วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560

สาเหตุปวดเข่า กับ 6 โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเข่าทั้งหมด


สาเหตุปวดเข่า กับ 6 โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเข่าทั้งหมด

เมื่อเรามีอาการปวดเข่า โรคอันดับต้นๆที่เราจะนึกถึงส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นโรคข้อเข่าเสื่อม หรือไม่ก็กล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่าอักเสบกันใช่มั้ยครับ แต่รู้หรือไม่ว่าตำแหน่งที่ปวดของเข่าแต่ล่ะตำแหน่ง และอายุนั้นสามารถบ่งบอกโรคที่เกี่ยวกับเข่าได้ว่าเราน่าจะเป็นโรคอะไร ฉะนั้น เรามาดูรายละเอียดของโรคที่เกี่ยวกับอาการปวดเข่าที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปกันครับว่ามีอะไรบ้าง


ภาพแสดงให้เห็นว่ากระดูกข้อเข่าอยู่ชิดกันมาก และมีกระดูกงอกที่เข่าด้านใน

1) โรคข้อเข่าเสื่อม (osteoarthritis knee)

จัดว่าเป็นโรคยอดฮิตของคนไทยเลยก็ว่าได้ ด้วยพฤติกรรมของคนไทยที่ชอบนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่ากันบ่อยๆ ร่วมกับอายุที่มากขึ้น กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงจนทำให้กล้ามเนื้อมีแรงน้อยลงในการพยุงข้อเข่าจนหมอนรองกระดูกข้อเข่าค่อยๆเสื่อม จนกลายเป็นโรคข้อเสื่อมในที่สุดซึ่งกว่าจเป็นเข่าเสื่อมได้นั้นก็กินเวลากันเป็นปีๆเลยครับผม

จุดเด่นของคนที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นก็คือ

- มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่ก็คืออายุ 45 ปีขึ้นไป
- ตำแหน่งที่ปวดนั้น มักปวดที่ข้อเข่าด้านในมากกว่าส่วนอื่นทั้งหมด
- รู้สึกข้อเข่าฝืดในช่วงเช้าหลังตื่นนอน แต่เมื่อเดินไปสักพักข้อเข่าก็จะเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ฝืดน้อยลง
- ปวดมากขึ้นเมื่อพยายามงอเข่า พับเข่า โดยจะมีความรู้สึกตึงๆขัดๆเสียวๆอยู่ในข้อเข่าด้านหลังเวลางอเข่า (แต่บางรายก็ปวดรอบๆเข่าทั่วไปหมดก็มี)
- ไม่สามารถนั่งขัดสมาธิได้ หากนั่งขัดสมาธิก็ต้องนั่งเหยียดขาขางที่ปวดออก
- ในระยะเริ่มแรกที่เป็นอาจมีภาวะข้อเข่าบวม จากนํ้าเลี้ยงข้อที่เพิ่มขึ้นเพื่อพยายามซ่อมแซมเนื้อเยื่อในเข่าที่เสียหาย
- หากเป็นมานานจะเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเข่า นั่นคือมีภาวะเข่าโก่ง
- มีเสียงดังกร๊อบแกร็บในข้อเข่า จากภาวะที่เข่าหลวมทำให้ผิวข้อกระดูกเสียดสีกันจนเกิดเสียงขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง
- ข้อเข่าเสื่อม โรคยอกฮิตวัยชรา
- 6 สัญญาณ เช็คโรคเข่าเสื่อม คลิป เกี่ยวกับข้อเข่าเสื่อม
- วิธีบริหารข้อเข่า (8 ท่า บริหารข้อเข่าในคนเป็นเข่าเสื่อม)
- วิธีดัดเข่าลดปวด (6 วิธี ดัดดึงข้อเข่า เพื่อรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ)


ตำแหน่งที่ปวดใต้ข้อพับเข่าจากโรค hamstring strain 

2) โรค hamstring strain (อาการปวดใต้ข้อพับเข่า จากกล้ามเนื้ออักเสบ)

สำหรับโรค hamstring strain เป็นอาการปวดเข่าด้านหลังที่มักไม่พบในผู้สูงอายุ  แต่จัดว่าเป็นโรคที่พบได้เฉพาะในกลุ่มนักกีฬาวิ่งเร็ว หรือกีฬาที่ต้องมีการกระโดดอยู่เป็นประจำ ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าวทำให้กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง หรือกล้ามเนื้อ hamstring นั้นถูกฉีกกระชาก ถูกใช้งานหนักบ่อยๆเข้า จนเส้นใยกล้ามเนื้อบางส่วนฉีกขาดและเกิดการอักเสบขึ้นนั่นเองครับผม

โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นที่บริเวณใต้ข้อพับเข่า และจะปวดมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยพยายามวิ่งเร็ว กระโดด ทำกิจกรรมที่ต้องมีการงอเข่าอยู่บ่อยๆ หรือยืดกล้ามเนื้อ hamstring โดยการนั่งเหยียดขาก้มตัวแตะปลายเท้า ซึ่งการยืดกล้ามเนื้อก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดมากขึ้นได้

บทความที่เกี่ยวข้อง
- ปวดใต้ข้อพับเข่า อาการที่ไม่ได้เป็นเข่าเสื่อม แต่พบมากในนักวิ่ง คลิป เกี่ยวกับโรค hamstring strain 
- วิธียืดกล้ามเนื้อขาทั้งหมด (รวมเทคนิคยืดกล้ามเนื้อขาทั้งหมด)
- ออกกำลังกายกล้ามเนื้อ hamstring (5 ท่า บริหารข้อเข่า แก้ปัญหาเข่าแอ่น)


ตำแหน่งที่ปวดข้อเข่าด้านนอกจากโรค IT band syndrome

3) โรค IT band syndrome (อาการปวดข้างเข่าด้านนอก จากพังผืดอักเสบ)

โรค IT band syndrome ก็จัดว่าเป็นโรคเฉพาะกลุ่มอีกเช่นกัน มักพบในกลุ่มนักวิ่งมาราธอน หรือนักปั่นจักรยานทางไกล โดยจะมีอาการปวดที่ข้างเข่าทางด้านนอก ซึ่งเกิดจากตัวพังผืดที่มีชื่อว่า iliotibial band ไปเสียดสีกับปุ่มกระดูกที่อยู่ข้างเข่าด้านนอกชื่อ lateral femoral epicondyle ในขณะที่เราวิ่งหรือปั่นจักรยาน เมื่อเกิดการเสียดสีบ่อยๆเข้า ก็ทำให้ตัวพังผืดเกิดการฉีกขาดขึ้นบางส่วน และเกิดการอักเสบขึ้นในที่สุดจนกลายเป็นที่มาของโรค IT band syndrome (ชื่อเต็ฒ iliotibial band syndrome)

จุดเด่นของคนที่เป็นโรคนี้ก็คือ มักจะปวดเมื่อวิ่งไปถึงระยะทางเดิมๆก็จะเริ่มมีอาการปวดเกิดขึ้น และหากยังคงฝืนวิ่งต่อไปก็จะปวดมากขึ้นจนวิ่งต่อไม่ไหว เช่น เมื่อผู้ป่วยวิ่งในระยะแรกๆจะไม่มีอาการปวด แต่พอวิ่งไปได้ระยะทางที่ 2,000 เมตร ก็จะเริ่มมีอาการปวดที่ข้างเข่าด้านนอกทันที พอพักได้ 2-3 วัน กลับไปวิ่งใหม่ และเมื่อวิ่งไปได้ระยะทาง 2,000 เมตรอาการปวดก็กำเริ่มขึนอีก เป็นแบบนี้ทุกครั้งที่วิ่งออกกำลังกาย อาการปวดส่วนใหญ่ก็จะอยู่แค่ข้างเข่าด้านนอก แต่บางรายก็จะมีอาการปวดที่ข้างต้นขาด้านนอกทั้งแถบเลยก็ได้ในกรณีที่ปวดเรื้อรังมานาน

บทความที่เกี่ยวข้อง
- IT band syndrome อีก 1 โรคที่นักวิ่งมักเป็นกัน คลิป รักษาโรค IT band syndrome
- วิธีลดปวดโรค IT band syndrome (4 วิธีรักษาอาการปวดเข่าด้านนอก)
- วิธีบริหารข้อเข่าในผู้ที่เป็น IT band syndrome (5 ท่า บริหารข้อเข่า ในคนเป็นโรค IT band syndrome)


ลักษณะเข่าที่บิดจนเป็นสาเหตุของโรคเอ็นไข้วหน้าเข่าฉีกขาด

4) โรค ACL injury (โรคเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด) 

โรคเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด จัดว่าเป็นโรคยอดฮิตในหมู่นักฟุตบอล หรือในกลุ่มคนที่ชอบเล่นกีฬาที่ต้องมีการวิ่งซิกแซ็กหลบหลีกคู่ต่อสู้อยู่บ่อยๆ สาเหตุหลักๆก็มาจากการวิ่งลงนํ้าหนักและเกิดเข่าบิดในขณะที่เข่าเหยียดตรงอยู่ทำให้เส้นเอ็นไขว้หน้าถูกกระชากจนฉีกขาด หรือไม่ก็เกิดจากเรายืนเหยียดเข่าอยู่เฉยๆ แต่จู่ๆมีคนมาสไลด์ชนปลายเท้าเราทำให้เข่าบิดจนเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดได้เช่นกัน สรุปง่ายๆ เอ็นไขว้หน้าเข่าจะฉีกขาดได้ก็ต่อเมื่อมีแรงมากระทำต่อข้อเข่าของเรานั่นเองครับผม มักพบในกลุ่มเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ชอบเล่นกีฬาที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งอยู่เป็นประจำ

