วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

6 สัญญาณ เช็คโรคเข่าเสื่อม


ใครที่อายุ 40 ขึ้นไปกันบ้างติดตามบทความนี้ให้ดีครับ เพราะผมจะแนะนำวิธีสังเกตุอาการเข่าเสื่อมกันง่ายๆด้วยตนเองกันกับ 6 สัญญาณ เช็คโรคเข่าเสื่อม

1) ได้ยินเสียงกร๊อบแกร๊บในเข่า

เสียงกร๊อบแกร๊บภายในข้อเข่านั้นเกิดจาก ผิวกระดูกต้นขา(femur) และผิวกระดูกหน้าแข้ง(tibia) เสียดสีกัน ซึ่งโดยปกติแล้วผิวข้อกระดูกทั้งสองชิ้นจะมีหมอนรองกระดูกรองอยู่ ทำหน้าที่รับนํ้าหนัก กระจายแรง ป้องกันไม่ให้ผิวกระดูกชนกัน และช่วยให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุมากหรือเคยเกิดอุบัติเหตุที่ข้อเข่าโดยตรงจะทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมสลายไป เมื่อไม่มีหมอนรองกระดูกจะทำให้ผิวกระดูกเสียดสีกันจนเกิดเสียงดังกร๊อบแกร๊บนั่นเองครับ ทั้งนี้เสียงจะดังในลักษณะครืดคราดเหมือนของแข็งสองชิ้นมาถูกัน ไม่ใช่เสียงดังป๊อกแป๊กเวลาเราหักคอ หรือบิดเอวนะครับ

(รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเสียงดังในข้อ หักคอดังกร๊อบแกร๊บบ่อยๆ เสี่ยงเป็นอัมพาตจริงหรือ  
และ คลิป VDO อธิบายสาเหตุการเกิดเสียงดังป๊อกแป๊กในข้อเวลาหักคอ หักนิ้ว)

ภาพเปรียบเทียบข้อเข่าปกติ กับข้อเข่าเสื่อม

2) ข้อเข่าฝืดแข็ง

หากตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกข้อเข่าฝืดแข็ง เหยียดเข่างอเข่าลำบาก ต้องใช้เวลายืดเหยียดเข่าอยู่พักใหญ่ๆกว่าจะลุกขึ้นมาเดินได้ละก็ อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกันครับ เหตุที่เรารู้สึกข้อเข่าฝืด เนื่องจากว่านํ้าหล่อเลี้ยงข้อเข้าน้อยลงครับ ซึ่งเจ้านํ้าเลี้ยงข้อเข่า (synovial fluid) ทำหน้าที่คล้ายกับนํ้ามันหล่อลื่นในเครื่องยนต์ ช่วยให้ข้อเข่าเคลื่อนไหวได้ราบรื่น และภายในนํ้าหล่อเลี้ยงข้อก็ยังมีสารอาหารเลี้ยงหมอนรองกระดูกด้วยนะครับ หากนํ้าหล่อเลี้ยงข้อเข่าลดน้อยลงจำทำให้หมอนรองกระดูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จนหมอนรองกระดูกเสื่อมไวขึ้นได้ด้วยนะ

ส่วนสาเหตุที่นํ้าหล่อเลี้ยงข้อเข่าลดน้อยลง เชื่อว่าเกิดจากอายุที่มากขึ้นร่างกายจึงผลิตนํ้าหล่อเลี้ยงข้อน้อยลงครับ ซึ่งเป็นเรื่องปกติครับ หากต้องการให้นํ้าหล่อเลี้ยงข้ออยู่ในปริมาณปกติมีอยู่ 2 วิธีหลักครับ คือ ทานยา(หรือฉีดยา)ที่ช่วยให้ร่างกายผลิตนํ้าหล่อเลี้ยงข้อ และอีกวิธีคือการออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอครับผม

3) ปวดเสียวภายในข้อเข่า

อาการปวดนั้นเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลักครับ  คือ
1) เกิดจากกล้ามเนื้อรอบๆเข่ามีความตึงตัวสูง จากเหตุที่เข่าทรุดตัว ทำให้กล้ามเนื้อต้องเกร็งค้างไว้ และเมื่อเกร็งค้างนานๆจึงทำให้เกิดอาการปวดในที่สุด
ปล. อาการปวดกล้ามเนื้อจะรู้สึกปวดตื้อๆ ปวดกว้างๆรอบๆเข่า

