอนิ้วโป้งอยู่ดี

ข้อห้าม ถ้ารู้ว่าเป็นโรคนี้แล้ว

- ห้ามประคบร้อน หรือใช้ยาที่มีฤทธ์ร้อน ในระยะอักเสบใหม่ๆ โดยระยะอักเสบใหม่ๆให้สังเกตุดังนี้ มีบวม แดง และตรงที่ปวดมันอุ่นๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะความร้อนจะยิ่งทำให้ข้อมือบวม และอักเสบมากขึ้นได้
- ห้ามกด นวดตรงจุดที่เจ็บ เพราะการกดนวดจรงจุดที่เจ็บซํ้าๆบ่อยๆจะขัดขวางกระบวนการรักษาตัวเอง ทำให้หายช้า ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้อักเสบมากกว่าเดิม แต่เราสามารถลูบๆตรงจุดที่เจ็บได้นะ
- ห้ามใช้นิ้วโป้งออกแรงยกของหนัก พยายามชูนิ้วโป้งไว้ถ้าต้องใช้งานมือข้างนั้นหนักๆ 

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมพบว่าคนไข้หลายคนรักษามาหลายวิธีมาก บางคนรักษากันมาเป็นปีๆแต่ไม่หายขาดซะที ส่วนหนึ่งที่ไม่หายก็เพราะคนไข้ไม่รู้ข้อปฎิบัติว่า ตอนที่เป็นโรคนี้อยู่ห้ามทำอะไรบ้าง ซึ่งจะพลาดกันอยู่ 2 เรื่องใหญ่คือ 1) คนไข้ชอบไปกด ไปนวดตรงที่เจ็บเพราะคิดว่าจะทำให้หายไวขึ้น 2) เผลอไปยกของหนักโดยใช้แรงนิ้วโป้ง จนทำให้บาดเจ็บซํ้าซากนั่นเองครับ 

โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเราไม่ได้เข้ารับการรักษา ใช้แต่การประคบเย็น และเลี่ยงการใช้งานนิ้วโป้งข้างที่เจ็บอยู่อย่างน้อยประมาณ 2 เดือนเราก็รู้สึกได้แล้วครับว่าอาการปวดดีขึ้นนะ แต่ถ้าเพื่อนๆรอไม่ไหว มันปวดมากจริงๆแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อฉีดยาบรรเทาปวดก่อนก็ได้ครับผม





วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562

สะพายเป้แบบนี้สิ ลืมไปได้เลยว่าเคยปวดหลัง


สะพายเป้แบบนี้สิ 
ลืมไปได้เลยว่าเคยปวดหลัง

เคยมีคนไข้ทักมาถามผมเกี่ยวกับวิธีการสะพายกระเป๋าเป้ที่ถูกต้องว่า เราควรสะพายยังไงถึงป้องกันอาการปวดหลังได้ 

ผมก็แนะนำไปคร่าวๆแบบเป็นขั้นเป็นตอน พร้อมวิธีเลือกกระเป๋าไปว่า

1) ควรดึงสายเป้ให้กระชับ จนกระเป๋าแนวติดหลัง
2) ก้นกระเป๋าเป้ไม่ควรอยู่ตํ่ากว่าขอบกางเกง
3) ถ้ากระเป๋าเป้ใหญ่มากแบบกระเป๋าเดินทาง (เหมือนที่ฝรั่งชอบใช้เที่ยวแบ็คแพคกัน) ให้เลือกซื้อแบบมีสายรัดเอวด้วย เพื่อให้เป้แนบหลังและลดการถ่วงของกระเป๋าไปด้านหลังได้
4) พยายามโน้มตัวไปข้างหน้าขณะเดิน เพื่อไม่ให้นํ้าหนักกระเป๋าไปตกที่หลังมากเกินไป
5) สายกระเป๋าที่พาดบ่าต้องกว้าง เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดที่บ่าเพียงจุดเดียวจนกล้ามเนื้อบ่าบาดเจ็บ
6) ภายในช่องใส่กระเป๋าเป้ควรมีสายรัด เอาไว้รัดสิ่งของภายในไม่ให้มันแกว่งขณะเราเดิน เพื่อลดแรงเหวี่ยงของกระเป๋าขณะเดิน แล้วกล้ามเนื้อหลังก็ไม่ต้องออกแรงเกร็งมากด้วย
7) ถ้าสะพายเป้นานๆจนเริ่มปวดบ่า ปวดหลัง ก็ให้เอามือจับสายเป้ตรงบ่า แล้วยกสายเป้ขึ้นบ้าง เพื่อลดแรงกดกระเป๋าต่อบ่าของเรา

