วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

6 สัญญาณ เช็คโรคเข่าเสื่อม


ใครที่อายุ 40 ขึ้นไปกันบ้างติดตามบทความนี้ให้ดีครับ เพราะผมจะแนะนำวิธีสังเกตุอาการเข่าเสื่อมกันง่ายๆด้วยตนเองกันกับ 6 สัญญาณ เช็คโรคเข่าเสื่อม

1) ได้ยินเสียงกร๊อบแกร๊บในเข่า

เสียงกร๊อบแกร๊บภายในข้อเข่านั้นเกิดจาก ผิวกระดูกต้นขา(femur) และผิวกระดูกหน้าแข้ง(tibia) เสียดสีกัน ซึ่งโดยปกติแล้วผิวข้อกระดูกทั้งสองชิ้นจะมีหมอนรองกระดูกรองอยู่ ทำหน้าที่รับนํ้าหนัก กระจายแรง ป้องกันไม่ให้ผิวกระดูกชนกัน และช่วยให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุมากหรือเคยเกิดอุบัติเหตุที่ข้อเข่าโดยตรงจะทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมสลายไป เมื่อไม่มีหมอนรองกระดูกจะทำให้ผิวกระดูกเสียดสีกันจนเกิดเสียงดังกร๊อบแกร๊บนั่นเองครับ ทั้งนี้เสียงจะดังในลักษณะครืดคราดเหมือนของแข็งสองชิ้นมาถูกัน ไม่ใช่เสียงดังป๊อกแป๊กเวลาเราหักคอ หรือบิดเอวนะครับ

(รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเสียงดังในข้อ หักคอดังกร๊อบแกร๊บบ่อยๆ เสี่ยงเป็นอัมพาตจริงหรือ  
และ คลิป VDO อธิบายสาเหตุการเกิดเสียงดังป๊อกแป๊กในข้อเวลาหักคอ หักนิ้ว)

ภาพเปรียบเทียบข้อเข่าปกติ กับข้อเข่าเสื่อม

2) ข้อเข่าฝืดแข็ง

หากตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกข้อเข่าฝืดแข็ง เหยียดเข่างอเข่าลำบาก ต้องใช้เวลายืดเหยียดเข่าอยู่พักใหญ่ๆกว่าจะลุกขึ้นมาเดินได้ละก็ อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกันครับ เหตุที่เรารู้สึกข้อเข่าฝืด เนื่องจากว่านํ้าหล่อเลี้ยงข้อเข้าน้อยลงครับ ซึ่งเจ้านํ้าเลี้ยงข้อเข่า (synovial fluid) ทำหน้าที่คล้ายกับนํ้ามันหล่อลื่นในเครื่องยนต์ ช่วยให้ข้อเข่าเคลื่อนไหวได้ราบรื่น และภายในนํ้าหล่อเลี้ยงข้อก็ยังมีสารอาหารเลี้ยงหมอนรองกระดูกด้วยนะครับ หากนํ้าหล่อเลี้ยงข้อเข่าลดน้อยลงจำทำให้หมอนรองกระดูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จนหมอนรองกระดูกเสื่อมไวขึ้นได้ด้วยนะ

ส่วนสาเหตุที่นํ้าหล่อเลี้ยงข้อเข่าลดน้อยลง เชื่อว่าเกิดจากอายุที่มากขึ้นร่างกายจึงผลิตนํ้าหล่อเลี้ยงข้อน้อยลงครับ ซึ่งเป็นเรื่องปกติครับ หากต้องการให้นํ้าหล่อเลี้ยงข้ออยู่ในปริมาณปกติมีอยู่ 2 วิธีหลักครับ คือ ทานยา(หรือฉีดยา)ที่ช่วยให้ร่างกายผลิตนํ้าหล่อเลี้ยงข้อ และอีกวิธีคือการออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอครับผม

3) ปวดเสียวภายในข้อเข่า

อาการปวดนั้นเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลักครับ  คือ
1) เกิดจากกล้ามเนื้อรอบๆเข่ามีความตึงตัวสูง จากเหตุที่เข่าทรุดตัว ทำให้กล้ามเนื้อต้องเกร็งค้างไว้ และเมื่อเกร็งค้างนานๆจึงทำให้เกิดอาการปวดในที่สุด
ปล. อาการปวดกล้ามเนื้อจะรู้สึกปวดตื้อๆ ปวดกว้างๆรอบๆเข่า

2) เกิดจากผิวกระดูกเสียดสีกัน ภายในกระดูกของคนเราจะมีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่ เมื่อผิวกระดูกเสียดสีกันจึงทำให้เกิดอาการปวดขึ้น (แต่ในหมอนรองกระดูกไม่มีเส้นเลือด และเส้นประสาทมาเลี้ยงเลย) นอกจากนี้ยังเกิดจากผิวกระดูกที่เสียดสีกันจนเสียหายงอกขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดภาวะกระดูกงอก (spur) ขึ้นมารอบๆผิวข้อแล้วไปทิ่มแทงเนื้อเยื่อรอบๆเข่า ทำให้เกิดอาการปวดเข่าในที่สุด และจะปวดมากเมื่อเดินลงนํ้าหนัก
ปล. อาการปวดกระดูกจะรู้สึกปวดเสียว ปวดขัดๆภายในข้อ

กระดูกงอกที่เข่า ที่ทำให้เกิดอาการปวดเข่าด้านใน

4) ข้อเข่าติดแข็ง

หนุ่มๆสาวๆอาจนึกไม่ออกว่าอาการข้อเข่าติดแข็งเป็นยังไง? มันติดแข็งจนขยับไม่ได้เลยรึเปล่าน้าา คำตอบคือ ไม่ถึงขนาดนั้นครับ เพียงแต่อาการจะเป็นในลักษณะนี้ คือ ในอดีตอาจจะงอเข่าได้เต็มช่วง คือพับเข่าได้สุด เหยียดเข่าได้สุดเลยอะไรงี้ครับ แต่เมื่อเป็นเข่าเสื่อมเราจะไม่สามารถงอเข่าได้สุด อาจจะงอได้ครึ่งเดียวแล้วเมื่อพยายามกดเข่าให้งอเพิ่มขึ้นผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเข่าจี๊ดขึ้นาทันที หรือรู้สึกขัดๆในกระดูกทำให้ไม่สามารถงอเข่าต่อได้ครับ

ภาพ X-ray แสดงภาวะเข่าโก่ง ข้อเข่าชิดกัน และผิดรูปอย่างชัดเจน

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ข้อเข่าติดแข็งเกิดจาก กระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งทรุดตัวจากกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นรอบเข่าอ่อนแรง ความมั่นคงของข้อเข่าจึงลดน้อยลง กระดูกทั้ง 2 จึงอยู่ชิดกันมากเกินไป เมื่องอเข่าจึงทำให้กระดูกทั้ง 2 ขัดกัน เกยกันนั่นเองครับ

5) กล้ามเนื้อรอบๆเข่าอ่อนแรง เมื่อยง่าย

เมื่อผู้ป่วยปวดเข่าในขณะที่เดินลงนํ้าหนัก จึงหลีกเลี่ยงการเดิน หรือการใช้กำลังกล้ามเนื้อขาทุกอย่าง ทีนี้เมื่อผู้ป่วยไม่ยอมออกแรงนานๆเข้า สิ่งที่เกิดตามมาแน่ๆคือภาวะกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง พอลุกเดินนิดหน่อยๆก็บ่นว่าเมื่อยขา ปวดขา ต้องเดินๆหยุดๆ และหากยังคงเดินน้อย ไม่ออกกำลังกล้ามเนื้อขา หรือไม่เดินเลย(นั่งวีลแชร์)ละก็จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบตามมา หากถึงขั้นกล้ามเนื้อฝ่อลีบแล้วละก็เตรียมตัวเป็นมนุษย์รถเข็นได้เลยครับ เพราะคงต้องนั่งวีลแชร์กันตลอดชีวิตแน่ๆ

6) ข้อเข่าผิดรูป

อาการนี้เป็นระยะสุดท้ายของโรคเข่าเสื่อมแล้วครับ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รักษา ผิวกระดูกทั้ง 2 ชิ้นจะเสียดสีกันมากจนทำให้เนื้อกระดูกบางส่วนหายไป การลงนํ้าหนักและการกระจายนํ้าหนักที่ข้อเข่าจึงผิดเพี้ยนไป ทำให้เราเห็นว่าผู้ป่วยมีลักษณะข้อเข่าโก่งงอดูผิดรูปนั่นแหละครับ

ลักษณะข้อเข่าโก่งในผู้ป่วยเข่าเสื่อม

หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเข่าเสื่อม ติดตามได้ที่บทความนี้เลยครับ ข้อเข่าเสื่อม โรคยอดฮิตวัยชรา
หรืออีก 1 บทความ กับ 5 เทคนิคบริหารเข่าให้วิ่งปร๋อ

เครดิตภาพ
- http://www.physiciansweekly.com/rising-prevalence-symptomatic-knee-oa/
- http://www.orthopaedicsurgeon.com.sg/patients-education/knee/knee-pain-due-to-osteoarthritis/
- http://radiopaedia.org/cases/osteoarthritis-of-the-knee
- http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00389
- http://www.judyyoga.com/blog/?tag=%E8%86%9D%E7%97%9B

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

(คลิป VDO) อธิบายกลไกการเกิดเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด เพียง 1 นาทีก็ร้องอ๋อ




เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด (ACL injury)

จัดว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยในนักกีฬาที่ต้องวิ่งทำความเร็วและมีการปะทะกันบ่อย เช่น ในนักบอล, นักบาส, รักบี้ เป็นต้น หากใครชอบเล่นกีฬาละก็ศึกษาไว้นิดนึงนะครับ รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม 
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถคลิ๊กที่ link ด้านล่างได้เลยครับ
(บทความ โรคเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด พบได้มากในหมู่นักบอล)