อาการหลักของคนเป็นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดก็คือ เมื่อเอ็นขาดใหม่ๆ ข้อเข่าจะบวมภายในไม่กี่ชั่วโมง มีบวม แดง และร้อนอย่างชัดเจนที่ข้อเข่า ไม่สามารถเดินลงนํ้าหนักของขาข้างที่มีปัญหาได้ รู้สึกข้อเข่าไม่ค่อยมีความมั่นคง (เข่าหลวม) ขณะเดินจะรู้สึกว่าหน้าแข้งมันจะเคลื่อนไปด้านหน้าตลอด เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง
- เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด โรคยอดฮิตในหมู่นักบอล คลิป เกี่ยวกับเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด
- วิธีตรวจโรคเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด (สาเหตุเอ็นไข้วหน้าเข่าขาด พร้อมวิธีตรวจโรค)
- วิธีฟื้นฟูเข่าหลังผ่าเอ็นไขว้หน้า (วิธีฟื้นฟูเอ็นไขว้หน้า หลังผ่าตัดสัปดาห์ที่ 1-2)


ตำแหน่งเส้นเอ็นใต้ลูกสะบ้าที่ปวดของโรค  jumper knee

5) โรค jumper knee (โรคข้อเข่านักกระโดด)

ในบรรดาโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเข่าทั้งหมดที่กล่าวมา โรค jumper knee จัดว่าเป็นโรคที่พบได้น้อยที่สุดแล้วครับ เพราะโรคนี้มักพบในกลุ่มนักกีฬาหรือคนที่ชอบออกกำลังกายโดยการกระโดดอยู่เป็นประจำ ซึ่งเกิดจากเส้นเอ็นใต้ลูกสะบ้าถูกฉีกกระชากจากกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps) หดตัวอย่างเร็วและแรงในขณะที่เรากำลังกระโดดขึ้นนั่นเองครับ

อาการของผู้ที่เป็นโรคนี้ก็คือ จะมีอาการปวดที่ข้อเข่าทางด้านหน้า โดยเฉพาะตำแหน่งใต้ลูกสะบ้า เมื่อกดลงไปตรงเอ็นใต้ลูกสะบ้าจะยิ่งทำให้เจ็บปวดมากยิ่งขึ้น บางรายก็มีอาการปวดรอบๆลูกสะบ้าเลยก็มีนะ โดยอาการปวดนั้นจะปวดที่ผิวๆหาจุดกดเจ็บเจอได้ง่าย แต่ถ้าเป็นข้อเข่าเสื่อมก็จัมีอาการปวดด้านหน้าเข่าได้เช่นกัน จะต่างกันตรงที่ผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อมนั้นจะรู้สึกปวดลึกๆอยู่ข้างในเข่า หาจุดกดเจ็บไม่เจอครับผม

บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคข้อเข่านักกระโดด ชื่อแปลกที่หลายคนมักเป็นกัน



ตำแหน่งของถุงนํ้า (bursa) ที่อักเสบจนทำให้เป็นโรคเข่าแม่บ้าน

6) โรค prepatellar bursitis (โรคเข่าแม่บ้าน)

หากจะบอกว่าโรค jumper knee พบได้น้อยแล้วโรคเข่าแม่บ้านจัดว่าพบได้น้อยยิ่งกว่า เพราะคนจะเป็นโรคนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนหลักๆคือ ชอบนั่งคุกเข่าในลักษณะที่นํ้าหนักตัวกดลงไปที่ลูกสะบ้าโดยตรงเหมือนท่านั่งคุกเข่าถูพื้น (เพราะเหตุนี้เค้าถึงเรียกกันว่า โรคเข่าแม่บ้าน) กับอีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากล้มข้อเข่ากระแทกพื้นโดยตรง ทำให้ถุงนํ้าที่อยู่บนลูกสะบ้าได้รับการกระทบกระเทือนและเกิดอับเสบขึ้นจนปวดบวมอย่างชัดเจน


ภาพแสดงถุงนํ้าที่บวมจากโรคเข่าแม่บ้าน

ลักษณะอาการของผู้ที่เป็นโรคเข่าแม่บ้านก็คือ ข้อเข่าบวม แต่จะไม่ได้บวมทั่วทั้งเข่า จะบวมแค่บริเวณเหนือลูกสะบ้าเท่านั้น และจะบวมเป็นลักษณะปูดนูนขึ้นมาเหมือนมีถุงนํ้าอยู่ภายใน 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคเข่าแม่บ้าน ไม่ต้องเป็นแม่บ้านก็ปวดเข่าได้

เป็นยังไงกันบ้างครับกับโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเข่าทั้งหมด หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์ช่วยในการวินิจฉัยโรคของตัวเองได้ไม่มากก็น้อยนะครับ 

เครดิตภาพ
- http://www.prevention.com/health/natural-knee-pain-cures
- http://www.euflexxa.com/stages-of-osteoarthritis-knee/
- http://besport.org/sportmedicina/hamstring-syndrome.htm
- http://www.avarinshop.com/product/pro-tec-band-compression-wrap/
- https://medlineplus.gov/ency/article/001074.htm
- http://www.don1don.com/archives/35541/%E9%AB%95%E9%AA%A8%E8%82%8C%E8%85%B1%E7%82%8Epatella-tendinitis
- http://medical-dictionary.thefreedictionary.com/prepatellar+bursitis
- http://www.footpainreliefstore.com/library/PPB.htm


วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

[คลิป VDO 70] 6 วิธี ลดปวดข้อศอกด้านใน จากโรค golfer's elbow (PART 2)


6 วิธี ลดปวดข้อศอกด้านใน จากโรค golfer's elbow (PART 2)

มาถึง part ที่ 2 กันแล้วนะครับ ซึ่งในคลิปนี้จะบอกวิธีการรักษาโรค golfer's elbow ให้หายขาดกัน ซึ่งวิธีการรักษาหลักๆก็เป็นการประคบร้อน-เย็น ยืดกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายกล้ามเนื้อแขนให้แข็งแรง ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆที่เราสามารถดูแล้วก็ทำตามได้เลยครับ

และนอกจากการรักษาตามที่บอกในคลิปแล้ว ในรายที่มีอาการปวดมาก ผมก็แนะนำให้ซื้อผ้ารัดข้อศอกมาใช้ด้วยนะ เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ถูกกดรัดนั้น ได้พักการใช้แรง เนื้อเยื่อที่เสียหายอยู่จะได้ซ่อมแซมตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ แล้วถ้าปวดมากจริงๆ ผมแนะนำว่าให้ไปรักษาโดยการทำอัลตร้าซาวด์ที่แผนกกายภาพเลยนะ หรือไม่ก็ใช้การฝังเข็มก็ช่วยลดปวดได้เช่นกันครับ โรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นเอ็นมันจะใช้เวลานานกว่าจะหายขาดนะ แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ยังไงก็หายขาดได้สบายอยู่แล้วครับผม

รายละเอียดในคลิป

วิธีที่ 1 : ประคบร้อน-เย็น (นาทีที่ 0:20)
วิธีที่ 2 : เหยียดศอก กดมือ (นาทีที่ 3:50)
วิธีที่ 3 : บีบท่อนแขน (นาทีที่ 5:32)
วิธีที่ 4 : งอศอก งอข้อมือ (นาทีที่ 10:03)
วิธีที่ 5 : หมุนมือ ซ้ายขวา (นาทีที่ 11:28)
วิธีที่ 6 : งอศอก เหยียดศอก (นาทีที่ 13:27)


[คลิป VDO 69] สาเหตุอาการปวดข้อศอกด้านใน กับโรค golfer's elbow (PART 1)



สาเหตุอาการปวดข้อศอกด้านใน กับโรค golfer's elbow (PART 1)

ก่อนหน้านี้ผมได้ลงคลิปวิธีการรักษาโรค tennis elbow หรืออาการปวดข้อศอกด้านนอกไปแล้ว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดีมากๆเพราะมีคนเป็นโรคนี้กันเยอะจริงๆ แล้วนอกจากอาการปวดข้อศอกด้านนอกแล้ว โรคที่มาคู่กันก็คงหนีไม่พ้นอาการปวดข้อศอกด้านใน หรือ golfer's elbow ถึงแม้โรคนี้จะพบได้น้อยกว่า tennis elbow แต่ถ้าได้ปวดขึ้นมาก็คงสร้างปัญหาในการดำเนินชีวิตพอสมควร

ซึ่งในคลิปนี้ผมจะอธิบายถึงสาเหตุ กลไกการเกิดโรคว่า การเล่นกอล์ฟทำให้เราเป็นโรค golfer's elbow ได้ยังไง และนอกจากคนเล่นกอล์ฟแล้วคนทั่วไปก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน แต่ทำท่าไหนจึงจะมีความเสี่ยงให้เป็นโรคนี้ติดตามได้ในคลิปนี้เลยครับผม 

