วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด พบได้เยอะในหมู่นักบอล


เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด (Anterior cruciate ligament injuries)

ถ้าใครเป็นคอกีฬาฟุตบอลแล้วได้เห็นข่าวนักบอลที่ตัวเองชื่นชอบบาดเจ็บที่เข่า พอตรวจร่างกายจากแพทย์นู่นนี่นั่นเสร็จสัพปรากฎว่าเป็น "เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด" ต้องเข้ารับการผ่าตัด พักฟื้น 6 เดือน หลายคนจึงสงสัยกันว่าเอ็นไขว้หน้าที่ว่านี่คืออะไรกันน้อ? เอ็นเส้นนี้สำคัญไฉน? ทำไมถึงต้องพักฟื้นกันน๊านนาน? และที่สำคัญคนทั่วไปเป็นโรคนี้ได้ไหมหรือพบเฉพาะในนักกีฬา? เรามาไล่ตอบทีละข้อกันเลยครับ ขอเริ่มจาก..

เอ็นไขว้หน้าคืออะไร?

เอ็นไขว้หน้าของข้อเข่า หรือ Anterior cruciate ligament คือเส้นเอ็นขนาดใหญ่เส้นหนึ่งที่อยู่ภายในเข่า โดยจะเกาะอยู่ระหว่างปลายกระดูกต้นขา (femur bone) และต้นกระดูกหน้าแข้ง (tibia bone)

เอ็นไขว้หน้าสำคัญไฉน?

หน้าที่หลักๆของเอ็นเส้นนี้ก็คือ เสริมความมั่นคงให้แก่ข้อเข่า โดยเฉพาะในท่าเหยียดเข่าจนสุดนั้น จะทำให้เอ็นเส้นนี้ตึงมาก เพราะนอกจากจะเพิ่มความมั่นคงให้แก่ข้อเข่าแล้ว มันยังป้องกันไม่ให้เราเหยียดเข่าเกินองศา (hyperextension) จนทำอันตรายต่อกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังและผิวข้อเข่า  จัดว่าเป็นเส้นเอ็นที่มีความสำคัญต่อข้อเข่ามากเส้นหนึ่งเลยนะครับ เพราะหากเส้นเอ็นนี้บาดเจ็บหรือฉีกขาดอย่างถาวร จะทำให้ข้อเข่าขาดความมั่นคงอย่างหนัก ขณะที่ผู้ป่วยเดินจะรู้สึกเข่าหลวม ปวดภายในเข่า และทำให้เข่าเสื่อมตามมาได้เร็วขึ้น


ทำไมเอ็นเส้นนี้ขาดแล้วถึงต้องพักฟื้นกันนานมาก(ในกรณีที่เอ็นขาด)?

เพราะว่าโดยธรรมชาติของเส้นเอ็นนั้น เมื่อได้รับบาดเจ็บจะหายช้ากว่าทั้งกล้ามเนื้อและกระดูกอยู่แล้วละครับ เนื่องจากเส้นเอ็นจะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงน้อยกว่า (เราจึงเห็นเส้นเอ็นเป็นสีขาว และเห็นกล้ามเนื้อเป็นสีแดงเพราะมีหลอดเลือดฝอยมาเลี้ยงเยอะ) ทำให้เลือดที่มาหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นมีปริมาณน้อย การนำสารอาหารและการซ่อมแซมเนื้อเยื่อจึงทำได้ช้ากว่า ผลก็คือ การฟื้นฟูจึงใช้เวลานานกว่านั่นเองครับ

คนทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มั้ย?

