ภาวะกระดูกงอก หรือที่เรียกว่า spur นั้น เกิดจากกระดูกที่เสื่อม ผุกร่อนจากการใช้งานและอายุที่มากขึ้น ร่างกายจึงซ่อมแซมส่วนที่เสียหายด้วยตัวเอง โดยการนำแคลเซี่ยมไปเกาะบริเวณนั้น แต่ทีนี้ร่างกายเราไม่ได้มีตาหรือมีเครื่องมือฉาบแบบที่ช่างก่อสร้างเขาทำกัน การเกาะของแคลเซี่ยมจึงดูตะปุ่มตะปั่มไม่ราบเรียบ และบางส่วนอาจมีปลายแหลมไปเสียดสีกับเนื้อเยื่อรอบๆทำให้เกิดอาการปวดได้ ซึ่งเป็นผลของกระดูกงอกนั่นเองครับ
แสดงว่ากระดูกงอกอันตรายน่ะสิ ?
ก็ไม่เชิงครับ เพราะโดยส่วนมากแล้วผู้สูงอายุล้วนมีกระดูกงอกตามข้อต่างๆด้วยกันทั้งหมด เพียงแต่ไม่มีอาการแสดงเท่านั้นเอง เพราะการเกิดกระดูกงอก หรือหินปูนนั้นเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายในการซ่อมแซมกระดูก ยกเว้นการเกิดกระดูกงอกจะไปเกิดบริเวณที่ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น เกิดกระดูกงอกที่กระดูกสันหลังใกล้เส้นประสาทจากภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม และเมื่อกระดูกงอกมีขนาดโตขึ้นจนไปกดเบียดเส้นประสาทไขสันหลังทำให้เกิดอาการขาชา ขาอ่อนแรง นอกจากที่กระดูกสันหลังแล้วที่พบได้บ่อยในคนไทยคือเกิดภาวะกระดูกงอกที่เข่าในผู้สูงอายุที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเกิดจากกระดูกงอกที่เกินมาไปเสียดสีกับเนื้อเยื่อรอบๆข้อเข่า ทำให้เกิดอาการปวดเสียวเข่าในขณะที่เดินนั่นเองครับ สรุปสั้นๆแล้วกระดูกงอกไม่อันตรายถ้าไม่ไปเกิดกับส่วนที่สำคัญต่อร่างกายครับผม
กระดูกงอกในผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อม
รักษากระดูกงอกให้หายไปได้มั้ย ?
สามารถรักษาให้หายได้ครับ แต่มันเป็นการรักษาที่ปลายเหตุเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปกระดูกงอกก็จะเกิดขึ้นใหม่เพราะเป็นกลไกการซ่อมแซมกระดูกตามธรรมชาติของร่างกายเรา การรักษาทางกายภาพบำบัดนั้นจะดูเป็นกรณีไปครับ เช่น เป็นกระดูกสันหลังเสื่อมแล้วกระดูกงอกไปเบียดเส้นประสาท นักกายภาพจะใช้เทคนิคการขยับข้อต่อ (mobilization) เพื่อให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นและช่วยสลายกระดูกงอกบางส่วนออกไป ซึ่งการรักษาจะใช้เวลาสั้นยาวไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับอาการที่เป็นของผู้ป่วย หรือ ในกรณีที่เป็นกระดูกงอกที่ส้นเท้า อาการจะคล้ายๆกับโรครองชํ้า เพียงแต่เมื่อ X-ray ออกมาจะเห็นกระดูกงอกที่ส้นเท้าชัดเจน แต่ในโรครองชํ้าจะไม่เห็นใน x-ray นักกายภาพจะใช้เครื่อง shock wave ซึ่งเป็นเครื่องยิงแรงดันอากาศอย่างนึงไปที่กระดูกงอก เพื่อสลายกระดูกงอกออก และซํ้าด้วยการกดจุดนั่นเองครับ
สามารถป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกงอกขึ้นมาอีกได้มั้ย ?
อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็สามารถทำได้ครับ เพราะการเกิดกระดูกงอกมันมาคู่กับกระดูกเสื่อมและผู้สูงอายุ เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกงอกเฉพาะส่วนได้ เช่น มีปัญหาเรื่องเข่าเสื่อม เข่าเสื่อมเกิดจากอะไรล่ะ? ก็เกิดจากกระดูกต้นขากับกระดูกหน้าแข้งมาชนกันจนทำให้หมอนรองกระดูกหายไปเนื้อกระดูกก็เสียหายจึงเกิดกระดูกงอกขึ้นมา แล้วต้นเหตุของเข่าเสื่อมเกิดจากอะไร? หลักๆเลยก็คืออายุที่มากขึ้น ซึ่งเราคงแก้อะไรตรงนี้ไม่ได้ ต่อมาเกิดจาก "กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง"ครับ ซึ่งเราแก้ตรงจุดนี้ได้โดยการให้ผู้ป่วยออกกำลังกายแบบ weight training ของกล้ามเนื้อขา เพื่อให้กล้ามเนื้อมีแรงพยุงข้อเข่า ไม่ให้กระดูกชิ้นบนกับชิ้นล่างมาชนกันได้จนเกิดเป็นวงจรกระดูกงอก
หรือ ในผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อมก็เช่นเดียวกันครับ ใช้การออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลาง (core stability exercise) และแบบ weight training จนกล้ามเนื้อหลังและลำตัวแข็งแรงมากขึ้นแล้ว โอกาสการเกิดกระดูกงอกที่กระดูกสันหลังก็จะน้อยลงครับ (ผมใช้คำว่าน้อยลงนะครับไม่ใช่หายไปหมด)
กินแคลเซี่ยมแล้วทำให้เกิดกระดูกงอกจริงรึเปล่า ?
ถ้าใครได้อ่านบทความมาจนถึงบรรทัดนี้ก็พอจะเดาได้นะครับว่าคำตอบคืออะไร แต่นแต้น...ไม่เป็นความจริงครับ อย่างที่ได้กล่าวไป การเกิดกระดูกงอกนั้นเกิดจากร่างกายพยายามซ่อมกระดูกที่เสียหาย แต่เพราะภายในร่างกายไม่มีตาและเครื่องมือคอยฉาบให้กระดูกเรียบเหมือนช่างปูน มันจึงเกิดเป็นกระดูกส่วนเกินขึ้นมาที่เรียกว่ากระดูกงอกนั่นเอง
ร่างกายคนเรามันก็เปรียบเสมือนโอ่งใบนึงละครับ คือรับปริมาณแคลเซี่ยมได้จำกัด ถ้ากินแคลเซี่ยมไปมากๆจนล้นโอ่ง ส่วนเกินที่กินเข้าไปก็จะถูกไตกำจัดออกไป ฉะนั้น สรุปสั้นๆก็คือ การทานแคลเซี่ยมไม่ทำให้เกิดกระดูกงอกครับผม เพียงแต่คนที่เป็นโรคไตหรือมีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคไตควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทานแคลเซี่ยมอัดเม็ดนะครับ
เครดิตภาพ
- http://www.neurocirurgiabh.com/coluna/lombalgia.html
- http://www.drjefflamour.com/heel-pain/confusion-causes-cures-heel-spur-diagnosis/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น