วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562

เคสน่าศึกษา 06 เปรียบเทียบแผ่นเสริมรองเท้า ในคนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน


เคสน่าศึกษา 06
เปรียบเทียบแผ่นเสริมรองเท้า ในคนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน

สำหรับเคสกรณีศึกษาในตอนที่ 6 นี้ ผมจะพูดถึงขา ในหัวข้อที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยนึกถึงกัน นั่นคือเรื่องขาสั้นยาวไม่เท่ากัน โดยทั่วไปแล้วคนเรามักจะขาสั้นยาวไม่เท่ากัน 100% กันแทบทุกคนอยู่แล้วนะ ซึ่งส่วนต่างที่ยอมรับได้คือ ความยาวขาทั้ง 2 ข้างต้องต่างกันไม่เกิน 2 ซม. เช่น หากวัดความยาวขาซ้ายได้ 60 ซม. แต่พอวัดความยาวขาขวาปรากฎได้ 63 ซม. นั่นหมายความว่า ขาทั้ง 2 ข้างมีส่วนต่างกันมากถึง 3 ซม. เลย ซึ่งถือว่าเกินเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ในเคสแบบนี้สิ่งที่ผมแนะนำได้ก็คือ การหาซื้อแผ่นเสริมรองเท้ามาเสริมขาในข้างที่สั้นกว่าครับ เพื่อให้ความยาวขาทั้ง 2 ข้างกลับมาสมดุลดังเดิม และเพื่อเลี่ยงอาการปวดตามส่วนต่างๆของร่างกายได้ด้วยครับ

โดยบางคนอาจจะมองว่าขาสั้นยาวต่างกันเกิน 2 ซม.ก็จริง แต่ก็ไม่เห็นจะรู้สึกว่าร่างกายตัวเองมีปัญหาอะไรเลยยังคงเดินได้ตามปกตินี่หน่า ถ้าใครที่คิดว่าขาสั้นยาวไม่เท่ากันแล้วไม่เป็นอะไร ไม่ต้องใส่แผ่นเสริมรองเท้าก็ได้ล่ะก็ ผมมีเคสตัวอย่างมาให้ดูกันครับ แล้วเปรียบเทียบให้เห็นไปเลยว่าระหว่างใส่แผ่นเสริมรองเท้ากับเท้าเปล่า เราจะเห็นความผิดปกติอะไรกันบ้างนะ

สำหรับเคสนี้มาหาผมด้วยปัญหาหัวข้อสะโพกซ้ายเสื่อม จากโรคหัวข้อสะโพกขาดเลือด (avascular necrosis) ทำให้หัวข้อสะโพกเกิดการผุกร่อนแล้วเกิดการทรุดตัวตามมา ปัญหาที่ผู้ป่วยรายนี้เป็นอยู่ก็คือ ไม่สามารถยกขาซ้ายได้เกิน 90 องศา หากฝืนยกขาสูงกว่านั้นจะรู้สึกตึงขัดภายในข้อสะโพก มีอาการตึงที่ขาหนีบบ้างเป็นบางครั้ง ในช่วงเช้าจะรู้สึกข้อสะโพกซ้ายมันหนืดๆขยับได้ลำบากเล็กน้อย 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ป่วยไม่มีอาการปวดที่ข้อสะโพกเลยนะ ไม่ว่าจะเดินเยอะ เดินนานแค่ไหนก็ตาม แถมตัวคนไข้ยังไปเต้นซุมบ้าด้วยอีกต่างหาก ซึ่งสำหรับคนที่เป็นโรคหัวข้อสะโพกขาดเลือดโดยมากมักจะมีอาการปวดข้อสะโพกมาก แล้วจะปวดมากขึ้นไปอีกเมื่อต้องเดิน ยืนเป็นเวลานานๆ มันจะปวดชนิดที่เรียกว่าแทบเดินต่อไม่ได้เลยนะ แต่รายนี้มาแปลกไม่มีปัญหาดังกล่าวเลย 

ด้วยความสงสัยผมจึงถามคนไข้เกี่ยวกับการดูแลตนเอง การกิน การอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นยังไงบ้าง ผมไข้ก็เล่าให้ผมฟัง สรุปคร่าวๆได้ว่า กินอาหารตามปกติแหละ ไม่ได้กินคลีนอะไรมากมาย แต่ที่เด่นชัดที่สุดเลยก็คือ คนไข้รายนี้ชอบการออกกำลังกายมากครับ 

รูปแบบการออกกำลังกายก็จะมีไม่กี่อย่างที่ทำซํ้าๆกัน เช่น เดินเร็ว, เล่นเครื่อง elliptical, เล่นพีลาทิส, โยคะ, เข้าคลาสเต้นบ้างนานๆครั้ง แล้วก็มียกเวทบ้างเล็กน้อย ซึ่งคนไข้ไม่ได้เล่นทั้งหมดพร้อมกันในวันเดียวนะ จะเฉลี่ยๆกันไปในแต่ล่ะวัน แต่ที่แน่ๆคือ คนไข้ออกกำลังกายเป็นประจำต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้วครับ พอคนไข้เล่าจบผมก็กระจ่างทันที เข้าใจแล้วว่าทำไมถึงไม่ค่อยมีอาการปวดข้อสะโพกเหมือนเคสอื่นๆเค้า เนื่องจากกล้ามเนื้อทั้งตัวของคนไข้แข็งแรงดีมากๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแกนกลาง (core body) ซึ่งคนที่กล้ามเนื้อแข็งแรงดีการพยุงข้อกระดูกต่างๆก็ทำได้ดี ช่วยชะลอการเสื่อมของข้อต่อคนเราได้มากเลยนะ

เครื่อง elliptical 

ดูจากลักษณะโดยรวมแล้วคนไข้รายนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนะ แต่เพื่อความสบายใจเลยอยากมาตรวจเช็คร่างกายว่า ที่ดูแข็งแรงเนี่ย จริงๆแล้วมันมีปัญหาอะไรซ้อนอยู่มั้ยน้อ ผมก็ตรวจๆๆๆๆ ตรวจจนครบก็พบปัญหาอยู่ 2 อย่าง 

1) ข้อสะโพกซ้ายติด ไม่สามารถยกขา หรือกางขาได้สุด ถ้าเป็นเคสข้อเสื่อมทั่วไป หรือปวดตึงรอบๆสะโพก ผมก็ใช้วิธีการดัดดึงให้ จนข้อต่อมันขยับได้ปกติ แต่ในคนที่เป็นโรคหัวข้อสะโพกขาดเลือดการไปดัดดึงหรือยืดข้อสะโพกไม่ควรทำนะ เพราะคนที่เป็นโรคนี้หัวข้อสะโพกมันเปราะบางในระดับนึงอยู่แล้ว การไปดัดมีความเสี่ยงทำให้ข้อมันอักเสบเพิ่ม หรือถึงขั้นหักได้เลย ที่ทำได้ก็เพียงแค่คลายกล้ามเนื้อรอบๆข้อสะโพกในจุดที่ตึงเท่านั้นครับ ไม่ได้ไปยุ่งกับข้อสะโพกเลยครับผม

2) ขาซ้ายสั้นกว่าขาขวามากพอสมควรจากหัวข้อสะโพกที่ทรุดไป โดยจะเห็นได้ชัดเวลาที่คนไข้ยืน ตัวคนไข้จะยืนเอียงมาทางซ้ายมากกว่าปกติจากขาซ้ายที่ดูสั้นกว่าครับ และในบางครั้งคนไข้ก็บอกว่า ชอบมีคนมาทักว่าขาเจ็บหรอเพราะเห็นเดินเป๋ๆไปทั้งที่ตัวเองไม่ได้เจ็บขาอะไรเลย ซึ่งในเคสนี้เราจะมาแก้ปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากันด้วยการใส่แผ่นเสริมรองเท้ากันครับผม

ทีนี้เรามาดูลักษณะกระดูกเชิงกรานของคนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน เวลาที่ไม่ได้ใส่แผ่นเสริมรองเท้าว่า มันจะมีความแตกต่างกันมากแค่ไหนนะ โดยจุด landmark ที่ใช้วัดก็คือตำแหน่ง PSIS ซึ่งเป็นปุ่มกระดูกเชิงกรานจุดหนึ่งครับ

ตำแหน่ง PSIS ที่ใช้เป็น landmark
ซึ่งตำแหน่งนี้รู้จักกันในอีกชื่อว่า ลักยิ้มก้น นั่นเองครับ

ภาพชุดที่ 1 ไม่ใส่แผ่นเสริมรองเท้า

(ภาพขวา) ภาพชุดที่ 1 ตำแหน่ง PSIS ซ้ายจะอยู่ตํ่ากว่าขวา (สังเกตุจุดสีม่วงๆ)
(ภาพซ้าย) เมื่อก้มหลัง จะเห็นหลังซีกขวาอยู่สูงกว่า เกิดจากกระดูกสันหลังที่บิด

เพื่อนๆเห็นภาพกันแล้วนะครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับระดับกระดูกเชิงกรานในคนที่ขาสั้นยาวไม่เท่ากันแล้วไม่ได้ใส่แผ่นเสริมรองเท้า เราจะเห็นว่าระดับของเชิงกรานซ้ายอยู่ตํ่ากว่าขวาอย่างเห็นได้ชัดเลย พอเห็นดังนี้แล้ว ผมก็ให้คนไข้ลองใส่แผ่นเสริมรองเท้าข้างซ้ายไป 1 แผ่น ผลก็ออกมาเป็นตามภาพด้านล่างครับ

ภาพชุดที่ 2 ใส่แผ่นเสริมรองเท้าไป 1 แผ่นที่ขาซ้าย

ภาพชุดที่ 2 (ภาพขวา) จะเห็นว่าระดับของ PSIS ซ้ายสูงขึ้นมาเล็กน้อย

หลังจากที่ผมเสริมแผ่นรองเท้าที่ขาซ้ายไป 1 แผ่น เราจะเห็นว่าระดับ PSIS ซ้ายสูงขึ้นมาเล็กน้อย เมื่อก้มหลังจะเห็นว่าหลังบิดน้อยลงแล้วนะ ต่อมาผมก็ลองเสริมแผ่นรองเท้าข้างซ้ายอีก 1 แผ่น ผลก็ออกมาตามภาพด้านล่างครับ

ภาพชุดที่ 3 เสริมแผ่นรองเท้า 2 แผ่น

ภาพชุดที่ 3 (ภาพขวา) เราจะเห็นว่าจุด PSIS ซ้ายเริ่มสูงใกล้เคียงกับขวาแล้ว

จากภาพชุดที่ 3 เมื่อเสริมแผ่นรองเท้าไป 2 แผ่นแล้ว กระดูกเชิงกรานทั้ง 2 ข้างมีระดับที่ใกล้เคียงกันแล้วนะครับ พอให้ก้มหลังจะเห็นว่ากระดูกสันหลังก็ดูบิดน้อยลงแล้วด้วยเช่นกัน แต่เท่านั้นยังไม่พอ คนไข้ได้ตัดแผ่นเสริมรองเท้าพิเศษไว้ที่รองเท้าซ้ายแล้ว เรามาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ภาพชุดที่ 4 คนไข้ตัดแผ่นเสริมรองเท้าสอดไว้ที่รองเท้าซ้ายเรียบร้อยแล้ว

ภาพชุดที่ 4 (ภาพขวา) เห็นได้ชัดเลยว่าตำแหน่ง PSIS แทบจะเท่ากันทั้ง 2 ข้างเลย

เป็นยังไงกันบ้างครับ เพื่อนๆพอจะเห็นความแตกต่างระหว่างการใส่แผ่นเสริมรองเท้ากับไม่ใส่ในคนที่ขาสั้นยาวไม่เท่ากันแล้วใช่มั้ย แล้วเพื่อสรุปภาพให้ดูง่ายๆ ผมจะยกภาพแต่ล่ะชุดมาเทียบกันให้เห็นจะๆกันเลยนะ

