วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

น้องหนูยักไหล่ เอ๊ะ หรือว่าน้องหนูคอเอียงกันแน่


โรคคอเอียง (Torticollis)

ใครมีลูกก็อยากให้ลูกที่เกิดมาแข็งแรงเป็นปกติกันทุกคน แม้เด็กที่เกิดมาดูรวมๆแล้วก็ปกติดี แต่อยากให้สังเกตุที่ศีรษะเด็กกันสักเล็กน้อยว่า เด็กมีอาการคอเอียง คอหมุนค้างกันรึเปล่า โดยในเด็กที่หมอต้องใช้อุปกรณ์ดึงตัวเด็กออกมาขณะคลอด เพราะโอกาสที่จะเกิดโรค "คอเอียง หรือ torticollis" ในเด็กก็มีมากเช่นกัน แม้จะไม่ใช่โรคที่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็เสี่ยงที่จะทำให้เด็กสูญเสียบุคลิกภาพ จนนำไปสู่ภาวะกระดูกสันหลังส่วนคอคดตามมาได้

สาเหตุของโรคคอเอียง

ส่วนมากมักพบในเด็กครับ ส่วนสาเหตุนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน โดยสันนิษฐานว่าที่พบได้มากที่สุด เกิดจากอุบัติเหตุขณะคลอด เช่น ใช้อุปกรณ์ช่วยดึงขณะคลอดทารกออกมาจนทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนของคอ (sternocleidomastoid muscle) บาดเจ็บจนเกิดบาดแผลขึ้นภายใน เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหดรั้งและตึงในที่สุด หรืออาจเกิดจากการบิดและเอียงคอของตัวทารกมากเกินไปในขณะที่คลอด ทำให้เลือดไป่สามารถไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อคอ (sternocleidomastoid muscle) กล้ามเนื้อจึงบวมและเกิดพังผืดขึ้นมาที่กล้ามเนื้อทำให้เกิดการหดรั้งขึ้น 

นอกจากสาเหตุดังกล่าว ก็อาจเกิดจากตัวโครงสร้างกระดูกคอของเด็กเองที่มีการเจริญเติบโตไม่สมดุลกัน จึงทำให้กล้ามเนื้อทั้งสองฝั่งมีความยาวไม่เท่ากันกล้ามเนื้อจึงหดรั้งข้างหนึ่งและเกิดคอเอียงตามมา หรืออาจเกิดจากสายตาของเด็กได้ด้วยเช่นกัน เช่น เด็กที่ตาเหล่ ตาเขต่างๆทำให้ชอบเอียงคอคอมองสิ่งต่างๆจนเคยชินทำให้เกิดการหดรั้งของกล้ามเนื้อตามมาได้

ภาพเปรียบเทียบคนปกติกับคนที่เป็นโรคคอเอียง

อาการของโรคคอเอียง

ในเด็กแรกเกิดอาจจะสังเหตุเห็นยากนิดนึงครับ แต่เมื่อโตขึ้นได้ 3 เดือนจะเห็นความผิดปกติขึ้น คือ เด็กน้อยจะเอียงคอข้างใดข้างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา บางรายอาจมีอาการเอียงคอร่วมกับหันศีรษะไปยังข้างที่กล้ามเนื้อหดเกร็งอยู่ตลอดเวลา จะพบเห็นการเกร็งของกล้ามเนื้อคอส่วน sternocleidomastoid muscle ขึ้นเป็นลำ (กล้ามเนื้อ sternocleidomastoid เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านข้างของคอ โดยจะมีจุดเกาะของกล้ามเนื้อระหว่างบริเวณกกหูกับไหปลาร้า) เมื่อคลำเทียบกันทั้ง 2 ข้าง จะพบว่ากล้ามเนื้อฝั่งที่มีปัญหานั้นมีการแข็งเกร็ง และเมื่อจับศีรษะเด็กให้เอียงหรือหันไปด้านตรงข้ามจะเห็นลำกล้ามเนื้อตึงขึ้นชัดเจน และเด็กอาจจะต่อต้าน หรือดิ้นจากความไม่สบายตัวดังกล่าว ซึ่งต้องใช้ความละมุนละม่อมพอสมควรครับ

การรักษา

โรคนี้ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว หรือโรคที่รักษายากแต่อย่างใด เพียงแต่อาจจะใช้เวลานานหลายเดือนหรืออาจจะหลายปีจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเด็กจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กล้ามเนื้อก็มีการเปลี่ยนแปลงความยาวตามไปจึงต้องคอยหมั่นยืดกล้ามเนื้อตาม 

วิธีการรักษาก็คือการจับยืดกล้ามเนื้อ โดยการหันศีรษะของเด็กไปยังฝั่นงตรงข้ามกับข้างที่ตึง หรือใช้วิธีการให้เด็กน้อยบริหารคอเองโดยการ ใช้ของเล่นมาหลอกล่อให้เด็กน้อยหันหน้าไปฝั่งตรงข้ามกับข้างที่ตึง ในเวลานอน เราก็จับให้เด็กนอนควํ่าแล้วหันศีรษะไปฝั่งตรงข้ามกับข้างที่ตึงก็ได้เช่นเดียวกัน 

ในเด็กโตขึ้นมาหน่อยแพทย์อาจจะให้ใส่ปลอกคอ เพื่อปรับแนวกระดูกให้ตรงอยู่ตลอด ลดการหดรั้งของกล้ามเนื้อ ส่วนนักกายภาพอาจใช้เครื่องมือเข้าช่วยในการคลายกล้ามเนื้อ เช่น เครื่อง ultrasound, laser, การระกตุ้นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อที่หดรั้ง เป็นต้น ซึ่งนักกายภาพจะพิจารณาตามความเหมาะเป็นรายๆไปครับ 

เครดิตภาพ
- http://www.webmd.com/children/congenital-torticollis
- http://www.harrowphysiotherapy.ca/torticollis.html

2 ความคิดเห็น:

  1. หนูก้เป็นโรคคอเอียงค่ะ ตอนนี้อายุ25จะรักษาหายไหมค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ต้องลองไปปรึกษาแพทย์ดูครับ

      ลบ