เรื่องเล่าจากคนไข้ 03
ศัลยกรรมเสริมหน้าผาก แต่ทำไมปวดตึงคอ?
ไม่นานนี้มีคนๆข้ที่รู้จักกันรายหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า "ไปหาหมอศัลยกรรมให้ผ่าที่หน้าผากมาหลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์รู้สึกตึงคอไปหมดเลย แค่ขยับลูกตาไปมาก็รู้สึกสะท้านไปถึงคอแล้วมันเกิดจากอะไรหรอคะ?"
หลังจากที่ฟังคนไข้เล่ามาแบบนี้ผมก็ยังงงๆอยู่เล็กน้อยว่าทำไมถึงไปผ่าศัลยกรรมหน้าผากหว่า จึงถามไปเพิ่มเติมว่า...
ผม : "ทำไมคุณนุ่น (นามสมมติ) ถึงไปไปศัลยกรรมหน้าผากล่ะครับ?"
นุ่น : "คือว่า ในอดีตตัวเองเคยไปฉีดฟิลเลอร์ที่หน้าผากตามประสาคนอยากสวยเพิม่ขึ้นอ่ะค่าาาาา หลังจากฉีดเสร็จหมอก็บอกว่า ตัวฟิลเลอร์มันจะสลายไปเองภายในปีหรือสองปีนะไม่ต้องห่วง แต่นี่ผ่านมา 3 ปีจะ 4 ปีแล้ว รู้สึกว่าฟิลเลอร์ที่หน้าผากมันยังอยู่เหมือนเดิมเลย นุ่นเลยกลัวว่าตัวฟิลเลอร์มันจะไหลลงเข้าตารึเปล่าจึงไปหาหมออีกท่านเพื่อศัลยกรรมเอาฟิงเลอร์ออกค่ะ"
ผม : "แล้วพอจะจำได้มั้ยครับว่าหมอที่ขูกเอาฟิลเลอร์ออกเค้าทำอะไรกับหน้าผากของเราบ้าง?"
นุ่น : "หมอก็ใช้มีดกรีดเหนือไรผมกว้างประมาณ 5 ซม.ค่ะ จากนั้นหมอก็เปิดผิวหนังที่หน้าผากแล้วใช้เครื่องมืออะไรมั้ยรู้เข้าไปแซะ เข้าไปขูดที่หน้าผาก ซึ่งทำแรงมากเลยนะคะ ได้ยินเสียงดังแคว๊กๆตอนที่หมอขูดตลอดเลย แต่ไม่เจ็บนะคะเพราะได้รับยาชาอยู่"
ผม : "ครับผม แล้วยังไงต่อครับ?"
นุ่น : "หลังจากขูดเสร็จ หมอก็เย็บปิดปากแผลตามปกติค่ะ แต่ไม่นานหลังหมดฤทธิ์ยาชา นุ่นรู้สึกปวดหัวมาก ปวดเหมือนหัวจะระเบิดเลยค่ะ มันปวดมากจริงๆ ซึ่งนุ่นก็คิดว่าคงเป็นเพราะผลจากการผ่านะ จึงกินยาลดปวดลดอักเสบไป ไม่นานอาการปวดหัวก็หายไปค่ะ แล้วก็กินยาลดปวดมาตลอดจนอาการปวดมันหายสนิทเรียบร้อยแล้ว"
ผม : "เล่าต่อเลยครับ?"
นุ่น : "ค่ะ จากกวันที่ผ่าเอาฟิลเลอร์ออกได้ประมาณ 2 สัปดาห์อาการปวดหายสนิทแน่นอน แต่อาการใหม่มันก็เกิดขึค้นมาแทนนั่นคือ นุ่นรู้สึกว่าตัวเองเวลาหันหน้าซ้ายขวากิมหน้าเงยหน้า โดยเฉพาะเงยหน้าจะรู้สึกตึงคอด้านหลังมากเลย นั่งขับรถแล้วรถสะเทือนก็รู้สึกว่ามันไปกระตุ้นอาการตึงที่คอด้วยนะ แถมระยะหลังแค่กรอกตาไปมาก็รู้สึกสะท้านไปถึงคอแล้วค่า อาการแบบนี้มันเกิดจากอะไรหรือคะ มันอันตรายมั้ย?"