ภาพเหล่านี้ เทียบกันระหว่างใส่แผ่นเสริมรองเท้า 2 แผ่น กับไม่ใส่แผ่นเสริมรองเท้า

ภาพซ้าย ใส่แผ่นเสริมรองเท้า 2 แผ่น
ภาพขวา ไม่ได้เสริมแผ่นรองเท้า

ภาพซ้าย ใส่แผ่นเสริมรองเท้า 2 แผ่น
ภาพขวา ไม่ได้เสริมแผ่นรองเท้า

ส่วนภาพเหล่านี้เทียบกันระหว่างใส่แผ่นเสริมรองเท้า 1 แผ่น กับ แผ่นเสริมรองเท้า 2 แผ่น

ภาพซ้าย ใส่แผ่นเสริมรองเท้า 1 แผ่น
ภาพขวา ใส่แผ่นเสริมรองเท้า 2 แผ่น

ภาพซ้าย ใส่แผ่นเสริมรองเท้า 1 แผ่น
ภาพขวา ใส่แผ่นเสริมรองเท้า 2 แผ่น

เพื่อนๆเริ่มเห็นความสำคัญของแผ่นเสริมรองเท้าในคนที่ขาสั้นยาวไม่เท่ากันแล้วใช่มั้ยครับจากภาพที่ผมเปรียบเทียบให้ดู เพื่อนๆลองคิดตามดูนะว่า ถ้าเราเป็นคนขาสั้นยาวไม่เท่ากันมากๆ แต่ก็ไม่ได้แก้ไขอะไร โครงสร้างร่างกายเราก็จะเกิดการเปลี่ยนแผลงตามไปด้วย ในระยะยาวสิ่งที่คนเหล่านี้จะเป็นกันก็คือ จะเกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง และเกิดภาวะกระดูกสันหลังคดตามมาครับ

ความสำคัญของแผ่นเสริมรองเท้าในคนที่ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน นอกจากจะช่วยให้ระดับของเชิงกรานอยู่ในระดับเดียวกันแล้ว 
- ยังทำให้บุคคลิกการเดินของเราดีขึ้น ไม่เดินเหมือนคนขากะเผลก 
- ช่วยป้องกันการปวดหลังเรื้อรังในระยะยาวจากระดับเชิงกรานที่ไม่เท่ากันแล้วส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังซีกซ้ายขวาตึงต่างกัน 
- ป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกสันหลังคด เนื่องจากขาที่สั้นกว่าปกติข้างหนึงจะมีผลให้กระดูกสันหลังโค้งเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งอยู่ตลอดเวลาที่เรายืนหรือเดิน จนในที่สุดก็ทำให้กระดูกสันหลังโค้งเอียงถาวรจนกลายเป็นคนกระดูกสันหลังคดในที่สุด 
- ลดความเสียงจากการปวดเข่า ปวดข้อสะโพก

หลังจากอ่านบทความนี้จบ เพื่อนๆก็ลองให้คนในบ้านคลำหาตำแหน่ง PSIS หรือที่เรียกกันว่า ลักยิ้มก้นกันดูนะครับ แล้วเอาปากกามาวงๆไว้ พอยืนขึ้นก็สังเกตุดูว่าระดับ PSIS ของเรามันเท่ากันมั้ยนะ แม้วิธีนี้จะไม่ละเอียดเท่ากับการใช้สายวัดมาวัดขาเราในท่านอน ซึ่งจะรู้เป็นตัวเลขชัดเจนเลยว่าขาสั้นยาวต่างกันกี่ซ.ม. แต่อย่างน้อยเราก็พอรู้วิธีเช็คร่างกายตัวเองกันแบบคร่าวๆแล้วเนอะ ^^





วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2562

ทำไมเด็กถึงติดหมอนเน่าๆ กับตุ๊กตาเก่าๆ


ทำไมเด็กถึงติดหมอนเน่าๆ
กับตุ๊กตาเก่าๆ

(ก่อนจะอ่านบทความนี้ อยากให้เพื่อนๆลองอ่านข่าวคุณแม่ตามหาตุ๊กตาให้ลูกน้อยกันก่อนนะครับ การอ่านบทความจะได้อัตรสมากขึ้น https://baby.kapook.com/view202301.html)

หลังจากอ่านข่าวสั้นๆนี้จบ เพื่อนอาจจะนึกสงสัยว่า ทำไมเด็กถึงติดตุ๊กตาอะไรขนาดนั้น ทำไมต้องเป็นตุ๊กตายีราฟ ใช้ตุ๊กตาตัวอื่นแทนไม่ได้หรอ? 

จะว่าไปแล้ว แล้วเพื่อนๆล่ะ เพื่อนๆคนไหนมีลูกน้อยวัย 2-3 ขวบกันบ้าง ถ้ามี..เพื่อนๆอาจจะสังเกตุเห็นพฤติกรรมลูกน้อยของเราที่ไม่ว่าเวลาไปไหนก็จะมีของสิ่งนั้นติดมือไปด้วยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กตา หมอน ผ้าห่มผืนเล็ก เสื้อตัวเดิม จนของบางอย่างมันเก่ามากและดูสกปรกสุดๆแล้ว แต่เราก็ยังเห็นลูกน้อยยังคงติดของสิ่งนั้นแจไปไหนไปด้วยชนิดที่ว่า ขาดจากกันไม่ได้เลย

พ่อแม่จะขอเอาไปซักให้แล้วเอามาคืน จะเปลี่ยนของใหม่ให้ก็ไม่ยอม หรือถ้าเราแอบเอาตุ๊กตาที่ลูกติดแจนั้นไปซักแล้วเอามาคืนใหม่ ลูกก็ร้องไห้โยเย ต้องเอาตุ๊กตาที่ดูสกปรกๆมาคืนให้ได้ ทำไมเด็กๆถึงมีพฤติกรรมแบบนั้น แล้วพฤติกรรมนี้บ่งบอกว่าเด็กเป็นคนขี้กลัวรึเปล่า เรามาหาคำตอบกันครับ

ภาพข่าวตามหาตุ๊กตายีราฟของคุณแม่

ก่อนที่ผมจะพูดถึงว่าทำไมเด็กถึงติดสิ่งของเก่าๆอย่างผ้าห่ม หรือตุ๊กตาตัวโปรด ผมก็ต้องเล่าย้อนกลับไปในวัยทารกของเด็กเหล่านั้นกันก่อนนะครับ

ในวัยทารกที่ลูกน้อยของเรายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ได้แต่นอนอยู่บนเตียงร้องอ้อแอ้ไปมา แล้วทารกก็มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปมาได้ง่ายเหลือเกิน เดี๋ยวก็หัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ ซึ่งการร้องไห้เพราะต้องการดูดนม รู้สึกไม่สบายตัวจากการฉี่รดผ้าอ้อม หรือจากการเป็นไข้ยังพอเข้าใจได้ แต่ในบางครั้งพ่อแม่ปล่อยให้ทารกนอนเล่นอยู่บนเตียงเฉยๆ จู่ๆเด็กน้อยดันร้องไห้จ้าขึ้นมาดื้อๆ พอพ่อแม่เข้ามาปลอบก็หยุดร้อง แต่พอพ่อแม่ผละจากลูกไปได้สักพักเด็กน้อยก็ร้องไห้จ้าขึ้นมาใหม่ เป็นแบบนี้วนไปวนมาแทบทั้งวันทั้งคืน สังเกตุช่วงนี้จะเป็นช่วงที่พ่อแม่ต้องตื่นกลางดึกมาโอ๋ลูกบ่อยสุดแล้วล่ะครับ

ทีนี้ เพื่อนๆสงสัยกันมั้ยครับว่า ทำไมทารกถึงต้องร้องไห้เรียกร้องความสนใจให้พ่อแม่มาอุ้ม มาโอ๋เราทั้งๆที่ไม่ได้หิว ไม่ได้ป่วยด้วย?

เรื่องนี้เป็นผลมาจาก "สัญชาตญาณการผูกพันกับพ่อแม่" ของทารกครับ ในวัยทารกถือว่าเป็นวัยที่เด็กน้อยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองใดๆได้เลย ต้องพึ่งพาการดูแลจากพ่อแม่ทั้งหมดเพื่อการอยู่รอด ซึ่งการที่เด็กน้อยร้องไห้ก็เพื่อเป็นการเรียกร้องความสนใจแล้วจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่เข้ามาหาก็จะมีการอุ้ม การโอ๋ การสัมผัส การคุยหยอกล้อในแบบที่เด็กๆชอบ 

ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์แบบนี้แหละที่จะทำให้เด็กเกิดความรักความผูกพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกขึ้น และการที่ที่พ่อแม่เข้ามาอุ้ม เข้ามาสัมผัสทารกบ่อยๆจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นคงในจิตใจมากขึ้น ซึ่งจะมีผลในระยะยาวเมื่อเด็กโตขึ้นจะทำให้เป็นเด็กที่กล้าแสดงออก กล้าพบเจอผู้คน กล้าลองสิ่งใหม่ๆมากขึ้น

นอกจากสัญชาตญาณการผูกพันแล้ว ยังมีอีกสัญชาตญาณนึงที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของทารกเช่นเดียวกัน นั่นคือ สัญชาตญาณการอยากเล่น อยากค้นหา อยากลองสิ่งใหม่ๆอยู่ตลอด ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อการเติบโตเช่นกัน เนื่องจากการเล่นถือว่าเป็นการฝึกทักษะอย่างหนึ่งของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างมนุษย์เรา เป็นการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวทำงานอย่างไร ซึ่งการเรียนรู้นี้จำเป็นต่อการอยู่รอดในอนาคต

แต่ปัญหาคือ ทั้งสัญชาตญาณการผูกพัน และ สัญชาตญาณการเล่นนั้น มันทำงานขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง คือ สัญชาตญาณการผูกพันเป็นการทำงานที่ทำให้เด็กอยากอยู่ใกล้พ่อแม่ตลอด แต่สัญชาตญาณการเล่น การสำรวจโลกจะทำให้ทารกต้องอยู่ห่างจากพ่อแม่ไป ดังนั้น จึงต้องมีการรักษาสมดุลของทั้ง 2 อย่างนี้ไว้ ระบบที่ว่านี้เราเรียกกันว่า "secure base" หรือ "ฐานที่มั่น" ฐานที่มั่นที่ว่านี้ก็คือพ่อแม่นั่นเองครับ

เมื่อใดก็ตามที่เด็กรู้สึกว่าตนมีความปลอดภัยเพียงพอแล้วสัญชาตญาณการเล่นจึงจะทำงานได้ และการเล่นก็จะดำเนินไปได้เรื่อยๆ แต่เมื่อเด็กรู้สึกว่าตนไม่ค่อยรู้สึกปลอดภัย กลัวขึ้นมาจะหยุดเล่นทันทีแล้วก็จะรีบกลับไปหาฐานที่มั่นเพื่อเพิ่มความรู้สึกปลอดภัยให้ตนเองขึ้น แต่ถ้าเด็กหาฐานที่มั่นไม่เจอก็จะมีอีกกลไกหนึ่งที่เข้ามาทำงานแทน นั่นก็คือการแหกปากร้องไห้ ซึ่งเสียงของเด็กจะเป็นเสียงที่น่ารำคาญมากจนพ่อแม่ทนไม่ไหวต้องรีบเข้ามากอด มาโอ๋เพื่อให้เด็กหยุดร้อง แล้วการที่พ่อแม่เข้ามากอดเด็กจะทำให้เด็กได้เติมเต็มความรู้สึกปลอดภัยในฐานที่มั่นของตนเองจนเต็ม เด็กจึงหยุดร้องแล้วออกไปเล่นได้ตามเดิม

