วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ปวดตื้อๆลึกๆที่หน้าอกเวลาหายใจเข้า ไปหาหมอบอกไม่ได้เป็นโรคหัวใจหรือปอด แต่...คุณอาจกำลังเป็นโรคนี้ก็ได้นะ


เจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้า  หากไม่ได้เป็นโรคหัวใจ ไม่ได้เป็นโรคปอด  คุณอาจจะเป็นโรคนี้...

ใครกำลังเจออาการนี้บ้างเอ่ย รู้สึกหายใจได้ไม่ค่อยเต็มอิ่ม พอหายใจเข้าลึกๆแรงๆจะรู้สึกปวดที่หน้าอกจี๊ดๆทันที พอหายใจเข้าช้าๆแทนก็รู้สึกหายใจเข้าได้ไม่สุดซะงั้น บางครั้งก็มีอาการปวดที่หน้าอกตื้อๆบ้าง จี๊ดๆบ้าง จนสร้างความรำคาญและสร้างความกังวลใจให้ตัวเองไม่น้อยกลัวว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจหรือโรคเกี่ยวกับปอดรึเปล่า แต่พอไปตรวจโดยละเอียดกับหมอ ใช้สาระพัดเครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ๆระดมตรวจเข้าไปแล้วในที่สุดหมอเดินมาบอกคุณว่า "จากผลตรวจสรุปได้ว่า ร่างกายคุณปกติดีครับ" อ่ะอ้าว ถ้ามันปกติแล้วทำไมถึงปวดจี๊ดๆที่หน้าอกได้ไงละ(วะ) หากคุณมีอาการดังกล่าวละก็ ติดตามบทความนี้ให้ดีครับ

หากเพื่อนๆมีอาการดังกล่าว ไปตรวจกับหมอเรียบร้อยแล้วว่าไม่มีปัญหาหรือความเสี่ยงใดๆที่จะเกิดขึ้นกับหัวใจและปอดแล้วละก็ มันอาจจะเกิดจากอาการปวดของกล้ามเนื้อ 2 มัดนี้ครับ ซึ่งมีอาการปวดร้าวไปที่ทรวงอกคล้ายคลึงกับผู้ป่วยโรคหัวใจ และเมื่อหายใจเข้าก็ทำให้เกิดอาการปวดเพิ่มมากขึ้นจนพาลให้คิดว่าเป็นโรคปอดอีกด้วย เจ้ากล้ามเนื้อ 2 มัดที่ว่านี้ก็คือ (แต่นแต้น) กล้ามเนื้อ 1) serratus posterior superior muscle และ 2) pectoralis minor muscle นั่นเองครับ 


แสดงตำแหน่งของกล้ามเนื้อ serratus posterior superior 

อาการปวดของกล้ามเนื้อ serratus posterior superior 

กล้ามเนื้อมัดนี้จะอยู่ที่บริเวณทรวงอกทางด้านหลัง ใกล้กับกระดูกสะบักครับ จัดว่าเป็นกล้ามเนื้อมัดลึกเลยทีเดียว มีหน้าที่สำคัญคือยกกระดูกซี่โครงซี่ที่ 2-5 ขณะหายใจเข้า หากกล้ามเนื้อมัดนี้มีความตึงตัวสูงจนเกิดการอักเสบขึ้นจากการใช้งานในอิริยาบถต่างๆ จะทำให้เกิดอาการปวดตื้อๆ ลึกๆด้านบนสะบัก อาจปวดร้าวลงแขนจนถึงนิ้วก้อย และที่สำคัญคือ จะมีอาการปวดตื้อๆลึกๆขณะหายใจเข้าที่บริเวณทรวงอก แล้วเมื่อพยายามหายใจลึกๆจะยิ่งมีอาการปวดมากขึ้น ซึ่งอาการปวดทรวงอกเวลาหายใจเข้าของกล้ามเนื้อมัดนี้เนี่ยแหละครับที่ทำให้เราเข้าใจผิดคิดว่าเกิดจากโรคที่เกี่ยวกับปอดนั่นเอง 