ผม : "อาการปวดคอด้านหลังที่ว่า มันมีชา ปวดร้าวลงแขนหรือปวดไปที่อื่นอีกมั้ยนอกจากคอ แล้วมันปวดแค่ไหนครับ?"
นุ่น : "จริงๆแล้วมันไม่ถึงกับปวดอะไรมากมายนะคะ มันตึงๆแบบรำคาญมากกว่า ไม่มีร้าวไปไหนกระจุกอยู่แค่ที่คอเวลาที่มีการเคลื่อนไหวตั้งแค่คอขึ้นไป รวมถึงลูกก่ะตาด้วยค่ะ แล้วก็ไม่มีชานะคะ"
คนไข้เล่ามาถึงตรงนี้ผมก็สรุปได้ทันทีเลยว่า อาการตึงคอที่คุณนุ่นเผชิญอยู่มันเป็นผลมาจากตัวพังผืดใต้ผิวหนัง (fascia) ทางด้านหลังตรงส่วนคอมันตึงครับ ซึ่งการตึงของพังผืดมันเป็นกลไกป้องกันร่างกายของเราครับ คือ ถ้าเนื่อเยื่อส่วนไหนบาดเจ็บ ฉีกขาด เป็นแผลไม่ว่าจะที่ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อก็ตามแต่ พังผืดบริเวณนั้นจะเกิดการหนาตัวขึ้นทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเกิดการฉีกขาดไปมากกว่าเดิมนั่นเองครับ
เส้นขาวๆใสๆที่ดึงขึ้นมานั้นคือพังผืดที่หุ้มเนื้อไก่อยู่
จริงๆแล้วเนื้อเยื่อไม่ต้องถึงขั้นฉีกขาดพังผืดมันก็หนาตัวได้ด้วยกรณีอื่นเช่นกันนะ เช่น ผมลองให้เพื่อนๆเดินเท้าเปล่าตลอดเวลาไปว่าจะอยู่ในบ้าน นอกบ้านติดต่อกัน 1 เดือน สิ่งที่เพื่อนๆจะสังเกตุเห็นได้ชัดเลยก็คือ ผิวหนังที่ฝ่าเท้าโดยเฉพาะส้นเท้าของเรามันจะหนาตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งถ้าทั้งชีวิตไม่เคยใส่รองเท้าแล้วเดินบนพื้นขรุขระตลอดทั้งชีวิต ฝ่าเท้าของคนๆนั้นจะหนามากชนิดที่หนามจากต้นงิ้วตำไม่เข้าเลยก็มีนะ (ต้นงิ้วที่เป็นต้นไม้จริงๆนะ ไม่ใช่ต้นงิ้วที่อยู่ในนรก)
หรืออีกกรณีในคนที่ชอบคุกเข่า หรือชอบเท้าศอกกับโต๊ะบ่อยๆจะเห็นว่าผิวหนังบริเวณนั้นมันด้านมากขึ้น แล้วเวลาที่ผิวด้าน มันไม่ได้ด้านแค่ผิวหนังนะ พังผืดใต้ผิวมันก็หนาตัวขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งกลไลเหล่านี้เป็นไปเพื่อปกป้องไม่ให้กล้ามเนื้อ หรือข้อกระดูกบริเวณที่ต้องมีการเสียดสีบ่อยๆต้องบาดเจ็บเสียหายจากแรงกดซํ้าๆนั่นเองครับ
จะเห็นว่าพังผืดที่หนาขึ้นมันก็มีประโยชน์ในตัวมันเองอยู่แล้วนะครับ แต่บางกรณีพังผืดเกิดหนาผิดที่ก็ทำให้เราเกิดอาการปวด อาการชาได้เช่นเดียวกัน อย่างกรณีพังผืดหนาตัวที่ข้อมือจากการทำงานนั่งโต๊ะนานๆของคนทำงานออฟฟิศ โดยเฉพาะการจับเม้าส์นะ นั่นก็คือโรค carpal tunnel syndrome ซึ่งผมไม่ขอลงรายละเอียดโรคนี้นะ หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมคลิ๊กดูคลิปได้ที่ลิงค์นี้เลยครับ 5 วิธีลดปวด ลดชา ที่ข้อมือนิ้วมือ จากโรค carpal tunnel syndrome
เส้นขาวๆใสๆคือเส้นใยพังผืดที่เกาะกันอยู่ระหว่างชั้นกล้ามเนื้อ
คุณดูนบอกว่า ถ้าบาดเจ็บตรงไหนพังผืดก็จะหนาตัวขึ้นตรงนั้น แต่ในเคสคุณนุ่น เค้าผ่าที่หน้าผากแถวไรผมด้านหน้าแล้วทำไมไปตึงคอได้ล่ะ?