ดังนั้น เพื่อนๆพอจะทราบกันแล้วนะครับว่าทำไมทารกถึงร้องไห้เมื่ออยู่ห่างจากพ่อแม่ไปนานๆ (นานสำหรับเด็กล่ะนะ) แต่ถ้ายังจับประเด็นไม่ได้ ผมก็จะสรุปสั้นๆเลยก็คือ การที่เด็กร้องก็เพื่อเติมความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ตัวเด็กเอง ซึ่งกลไกดังกล่าวเกิดจากสัญชาตญาณความผูกพันของเด็กที่ต้องการให้พ่อแม่เลี้ยงดูเด็กเพื่อความอยู่รอดของตัวเด็กน้อยเองครับ แล้วถ้าพ่อแม่คอยดูแลให้ความรักความอบอุ่น เล่นกับลูกน้อย มีปฏิสัมพันธ์กับลูกน้อยอยู่เสมอตั้งแต่ทารก จะทำให้เด็กน้อยมีความกล้าแสดงออกที่มากขึ้น เนื่องจากเด็กยิ่งรู้สึกปลอดภัยเท่าไหร่ สัญชาตญาณการเล่น การสำรวจก็ยิ่งทำงานได้ดีขึ้นเท่านั้นครับ

ภาพข่าวตามหาตุ๊กตายีราฟของคุณแม่

เอาล่ะครับ หลังจากที่ผมปูพื้นฐานเรื่องสัญชาตญาณ และความรู้สึกปลอดภัยในฐานที่มั่นของเด็กไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะทราบกันแล้วว่า ทำไมเด็กถึงติดหมอนเน่าๆ กับตุ๊กตาเก่าๆด้วย

ทีนี้ เมื่อเด็กๆโตขึ้นอยู่ในวัย 2-3 ขวบ สมองของเด็กพัฒนาขึ้น เด็กจะสามารถใช้ความคิด จินตนาการ และความทรงจำมากขึ้น จากความอบอุ่นในอ้อมกอดของพ่อแม่ก็จะถูกส่งผ่านไปยังสิ่งของที่นุ่นสบาย เช่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา หมอนตัวเดิมๆที่ตนเองจำได้ (แล้วต้องเป็นสิ่งของที่จับถือมือเดียวได้ด้วยนะ) พูดง่ายๆก็คือ เด็กจะเปลี่ยนฐานที่มั่นของพ่อแม่ไปเป็นฐานที่มั่นแบบพกพาได้ 

เมื่อเด็กสามารถนำฐานที่มั่นพกพาไปไหนก็ได้ เด็กก็จะเรียนรู้ผจญภัยในโลกที่กว้างได้ไกลขึ้น แต่ถ้าเด็กต้องออกเดินทางแล้วไม่มีฐานที่มั่นพกพาไปด้วยล่ะก็ เด็กจะร้องโวยวายทันทีต้องเอาผ้าห่ม หรือตุ๊กตาที่ติดมือประจำไปด้วย เอาอย่างมาทดแทนไม่ได้เลย ต้องตัวเดิมเท่านั้น ต่อให้ใหม่กว่า หอมกว่าแค่ไหนเด็กก็ไม่ยอมอยู่ดีต้องตัวเดิมเท่านั้น (เพราะเด็กรู้สึกผูกพันไปแล้วว่าของสิ่งนี้คือความปลอดภัย คือฐานที่มั่นของฉันไม่มีอะไรมาทดแทนกันได้)

หลังจากอ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆพอจะเข้าใจความคิดของเด็กกันแล้วรึยังครับ ว่าทำไมเด็กน้อยถึงติดหมอนเน่าๆ ตุ๊กตาเก่าๆ อะไรนะครับ.. ยังไม่เข้าใจหรอ อยากให้ผมสรุปอีกที โอเค ได้ครับ 

สรุปสั้นๆเลยก็คือ การที่เด็กติดหมอนเน่าๆ ตุ๊กตาเก่าๆก็เนื่องมาจาก สิ่งของเหล่านั้นทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา เพราะสิ่งของเหล่านั้น เปรียบเสมือนฐานที่มั่นทางจิตใจของเด็ก ที่ทำให้เด็กอยู่ใกล้แล้วรู้สึกว่าตนเองปลอดภัย แล้วเมื่อมีของอยู่ใกล้ตัวจะทำให้เด็กกล้าออกไปเผชิญโลกกว้างมากขึ้น มีความกล้าแสดงออก แต่ถ้าขาดสิ่งของตัวโปรดไป จะทำให้เด็กรู้สึกไม่มีความมั่นคงทางจิตใจนั่นเองครับผม 

หลังจากนี้ หากเพื่อนๆท่านไหนที่มีลูกน้อยวัยเตาะแตะอยู่แล้วเกิดลูกน้อยดันติดตุ๊กตาตัวนั้นแจขึ้นมา ให้เปลี่ยนตุ๊กตาตัวอื่นก็ไม่ยอม จะเอาไปซักให้ก็ไม่ให้ หลังจากอ่านบทความนี้จบ เพื่อนๆคงเข้าใจความคิดของเด็กกันแล้วเนอะ แล้วก็ระวังอย่าให้ตุ๊กตาของเด็กตัวนั้นหายด้วยล่ะ ^^










วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

เคสน่าศึกษา 05 วิเคราะห์ท่าวิ่ง ทำไมวิ่งแล้วถึงปวดฝ่าเท้า



เคสน่าศึกษา 05 
วิเคราะห์ท่าวิ่ง ทำไมวิ่งแล้วถึงปวดฝ่าเท้า

เหมือนกับเคสอื่นๆที่ผมเคยยกตัวอย่างไปในเคสน่าศึกษาก่อนหน้าที่พูดถึงโครงสร้างร่างกาย ถ้าโครงสร้างร่างกายคนเราไม่อยู่ในแนวปกติมันก็ทำให้เราเกิดอาการปวดร่างกายต่างๆนาๆได้ แม้เราจะไม่ได้ทำงานที่ต้องใช้แรงงานเยอะ ไม่ต้องแบกหาม แค่ทำงานอยู่ในออฟฟิศสบายๆ แต่ถ้านั่งผิด ยืนผิด จนโครงสร้างร่างกายไม่สมดุลไม่ช้าก็เร็วอาการปวดก็เกิดขึ้นได้แน่นอน 

ไม่เว้นแม้แต่คนที่ร่างกายแข็งแรงดี ออกกำลังกายสมํ่าเสมอ กำลังกล้ามเนื้อดีเยี่ยม แต่โครงสร้างร่างกายบางส่วนไม่แข็งแรง หรือมีความผิดปกติไป การออกกำลังกายอย่างใดอย่างหนึ่งจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการปวด อาการบาดเจ็บได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกายด้วยซํ้านะ 

เช่นเดียวกับคนไข้รายนี้ที่ชอบวิ่งออกกำลังกายเป็นประจำ แล้วมีอาการปวดฝ่าเท้าซ้าย กับก้นซ้ายอยู่บ่อยๆเวลาซ้อมวิ่ง ซึ่งคนไข้รายนี้บอกเองว่า ถ้าทำงานอยู่เฉยๆใช้ชีวิตตามปกติก็ไม่มีอาการปวดใดๆ แต่เมื่อไปวิ่งเท่านั้นแหละอาการจะเริ่มมา แล้วจะปวดฝ่าเท้าเยอะขึ้นเมื่อวิ่งระยะทางไกลๆ (ประมาณ 10 กิโลเมตรขึ้น) 

ทำไมคนไข้รายนี้ถึงปวดฝ่าเท้าขณะวิ่งแทนที่จะเป็นส้นเท้าเหมือนคนอื่นๆ แล้วอาการปวดก้นซ้ายมันเกี่ยวกับท่าวิ่งหรือไม่ เรามาวิเคราะห์ไปด้วยกันเลยครับ...

ก่อนอื่นผมอยากให้เพื่อนๆดูคลิปขณะที่วิ่งกันหน่อยนะครับว่าพบเห็นความผิดปกติอะไรบ้าง ตามลิงค์ด้านล่างเลย

ดูท่าวิ่งจากด้านหลัง ความเร็วปกติ คลิ๊ก

ดูท่าวิ่งจากด้านหลัง แบบ slow motion คลิ๊ก 

ผมเชื่อว่าหลังจากที่เพื่อนๆดูคลิปท่าวิ่งทั้งแบบความเร็วปกติ และแบบ slow motion ไปแล้ว อาจจะนึกบ่นอยู่ในใจว่า "ฉันกำลังดูอะไรอยู่เนี่ย ไม่เห็นว่ามันจะผิดปกติตรงไหนเลยก็แค่คนวิ่ง" มาครับ เราจะมาแยกดูกันเป็นส่วนๆ ซึ่งผมพบเห็นความผิดปกติแบบชัดเจนอยู่ 2 ส่วน 

ส่วนที่ 1 : ฝ่าเท้าซ้ายแบน ขณะที่เท้าลงนํ้าหนัก

การจะสังเกตุว่าเท้าแบนหรือไม่ขณะที่คนไข้มีการเคลื่อนไหวอาจจะดูยากไปหน่อยสำหรับคนทั่วไป แต่เพื่อให้ง่ายต่อการสังเกตุ เพื่อนๆดูภาพประกอบด้านล่างเลยครับ

เท้าซ้ายแบนขณะลงนํ้าหนักขา 

ซูมภาพใกล้ๆ จะเห็นฝ่าเท้าซ้ายมันพับเข้าด้านใน

เพื่อนๆจะเห็นชัดกันแล้วนะครับว่า ฝ่าเท้าซ้ายของคนไข้มันพับเข้าด้านใน แล้วพอลากเส้นจากส้นเท้าขึ้นไปถึงข้อเข่าจะเห็นเลยว่า มุมที่เอ็นร้อยหวายมันทำมุมแหลมเข้าด้านในอย่างเห็นได้ชัด ทีนี้เรามาดูเท้าขวาเพื่อเป็นการเปรียบเทียบกันบ้าง

เท้าขวาปกติขณะลงนํ้าหนัก

ซูมภาพใกล้ๆขณะที่เท้าขวาลงนํ้าหนัก ซึ่งถือว่าปกติดี

เมื่อดูเท้าขวาจะเห็นชัดเลยว่า ขณะที่เท้าขวาลงนํ้าหนัก ฝ่าเท้าไม่ได้มีการพับแบนเข้ามาด้านในแต่อย่างใด พอลากเส้นก็จากส้นเท้าขึ้นไป เส้นก็ไม่ได้ทำมุมแหลมเหมือนกับเท้าซ้ายเลย สำหรับเท้าขวาถือว่าโครงสร้างปกติดี

ซึ่งการที่ฝ่าเท้าซ้ายของคนไข้มันแบน นั่นหมายความว่าตัวพังผืดใต้ฝ่าเท้าถูกยืดออก ร่วมกับโครงสร้างกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นในเท้าไม่ค่อยแข็งแรงมากนัก แล้วการที่เราวิ่งออกกำลังกายมันจะมีการลงนํ้าหนักเท้าซํ้าๆกันเป็นเวลานาน ตัวพังผืดมันก็ถูกยืดซํ้าแล้วซํ้าเล่าจนเกิดการฉีกขาดขึ้นบางส่วน แล้วถ้าคนไข้วิ่งระยะทางที่ไกลมากขึ้นตัวพังผืดใต้ฝ่าเท้าก็ยืดซํ้าๆมากกว่าเดิม การฉีกขาดจึงเกิดขึ้นเยอะกว่า 

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมอาการปวดฝ่าเท้าถึงมากขึ้นเมื่อคนไข้วิ่งระยะทางที่ไกลขึ้นนั่นเองครับ

 ลักษณะของพังผืดใต้ฝ่าเท้าที่เกาะจากส้นเท้าไปปลายเท้า

เมื่อลงนํ้าหนักที่เท้า พังผืดจะถูกยืดออก 
แต่คนที่เท้าแบน หรือโครงสร้างเท้าไม่แข็งแรง พังผืดจะถูกยืดออกมากกว่าเดิม

ส่วนที่ 2 : สะโพกขวาตก ขณะที่เท้าซ้ายลงนํ้าหนักอยู่  

ต่อมาในส่วนที่ 2 เป็นเรื่องของอาการปวดสะโพกซ้าย โดยคนไข้แจ้งว่า หากไปวิ่งระยะทางไกลๆ (ประมาณ 10 กิโลเมตรขึ้นไป) จะเริ่มมีอาการปวดก้นซ้ายขึ้นมา แต่ไม่มากเท่ากับที่เท้าซ้าย

