วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เข่าเสื่อม โรคยอดฮิตวัยชรา


เข่าเสื่อม (ostearthritis of knee)


โรคข้อเข่าเสื่อมถือว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเพศหญิงจะพบมากกว่าเพศชาย เนื่องจากวัยหมดประจำเดือนจะมีผลต่อการดูดซึมและเก็บสะสมแคลเซี่ยมในร่างกาย ทำให้มวลกระดูกลดลง อาการปวดข้อๆต่างจึงมาเป็นในช่วงนี้นั่นเอง แต่นั่นก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นนะครับ ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมได้

ถ้าเราได้ไปวัดหรือสถานที่ที่มีผู้สูงอายุเยอะๆ จะสังเกตุได้ว่าคนไหนเป็นเข่าเสื่อมกันบ้าง โดยดูจากอาการโก่งงอของข้อเข่าครับ ที่ข้อเข่าจะโก่งงอออกด้านข้างบางรายก็โก่งมากซะจนเหมือนขาจะหักพับลงไปให้ได้ทุกครั้งที่เดิอนลงนํ้าหนัก และแน่นอนก็คือ โรคนี้ได้สร้างความทรมานแก่ผู้ที่เป็นมากพอสมควรเลยที่เดียว เพราะมันทำให้บุลคลิกภาพเสีย เดินไปไหนก็ลำบาก นั่งพื้นก็ทำไม่ได้ บางครั้งเดินแล้วก็ปวดเสียวในข้อเข่าอีก สาระพัดปัญหาของผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมได้บอกเล่าผมมา ถ้าวัยรุ่นหรือวัยทำงานเห็นว่าโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นเรื่องไกลตัว อยากจะบอกว่าอย่าชะล่าใจนะครับ เพราะโรคอะไรที่เกี่ยวกับข้อเสื่อมทั้งหลายนี่ ลองได้เป็นแล้วมันไม่มีทางหายขาดหรอกครับ ทำได้แค่ให้ชะลอให้มันเสื่อมช้าลงเท่านั้น แต่การป้องกันนั้นทำได้ง่ายกว่ามากเพียงแค่หมั่นออกกำลังกายกล้ามเนื้อต้นขาอย่างสมํ่าเสมอนั่นเองครับ 

อารัมภบทมาซะยืดยาว เรามาทำความรู้จักกับเจ้าโรคข้อเข่าเสื่อมกันดีกว่าครับ 

ส่วนประกอบของข้อเข่านั้นต้องมีกระดูกทั้ง 3 ชิ้นนี้ประกบกันอยู่นะครับ นั่นคือ 1) กระดูกต้นขา (femur) 2) กระดูกหน้าแข้ง (tibia) 3) กระดูกลูกสะบ้า (patella) โดยกระดูก femur และกระดูก tibia จะมาประกบกันทำให้เกิดเป็นข้อเข่า เพื่อไม่ให้ผิวกระดูกของทั้ง 2 เสียดสีกันจนสร้างความเจ็บปวด ร่างกายจึงสร้างกระดูกอ่อนอยู่บริเวณปลายข้อทั้งสอง เพื่อให้การเคลื่อนไหวของข้อต่อเป็นไปอย่างราบเรียบ และเป็นตัวดูดซับแรงของกระดูกทั้ง 2 เท่านั้นยังไม่พอภายในข้อเข่ายังมีนํ้าเลี้ยงข้อเข่า (synovial fluid) อีกด้วย ทำหน้าที่เปรียบเสมือนนํ้ามันหล่อลื่นและเป็นตัวที่ให้สารอาหารหล่อเลี้ยงภายในข้อเข่าโดยเฉพาะกระดูกอ่อน

อีกส่วนหนึ่งของข้อเข่าที่ขาดไปไม่ได้คือ กระดูลูกสะบ้า เมื่อเราลองจับที่หน้าเข่าแล้วงอเข่าเหยียดเข่าไปมา จะพบชิ้นกระดูกเล็กๆเคลื่อนตัวไปมาในขณะนั้น ซึ่งหน้าที่หลักๆคือเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อ และเป็นเสมือนคานเสริมแรงให้กล้ามเนื้อต้นขาทำงานได้ดีนั่นเองครับ