ผมก็แนะนำไปประมาณนี้ ตัวคนไข้เองก็แย้งว่า "ที่แนะนำมาก็ทำเกือบอยู่ตลอดนะ แต่ก็ยังปวดหลัง ปวดบ่าได้อยู่ดีค่ะ พอจะมีวิธีอื่นที่นอกเหนือจากนี้อีกมั้ยคะ เพราะเป็นคนที่ต้องเดินทางอยู่ตลอด เลี่ยงการสะพายเป้ไม่ได้จริงๆ" 

พอคนไข้บอกมาแบบนี้ ผมก็เริ่มมึนนิดๆแล้ว เลยซักถามอาการ ประวัติอาการปวดคร่าวๆ แล้วการดำเนินชีวิตว่าแต่ล่ะวันว่าทำอะไรบ้าง เสร็จสัพผมก็แนะนำวิธีการยืดหลัง กับท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงไป ถ้ากล้ามเนื้อหลังแข็งแรงดีก็จะป้องกันอาการปวดหลังได้ คนไข้ก็โอเครับทราบ

แต่หลังจากคุยเสร็จผมก็มานั่งคิดต่อว่า แล้วถ้าเค้ายังคงปวดหลังอยู่แล้วต้องสะพายเป้อยู่เหมือนเดิม การยืดหลังมันก็ช่วยแค่คลายได้ชั่วคราว ส่วนการออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังนั้น กว่าหลังจะแข็งแรงมันก็ใช้เวลานานอยู่ดี มันมีวิธีไหนที่ช่วยผ่อนแรงหลังได้บ้างหว่า

คิดแล้วผมก็ลองเอาหนังสือ text book เล่มหนาๆหลายๆเล่มมาใส่กระเป๋า แล้วลองสะพายเล่นๆดูพร้อมวิเคราะห์ว่าท่าไหนที่แก้ปัญหาได้ทันที ว่าแล้วผมก็สรุปออกมาได้ทั้งหมด 4 ท่าด้วยกันที่ช่วยลดอาการปวดหลัง ปวดบ่าขณะสะพายเป้ เชิญรับชมกันได้เลยครับ 


1) ยกสายเป้ไว้ตลอด

วิธีนี้เป็นวิธีที่ผมใช้เป็นประจำที่ต้องสะพายกระเป๋าเป้ เพราะมีความรู้สึกว่า ยิ่งดึงสายสะพายให้สูงเท่าไหร่ ผมยิ่งเดินได้คล่องตัวมากขึ้นเท่านั้น แถมไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปวดบ่าเวลาที่สะพายกระเป๋านานๆด้วยนะ 


วิธีการก็คือ 
- ดึงสายเป้จนกระเป๋าแนบหลัง และก้นกระเป๋าไม่อยู่ตํ่ากว่าขอบกางเกงใน
- ใช้มือทั้ง 2 ข้างจับสายเป้ ตามรูป
- จากนั้นใช้มือทั้ง 2 ยกสายเป้ขึ้นแล้วเยื้องมาด้านหน้าหน่อยๆ จนรู้สึกว่านํ้าหนักกระเป๋าไม่ลงที่บ่าแล้ว
- ขณะเดิน ให้เดินโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อให้เดินได้คล่องตัวขึ้น

ในกรณีที่กระเป๋าเราหนักมากจริงๆ การทำแบบนี้นานๆมันก็ทำให้ปวดแขนกันบ้างล่ะ ทางที่ดีก็คือ ยกสายเป้เมื่อเราเริ่มเมื่อยบ่า แต่พอหายเมื่อยแล้วสะพายเป้ตามปกตินะครับ


2) มือช้อนตูด

วิธีนี้ผมจะชอบใช้ตอนที่กระเป๋าเป้ของผมมันหนักมากจริงๆ จนรู้สึกว่าวิธีการยกสายเป้มันเอาไม่อยู่แล้วผมก็จะใช้วิธีนี้นะ เพราะการทำแบบนี้มันเป็นการใช้กำลังแขนไปรองกระเป๋าไว้เลย นํ้าหนักกระเป๋าจึงตกไปที่แขน แทนที่จะเป็นกล้ามเนื้อบ่า หรือหลัง


วิธีการ
- เอามือทั้ง 2 ข้างไขว้หลัง 
- แล้วใช้มือทั้ง 2 จับที่ก้นกระเป๋า แล้วยกกระเป๋าขึ้นมาจนรู้สึกว่านํ้าหนักกระเป๋าไม่กดลงที่บ่าแล้วก็พอ
- ขณะเดิน ให้เดินโน้มตัวไปข้างหนัาพอประมาณ จะทำให้เราเดินได้คล่องขึ้นสำหรับวิธีนี้ ซึ่งท่าเดินมันจะดูตลกนิดๆ เหมือนคนแก่หลังค่อมเดินกันนั่นแหละครับ แต่ถ้าเราแคร์หลังตัวเองมากกว่าคนอื่นที่มองเราก็ทำไปเถอะครับ

