วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

ภัยเงียบ จากโรคกระดูกขาดเลือด



กระดูกข้อสะโพกตาย (avascular necrosis of  the femoral head)

ถ้าพูดถึงเรื่องโรคขาดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายเราจะคิดถึงโรคอะไรกันมากที่สุดเอ่ย? คงเป็นคำตอบเดิมๆที่คุ้นหูกัน คือ โรคหัวใจขาดเลือดบ้าง โรคเส้นเลือดสมองตีบบ้างทำนองนี้ใช่มั้ยครับ แต่อยากจะบอกว่ามีอีกโรคนึงที่น้อยคนจะรู้จัก แม้จะไม่อันตรายถึงชีวิตเมื่อเทียบกับ 2 โรคที่กล่าวไป นั่นก็คือ โรคกระดูกข้อสะโพกตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง (avascular necrosis of  the femoral head)

บางคนพอได้ยินชื่อโรคนี้ก็งงๆก็ว่ากระดูกมันต้องมีเลือดไปเลี้ยงด้วยหรอ? ปกติเห็นกระดูกดูกรอบๆเหมือนกระดูกไก่กระดูกหมูที่เราชอบแทะกินกันอะไรงี้ไม่ใช่หรอ อยากจะบอกว่ากระดูกคนเราก็ต้องมีหลอดเลือดไปเลี้ยงไม่ต่างจากส่วนอื่นๆของร่างกายนะครับ และกระดูกเราก็ไม่ได้ดูกรอบเหมือนกระดูกไก่อย่างที่เราเห็นกันนะ มันมีความแข็งแรงและความยืเหยุ่นอยู่ในระดับหนึ่งด้วย เพราะได้รับสารอาหารจากหลอดเลือดไปเลี้ยงเนี่ยแหละครับ (กระดูกเราก็ต้องการสารอาหารนะ^^)

แต่เมื่อใดก็ตามเส้นเลือดสำคัญที่ทำหน้าที่ไปเลี้ยงกระดูกเกิดมีปัญหาขึ้น ไม่สามารถส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงได้ดังเดิม จากเดิมที่กระดูกเราแข็งแรงเหนียวหนึ่บ ก็คงมีสภาพไม่ต่างจากกระดูกไก่อย่างที่เราเห็นกันละครับ คือ จะดูกรอบและไม่สามารถรองรับนํ้าหนักของร่างกายได้จนเกิดอาการปวดขึ้น และเมื่อเกิดกับข้อที่สำคัญๆที่ทำหน้าที่รับนํ้าหนักของร่างกายอย่าง ข้อสะโพก(femoral head) มันจะทำให้เกิดอาการปวดและสร้างปัญหาต่อการเดินขนาดไหนกัน คนไม่เป็นนี่นึกไม่ออกเลยละ



 สาเหตุ การเกิดโรคกระดูกข้อสะโพกตาย

โรคนี้พบได้ในคนที่มีอายุ 30-40 ปี ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวกระดูกข้อสะโพก (femoral head) เกิดการอุดตัน หรืออาจเกิดการฉีกขาดขึ้นจากอุบัติเหตุ ทำให้เลือดไม่สามารถนำสารอาหารมาหล่อเลี้ยงหัวกระดูกข้อสะโพกได้ จนทำให้เซลล์หัวกระดูกข้อสะโพกค่อยๆตายหมู่ตามๆกันไป และเมื่อเซลล์กระดูกตายผิวข้อสะโพกก็เสีย จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งที่หัวกระดูกข้อสะโพกไม่สามารถรับนํ้าหนักร่างกายได้แล้วจึงเกิดการยุบตัวของหัวกระดูกในที่สุด สร้างความเจ็บปวดทรมานต่อผู้ที่เป็นอย่างมาก และทำให้คนไข้ไม่สามารถเดินได้เหมือนปกติ

ปัจจัยเสี่ยง

1) เกิดจากอุบัติเหตุโดยตรงต่อผิวข้อ ที่พบได้บ่อยคือ พบการแตกหักของกระดูกบริเวณข้อสะโพก ส่งผลให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงนั้นถูกทำลาย หรือกรณีที่ข้อสะโพกหลุดไปด้านหลัง เส้นเลือดที่ฝังตัวอยู่ฉีกขาด ทำให้เกิดการตายของหัวกระดูกต้นขาในที่สุด
2) สาเหตุอื่นๆ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ, ทานยาสเตียรอยด์จำนวนมากเป็นประจำ, กลุ่มคนที่มีไขมันในกระแสเลือดสูง, การเป็นพิษต่อเซลล์ (cytotoxicity) เกิดจาสารพิษไปทำลายเซลล์ เช่น การได้รับเคมีบำบัดเป็นต้น



อาการของโรค

- ในระยะแรกที่อาการไม่รุนแรงคือ จะรู้สึกปวดตุ้บๆหรือปวดตื้อๆที่ขาหนีบหรือข้อสะโพก และโดยเฉพาะเวลาเดินจะมีอาการปวดมากขึ้น ถ้าใครมีอาการปวดขาหนีบให้สงสัยไว้ก่อนเลยครับว่าเป็นโรคที่เกี่ยวกับข้อสะโพกแน่ๆ
- เมื่อเป็นมากขึ้น คนไข้จะยืนเดินลำบากมาก รู้สึกขัดเสียวภายในข้อสะโพก และรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อขยับข้อสะโพก

