JCI คืออะไร?
JCI นั้นย่อมาจากคำว่า Joint Commission International ซึ่งเป็นองค์กรอิสระจากอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำหน้าที่รับรองคุณภาพสถานพยาบาลว่าได้มาตรฐาน มีคุณภาพดีอะไรทำนองนี้ ถ้าให้เปรียบเทียบก็คล้ายๆกับมาตรฐาน ISO ตามโรงงานนั่นแหละครับ
ทำไมโรงบาลเอกชนถึงอยากมี JCI กันนัก?
นั่นก็เพราะว่ามาตรฐาน JCI เป็นที่ยอมรับและรู้จักกันดีของชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวยุโรปและอเมริกา หากโรงบาลไหนผ่านมาตรฐาน JCI ได้ จะสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างเชื่อมั่นแก่ผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาภายในโรงบาล สิ่งเหล่านี้จะช่วยดึงผู้ป่วยต่างชาติให้เข้ารับการรักษาในโรงบาลที่มี JCI มากกว่าโรงบาลที่ไม่มีนะครับ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้แก่โรงบาลเอกชนเวลาออกไปโรดโชว์โรงบาลตัวเองตามต่างประเทศอีกด้วยนะครับ (ที่โรงบาลเอกชนใหญ่ๆผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดแถมยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆก็เนื่องมาจากมีลูกค้าจากต่างชาติเข้ามาใช้บริการเนี่ยแหละครับ พูดง่ายๆก็คือเปิดไว้รองรับผู้ป่วยจากต่างชาตินั่นแหละ)
ฉะนั้นเราจึงเห็นโรงเอกชนชื่อดังหลายแห่งพยายามโปรโมท โฆษณา ติดป้ายบิลบอร์ดใหญ่ๆว่า โรงบาลฉ้านมี JCI แล้วนะโว้ย แล้วก็พ่วงด้วยโลโก้ของ JCI ใหญ่ๆแปะไว้ข้างๆอย่างที่เราเห็นกันจนเป็นเรื่องปกตินั่นแหละครับ แถมยังช่วยให้โรงบาลสามารถอัพราคาได้อย่างสบายๆอีกด้วย
โลโก้ของ JCI
ประสบการณ์สุดระทึก เมื่อเจอฝรั่งมาตรวจ JCI ที่โรงบาล
หลังจากที่เรียนจบผมได้เข้าทำงานที่โรงบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง ทำงานได้ 2 เดือนก็รู้สึกว่าทำไมพวกหัวหน้าแผนกหัวหน้างานต่างๆมันดูร้อนรุ่มกันจัง(วะ) ปกติ 5-6 โมงเย็นก็กลับบ้านกันแล้ว แต่นี่เห็นอยู่กันจน 3-4 ทุ่มกว่าจะกลับบ้านกันจะขยันอะไรขนาดน้านนนน อีกไม่กี่วันถัดมาทางโรงบาลได้ก็ติดประกาศเชิญบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนเข้ามาฟังบรรยายเกี่ยวกับการตรวจมาตรฐาน JCI ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักมาตรฐาน JCI แล้วก็ดูพวกหมอๆจนถึงผู้บริหารออกมาพูดในเชิงว่า "มาตรฐาน JCI สำคัญกับโรงบาลเรามากเลยนะเว้ย ถ้าเราไม่มีมาตรฐานนี้ละก็แย่แน่ๆ" อะไรทำนองนี้ ผมก็ได้แต่นั่งเกาหัวแกรกๆว่า มันจะอะไรกันนักกันหนา! จนถึงช่วงท้ายๆของการบรรยายนั่นแหละครับ ถึงได้รู้ว่าถ้าโรงบาลเราไม่ผ่านมาตรฐาน JCI ละก็จะทำให้ลูกค้าต่างชาติไม่เข้ามาใช้บริการที่โรงบาลแห่งนี้ เพราะที่โรงบาลนี้ยังมีเงินหมุนเวียนอยู่ได้สบายๆก็เนื่องจากมีคนไข้ชาวต่างชาติมารักษากว่า 60% โอ้แม่จ้าว