ภาพเปรียบเทียบเข่าปกติ กับเข่าเสื่อม

กลไกการเกิดเข่าเสื่อม

 เมื่อพูดถึงข้อเข่าเสื่อม ผู้ป่วยบางท่านมักจะถามมาว่า เข่าเสื่อมนี่อะไรเสื่อม กระดูกเสื่อมหรอจ๊ะ? ไม่ใช่ครับ กระดูกไม่ได้เสื่อม ไม่สิถ้าจะพูดให้ถูกคือยังไม่เสื่อมในระยะแรกครับ แต่ที่เสื่อมก็คือ ผิวของกระดูกอ่อนภายในข้อเข่านั่นเองที่ทำหน้าที่ดูดซับแรงกระแทกภายในข้อเข่านั่นแหละครับ ซึ่งเกิดจากอายุการใช้งานของกระดูกอ่อนมานาน มีการกระแทกกันบ่อยๆ จนผิวกระดูกอ่อนสึกบ้าง หายไปบ้าง เมื่อเวลาผ่านไปนานๆเข้า ชั้นผิวของกระดูกอ่อนจึงค่อยๆบางลงเรื่อยๆ ในที่สุดผิวของกระดูกอ่อนก็หายไป ทีนี้เมื่อไม่มีกระดูกอ่อนคอยดูดซับแรงแล้ว เนื้อกระดูกภายในข้อเข่าของทั้งกระดูก femur และ กระดูก tibia จึงชนกันในขณะที่เราเดินลงนํ้าหนัก และที่เนื้อกระดูกนั้นมีเส้นประสาทรับความความรู้สึกอยู่ ทำให้เรารู้สึกปวดเสียวในข้อนั่นเองครับ (ปล. กระดูกอ่อนไม่มีเส้นประสาทและเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงจึงทำให้ไม่เกิดอาการปวด)

การที่เนื้อกระดูกชนกันในขณะที่เราเดิน นอกจากจะสร้างความเจ็บปวดแล้ว มันยังทำให้ผิวกระดูกเสียหาย ร่างกายจึงสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาทดแทนมวลกระดูกที่เสียไป แต่การที่กระดูกงอกขึ้นมาใหม่มันไม่ได้เรียบเหมือนคนฉาบปูน กระดูกที่งอกขึ้นมาใหม่จะมีลักษณะตะปุ่มตะปั่มพื้นผิวไม่เรียบคล้ายกับฟันปลา เมื่อเราเคลื่อนไหวข้อเข่าทำให้กระดูกงอกใหม่เหล่านี้ (spur) ไปเสียดสีกับเนื้อเยื่อรอบข้อเข่าทำให้เกิดอาการปวดตามมาอีก พูดง่ายๆคือปวด 2 เด้ง เด้งแรกปวดจากเนื้อกระดูกไปเสียดสีกัน เด้งที่ 2 ปวดจากกระดูกงอกไปเสียดสีกับเนื้อเยื่อรอบๆข้อเข่า 



ภาพจากกล้องแสดงให้เห็นถึงผิวกระดูกอ่อนที่หายไป


--------------------------------------------------------------------------
1) อายุมากขึ้น => 2) ผิวกระดูกอ่อนเสื่อมลงบางลงจนหายไป => 

3) เนื้อกระดูกเกิดเสียดสีกัน => 4) ทำให้ผิวกระดูกสูญเสียไปบาง

ส่วน => 5) ร่างกายซ่อมแซมตนเอง => 6) โดยสร้างกระดูกขึ้นมา

ทดแทนส่วนที่เสียไป => 7) กระดูกงอกที่ขึ้นมาใหม่มีผิวขรุขระ => 

8) ทำให้ไปเสียดสีกับเนื้อเยื่อรอบๆข้อเข่า => 9) ผู้ป่วยเกิดความเจ็บ

ปวดทุกครั้งที่เดินลงนํ้าหนัก => 10) ผู้ป่วยจึงเลี่ยงการเดิน เดินน้อย

ลง => 11) เมื่อใช้กล้ามเนื้อขาน้อยลง กำลังกล้ามเนื้อขาก็ลดลงเช่น

กัน => 12) ทำให้ความมั่นคงของข้อเข่าลดน้อยลง => 13) เกิด

ภาวะข้อเข่าหลวม => 14) ร่างกายจึงสร้างกระดูกงอกเพิ่มขึ้นเพื่อ

เสริมความมั่นคงของข้อเข่า => 15) เกิดภาวะข้อเข่าติดแข็ง ผู้ป่วย

งอเข่าได้ไม่สุด => 16) มีภาวะเข่าโก่งตามมา => 17) อาการปวด

ลดลง เพราะกระดูกต้นขาและหน้าแข้งอยู่ชิดติดกันจนแทบจะเป็นเนื้อ

เดียวจึงไม่เกิดการเสียดสีของเนื้อกระดูกอีกต่อไป 
-------------------------------------------------------------------------

สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม 

- นํ้าหนักที่มากเกิน ทำให้ข้อเข่าต้องรับนํ้าหนักมาก ผิวกระดูกชนกันบ่อยจนทำให้กระดูกอ่อนสึกเร็วขึ้น จัดว่าเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดเลยก็ว่าได้ครับ
- เคยประสบอุบัติเหตุที่เข่าโดยตรง เคยได้รับการผ่าตัดที่เข่า โอกาสการเป็นโรคเข่าเสื่อมก็จะเร็วขึ้น
- อายุที่มากขึ้น
- มีปัจจัยที่กระตุ้นให้เข่าเสื่อมเร็วขึ้น เช่น ชอบนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า ชอบนั่งยองๆ ชอบเดินลงส้นแรงๆ เล่นกีฬาที่ต้องกระโดดโดยไม่ฝึกกำลังกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรง เป็นต้น
- เพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนจะเกิดง่ายกว่า
- กำลังกล้ามเนื้อขาน้อย เช่น ในผู้ป่วยที่ต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเดือนๆทำให้กล้ามเนื้อฝ่อ เมื่อกลับมาเดินได้ การเดินลงนํ้าหนักแต่ละครั้งจะทำให้เกิดแรงกระแทกต่อข้อเข่าได้โดยตรง เพราะไม่มีกล้ามเนื้อคอยช่วยพยุงข้อเข่านั่นเองครับ
- เป็นโรครูมาตอยด์ หรือเก๊าต์
- ใช้งานข้อเข่าอย่างผิดวิธี เช่น ชอบวิ่งจ๊อกกิ้ง ออกำลังโดยการวิ่งอย่างเดียวทุกๆวันตั้งแต่หนุ่มยันแก่ แต่ไม่ฝึกเพิ่มมวลกล้ามเนื้อต้นขาเลย (เล่นเวท) ก็ทำให้ผิวข้อสึกได้เช่นกัน ฉะนั้น อย่าคิดว่าเราออกกำลังกายทุกวันจะทำให้ไม่เป็นโรคข้อเสื่อมนะครับ การออกกำลังกายอย่างผิดๆ ออกกำลังไม่ครบตามโปรแกรมก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคได้โดยที่เราไม่รู้ตัวนะครับ ผมแนะนำสำหรับผู้ที่ชอบออกกำลังกายให้ปรึกษาเทรนเนอร์ตามฟิตเนสหรือนักกายภาพก็ได้ครับว่าการออกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยของเรานั้นทำอะไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อร่างกายนั่นเองจ้า


เข่าโก่ง ในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่เป็นมานาน

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม

- ปวดเสียวภายในข้อเข่า โดยเฉพาะข้อเข่าด้านในขณะเดินลงนํ้าหนัก บางรายก็มีอาการปวดที่ข้อพับเข่า ซึ่งคาดว่าเกิดจากกระดูกทั้ง 2 ชิ้นอยู่ชิดกันมากและเมื่องอเข่าทำให้กระดูกชนกันนั่นเองครับ
- ข้อเข่าบวม เนื่องจากการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆข้อเข่าทำให้ร่างกายผลิตสารนํ้าออกมาเพื่อไปซ่อมแซมเนื้อเยื่อเหล่านั้น
- ข้อเข่าฝืดแข็ง โดยเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นนอนจะรู้สึกว่างอเข่าเหยียดเข่าทำได้ยาก มันรู้สึกฝืดไปหมด
- ข้อเข่าติดแข็ง ไม่สามารถงอเข่าได้เต็มช่วง และเมื่อพยายามกดขาให้งอได้เพิ่มขึ้นจะรู้สึกปวดแปล็บในข้อทันที
- มีเสียงดังกร๊อบแกร๊บในข้อขณะเดินลงนํ้าหนักหรือขณะงอเหยียดเข่า ซึ่งเกิดจากการเสียดสีของผิวกระดูก
- พบจุดกดเจ็บภายในข้อ ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อรอบๆข้อเข่าอักเสบ
- ข้อหลวม เกิดจากผิวกระดูกของข้อเข่าบางลง กระดูกเกิดการทรุดตัว กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าก็อ่อนแรงลง ทำให้ไม่มีอะไรมาพยุงข้อ ความมั่นคงของข้อเข่าจึงน้อยลง
- ข้อเข่าผิดรูป เกิดภาวะข้อเข่าโก่งจากความมั่นคงของข้อเข่าที่เสียไป


