วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เดินๆอยู่แล้วกระโปรงชอบหมุน ดูดีๆ ไม่แน่คุณเป็นโรคนี้


คุณผู้หญิงที่ชอบใส่กระโปรงทั้งหลายแล้วประสบปัญหาเดินๆอยู่แล้วกระโปรงมันชอบหมุน ตอนใส่แรกๆซิบมันก็อยู่ด้านหลังนะ แต่พอเดินไปได้สักพัก ก้มดูกระโปรงอีกที อ้าว!กระโปรงหมุนซะจนซิปเลื่อนมาอยู่ด้านข้างแล้วซะงั้น! หากเพื่อนๆผู้หญิงทั้งหลายกำลังเจอปัญหานี้อยู่ละก็อย่านิ่งนอนใจนะครับ เพราะมันคืออาการเบื้องต้นของผู้ที่เป็นโรค SI joint syndrome หรือที่เรียกกันว่า "โรคปวดข้อสะโพกร้าวลงขา"  นั่นเอง ซึ่งพบได้บ่อยมากในผู้หญิง และในระยะแรกๆอาจไม่มีอาการปวด แต่มีจุดสังเกตุอยู่อย่างหนึ่งคือ หากใส่กระโปรงเดินไปมานานๆกระโปรงจะหมุนไปยังฝั่งหนึ่งฝั่งใดเสมอนะครับ ทีนี้อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้กระโปรงหมุน แล้วทำไมคนเป็นโรคนี้กระโปรงถึงต้องหมุนด้วยละ? เรื่องนี้ผมมีคำอธิบายง่ายๆมาฝากกันครับ 

ภาพแสดงโครงสร้างของกระดูกเชิงกราน

ทำไมกระโปรงถึงหมุนได้เองในคนที่เป็นโรค SI joint syndrome? 

ก่อนที่ผมจะอธิบายอย่างเจาะลึก ผมขออธิบายโครงสร้างและหน้าที่คร่าวๆของกระดูกเชิงกรานกันก่อนนะครับ SI joint หรือข้อต่อ SI นั้นเกิดจากกระดูกที่เชิงกราน 2 ชิ้นมาประกบกันจนเกิดเป็นข้อต่อขึ้น ซึ่งนั่นก็คือกระดูกใต้กระเบนเหน็บ (sacrum) หากลองคลําบริเวณร่องก้นของเราแล้วรู้สึกแข็งๆนั่นละครับคือกระดูก sacrum และกระดูกอีกชิ้นก็คือกระดูก ilium คือปีกกระดูกเชิงกราน หากลองเอามือเท้าสะเอวแล้วเจอแนวกระดูกแข็งๆที่อยู่ด้านข้างนั่นละครับ คือกระดูก ilium เมื่อกระดูก sacrum และกระดูก ilium มาประกบกันป๊าบบบบ ก็เกิดเป็นข้อต่อที่ชื่อเต็มๆว่า scroiliac joint (SI) ซึ่งข้อต่อนี้แหละครับเมื่อมีปัญหาจะทำให้กระโปรงของคุณผู้หญิงหมุนติ้วๆนั่นเองครับ

รายละเอียดของโรค SI joint syndrome อย่างละเอียด (ปวดสะโพกร้าวลงขา ทั้งที่ X-ray แล้วกระดูกสันหลังก็ปกตินี่)

แล้วทราบหรือไม่ว่า เจ้ากระดูกเชิงกรานที่ดูแข็งๆเนี่ยมันก็เคลื่อนไหวได้เหมือนกันนะ หากไม่เชื่อก็ดูคลิป VDO ประกอบด้านล่างได้เลยครับ ดูนาทีที่ 0.38-1.00 ซึ่งเป็นภาพแสดงการเคลื่อนไหวข้อต่อ

เครดิต https://www.youtube.com/watch?v=D6NTMgWCSaU

ทีนี้เพื่อนๆพอจะเข้าใจส่วนประกอบและการเคลื่อนไหวของข้อต่อ SI joint กันแบบคร่าวๆกันแล้วนะครับ ต่อมาเข้าสู่หัวเรื่องหลักของเราสักทีคือ การอธิบายว่าเหตุใดผู้ที่เป็นโรค SI joint syndrome แล้วกระโปรงถึงหมุนเมื่อเดินนานๆ ผมจะอธิบายแบบใช้ศัพท์วิชาการน้อยๆเลยนะครับ 