รายละเอียดในคลิป

สาเหตุ (นาทีที่ 1:48 )
ท่าทางที่ทำให้ปวดในคนเล่นกอล์ฟ (นาทีที่ 1:48)
ท่าทางที่ทำให้ปวดในคนเล่นเทนนิส (นาทีที่ 4:32)
คุณครูที่ชอบตีนักเรียนก็เป็นได้นะ (นาทีที่ 7:31)
อาการ (นาทีที่ 11:58)


วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560

[คลิป 68] วิธีฟื้นฟูเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด สัปดาห์ที่ 3-4 (Part 3)


วิธีฟื้นฟูเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด สัปดาห์ที่ 3-4 (Part 3)

และแล้วก็มาถึง part ที่ 3 กันแล้วนะครับ สำหรับวิธีการฟื้นฟูข้อเข่าหลังผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า โดยเป้าหมายหลักในสัปดาห์ที่ 3 และ 4 นี้ก็คือการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา และข้อเข่าให้มัความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้นไปอีกระดับ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำได้ปกติโดยเร็วครับผม

รายละเอียดในคลิป

สัปดาห์ที่ 3 (นาทีที่ 0:31)
วิธีที่ 1 : ถีบยางยืด (นาทีที่ 1:15)
วิธีที่ 2 : นอนควํ่างอเข่า (นาทีที่ 3:02)
วิธีที่ 3 : ยืนเขย่งปลายเท้า (นาทีที่ 4:40)
วิธีที่ 4 : หลังพิงกำแพง ย่อเข่าครึ่งนึง (นาทีที่ 5:50)
วิธีที่ 5 : นอนหงาย ยกก้น (นาทีที่ 7:43)

สัปดาห์ที่ 4 (นาทีที่ 9:34)
วิธีที่ 1 : ย่อเข่า บนหมอน (นาทีที่ 10:00)
วิธีที่ 2 : ยืนขาเดียว บนหมอน (นาทีที่ 11:24)
วิธีที่ 3 : ยืนขาเดียว ก้มหยิบของ (นาทีที่ 13:20)
วิธีที่ 4 : ยืนขาเดียว ตีเข่า (นาทีที่ 15:12)
วิธีที่ 5 : เดินต่อส้น หลับตา (นาทีที่ 17:10)
วิธีที่ 6 : ขึ้น step เตะขา (นาทีที่ 18:50)



[คลิป VDO 67] วิธีฟื้นฟูเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด สัปดาห์ที่ 1-2 (part 2)



วิธีฟื้นฟูเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด สัปดาห์ที่ 1-2 (part 2)

เอาล่ะครับ ในที่สุดก็มาถึงแนวทางในการดูแลข้อเข่าหลังจากผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าขาดกันแล้วครับผม โดยในคลิปนี้จะเป็นวิธีการฟื้นฟูข้อเข่าในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 หลังจากผ่าตัดนะครับ

ซึ่งรายละเอียดที่ผมบอกในคลิปนั้น เป็นเพียงแนวทางการรักษานะ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการรักษาได้ขึ้นอยู่กับแต่ล่ะบุคคลด้วยนะครับผม หากต้องการที่จะได้ข้อมูลที่ตรงกับอาการของเรามากที่สุดนั้น ลองปรึกษากับแพทย์ที่ผ่าตัดเรา หรือนักกายภาพที่ดูแลเรานะครับ ว่าเราจะออกกำลังกายได้ท่าไหน จะเดินได้เมื่อไหร่ครับผม

รายละเอียดในคลิป

1-3 วัน หลังผ่าตัด
วิธีที่ 1 : นอนหงาย ยกขาสูง (นาทีที่ 1:37)
วิธีที่ 2 : ประคบเย็น (นาทีที่ 2:30)
วิธีที่ 3 : กระดกปลายเท้าขึ้น-ลง (นาทีที่ 3:42)
วิธีที่ 4 : นั่งกดหมอน (นาทีที่ 5:00)

4-14 วันหลังผ่าตัด (นาทีที่ 7:00)
วิธีที่ 1 : ยืดน่อง (นาทีที่ 8:04)
วิธีที่ 2 : นั่งกอดเข่า (นาทีที่ 9:20)
วิธีที่ 3 : ส้นเท้า ครูดพื้น (นาทีที่ 11:00)
วิธีที่ 4 : งอเข่า เกร็งค้าง 5 วิ (นาทีที่ 12:28)
วิธีที่ 5 : นอนหงาย ยกขาตรง (นาทีที่ 14:00)
วิธีที่ 6 : นอนตะแคง กางขา (นาทีที่ 16:00)
วิธีที่ 7 : นอนตะแคง กางขาล่าง (นาทีที่ 18:05)



วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

[คลิป VDO 66] สาเหตุเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด พร้อมวิธีตรวจโรค (Part 1)



สาเหตุเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด พร้อมวิธีตรวจโรค Part 1

ช่วงนี้มีคนไข้ที่ผ่าเอ็นไขว้หน้ามาสอบถามเยอะเกี่ยวกับวิธีการดูแล และการฟื้นฟูต่างๆ ซึ่งผมก็แนะนำให้บริหารท่านั้นท่านี้ไป แต่จะมำถามนึงเกี่ยวโรคเอ็นไขว้หน้าขาดที่ผมอธิบายเป็นตัวอัษรหรือคำพูดได้ยากเหลือเกิน คนไข้มักถามว่า "เอ็นไขว้หน้ามันขาดได้ยังไงครับ สาเหตุมันเกิดจากอะไรหรอครับ" เหตุที่มันอธิบายยากก็เพราะมันต้องใช้ภาพประกอบเพื่อทำความเข้าใจนั่นครับผม 

ในท้ายที่สุดหลังจากที่ผมพยายามอธิบายเรื่องสาเหตุการเกิดโรคนี้กับคนไข้ที่มาถาม จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครเข้าใจสักที ผมจึงบอกไปว่า "งั้นรอผมทำคลิปอธิบายเรื่องนี้แล้วกันนะ จะเข้าใจง่ายกว่าที่เอาแต่พูดปากเปล่า" และวันนี้ก็มาถึงแล้วครับ กับคลิปการอธิบายสาเหตุการเกิดโรคเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด พร้อมด้วยวิธีการตรวจโรคนี้ 

ซึ่งวิธีการตรวจโรคเอ็นไขว้หน้านั้นมีหลายวิธีนะ แต่วิธีที่ผมใช้ในคลิปนั้นมีชื่อว่า Drawer Test ครับผม เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้วนะ ส่วนวิธีการดูแลรักษานั้น ติดตามได้ใน part ที่ 2 และ 3 เลยครับผม

รายละเอียดในคลิป

สาเหตุ การเกิดโรค (นาทีที่ 1:00)
อาการ ของโรค (นาทีที่ 7:46)
วิธีตรวจแยกโรคเอ็นไขว้หน้าขาด (นาทีที่ 11:40)



วันอังคารที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560

osgood schlatter อาการปวดเข่า เข่าปูดในวัยรุ่น ที่ปวดจนนั่งคุกเข่าไม่ได้


โรค osgood schlatter disease (OSD)
หรือ โรคหัวเข่าปูดจากปุ่มกระดูกอักเสบ

ถ้าพูดถึงสาเหตุของอาการปวดเข่า เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงโรคข้อเข่าเสื่อม เอ็นไหว้หน้าอักเสบ หมอนรองกระดูกข้อเข่าฉีกขาด โรครูมาตอยด์ เก๊าต์ เป็นต้น ซึ่งโรคที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ มักพบในในวัยกลางคนจนถึงวัยผู้สูงอายุซะมากกว่า แต่ถ้าพบในวัยรุ่น วัยเด็ก หรือนักกีฬาล่ะก็จะมีเพียงไม่กี่โรคหรอกครับ และหนึ่งในนั้นก็คือ โรค osgood schlater disease ซึ่งเป็นภาวะที่หัวกระดูกหน้าแข้งใกล้ๆข้อเข่า (tibial tuberosity) เกิดการอักเสบ หรือไม่ก็แตกร้าวจากแรงดึงของเส้นเอ็นที่มาเกาะอยู่บริเวณนั้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ใช้แรงขามากๆ เช่น วิ่ง กระโดด และถ้านั่งคุกเข่าไม่ได้ด้วยแล้วล่ะก็ ใช่เลยครับสำหรับโรคนี้ เพราะขณะที่เรานั่งคุกเข่า เจ้าเศษกระดูกตรงหน้าเข่านั้น มันจะกดอัดกับเส้นเอ็นและเนื้อเยื่อรอบๆทำให้เกิดอาการปวดนั่นเอง

