วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

นั่งนาน นอนน้อย ระวัง! หมอนรองกระดูกหลังเสื่อมไวแน่


นั่งนาน นอนน้อย ระวัง!
หมอนรองกระดูกหลังเสื่อมไวแน่

ในบทความก่อนหน้าผมได้พูดถึงเรื่องหมอนรองกระดูกสันหลังฉีกแล้วทำให้เกิดอาการขาชาไปบ้างแล้ว ครั้งนี้ผมก็ยังคงพูดถึงเรื่องหมอนรองกระดูกสันหลังอีกเช่นเคย แต่จะพูดถึงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมนะ 

เมื่อเรานึกถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อม เราจะเข้าใจกันว่ามันคงเกี่ยวข้องกับอายุกันใช่มั้ยครับ ประมาณว่า อายุมากก็เสื่อมมากเป็นธรรมดา แต่ในความเป็นจริงแล้วพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เป็นตัวเร่งให้หมอนรองกระดูกเราเสื่อมไวขึ้นด้วยนะ โดยเฉพาะการนั่งนาน และการนอนน้อย แล้วทำไม 2 พฤติกรรมนี้ถึงทำให้หมอนรองเราเสื่อมได้เร็วขึ้นนั้น เราต้องมาทำความเข้าใจการรับสารอาหารของหมอนรองกระดูกกันก่อนนะ
โครงสร้างหมอนรองกระดูก

หมอนรองกระดูกก็ต้องกินข้าวนะ

ลักษณะโครงสร้างของหมอนรองกระดูกจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆก็คือ เอ็นหุ้มหมอนรองกระดูกสันหลัง (annulus fibrosus) และสารนํ้าในหมอนรองกระดูก (nucleus pulposus) โดยเอ็นหุ้มหมอนรองจะมีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงรอบนอกตามปกติ แต่สารนํ้าในหมอนรองที่อยู่ตรงกลางหมอนรองเนี่ย มันไม่มีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงเลย

ซึ่งโดยปกติแล้วเซลล์ในร่างกายจะได้รับสารอาหารต้องพึ่งเม็ดเลือดแดงคอยขนส่งสารอาหารผ่านเส้นเลือดฝอยนะ ถ้าเซลล์ไม่ได้รับสารอาหารเป็นเวลานาน ไม่ได้ขนถ่ายของเสียจากกระบวนการทำงานของเซลล์ออกไป ในท้ายที่สุดเซลล์ก็จะตาย

ตรงกลางหมอนรองกระดูกสันหลัง ไม่มีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยง เลยหรอ??

ก่อนจะอธิบายอะไรไปมากกว่านี้ ผมอยากให้ดูรูปภาพประกอบด้านล่างนี้กันก่อน ซึ่งเป็นลักษณะโครงสร้างหมอนรองที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงอยู่รอบๆ

 โครงสร้างหลอดเลือดที่มาเลี้ยงหมอนรองกระดูก

จากรูป เราจะเห็นว่าหมอนรองกระดูกสันหลังก็มีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงรอบๆอยู่ แล้วเส้นเลือดฝอยบางเส้นก็เจาะเข้ามาเลี้ยงภายในเอ็นหุ้มหมอนรองด้วย คือ ดูจากรูปแล้วยังไงเอ็นหุ้มหมอนรองยังไงก็ไม่มีปัญหาเรื่องขาดสารอาหารแน่นอน

แต่ก็อีกนั่นแหละ เราจะเห็นว่าตรงกลางไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงเลย ถึงแม้ตรงกลางหมอนรองจะเป็นเพียงแค่สารนํ้า (เป็นเหมือนเจลมากกว่า) แต่ถ้าสารนํ้าในหมอนรองกระดูกไม่มีการระบายออก สารนํ้าในหมอนรองมันก็จะเน่าเสีย เป็นพิษ แล้วทำให้เนื้อเยื่อรอบๆหมอนรองเสียหายไปด้วย

หลอดเลือดที่มาเลี้ยงหมอนรองกระดูกสันหลัง

หมอนรองกระดูกจะได้รับสารอาหารได้ยังไง?

