ทำไมเด็กถึงติดหมอนเน่าๆ
กับตุ๊กตาเก่าๆ
(ก่อนจะอ่านบทความนี้ อยากให้เพื่อนๆลองอ่านข่าวคุณแม่ตามหาตุ๊กตาให้ลูกน้อยกันก่อนนะครับ การอ่านบทความจะได้อัตรสมากขึ้น https://baby.kapook.com/view202301.html)
หลังจากอ่านข่าวสั้นๆนี้จบ เพื่อนอาจจะนึกสงสัยว่า ทำไมเด็กถึงติดตุ๊กตาอะไรขนาดนั้น ทำไมต้องเป็นตุ๊กตายีราฟ ใช้ตุ๊กตาตัวอื่นแทนไม่ได้หรอ?
จะว่าไปแล้ว แล้วเพื่อนๆล่ะ เพื่อนๆคนไหนมีลูกน้อยวัย 2-3 ขวบกันบ้าง ถ้ามี..เพื่อนๆอาจจะสังเกตุเห็นพฤติกรรมลูกน้อยของเราที่ไม่ว่าเวลาไปไหนก็จะมีของสิ่งนั้นติดมือไปด้วยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กตา หมอน ผ้าห่มผืนเล็ก เสื้อตัวเดิม จนของบางอย่างมันเก่ามากและดูสกปรกสุดๆแล้ว แต่เราก็ยังเห็นลูกน้อยยังคงติดของสิ่งนั้นแจไปไหนไปด้วยชนิดที่ว่า ขาดจากกันไม่ได้เลย
พ่อแม่จะขอเอาไปซักให้แล้วเอามาคืน จะเปลี่ยนของใหม่ให้ก็ไม่ยอม หรือถ้าเราแอบเอาตุ๊กตาที่ลูกติดแจนั้นไปซักแล้วเอามาคืนใหม่ ลูกก็ร้องไห้โยเย ต้องเอาตุ๊กตาที่ดูสกปรกๆมาคืนให้ได้ ทำไมเด็กๆถึงมีพฤติกรรมแบบนั้น แล้วพฤติกรรมนี้บ่งบอกว่าเด็กเป็นคนขี้กลัวรึเปล่า เรามาหาคำตอบกันครับ
ภาพข่าวตามหาตุ๊กตายีราฟของคุณแม่
ก่อนที่ผมจะพูดถึงว่าทำไมเด็กถึงติดสิ่งของเก่าๆอย่างผ้าห่ม หรือตุ๊กตาตัวโปรด ผมก็ต้องเล่าย้อนกลับไปในวัยทารกของเด็กเหล่านั้นกันก่อนนะครับ
ในวัยทารกที่ลูกน้อยของเรายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ได้แต่นอนอยู่บนเตียงร้องอ้อแอ้ไปมา แล้วทารกก็มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปมาได้ง่ายเหลือเกิน เดี๋ยวก็หัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ ซึ่งการร้องไห้เพราะต้องการดูดนม รู้สึกไม่สบายตัวจากการฉี่รดผ้าอ้อม หรือจากการเป็นไข้ยังพอเข้าใจได้ แต่ในบางครั้งพ่อแม่ปล่อยให้ทารกนอนเล่นอยู่บนเตียงเฉยๆ จู่ๆเด็กน้อยดันร้องไห้จ้าขึ้นมาดื้อๆ พอพ่อแม่เข้ามาปลอบก็หยุดร้อง แต่พอพ่อแม่ผละจากลูกไปได้สักพักเด็กน้อยก็ร้องไห้จ้าขึ้นมาใหม่ เป็นแบบนี้วนไปวนมาแทบทั้งวันทั้งคืน สังเกตุช่วงนี้จะเป็นช่วงที่พ่อแม่ต้องตื่นกลางดึกมาโอ๋ลูกบ่อยสุดแล้วล่ะครับ
ทีนี้ เพื่อนๆสงสัยกันมั้ยครับว่า ทำไมทารกถึงต้องร้องไห้เรียกร้องความสนใจให้พ่อแม่มาอุ้ม มาโอ๋เราทั้งๆที่ไม่ได้หิว ไม่ได้ป่วยด้วย?