ภาพแสดงโครงสร้างของเข่า และตำแหน่งที่ทำให้เกิดโรค osgood schlatter

สาเหตุของโรค osgood schlatter disease

โรคนี้โดยมากมักพบในวัยเด็ก วัยรุ่น และในนักกีฬาเสียเป็นส่วนใหญ่ครับผม และโดยเฉพาะนักกีฬาจะพบได้มากที่สุด ซึ่งกีฬาหรือกิจกรรมที่จะทำให้เสี่ยงเป็นโรคนี้ยกตัวอย่างเช่น การวิ่ง ซึ่งการวิ่งไม่ใช่การวิ่งมาราธอนนะ แต่เป็นการวิ่งระยะสั้น 100 เมตร 200 เมตร, กีฬาที่เกี่ยวข้องกับการกระโดด เช่น บาสเก็ตบอล วอลเล่ย์บอล หรือจะเป็นกีฬาที่มีการวิ่งระยะสั้นสลับกับหยุดวิ่งเป็นระยะๆ เช่น ฟุตบอล รักบี้ เป็นต้น 

ภาพแสดงกระดูกเข่าที่แตกออก

ซึ่งสาเหตุที่กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เป็นโรค osgood schlatter disease ได้ง่ายเนื่องจาก ขณะที่เราออกแรงกล้ามเนื้อต้นขาให้หดตัวมากๆในการวิ่ง หรือกระโดด จะทำให้เส้นเอ็นตรงใต้กระดูกลูกสะบ้าเกิดการตึงตัวตามและดึงรั้งปุ่มกระดูกใต้เข่า (tibial tuberosity) ที่มันเกาะอยู่ ทำให้ผิวกระดูกบริเวณนั้นเกิดการแตกร้าวขึ้นเล็กๆจากแรงดึง แต่ถ้ายังคงมีการทำกิจกรรมหนักๆอย่างต่อเนื่อง ผิวกระดูกก็แตกร้าวมากขึ้นจนเกิดอาการปวดที่หน้าเข่าได้ในที่สุด และหากผู้ป่วยยังเป็นเด็กอายุอยู่ในช่วง 8-12 ปี แล้วชอบเล่นกีฬาก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าปกติ เนื่องจากในวัยเด็ก มวลกระดูกยังไม่แข็งแรงมาก เมื่อเกิดการดึงรั้ง เกิดการกระชากของเส้นเอ็นหน้ากระดูกจึงทำให้กระดูกแตกร้าวได้ง่ายกว่าปกตินั่นเองครับผม ส่วนใหญ่จะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงนะ

ภาพมองจากด้านข้างเข่า ของตำแหน่งที่กระดูกหน้าเข่าแตก

นอกจากในวัยเด็กที่ชอบเล่นกีฬาแล้ว คนทั่วไปก็พบได้เช่นเดียวกัน แต่โดยมากมักเกิดจากอุบัติเหตุซะมากกว่านะ เช่น การหกล้มหัวเข่ากระแทกพื้น ทำให้ปุ่มกระดูกหน้าเข่าแตกร้าว หรือเกิดอุบัติเหตุมีของแข็งมาโดนที่หน้าเข่าตรงปุ่มกระดูก เป็นต้น

ภาพเปรียบเทียบเข่าข้างปกติกับข้างที่เป็นโรคของผมครับ 
จำได้ว่าเป็นตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันนี้เข่าก็ยังปูดนูนอยู่ แต่ไม่มีอาการปวดใดๆแล้ว

อาการของโรค osgood schlatter disease

อาการของผู้ที่เป็นโรคนี้ก็คือ จะมีอาการเจ็บที่หน้าเข่าเมื่อวิ่ง หรือกระโดด เมื่อใช้มือกดลงไปตรงปุ่มกระดูกหน้าเข่าจะมีอาการปวดมากขึ้น ไม่สามารถนั่งคุกเข่าได้เพราะแรงกดของนํ้าหนักตัวกดลงไปที่เข่าจะไปกดตรงกระดูกที่แตกร้าวทำให้เกิดอาการปวด 

นอกจากนี้ก็จะสังเกตุได้ว่าปุ่มกระดูกตรงหน้าเข่านั้น มันมีลักษณะปูดบวมมากกว่าข้างปกติอย่างเห็นได้ชัด ในระยะแรกที่เป็นใหม่ๆอาจมีกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps) มันตึงมากกว่าปกติ และเมื่อเอามืออังที่ปุ่มกระดูกจะรู้สึกอุ่นๆ และผิวหนังโดยรอบมีสีแดงเล็กน้อยจากการอักเสบ

เมื่อใช้นิ้วกดลงไปที่ปุ่มกระดูกหน้าข้อเข่าจะทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้น

การรักษาของโรค osgood schlatter disease

สำหรับโรคนี้ไม่ต้องเข้ารับการรักษาอะไรมากก็ได้ครับ เพราะมันไม่ใช่การบาดเจ็บที่ใหญ่มากจนทำให้เกิดอันตรายอะไรได้ครับผม หลักๆคือหากพบว่าตนเองมีอาการปวดปุ่มกระดูกตรงหน้าเข่ามา กดลงไปตรงปุ่มกระดูกแล้วเจ็บ นั่งคุกเข่าไม่ได้ วิ่งเร็วไม่ได้เหมือนเดิมเนื่องจากอาการบาดเจ็บก็ให้หยุดพักก่อนครับ แล้วใช้การประคบนํ้าแข็ง หรือผ้าเย็นบริเวณที่ปวดแทน เพื่อป้องกันไม่ให้เศษกระดูกที่แตกร้าวอยู่เกิดการแตกมากขึ้น และลดการอักเสบ ซึ่งการพักนั้นอาจกินเวลา 15 วัน หรือมากกว่า 1 เดือนก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคลครับผม แต่ระหว่างที่พักผู้ป่วยก็ยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถเดินได้ นั่งได้ เพียงแต่เมื่อวิ่ง หรือเดินขึ้นบันไดอาจจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้นเท่านั้นเองครับผม 

นอกจากนี้ก็ใช้การยืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าร่วมด้วย เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ในระยะแรกๆ นอกจากจะมีอาการปวดแล้ว กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าก็ยังมีความตึงมากด้วย ก็ใช้การยืดกล้ามเนื้อต้นขาตามคลิปด้านล่างนี้เลยครับผม โดยยืดค้างไว้ 15 วินาที นะครับ

วิธียืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps)

ส่วนปุ่มกระดูกที่ปูดยื่นออกมานั้น เราคงไม่สามารถทำอะไรมันได้ครับ ไม่ต้องไปกด ดัน หรือผ่าตัดใดๆทั้งสิ้น เพราะโครงสร้างกระดูกเหล่านั้นมันเกิดการเชื่อมติดกัน และเปลี่ยนรูปร่างไปแล้วครับผม 

เครดิตภาพ
- http://kneesafe.com/osgood-schlatter-disease/
- https://en.wikipedia.org/wiki/Osgood%E2%80%93Schlatter_disease
- https://www.gillettechildrens.org/conditions-and-care/osgood-schlatter-disease/
- http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00411
- http://emedicine.medscape.com/article/1993268-overview

วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปวดขาหนีบ ดูดีๆอาจเป็น 1 ใน 4 โรคนี้แล้วก็ได้


ไม่ว่าจะคุณผู้หญิงหรือคุณผู้ชาย หากได้มีอาการปวดที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งย่อมสร้างความทุกข์ทรมานเป็นที่แน่นอน แล้วนอกจากอาการปวดที่เกิดขึ้นแล้ว คำถามแรกที่เราคิดขึ้นในหัวนั่นก็คือ มันเกิดจากอะไรหว่า?? ถ้าอาการปวดเกิดขึ้นที่หลัง มันก็มีอยู่ไม่กี่โรคที่เรารู้จักกันดี นั่นคือ กล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน กระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้น กระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นต้น แต่ถ้าอาการปวดนั้น เกิดขึ้นที่ขาหนีบล่ะ มันเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่?

หากเพื่อนๆกำลังประสบกับอาการปวดขาหนีบอยู่ล่ะก็ ลองติดตามเนื้อด้านล่างนี้ให้ดีนะครับ เพราะผมจะบอกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดขาหนีบ โดยมีทั้งหมด 4 โรคด้วยกัน เพื่อให้เราได้รู้วิธีการแยกโรค และดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง 

ภาพแสดง กล้ามเนื้อ piriformis หนีบเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขา

สาเหตุที่ 1 : 
เกิดจากโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

โดยโรคนี้เกิดจากกล้ามเนื้อในก้นมัดเล็กมัดนึงที่มีชื่อว่า กล้ามเนื้อ piriformis แล้วเจ้ากล้ามเนื้อมัดนี้มันเกิดตึงตัวจากการนั่งทำงานนาน หรือขับรถนาน ทำให้ไปกดทับเส้นประสาท sciatic nerve ที่ไปเลี้ยงขา จนทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดก้น ปวดขา ขาชา ขาอ่อนแรง และก็ทำให้ปวดขาหนีบได้ด้วยเช่นเดียวกัน 

ซึ่งคนเป็นโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทส่วนมาก มักมีอาการปวดหลายๆอย่างรวมกัน ทั้งปวดก้น ปวดขา ขาตึงๆ ชาขาบ้าง เดินทรงตัวไม่ดี ไม่ได้ปวดขาหนีบเพียงอย่างเดียวครับผม หากเราได้หมั่นยืดกล้ามเนื้อ piriformis บ่อยๆอย่างต่อเนื่อง อาการปวดดังกล่าวก็จะค่อยๆทุเลาลงเอง รวมทั้งปวดขาหนีบด้วยนะ หากอาการปวดขาหนีบไม่ลดลงเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆที่อาการปวดขา ปวดก้นหายไปหมดแล้วล่ะก็ ดูสาเหตุถัดไปได้เลยครับ 

