วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กระดูกสันหลังเสื่อม ภัยเงียบที่ไร้อาการปวด


โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (spondylosis)

ขึ้นหัวข้อมาว่า โรคกระดูกสันหลังไม่มีอาการปวด บางคนอาจจะงงว่าเป็นกระดูกสันหลังเสื่อมมันต้องมีอาการปวดหลังไม่ใช่หรอ? ก็ต้องขอตอบว่าไม่จำเป็นเสมอไปครับ! เพราะโรคกระดูกสันหลังเสื่อมนั้นคือ ภาวะที่กระดูกสันหลังทรุดตัว จากข้อต่อที่ทำหน้าที่เชื่อมกระดูกชิ้นบนกับชิ้นล่างที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว (facet joint) เกิดเสื่อมลง เป็นผลให้ข้อกระดูกชิ้นบนกับชิ้นล่างอยู่ชิดกันมากเกินไปแค่นี้เองครับ ซึ่งจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นกระดูกสันหลังเสื่อมระยะแรก คือ X-ray มาปุ๊บจะเห็นว่ากระดูกสันหลังมันเริ่มทรุดตัวแล้วนะ แต่ไม่มีอาการแสดงอะไร แพทย์ก็ไม่ได้รักษาอะไรแต่จะแนะนำให้ออกกำลังกายเป็นหลัก ฉะนั้น หากใครไปหาหมอแล้วพบว่าเป็นกระดูกสันหลังเสื่อมแต่หมอไม่ได้รักษาอะไรก็อย่าพึ่งไปโวยวายหมอนะครับ เราอาจจะเป็นไม่เยอะก็ได้ ^^

แต่ในกรณีที่ข้อต่อ facet joint เสื่อมสภาพลงมากขึ้น จะยิ่งทำให้กระดูกสันหลังทรุดตัวลงเพิ่มมากขึ้นไปอีก ถ้ากระดูกทรุดเพิ่มขึ้นขนาดนี้เราจะมีอาการปวดหลังแล้วใช่มั้ย? ก็ไม่แน่ครับ แต่อาการที่เราจะรู้สึกได้ก่อนในระยะแรกเลยคือ รู้สึกขัดๆที่หลัง รู้สึกหลังแข็งก้มหลังได้น้อยลง พอพยายามก้มให้มากขึ้นจะรู้สึกขัดๆที่หลัง หลังตึง เป็นต้น

ภาพแสดงกระดูกสันหลังและข้อต่อ facet joint

ส่วนอาการปวดหลังจากโรคกระดูกสันหลังเสื่อมนั้นแบ่งได้เป็น 2 กรณีครับ

กรณีที่ 1 : เกิดจากตัวข้อกระดูกสันหลังเอง นั่นก็คือตัวข้อต่อ facet joint มันเสื่อมลงจากการที่ใช้งานหลังมานาน ไม่ว่าจะเป็นการก้มๆเงยๆหลังเป็นประจำ จากภาวะมวลกระดูกลดน้อยลง จากภาวะอ้วนลงพุงเป็นเวลานาน ทำให้กระดูกอ่อนภายในข้อต่อ facet joint ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกันชนหายไป เหลือแต่ตัวเนื้อกระดูกที่ต้องมากดเบียดกันเองในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง แล้วเนื้อกระดูกของคนเราจะมีประสาทรับความรู้สึกอยู่ (ในหมอนรองกระดูก และกระดูกอ่อนจะไม่มี) พอเนื้อกระดูกมากดเบียดกันจึงทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้นนั่นเองครับ

ทีนี้วิธีการแยกว่าอาการปวดหลังว่า เกิดจากตัวข้อกระดูกเองหรือเกิดจากอาการปวดกล้ามเนื้อหลังให้สังเกตุอย่างงี้ครับ หากรู้สึกปวดลึกๆขัดๆภายในข้อ เมื่อใช้มือกดไปที่ข้อกระดูกสันหลังตรงๆจะรู้สึกปวดลึก ปวดเสียว และรู้สึกขัดอยู่ภายใน และสามารถชี้ระบุตำแหน่งได้ชัดเจน นั่นคืออาการปวดจากกระดูกสันหลังครับ แต่กรณีที่อาการปวดเกิดจากกล้ามเนื้อจะรู้สึกปวดกว้างๆ ระบุตำแหน่งที่ปวดชัดเจนไม่ได้ กล้ามเนื้อเกร็งตึงขึ้นเป็นลำ เมื่อกดไปที่กล้ามเนื้อจะรู้สึกปวดร้าวๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการทั้ง 2 มักจะมาคู่กันเสมอครับ มากน้อยก็ดูกันเป็นกรณีไป