2) เกิดจากผิวกระดูกเสียดสีกัน ภายในกระดูกของคนเราจะมีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่ เมื่อผิวกระดูกเสียดสีกันจึงทำให้เกิดอาการปวดขึ้น (แต่ในหมอนรองกระดูกไม่มีเส้นเลือด และเส้นประสาทมาเลี้ยงเลย) นอกจากนี้ยังเกิดจากผิวกระดูกที่เสียดสีกันจนเสียหายงอกขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดภาวะกระดูกงอก (spur) ขึ้นมารอบๆผิวข้อแล้วไปทิ่มแทงเนื้อเยื่อรอบๆเข่า ทำให้เกิดอาการปวดเข่าในที่สุด และจะปวดมากเมื่อเดินลงนํ้าหนัก
ปล. อาการปวดกระดูกจะรู้สึกปวดเสียว ปวดขัดๆภายในข้อ

กระดูกงอกที่เข่า ที่ทำให้เกิดอาการปวดเข่าด้านใน

4) ข้อเข่าติดแข็ง

หนุ่มๆสาวๆอาจนึกไม่ออกว่าอาการข้อเข่าติดแข็งเป็นยังไง? มันติดแข็งจนขยับไม่ได้เลยรึเปล่าน้าา คำตอบคือ ไม่ถึงขนาดนั้นครับ เพียงแต่อาการจะเป็นในลักษณะนี้ คือ ในอดีตอาจจะงอเข่าได้เต็มช่วง คือพับเข่าได้สุด เหยียดเข่าได้สุดเลยอะไรงี้ครับ แต่เมื่อเป็นเข่าเสื่อมเราจะไม่สามารถงอเข่าได้สุด อาจจะงอได้ครึ่งเดียวแล้วเมื่อพยายามกดเข่าให้งอเพิ่มขึ้นผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเข่าจี๊ดขึ้นาทันที หรือรู้สึกขัดๆในกระดูกทำให้ไม่สามารถงอเข่าต่อได้ครับ

ภาพ X-ray แสดงภาวะเข่าโก่ง ข้อเข่าชิดกัน และผิดรูปอย่างชัดเจน

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ข้อเข่าติดแข็งเกิดจาก กระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งทรุดตัวจากกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นรอบเข่าอ่อนแรง ความมั่นคงของข้อเข่าจึงลดน้อยลง กระดูกทั้ง 2 จึงอยู่ชิดกันมากเกินไป เมื่องอเข่าจึงทำให้กระดูกทั้ง 2 ขัดกัน เกยกันนั่นเองครับ

5) กล้ามเนื้อรอบๆเข่าอ่อนแรง เมื่อยง่าย

เมื่อผู้ป่วยปวดเข่าในขณะที่เดินลงนํ้าหนัก จึงหลีกเลี่ยงการเดิน หรือการใช้กำลังกล้ามเนื้อขาทุกอย่าง ทีนี้เมื่อผู้ป่วยไม่ยอมออกแรงนานๆเข้า สิ่งที่เกิดตามมาแน่ๆคือภาวะกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง พอลุกเดินนิดหน่อยๆก็บ่นว่าเมื่อยขา ปวดขา ต้องเดินๆหยุดๆ และหากยังคงเดินน้อย ไม่ออกกำลังกล้ามเนื้อขา หรือไม่เดินเลย(นั่งวีลแชร์)ละก็จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบตามมา หากถึงขั้นกล้ามเนื้อฝ่อลีบแล้วละก็เตรียมตัวเป็นมนุษย์รถเข็นได้เลยครับ เพราะคงต้องนั่งวีลแชร์กันตลอดชีวิตแน่ๆ

6) ข้อเข่าผิดรูป

อาการนี้เป็นระยะสุดท้ายของโรคเข่าเสื่อมแล้วครับ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รักษา ผิวกระดูกทั้ง 2 ชิ้นจะเสียดสีกันมากจนทำให้เนื้อกระดูกบางส่วนหายไป การลงนํ้าหนักและการกระจายนํ้าหนักที่ข้อเข่าจึงผิดเพี้ยนไป ทำให้เราเห็นว่าผู้ป่วยมีลักษณะข้อเข่าโก่งงอดูผิดรูปนั่นแหละครับ

ลักษณะข้อเข่าโก่งในผู้ป่วยเข่าเสื่อม

หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเข่าเสื่อม ติดตามได้ที่บทความนี้เลยครับ ข้อเข่าเสื่อม โรคยอดฮิตวัยชรา
หรืออีก 1 บทความ กับ 5 เทคนิคบริหารเข่าให้วิ่งปร๋อ

เครดิตภาพ
- http://www.physiciansweekly.com/rising-prevalence-symptomatic-knee-oa/
- http://www.orthopaedicsurgeon.com.sg/patients-education/knee/knee-pain-due-to-osteoarthritis/
- http://radiopaedia.org/cases/osteoarthritis-of-the-knee
- http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00389
- http://www.judyyoga.com/blog/?tag=%E8%86%9D%E7%97%9B

1 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