โอเค เรื่องนี้ต้องอธิบายลึกขึ้นไปอีกสักเล็กน้อย คือ พังผืดมีอยู่ทุกที่ทั่วร่างกายเรา หุ้มกล้ามเนื้อเพื่อแยกชั้นกล้ามเนื้อด้วยกัน หุ้มกล้ามเนื้อเพื่อแยกชั้นระหว่างผิวหนังไม่ให้มันติดกัน หุ้มเส้นประสาทบางจุด บางจุดก็ทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ เป็นตัวประสานรอยต่อระหว่างกล้ามเนื้อกับกระดูก แล้วที่สำคัญนะครับ การเรียงตัวของพังผืดมันไม่ได้เรียงตัวมั่วๆนะ มันมีการเรียงตัวพังผืดตามลายกล้ามเนื้อแต่ล่ะส่วนอย่างมีระเบียบแบบแผน แล้วมีการเชื่อมต่อกันทุกจุดตั้งแต่หัวจรดเท้าเหมือนกับเป็นสายโซ่ที่คล้องต่อกัน
ภาพกล้องจุลทรรศน์ความละเอียดสูง
จะเห็นว่าพังผืดหุ้มไปถึงเส้นใยกล้ามเนื้อแม้ในส่วนที่เล็กที่สุด
แล้วแนวพังผืดก็มีการเรียงตัวหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าที่เรียงต่อกันผ่านกล้ามเนื้อตั้งแต่ปลายเท้าจนไปถึงด้านหน้าคอ เรียงตัวด้านข้าง เรียงตัวแบบไขว้กันเป็นรูปกากบาท เรียงตัวตามแนวกล้ามเนื้อมัดลึก เรียงตัวต่อกันทางด้านหลัง เป็นต้น
ซึ่งกรณีของคุณนุ่นนั้น การที่คุณนุ่นเกิดการตึงคอทั้งที่ผ่าหน้าผากก็เนื่องมาจาก แนวพังผืดที่ทางด้านหลัง (superficial back line) มันตึงครับ ซึ่งแนวพังผืดทางด้านหลังมันเริ่มต้นจาก (ดูภาพประกอบด้านล่าง) ฝ่าเท้า -> เอ็นร้อยหวาย -> น่อง -> กล้ามเนื้อ hamstring -> เชองกรานด้านหลัง -> กล้ามเนื้อหลัง -> คอทางด้านหลัง -> ท้ายทอย -> กระโหลกศีรษะ -> แล้วก็พาดมาเกาะที่หัวคิ้วทางด้านหน้า
ภาพด้านหลัง เส้นพังผืดทางด้านหลัง (superficial back line) เส้นสีฟ้าๆที่เกาะตามแนวกล้ามเนื้อ
ภาพด้านหน้า จะเห็นว่าพังผืดมาเกาะถึงหัวคิ้ว
เมื่อดูจากรูปตามแนวที่พังผืดเกาะอยู่บนกล้ามเนื้อทางด้านหลังเหล่านี้แล้ว เพื่อนๆจะเห็นว่าพังผืดเส้นนี้มันเกาะจากเท้ายาวถึงคอด้านหลังแล้วไปจบที่หัวคิ้วเลย ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่การผ่าตัดที่หน้าผากของคุณนุ่นจะทำให้ตึงที่คอได้นั่นเองครับ