แต่ข้อเสียของวิธีนี้ก็คือ คนที่ตัวเล็ก แขนสั้น หรือกระเป๋าใบใหญ่มากจริงๆจะทำได้ลำบากครับ เพราะมือเอื้อมไม่ถึง ^^


3) อุ้มกระเป๋าเป้

เป็นวิธีที่เห็นคนทำกันเยอะ แต่จะต่างกันเล็กน้อยตรงที่ในรูปผมจะใช้มือช้อนไปที่ก้นกระเป๋าแล้วใช้มืออุ้มขึ้นมา นํ้าหนักกระเป๋าจะอยู่ที่แขนผมเต็มๆ แต่คนทั่วไปที่เห็นคือ สะพายกระเป๋าเป้ไว้ด้านหน้าแต่ไม่ได้ใช้มืออุ้ม ซึ่งไม่ผิดนะ ทำได้เลยครับ 

แต่มันจะทำให้ปวดหลังแน่ๆ ถ้าสายสะพายมันยาวจนก้นกระเป๋าเลยขอบกางเกงเรา แล้วถ้ากระเป๋าเป้ยิ่งมีนํ้าหนักมากอาการปวดหลังก็คูณ 2 เข้าไปเลยครับ ที่เห็นบ่อยเลยคือ กระเป๋าเป้ใบเล็กๆของคุณผู้หญิงน่ะ ที่สายเป้เล็ก ปล่อยสายยาวๆให้กระเป๋ามันดูห้อยลงมาหน่อยๆ แต่กระเป๋าหนักมาก แบบนี้ค่อนข้างเสี่ยงปวดหลังครับ


แล้วถ้าเราสะพายเป้ไว้ด้านหน้า ตัวกระเป๋าเป้ก็ดันหนักมากๆ แถมยังห้อยสายเป้ยาวๆจนเลยขอบกางเกงอีก มันจะทำให้ร่างกายเราชดเชยการถ่วงกระเป๋าเป้ที่อยู่ด้านหน้า ให้เราเอนไปด้านหลังแทน ยิ่งสายเป้ยาวเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องเอนตัวไปด้านหลังมากขึ้นเท่านั้น ในระยะยาวจะทำให้เรากลายเป็นคนหลังแอ่นได้นะ


วิธีการ 
- ดึงสายเป้ให้กระชับ จนก้นกระเป๋าอยู่เหนือขอบกางเกงเล็กน้อย 
- จากนั้นเอามือทั้ง 2 ข้างช้อนก้นกระเป๋า แล้วยกกระเป๋าขึ้นจนนํ้าหนักเป้ไม่กดที่บ่าก็ใช้ได้แล้ว
- ถ้ากระเป๋าหนักมาก หรือใหญ่กว่าตัวเรามากๆ วิธีนี้อาจไม่เหมาะนะ


4) แค่โน้มตัวไปด้านหน้า

สำหรับคนที่กำลังแขนไม่ดี หรือไม่อยากยุ่งยากไปกับการใช้แขนช่วยแบกกระเป๋าจนพะรุงพะรัง คิดแค่เพียงว่า ขอสะพายเป้อย่างเดียวให้ถูกวิธีแล้วจบเลย มีมั้ย? ต้องทำยังไง? จัดให้เลยครับ

ถ้ากระเป๋ามีหลายช่อง ให้นําของหนักใส่ช่องหลัง

วิธีการ 
- กระชับสายเป้ให้สั้น จนก้นกระเป๋าอยู่สูงกว่าขอบกางเกงใน และให้กระเป๋าแนบหลังให้มากที่สุด
- ถ้าในช่องใส่กระเป๋ามีสายรัด ก็รัดของที่อยู่ข้างในให้เป็นชิ้นเดียวกัน หรือถ้ามีช่องใส่ของหลายช่อง ก็นําของหนักไปใส่ไว้ที่ช่องกระเป๋าหลัง เพราะถ้าเอาของหนักใส่ช่องกระเป๋าหน้ามันจะถ่วงกระเป๋าแล้วจะปวดหลังได้ง่าย
- โน้มตัวไปข้างหน้าขณะเดินเล็กน้อย จบ


5) สะพายเป้ข้างเดียว 

เมื่อรู้วิธีสะพายเป้ไม่ให้ปวดหลังกันแล้ว คราวนี้มาดูวิธีสะพายเป้แบบผิดๆทำให้เราปวดหลังกันบ้าง เริ่มจากสะพายเป้ข้างเดียว ถือว่าเป็นท่าฮิตของยุคนี้กันเลย โดยเฉพาะในหมู่นักเรียนจะเห็นบ่อยมาก 