เครดิต คลิป VDO
- https://www.youtube.com/watch?v=lpIOMuqXWrE

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

โรคเก๊าต์เทียม (Pseudogout) โรคที่คนไข้ปวดแสบ คุณหมอปวดหัว


โรคเก๊าต์เทียม (Pseudogout อ่านว่า สื๋อ-โด-เกาต์)

โรคนี้จัดว่าเป็นโรคข้ออักเสบอย่างนึง ซึ่งในช่วงชีวิตผมที่ทำกายภาพคนไข้มายังไม่เคยเจอคนไข้เป็นโรคนี้ตัวเป็นๆเลยละครับ ผมจึงอธิบายจากประสบการร์ไม่ได้ว่าเจ้าหน้าตาของโรคนี้มันเป็นยังไง แต่ผมจะอธิบายจากที่รวมรวมข้อมูลมาแล้วกันนะครับ

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับโรคเก๊าต์แท้ๆอย่างคร่าวๆกันก่อนนะครับ โรคเก๊าต์เกิดจากผลึกยูเรตไปสะสมอยู่ตามข้อต่อ แล้วเจ้าผลึกยูเรตนี้มีลักษณะเป็นแท่นแหลมเหมือนเข็ม ทำให้ไปทิ่มตำเนื้อเยื่อและกระดูกที่อยู่รอบๆข้อจนเกิดอาการปวด ข้ออักเสบขึ้น และหากอากาศหนาวเย็นหรือนำนํ้าแข็งมาประคบ ณ จุดที่เป็นเก๊ต์(แท้ๆ) จะยิ่งทำให้อาการปวดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสารนํ้าที่อยู่รอบๆเนื้อเยื่อนั้นหายไป ผลึกยูเรตที่ลอยอยู่ในสารนํ้าจึงอยู่ชิดกับข้อต่อมากขึ้นทำให้ทิ่มตำเนื้อเยื่อรอบๆได้ง่ายขึ้นนั่นเองครับ
(อธิบายรายละเอียกเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเก๊าต์ใน เก๊าต์หายได้ หากรักษาถูกวิธี)

ส่วนโรคเก๊าต์เทียม หรือ Pseudogout นั้นเป็นกลุ่มโรคที่มีลักษณะสำคัญคือ มีการพอกของผลึกแคลเซี่ยมไพโรฟอสเฟสไดไฮเดรต (CPPD) ที่ผิวข้อ และหากมีผลึกหลุดเข้ามาช่องว่างระหว่างข้อ เม็ดเลือดขาวในร่างกายจะเข้ากำจัดผลึกที่อยู่ระหว่างช่องระหว่างข้อต่อนี้ และเม็ดเลือดขาวจะหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบออกมาทำให้เกิดอาการข้ออักเสบ จนเป็นที่มาของชื่อ "โรคเก๊าต์เทียม" นั่นเองครับ


ภาพส่องกล้องแสดงแคลเซี่ยมไพโรฟอสเฟส(สีขาวๆ)เกาะอยู่ตามผิวข้อ

สำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้อาจไม่มีอาการเลย หรือมีอาการข้ออักเสบเฉียบพลันเหมือนกับโรคเก๊าต์ชนิดเฉียบพลัน หรือมีอาการปวดข้อแบบเรื้อรังก็ได้ก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 3 อย่างนะครับ

1) โรคข้ออักเสบเฉียบพลันจากผลึกแคลเซี่ยมไพโรฟอสเฟต เป็นภาวะที่มีแคลเซี่ยมไพโรฟอสเฟสไปสะสมที่ข้อจนเกิดข้ออักเสบ ข้อบวม ปวด เหมือนกับโรคเก๊าท์ทุกประการจนพาลให้เข้าใจว่าเป็นโรคเก๊าท์ ต่างกันเพียงแค่โรคเก๊าท์แท้ๆเกิดจากผลึกยูเรต แต่เก๊าท์เทียมเกิดจากผลึกแคลเซี่ยมไพโรฟอสเฟตแทนครับ

2) ภาวะแคลเซี่ยมจับกระดูกอ่อน คือภาวะที่มีแคลเซี่ยมไปจับผิวกระดูกอ่อนของข้อ ซึ่งจะพบในคนที่เป็นข้ออักเสบเฉียบพลันจากไพโรคฟอสเฟตหรือไม่ก็ได้

3) โรคข้อเสื่อมจากไพโรฟอสเฟต คือภาวะข้อเสื่อมจากผลึกแคลเซี่ยมไพโรฟอสเฟตไปพอกอยู่ด้วย มักพบในคนที่มีความผิดปกติการเผาผลาญไพโรฟอสเฟตตั้งแต่เกิด

สาเหตุของโรคเก๊าต์เทียม

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดนะครับ เพียงแต่สันนิษฐานกันว่า เมื่อมีอายุมากขึ้นทำให้กระบวนการทางเคมีเปลี่ยนแปลงไป การเผลผลาญไม่ดีเหมือนแต่ก่อนจึงเกิดโรคเก๊าต์เทียมในที่สุด แต่ทั้งนี้มีปัจจับเสี่ยงที่พบ เช่น 
- มีประวัติบาดเจ็บที่ข้อมาก่อน
- มีธาตุเหล็กในเลือดมากกว่าปกติ
- มีโรคอื่นๆมาก่อน เช่น ไฮเปอร์ไทรอยด์ ไฮโปไทรอยด์ โรคแคลเซี่ยมในเลือดสูง หรือแม้แต่โรคเก๊าต์เอง
- มีแมกมีเซี่ยมในเลือดตํ่ากว่าปกติ


ภาพแสดงอาการบวม แดงของนิ้วหัวแม้เท้าขวาในโรคเก๊าต์เทียม

อาการสำหรับผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์เทียม

- ไม่มีอาการแสดงใดๆเลย พบแค่เพียงแคลเซี่ยมมาเกาะที่ข้อมากแต่ไม่มีอาการปวดใดๆ
- มีอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน (acute pseudogout) อาการนี้จะคล้ายกับผู้ที่เป็นโรคเก๊าต์ โดยจะพบว่ามีอาการปวด บวมรอบๆข้อ ผิวหนังรอบข้ออักเสบแดง เมื่อจับแล้วจะรู้สึกอุ่นๆเมื่อเทียบกับข้างปกติ
- อาการข้ออักเสบเรื้อรัง คล้ายกับโรคข้ออักเสบทั่วไป คือปวดมากเมื่อใช้งานข้อนั้น แต่อาการปวดจะเบาลงเมื่อพักการใช้งาน ปวดข้อตลอดเวลา ข้อฝืด ข้อติดแข็ง ข้อต่อดูผิดรูป(ในกรณีที่เป็นมานาน) และจะมีอาการมากในช่วงที่พักการใช้งานข้อนานๆแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น หลังจากตื่นนอน หลังจากนั่นนานๆ เป็นต้น
- อาการข้ออักเสบคล้ายโรครูมาตอยด์ แต่พบได้น้อยมาก คือ มีอาการปวดที่ข้อนิ้วมือทั้งข้างซ้ายและขวาเท่ากัน
(รายละเอียดโรครูมาตอยด์ใน เกาต์ VS รูมาตอยด์)

การรักษาโรคเก๊าต์เทียม (pseudogout)

- หากไม่มีอาการปวดใดๆก็ไม่จำเป็นต้องรักษาครับ
- รักษาตามอาการ ตามความรุนแรงของโรค เช่น ถ้าปวดไม่มากก็ให้ทานยาแก้อักเสบไป ถ้ายังไม่ได้ผลก็เพิ่มความแรงของยาขึ้น จนถึงฉีดสเตียรอยด์ดู หากยังไม่ได้ผลอีกก็ใช้ยาเคมีบำบัด หากมีอาการข้อบวมมากก็อาจเจาะเพื่อดูดนํ้าออกจะช่วยลดอาการปวดของข้อได้เช่นกัน

บทบาทหน้าที่ของกายภาพในผู้ป่วยโรคเก๊าท์เทียม

โดยส่วนมากนักกายภาพมักไม่ได้รักษาผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกหรอกครับ จะเจอกันอีกทีก็คือตอนที่ข้อต่อเสื่อม ข้อยึด ข้อผิดรูปไปเยอะมากแล้วนั่นแหละครับ ถึงค่อยมาเจอกันเพื่อดัดข้อให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ  เพราะการรักษาโรคเก๊าท์หรือเก๊าท์เทียมนั้นจะเน้นการรักษาด้วยยาเป็นหลัก และโรคเก๊าท์เทียมยังไม่มีวิธีป้องกันได้นะครับ

เครดิตภาพ
- http://visitdrsant.blogspot.com/2013/04/pseudogout.html
- http://eorif.com/calcium-pyrophosphate-deposition-disease-7122
- http://www.ask.com/health/pseudo-gout-874506cee669100a
- https://garlandofgrace.org/2016/05/10/garland-of-grace-05-11-16/

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

kegel exercise ท่าฝึกกระชับช่องคลอด เพื่อเพิ่มความหลงใหลให้หนุ่มๆติดใจ...คุณ


การฝึกกระชับช่องคลอด (kegel exercise)

ใครรู้ตัวว่าเป็นผู้หญิงกันบ้างขอให้ยกมือขึ้น แล้วก็ติดตามบทความนี้ให้ดีครับ เพราะผมจะแนะนำวิธีการฝึก kegel exercise กัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องอย่างว่าของผู้หญิง

kegel exercise คืออะไร?

พูดแบบกำปั้นทุบดินเลยว่า kegel exercise คือ การฝึกขมิบช่องคลอดครับ เพื่อให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรง

ภาพแสดงกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (pelvic floor) ที่คอยป้องกันไม่ให้อวัยวะภายในเคลื่อนลงตํ่า

ใครบ้างที่ควรฝึก kegel exercise?