ผมเสริมอีกเล็กน้อยก่อนจะจบบทความนี้ นอกจากเคสที่ผ่าตัดศัลยกรรมที่ใบหน้าจะเกิดอาการตึงแปลกๆแบบนี้แล้ว บางรายเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น รถล้มศีรษะแตกต้องผ่าตัดเปิดกะโหลก โดนมีดจามหัวเย็บหลายสิบเข็ม แต่พอรักษาจนหายดีแผลแห้งสนิท สมองปกติดี ไม่มีโรคแทรกซ้อนใดๆ แต่ยังเหลืออาการตึงรอบๆศีรษะ รู้สึกเหมือนมีคนบีบกะโหลกในบางครั้ง รู้สึกตึงในหัวแบบจับจุดไม่ได้ หรือตึงลงคอเวลาหันหน้าไปมา ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากพังผืดที่หนาตัวเนี่ยแหละครับ
เส้นพังผืดทางด้านหลัง เมื่อมองจากด้านข้าง
อ๋อ รู้แล้วว่าอาการตึงเหล่านี้เกิดจากพังผืด แล้วทีนี้อาการตึงจากพังผืดจะหายไปได้เมื่อไหร่กันล่ะ?
ในกรณีของเคสคุณนุ่นจะใช้เวลาที่ร่างกายสมานบาดแผล แล้วซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บจนหายดี เมื่อเนื้อเยื่อที่โดนกรีดปิดสนิทดีแล้ว พังผืดจะค่อยๆลดความเหนียวความหนาของตัวเองลง ซึ่งเคสที่ผ่าแค่ผิวๆแบบนี้จะใช้เวลา 6-8 สัปดาห์โดยประมาณก็หายได้โดยที่เราไม่ต้องรักษาอะไรเพิ่มเติมครับ
แต่ในกรณีที่ต้องผ่าตัดใหญ่มีการผ่าลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อกระดูก การตึงรั้งของพังผืดก็จะหนามากขึ้น แล้วกินวงกว้างมากขึ้นแน่นอน เช่น กรณีที่ต้องผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนเอว คนไข้อาจจะรู้สึกตึงทั่วทั้งแผ่นหลัง แล้วตึงยาวลงไปถึงก้นถึงต้นขาหลังเลยก็ได้ กว่าจะหายตึงก็ใช้เวลาประมาณ 12-16 สัปดาห์ บางรายอาจตึงค้างเป็นปีก็มี ซึ่งเคสเหล่านี้นักกายภาพก็จะช่วยเหลือโดยการใช้การนวดรีดกล้ามเนื้อ หรือเทคนิคการคลายพังผืดให้มีความอ่อนลง (myofascial release) เป็นต้น
สรุป เหตุที่คุณนุ่นผิวหน้าผากแล้วตึงคอ เป็นผลมาจากแนวพังผืดทางด้านหลัง (superficial back line) เฉพาะส่วนของคอกับหน้าผากเกิดการตึงขึ้น จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าว ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อนคุณนุ่นก็จะหายได้เองโดยใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์นะครับ
ทีนี้ถ้าเพื่อนๆคนไหนมีญาติหรือเพื่อนๆที่มีอาการใกล้เคียงกับที่คุณนุ่นเป็นอยู่ ก็ลองนำความรู้เหล่านี้ไปบอกต่อกันนะครับ เชื่อว่าจะช่วยคลายความกังวลใจที่ประสบอาการเหล่านี้อยู่ไม่มากก็น้อยนะครับผม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น