พบได้น้อยในคนทั่วไปครับ ต่อให้ออกกำลังกายหนักแค่ไหนยังไงก็พบน้อยอยู่ดี โรคนี้มักพบในหมู่นักกีฬา่ที่ต้องมีการวิ่งปะทะกัน วิ่งเร็วแล้วเปลี่ยนทิศทางกะทันหันทำให้เส้นเอ็นถูกกระชากจนขาด เช่น กีฬาฟุตบอล, บาสเก็ตบอล, รักบี้, สกี หรือผู้ที่เล่นปากัวส์ เป็นต้น

ตำแหน่งที่เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด

อาการของโรคเอ็นไขว้หน้าอักเสบ
สามารถแบ่งความรุนแรงของโรคออกได้เป็น 3 ระดับ

ระดับที่ 1 :
เส้นเอ็นมีการอักเสบ ฉีกขาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผู้ป่วยยังคงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่รู้สึกถึงอาการเข่าหลวมแต่อย่างใด

ระดับที่ 2 :
เส้นเอ็นมีการฉีกขาดเพียงบางส่วน รู้สึกปวดภายในเข่าลึกๆ มีอาการเข่าบวม ข้อเข่าไม่มั่นคง

ระดับที่ 3 :
เส้นเอ็นขาดออกจากกัน ในขณะที่เส้นเอ็นขาดนั้นผู้ป่วยจะได้ยินเสียง "ป็อก" ภายในเข่า เข่าบวม ไม่สามารถเดินลงนํ้าหนักขาข้างที่มีปัญหาได้ รู้สึกเข่าหลวมในขณะที่เดินชัดเจน ซึ่งในระยะนี้ต้องเข้ารับการผ่าตัดสถานเดียวครับ

การดูแลรักษาโรคเอ็นไขว้หน้าอักเสบ

ในรายที่ตรวจพบว่าเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเพียงบางส่วนไม่ต้องเข่ารับการผ่าตัดนั้น โดยทั่วไปจะรักษาเพื่อลดอาการปวด บวม และใช้เครื่องมือกายภาพในการเร่งให้เนื้อเยื่อซ่อมแซมตัวเองเร็วขึ้น เข่น ใช้เครื่อง ultrasound, laser, shortwave เป็นต้น และที่ขาดไม่ได้เลยคือการออกกำลังกายเพิ่มความมั่นคงของข้อเข่าครับ เพราะตราบใดที่รักษาจนอาการปวดหายไป แต่เข่ายังคงหลวมอยู่เหมือนเดิมก็ไม่มีประโยชน์หรอกครับ สุดท้ายก็กลับมามีอาการปวดเหมือนเดิม รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หายขาดเสียที

โดยการออกกำลังกายเพิ่มความมั่นคงของข้อเข่ามีหลายท่ามากครับ นับกันไม่ไหวเลยทีเดียว เช่น

1) การฝึกยืนบนเบาะนุ่มๆ และงอเข่าเล็กน้อยค้างไว้ 30 วินาที ขณะที่ฝึกหลังต้องตรงนะครับ ไม่ใช้มือยันขาใดๆ และอาจจะเพิ่มความยากอีกนิดโดยการหลับตาในขณะที่ทำด้วย
2) ฝึกงอเข่าหนีบลูกบอล โดยให้ยืนชิดกำแพงนำลูกบอลหนีบไว้ระหว่างเข่าสองข้าง จากนั้นหนีบลูกบอลแล้วค่อยๆงอเข่าลงแล้วเหยียดเข่าขึ้นนับเป็น 1 ครั้ง จำนวน 10 ครั้งนะครับ ซึ่งในขณะที่ทำหากมีอาการปวดเข่าควรหยุดออกกำลังกายทันที เพราะอาจไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นได้
3) ฝึกเตะขา โดยนั่งเก้าอี้ขาพ้นจากพื้น แล้วเตะขาขึ้นโดยมีถุงทรายถ่วงขานํ้หนัก 1 กิโลกรัม ค้างไว้ 5 วินาทีแล้วเอาขาลง จัดว่าเป็นท่าเบสิกเลยละครับ
4) การปั่นจักรยานก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีไม่แพ้กันนะครับ
5) ในรายที่ฝึกออกกำลังกายไม่ได้เลยตามที่แนะนำไปตั้งแต่ 1-4 เนื่องด้วยอาการปวด แนะนำให้ไปเดินในนํ้าความสูงระดับเอวดู หรือว่ายนํ้าตีขาเบาๆเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา

เครดิตภาพ
- http://physioworks.com.au/injuries-conditions-1/acl-anterior-cruciate-ligament-injuries
-http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00549
- http://ehealthmd.com/acl-tears/what-anterior-cruciate-ligament#axzz41NeIhuvU

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น