ผู้หญิงทุกคนควรฝึกครับ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีปัญหาฉี่เล็ดบ่อย ควบคุมการขับถ่ายได้ไม่ดี กลั้นฉี่ไม่อยู่ ฉี่เล็ดขณะไอจาม มีภาวะมดลูกหย่อนยาน  ช่องคลอดขาดความกระชับ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อยู่หรือพึ่งคลอดบุตร(ควรฝึกอย่างยิ่ง)  และสาวๆที่มีความสุขขณะมีเพศสัมพันธ์ลดน้อยลง

ฝึก kegel exercise เพื่ออะไร? ทำไมผู้หญิงถึงควรฝึก kegel exercise?

การฝึก kegel exercise เพื่อให้ช่องคลอดประชับ และเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานรวมถึงกล้ามเนื้อรอบๆช่องคลอด เหตุที่ผู้หญิงควรฝึกขมิบช่องคลอดนั้นผมจะแบ่งออกเป็นข้อๆดังนี้ครับ
1) ช่วยควบคุมไม่ให้ฉี่เล็ดขณะไอ จาม
2) ช่วยควบคุมการกลั้นฉี่ได้ดี ป้องกันภาวะฉี่เล็ดโดยไม่รู้ตัวในผู้สูงอายุ (เหตุที่ผู้สูงอายุจะฉี่เล็ดบ่อยๆเพราะเจ้ากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานมันไม่แข็งแรงเนี่ยแหละครับ)
3) ช่วยให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรง ป้องกันภาวะมดลูกและกล้ามเนื้อหูรูดหย่อนตัว
4) ช่วยให้ช่องคลอดกระชับ เพิ่มความสุขขณะมีเพศสัมพันธ์
5) ช่วยให้การรับความรู้สึกของช่องคลอดดีขึ้น และช่วยให้คุณผู้หญิงถึงจุดสุดยอดได้ง่ายขึ้น (Woww)

ภาพเปรียบเทียบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานปกติและที่ไม่แข็งแรง

วิธีการฝึก kegel exercise แบบฉบับทำเองง่ายๆ?

ก่อนที่จะเริ่มฝึกขมิบช่องคลอดเราควรฝึกสร้างความรู้สึกที่ถูกต้องกันก่อนว่า การขมิบช่องคลอดที่ถูกต้องทำกันยังไง โดยให้คุณผู้หญิงเปิดตู้เย็นดื่มนํ้าให้เต็มที่แล้วไปเข้าห้องนํ้าฉี่ออกมาซะ ในขณะที่ฉี่ให้เราขมิบหูรูด(กลั้นฉี่) โดยไม่เกร็งหน้าท้อง ไม่หนีบขา ไม่เกร็งหลัง ถ้าฉี่หยุดทันทีถือว่าเราควบคุมกล้ามเนื้อถูกมัดแล้วครับ จากนั้นให้ปล่อยแล้วลองกลั้นซํ้าใหม่ประมาณ 2-3 ครั้งจนจำความรู้สึกได้

ทีนี้ให้เราฝึกขมิบช่องคลอด(กลั้นฉี่) แบบที่ทำในห้องนํ้า แต่ครั้งนี้ไม่ต้องฉี่ออกมาจริงๆนะครับ เพียงแค่ขมิบช่องคลอดค้างไว้ 10 วินาทีแล้วปล่อย 10 วินาทีนับเป็น 1 ครั้ง ให้ทำวันละ 75-100 ครั้ง/วัน ทำได้ทุกช่วงเวลาไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน เราไม่จำเป็นต้องฝึกขมิบ 100 ครั้งรวดเดียวก็ได้นะครับ ให้แบ่งเป็นเซ็ตก็ได้ เช่น เช้า 25 ครั้ง เที่ยง 25 เย็น 25 และก่อนนอนอีก 25 ครบ 100 ครั้งพอดี หากฝึกเป็นประจำสมํ่าเสมอจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน-3 เดือนจึงจะเริ่มเห็นผลความแตกต่างครับ หากฝึกตั้งแต่สาวๆเมื่อมีอายุมากขึ้นปัญหาเรื่องมดลูกหย่อน มดลูกไม่เข้าอู่จะไม่เกิดขึ้นกับคุณแน่นอนครับ และผลพลอยได้ยังช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องส่วนล่างแบนราบน่ามองอีกด้วย

สิ่งที่ไม่ควรทำขณะฝึก kegel exercise

- ไม่ควรเกร็งหน้าท้อง หนีบขา ในขณะฝึกขมิบ เพราะเป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดอื่นร่วมด้วย กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจึงไม่ได้หดเกร็งอย่างเต็มที่
- ควรฉี่ให้เรียบร้อยก่อนฝึก
- ไม่ควรฝึกขณะฉี่ เพราะอาจทำให้ท่อปัสสาวะอักเสบได้
- ไม่ควรกลั้นหายใจ เพราะจะทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องจนเกิดอาการปวดศีรษะ

เครดิตภาพ
- https://www.amazon.co.uk/Ewana-Ladies-Knickers-Womens-Lingerie/dp/B00D8DKPVA/280-2573406-4104003?ie=UTF8&*Version*=1&*entries*=0
- http://www.ifscphysio.com/blog/pelvic-floor-exercises-during-pregnancy
- https://www.kenhub.com/en/library/anatomy/muscles-of-the-pelvic-floor


วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กล้ามเนื้ออักเสบ ข้ออักเสบ อย่านวดนะถ้าไม่อยากให้เนื้อบวม


จัดว่าเป็นการรักษายอดฮิตของคนไทยเราเลยก็ว่าได้นะครับ สำหรับการนวดกล้ามเนื้อเมื่อเกิดอาการปวดขึ้น ซึ่งการนวดไม่ใช่ไม่ดีนะครับ เพียงแต่หากเราไปนวดในช่วงที่กล้ามเนื้ออักเสบอยู่ การนวดเนี่ยแหละจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ เกิดอาการบวม และปวดมากยิ่งขึ้นได้

เหตุที่การนวดในช่วงที่กล้ามเนื้ออักเสบแล้วทำให้อาการต่างๆแย่ลง เนื่องจากว่าระยะที่กล้ามเนื้ออักเสบนั้นเส้นเลือดฝอย เส้นใยกล้ามเนื้อภายในบางส่วนฉีกขาดทั้งในระดับ micro (เล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น) หรือระดับ macro (มองด้วยตาเปล่าได้) รวมทั้งร่างกายหลั่งสารอักเสบออกมา เพื่อให้เรารู้สึกเจ็บปวดจะได้หยุดใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้น แต่เมื่อเราไปกด บีบ นวดบริเวณที่อักเสบ จะทำให้เนื้อเยื่อรอบๆฉีกขาดเพิ่มมากขึ้น เป็นการขัดขวางกระบวนการฟื้นฟูของร่างกาย ระบบการไหลเวียนเลือดบริเวณนั้นแย่ลงจนเกิดภาวะบวมตามมา เนื่องจากมีเลือดคั่งค้างอยู่มากจากการที่เส้นเลือดฝอยบางส่วนฉีกขาด

นอกจากการนวด การทายาที่มีฤทธิ์ร้อนก็ทำให้บวมมากขึ้นได้เช่นกัน เพราะความร้อนจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวจนเกิดเลือดสะสมบริเวณที่อับเสบเพิ่มมากขึ้น แต่เส้นเลือดฝอยบางส่วนฉีกขาดไปจึงไม่สามารถลำเลียงเลือดได้ดี ทำให้เกิดอาการบวมตามมาในที่สุดนั่นเองครับ

ภาพเปรียบเทียบระหว่างข้างที่อักเสบ บวม กับข้างปกติ

วิธีที่เหมาะสมที่สุดหากเกิดอาการอักเสบ เช่น ข้อเท้าแพลง หรือชํ้าจากโดนของแข็งกระแทกใส่คือ การพักแล้วหยุดใช้งานกล้ามเนื้อที่อักเสบชั่วคราว จากนั้นให้นำนํ้าแข็งมาประคบ 5-10 นาทีต่อครั้ง เพราะความเย็นจะช่วยลดการหลั่งสารอักเสบผู้ป่วยจะรู้สึกปวดน้อยลง และช่วยลดบวมได้

วิธีการสังเกตุว่ามีภาวะกล้ามเนื้ออักเสบข้ออักเสบหรือไม่นั้น จะมีจุดสังเกตุอยู่ 4 อย่างด้วยกันคือ 1) ปวด 2) บวม 3) แดง และ 4) ร้อน หากมีครบ 3 ใน 4 นี้แสดงว่าเรามีภาวะกล้ามเนื้ออักเสบอยู่ครับ ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าระยะอักเสบจะหายไป โดยเฉลี่ยแล้วจะประมาณ 3-7 วันครับ ขึ้นอยู่ความรุนแรงของจุดที่อักเสบครับผม

แต่โดยสรุปแล้ว หากยังมีอาการปวด บวม แดง ร้อนอยู่ละก็ควรหลีกเลี่ยงการนวด การกด หรือการดัดข้อในทุกกรณี แล้วพักใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้น จากนั้นนำนํ้าแข็งมาประคบตรงจุดที่อักเสบจะเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุดในระยะนี้ครับ แต่ทั้งนี้การรักษาด้วยความเย็นก็มีข้อยกเว้นกับบางโรคนะครับ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์ เพราะความเย็นจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดเพิ่มมากขึ้นได้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเก๊าท์ได้ใน เก๊าท์ หายได้หากรักษาอย่างถูกวิธี)

เครดิตภาพ
- http://www.whathealth.com/gout/picture-3.html
- http://www.webmd.com/women/ss/slideshow-what-is-inflammation

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ทำไมกล้ามเนื้อฝ่อลีบได้ หลังจากใส่เฝือกนาน?