เรื่องนี้เป็นผลมาจาก "สัญชาตญาณการผูกพันกับพ่อแม่" ของทารกครับ ในวัยทารกถือว่าเป็นวัยที่เด็กน้อยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองใดๆได้เลย ต้องพึ่งพาการดูแลจากพ่อแม่ทั้งหมดเพื่อการอยู่รอด ซึ่งการที่เด็กน้อยร้องไห้ก็เพื่อเป็นการเรียกร้องความสนใจแล้วจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่เข้ามาหาก็จะมีการอุ้ม การโอ๋ การสัมผัส การคุยหยอกล้อในแบบที่เด็กๆชอบ
ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์แบบนี้แหละที่จะทำให้เด็กเกิดความรักความผูกพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกขึ้น และการที่ที่พ่อแม่เข้ามาอุ้ม เข้ามาสัมผัสทารกบ่อยๆจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นคงในจิตใจมากขึ้น ซึ่งจะมีผลในระยะยาวเมื่อเด็กโตขึ้นจะทำให้เป็นเด็กที่กล้าแสดงออก กล้าพบเจอผู้คน กล้าลองสิ่งใหม่ๆมากขึ้น
นอกจากสัญชาตญาณการผูกพันแล้ว ยังมีอีกสัญชาตญาณนึงที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของทารกเช่นเดียวกัน นั่นคือ สัญชาตญาณการอยากเล่น อยากค้นหา อยากลองสิ่งใหม่ๆอยู่ตลอด ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อการเติบโตเช่นกัน เนื่องจากการเล่นถือว่าเป็นการฝึกทักษะอย่างหนึ่งของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างมนุษย์เรา เป็นการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวทำงานอย่างไร ซึ่งการเรียนรู้นี้จำเป็นต่อการอยู่รอดในอนาคต
แต่ปัญหาคือ ทั้งสัญชาตญาณการผูกพัน และ สัญชาตญาณการเล่นนั้น มันทำงานขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง คือ สัญชาตญาณการผูกพันเป็นการทำงานที่ทำให้เด็กอยากอยู่ใกล้พ่อแม่ตลอด แต่สัญชาตญาณการเล่น การสำรวจโลกจะทำให้ทารกต้องอยู่ห่างจากพ่อแม่ไป ดังนั้น จึงต้องมีการรักษาสมดุลของทั้ง 2 อย่างนี้ไว้ ระบบที่ว่านี้เราเรียกกันว่า "secure base" หรือ "ฐานที่มั่น" ฐานที่มั่นที่ว่านี้ก็คือพ่อแม่นั่นเองครับ
เมื่อใดก็ตามที่เด็กรู้สึกว่าตนมีความปลอดภัยเพียงพอแล้วสัญชาตญาณการเล่นจึงจะทำงานได้ และการเล่นก็จะดำเนินไปได้เรื่อยๆ แต่เมื่อเด็กรู้สึกว่าตนไม่ค่อยรู้สึกปลอดภัย กลัวขึ้นมาจะหยุดเล่นทันทีแล้วก็จะรีบกลับไปหาฐานที่มั่นเพื่อเพิ่มความรู้สึกปลอดภัยให้ตนเองขึ้น แต่ถ้าเด็กหาฐานที่มั่นไม่เจอก็จะมีอีกกลไกหนึ่งที่เข้ามาทำงานแทน นั่นก็คือการแหกปากร้องไห้ ซึ่งเสียงของเด็กจะเป็นเสียงที่น่ารำคาญมากจนพ่อแม่ทนไม่ไหวต้องรีบเข้ามากอด มาโอ๋เพื่อให้เด็กหยุดร้อง แล้วการที่พ่อแม่เข้ามากอดเด็กจะทำให้เด็กได้เติมเต็มความรู้สึกปลอดภัยในฐานที่มั่นของตนเองจนเต็ม เด็กจึงหยุดร้องแล้วออกไปเล่นได้ตามเดิม