ภาพแสดงภาวะข้อเข่าเสื่อม

การดูแลรักษา

การรักษาที่จะไม่ทำให้อาการปวดกลับมารังควาญได้อีกเลย โดยที่ไม่ต้องผ่าตัดและยั่งยืนที่สุดมีอยู่วิธีเดียวนะครับ คือ การออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและสร้างมวลกล้ามเนื้อของต้นขาให้พยุงข้อเข่าได้นั่นเองครับ ซึ่งใช้เวลาเป็นเดือนๆละครับกว่าจะฝึกกำลังกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและรู้สึกว่าข้อเข่ามีความมั่นคง แต่ก็อย่าท้อใจไปครับ เพราะผลลัพท์นั้นคุ้มค่าแน่นอน^^ สามารถอ่าน 5 เทคนิคบริหารเข่าให้วิ่งปร๋อ

ส่วนการรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมนั้น จะใช้การดัดดึงข้อเข่า (mobilization) เพื่อเพิ่มองศาของข้อเข่าให้งอได้มากขึ้น และลดอาการปวดจากกระดูกงอกที่ทิ่มตำเนื้อเยื่อ นอกจากนี้ยังช่วยให้กล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่าคลายตัวอาการปวดตึงของกล้ามเนื้อก็ลดลงด้วยเช่นกัน 

ส่วนเครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่ใช้นั้นจะมี shortwave, mirowave, laser เพื่อเพิ่มการไหลเวียนภายในข้อเข่า และช่วยลดปวดได้ด้วย แต่การรักษาที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าผู้ป่วยไม่ออกกำลังกายเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อต้นขา quadriceps m. และ hamstring m. เพราะในที่สุดถ้ากล้ามเนื้อไม่สามารถพยุงข้อเข่าได้ สุดท้ายกระดูกภายในข้อเข่าก็อยู่ชิดกัน เสียดสีกัน และก็เกิดอาการปวดขึ้นมาใหม่เป็นวงจรไม่รู้จบ ถ้าอยากหายต้องขยันและมีวินัยในการออกำลังกายนะครับ

เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ

- รู้มั้ยว่า "เราไม่ควรใส่ที่รัดเข่าในผู้ป่วยเข่าเสื่อม" มันอาจจะฟังดูขัดแย้งกันใช่เอ่ยว่า "เข่ายายเสื่อม ทรุดลงทุกๆวัน เพื่อไม่ให้มันทรุดไปมากกว่านี้ต้องใส่ที่รัดเข่าไม่ใช่หรอหลานเอ้ย" เป็นคำโต้แย้งที่ได้ยินบ่อยมากครับ จริงๆผมก็ไม่ได้ห้ามซะทีเดียวนะ แต่แค่ไม่ควรใส่เกิน 2 ชั่วโมงต่อครั้งเท่านั้นเองครับ เนื่องจากการที่เราใส่อุปกรณ์พยุงเข่าเหล่านี้ติดต่อกันนานๆจะทำให้กล้ามเนื้อฝ่อลงครับ อ่านไม่ผิดหรอกครับ ยิ่งใส่นานกล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะยิ่งฝ่อ ในช่วงแรกที่เราใส่ที่รัดเข่าจะรู้สึกสบายเดินเหินคล่องตัว แต่เมื่อใส่ไปนานๆเป็นเดือนๆเป็นปีๆเข้ากล้ามเนื้อฝ่อลงเรื่อยๆ จนถึงที่สุดแล้วจะพบว่า ต่อให้ใส่ที่รัดเข่าอยู่ก็มีอาการปวดไม่แตกต่างจากตอนที่ไม่ได้ใส่แล้วละครับ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ฝึกเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อพึ่งพาร่างกายตัวเองดีที่สุดครับ สามารถอ่าน ข้อเสียของการใช้อุกรณ์ช่วยพยุง

8 ท่าบริหารข้อเข่าให้แข็งแรง สำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม

เครดิตภาพ
- http://regenorthoclinic.com/author/rrowley/
- http://hubpages.com/health/Advice-for-patients-suffering-from-osteoarthritis-both-knees
- http://www.amirqureshi.co.uk/osteoarthritis.html
- http://www.mypromopt.com/case-study-role-astym-process-management-osteoarthritis-knee-single-subject-research-design/
- http://jointreplacementexpert.com/photogal_patient.htm



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น