ทีนี้เรามาดูท่าวิ่งกันว่า ทำไมคนไข้รายนี้วิ่งระยะทางไกลๆแล้วถึงทำให้ปวดมากก้นซ้ายได้ คลิ๊กดูที่ลิงค์ VDO ด้านล่างได้เลยครับ

ดูท่าวิ่งด้านหน้าและหลัง ในสนามจริง คลิ๊ก

และก็เช่นเคย หลังจากที่เพื่อนๆดูจบก็คงยังจับประเด็นไม่ถูกอีกอยู่ดีว่า "ฉันกำลังดูอะไรกันแน่ ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติเลย" มาครับ ดูภาพประกอบด้านล่างกันเลย

ภาพซ้าย ขณะลงนํ้าหนักที่เท้าขวา สมดุลของสะโพก 2 ข้างเท่ากัน
ภาพขวา ขณะลงนํ้าหนักเท้าซ้าย สะโพกขวาจะอยู่ตํ่ากว่าสะโพกซ้ายเล็กน้อย

เมื่อลากเส้นเปรียบเทียบจะเห็นเป็นภาพนี้
เราจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เมื่อคนไข้วิ่งเป็นระยะทาง 10 กิโลเมตรขึ้นไป 
เนื่องจากระยะทางที่ยาวกล้ามเนื้อจะยิ่งล้า แล้วจะคุมความสูงตํ่าสะโพกทั้ง 2 ข้างได้ยากขึ้น

ซึ่งความสูงตํ่าระหว่างสะโพกทั้ง 2 ข้าง แม้จะไม่เห็นชัดแบบเป๊ะๆมากนัก แต่ด้วยกิจวัตรที่คนไข้มักจะซ้อมวิ่งเกือบทุกวัน มันจึงเกิดการล้าสะสมของกล้ามเนื้อสะโพกแล้วทำให้เกิดอาการปวดได้ในที่สุด 

แล้วการที่สะโพกสูงตํ่าไม่เท่ากันขณะวิ่ง ทำให้เกิดอาการปวดก้นซ้ายได้ยังไง?

ต้องอธิบายแบบนี้ก่อนว่า ลักษณะที่ลงนํ้าหนักเท้าข้างใดข้างหนึ่ง แล้วดูว่าสะโพกฝั่งตรงข้ามยังอยู๋ในระดับเดียวกันอยู่หรือไม่นั้น จะเรียกการทดสอบนี้ว่า trendelenburg test ซึ่งเป็นการทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพกที่มีชื่อว่า gluteus medius 
ภาพแสดงการทดสอบ trendelenburg test
สะโพกซ้ายตก บ่งบอกถึงกล้ามเนื้อ gluteus medius ขวาอ่อนแรง

โดยหน้าที่หลักของกล้ามเนื้อมัดนี้คือ กางขาออกไปด้านข้าง (hip abduction) และยังมีหน้าที่สำคัญอีกอย่างก็คือ คุมสะโพกฝั่งตรงข้ามไม่ให้ตกลงมา ซึ่งในคนไข้รายนี้ลงนํ้าหนักที่เท้าซ้าย แต่สะโพกขวามันตกลงมา ไม่อยู่ในระนาบเดียวกัน นั่นบ่งบอกว่ากล้ามเนื้อ gluteus medius ข้างซ้ายอ่อนแรงอยู่ 

แล้วการที่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง 100% แต่ต้องมาใช้งานให้คุมระดับสะโพกทั้ง 2 ฝั่งให้เท่ากันตลอดระยะทางที่วิ่งยาวๆเกือบทุกวันกล้ามเนื้อจึงล้าสะสม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไข้จะมีอาการปวดก้นซ้ายเมื่อวิ่งไปได้ระยะทางไกลๆ เนื่องจากกล้ามเนื้อมันล้ามากจนทนไม่ไหวแล้วนั่นเองครับ

อีกอย่างหนึ่ง ในขณะที่คนไข้วิ่งระยะทางไกลๆ ตัวคนไข้จะรู้สึกว่าเข่าเบียดจนเข่าด้านในมันสีกันในบางครั้ง ซึ่งการที่เข่าเบียดเข้าหากันในขณะวิ่งก็เป็นผลมาจากกล้ามเนื้อ gluteus medius อ่อนแรงเนี่ยแหละครับ อย่างที่บอกไปว่า หน้าที่ของกล้ามเนื้อมัดนี้คือ การกางขา (hip abduction) เมื่อแรงในการกางขาไม่ค่อยมี กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่หุบขาที่อยู่ตรงต้นขาด้านในจึงมีแรงมากกว่า (hip adductor) จึงดึงให้ขามันหุบเข้ามาเยอะกว่าที่ควรจะเป็นในขณะวิ่ง จึงทำให้คนไข้รู้สึกเข่าด้านในของตนมันเบียดกันนั่นเองครับ

ภาพแสดงตำแหน่งของกล้ามเนื้อ gluteus medius

รูปแบบการรักษา

สำหรับรูปแบบการรักษาของคนไข้รายนี้ผมแบ่งเป็น 2 ส่วนอีกเช่นกัน นั่นคือ...

ส่วนที่ 1 : แก้ที่เท้าซ้าย

สำหรับการแก้ที่เท้านั้น ผมได้เช็คโครงสร้างเท้าซ้ายของคนไข้รายนี้แล้วพบว่าเป็นคนที่มีโครงสร้างเท้าแบนเล็กน้อย แต่พอให้ขยุ้มเท้าซ้ายหน่อยๆปรากฎว่า เท้าของคนไข้ดูปกติดีเลย พอให้ลองออกกำลังกายเท้าโดยการขยุ้มเท้าหลายๆครั้ง ยืนเขย่งปลายเท้า ยืนขาเดียวก็ทำได้ดีไม่มีปัญหาใดๆ นั่นหมายความว่าจริงๆกำลังกล้ามเนื้อในเท้าซ้ายก็แข็งแรงดีอยู่ แต่ด้วยลักษณะการวางเท้าขณะวิ่งไม่ดี จึงทำให้เผลอวิ่งลงนํ้าหนักที่ฝ่าเท้าด้านในจนเป็นนิสัยแล้วทำให้เท้าแบนได้ในที่สุด 

ซึ่งวิธีแก้ก็อยู่ที่ตัวคนไข้เองเลยครับ คือ ผมแนะให้คนไข้เวลายืน เดิน หรือวิ่ง ให้พยายามขยุ้มเท้าซ้ายหน่อยๆอยู่ตลอดเวลา แล้วปรับการวางเท้าซ้าย โดยให้พยายามลงนํ้าหนักที่ข้างเท้าทางด้านนอก แทนการลงนํ้าหนักที่ฝ่าเท้าด้านใน 

แล้วเสริมการออกกำลังกายกล้ามเนื้อในเท้าเพิ่มโดยการให้ฝึกยืนขาเดียวบนพื้นนุ่มๆ เช่น หมอนในใหญ่ พื้นทราย หรือโซฟา เหตุที่ให้ยืนบนพื้นนุ่มๆเนื่องจากจะเป็นการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อในเท้าได้ออกแรงนั่นเองครับผม ถ้ากล้ามเนื้อในเท้ามีความแข็งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ การวางเท้าขณะวิ่งก็จะทำได้ดีด้วยเช่นเดียวกัน

หรือจะออกกำลังกายยืนขาเดียวที่เป็นท่าประยุกต์ตามรูปด้านล่างก็ได้เช่นกัน แต่กำลังกล้ามเนื้อต้องแข็งแรงในระดับนึงแล้วนะ

ภาพตัวอย่างการฝึกยืนขาเดียว เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อในเท้าแข็งแรง

ภาพตัวอย่างการฝึกยืนขาเดียว

กระโดดข้ามเส้น 4 มุม

ส่วนที่ 2 : ออกกำลังกายกล้ามเนื้อ gluteus medius ข้างซ้าย

การออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดนี้ก็เพื่อให้สมดุลของระดับสะโพกทั้ง 2 ฝั่งเท่ากัน และยังมีผลให้คนไข้ไม่เผลอไปวิ่งเข่าเบียดเข้าหากันด้วยครับ เพราะการที่เราวิ่งเข่าเบียดเข้าหากันมากๆ มันจะมีผลให้เราเผลอไปลงนํ้าหนักที่ฝ่าเท้าด้านในได้ง่ายกว่าเดิม แล้วทำให้การแก้เท้าแบนไม่หายขาดซะทีครับ

ซึ่งท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดนี้ก็ลองดูท่าบริหารง่ายๆได้ที่คลิปนี้นะครับ https://youtu.be/H2L4qz_aoYg 

แต่ถ้ารู้สึกว่าท่าเหล่านี้มันง่ายเกินไป ก็เข้าไปดูลิงค์ของช่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันได้ที่ลิงค์นี้เลยนะ ท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อ gluteus medius 

ตัวอย่างการฝึกกล้ามเนื้อ gluteus medius แบบง่ายๆ
(ในภาพจะออกกำลังข้างขวานะครับ)

ตัวอย่างการฝึกกล้ามเนื้อ gluteus medius แบบง่ายๆ
(ในภาพจะออกกำลังข้างขวานะครับ)

สรุป สำหรับเคสนี้ก็แก้กันอยู่แค่ 2 จุดเท่านั้น คือเรื่องเท้าซ้ายแบนขณะวิ่งลงนํ้าหนัก และกล้ามเนื้อ gluteus medius ซ้ายอ่อนแรง แต่ผมอยากจะแนะนำเพิ่มเติมสำหน่อยสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการวิ่งออกกำลังกายเป็นประจำ ผมอยากจะแนะนำว่าให้พยายามไปออกกำลังกายประเภทอื่นๆร่วมด้วย เช่น weight training, pilates, โยคะ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อทั่วทุกส่วนของร่างกายได้ใช้งานทั่วถึงกันหมด

เพราะถ้าเราเอาแต่วิ่งอย่างเดียว มันก็จะเป็นการใช้งานแต่กล้ามเนื้อมัดเดิมๆ กลุ่มเดิมๆ แต่กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นเลย ในระยะยาวมันจะมีผลให้สมดุลของกล้ามเนื้อเสียไป คือ เวลาเราวิ่ง เราใช้แต่กล้ามเนื้อส่วนด้านหน้า แต่กล้ามเนื้อด้านข้าง ด้านหลัง ไม่ค่อยได้ถูกใช้งานความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจึงไม่ทั่วถึงกัน แล้วจะมีผลทำให้เราบาดเจ็บได้ในระยะยาวอีกด้วย

ฉะนั้น แบ่งเวลามาออกกำลังกายอย่างอื่นบ้างด้วยนะ

เพื่อนๆสามารถติดตาม ปรึกษาพูดคุย หรือต้องการนัดจองเวลาเข้าคลินิก สามารถติดต่อผ่านทาง facebook/doondoobody ได้เลยนะครับ



วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562

เรื่องเล่าจากคนไข้ 03 ศัลยกรรมเสริมหน้าผาก แต่ทำไมปวดตึงคอ?



เรื่องเล่าจากคนไข้ 03 
ศัลยกรรมเสริมหน้าผาก แต่ทำไมปวดตึงคอ?

ไม่นานนี้มีคนๆข้ที่รู้จักกันรายหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า "ไปหาหมอศัลยกรรมให้ผ่าที่หน้าผากมาหลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์รู้สึกตึงคอไปหมดเลย แค่ขยับลูกตาไปมาก็รู้สึกสะท้านไปถึงคอแล้วมันเกิดจากอะไรหรอคะ?"