ใครที่เคยใส่เฝือกเป็นเวลานานจากอุบัติเหตุหรือผ่าตัดใดๆก็ตามจนครบกำหนดถอดเฝือกออก สิ่งแรกที่เราสังเกตุเห็นได้ชัดเลยก็คือ "เฮ้ย!ทำไมเนื้อมันลีบลง(วะ)เนี่ย" แล้วทำไมกล้ามเนื้อถึงฝ่อลีบได้ละ? เรามีคำตอบครับ

สาเหตุนั้นเกิดจากการที่กล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งานครับ เมื่อกล้ามเนื้อไม่ได้ถูกใช้งานเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายส่งเม็ดเลือดขาวไปสลายเส้นใยมัดกล้ามเนื้อที่ไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากเป็นธรรมชาติของร่างกายเองครับที่มองว่าถ้าส่วนไหนของร่างกายไม่ได้ใช้งาน ก็จำเป็นต้องสลายออกไป เพื่อลดมวลกล้ามเนื้อ ร่างกายจะได้ส่งสารอาหารไปที่กล้ามเนื้อมัดนั้นน้อยลง

ทีนี้คงสงสัยกันใช่มั้ยครับว่า แล้วทำไมต้องลดมวลกล้ามเนื้อลงด้วยละ? อันนี้อธิบายให้เข้าใจง่ายๆก็ประมาณว่า "ก็ในเมื่อกล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งานอะไร แต่ยังคงได้รับสารอาหารตามปกติมันดูสิ้นเปลืองเกินไปหน่อยมั้ย ฉะนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองพลังงานและสารอาหารกับอวัยวะที่ไม่ได้ใช้งานอะไร ก็ปรับลดมวลกล้ามเนื้อมันซะเลย" แต่เราก็ไม่ต้องตกใจไปว่าหากกล้ามเนื้อฝ่อแล้วจะฝ่ออย่างถาวร หากเรากลับมาออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นตามปกติ และทานอาหารที่มีโปรตีนสูง สุดท้ายมวลกล้ามเนื้อที่ฝ่อลีบก็จะกลับมาเป็นปกติดังเดิมได้ครับผม

สรุปสั้นๆ หากไม่ใช้งานก็จงฝ่อไปเสีย และสมองเองก็เช่นกัน

เครดิตภาพ
- https://www.youtube.com/watch?v=TV_QRwdSxLE

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

อย่าใช้มือยันพื้นตอนล้ม ถ้าไม่อยากให้ข้อมือหัก


กระดูกข้อมือหัก (colles fracture)

กระดูกข้อมือหัก จริงๆแล้วข้อมือมันไม่ได้หักจริงๆหรอกครับ ส่วนที่หักนั่นคือ ส่วนปลายของกระดูกท่อนแขนที่มีชื่อว่ากระดูก radius (เรเดียส) เพราะที่ส่วนปลายของกระดูก radius จะเป็นลักษณะปุ่มนูนยื่นออกมา เมื่อเราล้มแล้วใช้มือยันพื้นจะทำให้ปุ่นนูนส่วนนี้รับแรงกระแทกเต็มๆจนหักในที่สุด โดยส่วนมากมักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เพราะมีภาวะกระดูกพรุนและกระดูกบางร่วมด้วย

ภาพแสดงกระดูกท่อนแขน radius และ ulna

อาการของของ colles fracture

- ข้อมือจะบวม แดงขึ้นมา และเมื่อปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งทำให้ข้อมือบวมมากขึ้นเรื่อยๆ
- ปวดที่ข้อมือ และปวดมากขึ้นเมื่อพยายามเคลื่อนไหวมือ
- ไม่สามารถขยับข้อมือได้เต็มที่
- ใช้มือจับบริเวณข้อมือจะรู้สึกว่าข้อมืออุ่นขึ้นเมื่อเทียบกับข้างปกติ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะข้อมือหัก

- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน กระดูกบาง
- ผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนจะทำให้มวลกระดูกลดน้อยลง
- มีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการล้มง่าย เช่น พื้นลื่น หรือชอบปั่นจักรยาน ในกรณีที่ปั่นจักรยานแล้วล้มห้ามใช้มือยันพื้นนะครับ แต่ให้เอามือจับแฮนด์ไว้ตามปกติ เพื่อให้แฮนด์เป็นตัวกระแทกพื้นแทนที่จะใช้มือ
- กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ไม่ค่ีอยได้ออกกำลังกาย

การรักษาเมื่อรู้สึกว่าข้อมือหัก

การรักษาในเบื้องต้น ให้นำวัสดุที่มีความแข็งแรง เช่น ไม้ หรือเหล็กมาดามบริเวณข้อมือไว้เพื่อไม่ให้กระดูกหักเพิ่มมากขึ้น แล้วนำนํ้าแข็งประคบเพื่อลดปวดลดบวม และห้ามนวด ทายาที่มีฤทธิ์ร้อน หรือประคบนํ้าอุ่นโดยเด็ดขาดนะครับ มิเช่นนั้นจะทำให้ข้อบวมและอักเสบเพิ่มมากขึ้น

การรักษาโดยแพทย์ เบื้องต้นแพทย์จะ X-ray กระดูกข้อมือดูก่อนครับว่า กระดูกหักรุนแรงมากแค่ไหน จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่ หรือแค่ใส่เฝือกอ่อนก็เพียงพอแล้ว ซึ่งการรักษาจะแบ่งตามความรุนแรงได้ 3 แบบนะครับ

1) ไม่ต้องผ่าตัด เพียงแค่ดึงกระดูกให้เข้าที่แล้วใส่เฝือกเพื่อไม่ให้กระดูกเคลื่อน
2) จัดกระดูกให้เข้าที่ แล้วใช้ลวดเสียบกระดูกให้อยู่ในสภาพที่ต้องการแล้วเข้าเฝือก
3) การผ่าตัดเพื่อจัดกระดูกให้เข้าที่ พร้อมกับดามด้วยโลหะ

ภาพ X-ray แสดงปลายกระดูก radius ที่หัก

การดูแลตนเองในขณะใส่เฝือก

- ขณะนอนควรยกแขนข้างที่ใส่เฝือกให้สูงกว่าหัวใจ เพื่อป้องกันไม่ให้แขนบวม
- หมั่นขยับข้อมือ กำมือ เหยียดมือเป็นประจำแม้ว่าจะใส่เฝือกอยู่ก็ตาม เพื่อป้องกันการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อและป้องกันการเกิดข้อติดแข็ง แล้วที่สำคัญก็คือ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค shoulder hand syndrome ตามมาได้ ใครที่ใส่เฝือกหรือมีญาติเป็นอัมพาตอยู่ควรรู้จักโรคไว้ให้ดี เพราะเป็นโรคที่มาคู่กันเลยละครับ (รายละเอียดโรค shoulder hand syndrome)
- อย่าให้นํ้าเข้าไปในเฝือก เพราะอาจทำให้แผลเปื่อย เน่าได้
- หากมีอาการปวดที่ข้อมือ ใช้ ice pack ประคบบริเวณที่ปวดผ่านเฝือก เพื่อให้ไอเย็นช่วยลดปวด แต่ไม่ควรใช้นํ้าแข็งเพราะนํ้าแข็งที่ละลายอาจทำให้เกิดหยดนํ้าซึมเข้าไปในเฝือกจนแผลเปื่อยได้

หลังจากถอดเฝือกแล้วควรทำอย่างไรต่อ?

โดยส่วนใหญ่ที่พบเจอผู้ป่วยมา มักเข้าใจว่าถิดเฝือกเสร็จแล้ว แผลหายแล้ว กระดูกเชื่อมติดดีแล้วก็จบกัน แต่ยังครับผม เพราะผู้ป่วยที่ใส่เฝือกเป็นเวลานานทุกคนจะพบปัญหาเหมือนกันหมดคือ ภาวะข้อติดแข็ง ซึ่งต้องเข้าพบนักกายภาพต่อไป เพื่อดัดข้อที่ติดแข็งให้กลับมาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ และลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆข้อด้วย มิเช่นนั้น ผู้ป่วยอาจใช้งานข้อมือได้ไม่เจ็มที่และเกิดภาวะข้อมือติดแข็งอย่างถาวรนั่นเองครับผม ซึ่งกระบวนการทำกายภาพเฉลี่ยแล้วประมาณ 1 เดือนนะครับ

เครดิตภาพ
- http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/broken-wrist/multimedia/colles-fracture/img-20006712
- https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/imagepages/9205.htm
- https://www.studyblue.com/notes/note/n/common-fractures/deck/14272321


เป็นแผลแล้ว ทำไมต้องคันด้วย อาการคันที่เกิดขึ้นมันเกิดจากอะไร?


เชื่อว่าทุกคนเกิดมาแล้วอย่างน้อยต้องมีแผลเกิดขึ้นกับร่างกายของเราไม่ว่าจะเป็นแผลเล็กหรือแผลใหญ่ก็ตาม เมื่อเป็นแผลแล้วเราก็รู้สึกเจ็บอันนี้แน่นอนอยู่แล้ว แต่หลังจากนั้นนี่สิทำไมเราถึงรู้สึกคันที่แผลจัง ทุกสาเหตุล้วนมีที่มา ทุกคำถามเรามีคำตอบครับ

อาการคันที่แผลมีสาเหตุมาจากอะไร?

สาเหตุนั้นเกิดจากกระบวนการสมานแผลของร่างกายครับ ซึ่งไปกระตุ้นเส้นประสาทรับความรู้สึกที่ผิวหนังของร่างกายเรา โดยที่ผิวหนังของเรามีเส้นประสาทรับความรู้สึกที่หลายหลาย เช่น ความรู้สึกร้อน-เย็น รับความรู้สึกกด รับความรู้สึกเจ็บ รับความรู้สึกเบา รับความรู้สึกกระแทก รับความรู้สึกเจ็บ เป็นต้น

ซึ่งในขณะที่เกิดกระบวนการรักษาบาดแผลนี่แหละครับ เซลล์ผิวหนังที่ขอบแผลจะค่อยๆแบ่งตัวออกมาเพื่อให้ปากแผลปิดสนิท ระหว่างนั้นเซลล์จะสร้างเส้นใยเชื่อมแล้วดึงให้ขอบแผลมาชิดติดกัน ผลจากแรงดึงนี่แหละครับจะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกคัน ทำให้เรารู้สึกคันทุกครั้งที่เกิดแผลขึ้นนั่นเองครับผม

เครดิตภาพ
- http://www.sciencefocus.com/qa/why-does-it-feel-good-scratch

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

อาการปวดหลอนในผู้พิการ ทั้งที่แขนขาดแล้ว แต่ทำไมยังรู้สึกว่ามีแขนอยู่?


