วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559

นิ้วล็อค นิ้วล็อค นิ้วล็อค โรคยอดฮิตวัยทำงาน




นิ้วล็อค (trigger finger)

ฮัลโหล ฮัลโหล ใครบ้างเอ่ยที่ทำงานต้องใช้มืออยู่ในท่าซํ้าๆเดิมๆเป็นเวลานานกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็น การพิมพ์งาน การเขียนหนังสือ การซักผ้าด้วยมือ ช่างซ่อมที่ใช้เครื่องมือขนาดเล็กต่างๆนาๆ แม่บ้านที่ต้องหิ้วของหนักๆ แม่ครัวที่จับมีดจับตะหลิวเป็นพัลวัน หรือสาวก BB และ iphone ทั้งหลายที่ชอบพิมพ์ข้อความส่งกันทางมือถือ ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่ใช้มือจากกิจกรรมเหล่านี้ติดต่อกันนานๆละก็ ระวังให้ดี คุณอาจจะเป็นนิ้วล็อคได้นะครับ

โรคนี้พบในผู้หญิงร้อยละ 80 พบในผู้ชายร้อยละ 20 และพบมากในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป เหตุที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายนั้นสันนิษฐานว่า ความแข็งแรงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย เมื่อทำกิจกรรมที่มีการคงค้างของนิ้วมือเป็นเวลานานจึงง่ายต่อการเกิดการอักเสบขึ้น


ลักษณะการเกิดนิ้วล็อค

เกิดจากการการอักเสบของเส้นเอ็นที่นิ้ว เนื่องจากการใช้งานของนิ้วมือที่เกิดการเสียดสีกับวัตถุ เกิดจากการเกร็งของข้อนิ้วติดต่อกันนานๆ และที่นิ้วมือของเราไม่ได้มีเพียงเส้นเอ็นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปลอกหุ้มเส้นเอ็นอีก 5 เส้นนั่นคือ A1-A5 pulley ซึ่งเจ้า pulley นี่จะทำหน้าที่ห่อหุ้มเส้นเอ็นของนิ้วเราให้อยู่ชิดกับกระดูก แต่ในกรณีที่เส้นเอ็นนิ้วเกิดการอักเสบขึ้นจากกิจกรรมใดๆก็แล้วแต่จะทำให้เส้นเอ็นเกิดเป็นปุ่มบวมขึ้นมา เมื่อบวมแล้วที่นี้ก็งานเข้าละสิ เพราะเมื่อเรางอเหยียดนิ้วเส้นเอ็นจะต้องรอดผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็น แต่ถ้าเส้นเอ็นมีปุ่มบวมขึ้นมาละก็ตรงปุ่มบวมนั่นแหละครับจะไปติดกับปลอกหุ้นเส้นเอ็น ในกรณีที่ยังอักเสบไม่มากปุ่มก็อาจจะยังเล็กอยู่ แต่ถ้าปุ่มบวมบนเส้นเอ็นมีขนาดใหญ่จะรอดผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นได้ยากขึ้น แต่ถ้าผ่านได้จะมีเสียงดังป็อกที่นิ้วมือร่วมกับอาการปวดจนนํ้าตาเล็ดกันเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้แหละครับที่ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากเหยียดนิ้วที่ปวดอยู่ เมื่อนานวันเข้าก็เกิดภาวะนิ้วล็อกถาวรไม่สามารถเหยียดนิ้วมือได้อีกต่อไป



อาการของโรค

ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดที่บริเวณโคนนิ้ว โดยส่วนมากมักเป็นที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วนางขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ทำว่าใช้งานนิ้วไหนมากกว่ากันนะครับ นอกจากอาการปวดแล้วจะรู้สึกว่านิ้วสะดุดขณะเหยียดนิ้วออกร่วมกับมีเสียงดังกึกอยู่ภายใน แต่เมื่องอนิ้วก็สามารถงอนิ้วเข้าได้ตามปกติ

- รู้สึกฝืดเมื่อขยับนิ้ว
- ปวดบริเวณโคนนิ้ว
- คลำเจอก้อนนูนที่โคนนิ้ว 
- เมื่อเหยียดนิ้วจะได้ยินเสียงดังกึกที่ข้อนิ้ว และมีอาการปวด
- ไม่สามารถเหยียดนิ้วเองได้ ต้องใช้มืออีกข้างช่วยจับเหยียดออก
- งอนิ้วสะดวก แต่เหยียดนิ้วลำบาก
- นิ้วติดอยู่ในท่างอ
- ในรายที่เป็นมานานจะพบการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่เหยียดนิ้ว