อ้อ! ลืมบอกไปว่า เจ้าโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัยเลยนะ ตั้งแต่วัยรุ่นยันวัยชราเลยครับผม แต่ส่วนใหญ่มักพบในวัยทำงานมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานนั่งนาน

รายละเอียดเพิ่มเติม โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (ชาร้าวลงขา อย่าพึ่งคิดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น ยังมีอีกโรคที่น้อยคนจะรู้จัก)
คลิป : วิธีการรักษากล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (5 วิธี รักษากล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท Part 1)

ภาพเปรียบเทียบข้อสะโพกปกติ กับข้อสะโพกเสื่อม

สาเหตุที่ 2 : 
ข้อสะโพกเสื่อม 

โรคข้อสะโพกเสื่อมกับอาการปวดขาหนีบจัดว่าเป็นของคู่กันเลยก็ว่าได้ เพราะตำแหน่งของขาหนีบนั้นอยู่ใกล้กับข้อสะโพกมากๆ เมื่อข้อสะโพกมีปัญหา ก็จะทำให้เกิดอาการปวดรอบๆข้อสะโพก และปวดร้าวอยู่ตรงตำแหน่งขาหนีบ อาการปวดขาหนีบของผู้ป่วยจะพูดเหมือนๆกันอยู่อย่างนึงคือ จะรู้สึกปวดลึกๆอยู่ข้างในขาหนีบ เอามือกด เอามือทุบยังไงก็ไม่รู้สึกดีขึ้นเลย ต้องยกขา กางขา เตะขา แกว่งขา หรือให้ขามีการเคลื่อนไหวจึงจะรู้สึกดีขึ้นมาหน่อย 

นอกจากอาการปวดรอบๆข้อสะโพก และปวดบริเวณขาหนีบแล้ว ผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการปวดร้าวลงก้นได้บ้าง ปวดมากหลังจากตื่นนอน หรือไม่ก็รู้สึกข้อสะโพกมันหนืดๆต้องขยับขาไปสักพักจึงจะเริ่มรู้สึกดีขึ้น เป็นต้น 

จุดเด่นของโรคนี้คือ พบในผู้ป่วยที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือในผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนก็จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น วิธีการตรวจโรคนี้ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากครับ แค่ไป x-ray กระดูกข้อสะโพกก็ทราบผลแล้ว แต่หากอายุยังไม่มาก หรือผล x-ray ไม่เห็นความผิดปกติใดๆของข้อสะโพกก็ข้ามไปยังสาเหตุที่ 3 ได้เลยครับผม

รายละเอียดเพิ่มเติม (5 สัญญาณ เช็คข้อสะโพกเสื่อม)
คลิป : วิธีการลดปวดข้อสะโพกเสื่อม (7 วิธี ดัดข้อสะโพก เพื่อรักษาข้อสะโพกเสื่อม)
คลิป : วิธีการออกกกำลังกายบริหารข้อสะโพก ในผู้ป่วยข้อสะโพกเสื่อม (8 ท่า บริหารข้อสะโพกให้แข็งแรง สำหรับโรคข้อสะโพกเสื่อม)

ภาพในวงกลมแสดง ตำแหน่งรอยต่อระหว่าง กระดูกเชิงกรานกับกระเบนเหน็บที่มีปัญหา

สาเหตุที่ 3 :
กระดูกเชิงกรานและกระเบนเหน็บมีปัญหา หรือที่เรียกโรคนี้ว่า SI joint dysfunction syndrome

โรค SI joint dysfunction syndrome ยังไม่มีชื่อภาษาไทยที่ระบุแน่ชัดนัก ผมจึงขอเรียกทับศัพท์ไปเลยก็แล้วกันนะครับ โรคนี้ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก แต่คนเป็นโรคนี้ก็จัดว่าน้องๆโรคกระดูกสันหลังเสื่อมเลยทีเดียว โดยเจ้าโรคนี้เกิดจากข้อกระดูกเชิงกรานและกระดูกกระเบนเหน็บมันเกิดการชิดกันมาก หรือมีการขบกันมากเกินไปจากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยการนั่งนาน หรือมีกิจกรรมที่ต้องมีการบิดเอี้ยวตัวเร็วๆแรงๆอยู่บ่อยๆจึงทำให้เกิดอาการปวดขึ้นได้ 

โดยอาการปวดของโรคนี้จะมีจุดเด่นคือ ปวดตามแนวขอบกางเกงในครับ และจะปวดมากขึ้นเมื่อต้องนั่งนาน หรือขับรถนาน บางรายก็ปวดมากจนร้าวลงขาหนีบเลยก็มี ซึ่งนี่ก็เป็นอีก 1 โรคที่ทำให้เกิดอาการปวดขาหนีบได้ 

แล้วโรคนี้ไม่สามารถตรวจได้ด้วยผล x-ray นะครับผม 

รายละเอียดเพิ่มเติม โรค SI joint syndrome : (ปวดสะโพกร้าวลงขา ทั้งที่ x-ray แล้วกระดูกสันหลังฉันก็ปกติดีนี่)
คลิป : วิธีรักษาโรค SI joint syndrome (5 วิธี รักษาอาการปวดเอว กระเบนเหน็บ จากโรค SI joint syndrome)

ภาพแสดง อาการปวดกล้ามเนื้อช่วงขาหนีบ

สาเหตุที่ 4 :
ปวดกล้ามเนื้อช่วงขาหนีบธรรมดา

สำหรับสาเหตุที่ 4 นี้ ตรงไปตรงมามากๆเลยครับ คือ อักเสบตรงไหนก็ปวดตรงนั้นแหละ นั่นคือภาวะกล้ามเนื้อช่วงขาหนีบมันเกิดการอักเสบธรรมดา มักพบได้ในคนที่ชอบออกกำลังกายโดยการวิ่ง การกระโดดอยู่เป็นประจำ หรือเคยมีอุบัติเหตุมีสิ่งของมากระแทกบริเวณช่วงขาหนีบจนทำให้เกิดอาการปวดดังกล่าว 

วิธีเช็คก็ไม่มีอะไรยุ่งยากครับ แค่เราเอามือกดที่ขาหนีบข้างที่มีปัญหา เราจะรู้สึกปวดตึงขึ้นมาทันทีจากอาการที่เป็นอยู่ หรือเวลานั่งแบะขาให้ฝ่าเท้ามาประกบกันก็จะรู้สึกปวดตึงที่ขาหนีบมากขึ้นนั่นเองครับผม 

วิธีการรักษาก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก หากมีอาการปวดใหม่ๆ เช่น ไปวิ่งมาแล้วรู้สึกปวดที่ขาหนีบก็หาผ้าเย็นมาประคบบริเวณที่ปวด 10 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมงจนกว่าอาการปวดจะหายไป แล้วหมั่นยืดกล้ามเนื้อตามรูปภาพด้านล่างนี้ เป็นเวลา 20 วินาที/รอบ จำนวน 3-5 รอบ/วัน หรือจะทำมากกว่านั้นก็ได้ครับผม

ภาพแสดง วิธีการยืดกล้ามเนื้อช่วงขาหนีบ

จากสาเหตุทั้ง 4 ที่ผมได้กล่าวมานั้น เป็นการบอกถึงต้นเหตุที่มาจากกล้ามเนื้อ และกระดูกเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคทางระบบภายในร่างกายกายที่ทำให้เกิดอาการปวดขาหนีบได้นั้นมีมากมายไม่ต่างกัน เช่น ไส้เลื่อน มีปัญหาที่มดลูก ลำไส้อักเสบ เป็นต้น หากเราไม่แน่ใจว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสาเหตุอะไร แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อให้เค้าได้ตรวจอย่างละเอียดอีกทีนะครับผม

เครดิตภาพ
- https://nydnrehab.com/blog/main-causes-of-pain-in-the-hip-thigh-and-groin/
- http://painsensation.blogspot.com/2013/07/groin-pain.html
- http://www.mayfieldclinic.com/PE-SIjointpain.htm
- http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/osteoarthritis/symptoms-causes/dxc-20198250
- http://www.physica.com.au/piriformis-syndrome/
- http://positivemed.com/2015/03/18/groin-pain-symptoms-treatments/
- http://www.newhealthadvisor.com/Piriformis-Syndrome-Exercises.html

วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2560

[คลิป VDO 65] 7 วิธี บริหารข้อไหล่ ลดปวด ลดเสียงดังในข้อให้หายถาวร


7 วิธี บริหารข้อไหล่ ลดปวด ลดเสียงดังในข้อให้หายถาวร

และแล้วก็มาถึง part ที่ 2 กันแล้วนะครับ กับวิธีการบริหารข้อไหล่ให้แข็งแรง เพื่อลดปวด ลดเสียงก๊อกแก๊กในข้อไหล่ ซึ่งในคลิปนี้จะเน้นการเพิ่มความแข็งแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อ rotator cuff เป็นพิเศษนะ เพราะกล้ามเนื้อกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยในการหยุงข้อไหล่ หากกล้ามเนื้อกลุ่มนี้อ่อนแรง จะทำให้เกิดอาการปวดข้อไหล่ได้ง่าย และเกิดเสียงดังในข้อนั่นเองครับผม