อาการปวดหลอน (phantom limb syndrome)

เมื่อพูดถึงอาการปวดหลอน (phantom pain) เราจะทราบกันดีว่ามักเกิดในบุคคลที่สูญเสียอวัยวะไป ไม่ว่าจะเสียจากอวัยวะจากการผ่าตัด จากอุบัติเหตุ จากโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวาน ติดเชื้อ เป็นต้น แต่เคยสงสัยกันมั้ยครับว่า ทั้งๆที่แขน-ขาขาดไปแล้วทำไมเราถึงยังถึงรู้สึกปวดอวัยวะส่วนนนั้นๆอยู่ เรามีคำอธิบายง่ายๆมาฝากครับ

นอกจากอวัยวะแขน-ขาแล้วอาการปวดหลอนสามารถเกิดขึ้นได้ที่อวัยวะอื่นๆได้ด้วยเช่นเดียวกันครับ เช่น ที่เต้านม มดลูก อวัยวะเพศ หรือแม้กระทั่งลำไส้เอง สาเหตุที่เรายังคงรู้สึกว่ามีอวัยวะส่วนนั้นเกิดจากสมองส่วน thalamus และ cerebral cortex ที่ทำหน้าที่จดจำอวัยวะต่างๆของเรามีรูปร่างและทำหน้าที่อะไร เมื่อสูญเสียอวัยวะส่วนนั้นๆไปแล้ว แต่สมองยังคงเข้าใจว่าเรายังมีอวัยวะส่วนนั้นอยู่ทำให้มีความรู้สึกว่าเรากำลังขยับอวัยวะได้ หรือรู้สึกปวด เป็นตะคริว ชา ร่วมด้วยก็ได้ครับ

สาเหตุที่เกิดขึ้นนอกจากเกิดที่สมองแล้วยังเกิดจากเส้นประสาทส่วนปลายของอวัยวะที่ถูกตัดขาดไปยังคงส่งกระแสประสาทตามปกติ เพราะเส้นประสาทเองก็มีหน่วยความจำเล็กๆอยู่ด้วย ทำให้เรารู้สึกว่ามีอวัยวะอยู่ตามเดิม และอีก 1 สาเหตุก็อาจเกิดจากปลายประสาทมีการงอกขึ้นมาใหม่ ซึ่งเส้นประสาทที่งอกมาใหม่จะมีการรับความรู้สึกที่ไวกว่าปกติมากๆ เพียงแค่ลมพัดผ่านอวัยวะที่ถูกตัดไปก็รู้สึกปวดขึ้นมาได้แล้วละครับ ผมอธิบายกลไกการเกิดอาการปวดจากเส้นประสาทที่งอกขึ้นมาใหม่โดยละเอียดไว้ในบทความนี้แล้วครับ (ผ่าเข่าครบปี แต่ทำไมยังเจ็บเข่าอยู่ทั้งที่แผลหายแล้วละ)

ลักษณะอาการปวดหลอน (phantom pain) เป็นอย่างไร

- ยังคงรู้สึกว่ามีแขน-ขาอยู่เหมือนเดิม ทั้งๆที่รู้สึกตัวเป็นอย่างดี
- รู้สึกว่าแขน-ขาขยับได้ เช่น ขณะที่เราออกไปวิ่งจ๊อกกิ้ง ขณะวิ่งเราต้องแกว่งแขนเป็นจังหวะ ในกรณีที่ถูกตัดแขนขวาไปแล้ว เราจะรู้สึกว่าแขนข้างขวาของเรากำลังแกว่งตามจังหวะการวิ่งร่วมด้วย
- รู้สึกแขน-ขาสั้นลง
- รู้สึกเป็นตะคริว ร้อน เย็นบริเวณอวัยวะที่ถูกตัดไป
- อาการปวดหลอนจะเกิดขึ้นทันทีหลังจากฟื้นจากยาสลบ ซึ่งอาการปวดหลอนจะเกิดขึ้นเป็นปีๆหรือหลายสิบปีเลยก็ได้ครับ อาการนั้นจะไม่หายไปในทันทีแต่จะค่อยๆทุเลาลงมากกว่าครับ

การบรรเทาอาการปวดหลอน

- ทำความเข้าใจทั้งก่อนและหลังสูญเสียอวัยวะว่า หลังจากตัดอวัยวะออกไปจะต้องเกิดอาการปวดหลอนแน่นอน เพื่อไม่ให้เกิดความวิตก เครียดซึ่งจะทำให้อาการปวดหลอนรุนแรงขึ้นได้ และที่สำคัญก็คือ อาการปวดหลอนนั้นหายได้เองไม่ต้องรักษาก็ได้ครับ
- การทานยาลดปวดประสาท 
- การกระตุ้นไฟฟ้า (TENs) ที่ส่วนปลายของอวัยวะที่ขาดไป เพื่อลดการส่งสัญญาณประสาททำให้อาการปวด หรือความรู้สึกของอวัยวะที่ขาดไปลดน้อยลง
- การนวดการสัมผัสบริเวณที่ขาดบ่อยๆ เพื่อลดการหดรั้งของกล้ามเนื้อและให้แผลเป็นอ่อนนุ่มลง
- การกระตุ้นการสัมผัสโดยการเคาะ การลูบ การถูโดยใช้วัสดุที่แตกต่างกัน เช่น ใช้สำลี ใช้ผ้าที่มีพื้นผิวหยาบ-นุ่มสลับกัน ฟองนํ้า เป็นต้น เพื่อให้เกิดการรับรู้ความรู้สึกใหม่ๆหลังจากที่เส้นประสาทส่วนปลายบางส่วนฉีกขาดไป
- การทำ biofeedback หรือการสะท้อนกลับของสมอง โดยการเคลื่อนไหวอวัยวะที่สูญเสียไปหน้ากระจกแล้วตาก็มองอวัยวะนั้นร่วมด้วย เพื่อเป็นการป้อนข้อมูลความจริงใหม่ๆให้แก่สมอง เพื่อให้สมองลบภาพความทรงจำเก่าๆว่ายังมีอวัยวะส่วนนั้นอยู่ อาการปวดรวมทั้งความรู้สึกเก่าๆก็จะค่อยๆลดลง (การฝึกนี้สำคัญมาก)
- การแช่นํ้าอุ่นก็เป็นการลดปวดที่ได้ผลดีไม่แพ้กัน เพราะจะช่วยลดความไวของสัญญาณประสาททำให้อาการปวดลดลงได้เช่นกัน

อย่างที่ได้กล่าวไป ถึงแม้จะพยายามลดอาการปวดหลอนด้วยสาระพัดวิธีแล้ว แต่อาการปวดก็ยังไม่หายสักที ก็ไม่ต้องตื่นตระหนกไปครับ เพราะอาการดังกล่าวใช้เวลาร่วมปีกว่าจะหายไป ที่เราต้องทำก็มีเพียงแค่เข้าใจกับอาการที่เกิดขึ้นและค่อยๆปรับตัวนะครับ

เครดิตภาพ
- http://choosenopain.com/condition/phantom-limb-pain/

ใส่รองเท้าปลายแหลมบ่อยๆ เจอแน่กับโรคนี้


โรค Hallux valgus (bunion) หรือภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป

โรค Hallux valgus เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของนิ้วหัวแม่เเท้าที่เกิดการผิดรูป โดยนิ้วหัวแม่เท้าเกหรือบิดโค้งเข้าหานิ้วชี้มากเกินไป จนทำให้กระดูกของนิ้วหัวแม่เท้าโป่งนูนออกมา ปลายเท้ามีลักษณะกว้างมากขึ้น ในกรณีที่เป็นมากๆนิ้วโป้งเท้าอาจเกทับหรืออยู่ใต้นิ้วเท้าอื่นๆ การเอียงของนิ้วเท้าทำให้เส้นเอ็นที่อยู่รอบๆนิ้วเท้าถูกดึงยืดมากเกินไปเป็นผลให้เส้นเอ็นขาดความมั่นคง นิ้วเท้าจึงเกิดการผิดรูปได้ง่ายมากขึ้นไปอีก ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการปวดที่โคนนิ้วหัวแม่เท้า การรับแรงและส่งแรงในขณะที่เราเดินก้าวเท้าพ้นพื้นผิดปกติไป และผลเสียในระยะยาวแล้วอาจทำให้ปวดเข่า แล้วเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตามมาได้เช่นกัน

ภาพเปรียบเทียบนิ้วหัวแม่เท้าปกติ และนิ้วหัวแม่เท้าเก

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป

- โดยมากมักเกิดผู้หญิงที่ใส่รองเท้าปลายแหลม รองเท้าส้นสูง รองเท้าที่คับเกินไปเป็นเวลานานร่วมปี (พบเป็นส่วนมาก)
- เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
- เกิดจากโครงสร้างเท้าผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคเท้าแบน นิ้วหัวแม่เท้ายาวกว่าปกติ ปัจจัยเหล่านี้ส่งเสริมเกิดโรค Hallux valgus ได้เช่นกัน
- ผู้ป่วยมีความผิดปกติต่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น หรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อ เช่น โรคเก๊าส์ โรครูมาตอยด์ เป็นต้น