ผมจึงพอสรุปออกมาทั้งหมดทั้งมวลก็ได้ใจความประมาณว่า ถ้าไม่ผ่าน JCI ละก็โรงบาลนี้เจ๊งแน่ๆ เพราะไม่มีชาวต่างชาติมาใช้บริการ แล้วเมื่อพูดถึงชาวต่างชาติก็ไม่ใช่ชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยแล้วสะดุดหกล้มต้องเข้าโรงบาลหรอกนะครับ แต่เป็นการดึงชาวต่างชาติจากประเทศบ้านเกิดของเค้าให้มารักษาในเมืองไทยแล้วอยู่กันเป็นเดือนๆ ส่วนมากจะเป็นเคสที่ต้องรักษาระยะยาว เช่น เคสผู้สูงอายุ ป่วยอัมพาต ป่วยจากโรคหลอกเลือดสมอง หรือเคสเด็กที่เป็นโรคเกี่ยวกับพัฒนาการสมอง เป็นต้น
แล้วสำหรับเด็กใหม่อย่างผมคงไม่ต้องไปยุ่งวุ่นวายกับงานพวกนี้ก็ได้ใช่มั้ย เพราะมันเป็นงานของฝ่ายบริหาร แต่เปล่าเล้ย ผมเองก็โดนลากให้มาช่วยเคลียประวัติผู้ป่วยที่กองสูงจนท่วมหัว ให้มาช่วยดูว่าประวัติผู้ป่วยที่บันทึกไปนั้นเขียนถูกต้องมั้ย มีอะไรตกหล่นมั้ย สะกดคำถูกหรือเปล่า(จะตรวจทำม๊ายฝรั่งเค้าอ่านภาษาไทยไม่ออก) แล้วประวัติที่่ว่านี่ย้อนหลังไปร่วมๆปีเลยนะ รักษาผู้ป่วยเสร็จต้องมานั่งตรวจเช็คประวัติผู้ป่วยต่ออีก ช่วงนั้นผมกับเพื่อนๆจบใหม่ด้วยกันนี่บ่นงุ้งงิ๊งๆเป็นหมีกินผึ้งกันเลยทีเดียว
และเมื่อถึงวันที่เจ้าหน้าที่จากองค์กร JCI มาตรวจที่โรงบาลจริงๆ แว็บแรกตั้งแต่เดินเข้าประตูโรงบาลมาสังเกตุได้เลยว่า คนในโรงบาลทำไมมันดูน้อยกว่าปกติวะ? เจ้าหน้าที่พยาบาลที่เห็นบ่อยๆก็หายไป เห็นแต่คนที่ดูแก่ๆหน่อยมานั่งแทน ส่วนพวกหน้าใหม่หายหน้าหายตาไปกันหมด จนผมเดินเข้าไปในแผนกนั่นแหละครับ พวกๆพี่เดินมาสะกิดแล้วว่า "วันนี้มีคนมาตรวจ ถ้าไม่มีธุระจริงๆอย่าออกมานอกแผนกนะ" เอาแล้วไง เอาแล้วไง ได้เวลาหูไวตาไวกันแล้ว อารมณ์เหมือนเราเป็นผู้ร้ายที่ต้องคอยหลบหลีกอยู่ตลอด แล้วทุกๆชั่วโมงก็มีเจ้าหน้าที่จากชั้นอื่นๆโทรมารายงานที่แผนกผมว่า "ตอนนี้เค้า(เจ้าหน้าที่ JCI) อยู่ชั้นนี้ๆ อีกไม่กี่ชั่วโมงจะมาแผนกเราให้เตรียมพร้อมตลอดนะ(เตรียมหนี)" พอเจ้าหน้าที่จาก JCI เดินมาตรวจที่แผนกเราจริงๆ สิ่งที่ผมกับเพื่อนๆชุดใหม่ทุกคนต้องทำก็คือ การซ้อนและหนีครับ เฮ้ย!โตขนาดนี้แล้วยังต้องมานั่งเล่นซ่อนแอบกันอีก แล้วจะแอบในห้องพักพนักงานก็ไม่ได้นะต้องไปแอบในห้องตรวจรักษาผู้ป่วย เพราะทางเจ้าหน้าที่เค้าจะเดินดูไปทั่วทั้งหมดไม่เว้นแม้แต่ห้องพักพนักงาน แต่จะไม่เข้าไปดูห้องตรวจหากมันปิดอยู่ แล้วนั่นแหละเป็นห้องที่มกับเพื่อนๆไปยืนอัดกันเป็นปลากระป๋องอยู่ในนั้น คอยเงี่ยหูฟังว่า ไปกันยังน้อ อึดอัดจะแย่แล้วน้อ เป็นอะไรที่ระทึกใจดีจริงๆ เหตุที่ต้องคอยแอบเพราะหากเราไปเจอเจ้าหน้าที่จาก JCI แล้วเค้าเรียกถามนู่นนี่นั่นแล้วตอบไม่ได้ มันอาจจะมีผลต่อการประเมินนั่นเองครับ
เมื่อเจ้าหน้าที่ประเมินเสร็จเรียบร้อย ทุกอย่างก็เข้าสู่โหมดเดิม คือ ดูวุ่นวายเหมือนเดิม อุปกรณ์ก็วางไว้ตามทางเดินให้ผมเดินสะดุดเล่นเหมือนเดิม ประวัติก็เขียนไม่เต็มเหมือนเดิม สรุปภาพรวมแล้วไม่ว่าจะโรงบาลรัฐหรือเอกชนก็เจอกระบวนการทำงานแบบไทยๆที่เรียกกันว่า "ผักชีโรยหน้า" ไม่เปลี่ยนแปลงละคร้าบบบ
เครดิตภาพ
- http://www.jointcommissioninternational.org/about/
- http://wildhunt.org/2016/04/healing-for-the-spiritpagan-hospital-chaplains.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น