โดยเฉพาะคนที่ชอบเล่นกีฬาที่ใช้แขนหนักๆในการเหวี่ยง การขว้าง การสบัดอยู่บ่อยๆ เช่น เล่นเทนนิส กีฬาแบต ปิงปอง เป็นต้น หากเราใช้งานแขนหนัก แต่ไม่เคยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆข้อไหล่เลย โอกาสที่จะบาดเจ็บข้อไหล่เรื้อรังนับว่ามีสูงมากเลยครับ 

รายละเอียดในคลิป

วิธีที่ 1 : กางแขน แนวเฉียง (นาทีที่ 4:26)
วิธีที่ 2 : มือวางเป้า กางแขนออก (นาทีที่ 6:58)
วิธีที่ 3 : ยืดหนังยาง กางแขน (นาทีที่ 8:50)
วิธีที่ 4 : ดึงหนังยาง หมุนแขนออก (นาทีที่ 10:37)
วิธีที่ 4 เสริม : (นาทีที่ 12:34)
วิธีที่ 5 : หมุนแขน เข้าด้านใน (นาทีที่ 13:53)
วิธีที่ 5 เสริม : (นาทีที่ 15:10)
วิธีที่ 6 : ดึงหนังยาง หน้าประตู (นาทีที่ 16:30)
วิธีที่ 7 : หุบแขน ยืดหนังยาง (นาทีที่ 17:53)



วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

[คลิป VDO 63] ไขความลับ สาเหตุเสียงดังก๊อกแก๊กในข้อไหล่


ไขความลับ สาเหตุเสียงดังก๊อกแก๊กในข้อไหล่

เคยมีคนไข้หลายคนถามมามากว่า เวลายกแขน ขยับแขนมักมีเสียงดังก๊อกแก๊กในข้อไหล่ บางครั้งเจ็บแปล็บข้างในร้าวลงแขนจนแขนล้าไปเลย บางครั้งก็ไม่เจ็บ คำถามที่ถามกันมากคือ เสียงดังในข้อไหล่มันเกิดจากอะไรกันล่ะ แล้วจะมีวิธีปัญหายังไงได้บ้าง

ถ้าเพื่อนมีคำถามนี้อยู่ในใจ หรือกำลังประสบปัญหานี้ด้วยตัวเองอยู๋ล่ะก็ ในคลิปนี้ผมจะมาไขความกระจ่างให้ครับ 

รายละเอียดในคลิป
สาเหตุที่ 1 (นาทีที่ 0:38)
สาเหตุที่ 2 (นาทีที่ 2:40)
สาเหตุที่ 3 (นาทีที่ 3:43)


ส่วนวิธีการรักษาต้องรอดูในคลิปที่ 64 และ 65 นะครับผม (ซึ่งกำลังถ่ายทำอยู่ครับ)


วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

[คลิป VDO 62] 7 ท่า บริหารข้อเข่าในนักกีฬา ระดับยาก



ถ้าเพื่อนๆคนไหนเห็นว่าท่าออกกำลังกายบริหารข้อเข่าในคลิปที่ 29 ซึ่งเป็นท่าบริหารข้อเข่าในคนข้อเข่าเสื่อมมันง่ายเกินไปสำหรับคนวัยหนุ่มสาว หรือคนที่เคยเป็นเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดมาก่อน แล้วอยากฟื้นฟูข้อเข่าให้แข็งแรงมากๆจนกลับมาเล่นกีฬาได้อีกครั้งล่ะก็ ให้ออกกำลังกายตามคลิปนี้เลยครับ รับรองข้อเข่า และกล้ามเนื้อขาจะฟิตเปรี๊ยะเลยทีเดียว แต่กว่าจะฟิตได้ขนาดนั้น ต้องใช้ระยะการฝึกเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ล่ะ 4 ครั้ง ติดต่อกัน 2-3 เดือนเลยนะครับถึงจะเห็นผล

และก่อนจะออกกำลังกายทุกครั้งก็อย่าลืมวอร์มร่างกาย และยืดกล้ามเนื้อขาให้ครบถ้วนก่อนนะ เพื่อป้องกันกล้ามเนื้ออักเสบ หรือเป็นตะคริวได้ หากใครยังไม่รู้วิธีการยืดกล้ามเนื้อขา สามารถคลิ๊กชมได้ที่ลิงค์นี้เลยครับ https://youtu.be/IaPhCX09WJo

รายละเอียดในคลิป

ท่าที่ 1 : นอนหงายยกก้น ขาเดียว (นาทีที่ 2:00)
ท่าที่ 2 : ย่อเข่าแตะพื้น  (นาทีที่ 3:34)
ท่าที่ 3 : ย่อเข่า บนหมอน  (นาทีที่ 4:55)
ท่าที่ 4 : ย่อเข่า กวาดขา  (นาทีที่ 7:13)
ท่าที่ 5 : โดดสลับขา บนเก้าอี้  (นาทีที่ 9:37)
ท่าที่ 6 : โดดสลับขา ไปด้านข้าง  (นาทีที่ 11:06)
ท่าที่ 7 : ตีตาราง โดดขาคู่  (นาทีที่ 12:30)



วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

วิ่งบนพื้นทรายช่วยป้องกันข้อเข่ากระแทก...ได้จริงหรือ


สำหรับคนที่ชอบออกกำลังกายโดยการวิ่งเป็นประจำ ถ้าคนในเมืองก็จะบอกว่า วิ่งบนพื้นถนนบนพื้นเรียบสิดี ไม่เหนื่อยมาก แต่คนที่อยู่ติดชายทะเลก็บอกว่า วิ่งบนพื้นทรายสิดีกว่า เพราะพื้นทรายมันยวบไม่ทำอันตรายต่อข้อเข่าของเรา ซึ่งฟังดูแล้วก็มีเหตุผลทั้งคู่เลยนะ สรุปแล้วแบบไหนดีกว่ากันล่ะ?

สำหรับเรื่องนี้ถ้าให้ตอบแบบกำปั้นทุบดินเลยก็จะได้คำตอบว่า ดีทั้ง 2 อย่างนั่นแหละครับ โดยเราจะเลือกวิ่งแบบบนพื้นถนน หรือพื้นทรายก็ไม่มีถูกหรือผิดใดๆทั้งสิ้น มันขึ้นอยู่กับความชอบและความเหมาะสมกับตัวเรามากกว่า และเพื่อไม่ให้งงกันไปมากกว่านี้ ผมขอแจกแจงเป็นข้อๆดังนี้เลยนะครับ

วิ่งบนพื้นทราย

- มีข้อดีหลักๆคือ ช่วยลดแรงกระแทกจากพื้นขณะที่เท้าสำหรับพื้น เนื่องจากพื้นทรายจะเป็นตัวดูดซับแรงเอาไว้ (พูดง่ายๆคือพื้นมันยวบ) ข้อต่อของร่างกายจะไม่ต้องรับแรงกระแทกมาก โดยเฉพาะข้อเท้า และข้อเข่า 
- อย่างนี้แสดงว่า คนเป็นเข่าเสื่อมควรไปวิ่งบนพื้นทรายดีกว่าใช่มั้ย? ถึงแม้ผมจะบอกว่าพื้นทรายมันช่วยดูดซับแรง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดแรงกระแทกต่อข้อเข่าในขณะวิ่งเลยนะครับ หากผู้ป่วยที่เป็นเข่าเสื่อมแล้วมีกำลังกล้ามเนื้อขาไม่แข็งแรงเพียงพอ การวิ่งบนพื้นทราย หรือพื้นปูนก็ทำอันตรายต่อข้อเข่าได้ไม่ต่างกันครับผม
- แม้ว่าพื้นทรายจะช่วยดูดซับแรงขณะที่เท้าสัมผัสพื้น ทำให้ข้อต่อไม่ต้องรับแรงกระแทกมาก แต่ขณะเดียวกันกล้ามเนื้อขาของเราก็ต้องออกแรงมากขึ้นสำหรับการวิ่งบนพื้นทราย และหากใครที่วิ่งบนพื้นทรายเป็นครั้งแรก (โดยเฉพาะชายหาดที่พื้นนุ่มมากๆ) เราจะรู้สึกล้าเร็วกว่าปกติ แล้วจะรู้สึกว่าข้อเท้ามันจะเมื่อยมากกว่าส่วนอื่น เนื่องจากพื้นที่ที่นุ่ม หรือไม่มั่นคง กล้ามเนื้อช่วงข้อเท้าต้องออกแรงมากขึ้นเพื่อให้ข้อเท้ามีความมั่นคง ไม่พลิกแพลงเมื่ออยู๋บนพื้นที่ไม่เรียบนั่นเอง และเมื่อยิ่งวิ่งเร็วมากขึ้นเท่าไหร่กล้ามเนื้อก็ยิ่งออกแรงมากกว่าการวิ่งบนพื้นถนนมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเราได้ลองวิ่งบนทรายเร็วๆจะรู้ได้ด้วยตัวเองเลยว่า การวิ่งบนพื้นทรายนี่มันหนืด และดูดแรงเรามากจริงๆ 
- ฉะนั้น หากใครที่ไม่เคยออกกำลังกายโดยการวิ่งมาก่อน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ แล้วคิดว่าการวิ่งบนทรายจะไม่ทำอันตรายต่อข้อเข่าเรามากนัก มันเป็นความคิดที่ถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะถึงแม้ข้อต่อจะรับแรงกระแทกน้อย แต่กล้ามเนื้อเราก็ก็ต้องออกแรงมากกว่าเดิม แล้วเหนื่อยง่ายมากกว่าด้วย