สรุปง่ายๆเลยนะ หมอนรองกระดูกคนเราจะได้รับสารอาหารอย่างทั่วถึงผ่านการซึมและการปั๊มครับ  คือ โครงสร้างหมอนรองกระดูกจะมีความยืดหยุ่นสูงมาก ยืดได้ หดได้ บิดได้เหมือนสปริงเลยล่ะ เช่น เรากระโดดสูง ช่วงที่เรากระโดดลอยตัวอยู่ หมอนรองกระดูกจะถูกยืดยาวออก แต่พอตกลงมาจนเท้ากระแทกพื้น หมอนรองกระดูกก็หดตัวกลับดังเดิม แล้วในช่วงเช้าหมอนรองกระดูกจะถูกยืดยาวมากที่สุด เพราะไม่มีนํ้าหนักตัวมากดหมอนรอง สารนํ้าในหมอนรองจึงมีอยู่มาก

ถ้าตื่นนอนมาแล้วไปวัดส่วนสูง เราจะเห็นเลยว่าส่วนสูงเพิ่มขึ้นกว่าปกติ 1-2 ซม.เลยนะ แต่พอตกเย็นเท่านั้นแหละ ไปวัดส่วนสูงอีกทีปรากฎส่วนสูงหายไป 1-2 ซม.ซะงั้น นั่นเป็นผลจากสารนํ้าในหมอนรองบางส่วนถูกดันออกไปจากนํ้าหนักตัวที่กดลงมาที่กระดูกสันหลังนั่นเองครับ

แล้วการที่หมอนรองกระดูกถูกกดบ้าง ถูกยืดบ้างจากกิจกรรมในระหว่างวัน มันเลยทำให้เกิดการปั๊มของสารอาหารเข้าๆออกๆในหมอนรองกระดูกขึ้น พอหมอนรองกระดูกถูกกด สารนํ้าในหมอนรองก็ค่อยๆถูกดันออก (ของเสียบางส่วนก็ถูกดันออกไปด้วย) แต่พอหมอนรองกระดูกยืดสารนํ้ารอบๆหมอนรองรวมทั้งสารอาหารจากเส้นเลือดฝอยรอบๆก็ไหลกลับเข้าไปใหม่ การทำแบบนี้แหละครับที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารอาหาร และขับของเสียออกจากหมอนรองกระดูกสันหลัง

อ้าว ถ้างั้นคนที่นอนติดเตียงหมอนรองก็เน่าน่ะสิ เพราะไม่มีการยืด-หดของหมอนรองเลย สารอาหารก็ปั๊มเข้าไปไม่ได้?

การยืดหดของหมอนรองแม้จะเป็นการปั๊มสารอาหารเข้าไปเลี้ยงในหมอนรองที่ดีแล้ว แต่หมอนรองก็ยังคงได้รับสารอาหารอยู่ดีจากการซึมผ่านเส้นเลือดฝอยที่อยู่รอบๆ เพียงแต่ว่าถ้าเราเอาแต่นอนเฉยๆเหมือนคนไข้นอนติดเตียง แรงดันในหมอนรองจะไม่มาก การปั๊มเอาสารอาหารดันเข้าไปเลี้ยงตรงกลางหมอนรองก็จะทำได้ไม่เต็มที่เท่านั้นเองครับ

โครงสร้างภายในหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยง

ลักษณะการให้สารอาหารแก่หมอนรองกระดูกสันหลังโดยการซึมเข้ามา

แล้วการนั่งนาน กับนอนน้อยมันทำให้หมอนรองเสื่อมได้ยังไง?

นั่นเป็นเพราะว่าการนั่ง ไม่ว่าจะนั่งพื้น นั่งเก้าอี้ นั่งอะไรก็ตามแต่ มันจะเกิดแรงกดที่หมอนรองกระดูกมากกว่าท่ายืน แล้วยังทำให้สารนํ้าในหมอนรองถูกดันออกไปมากกว่าปกติอีกด้วย 

เท่านั้นยังไม่พอ ถ้าวันๆนึงเราอยู่ในท่านั่งทั้งวัน ไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบทเลย หมอนรองกระดูกก็ถูกกดอยู่อย่างนั้น สารนํ้าก็ค่อยๆทยอยไหลออก ไหลออกไปเรื่อยๆ ความสมดุลระหว่างสารนํ้าไหลออกมากกว่าไหลเข้า 