ลักษณะอาการของโรค Hallux valgus

- นิ้วหัวแม่เท้าบิดเกเข้าหานิ้วที่ 2 
- ลักษณะปลายเท้าแบนกว้างมากขึ้น
- โคนนิ้วหัวแม่เท้านูนออกมาอย่างเห็นได้ชัด
- หากเป็นมากๆนิ้วหัวแม่เท้าอาจเกไปทับนิ้วที่ 2 หรืออยู่ใต้นิ้วที่ 2 เลยก็ได้
- พบตาปลาที่โคนนิ้วเท้า จากที่โคนนิ้วเท้านูนออกมามากจนไปเสียดสีกับขอบรองเท้า
- เกิดอาการปวดที่นิ้วหัวแม่เท้า เมื่อยืนลงนํ้าหนัก เดิน วิ่ง
- โคนนิ้วเท้าบวมแดง
- ในกรณีที่นิ้วเท้าเกมานานอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่า และเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้นอนาคต

การรักษาโรคหัวแม่เท้าเอียงผิดรูป

- สิ่งแรกที่ต้องทำเลยนะครับคือ เลิกใส่รองเท้าปลายแหลม รองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าที่คับเกินไปให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นผลการรักษาจะไม่คืบหน้าเลย 
- ใส่รองเท้าที่มีขนาดเหมาะสม พอดีกับฝ่าเท้า และพื้นรองเท้านุ่มพอดี
- การทำกายภาพบำบัดดัดดึงข้อให้กลับมาอยู่ในแนวปกติได้มากที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ควรใช้กายอุปกรณ์เสริมร่วมด้วย
- การติด kinesio tape หรือตัวเทปธรรมดา เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วหัวแม่เท้าเกมากขึ้นโดยนักกายภาพบำบัด

การติดเทปในผู้ป่วยที่เป็นนิ้วหัวแม่เท้าเก

- การใส่อุปกรณ์ประคองนิ้วเท้า เช่น เจลคั่นนิ้วเท้า (gel toe separator) หรืออุปกรณ์ป้องกันนิ้วโป้งเก (Hallux valgus splint)

อุปกรณ์ Hallux valgus splint
เจลกั้นนิ้วหัวแม่เท้าแต่ละแบบ

- การแช่นํ้าอุ่น โดยให้นํ้าอุ่นสูงถึงข้อเท้า ถึงแม้การแช่นํ้าอุ่นจะไม่ช่วยให้นิ้วหัวแม่เท้ากลับมาสู่แนวปกติได้โดยตรง แต่ช่วยลดปวดและให้เนื้อเยื่อรอบข้อต่ออ่อนตัวลง ทำให้ขณะดัดข้อนิ้วไม่เกิดอาการปวดมากนั่นเองครับ 
- ในกรณีที่นิ้วหัวแม่เท้าอักเสบ บวม แดง ร้อน ควรหลีกเลี่ยงการแช่นํ้าอุ่นเพราะมันจะทำให้อักเสบ บวมมากขึ้นได้ แต่ให้เปลี่ยนไปใช้การประคบนํ้าแข็งแทนครับ จนกว่าอาการบวม แดงจะหายไปจึงแชานํ้าอุ่นได้ตามปกติ
- ใช้กายอุปกรณ์ช่วยเสริมนั่นคือ flexible bunion splint เพื่อดึงนิ้วหัวแม่เท้าที่เกให้กลับมาอยู่ในแนวปกติ ซึ่งใช้ได้ผลดีกับนิ้วหัวแม่เท้าที่เกออกมาเล็กน้อยถึงปานกลาง
- และในท้ายที่สุดหากทำทุกขั้นตอนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วไม่เห็นผลใดๆ ก็เข้ารับการผ่าตัดครับผม

เครดิตภาพ
- http://www.amazon.com/White-Flag-Reversible-Separators-Stretchers/dp/B01AS4Z0IE
- http://www.fishpond.co.nz/Health/Stop-bunion-pain-with-award-winning-flexible-bunion-splint-engineered-and-made-Germany-Designed-to-be-so-comfortable-youll-wear-it-more-often-Bunion-Aid-Hinged-Splint-for-Bunions/9999105972835
- https://www.pinterest.com/pin/154670568430543605/
- https://www.vitamall.com/p/VM1001631480/White-Flag/White-Flag-Foot-Pain-Relief-5-Piece-Bundle-for-Bunions-Includes-1-Reversible-Flexible-Bunion-Splint-2-Toe-Separators-and-2-Gel-Stretchers-ON-SALE-Dont-miss-this-limited-time-offer
- https://www.youtube.com/watch?v=Kdu5b9jjfAg
- https://www.youtube.com/watch?v=nGpOczMR05M
- http://www.hallux-valgus-pied.com/hallux-valgus.php

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

JCI JCI JCI คืออะไร? ทำไมโรงบาลเอกชนถึงชอบโปรโมทว่ามี JCI กันนัก ผ่านประสบการณ์สุดเปิ่นของผม


JCI คืออะไร?

JCI นั้นย่อมาจากคำว่า Joint Commission International ซึ่งเป็นองค์กรอิสระจากอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำหน้าที่รับรองคุณภาพสถานพยาบาลว่าได้มาตรฐาน มีคุณภาพดีอะไรทำนองนี้ ถ้าให้เปรียบเทียบก็คล้ายๆกับมาตรฐาน ISO ตามโรงงานนั่นแหละครับ 

ทำไมโรงบาลเอกชนถึงอยากมี JCI กันนัก?

นั่นก็เพราะว่ามาตรฐาน JCI เป็นที่ยอมรับและรู้จักกันดีของชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวยุโรปและอเมริกา หากโรงบาลไหนผ่านมาตรฐาน JCI ได้ จะสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างเชื่อมั่นแก่ผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาภายในโรงบาล สิ่งเหล่านี้จะช่วยดึงผู้ป่วยต่างชาติให้เข้ารับการรักษาในโรงบาลที่มี JCI มากกว่าโรงบาลที่ไม่มีนะครับ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้แก่โรงบาลเอกชนเวลาออกไปโรดโชว์โรงบาลตัวเองตามต่างประเทศอีกด้วยนะครับ (ที่โรงบาลเอกชนใหญ่ๆผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดแถมยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆก็เนื่องมาจากมีลูกค้าจากต่างชาติเข้ามาใช้บริการเนี่ยแหละครับ พูดง่ายๆก็คือเปิดไว้รองรับผู้ป่วยจากต่างชาตินั่นแหละ)

ฉะนั้นเราจึงเห็นโรงเอกชนชื่อดังหลายแห่งพยายามโปรโมท โฆษณา ติดป้ายบิลบอร์ดใหญ่ๆว่า โรงบาลฉ้านมี JCI แล้วนะโว้ย แล้วก็พ่วงด้วยโลโก้ของ JCI ใหญ่ๆแปะไว้ข้างๆอย่างที่เราเห็นกันจนเป็นเรื่องปกตินั่นแหละครับ แถมยังช่วยให้โรงบาลสามารถอัพราคาได้อย่างสบายๆอีกด้วย
โลโก้ของ JCI

ประสบการณ์สุดระทึก เมื่อเจอฝรั่งมาตรวจ JCI ที่โรงบาล

หลังจากที่เรียนจบผมได้เข้าทำงานที่โรงบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง ทำงานได้ 2 เดือนก็รู้สึกว่าทำไมพวกหัวหน้าแผนกหัวหน้างานต่างๆมันดูร้อนรุ่มกันจัง(วะ) ปกติ 5-6 โมงเย็นก็กลับบ้านกันแล้ว แต่นี่เห็นอยู่กันจน 3-4 ทุ่มกว่าจะกลับบ้านกันจะขยันอะไรขนาดน้านนนน อีกไม่กี่วันถัดมาทางโรงบาลได้ก็ติดประกาศเชิญบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนเข้ามาฟังบรรยายเกี่ยวกับการตรวจมาตรฐาน JCI ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักมาตรฐาน JCI แล้วก็ดูพวกหมอๆจนถึงผู้บริหารออกมาพูดในเชิงว่า "มาตรฐาน JCI สำคัญกับโรงบาลเรามากเลยนะเว้ย ถ้าเราไม่มีมาตรฐานนี้ละก็แย่แน่ๆ" อะไรทำนองนี้ ผมก็ได้แต่นั่งเกาหัวแกรกๆว่า มันจะอะไรกันนักกันหนา! จนถึงช่วงท้ายๆของการบรรยายนั่นแหละครับ ถึงได้รู้ว่าถ้าโรงบาลเราไม่ผ่านมาตรฐาน JCI ละก็จะทำให้ลูกค้าต่างชาติไม่เข้ามาใช้บริการที่โรงบาลแห่งนี้ เพราะที่โรงบาลนี้ยังมีเงินหมุนเวียนอยู่ได้สบายๆก็เนื่องจากมีคนไข้ชาวต่างชาติมารักษากว่า 60% โอ้แม่จ้าว 

ผมจึงพอสรุปออกมาทั้งหมดทั้งมวลก็ได้ใจความประมาณว่า ถ้าไม่ผ่าน JCI ละก็โรงบาลนี้เจ๊งแน่ๆ เพราะไม่มีชาวต่างชาติมาใช้บริการ แล้วเมื่อพูดถึงชาวต่างชาติก็ไม่ใช่ชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยแล้วสะดุดหกล้มต้องเข้าโรงบาลหรอกนะครับ แต่เป็นการดึงชาวต่างชาติจากประเทศบ้านเกิดของเค้าให้มารักษาในเมืองไทยแล้วอยู่กันเป็นเดือนๆ ส่วนมากจะเป็นเคสที่ต้องรักษาระยะยาว เช่น เคสผู้สูงอายุ ป่วยอัมพาต ป่วยจากโรคหลอกเลือดสมอง หรือเคสเด็กที่เป็นโรคเกี่ยวกับพัฒนาการสมอง เป็นต้น

