วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

ปวดตุ้บๆที่ข้อเท้าหลังวิ่งจ๊อกกิ้ง ทั้งที่ x-ray ข้อเท้าแล้วก็ปกติดี


สำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ เชื่อว่าไม่มากก็น้อยที่มีอาการปวดข้อเท้าหลังจากวิ่งออกกำลังกายเสร็จ 30 นาที แล้วเกิดความสงสัยว่า ข้อเท้าอักเสบ? กระดูกข้อเท้าเคล็ด? หรือกระดูกข้อเท้าร้าว? ก่อนจะตอบคำถามนี้ ถ้าผู้ป่วยไป x-ray ที่กระดูกเท้า ข้อเท้า และหน้าแข้งมาแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆของกระดูก นั่นแสดงว่าเกิดจาก"กล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ"ครับ

โดยส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้ที่เริ่มวิ่งออกกำลังกายเป็นครั้งแรก หรือผู้ที่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงแล้วมาหักโหมวิ่งจนทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ 

ถึงแม้จะพบได้บ่อยในนักวิ่งหน้าใหม่ แต่ผู้ที่วิ่งเป็นประจำก็อย่าได้ประมาทครับ ถ้ากล้ามเนื้อไม่แข็งแรงเพียงพอ หรือมีอาการปวดแต่ไม่เข้ารับการรักษาใดๆ อาจเกิดเกิดปัญหากระดูกหน้าแข้งร้าว พังผืดยึดกระดูกหน้าแข้งอักเสบ หรือมีอาการปวดกล้ามเนื้อหน้าแข้งเรื้อรัง ซึ่งเรียกอาการรวมๆนี้ว่า โรค shin splint (อ่านเพิ่มเติมโรค shin splint) แต่ในบทนี้จะกล่าวเฉพาะกล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบนะครับ

อาการ กล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ

- จะมีอาการปวดตุ้บๆที่ข้อเท้าอยู่ตลอดเวลา และปวดมากขึ้นเมื่อเดินลงนํ้าหนัก
- หลังจากที่วิ่งเสร็จ 30 นาที จะเริ่มมีอาการปวดที่ข้อเท้า
- เมื่อกดลงไปที่กล้ามเนื้อหน้าแข้งจะมีอาการปวดหน่วงๆบริเวณที่กด และปวดร้าวลงหน้าข้อเท้า
- รู้สึกปวดตึงที่กล้ามเนื้อหน้าแข้ง เมื่อกดปลายเท้าลง
- อาการปวดจะทุเลาลงเองถ้าได้พัก 2-3 วัน

การดูแลรักษาแบบฉบับทำเอง

สำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ที่มีอาการดังกล่าวให้ทำตามนี้เลยครับ
- หยุดพักการออกกำลังกายโดยการวิ่งอย่างน้อย 4 วันหรือจนกว่าอาการปวดจะหายไป
- ยืดกล้ามเนื้อหน้าแข้งเพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ โดยการกดปลายเท้าลงจนรู้สึกตึงที่หน้าแข้งค้างไว้ 15 วินาที จำนวน 4 ครั้ง ทำทุกวันเช้า-เย็นอาการจะทุเลาลงเองครับ
- นำนํ้าแข็งมาประคบที่หน้าแข้งและข้อเท้า 10 นาที เพื่อลดอาการปวด อาการอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการนวด หรือการกดแรงๆ บริเวณที่ปวดใน 2-3 วันแรก เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้ออักเสบมากขึ้น
- หมั่นออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อขา เช่น ฝึกเขย่งปลายเท้าขา 2ข้าง หรือเข่งปลายเท้าข้างเดียวบนขอบพื้นต่างระดับ, ฝึกกระดกปลายเท้าขึ้นลงในท่านั่งชันเข่า, ฝึกยืนขาเดียวบนพื้นนุ่ม เช่น หมอน ผ้าห่ม เป็นต้น เพราะการสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อมีส่วนสำคัญในการป้องกันกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังได้นั่นเองครับผม

เครดิตภาพ
- http://www.athleticsweekly.com/featured/dealing-with-shin-pain-36623/



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น