ดังนั้น เพื่อนๆพอจะทราบกันแล้วนะครับว่าทำไมทารกถึงร้องไห้เมื่ออยู่ห่างจากพ่อแม่ไปนานๆ (นานสำหรับเด็กล่ะนะ) แต่ถ้ายังจับประเด็นไม่ได้ ผมก็จะสรุปสั้นๆเลยก็คือ การที่เด็กร้องก็เพื่อเติมความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ตัวเด็กเอง ซึ่งกลไกดังกล่าวเกิดจากสัญชาตญาณความผูกพันของเด็กที่ต้องการให้พ่อแม่เลี้ยงดูเด็กเพื่อความอยู่รอดของตัวเด็กน้อยเองครับ แล้วถ้าพ่อแม่คอยดูแลให้ความรักความอบอุ่น เล่นกับลูกน้อย มีปฏิสัมพันธ์กับลูกน้อยอยู่เสมอตั้งแต่ทารก จะทำให้เด็กน้อยมีความกล้าแสดงออกที่มากขึ้น เนื่องจากเด็กยิ่งรู้สึกปลอดภัยเท่าไหร่ สัญชาตญาณการเล่น การสำรวจก็ยิ่งทำงานได้ดีขึ้นเท่านั้นครับ
ภาพข่าวตามหาตุ๊กตายีราฟของคุณแม่
เอาล่ะครับ หลังจากที่ผมปูพื้นฐานเรื่องสัญชาตญาณ และความรู้สึกปลอดภัยในฐานที่มั่นของเด็กไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะทราบกันแล้วว่า ทำไมเด็กถึงติดหมอนเน่าๆ กับตุ๊กตาเก่าๆด้วย
ทีนี้ เมื่อเด็กๆโตขึ้นอยู่ในวัย 2-3 ขวบ สมองของเด็กพัฒนาขึ้น เด็กจะสามารถใช้ความคิด จินตนาการ และความทรงจำมากขึ้น จากความอบอุ่นในอ้อมกอดของพ่อแม่ก็จะถูกส่งผ่านไปยังสิ่งของที่นุ่นสบาย เช่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา หมอนตัวเดิมๆที่ตนเองจำได้ (แล้วต้องเป็นสิ่งของที่จับถือมือเดียวได้ด้วยนะ) พูดง่ายๆก็คือ เด็กจะเปลี่ยนฐานที่มั่นของพ่อแม่ไปเป็นฐานที่มั่นแบบพกพาได้
เมื่อเด็กสามารถนำฐานที่มั่นพกพาไปไหนก็ได้ เด็กก็จะเรียนรู้ผจญภัยในโลกที่กว้างได้ไกลขึ้น แต่ถ้าเด็กต้องออกเดินทางแล้วไม่มีฐานที่มั่นพกพาไปด้วยล่ะก็ เด็กจะร้องโวยวายทันทีต้องเอาผ้าห่ม หรือตุ๊กตาที่ติดมือประจำไปด้วย เอาอย่างมาทดแทนไม่ได้เลย ต้องตัวเดิมเท่านั้น ต่อให้ใหม่กว่า หอมกว่าแค่ไหนเด็กก็ไม่ยอมอยู่ดีต้องตัวเดิมเท่านั้น (เพราะเด็กรู้สึกผูกพันไปแล้วว่าของสิ่งนี้คือความปลอดภัย คือฐานที่มั่นของฉันไม่มีอะไรมาทดแทนกันได้)
หลังจากอ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆพอจะเข้าใจความคิดของเด็กกันแล้วรึยังครับ ว่าทำไมเด็กน้อยถึงติดหมอนเน่าๆ ตุ๊กตาเก่าๆ อะไรนะครับ.. ยังไม่เข้าใจหรอ อยากให้ผมสรุปอีกที โอเค ได้ครับ
สรุปสั้นๆเลยก็คือ การที่เด็กติดหมอนเน่าๆ ตุ๊กตาเก่าๆก็เนื่องมาจาก สิ่งของเหล่านั้นทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา เพราะสิ่งของเหล่านั้น เปรียบเสมือนฐานที่มั่นทางจิตใจของเด็ก ที่ทำให้เด็กอยู่ใกล้แล้วรู้สึกว่าตนเองปลอดภัย แล้วเมื่อมีของอยู่ใกล้ตัวจะทำให้เด็กกล้าออกไปเผชิญโลกกว้างมากขึ้น มีความกล้าแสดงออก แต่ถ้าขาดสิ่งของตัวโปรดไป จะทำให้เด็กรู้สึกไม่มีความมั่นคงทางจิตใจนั่นเองครับผม
หลังจากนี้ หากเพื่อนๆท่านไหนที่มีลูกน้อยวัยเตาะแตะอยู่แล้วเกิดลูกน้อยดันติดตุ๊กตาตัวนั้นแจขึ้นมา ให้เปลี่ยนตุ๊กตาตัวอื่นก็ไม่ยอม จะเอาไปซักให้ก็ไม่ให้ หลังจากอ่านบทความนี้จบ เพื่อนๆคงเข้าใจความคิดของเด็กกันแล้วเนอะ แล้วก็ระวังอย่าให้ตุ๊กตาของเด็กตัวนั้นหายด้วยล่ะ ^^
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น