หลังจากที่ฟังคนไข้เล่ามาแบบนี้ผมก็ยังงงๆอยู่เล็กน้อยว่าทำไมถึงไปผ่าศัลยกรรมหน้าผากหว่า จึงถามไปเพิ่มเติมว่า... 
ผม : "ทำไมคุณนุ่น (นามสมมติ) ถึงไปไปศัลยกรรมหน้าผากล่ะครับ?"
นุ่น : "คือว่า ในอดีตตัวเองเคยไปฉีดฟิลเลอร์ที่หน้าผากตามประสาคนอยากสวยเพิม่ขึ้นอ่ะค่าาาาา หลังจากฉีดเสร็จหมอก็บอกว่า ตัวฟิลเลอร์มันจะสลายไปเองภายในปีหรือสองปีนะไม่ต้องห่วง แต่นี่ผ่านมา 3 ปีจะ 4 ปีแล้ว รู้สึกว่าฟิลเลอร์ที่หน้าผากมันยังอยู่เหมือนเดิมเลย นุ่นเลยกลัวว่าตัวฟิลเลอร์มันจะไหลลงเข้าตารึเปล่าจึงไปหาหมออีกท่านเพื่อศัลยกรรมเอาฟิงเลอร์ออกค่ะ"
ผม : "แล้วพอจะจำได้มั้ยครับว่าหมอที่ขูกเอาฟิลเลอร์ออกเค้าทำอะไรกับหน้าผากของเราบ้าง?"
นุ่น : "หมอก็ใช้มีดกรีดเหนือไรผมกว้างประมาณ 5 ซม.ค่ะ จากนั้นหมอก็เปิดผิวหนังที่หน้าผากแล้วใช้เครื่องมืออะไรมั้ยรู้เข้าไปแซะ เข้าไปขูดที่หน้าผาก ซึ่งทำแรงมากเลยนะคะ ได้ยินเสียงดังแคว๊กๆตอนที่หมอขูดตลอดเลย แต่ไม่เจ็บนะคะเพราะได้รับยาชาอยู่"
ผม : "ครับผม แล้วยังไงต่อครับ?"
นุ่น : "หลังจากขูดเสร็จ หมอก็เย็บปิดปากแผลตามปกติค่ะ แต่ไม่นานหลังหมดฤทธิ์ยาชา นุ่นรู้สึกปวดหัวมาก ปวดเหมือนหัวจะระเบิดเลยค่ะ มันปวดมากจริงๆ ซึ่งนุ่นก็คิดว่าคงเป็นเพราะผลจากการผ่านะ จึงกินยาลดปวดลดอักเสบไป ไม่นานอาการปวดหัวก็หายไปค่ะ แล้วก็กินยาลดปวดมาตลอดจนอาการปวดมันหายสนิทเรียบร้อยแล้ว"
ผม : "เล่าต่อเลยครับ?"
นุ่น : "ค่ะ จากกวันที่ผ่าเอาฟิลเลอร์ออกได้ประมาณ 2 สัปดาห์อาการปวดหายสนิทแน่นอน แต่อาการใหม่มันก็เกิดขึค้นมาแทนนั่นคือ นุ่นรู้สึกว่าตัวเองเวลาหันหน้าซ้ายขวากิมหน้าเงยหน้า โดยเฉพาะเงยหน้าจะรู้สึกตึงคอด้านหลังมากเลย นั่งขับรถแล้วรถสะเทือนก็รู้สึกว่ามันไปกระตุ้นอาการตึงที่คอด้วยนะ แถมระยะหลังแค่กรอกตาไปมาก็รู้สึกสะท้านไปถึงคอแล้วค่า อาการแบบนี้มันเกิดจากอะไรหรือคะ มันอันตรายมั้ย?"
ผม : "อาการปวดคอด้านหลังที่ว่า มันมีชา ปวดร้าวลงแขนหรือปวดไปที่อื่นอีกมั้ยนอกจากคอ แล้วมันปวดแค่ไหนครับ?"
นุ่น : "จริงๆแล้วมันไม่ถึงกับปวดอะไรมากมายนะคะ มันตึงๆแบบรำคาญมากกว่า ไม่มีร้าวไปไหนกระจุกอยู่แค่ที่คอเวลาที่มีการเคลื่อนไหวตั้งแค่คอขึ้นไป รวมถึงลูกก่ะตาด้วยค่ะ แล้วก็ไม่มีชานะคะ"

คนไข้เล่ามาถึงตรงนี้ผมก็สรุปได้ทันทีเลยว่า อาการตึงคอที่คุณนุ่นเผชิญอยู่มันเป็นผลมาจากตัวพังผืดใต้ผิวหนัง (fascia) ทางด้านหลังตรงส่วนคอมันตึงครับ ซึ่งการตึงของพังผืดมันเป็นกลไกป้องกันร่างกายของเราครับ คือ ถ้าเนื่อเยื่อส่วนไหนบาดเจ็บ ฉีกขาด เป็นแผลไม่ว่าจะที่ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อก็ตามแต่ พังผืดบริเวณนั้นจะเกิดการหนาตัวขึ้นทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเกิดการฉีกขาดไปมากกว่าเดิมนั่นเองครับ 

เส้นขาวๆใสๆที่ดึงขึ้นมานั้นคือพังผืดที่หุ้มเนื้อไก่อยู่

จริงๆแล้วเนื้อเยื่อไม่ต้องถึงขั้นฉีกขาดพังผืดมันก็หนาตัวได้ด้วยกรณีอื่นเช่นกันนะ เช่น ผมลองให้เพื่อนๆเดินเท้าเปล่าตลอดเวลาไปว่าจะอยู่ในบ้าน นอกบ้านติดต่อกัน 1 เดือน สิ่งที่เพื่อนๆจะสังเกตุเห็นได้ชัดเลยก็คือ ผิวหนังที่ฝ่าเท้าโดยเฉพาะส้นเท้าของเรามันจะหนาตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งถ้าทั้งชีวิตไม่เคยใส่รองเท้าแล้วเดินบนพื้นขรุขระตลอดทั้งชีวิต ฝ่าเท้าของคนๆนั้นจะหนามากชนิดที่หนามจากต้นงิ้วตำไม่เข้าเลยก็มีนะ (ต้นงิ้วที่เป็นต้นไม้จริงๆนะ ไม่ใช่ต้นงิ้วที่อยู่ในนรก) 

หรืออีกกรณีในคนที่ชอบคุกเข่า หรือชอบเท้าศอกกับโต๊ะบ่อยๆจะเห็นว่าผิวหนังบริเวณนั้นมันด้านมากขึ้น แล้วเวลาที่ผิวด้าน มันไม่ได้ด้านแค่ผิวหนังนะ พังผืดใต้ผิวมันก็หนาตัวขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งกลไลเหล่านี้เป็นไปเพื่อปกป้องไม่ให้กล้ามเนื้อ หรือข้อกระดูกบริเวณที่ต้องมีการเสียดสีบ่อยๆต้องบาดเจ็บเสียหายจากแรงกดซํ้าๆนั่นเองครับ 

จะเห็นว่าพังผืดที่หนาขึ้นมันก็มีประโยชน์ในตัวมันเองอยู่แล้วนะครับ แต่บางกรณีพังผืดเกิดหนาผิดที่ก็ทำให้เราเกิดอาการปวด อาการชาได้เช่นเดียวกัน อย่างกรณีพังผืดหนาตัวที่ข้อมือจากการทำงานนั่งโต๊ะนานๆของคนทำงานออฟฟิศ โดยเฉพาะการจับเม้าส์นะ นั่นก็คือโรค carpal tunnel syndrome ซึ่งผมไม่ขอลงรายละเอียดโรคนี้นะ หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมคลิ๊กดูคลิปได้ที่ลิงค์นี้เลยครับ 5 วิธีลดปวด ลดชา ที่ข้อมือนิ้วมือ จากโรค carpal tunnel syndrome

เส้นขาวๆใสๆคือเส้นใยพังผืดที่เกาะกันอยู่ระหว่างชั้นกล้ามเนื้อ

คุณดูนบอกว่า ถ้าบาดเจ็บตรงไหนพังผืดก็จะหนาตัวขึ้นตรงนั้น แต่ในเคสคุณนุ่น เค้าผ่าที่หน้าผากแถวไรผมด้านหน้าแล้วทำไมไปตึงคอได้ล่ะ?

โอเค เรื่องนี้ต้องอธิบายลึกขึ้นไปอีกสักเล็กน้อย คือ พังผืดมีอยู่ทุกที่ทั่วร่างกายเรา หุ้มกล้ามเนื้อเพื่อแยกชั้นกล้ามเนื้อด้วยกัน หุ้มกล้ามเนื้อเพื่อแยกชั้นระหว่างผิวหนังไม่ให้มันติดกัน หุ้มเส้นประสาทบางจุด บางจุดก็ทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ เป็นตัวประสานรอยต่อระหว่างกล้ามเนื้อกับกระดูก แล้วที่สำคัญนะครับ การเรียงตัวของพังผืดมันไม่ได้เรียงตัวมั่วๆนะ มันมีการเรียงตัวพังผืดตามลายกล้ามเนื้อแต่ล่ะส่วนอย่างมีระเบียบแบบแผน แล้วมีการเชื่อมต่อกันทุกจุดตั้งแต่หัวจรดเท้าเหมือนกับเป็นสายโซ่ที่คล้องต่อกัน

ภาพกล้องจุลทรรศน์ความละเอียดสูง 
จะเห็นว่าพังผืดหุ้มไปถึงเส้นใยกล้ามเนื้อแม้ในส่วนที่เล็กที่สุด

แล้วแนวพังผืดก็มีการเรียงตัวหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าที่เรียงต่อกันผ่านกล้ามเนื้อตั้งแต่ปลายเท้าจนไปถึงด้านหน้าคอ เรียงตัวด้านข้าง  เรียงตัวแบบไขว้กันเป็นรูปกากบาท เรียงตัวตามแนวกล้ามเนื้อมัดลึก เรียงตัวต่อกันทางด้านหลัง เป็นต้น 

ซึ่งกรณีของคุณนุ่นนั้น การที่คุณนุ่นเกิดการตึงคอทั้งที่ผ่าหน้าผากก็เนื่องมาจาก แนวพังผืดที่ทางด้านหลัง (superficial back line) มันตึงครับ ซึ่งแนวพังผืดทางด้านหลังมันเริ่มต้นจาก (ดูภาพประกอบด้านล่าง) ฝ่าเท้า -> เอ็นร้อยหวาย -> น่อง -> กล้ามเนื้อ hamstring -> เชองกรานด้านหลัง -> กล้ามเนื้อหลัง -> คอทางด้านหลัง -> ท้ายทอย -> กระโหลกศีรษะ -> แล้วก็พาดมาเกาะที่หัวคิ้วทางด้านหน้า 

ภาพด้านหลัง เส้นพังผืดทางด้านหลัง (superficial back line) เส้นสีฟ้าๆที่เกาะตามแนวกล้ามเนื้อ

ภาพด้านหน้า จะเห็นว่าพังผืดมาเกาะถึงหัวคิ้ว

เมื่อดูจากรูปตามแนวที่พังผืดเกาะอยู่บนกล้ามเนื้อทางด้านหลังเหล่านี้แล้ว เพื่อนๆจะเห็นว่าพังผืดเส้นนี้มันเกาะจากเท้ายาวถึงคอด้านหลังแล้วไปจบที่หัวคิ้วเลย ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่การผ่าตัดที่หน้าผากของคุณนุ่นจะทำให้ตึงที่คอได้นั่นเองครับ 

ผมเสริมอีกเล็กน้อยก่อนจะจบบทความนี้ นอกจากเคสที่ผ่าตัดศัลยกรรมที่ใบหน้าจะเกิดอาการตึงแปลกๆแบบนี้แล้ว บางรายเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น รถล้มศีรษะแตกต้องผ่าตัดเปิดกะโหลก โดนมีดจามหัวเย็บหลายสิบเข็ม แต่พอรักษาจนหายดีแผลแห้งสนิท สมองปกติดี ไม่มีโรคแทรกซ้อนใดๆ แต่ยังเหลืออาการตึงรอบๆศีรษะ รู้สึกเหมือนมีคนบีบกะโหลกในบางครั้ง รู้สึกตึงในหัวแบบจับจุดไม่ได้ หรือตึงลงคอเวลาหันหน้าไปมา ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากพังผืดที่หนาตัวเนี่ยแหละครับ

เส้นพังผืดทางด้านหลัง เมื่อมองจากด้านข้าง

อ๋อ รู้แล้วว่าอาการตึงเหล่านี้เกิดจากพังผืด แล้วทีนี้อาการตึงจากพังผืดจะหายไปได้เมื่อไหร่กันล่ะ?