แล้วสำหรับเด็กใหม่อย่างผมคงไม่ต้องไปยุ่งวุ่นวายกับงานพวกนี้ก็ได้ใช่มั้ย เพราะมันเป็นงานของฝ่ายบริหาร แต่เปล่าเล้ย ผมเองก็โดนลากให้มาช่วยเคลียประวัติผู้ป่วยที่กองสูงจนท่วมหัว ให้มาช่วยดูว่าประวัติผู้ป่วยที่บันทึกไปนั้นเขียนถูกต้องมั้ย มีอะไรตกหล่นมั้ย สะกดคำถูกหรือเปล่า(จะตรวจทำม๊ายฝรั่งเค้าอ่านภาษาไทยไม่ออก) แล้วประวัติที่่ว่านี่ย้อนหลังไปร่วมๆปีเลยนะ รักษาผู้ป่วยเสร็จต้องมานั่งตรวจเช็คประวัติผู้ป่วยต่ออีก ช่วงนั้นผมกับเพื่อนๆจบใหม่ด้วยกันนี่บ่นงุ้งงิ๊งๆเป็นหมีกินผึ้งกันเลยทีเดียว 

และเมื่อถึงวันที่เจ้าหน้าที่จากองค์กร JCI มาตรวจที่โรงบาลจริงๆ แว็บแรกตั้งแต่เดินเข้าประตูโรงบาลมาสังเกตุได้เลยว่า คนในโรงบาลทำไมมันดูน้อยกว่าปกติวะ? เจ้าหน้าที่พยาบาลที่เห็นบ่อยๆก็หายไป เห็นแต่คนที่ดูแก่ๆหน่อยมานั่งแทน ส่วนพวกหน้าใหม่หายหน้าหายตาไปกันหมด จนผมเดินเข้าไปในแผนกนั่นแหละครับ พวกๆพี่เดินมาสะกิดแล้วว่า "วันนี้มีคนมาตรวจ ถ้าไม่มีธุระจริงๆอย่าออกมานอกแผนกนะ" เอาแล้วไง เอาแล้วไง ได้เวลาหูไวตาไวกันแล้ว อารมณ์เหมือนเราเป็นผู้ร้ายที่ต้องคอยหลบหลีกอยู่ตลอด แล้วทุกๆชั่วโมงก็มีเจ้าหน้าที่จากชั้นอื่นๆโทรมารายงานที่แผนกผมว่า "ตอนนี้เค้า(เจ้าหน้าที่ JCI) อยู่ชั้นนี้ๆ อีกไม่กี่ชั่วโมงจะมาแผนกเราให้เตรียมพร้อมตลอดนะ(เตรียมหนี)" พอเจ้าหน้าที่จาก JCI เดินมาตรวจที่แผนกเราจริงๆ สิ่งที่ผมกับเพื่อนๆชุดใหม่ทุกคนต้องทำก็คือ การซ้อนและหนีครับ เฮ้ย!โตขนาดนี้แล้วยังต้องมานั่งเล่นซ่อนแอบกันอีก แล้วจะแอบในห้องพักพนักงานก็ไม่ได้นะต้องไปแอบในห้องตรวจรักษาผู้ป่วย เพราะทางเจ้าหน้าที่เค้าจะเดินดูไปทั่วทั้งหมดไม่เว้นแม้แต่ห้องพักพนักงาน แต่จะไม่เข้าไปดูห้องตรวจหากมันปิดอยู่ แล้วนั่นแหละเป็นห้องที่มกับเพื่อนๆไปยืนอัดกันเป็นปลากระป๋องอยู่ในนั้น คอยเงี่ยหูฟังว่า ไปกันยังน้อ อึดอัดจะแย่แล้วน้อ เป็นอะไรที่ระทึกใจดีจริงๆ เหตุที่ต้องคอยแอบเพราะหากเราไปเจอเจ้าหน้าที่จาก JCI แล้วเค้าเรียกถามนู่นนี่นั่นแล้วตอบไม่ได้ มันอาจจะมีผลต่อการประเมินนั่นเองครับ

เมื่อเจ้าหน้าที่ประเมินเสร็จเรียบร้อย ทุกอย่างก็เข้าสู่โหมดเดิม คือ ดูวุ่นวายเหมือนเดิม อุปกรณ์ก็วางไว้ตามทางเดินให้ผมเดินสะดุดเล่นเหมือนเดิม ประวัติก็เขียนไม่เต็มเหมือนเดิม สรุปภาพรวมแล้วไม่ว่าจะโรงบาลรัฐหรือเอกชนก็เจอกระบวนการทำงานแบบไทยๆที่เรียกกันว่า "ผักชีโรยหน้า" ไม่เปลี่ยนแปลงละคร้าบบบ

เครดิตภาพ
- http://www.jointcommissioninternational.org/about/
- http://wildhunt.org/2016/04/healing-for-the-spiritpagan-hospital-chaplains.html

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหรอ? ไปว่ายนํ้าดูสิ อาการปวดหายไปแน่นอน


เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น  แค่ว่ายนํ้าก็หายปวดแล้ว

ได้อ่านหัวข้อแล้วหลายท่านคงสงสัยใช่มั้ยว่า เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นแล้วไปว่ายนํ้ามันทำให้อาการปวดหลังลดลงได้ไง?  จริงๆแล้วไม่ต้องถึงกับว่ายนํ้าหรอกครับ แค่ไปเดินโต๋เต๋ในนํ้าความสูงระดับอกก็ถือว่าโอเคแล้วละครับ  ส่วนระยะเวลที่ใช้ก็ 20-50 นาทีเลยครับ ขึ้นอยู่กับความพร้อม และความแข็งแรงของตัวผู้ป่วยเอง  หากผู้ป้วยร่างกายไม่แข็งแรงอาจจะเริ่มต้นให้ลงนํ้าเพียง 20 นาทีก่อนเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเหนื่อยจนเกินไป แล้วเมื่อแข็งแรงมากขึ้นก็ค่อยๆเพิ่มระยะเวลาการอยู่ในนํ้าให้นานขึ้นครับ

ทำไมการลงนํ้า หรือการว่ายนํ้าในสระทำให้อาการปวดของผู้ป่วยลดลง

นั่นก็เพราะว่าเป็นผลมาจาก"แรงดันนํ้า"ครับ อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นเกิดจาก ตัวเจลที่อยู่ในหมอนรองกระดูกมันปลิ้นออกมาทับเส้นประสาทที่อยู่ทางด้านหลัง เมื่อผู้ป่วยลงนํ้าที่มีความลึกมากขึ้น จะทำให้แรงดันนํ้าที่อยู่รอบๆตัวเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะความสูงระดับอก แรงดันนํ้าจะช่วยดันเจลที่ปลิ้นออกมาทับเส้นประสาทอยู่ให้กลับเข้าไปในหมอนรองกระดูกสันหลัง อาการปวดหลังของผู้ป่วยจึงเบาลง



นอกจากเรื่องของแรงดันนํ้าแล้ว ภายในนํ้ายังมี"แรงลอยตัว"ร่วมด้วย โดยจะสังเกตุได้ว่า ยิ่งเราลงนํ้าที่มีระดับความลึกมากเท่าไหร่ การลงนํ้าหนักที่เท้าทั้งสองข้างจะลดน้อยลงเท่านั้น เพราะแรงลอยตัวเนี่ยแหละครับที่ช่วยพยุงตัวเราให้ลอยขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่ปวดหลังมากจนเดินไม่ไหว ผู้ป่วยอัมพาตช่วงล่าง และผู้ป่วยกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงที่ต้องการฟื้นฟูเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อขาให้กลับมาแข็งแรงดังเดิม 

ทันทีที่เราลงนํ้าที่มีความลึกระดับอก เราจะรู้สึกว่าเดินลำบาก เดินได้ช้าลง หนืด เป็นต้น แต่สำหรับผู้ป่วยเหล่านี้ทันทีที่ลงนํ้าผู้ป่วยจะรู้สึกได้ทันทีว่าตัวเองกลับมายืนได้อีกครั้งแล้ว (เย้ เย้) ซึ่งช่วยสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี (กำลังใจนั้นสำคัญมากสำหรับผู้ป่วย) และที่สำคัญก็คือ ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวขาได้แม้จะมีกำลังกล้ามเนื้อน้อย (เพราะมีแรงลอยตัวของนํ้าอยู่) จึงถือว่าเป็นการเริ่มตันให้ผู้ป่วยได้ขยับข้อ ป้องกันภาวะข้อติดแข็งที่จะตามมาได้นั่นเองครับผม

วิธีการออกกำลังกายในนํ้า

ในรายที่กำลังกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง หรือปวดหลังมากจนเดินลำบากนั้น เราแค่พาผู้ป่วยลงไปยืนในนํ้าที่ความสูงระดับอกเฉยๆก่อนครับ ยังไม่ต้องทำอะไรมาก เพื่อให้แรงดันนํ้าดันเจลที่ปลิ้นออกมากลับเข้าที่จนอาการปวดของผู้ป่วยทุเลาลงจึงเริ่มขึ้นตอนที่ 2 ครับ

ขั้นที่ 2 ให้ผู้ป่วยเดินครับ โดยให้เดินเกาะขอบสระไปเรื่อยๆแล้วคอยบอกให้ผู้ป่วยเดินหลังตรง (ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นมักจะเดินก้มหลังเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวด) เมื่อผู้ป่วยเดินได้ดีแล้ว ให้ผู้ป่วยเดินร่วมกับเตะขาไปข้างหน้าสลับกัน เพื่อให้กล้ามเนื้อหลังคลายตัว และเสริมกำลังกล้ามเนื้อขาร่วมด้วยครับ

ขั้นที่ 3 ฝึกย่อเข่าในนํ้า ให้ผู้ป้วยยืนหลังชิดขอบสระ มือเท้าเอวแล้วย่อเข่าลง พยายามให้ผู้ป่วยหลังตรงตลอดนะครับ เพราะหากก้มหลังขณะออกกำลังอาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้ครัมผม