กรณีที่ 2 : เกิดจากกระดูกงอกไปกดทับเส้นประสาท นั่นคือข้อกระดูกสันหลังชิ้นบนชิ้นล่างอยู่ชิดกันมาก เนื้อของกระดูกสันหลังจึงเสียดสีกัน จนทำให้เนื้อกระดูกได้รับความเสียหายร่างกายจึงสร้างกระดูกขึ้นมาเสริมบริเวณที่เสียหายจนเกิดเป็นกระดูกงอก (จะเรียกว่าหินปูนก็ได้ครับ) ทีนี้หากเกิดกระดูกงอกที่ด้านหน้าของกระดูกสันหลังคงไม่มีอาการอะไรหรอก แต่กระดูกงอกมันดันเกิดที่ด้านหลังซึ่งเป็นที่อยู่ของเส้นประสาทไขสันหลัง และรากประสาท พอกระดูกงอกไปกดทับเส้นประสาทสันหลังเข้าจึงเกิดอาการปวดหลังร้าวลงขา ชา ขาอ่อนแรง ซึ่งอาการนั้นเหมือนกับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาททุกประการ ต่างกันแค่เพียงสาเหตุเท่านั้นครับ

คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ที่ลิงค์เลยครับ (หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตที่ใครๆก็รู้จัก)

ภาพเปรียบเทียบข้อต่อ facet ปกติ และ facet เสื่อม

Facet joint คืออะไร?

เห็นผมพูดถึงข้อต่อ facet joint บ่อยๆคงจะนึกภาพไม่ออกกันใช่มั้นครับว่ามันหน้าตาเป็นยังไง ทำหน้าที่อะไร? ผมจะอธิบายในเชิงวิชาการให้น้อยที่สุดละกันจะได้ไม่งงและเบื่อกันซะก่อน

facet joint คือ ข้อต่อของกระดูกสันหลังที่มีความแข็งแรงและมั่นคงสูงมาก อยู่ทางด้านหลังของปล้องกระดูกสันหลัง มีหน้าที่สำคัญหลักเป็นข้อที่ทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนไหวก้ม เงย บิด เอี้ยวตัวได้ และเป็นตัวที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงแก่ข้อกระดูกสันหลัง ไม่ให้ข้อกระดูกสันหลังทรุดตัวลงมา

ตำแหน่งในวงกลมคือ ข้อต่อ facet ที่เสื่อม

การรักษาโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

หากตรวจพบแต่เนิ่นๆว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อม วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังเสื่อมมากขึ้น โดยการออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังและลำตัวเพื่อให้กล้ามเนื้อช่วยพยุงกระดูกสันหลังไม่ให้ทรุดตัวมากขึ้น หมั่นยืดกล้ามเนื้อหลังเพื่อให้กล้ามเนื้อหลังคลายตัว หลีกเลี่ยงการก้มหลังยกของหนัก หรือการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน หากเลี่ยงไม่ได้ก็ควรหาหมอนใบเล็กๆมาดุนหลัง

วิธีออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อหลัง (5 เทคนิคดูแลสุขภาพหลัง ไม่ให้ปวดตลอดชีวิต)

แต่กรณีที่เกิดอาการปวดหลังร่วมด้วยแล้วละก็ แนวทางการรักษาทางกายภาพบำบัดนั้นขึ้นอยู่อาการของผู้ป่วยเป็นหลักครับ หากมาด้วยอาการปวดมากก็จะลดปวดก่อนโดยใช้เครื่องมือ เช่น เครื่อง US, เครื่อง short wave, laser, การใช้เครื่องดึงหลัง, การกระตุ้นไฟฟ้า เป็นต้น จนผู้ป่วยมีอาการปวดลดลงนักกายภาพจะขยับข้อต่อ (mobilize) ของข้อที่ติดแข็ง เพื่อให้ข้อกระดูกเคลื่อนไหวได้มากขึ้น เพิ่มช่องว่างภายในข้อกระดูกสันหลัง ลดการเสียดสีของข้อกระดูก และที่ขาดไม่ได้เลยคือ แนะนำท่าออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งผู้ป่วยหลายรายละเลยการออกกำลังกายไป เพราะเห็นว่าไม่ปวดแล้วก็คือหายแล้ว ไม่ต้องรักษาอะไรต่อแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าหากไม่ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อหลังผู้ป่วยก็มีโอกาสกลับมาปวดหลังได้เหมือนเดิม เนื่องจากโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมนั้น ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เหมือนไข้โรคหวัดนะครับ ข้อต่อถ้ามันเสื่อมแล้วก็เสื่อมเลย ไม่สามารถเปลี่ยนได้ใหม่เหมือนอะไหล่รถยนต์นะ ฉะนั้น การออกกำลังกายจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้นั่นเองครับ

เครดิตภาพ
- http://www.hopkinsmedicine.org/neurology_neurosurgery/centers_clinics/spine/
- http://drarunlnaik.com/facet_joint_arthropathy/
- http://www.anatomy-physiotherapy.com/articles/musculoskeletal/spine/575-osteoarthritis-of-the-spine-the-facet-joints
- https://www.laserspineinstitute.com/back_problems/spondylosis/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น