ในกรณีของเคสคุณนุ่นจะใช้เวลาที่ร่างกายสมานบาดแผล แล้วซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บจนหายดี เมื่อเนื้อเยื่อที่โดนกรีดปิดสนิทดีแล้ว พังผืดจะค่อยๆลดความเหนียวความหนาของตัวเองลง ซึ่งเคสที่ผ่าแค่ผิวๆแบบนี้จะใช้เวลา 6-8 สัปดาห์โดยประมาณก็หายได้โดยที่เราไม่ต้องรักษาอะไรเพิ่มเติมครับ

แต่ในกรณีที่ต้องผ่าตัดใหญ่มีการผ่าลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อกระดูก การตึงรั้งของพังผืดก็จะหนามากขึ้น แล้วกินวงกว้างมากขึ้นแน่นอน เช่น กรณีที่ต้องผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนเอว คนไข้อาจจะรู้สึกตึงทั่วทั้งแผ่นหลัง แล้วตึงยาวลงไปถึงก้นถึงต้นขาหลังเลยก็ได้ กว่าจะหายตึงก็ใช้เวลาประมาณ 12-16 สัปดาห์ บางรายอาจตึงค้างเป็นปีก็มี ซึ่งเคสเหล่านี้นักกายภาพก็จะช่วยเหลือโดยการใช้การนวดรีดกล้ามเนื้อ หรือเทคนิคการคลายพังผืดให้มีความอ่อนลง (myofascial release) เป็นต้น

สรุป เหตุที่คุณนุ่นผิวหน้าผากแล้วตึงคอ เป็นผลมาจากแนวพังผืดทางด้านหลัง (superficial back line) เฉพาะส่วนของคอกับหน้าผากเกิดการตึงขึ้น จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าว ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อนคุณนุ่นก็จะหายได้เองโดยใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์นะครับ

ทีนี้ถ้าเพื่อนๆคนไหนมีญาติหรือเพื่อนๆที่มีอาการใกล้เคียงกับที่คุณนุ่นเป็นอยู่ ก็ลองนำความรู้เหล่านี้ไปบอกต่อกันนะครับ เชื่อว่าจะช่วยคลายความกังวลใจที่ประสบอาการเหล่านี้อยู่ไม่มากก็น้อยนะครับผม





วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2562

ท่ายืนแต่ล่ะท่า บอกถึงอาการปวดแต่ล่ะส่วน



ท่ายืนแต่ล่ะแบบ
บอกถึงอาการปวดแต่ล่ะส่วน

เพื่อนๆเคยสังเกตุตัวเองกันมั้ยว่า ลักษณะท่าทางการยืนของตัวเรานั้นยืนกันแบบไหน แล้วที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ท่าทางการยืน หรือบุคคลิกการยืนของเรานั้นส่งผลให้เกิดอาการปวดแต่ส่วนได้ด้วยเช่นกันนะ

เหมือนกับคนไข้ของผมหลายคนที่มารักษากับผมเท่าไหร่ก็ไม่ยอมหายขาดซะที ทั้งๆที่ออกกำลังกายได้ตรงตามโปรแกรมที่ผมบอกไปเป๊ะๆแล้วแท้ๆแต่ก็ไม่หาย เพราะติดโจทย์ตัวสุดท้ายที่ยังแก้ไม่ได้ นั่นก็คือ พฤติกรรมการยืนนั่นเองครับ ฉะนั้น ในบทความนี้เรามาทำความรู้จักท่าทางการยืนแต่ล่ะแบบกันดีกว่า เริ่มจาก...

1) หลังค่อม ไหล่ห่อ (thoracic kyphosis, round shoulder)

ท่ายืนปกติ เทียบกับยืนหลังค่อม ไหล่ห่อ

ในอดีตสำหรับท่ายืนไหล่ห่อ-หลังค่อมจะพบได้ในผู้สูงอายุเป็นส่วนมากซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรมันเป็นไปตามอายุล่ะนะ แต่ปัจจุบันนี้เป็นที่น่าตกใจ เพราะคนที่มีปัญหาหลังค่อมไหล่ห่อมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยอายุที่น้อยที่สุดที่ผมเจอคือ 13 ปี หลังค่อมจนเหมือนคนแก่เลย แล้วโดยส่วนมากก็มาจาก life style การใช้ชีวิตที่ชอบก้มหน้าเล่นมือถือ นั่งอยู่หน้าจอคอมนานเกินไป

อย่างเด็กอายุ 13 ที่ผมรักษานั้น เจ้าตัวบอกเองเลยว่า "ที่ผมหลังค่อม ไหล่ห่อเพราะผมเล่นเกมส์เยอะมากครับ ช่วงปิดเทอมจะเล่นเกมส์วันล่ะ 12 ช.ม. ถ้าเปิดเทอมก็จะอยู่หน้าคอมวันล่ะ 6-8 ช.ม. เป็นแบบนี้ทุกวันจนหลังค่อมเลยครับ" ผมฟังแล้วแบบตะลึงนิดๆ นั่งหน้าคอมตั้งครึ่งวันเลยหรือนี่ อายุแค่นี้ยังร่างกายมีปัญหาขนาดนี้แล้ว ถ้าโตเป็นผู้ใหญ่อาการจะแย่ขนาดไหนล่ะนี่

จริงอยู่ที่การปรับแก้ท่าทางจากหลังค่อมไหล่ห่อให้กลับมาอยู่ในท่าตรงตามอุดมคติจะไม่ใช่เรื่องยาก แค่ออกกำลังกายกล้ามเนื้อปีกสะบักให้แข็งแรง ยืดส่วนหน้าอกที่ตึง ฝึกกล้ามเนื้อคอด้านหลังให้แข็งแรง อาจมีการดัดกระดูกสันหลังช่วงทรวงอกอีกเล็กน้อยก็จบแล้ว แต่ปัญหาที่แก้ยากที่สุดก็คือ พฤติกรรมเนี่ยแหละครับ เพราะเวลาเรานั่งทำงาน หรือเล่นมือมือ เรามักไม่รู้หรอกว่าเราอยู่ผิดท่ารึเปล่า กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ปวดคอบ่าไหล่หลังไปหมดแล้ว

มองจากด้านหลังของคนไหล่ห่อ หลังค่อม

สำหรับคนที่มีบุคคลิกการยืนหลังค่อมไหล่ห่อจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อตึงและยืดเกินไปไม่สมดุลกัน ดังนี้

กล้ามเนื้อส่วนที่ตึงเกินไป : 
- กล้ามเนื้อแผงหน้าอก เช่น pectoralis major และ pectoralis minor
เหตุที่ 2 มัดนี้ตึงเกินไปเนื่องจาก ไหล่ที่ห่อจะมีผลให้พื้นที่ว่างระหว่างหน้าอกและหัวไหล่มีพื้นที่น้อยลง พอมีพื้นที่น้อยลงกล้ามเนื้อหน้าอกที่อยู่ตรงนั้นจึงต้องหดตัวให้เส้นใยกล้ามเนื้อมันอยู่ชิดเข้าหากันมากขึ้นตามพื้นที่ว่างที่แคบลง พอผู้ป่วยอยู่ในบุคคลิกนี้ไปนานๆเข้าจึงทำให้กล้ามเนื้อแผงหน้าอกตึงได้นั่นเอง

ปล. ถ้ากล้ามเนื้อ pectoralis minor ตึงมากๆจะทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรค TOS ได้ ดูรายละเอียดโรค TOS ได้ในคลิปนี้ครับ https://youtu.be/6ThAv7xU8fQ

- กล้ามเนื้อคอด้านหลัง เช่น upper trapezius, levator scapulae, suboccipitals เป็นต้น
เหตุที่กล้ามเนื้อคอทางด้านหลังตึงมากขึ้นเนื่องจาก โดยธรรมชาติของหลังค่อมทั้งหัวแล้วหลังของเรามันจะก้มโค้งให้หัวเราจะไปปักพื้น แต่ถ้าเราก้มหน้าตามสรีระของกระดูกสันหลังที่โค้งอยู่ตลอด จะทำให้เรามองทางข้างหน้าลำบาก เราจึงต้องเงยหน้ามากกว่าปกติเพื่อให้มองทางได้ แล้วการที่เราเงยหน้านานๆในคนหลังค่อมก็เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อคอด้านหลัง (neck extensor) ต้องออกแรงอยู่ตลอดเวลา พอออกแรงนานๆเข้าก็เกิดการตึงตามมาในที่สุด

กล้ามเนื้อ latissimus dorsi

- กล้ามเนื้อควบคุมหัวไหล่บางมัด เช่น latissimus dorsi
กล้ามเนื้อ latissimus dorsi เป็นอีกมัดที่ทำให้เกิดไหล่ห่อได้ เนื่องจากจุดเกาะส่วนปลายของกล้ามเนื้อมัดนี้จะไปเกาะที่ด้านหน้าหัวไหล่ ถ้ามัดนี้ตึงมันจะออกแรงดึงให้แขนเราบิดหมุนเข้าด้านในจนทำให้เราดูเป็นคนไหล่ห่อได้

กลุ่มกล้ามเนื้อคอมัดลึก (deep neck flexor) ทางด้านหน้า

กล้ามเนื้อที่ยืดเหยียดเกินไป :
- กล้ามเนื้อคอด้านหน้า เช่น กลุ่มกล้ามเนื้อ deep neck flexor ที่ประกอบไปด้วย rectus capitus anterior, rectus capitus lateralis, longus capitus, longus coli
เหตุที่กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ถูกยืดเกินไปก็เป็นผลจากการที่เราเงยหน้าอยู่ตลอดในคนที่หลังค่อมนั่นเองครับ โดยปกติโครงสร้างของกล้ามเนื้อกลุ่มนี้มันทำหน้าที่ก้มหน้า แล้วเพื่อที่เราจะเงยหน้าได้ กลุ่มนี้ต้องยอมให้ตัวเองยืดเหยียดออกให้ยาวขึ้นนั่นเอง

- กลุ่มกล้ามเนื้อสะบัก เช่น middle trapezius, lower trapezius, rhomboid เป็นต้น
แล้วเหตุที่กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ถูกยืดเกินไป เป็นผลจากกล้ามเนื้อแผงหน้าอกที่ตึงมากดึงให้ไหล่ห่อ หลังค่อม แล้วด้วยขนาดกล้ามเนื้อหน้าอกที่เป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่มีกำลังมากกว่า ทำให้กล้ามเนื้อแถวสะบักถูกดึงยืดตามการหดตัวของกล้ามเนื้อหน้าอกในที่สุด

สรุป คนที่มีบุคคลิกแบบหลังค่อม ไหล่ห่อมักจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อช่วงคอด้านหลัง บ่า และสะบักมากที่สุด ตามลักษณะของกล้ามเนื้อที่ตึง และถูกยืดมากเกินไปจนขาดความสมดุล ซึ่งคนทั่วไปจะรู้จักอาการปวดแบบนี้ในชื่อโรคออฟฟิศ ซินโดรมนั่นเองครับผม

วิธีแก้ด้วยตนเอง
- วิธีดัดหลังค่อม https://youtu.be/1F9SzJdmuho
- วิธีบริหารสะบักให้แข็งแรง https://youtu.be/NQu2n_mPFmw
- วิธียืดหน้าอกที่ตึงให้คลาย https://youtu.be/AcfFOxOCU9o
- วิธีแก้คอยื่น https://youtu.be/VRFIp9NbOtU

2) ยืนคอยื่น (forward head posture)

ท่ายืนปกติ เทียบกับยืนคอยื่น

สำหรับบุคคลิกการยืนแบบที่ 2 นี้จะคล้ายคลึงกับแบบแรกนะ แต่ต่างกันตรงที่แบบที่ 2 จะมีปัญหาแค่คอยื่นเท่านั้น ซึ่งคนที่จะมีบุคคลิกแบบนี้ได้ เท่าที่ผมสัมภาษณ์คนไข้มานั้นเกิดจาก...