ขั้นที่ 4 ท่านี้ให้เอามือจับขอบสระ ลอยตัวในท่าควํ่า แล้วตีขา (ขยับเท้าขึ้นลงไปมาเหมือนตอนว่ายนํ้า) ซึ่งท่านี้จะช่วยเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อขาและหลัง แต่ท่านี้จะทำให้หลังแอ่นต้องคอยสังเกตุอาการอยู่ตลอดว่า อยู่ในท่านี้แล้วมีอาการปวดหลังหรือไม่ ถ้ามีควรยกเลิกครับ (การออกกำลังกายที่ดี ไม่ควรมีอาการปวดร่วมขณะออกกำลังนะครับ) 

ทุกๆท่าที่ผมแนะนำไปเป็นแค่ท่าพื้นฐานเท่านั้นนะครับ แต่ก็เพียงพอสำหรับการฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อและลดปวดได้ในผู้ป่วยที่เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และที่สำคัญที่สุดคือ ควรมีญาติๆหรือคนดูแลลงประกบตัวผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลาที่ลงนํ้านะครับ เหตุผลก็เพื่อความปลอดภัย เพราะเราไม่รู้ว่าผู้ป่วยอาจจะหมดแรง ขาพับ หรือเป็นตะคริวเมื่อไหร่ (โดยเฉพาะตะคริวนี่พบบ่อยเลยนะ) ปลอดภัยไว้ก่อนดีที่สุดครับผม

9 วิธีลดปวดหลัง จากหมอนรองกระดูกทับเส้นด้วยตัวเอง


เพิ่มเติม
- (คลิป VDO) 4 วิธีดึงหลังด้วยตัวเอง ไม่ต้องง้อเครื่อง traction
- บทความอธิบายโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท



-http://getactivelondon.com/page.asp?section=2713&sectionTitle=Aqua+Aerobics

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

(คลิป VDO) เทคนิตการดึงคอด้วยตนเองง่ายๆ ไม่ง้อเครื่อง traction


ถ้าเบื่อที่ต้องไปโรงบาลรอคิวหลายๆชั่วโมงเพื่อดึงคอจากเครื่อง traction ละก็ลองทำตามคลิปนี้ดูครับกับ "เทคนิคการดึงคอด้วยตนเอง" ซึ่งสามารถใช้ได้กับคนทั่วไปที่เมื่อยคอ ปวดคอจากโรคออฟฟิศ ซินโดรม หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยที่เป็นกระดูกคอเสื่อม เพื่อลดอาการปวดคอต่างๆครับ 
ลองฝึกกันดูนะครับ 


วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

(คลิป VDO) เสียงดังป๊อกแป๊กในข้อ เวลาหักนิ้วเกิดจากอะไร? เรามีคำตอบ


เสียงดังป๊อกแป๊กในข้อต่อ เวลาหักนิ้ว หักคอมันเกิดจากอะไร? 
แล้วอันตรายมั้ย? เรามีคำอธิบายในคลิปนี้เลยครับ
เชิญทัศนาได้เล้ย


วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ผ่าเข่าเป็นปีๆ แต่ทำไมยังเจ็บที่เข่าอยู่ ทั้งที่แผลหายแล้วได้ละ


ผ่าตัดเข่าครบปีแล้ว แต่ทำไมยังเจ็บเข่าได้ละ ทั้งที่แผลก็หายสนิทแล้วนะ?

อาการนี้หากใครไม่เคยโดนผ่าตัดมาก่อน (และหวังจะไม่โดนผ่าตัดด้วยนะ) คงยากจะนึกออกครับ แต่สำหรับใครที่เคยผ่าตัด โดยเฉพาะผ่าตัดที่เข่า ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อในโรคเข่าเสื่อม ผ่าตัดต่อเส้นเอ็นที่ฉีกขาด หรือผ่าตัดด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม แต่ผ่าตัดเป็นปีๆแล้วแท้ๆ แผลก็หายสนิทแล้วนี่ X-ray กระดูกก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ทำไมมันยังปวดกว้างๆที่เข่าอยู่ละ?

คำถามนี้เจอบ่อยครับ ซึ่งคาดว่าเกิดจากเส้นประสาทเล็กๆที่อยู่บริเวณเข่ามันฉีกขาดในขณะที่ทำการผ่าตัดครับ และเป็นเรื่องยากที่จะกรีดไม่ให้โดนเส้นประสาทเล็กๆเหล่านี้ (เพราะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นไง) แต่ผลเสียก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไร อาจจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณเข่าอ่อนแรงลงบ้าง การตอบสนองรับความรู้สึกช้าลงเล็กน้อย เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบในระยะแรกๆหลังผ่าตัดเท่านั้นละครับ แต่อาการปวดกว้างๆรอบๆเข่านี่สิที่จะตามหลอกหลอนกันเป็นปีๆ 

ทำไมเส้นประสาทเล็กๆที่ฉีกขาดถึงทำให้ปวดได้เป็นปีๆ?

นั่นก็เพราะว่าร่างกายของเรามีการซ่อมแซมตัวมันเองอยู่ตลอดเวลาครับ ไม่ว่าจะเป็นกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น รวมถึงเส้นประสาท ซึ่งเส้นประสาทนี่นแหละครับที่ใช้เวลานานสุดในการฟื้นตัว ว่ากันว่า เส้นประสาทที่ถูกตัดขาดไปมันจะงอกใหม่วันละ 1 มิลลิเมตรอย่างมากนะครับ เช่น หากเส้นประสาทขาดตั้งแต่ข้อศอกลงไป การที่จะให้เส้นประสาทงอกยาวตั้งแต่ข้อศอกยาวลงไปจนถึงปลายนิ้วนั้นจะใช้เวานานแค่ไหน ก็ลองเอาไม้บรรทัดวัดดูว่า ตั้งแต่ข้อศอกจนถึงปลายนิ้วของเรายาวกี่มิลลิเมตร นั่นแหละคือจำนวนวันที่เส้นประสาทจะงอกไปถึง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับอีกหลายๆปัจจัยด้วยเช่นกันนะ เช่น เส้นประสาทขาดเลือดมาเลี้ยงนานทำให้เซลล์ประสาทตาย การต่อเส้นประสาทไม่สมบูรณ์ เป็นต้น (คนนะไม่ใช่ปลาดาวที่จะงอกส่วนที่ขาดไปแล้วให้งอกกลับมาใหม่ได้ง่ายๆ)

พูดนอกเรื่องไปซะยาว สรุปก็คือ การซ่อมแซมเส้นประสาท และการที่ร่างกายพยายามให้เส้นประสาทมาต่อกันใหม่นั่นแหละครับ เป็นที่มาของอาการปวดกว้างๆหลังผ่าตัดเข่าที่คอยตามรำควาญผู้ป่วยเป็นปีๆ 

ทำไมการที่เส้นประสาทพยายามมาต่อกัน ถึงทำให้เกิดอาการปวดได้ละ?

อันนี้ต้องเข้าวิชาการเล็กน้อยครับ คือ เส้นประสาทของเราจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ตัวเซลล์ที่เรียกว่า cell body และ ตัวเส้นใยประสาทที่เรียกว่า axon ซึ่งผมจะเปรียบเทียบเจ้าตัว axon เสมือนว่าเป็นสายไฟละกันนะครับ เพราะมันมีหน้าที่เป็นสะพานส่งสัญญาณประสาทไปมาระหว่างเซลล์ประสาท และเซลล์กล้ามเนื้อ 

ทีนี้เมื่อเซลล์ประสาทประสาทถูกตัดขาดจากการผ่าตัด ทำให้เจ้าตัว axon ฉีกขาด การส่งสัญญาณก็ทำไม่ได้เช่นเดิมแล้ว ร่างกายจึงพยายามซ่อมแซมเจ้าตัว axon ให้กลับมาเชื่อมต่อกันกับเส้นประสาทอื่นๆได้เหมือนเดิม แต่จะทำยังไงละ ในเมื่อ axon มันไม่มีตาที่จะคอยมองหาว่าคู่ที่ขาดมันอยู่ตรงไหน? แต่มันก็ไม่ยอมแพ้ต้องกลับมาต่อกันให้ได้ดังเดิม โดยการ"แยกร่าง"ครับ 

ภาพแสดงการเกิด axon sprouting

วิธีการแยกร่างก็คือ เจ้าตัว axon จะพยายามแตกตัวออกมาเป็นเส้นเล็กเส้นน้อยกระจายไปทั่วบริเวณ เพื่อเพิ่มโอกาสให้เส้นประสาทที่ขาดสามารถกลับมาเชื่อมกันได้อีกครั้งนั่นเอง ซึ่งเรียกระยะนี้ว่า axon sprouting ในระยะนี้แหละครับ ที่ทำให้เกิดอาการปวดแบบกว้างๆ ปวดอย่างบอกไม่ถูก ปวดแบบระบุตำแหน่งไม่ได้ อาจมีอาการชาร่วมด้วย และที่สำคัญคือ ในบริเวณนั้นผู้ป่วยจะมีการรับรู้ความรู้สึกไวกว่าปกติและมากกว่าปกติด้วย ถามว่ามากขนาดไหนหรอครับ ก็แค่พัดลมเป่าขา หรือแค่มือแตะเบาๆก็แสบจนต้องร้องโอดโอยกันแล้วละครับ 

วิธีการรักษา

การรักษานั้นทำได้แค่ลดอาการปวดเท่านั้นครับ โดยการประคบอุ่น ประคบเย็น และการกระตุ้นไฟฟ้าด้วย TENs เพื่อลดการส่งสัญญาณประสาท ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าอาการปวดเบาลง แต่ไม่สามารถเร่งให้เส้นประสาทงอกเร็วขึ้นได้นะ ส่วนระยะเวลาที่อาการปวดจะหายไปนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลครับ ไม่สามารถรุบุได้ชัดเจน แต่ที่แน่ๆก็คือ ไม่ตํ่ากว่า 3 เดือนครับผม

เครดิตภาพ
- http://www.henrycalasmd.com/neurologist-education/migraine-headache