พอทำพฤติกรรมนี้เป็นสิบๆปี ก็ทำให้หมอนรองมีสารนํ้าภายในน้อยลง พอมีสารนํ้าน้อยลง สารอาหารที่จะปั๊มเข้าปั๊มออกระหว่างหมอนรองก็น้อยลง เอ็นหุ้มหมอนรองก็เริ่มเสื่อม เปราะบาง ข้อกระดูกสันหลังทรุดตัว แล้วนี่จึงเป็นที่มาของหมอนรองกระดูกเสื่อม

แล้วการนอนน้อยล่ะ ทำให้หมอนรองเสื่อมได้ยังไง?

ในขณะที่นอนหลับ หมอนรองกระดูกไม่ได้ถูกกดเหมือนตอนนั่งหรือยืน หมอนรองจึงยืดขยายพองตัวได้เต็มที่ แล้วการที่หมอนรองยืดออกมันก็เหมือนเป็นการดึงเอาสารอาหารและสารนํ้ารอบๆหมอนรองให้ค่อยๆซึมเข้ามาได้อย่างเต็มที่ นำของดีเข้า ดันของเสียออกผ่านการซึม ซึ่งช่วงที่นอนหลับถือว่าเป็นช่วงที่หมอนรองกระดูกสันหลังได้พักฟื้นอย่างเต็มที่เลยล่ะครับ

แต่พอเรานอนน้อย นั่งนาน หมอนรองจึงถูกกดนานกว่าปกติ สารนํ้าภายในไหลออกมากกว่าไหลเข้า จนโครงสร้างหมอนรองจากที่เคยพองตัวเหมือนลูกโป่งที่ถูกสูบนํ้าจนเต่งตึง ก็ค่อยๆฟีบลงเหมือนลูกโป่งที่ถูกสูบนํ้าออก แล้วถ้ายังคงทำพฤติกรรมเดิมๆ หมอนรองก็ฟีบเล็กลง เล็กลง เล็กลงไปเรื่อยๆ

จนในที่สุดความสูงของหมอนรองก็น้อยลงอย่างถาวร แล้วนี่ก็เป็นที่มาว่าทำไมคนอายุมากขึ้นถึงตัวเตี้ยลงเรื่อยๆนั่นเองครับ แล้วบางคนหมอนรองฟีบเล็กลงมากจนทำให้ข้อต่อระหว่างข้อกระดูกสันหลัง (facet joint) อยู่ชิดกันมากเกินไป ก็ทำให้เกิดโรคข้อกระดูกสันหลังเสื่อมได้อีก 

ภาพ MRI หมอนรองกระดูกทรุดตัว

เห็นมั้ยครับว่าพฤติกรรมไม่ดีเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าทำอย่างสมํ่าเสมอเป็นเวลานานมันก็ทำให้เราเกิดโรคตามมาอีกมากมาย จากแค่นั่งนาน และนอนน้อยเท่านั้นเองนะเนี่ย 

นี่ยังไม่รวมนั่งผิดท่านานๆ เช่น นั่งไขว้ห้าง นั่งหลังค่อม หลังแอ่น ชอบนั่งเอี้ยวตัว หรือคนที่ยกของหนัก ต้องทำงานแบกหามทุกวัน คนกลุ่มนี้ก็เสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกฉีก หรือโป่งพองจนไปกดเบียดเส้นประสาทได้อีก หรือไม่ก็เป็นโรคปวดกล้ามเนื้อหลังเรื้อรังตามมาอีก พูดง่ายๆคือ เวลาโรคเหล่านี้มาที มันมาเป็นแพ็คเกจเลยล่ะครับ

คุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้น เริ่มจากที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเองนะ นอนให้พอ ลุกขึ้นยืนเดินทุกๆ 50 นาทีสำหรับคนที่ต้องนั่งทำงาน ออกกำลังกายบ้าง ทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างสมํ่าเสมอ แค่นี้ก็ทำให้เราห่างไกลโรคได้ระดับนึงแล้ว ไม่มีใครรู้จักร่างกายเราได้ดีเท่าตัวเราเองแล้วล่ะครับ เพราะคุณคือหมอ รักษาตัวเองนะ ^^



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น