- ชอบนอนหมอนสูง :
บางคนใช้หมอนใบใหญ่และหนากว่าตัวเองมากเมื่อเทียบกับขนาดตัว หรือไม่บางคนก็นอนหมอน 2 ใบ ทำให้ศีรษะถูกดันมาด้านหน้าตลอดเวลาที่นอนหลับ สรีระของคอจึงเปลี่ยนไปกลายเป็นคนคอยื่นได้

- หนุนหมอนสูงดู TV :
ในบางครั้งผมถามว่าคนไข้ว่า ชอบนอนหมอนสูงรึเปล่ามันเลยทำให้คุณดูเป็นคนคอยื่น คนไข้ก็บอกว่าผมนอนหมอนใบเล็กมากเลยนะ ไม่น่าจะเกิดจากนอนหมอนสูงหรอก จากนั้นก็ซักประวัติคุยกันไปๆมาๆก็พอจะเดาได้ว่าคนไข้รายนี้เป็นคนคอยื่นจากการที่เค้าชอบนอนดู TV โดยเค้าจะเอาหมอนหลายๆใบมาไว้ที่หัวเพื่อให้คอตั้งแล้วจะได้ดู TV ได้สะดวก แล้วทำพฤติกรรมแบบนี้มาหลายปีแล้ว พอคนไข้เล่ามาแบบนี้ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงคอดูยื่นจัง ในอีกเคสก็คล้ายๆกัน เพียงแต่รายนี้เกิดจากพฤติกรรมชอบเล่นมือถือแล้วเอาหมอนมารองคอเยอะๆ จะได้ไม่ต้องยกแขนสูงให้เมื่อย

ภาพบุคคลิกคอยื่น (forward head posture) เมื่อมองจากด้านหลัง

- ชอบเดินก้มหน้า :
พฤติกรรมคนที่ชอบเดินก้มหน้าตลอดเวลานั้น โดยส่วนใหญ่มาจากความเคยชินซะมากกว่า

- นั่งหลังตรง แต่คอยื่นเอง :
เคสทำนองนี้ผมพบบ่อยในคลินิก เป็นเคสที่เคยเป็นหลังค่อมไหล่ห่อมาก่อน จนแก้ปัญหาได้หมดแล้ว เหลือแต่เพียงคอยื่นที่ยังแก้ไม่หายขาดซะที เนื่องจากขณะนั่งทำงานหน้าคอม หรือทำงานเอกสาร ตัวคนไข้จะพยายามนั่งหลังตรง เปิดไหล่ได้ตลอดตามที่ผมแนะนำให้ฝึก แต่เมื่อเจอจุดที่น่าสนใจในงานหน้าคอม ศีรษะของคนไข้จะยื่นไปใกล้หน้าจอคอมเองโดยที่เค้าไม่รู้ตัวเลย เพราะตัวคนไข้โฟกัสไปที่หลังตรง กับเปิดไหล่เป็นหลักจนลืมส่วนของคอไป หรืออีกประเภทก็มาจากสายตาสั้นด้วยนะ ที่ต้องพยายามยื่นหน้าไปใกล้หน้าจอคอมเพราะมองไม่ชัดจนกลายเป็นบุคคลิกคอยื่นได้ในที่สุดนั่นเองครับ

เทียบความต่างระหว่างหลังค่อมไหล่ห่อ กับคอยื่นอย่างเดียว

สำหรับคนที่คอยื่นจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อตึงและยืดมากเกินไป ดังนี้

ส่วนที่ตึงเกินไป :
- กล้ามเนื้อคอด้านหลัง เช่น upper trapezius, levator scapulae, suboccipitals เป็นต้น
คนที่คอยื่นกล้ามเนื้อคอทางด้านหลัง (neck extensor) จะเกิดการหดตัวและเกร็งอยู่ตลอดเวลา เพราะกล้ามเนื้อกลุ่มนี้ต้องทำหน้าที่เกร็งไม่ให้ศีรษะก้มพับลงไป แล้วยิ่งคอเรายื่นออกมามากเท่าไหร่ กล้ามเนื้อคอด้านหลังก็ยิ่งต้องออกแรงเกร็งมากขึ้นเท่านั้น

ส่วนที่ยืดมากเกินไป :
- กล้ามเนื้อคอด้านหน้า เช่น กลุ่มกล้ามเนื้อ deep neck flexor ที่ประกอบไปด้วย rectus capitus anterior, rectus capitus lateralis, longus capitus, longus coli

สรุป คนที่มีบุคคลิกคอยื่น (forward head posture) มักจะมีอาการปวดคอทางด้านหลัง ปวดตึงที่ท้ายทอยจากกล้ามเนื้อคอส่วนนั้นที่ออกแรงเกร็งอยู่ตลอดเวลานั่นเองครับ จะมีบ้างที่อาการปวดช่วงปีกสะบักบนอยู่บ้างจากกล้ามเนื้อ levator scapulae ที่เกาะอยู่ระหว่างปีกสะบักบนกับกระดูกคอ

วิธีแก้ด้วยตนเอง
ดูคลิปฝึกหดคอตามคลิปนี้นนะครับ https://youtu.be/VRFIp9NbOtU

3) ยืนหลังแบน (flat back)

ท่ายืนปกติ เทียบกับคนหลังแบน

สำหรับบุคคลิกการยืนหลังแบน (flat back) จะเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่าเป็นการยืนแบบ posterior pelvic tilt ก็ได้นะครับ เหตุที่หลังดูแบนๆไม่มีส่วนโค้งเว้าใดๆเลยเกิดจากตัวกระดูกเชิงกรานมีการหมุนไปทางด้านหลัง ถ้านึกภาพไม่ออกดูรูปที่ด้านล่างเลยครับ

เปรียบเทียบท่ายืนส่งผลให้เชิงกรานหมุนไปหน้าหลังต่างกัน

จากภาพจะเห็นว่า รูปตรงกลางคือลักษณะของคนที่ยืนหลังแบน จะเห็นว่าตัวกระดูกเชิงกรานมันมีการบิดหมุนไปยังด้านหลัง (การหมุนของเชิงกรานไปด้านหลังมันคือการทำ posterior pelvic tilt) แนวกระดูกสันหลังส่วนล่างจึงถูกยืดให้ตรงจนส่วนโค้งแทบไม่เห็นเลย จึงทำให้คนที่ยืนแบบนี้จะดูว่าเป็นคนหลังแบนได้นั่นเองครับ

แล้วสำหรับคนที่ยืนหลังแบนแบบนี้นานๆจะทำให้เกิดการตึงและยืดมากเกินไปของกล้ามเนื้อ ดังนี้

ส่วนที่ตึงเกินไป :
- กล้ามเนื้อหน้าท้อง คือ กล้ามเนื้อ rectus abdominis (กล้ามเนื้อส่วนที่คนชอบโชว์ซิกแพ็กกันนั่นแหละครับ) 
เนื่องจากคนที่ยืนแบบหลังแบน ตัวกระดูกเชิงกรานมันบิดหมุนไปด้านหลัง ทำให้พื้นที่ว่างของช่วงท้องมีน้อยลง กล้ามเนื้อหน้าท้องจึงต้องเกิดการหดตัวตาม แล้วพอหดตัวนานๆเข้าก็เกิดการตึงในที่สุดนั่นเองครับ

ภาพแสดงตำแหน่งกล้ามเนื้อก้นแต่ล่ะมัด

- กล้ามเนื้อก้นมัดใหญ่ คือ กล้ามเนื้อ gluteus maximus 

- กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง คือ กล้ามเนื้อ hamstrings โดยทั้งกล้ามเนื้อก้นและกล้ามเนื้อต้นขาหลังจะมีหน้าที่หลักในการเหยียดขาไปยังด้านหลัง ซึ่งการที่เรายืนหลังแบน (flat back หรือ posterior pelvic tilt) กระดูกเชิงกรานจะหมุนไปด้านหลัง แล้วกล้ามเนื้อทั้ง 2 มัดนี้มันเกาะอยู่ระหว่างกระดูกต้นขากับกระดูกเชิงกรานทางด้านหลัง ผลก็คือ การยืนแบบนี้มันทำให้กล้ามเนื้อทั้ง 2 ส่วนนี้เกิดการหดตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วเมื่อกล้ามเนื้อออกแรงแบบนี้เป็นเวลานานๆเข้าก็ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งค้างได้ในที่สุด

ภาพแสดงกล้ามเนื้อตึงและถูกยืดแต่ล่ะส่วนของคน flat back 

ส่วนที่ถูกยืดเกินไป : 
- กล้ามเนื้อ iliopsoas กล้ามเนื้อมัดนี้ หลักๆแล้วจะทำหน้าที่ในการยกขาขึ้น (hip flexor) เหมือนกับการยกขาก้าวข้ามสิ่งกีดขวางนั่นแหละครับ ซึ่งการที่เรายืนหลังแบนนานๆ กล้ามเนื้อมัดนี้จึงถูกลดอิทธิผลลงจากตัวกล้่ามเนื้อก้นและต้นขาหลังซึ่งทำหน้าที่ตรงข้ามกับกล้ามเนื้อ iliopsoas ผลก็คือกล้ามเนื้อมัดนี้จึงอ่อนแรงลงในที่สุด

กลุ่มกล้ามเนื้อ iliopsoas

- กล้ามเนื้อหลัง เช่น กล้ามเนื้อ erector spinae เหตุที่กล้ามเนื้อหลังถูกยืดเนื่องจาก จุดเกาะของกล้ามเนื้อหลังส่วนหนึ่งไปเกาะที่ขอบกระดูกเชิงกรานทางด้านหลัง เมื่อเชิงกรานบิดหมุนไปด้านหลัง มันจึงเหมือนเป็นการยืดกล้ามเนื้อหลังไปในตัว

ภาพแสดงของคนบุคคลิกยืนหลังแบน

สรุป คนที่ยืนหลังแบนจนเป็นนิสัยมักจะมีอาการปวดหลังแบบกว้างๆ ปวดทั้งแผ่นหลัง

ส่วนวิธีการแก้หลังแบนแบบทำเองนั้น ผมแนะนำ 1 ท่าบริหารนะครับ ให้ทำภาพด้านล่างเลยก็คือ ให้เรานอนหงายยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ จากนั้นก็ออกแรงเหยียดแขนเหยียดขาไปคนล่ะฝั่ง ให้มีความรู้สึกว่ามีคนมาจับยืดตัวเราให้ยาวออก ค้างไว้ 10 วินาที จะสังเกตุเห็นว่าขณะที่เรายืดตัวอยู่ กระดูกสันหลังส่วนเอวจะดูมีส่วนโค้งเพิ่มมากขึ้นครับผม ท่านี้สามารถทำได้บ่อยที่ต้องการเลยครับ 

หรือจะใช้การฝึกท่า superman ก็ช่วยได้เช่นกันครับผม

ท่าบริหารแก้หลังแบน

4) ยืนก้นงอน (anterior pelvic tilt, hyperlordosis of lumbar spine)

ท่ายืนปกติ เทียบกับคนก้นงอน (หลังแอ่น)

สำหรับท่ายืนก้นงอนนั้น ถือว่าเป็นท่าตรงข้ามกับยืนหลังแบนเลยล่ะครับ โดยท่านี้มันคือการทำ anterior pelvic tilt หรือก็คือการหมุนเชิงกรานไปด้านหน้านั่นเองครับ ซึ่งท่านี้จะพบเห็นได้บ่อยในผู้หญิงนะ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบุคคลิกการนั่งการยืนที่พยายามนั่งหลังให้ตรงตลอด แต่ในบางครั้งเราจะไม่เห็นตัวเองว่าลักษณะการนั่งของเรามันตรงพอดี หรือว่าตรงมากเกินไปจนทำให้หลังเราแอ่นได้นั่นเองครับ