ซึ่งก็คือ โดยปกติแล้วข้อต่อ SI joint ทั้ง 2 ข้างจะมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาที่เราเดิน ก้มหลัง แอ่นหลัง หรือเอี้ยวตัวก็ตาม พอเราใส่กระโปรง กระโปรงก็มีการหมุนไปทางซ้ายและขวาสลับกันไปมาเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วนะ ตามการเสียดสีของขอบกระโปรงต่อข้อต่อ SI joint แต่พอเราเป็นโรค SI joint syndrome สมมติเป็นที่ข้างซ้าย จะทำให้ข้อต่อ SI ที่ข้างซ้ายของเรามีการเคลื่อนไหวได้น้อยลง (hypomobility) หรืออาจถึงขั้นติดแข็งเลยก็ได้จากภาวะของโรค จึงเป็นเหตุให้ข้อต่อ SI ข้างขวาต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อชดเชยข้างซ้ายมากขึ้นหรือที่เรียกกันว่า hypermobility 

ทีนี้เมื่อใส่กระโปรง ซึ่งตำแหน่งของขอบกระโปรงจะวางครอบข้อต่อ SI joint อยู่ พอเราเดินเจ้าขอบกระโปรงก็ไปเสียดสีกับข้อต่อเข้าทำให้กระโปรงหมุนไปมาซ้ายขวาสลับกัน แต่ทีนี้ข้อต่อ SI ข้างซ้ายดันเป็นโรคอยู่นี่ทำให้ข้อต่อมีการเคลื่อนไหวได้น้อยลง แล้วข้อต่อ SI ข้างขวาต้องเคลื่อนไหวมากขึ้นเพื่อชดเชย (ดังที่ได้กล่าวไป) ผลก็คือข้อต่อทำงานไม่สมดุลกันทั้ง 2 ฝั่ง ขอบกระโปรงที่วางตัวครอบข้อต่อ SI joint อยู่จึงบิดหมุนไปยังฝั่งขวาเพียงข้างเดียว ตามลักษณะการเคลื่อนไหวของข้อต่อ SI joint 

อธิบายอย่างนี้งงใช่มั้ย? ไม่เป็นไรครับ ผมสรุปให้ฟังเลยก็แล้วกัน สรุปก็คือ การเคลื่อนไหวของข้อต่อ SI joint คือสาเหตุที่ทำให้กระโปรงหมุน เพราะขอบกระโปรงไปรัดที่ข้อต่อ SI อยู่ทั้ง 2 ข้าง ทีนี้พอเกิดปัญหาที่ข้อต่อ SI ข้างซ้ายจึงทำให้ข้อต่อ SI ข้างซ้ายเคลื่อนไหวน้อยลง แรงเสียดสีของขอบกระโปรงตรง SI joint ข้างขวาจึงมากกว่า (เพราะข้อต่อ SI ยังเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ แต่ข้างซ้ายดันไม่เคลื่อนไหว) จึงทำให้กระโปรงค่อยๆหมุนไปข้างขวาเรื่อยๆทีละนิดๆทีละนิดตามระยะทางที่เราเดิน ยิ่งเดินมากเท่าไหร่กระโปรงก็ยิ่งหมุนไปมากขึ้นเท่านั้นนั่นเองครับ
ตำแหน่ง PSIS จะมีปุ่มกระดูกยื่นออกมา

หากเพื่อนๆต้องการพิสูจน์ว่า ไอเจ้าข้อต่อ SI joint มันเคลื่อนไหวได้จริงๆหรอ ให้เรายืนขึ้น จากนั้นใช้นิ้วโป้งคลำตามขอบกางเกงในทั้ง 2 ข้างเข้าหากัน จะพบแอ่งเล็กๆแล้วพอใช้นิ้วคลึงจะรู้สึกว่ามีปุ่มกระดูกเล็กๆอยู่ตรงนั้น บริเวณนั้นเรียกกันว่า PSIS นะครับ จากนั้นให้ยกขางอเข่าข้างหนึ่งขึ้นๆลงๆ เราจะรู้สึกว่าตรงจุด PSIS มีการเคลื่อนไหวผ่านนิ้วโป้งของเรา และนั่นก็คือจุดเดียวกับที่ขอบกระโปรงไปเสียดสีจนทำให้กระโปรงหมุนได้นั่นเองครับผม

ลักษณะการวางมือหา PSIS

ส่วนวิธีการแก้ปัญหาเรื่องกระโปรงหมุนแบบเฉพาะหน้าก็คือใส่กางเกง หรือกระโปรงเอวสูงไปเลยครับ แต่ทางที่ดีที่สุดคือเข้ารับการรักษากับนักกายภาพบำบัดเพื่อดัดข้อต่อ SI joint ให้เคลื่อนไหวได้เป็นปกติ ทีนี้ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องกระโปรงจะหมุนอีกต่อไปแล้วละครับผม^^

เครดิตภาพ
- http://likes.com/eyecandy/extreme-micro-mini-skirts-1?page=2&z=top
- http://www.yoganatomy.com/gluteal-psoas-relationship/
- https://www.youtube.com/watch?v=EzCm2GoUGVs
- https://play.google.com/store/apps/details?id=com.pelvis.android


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น