เราสามารถแบ่งระดับความรุนแรงของโรคได้ทั้งหมด 4 ระดับ

ระดับที่ 1 : ปวดบริเวณโคนนิ้ว จากภาวะเส้นเอ็นอักเสบ รู้สึกฝืดเป็นบางครั้งเมื่อเหยียดงอนิ้วในช่วงตื่นนอนหรืออากาศเย็น แต่เมื่อขยับนิ้วมือไปสักพักก็จะกำมือได้สะดวกขึ้น
ระดับที่ 2 : รู้สึกฝืดทุกครั้งเมื่อขยับนิ้ว และเป็นมากเมื่อเหยียดนิ้วออกร่วมกับมีอาการปวด
ระดับที่ 3 : เหยียดนิ้วได้ยากมากขึ้น ต้องมืออีกข้างช่วยเหยียดนิ้วออก และมีเสียงดังป๊อกขระเหยียดนิ้วออก
ระดับที่ 4 : ถือว่าเป็นระดับที่รุนแรงที่สุดนะครับ คือนิ้วจะงออยู่ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกมาได้อีกเลย เนื่ยงจากปุ่มเส้นเอ็นมีขนาดใหญ่มากจนไม่สามารถรอดผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นได้นั่นเองครับ และเมื่ออยู่ในท่างอนิ้วนานๆจะทำให้นิ้วมือเกิดการผิดรูปขึ้นตามมาในที่สุด

การรักษา

1) การรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้น
ถ้าใครที่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นนิ้วล็อกแน่ๆแล้วละก็เบื้ยงต้นให้หยุดการใช้งานของนิ้วข้างที่ปวดโดยการดาม splint ที่นิ้วมือ เพื่อลดการใช้งานของนิ้วไม่ให้อาการปวดลุกลามจนนำไปสู่นิ้วล็อกสมบูรณ์ แต่ถ้าหา splint ใส่ไม่ได้ก็ใช้ผ้าพันนิ้วให้อยู่ในท่างอนิ้วประมาณ 15 องศาก็ได้เช่นกันครับ


การพัน kinesio tape เพื่อลดการทำงานของเส้นเอ็นที่อักเสบ

หมั่นแช่นํ้าอุ่นทุกวัน อย่างน้อยวันละ 10 นาที และควรแช่ที่มือจนถึงข้อศอกเลยนะครับ เพราะกล้ามเนื้อที่แขนบางมัดมีจุดเกาะปลายอยู่ที่เส้นเอ็นของนิ้วเรา ซึ่งจะเห็นผลดีกว่าแช่แค่มือนะครับ

หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การเกร็งนิ้ว หรือทำกิจกรรมใดๆที่ทำให้นิ้วต้องเกิดการเสียดสี แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้แนะนำให้ใส่ถุงมือนะครับ

หมั่นยืดเหยียดนิ้วมือทุกๆชั่วโมง เพื่อให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อผ่อนคลายอาการปวดจะได้ทุเลาลง

2) การรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน
ในรายที่อาการยังไม่รุนแรงมากแพทย์จะให้ทานยาลดปวดและฉีดยาตรงจุดที่มีอาการ ซึ่งจะเห็นผลดีในผู้ปว่ยที่อาการยังไม่รุนแรงมาก


การฉีดสเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวด

การผ่าตัด ในกรณีที่การฉีดยาไม่ได้ผลแพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดเพื่อคลายปลอกหุ้มเส้นเอ็นออกให้ปุ่มนู่นบนเส้นเอ็นสามารถผ่านไปได้อย่างสะดวก

3) การทำกายภาพบำบัด
ถ้าผู้ป่วยไม่ต้องการผ่าตัด การทำกายภาพก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่ได้ผลดีไม่แพ้กัน แต่อาจจะใช้ระยะเวลานานพอสมควรในรายที่เป็นนิ้วล็อกรุนแรง การทำกายภาพจะใช้เครื่องมือเพื่อลดปวด ลดอักเสบ และคลายเส้นเอ็นที่เป็นปุ่มนูนอยู่ เช่น เครื่อง ultrasound, laser, shock wave และการจุ่มไขพาราฟิน เป็นต้น


การจุ่มพาราฟินในกายภาพบำบัด

4) แพทย์แผนไทยประยุกต์
การรักษาของแพทย์แผนไทยประยุกต์จะใช้วิธีการนวด จับเส้น ไล่เส้นที่กล้ามเนื้อแขนและนิ้วมือที่เป็นปัญหา ร่วมกับการใช้ยาสมุนไพรครับ



เครดิตภาพ 
- http://www.stou.ac.th/Schools/Shs/booklet/book55_2/thai.htm
- http://handcare.org/blog/9-steps-to-treating-your-hands-with-paraffin-wax/
- http://www.maurerlaw.net/blog/2013/08/trigger-finger---evaluation-and-treatment.shtml









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น