โรครองชํ้า หรือศัพท์วิชาการหน่อยก็เรียกกันว่า plantar fasciitis คืออาการปวดส้นเท้าจากแผ่นพังผืดใต้ฝ่าเท้า (plantar fascia) อักเสบ ส่วนเหตุผลว่ามันอักเสบได้ยังไง? ทำไมมันถึงอักเสบ? สามารถคลิ๊กอ่านเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้เลยครับผม (5 เทคนิค บอกลาอาการปวดส้นเท้าตลอดชีวิต) ไม่งั้นบทความนี้ยาวเป็นกิโลแน่ๆ แฮ่ๆ
ส่วนสัญญาณที่บ่งบอกว่าเป็นโรครองชํ้ามีอยู่ด้วยกัน 3 อาการหลัก ตามนี้เลยครับ
1) ปวดส้นเท้าเมื่อเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน หรือจากจากนั่งนานแล้วลุกเดิน
เหตุที่เดินลงนํ้าหนักก้าวแรกหลังจากตื่นนอนแล้วเกิดอาการปวดนั้น เกิดจากในขณะที่เรานอนพัก พังผืดใต้ฝ่าเท้า (รวมทั้งกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นทั่วร่างกายด้วย) เกิดการหดตัว ความยืดหยุ่นลดน้อยลง แต่เมื่อเราตื่นนอนแล้วลุกขึ้นเดินลงนํ้าหนักทันทีทันใดจะทำให้พังผืดที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าถูกยืดกระทันหันจากแรงกดของนํ้าหนักตัว ผลคือเส้นใยพังผืดบางส่วนเสียหายเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดส้นเท้าตามมานั่นเอง
ทีนี้เมื่อเราเดินไปสัก 3-5 ก้าว อาการปวดที่ส้นเท้าลดลง เนื่องจากเส้นใยพังผืดเริ่มมีความยืดหยุ่นบ้างแล้วจากนํ้าหนักของร่างกายที่กดลงมาทำให้กระดูกเท้าขยายตัวออก พังผืดใต้ฝ่าเท้าจึงถูกยืดตามด้วยครับผม
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวด (หรือให้ปวดน้อยลงกว่าเดิม) จากการก้าวเท้าแรกนั้น ให้เรายืดกล้ามเนื้อน่องครับ โดยการกระดูกปลายเท้าขึ้นให้สุดพร้อมใช้มือดันฝ่าเท้าขึ้นจนรู้สึกตึงน่องค้างไว้ 20 วินาที ทำ 3-5 ครั้งก็เห็นผลแล้วครับ
สิ่งที่ควรเลี่ยงเมื่อเป็นรองชํ้าก็คือ"การกด"ตรงจุดที่ปวด เพราะการกดจุด กดยํ้าๆจะทำให้อาการอักเสบรุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้ แต่หากทนไม่ไหวขอกดให้มันคลายหน่อยเหอะ ก็แนะนำให้กดรอบๆจุดที่ปวดและตามแนวพังผืดสามารถทำได้ครับ ซึ่งจะช่วยให้ความตึงตัวของพังผืดลดลง อาการปวดที่ส้นเท้าก็ลดน้อยลงด้วยเช่นเดียวกัน ยํ้าอีกครั้งนะ...อย่า กด ตรง จุด ที่ ปวด!