ภาพแรกคือลักษณะการยืน anterior pelvic tilt ที่เชิงกรานจะหมุนไปด้านหน้ามากกว่าปกติ

สำหรับกล้ามเนื้อส่วนที่ตึงและถูกยืดเกินไปนั้นจะตรงข้ามกับท่ายืนหลังแบนทุกประการเลยครับ โดยมีดังนี้

ส่วนที่ตึงเกินไป : 
- กล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง คือ กล้ามเนื้อ erector spinae จากลักษณะการยืนที่ก้นมันกระดกขึ้น ถ้าดูจากรูปจะเห็นว่าตรงแผ่นหลังของผมจะดูโค้งมากขึ้น และมีพื้นที่ว่างน้อยลง จากลักษณะสรีระแบบนี้จึงเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหลังส่วนล่างเกิดการหดตัวค้าง แล้วเมื่ออยู่ในท่านี้นานๆเข้าก็ทำให้เกิดการตึงได้

- กล้ามเนื้อ iliopsoas กล้ามเนื้อมัดนี้ทำหน้าที่ยกต้นขาขึ้น (hip flexion) ซึ่งการที่เรายืนก้นงอนก็เหมือนเป็นการไปบังคับให้กล้ามเนื้อมัดนี้ต้องออกแรงอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มัดนี้จะตึงขึ้น แล้วคนที่มีบุคคลิกการยืนก้นงอนแบบนี้นานๆ พอผมกดคลายที่กล้ามเนื้อ iliopsoas ซึ่งอยู่แถวๆหน้าท้องเข้า ตัวคนไข้จะรู้สึกปวดมากถึงมากที่สุดเลยนะ

ลักษณะกล้ามเนื้อตึงและถูกยืดของคนหลังแอ่น

ส่วนที่ถูกยืดเกินไป : 
- กล้ามเนื้อหน้าท้อง คือ กล้ามเนื้อ rectus abdominis โดยคนที่ยืนก้นงอน (หรือจะเรียกว่าหลังแอ่นก็ได้) จะมีจุดเด่นก็คือคนเหล่านี้จะดูเหมือนเป็นคนมีพุงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งลักษณะบุคคลิกแบบนี้ถ้าสังเกตุในรูปด้านบน จะเห็นว่าบริเวณช่วงท้องมันจะมีพื้นที่ยาวมากขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหน้าท้องจึงถูกยืดอยู่ตลอดเวลา แล้วเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ในที่สุด คนที่เป็นแบบนี้มานานถ้าได้ฝึก sit up เค้าจะรู้สึกได้ทันทีว่า ไม่สามารถยกตัวขึ้นมาได้เลย และที่สำคัญคือขณะฝึกจะปวดหลังได้ง่ายด้วยนะ

- กล้ามเนื้อก้น คือ กล้ามเนื้อ gluteus maximus 

- กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง คือ กล้ามเนื้อ hamstrings จากลักษณะกระดูกเชิงกรานที่บิดหมุนไปด้านหน้า กล้ามเนื้อก้น และต้นขาหลังที่มีจุดเกาะระหว่างต้นขากับเชิงกรานด้านหลังมันก็เกิดถูกยืดตามไปด้วยตามลักษณะโครงสร้างของกระดูก ซึ่งถ้าคนที่มีลักษณะก้นงอนแบบนี้ไปวิ่งออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการวิ่งเร็ว จะเกิดอาการปวดที่กล้ามเนื้อ hamstrings ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป 

เนื่องจากกล้ามเนื้อ hamstrings มีหน้าที่อีกอย่างคือ ชะลอความเร็วของการเหยียดเข่าขณะวิ่งเพื่อให้การวิ่งของเราดูสมู้ดที่สุด แล้วมัดนี้ถูกยืดอยู่ตลอดเวลาจนอ่อนแรงอยู่แล้ว พอไปใช้งานหนักๆโดยการวิ่งเข้าเส้นใยกล้ามเนื้อมัดนี้จึงง่ายต่อการฉีกขาด

ภาพมองจากด้านหลังในคนที่ก้นงอน จะเห็นว่าร่องกระดูกสันหลังจะลึกมากขึ้น

สรุป คนที่มีบุคคลิกการยืนก้นงอนแบบนี้นานๆ มักจะมีอาการปวดที่หลังส่วนล่าง (แถวเอว) มากที่สุด แล้วถ้าเล่นกีฬาที่เกี่ยวกับการวิ่งเร็วก็จะง่ายต่อการปวดกล้ามเนื้อ hamstrings 

ส่วนวิธีการรักษานั้น ในเคสแบบนี้ถือว่าค่อนข้างซับซ้อนนะ ผมคงไม่สามารถสรุปการรักษาด้วยตนเองออกมาได้หมดเพราะมันต้องแก้เกือบทั้งตัวครับ แต่แนะนำให้ลองอ่านกรณีศึกษาที่ผมได้รักษาคนไข้ที่มีบุคคลิกยืนก้นงอนตามลิงค์นี้เลยครับ เคสน่าศึกษา 02

5) ยืนพุงยื่น (sway back)

ท่ายืนปกติ เทียบกับคนพุงยื่น 

ท่ายืนพุงยื่น (sway back) ถือว่าเป็นท่ายืนที่ถ้าไม่สังเกตุให้ดีจะเข้าในผิดว่าเป็นท่าเดียวกับยืนก้นงอนเลยก็ได้นะครับ เพราะมองผ่านๆจะเห็นว่าทั้ง 2 ท่านี้ยืนคล้ายๆกันคือ พุงยื่นออกมาด้านหน้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราจะไม่ใช้พุงเป็นจุดสังเกตุหรอกครับ เราจะมองไปที่กระดูกเชิงกรานเป็นหลัก 

โดยถ้าเป็นลักษณะก้นงอน (anterior pelvic tilt) จะเห็นว่าก้นมันกระดกขึ้นแล้วหลังจะแอ่นมาก แต่ในท่ายืนแบบพุงยื่น (sway back) ก้นจะไม่ได้กระดกขึ้นแต่อย่างใด แต่จะเป็นลักษณะการยืนทิ้งนํ้าหนักตัวไปข้างหน้ามากกว่าปกติ ซึ่งคนที่ยืนพุงยื่นจับความรู้สึกการลงนํ้าหนักเท้าตัวเองดีๆ เค้าจะรู้สึกว่าตัวเองยืนลงนํ้าหนักที่ปลายเท้าเยอะกว่าปกติ (เหมือนกับยืนเขย่งนิดๆก็ได้นะ) ถ้าลากเส้นตรงตัดกลางก็จะเห็นความแตกต่างตามภาพด้านล่างเลยครับ

ความแตกต่างระหว่างยืนก้นงอน กับพุงยื่น

เพื่อนๆบางคนอาจจะนึกสงสัยว่า มีความเป็นไปได้มั้ยที่คนเราจะยืนทั้งก้นงอน และยืนพุงยื่นทั้ง 2 ท่าพร้อมๆกันเลย? คำตอบคือ มีความเป็นไปได้แน่นอนครับ เพราะคนที่ยืนก้นงอนโดยปกติพุงมันก็ยื่นไปข้างหน้าหน่อยๆอยู่แล้วนะ ถ้าตัวคนไข้มีสมดุลของร่างกายไม่ดีก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะมีการยืนพุงยื่น (sway back) ไปข้างหน้าร่วมด้วยนะ

สำหรับกล้ามเนื้อที่ตึงและถูกยืดเกินไปของคนที่มีบุคคลิกพุงยื่น (sway back) มีดังนี้ครับ

ส่วนที่ตึงเกินไป : 
- กล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง เช่น erector spinae จากภาพด้านบนเราจะเห็นว่า คนที่ยืนพุงยื่นพื้นที่ว่างทางด้านหลังจะมีน้อย มันจึงเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหลังเกิดการหดตัวอยู่ตลอดเวลาจนกล้ามเนื้อหลังตึงค้างได้

- กล้ามเนื้อด้านข้างต้นขา คือ กล้ามเนื้อ tensor fascia latae และ iliotibial band 

ภาพแสดงตำแหน่งกล้ามเนื้อ TFL กับ IT band 

ส่วนที่ถูกยืดเกินไป : 
- กล้ามเนื้อกลุ่มเหยียดขาไปด้านหลัง เช่น กล้ามเนื้อก้น (gluteus maximus) กับกล้ามเนื้อ hamstrings ซึ่งกล้ามเนื้อ 2 ส่วนนี้จะทำหน้าที่อีกอย่างที่เป็นเหมือนกับเชือกที่คอยดึงร่างกายเราไม่ให้โน้มไปด้านหน้ามากเกินไปจนเป็นท่ายืนพุงยื่น แต่เมื่อ 2 ส่วนนี้อ่อนแรง ไม่มีแรงดึงกลับที่เพียงพอ จึงทำให้ตัวเราเอนไปด้านหน้าจนกลายเป็นคนยืนพุงยื่นในที่สุดนั่นเองครับ แล้วเมื่อยืนในท่านี้นานๆก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อถูกยืดมากเกินไปในที่สุด

สรุป คนที่มีบุคคลิกยืนพุงยื่น (sway back) จะมีอาการปวด 2 ตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือ ที่หลังส่วนล่าง กับที่ข้างต้นขาหรือใกล้ๆขาหนีบ จากกล้ามเนื้อที่ตึงค้างมานาน

ท่ายืนพุงยื่นเมื่อมองจากด้านหลัง จะเห็นว่าร่องกระดูกสันหลังไม่ลึกเท่าท่ายืนก้นงอน

เป็นยังไงกันบ้างครับกับบทสรุปแบบคร่าวๆของท่ายืนแต่ล่ะแบบที่ผมแยกประเภทมาให้อ่านกัน ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับนักกายภาพในการตรวจประเมินร่างกายนะ เพราะถึงแม้เราจะรักษาให้คนไข้หายปวดได้ในทันทีที่อยู่กับเรา แต่เมื่อกลับไปบ้านไปทำงานไม่นานคนไข้ก็กลับมาปวดใหม่ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเคยชินของท่าทางการยืน การนั่งของตัวคนไข้เองที่ยังไม่สามารถปรับให้อยู่ในท่าที่ถูกต้องได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน 

ท่ายืนแต่ล่ะแบบเมื่อยืนชิดกำแพง

ทั้งนี้รวมถึงการออกกำลังกายกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนที่อ่อนแรงให้กลับมาแข็งแรง เพื่อให้สมดุลของร่างกายระหว่างด้านหน้ากับด้านหลังมีความสมดุลกัน เราจึงจะยืนนั่งได้ถูกต้องโดยที่ไม่รู้สึกฝืนมาก แล้วทำให้เราหายปวดได้อย่างถาวรจริงๆนั่นเองนะครับ 

เห็นมั้ยครับว่า เรื่องบุคคลิกท่าทางของเราแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อเราอยู่ในบุคลลิกผิดๆแบบนี้เป็นปีๆ มันก็ทำให้กล้ามเนื้อเสียความสมดุลจนเกิดโรคทางระบบกล้ามเนื้อแล้วเกิดอาการปวดได้ในที่สุด บางคนต้องออกจากงานประจำ หรือต้องหยุดงานอดิเรกที่รักไปเลยเพราะอาการปวดกล้ามเนื้อที่มีมาอย่างยาวนานเนี่นแหละครับ เรื่องที่ดูเล็กน้อย แต่เมื่อปล่อยไว้นานๆมันก็เป็นเรื่องใหญ่ได้เช่นกัน

หากเพื่อนๆต้องการปรึกษาอะไรเพิ่มเติม หรือสงสัยในประเด็นไหนเป็นพิเศษของบทความนี้ก็ทักมาคุยกันได้ที่ https://www.facebook.com/doobodys/