วิ่งบนพื้นถนน 

- มีข้อดีคือ กล้ามเนื้อไม่ล้าง่ายเหมือนการวิ่งบนพื้นทราย
- แต่ถ้ากล้ามเนื้อขาของเราไม่แข็งแรง แรงกระแทกขณะที่เท้าสัมผัสพื้นจะส่งผลกระทบต้อข้อเท้า และข้อเข่าได้มาก จนอาจทำให้เราเกิดอาการปวดข้อเข่า หรือทำให้ข้อเข่าเราเสื่อมได้เร็วขึ้น
- กล้ามเนื้อรอบๆข้อเท้าไม่ต้องออกแรงเพื่อการทรงตัวมากขณะวิ่งบนพื้นถนน เนื่องจากพื้นถนนหรือลู่วิ่งนั้น มีความมั่นคงกว่าพื้นทราย (พื้นไม่ยวบ)
- ถึงแม้การวิ่งบนพื้นถนนจะเกิดแรงกระแทกต่อข้อเท้า และข้อเข่ามากกว่าบนพื้นทราย แต่ถ้าเราเลือกใส่รองเท้าที่สามารถรับแรงกระแทก กระจายแรงได้ดีขณะที่เท้าลงนํ้าหนัก และฝึกการลงเท้าที่ถูกต้องก็จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้ระดับนึง

สรุป แบบไหนดีกว่าล่ะเนี่ย?

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่า เพื่อนๆหลายคนเริ่มเข้าใจคุณสมบัติของการวิ่งบนพื้นที่ต่างกันทั้ง 2 ประเภทกันไม่มากก็น้อยแล้วนะครับ แต่เพื่อความเข้าใจมากขึ้น ผมขอสรุปเป็นแบบนี้เลยล่ะกัน

- จะวิ่งบนพื้นทราย หรือพื้นปูน ถ้ากล้ามเนื้อขาเราไม่แข็งแรง ก็ทำให้เกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อได้ไม่แตกต่างกัน (เสี่ยงทำให้กล้ามเนื้ออักเสบได้)
- คนเป็นข้อเข่าเสื่อม ไม่ว่าเราจะวิ่งบนพื้นปูนหรือพื้นทราย ผมก็ไม่แนะนำให้วิ่งด้วยประการทั้งปวง เพราะแรงกระแทกที่เกิดขึ้นขณะวิ่งมันทำให้เกิดอันตรายต่อข้อเข่า และทำให้เข่าเสื่อมเร็วขึ้นได้ ถึงแม้เราจะรู้ว่าการวิ่งบนพื้นทรายทำให้เกิดแรงกระแทกต่อข้อเข่าน้อยกว่าก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดแรงกระแทกเลยนะครับ แต่หากเราอยากวิ่งจริงๆ แนะนำว่า อย่าพึ่งวิ่งทันที ให้เริ่มจากการปั่นจักรยาน การเดินเร็ว การออกกำลังกาย weight training ของขาให้แข็งแรงซะก่อนนะครับ
- หากกล้ามเนื้อเราแข็งแรงดี แล้วอยากให้กล้ามเนื้อเราแข็งแรงมากขึ้น ออกแรงมากขึ้น โดยที่ใช้เวลาน้อยลง การวิ่งบนพื้นทรายถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี เพราะการวิ่งบนพื้นทรายจะทำให้กล้ามเนื้อเราต้องออกแรงมากขึ้นนั่นเอง
- ถ้าใครที่เคยมีปัญหาข้อเท้าพลิกข้อเท้าแพลงมาก่อน หรือรู้สึกว่าข้อเท้าไม่มั่นคง ล้มง่าย การวิ่งบนพื้นทรายก็เป็นอีก 1 ทางเลือกที่ดี เพราะจะช่วยกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเท้าของเราแข็งแรงมากขึ้น
- สำหรับคนที่ไม่เคยวิ่งมาก่อน หรือผู้สูงอายุ หากต้องการจะวิ่งออกกำลังกายจริงๆ ไม่แนะนำให้ไปวิ่งทันที เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบได้ แต่ให้เริ่มจากการเดินเร็วทุกวันติดต่อกัน 3 สัปดาห์ก่อน เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ปรับสภาพ และเราจะเดินเร็วบนพื้นปูน หรือพื้นทรายก็ได้นะ


เครดิตภาพ
- https://kr.pinterest.com/anamiria/how-much-cardio-should-you-do-to-lose-weight/

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

[คลิป VDO 61] รวมเทคนิค ยืดกล้ามเนื้อขาทั้งหมด


จริงๆแล้ววิธีการยืดกล้ามเนื้อขาทุกท่าในคลิปนี้ ผมได้ทำออกมาหมดแล้ว เพียงแต่วิธียืดแต่ล่ะส่วนมันกระจายออกไปอยู่ตามคลิปต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโรค จึงดูเป็นเรื่องยุ่งยากเล็กน้อยสำหรับคนไข้ที่ต้องการมาดูวิธีการยืดกล้ามเนื้อซํ้า 

ผมจึงรวบรวมวิธีการยืดกล้ามเนื้อขาทั้งหมดเอามาไว้ในคลิปนี้เพียงคลิปเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการกลับมาดูซํ้าคับผม

รายละเอียดในคลิป

ท่าที่ 1 : ยืด iliopsoas (นาทีที่ 1:25)
ท่าที่ 2 : ยืด gluteus maximus (นาทีที่ 3:45)
ท่าที่ 3 : ยืด quadricep  (นาทีที่ 6:00)
ท่าที่ 4 : ยืด hamstring (นาทีที่ 8:42)
ท่าที่ 5 : ยืด adductor group (นาทีที่ 11:22)
ท่าที่ 6 : ยืด gluteus medius (นาทีที่ 13:02)
ท่าที่ 7 : ยืด gastrocnemius (นาทีที่ 16:22)
ท่าที่ 8 : ยืด tibialis anterior (นาทีที่ 18:25)

วิธียืดกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง
- ยืดแค่ตึง ห้ามเจ็บ  (นาทีที่ 21:14)
- ไม่โยกตัวขณะยืด  (นาทีที่ 21:48)
- ไม่ยืดเกิน 30 วินาที  (นาทีที่ 23:30)

สำหรับในหัวข้อที่ 3 "ไม่ยืดกล้ามเนื้อเกิน 30 วินาที" นั้น บางคนยืดกล้ามเนื้อจนตัวอ่อนมานาน ชนิดที่เรียกว่าสามารถบิดตัวจนเหมือนนักกายกรรมไปแล้วแบบนี้จะทำยังไงดีล่ะ สามารถแก้ไขอะไรได้มั้ย? คำตอบคือได้คับ วิธีการมีอยู่อย่างเดียวคับ นั่นคือ พยายามออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้ออย่างสมํ่าเสมอ โดยรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะคือ แบบ weight training คับผม 

แต่ถ้าถามว่า เราออกกำลังกายแบบนี้ไปเรื่อยๆแล้วจะทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้มั้ย ทำให้ความตัวอ่อนของเราลดลงมั้ย คำตอบคือ ลดลงเพียงเล็กน้อย คนที่ตัวอ่อนยังไงก็อ่อนอยู่อย่างงั้นแหละคับ เนื่องจากโครงสร้างกล้ามเนื้อมันเกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้วคับผม




วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

ปวดใต้ข้อพับเข่า อาการที่ไม่ได้เป็นเข่าเสื่อม แถมพบมากในนักวิ่ง


อาการปวดใต้ข้อพับเข่า จากโรค hamstring strain

ถ้าเอ่ยถึงอาการปวดเข่า โรคอันดับแรกๆที่คนทั่วไปจะนึกถึงกันก็คงไม่พ้น "โรคเข่าเสื่อม" แน่นอน พร้อมกับคำอธิบายประกายว่า "ก็มันปวดที่เข่า ก็ต้องเป็นเข่าเสื่อมนั่นแหละ จะเป็นโรคอะไรได้?" ถ้าพูดแบบนี้มันก็มีส่วนถูกอยู่นะ แต่โรคเข่าเสื่อม โดยส่วนมากมักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไปน่ะสิ แล้วถ้าเราอายุแค่ 20 ต้นๆแล้วมีอาการปวดใต้ข้อพับเข่าอย่างนี้จะเป็นเข่าได้ยังไงล่ะ? 