ภาพแสดงตำแหน่งจุดที่พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ
2) ใช้นิ้วกดที่ส้นเท้าจะรู้สึกปวดจนสะดุ้ง
เหตุที่รู้สึกปวดเนื่องจากพังผืดใต้ฝ่าเท้ามันอักเสบเนี่ยแหละครับ ถ้าให้เปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนว่าที่หน้าเราเป็นสิวอยู่ ไม่ใช่แค่สิวเสี้ยนนะ แต่เป็นสิวอักเสบสิวหัวช้างเลย พอเราไปแกะไปเกาหัวสิวจะรู้สึกเจ็บมากเป็นพิเศษ เพราะจุดที่อักเสบไม่ว่าจะส่วนใดของร่างกาย ร่างกายจะหลั่งสารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณนั้น เพื่อให้เราพักการใช้งานและไม่ไปยุ่งกับบริเวณอักเสบเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัวซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหาย เช่นเดียวกับที่พังผืดใต้ฝ่าเท้านั่นแหละครับ มันอักเสบอยู่แต่เราก็ยังคงต้องใช้เท้าเดินอยู่ทุกวันจึงทำให้ผู้ที่เป็นโรครองชํ้ามักจะเป็นเรื้อรังรักษาไม่หายสักที
นอกจากจะปวดที่ส้นเท้าแล้ว ในรายที่ปวดเรื้อรังมานานมากกว่า 1 ปี มักมีอาการปวดลามไปยังปลายเท้าได้ด้วยเช่นเดียวกัน หรือบางรายก็อาจจะไม่ปวดส้นเท้าแต่ปวดปลายเท้าแทน เพราะในขณะที่ปวดส้นเท้าไม่ยอมเดินลงนํ้าหนักที่ส้นเท้าเลย เดินเขย่งเท้าอย่างเดียวจนทำให้นํ้าหนักมากดที่ปลายเท้ามากเกินไป จนทำให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าที่ส่วนปลายอักเสบแทน มักพบในรายที่เป็นโรครองชํ้ามานานมากกว่า 1 ปีนะครับ
3) รู้สึกเมื่อยเท้า ขาล้าง่าย
เหตุที่รู้สึกเมื่อเท้า เดินไปได้สักพักขาก็ล้าแล้ว เดินต่อไปไม่ไหวไม่มีแรงจะเดินต่อ เกิดจากกล้ามเนื้อขาข้างที่เป็นโรครองชํ้าอ่อนแรง เนื่องจากในช่วงที่เป็นโรครองชํ้าเราจะพยายามหลีกเลี่ยงการลงนํ้าหนักขาข้างที่ปวดให้ได้มากที่สุด เมื่อกล้ามเนื้อขาข้างที่ปวดไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานานส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดภาวะอ่อนแรง กำลังกล้ามเนื้อลดลง ผลก็คือเราจะรู้สึกเมื่อยขาง่ายกว่าขาข้างที่ไม่ได้เป็นโรครองชํ้า
แล้วผลอีกอย่างจากภาวะกล้ามเนื้อเท้าอ่อนแรงคือ จะทำให้กล้ามเนื้อในเท้าพยุงโครงสร้างเท้า(กระดูกเท้า)ได้แย่ลง พอกล้ามเนื้อพยุงโครงสร้างเท้าไม่ดีจึงส่งผลให้โครงสร้างกระดูกฝ่าเท้าเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จากนํ้าหนักของร่างกายที่กดลงมา กระดูกเท้าเราจะถูกกดลงไปเรื่อยๆ จากเดิมที่เท้าจะมีลักษณะเป็นอุ้งเท้าโค้งนูนเล็กน้อย จะถูกเปลี่ยนให้ค่อยๆแบนลงอย่างช้าๆ จนเป็นที่มาของโรคเท้าแบนนั่นเองครับ (เท้าแบนนั้นมีอยู่ 2 ประเภทคือ เป็นมาแต่กำเนิด กับเป็นเมื่ออายุมากขึ้นจากกล้ามเนื้อเท้าอ่อนแรงจนไม่สามารถพยุงเท้าไว้ได้) หากเราเท้าแบนลงเรื่อยๆจะทำให้เอ็นใต้ฝ่าเท้า (plantar fascia) ถูกยืดมากขึ้น อาการปวดที่ส้นเท้าก็มากขึ้น พอปวดเท้ามากก็เลี่ยงการใช้งานของขาข้างที่ปวดอีก พอไม่ใช้งานกล้ามเนื้อขาเหมือนอย่างเคยก็เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามมา แล้วก็ทำให้โครงสร้างฝ่าเท้าแบนลงอีก วนเป็นวงจรอุบาทอย่างนี้ละครับ ฉะนั้น ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคนเป็นโรครองชํ้าแล้วหายย๊ากยาก
ส่วนวิธีเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อเท้าในผู้ป่วยโรครองชํ้าผมอธิบายไว้แล้วในลิงค์นี้ครับ (5 เทคนิค บอกลาอาการปวดส้นเท้าตลอดชีวิต)
เครดิตภาพ
- http://www.iplantarfasciitis.com/
- http://www.pridepodiatry.com/foot-pain/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น