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจที่เห็นชัดที่สุดคือ MRI และ x-ray นะครับ
โดย x-ray จะมองเห็นถึงความแข็งแรงของโครงสร้างและดูว่าหัวกระดูกสะโพกทรุดตัวมากน้อยแค่ไหน
ส่วน MRI นั้นมีข้อดีคือ สามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกระดูกในช่วงแรกได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในช่วงแรกอาจไม่เห็นในภาพถ่าย x-ray และ MRI ยังช่วยประเมินได้ว่าโรคนี้ส่งผลต่อกระดูกได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ยังสามารถตรวจพบภาวะกระดูกข้อสะโพกตายได้ตั้งแต่เริ่มต้น แม้ยังไม่แสดงอาการใดๆก็ตามครับ

การรักษา

ถ้าใครเป็นโรคนี้การทำกายภาพบำบัดหรือการรักษาด้วยศาสตร์อื่นๆนั้นทำได้เพียงประคับประคองอาการเท่านั้น เมื่อถึงจุดๆหนึ่งคนไข้ต้องเข้ารับการผ่าตัดข้อสะโพกแต่จะเป็นการผ่าตัดเล็กหรือผ่าตัดใหญ่อย่างการเปลี่ยนข้อสะโพกเลยนั้นขึ้นอยู่กับว่าตรวจพบรวดเร็วแค่ไหนครับผม 

การพิจารณาการผ่าตัดนั้นแบ่งได้เป็น 3 ระยะ


การผ่าตัด core decompression

1) core decompression 
วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่ตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ อาการยังไม่รุนแรง ยังไม่พบการทรุดตัวของหัวกระดูกที่มากนัก วิธีนี้จะใช้การเจาะรูเข้าไปในหัวกระดูกข้อสะโพก เพื่อลดแรงกดกระดูกที่มีต่อเส้นเลือดและสร้างช่องหลอดเลือดใหม่เพื่อบำรุงกระดูกที่มีปัญหา ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระดูกให้กลับมาแข็งแรงและป้องกันการทรุดตัวของหัวกระดูกข้อสะโพก


การผ่าตัด vascularized fibula graft

2) vascularized fibula graft
วิธีนี้จะใช้การตัดกระดูกส่วนเล็กที่หน้าแข้ง (fibula bone) ตามด้วยเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยง ไปปลูกถ่ายบริเวณหัวและคอกระดูกสะโพก (femoral head and neck) 



การผ่าตัด total hip replacement 

3) total hip replacement 
ในรายที่หัวและคอกระดูกสะโพกทรุดมากจนไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นแล้ว ต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกที่เสียหายออกไปแทนด้วยข้อเทียมครับ

เครดิตภาพ
- http://www.lookfordiagnosis.com/mesh_info.php?term=Necrosis&lang=2
- http://www.livestrong.com/article/555144-femoral-bone-contusions-stretching/
- http://www.wright.com/physicians/prodense/surgical-techniques/advanced-core-decompression-system










1 ความคิดเห็น:

  1. Tenza
    อายุ: 28 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 75 กก. ส่วนสูง: 156 ซม. ดัชนีมวลกาย: 30.8 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
    ผ่าขาแล้วเดินนอกบ้านไม่ได้กลัวที่โล่งๆต้องเกาะแขนคนเวลาเดินเหมือนเสียการทรงตัว
    Tenza อายุ: 28 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 75 กก. ส่วนสูง: 160 ซม. ดัชนีมวลกาย: 29.3 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) ช่วยด้วยค่ะทุกข์ใจมากค่ะ ดิฉันอายุ28เคยป่วยเป็นไบโพล่ารและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองค่ะให้คีโม9ฉายแสง20 รักษามาจนหาย6ปีโรคสงบ แต่มาปีนี้ดิฉันปวดขาหนีบเดินตัวเอียงเหมือนขาไม่เท่ากันเดินโคลงเคลงทำmriผลออกมาว่าข้อสะโพกขาดเลือดระยะ3 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ประมาณ16ไปผ่าขามาค่ะหมอบอกว่าเจาะกระดูกข้อสะโพกให้เลือดไปเลี้ยงผ่ามาแล้ว8เดือนทำไมเดินนอกบ้านไม่ได้ค่ะในบ่านเดินได้มีเกาะบ้างแต่ก็ทำกิจวัตรประจำวันได้ค่ะพอเดินนอกบ้านกลัวใจสั่นไม่ยอมก้าวมันรุ้สึกจะล้มเสียการทรงตัวอะค่ะ เดินได้ก้าวสั้นๆ หมอที่ร.พบอกว่าไม่ยอมเดินเอง ญาติๆบอกว่าเปนที่จิตใจ หมอบอกว่าเดินได้แน่นอน แต่ร.พแห่งหนึ่งบอกว่าพิการ คลินิคจิตเวชบอกว่าเปนไบโพล่ารปรับยาแก้คลายวิตกกังวลเพิ่มเปน3เม็ดอะค่ะ ตอนนี้ดิฉันไม่รุ้จะทำไงกะตัวเองดีค่ะหมอกายภาพบอกกระดูกข้อสะโพกบางให้ท่ามาบริหารตอนนี้ก็เดินนอก้านไม่ได้ค่ะช่วยบอกหน่อยค่ะเปนอะไรค่ะหมอเดินได้ก้าวสั้นๆ

    ตอบลบ