สีแดงที่เห็นนั้น คือกล้ามเนื้อ hamstring

จากคำพูดข้างต้น มักจะเป็นบทสนทนาผมได้ยินบ่อยในคนที่ปวดเข่า พอปวดเข่าทีก็เหมาไปเลยว่าน่าจะเป็นเข่าเสื่อมแน่ๆอะไรทำนองนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคที่ข้องกับอาการปวดเข่านั้นมีเยอะมากๆ แถมอาการปวดก็มีความคล้ายคลึงกันซะด้วย ต้องให้แพทย์หรือนักกายภาพตรวจจึงทราบได้ว่า อาการปวดที่เกิดขึ้นมันมาจากสาเหตุอะไร แต่มีอยู่โรคนึงที่เป็นจุดเด่นของมันเลย ถ้าเรามีอาการปวดใต้ข้อพับเข่า แถมเรามักทำกิจกรรมเกี่ยวกับการวิ่งบ่อยๆด้วยละก็ เราพอจะสันนิษฐานได้ทัยทีว่า น่าจะเกิดจากโรค hamstring strain หรืออาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ hamstring (กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง) นั่นเอง ซึ่งพบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในนักวิ่ง หรือคนที่ต้องวิ่งบ่อยๆ แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากนัก ฉะนั้น เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า

โรค hamstring strain คืออะไร?

โรคนี้คือการบาดเจ็บกล้ามเนื้อธรรมด๊าธรรมดาเลยคับ ซึ่งการบาดเจ็บนั้นเกิดที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง ซึ่งทำหน้าที่งอเข่าที่มีชื่อว่ากล้ามเนื้อ hamstring นั่นเองคับผม โดยอาการปวดส่วนมากนั้นมักจะเกิดที่บริเวณใกล้ข้อพับเข่า เนื่องจากเป็นรอยต่อระหว่างกล้ามเนื้อกับเส้นเอ็นที่จะไปเกาะที่กระดูกต้นขา (tendo muscular junction) ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนแอ (weak spot) ที่ง่ายต่อการฉีกขาด เนื่องจากเส้นใยกล้ามเนื้อและเส้นใบของเส้นเอ็นที่มาเชื่อมต่อกันนั้น มันเป็นคนล่ะประเภท การยึดเกาะกันและกันจึงทำได้ไม่ดีทำให้ฉีกขาดได้ง่ายนั่นเองคับ


ตำแหน่งของ tendo muscular junction ที่เกิดการบาดเจ็บบ่อยๆ

ถ้าให้เปรียบเทียบเส้นใยทั้ง 2 ประเภท กล้ามเนื้อก็คงเหมือนกับหนังยางที่มีความยืดหยุ่นดี ส่วนเส้นเอ็นก็เปรียบเหมือนกับเชือกที่มีความเหนียวและมีความยืดหยุ่นน้อย และทั้ง 2 ก็มาเชื่อมต่อกัน พอมีการหดตัว มีการกระชากเกิดขึ้นซํ้าแล้วซํ้าเล่า ตรงจุดเชือมต่อนั้นจึงเกิดการฉีกขาดได้ง่ายกว่าปกตินั่นเงอคับผม

สาเหตุ ของโรค hamstring strain

โดยทั่วไปแล้วโรคนี้เกิดจากการใช้งานของกล้ามเนื้อมากเกินไปคับ ซึ่งพอจะเป็นเป็นข้อๆได้ดังนี้เลย
- ทำกิจกรรมที่มีการหดตัวของกล้ามเนื้อ hamstring อย่างเฉียบพลัน เช่น การวิ่งเร็ว การวิ่งเร็วสลับกับหยุดวิ่งแบบฉับพลันทันทีอย่างต่อเนื่อง 
- การใช้งานของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังมากเกินไป
- กล้ามเนื้อต้นขาทั้ง 2 ฝั่งแข็งแรงไม่สมดุลกัน คือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps) แข็งแรงกว่าต้นขาด้านหลัง (hamstring) จึงทำให้กล้ามเนื้อ hamstring ถูกกระชากในขณะที่กล้ามเนื้อ quadriceps ออกแรง เหตุที่ถูกกระชาก เนื่องจากกล้ามเนื้อ hamstring มีแรงไม่พอต้านกล้ามเนื้อ quadriceps
- กล้ามเนื้อ hamstring ตึงมาก และขาดความยืดหยุ่นจึงทำให้ง่ายต่อการบาดเจ็บเมื่อใช้งานหนัก
- การฝึกออกกำลังกายงอเข่า โดยมีลูกตุ้มมาถ่วงที่ขาแล้วมีนํ้าหนักมากเกินไป หรือทำถี่เกินไปจนกล้ามเนื้อล้าและบาดเจ็บ
- ออกกำลังกายโดยการวิ่งบ่อย วิ่งนาน หรือวิ่งถี่เกินไป โดยที่ไม่ยืดกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อน


รายที่อักเสบมากจะมีรอยแดงคลํ้าอย่างเห็นได้ชัด

อาการ ของโรค hamstring strain

- ปวดใต้ข้อพับเข่า 
- ปวดมากขึ้นเมื่องอเข่า โดยมีสิ่งของที่มีนํ้าหนักมากมาถ่วงไว้ที่ปลายเท้า
- จะรู้สึกปวดแปล็บที่ใต้ข้อพับเข่าเมื่อวิ่งเร็ว หรือเปลี่ยนจากท่านั่งไปยืนแบบฉับพลัน เมื่อเรานั่งนานๆอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจาก ขณะนั่งกล้ามเนื้อ hamstring หดตัวอยู่ แต่พอเราลุกขึ้นยืน กล้ามเนื้อถูกยืดแบบฉับพลันจึงทำให้เกิดอาการปวดได้
- ปวดมากขึ้นเมื่อกระโดดสูง
- ในรายที่มีอาการปวดในระยะแรกๆ อาจมีอาการบวมที่ต้นขาด้านหลังใกล้ข้อพับเข่าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับข้างปกติ
- ในรายที่อักเสบรุนแรง อาจเดินได้ลำบาก และจะปวดทุกครั้งที่ก้าวขาลงนํ้าหนัก
- คนที่ปวดเรื้อรังมานาน แล้วไม่ได้รักษาให้หายขาด ในระยะยาวจะมีกล้ามเนื้อ hamstring อ่อนแรง ผู้ป่วยจะรู้สึกขาล้าได้ง่าย เมื่อเดินหรือยืนนาน กำลังขาลดลง บาดเจ็บได้ง่ายกว่าปกติ เป็นต้น


การติด kinesiotape เพื่อป้องกัน และลดปวดที่กล้ามเนื้อ hamstring

การรักษาโรค hamstring strain ด้วยตนเอง

สำหรับการดูแลรักษาคนที่เป็นโรค hamstring strain นั้นไม่ยากคับ เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้ออักเสบธรรมดา ไม่ซับซ้อนเหมือนเข่าเสื่อม หรือเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดคับ โดยการรักษาหลักๆแล้วให้ทำตามดังนี้เลย

- ประคบเย็น ประคบนํ้าแข็งทันทีที่รู้สึกปวด โดยให้ประคบไว้ 10-15 นาที ทุกๆช.ม.จนกว่าอาการปวด บวมจะลดลง
- นอนยกขาข้างที่ปวดให้สูงกว่าระดับหัวใจร่วมกับประคบเย็น เพื่อลดการบวมได้
- ให้ยืดกล้ามเนื้อ hamstring บ่อยเท่าที่บ่อยได้ เพื่อลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อที่เป็นอีก 1 สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด โดยการยืดกล้ามเนื้อนั้นไม่มีอะไรยุ่งยากคับ แค่นั่งเหยียดขาข้างที่ปวดออกไป ให้เข่าเหยียดตรง จากนั้นเอามือก้มแตะปลายเท้าจนรู้สึกจึงที่ต้นขาด้านหลัง หรือใต้ข้อพับเข่า ค้างไว้ 20 วินาทีคับผม
วิธียืดกล้ามเนื้อ hamstring

- ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ hamstring ให้แข็งแรง เมื่ออาการปวดของเราทุเลาลงมากแล้ว ซึ่งการออกกำลังกายสำหรับคนเป็นโรคนี้ถือว่าสำคัญมาก ถ้าเราต้องการให้หายปวดอย่างถาวร ซึ่งวิธีการออกกำลังกายกล้ามเนื้อ hamstring สามารถดูได้จากคลิปทางด้านล่างนี้เลยคับผม ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกทุกท่านะคับ เลือกมาแค่ 1-2 ท่าที่เราทำได้ก็เพียงพอแล้วคับผม
- การผ่าตัด ซึ่งจะผ่าในรายที่กล้ามเนื้อ hamstring เกิดการฉีกขาดโดยสมบูรณ์ ซึ่งพบได้น้อยมากในคนทั่วไป


วิธีออกกำลังกายกล้ามเนื้อ hamstring


จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การรักษาของคนที่เป็นโรคนี้ไม่มีอะไรยาก และไม่มีอะไรซับซ้อนเลย แค่พักผ่อน หยุดทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้น ประคบเย็น ยืดกล้ามเนื้อ และออกกำลังกายเอง ถ้าเราทำได้อย่างสมํ่าเสมอ รับรองหายจากโรคนี้ได้ไม่ยากเลยคับ

เครดิตภาพ
- https://www.paulgoughphysio.com/sports-injury-clinic/hamstring
- http://rugbyrescue.com/Hamstring_Rugby.htm
- https://www.newleafphysio.ca/physiotherapy/research/kinesiology-tape-does-it-help-with-pain/
- https://breakingmuscle.com/learn/stretching-your-hamstrings-isnt-always-best
- http://eorthopod.com/hamstring-injuries/