การยืดกล้ามเนื้อมัดนี้เพิ่อลดปวดจะใช้วิธีเดียวกับการยืดกล้ามเนื้อ rhomboid ครับ สามารถศึกษาได้จากคลิปนี้ครับผม (4 เทคนิคการยืดกล้ามเนื้อ Rhomboid)


แสดงตำแหน่งกล้ามเนื้อ pectoralis minor muscle 

อาการปวดของกล้ามเนื้อ pectoralis minor muscle 

กล้ามเนื้อมัดนี้จะเกาะอยู่ที่บริเวณทรวงอกครับ มีหน้าที่สำคัญคือรักษาตำแหน่งของกระดูกสะบักไม่ให้เคลื่อนหลุด หากกล้ามเนื้อ pectoralis minor เกิดการหดเกร็งและเกิดอาการปวดขึ้นจะมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณหัวไหล่ทางด้านหน้าและร้าวลงปลายแขน และมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณทรวงอกด้วย ซึ่งอาการปวดที่ทรวงอกจะรู้สึกปวดลึกๆตื้อๆอยู่ภายใน อาการปวดดังกล่าวหากเกิดที่ทรวงอกซ้ายของร่างกาย ผู้ป่วยมักจะเข้าใจผิดคิดว่าเกิดจากโรคหัวใจนั่นเองครับผม

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วงงว่า เราจะรู้ได้ยังไงว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากกล้ามเนื้อ pectoralis minor หรือ กล้ามเนื้อ serratus posterior superior สังเกตุตามนี้ครับ

วิธีสังเกตุว่าอาการปวดที่เกิดขึ้น เกิดจากกล้ามเนื้อมัดไหนนั้น ให้สังเกตุว่า หากเกิดอาการปวดที่ทรวงอกลึกๆขณะเราหายใจเข้านั้นเกิดจากกล้ามเนื้อ serratus posterior superior ครับ เพราะมัดนี้มันทำหน้าที่ยกกระดูกซี่โครงขณะที่เราหายใจไง และจะปวดร้าวมากขึ้นเมื่อเราใช้นิ้วกดบริเวณกล้ามเนื้อใกล้ขอบด้านในของกระดูกสะบัก นอกจากนี้จะมีความรู้สึกว่าหายใจได้ไม่ค่อยเต็มอิ่มอีกด้วยครับ

แต่หากเราหายใจเข้าหายใจออก อาการปวดตื้อๆลึกๆที่ทรวงอกยังคงเท่าเดิม และเมื่อพยายามชูแขนขึ้นพร้อมกับบิดแขนไปด้านหลังให้มากที่สุดจนรู้สึกตึงที่หน้าอกแล้วมีอาการปวดลึกๆที่ทรวงอกเพิ่มมากขึ้นละก็ อาการปวดที่เกิดขึ้นเกิดจากกล้ามเนื้อ pectoralis minor ครับผม 

อ้อ! แล้วอีกอย่างนะครับ การที่กล้ามเนื้อ pectoralis minor มีความตึงตัวสูง นอกจากจะทำให้เกิดอาการปวดที่ทรวงอกแล้วยังทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทแขนได้ด้วย ซึ่งเป็นที่มาของโรคที่มีชื่อว่า โรค thoracic outlet syndrome (TOS) (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรค TOS) ซึ่งเป็นโรคที่ทั้งแพทย์และนักกายภาพมองข้ามมากที่สุดเลยทีเดียว รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหามนะครับ^^

ทีนี้หากใครมีอาการปวดลึกๆปวดตื้อๆที่ทรวงอกหลังจากที่ได้อ่านบทความนี้จบแล้ว คงจะหายข้องใจกันแล้วนะครับว่า อาการปวดที่ทรวงอก ไม่จำเป็นต้องเกิดจากโรคหัวใจและปอดเสมอไป

เครดิตภาพ

https://www.youtube.com/watch?v=nYknmvC9KJY
- http://zeenews.india.com/news/health/diseases-conditions/world-copd-day-short-of-breath-get-screened-for-chronic-obstructive-pulmonary-disease_1823097.html
- https://sustainableexercise.com/2014/11/20/anatomy-basics-your-pec-minor/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น