ข้อเสีย
- ทำให้ปวดบ่าข้างเดียวได้ง่าย จากสายรัดที่กดบ่าเพียงข้างเดียว
- กล้ามเนื้อหลังซีกที่สะพายเป้ข้างเดียวจะตึงมาก ในระยะยาวจะปวดหลังได้ง่าย
- ถ้าสะพายเป้ข้างเดิมจนเป็นนิสัยเป็นเวลาหลายปี ร่วมกับกล้ามเนื้อไม่ค่อยแข็งแรง จะทำให้ปวดกล้ามเนื้อทั้งซีกตั้งแต่คอจรดเอวได้
- เสี่ยงเป็นหลังคดจากนํ้าหนักกระเป๋าที่กดข้างเดียวอยู่ตลอด

สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่เห็นลูกสะพายเป้ข้างเดียวด้วยความเคยชิน พอเตือนไปก็สะพายเป้ถูกวิธี แต่พอลืมตัวก็สะพายเป้ข้างเดียวเหมือนเดิม ถ้าเป็นแบบนี้แนะนำให้ซื้อกระเป๋าเป้แบบที่มีล้อลากไปเลยครับ ไม่ต้องสะพายเป่ให้ปวดบ่า คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องเมื่อยปากบ่นลูกด้วย ^^


6) สายเป้ยาวติดตูด

เป็นอีกเทรนฮิตของน้องนักเรียนอีกเช่นกัน สำหรับสายเป้ยาวติดตูด ในสมัยที่ผมเป็นนักเรียนผมก็ชอบสะพายเป้แบบนี้เหมือนกันนะ รู้ทั้งรู้ว่าสะพายแบบนี้แล้วตัวเองเดินไม่ค่อยถนัดจากกระเป๋าที่มันกระเด้งมาโดนตูดผมทุกครั้งที่ก้าวขาเดิน แต่ก็ยังทำอยู่ดีเพราะรู้สึกว่ามันเท่ดี ผมเลิกนิสัยนี้ได้ก็หลังจากเข้ามหาลัยไปได้ปี 2 ปีแล้วนั่นแหละครับ เพราะโดนอาจารย์เอ็ดบ่อย 

ประมาณว่า "ไปรักษาคนไข้ที่ไหนใครเค้าจะเชื่อฟัง ถ้าเธอยังมีบุคคลิกผิดๆแบบนี้อยู่ นักกายภาพต้องใช้แรงรักษาคนไข้เยอะ ถ้าปวดหลังขึ้นมาจะเอาแรงที่ไหนไปรักษาคน" โดนเอ็ดแบบนี้บ่อยๆก็เลิกนิสัยนี้สิครับ ฮาๆๆ


ข้อเสีย
- หลังแอ่นง่าย จากนํ้าหนักกระเป๋าและสายเป้ที่ยาวจนถ่วงไปด้านหลังมากๆ
- ปวดเอวได้ง่าย 
- เคลื่อนที่ไม่ค่อยคล่องตัว จากกระเป๋าเป้ที่กระเด้งกระดอนมาโดนตูดเรา


7) ยืนแอ่นเอง

ในกรณีที่เราสะพายเป้ถูกวิธีทุกๆอย่างแล้ว แต่ก้ยังปวดหลังอยู่ เรื่องนี้ต้องลองสังเกตุตัวเองแล้วครับว่าบุคคลิกการยืน หรือสรีระของหลังเราเป็นยังไง เพราะบางคนเป็นคนที่ก้นงอน หลังแอ่นมากอยู่แล้ว พอได้สะพายกระเป๋าหนักๆเข้า เลยเหมือนไปเพิ่มภาระให้หลังจนทำให้ปวดหลังได้ทั้งๆที่เราก็ทำถูกวิธีทุกๆอย่างแล้วนั่นเอง

อีกกรณีนึงก็มาจากกำลังกล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อแกนกลางของตัวเราไม่แข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอสะพายเป้หนักๆเป็นเวลานานๆ จนเกินกำลังกล้ามเนื้อมันจะรับไหว ก็แสดงอาการปวดหลัง ปวดบ่าขึ้นในที่สุด ถ้าเป็นกรณีกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงก็เพียงแค่แบ่งเวลามาออกกำลังกายประเภทยกนํ้าหนัก เวทเทรนนิ่งบ้าง

แต่ถ้าเป็นกรณีที่เกิดจากสรีระเราไม่ดีเอง แล้วจับต้นชนปลายไม่ถูกล่ะก็ แบบนี้ผมแนะนำให้ไปพบนักกายภาพให้เค้าตรวจประเมินโครงสร้างร่างกายให้ดีกว่าครับ จะได้ไม่ต้องมานั่งเดาจนปวดหัวนะ