วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โรคข้อสันหลังยึดติด โรคที่มาเงียบๆแต่ฟาดเรียบทั้งสันหลัง


โรคข้อกระดูกสันหลังยึดติด (ankylosing spondylitis)

โรคนี้อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้กันในคนทั่วไปเท่าใดนัก เนื่องจากไม่ใช่โรคที่ใครๆก็จะเป็นกันได้ง่ายๆเหมือนอย่างโรคปวดเข่า ปวดหลัง แต่ถ้าเป็นโรคนี้แล้วลำบากมากครับ เพราะไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้

ครั้งหนึ่งในสมัยที่ผมฝึกงานในโรงพยาบาลรัฐได้พบกับคุณลุงท่านนึงที่มีลักษณะท่าทางการเดินแปลกๆ เห็นเดินหลังค่อม ก้าวเท้าสั้นๆเหมือนคนไม่มั่นใจในตัวเอง เวลาจะเดินก็ต้องคอยหาอไรจับยึดตลอดคงเพราะกลัวล้ม เวลาจะหันซ้ายแลขวาทั้งที คุณลุงเล่นหันทั้งตัวเลยแฮะแทนที่จะหมุนคอเอา ซึ่งผมก็ยืนงงอยู่พักนึงก่อนจะเข้าไปถามอาการ ลุงมาด้วยอาการปวดหลัง หลังตึงละครับ ซึ่งก็พบได้ทั่วไปละนะ

แต่ที่แปลกใจในขณะที่ตรวจร่างกายก็คือ กระดูกสันหลังลุงแข็งมากก้มหลังไม่ได้เหยียดหลังก็ไม่ได้ บิดตัวเอี้ยวทำไม่ได้ทั้งนั้น ยกขาก็ยกได้นิดเดียว ไหล่ก็ติดแข็ง ทรวงอกก็ไม่ค่อยขยายเวลาหายใจเข้าลึกๆ ผมเห็นว่ามันแปลกเกินไปแล้ว เลยถามลุงไปตรงๆเลยว่า เคยไปพบหมอมาก่อนมั้ย แล้วหมอบอกมั้ยว่าลุงเป็นโรคอะไร? (ตอนนั้นยังเป็นนักศึกษาอยู่ ความรู้ยังไม่แน่นปึ๊ก) ลุงบอกมาว่าเป็น"โรคข้อกรพดูกสันหลังยึดติด" เป็นมาหลายปีแล้ว รู้อยู่แล้วว่ารักษาเท่าไหร่ก็ไม่หายหรอก แต่ครั้งนี้มันปวดหลังมากเลยมารักษากายภาพซะหน่อย นั่นเป็นครั้งแรกเลยครับที่ผมได้รู้จักกับโรคนี้ในทางปฎิบัติ แล้วที่ผมงงยิ่งกว่าไม่ใช่อาการที่ลุงเป็นหรอกนะครับ แต่เป็นอาชีพของลุงมากกว่า ลุงทำอาชีพขับรถบรรทุก 10 ล้อ!! เฮ้ย แข็งไปทั้งตัวอย่างงี้แล้วขับได้ไงกัน? ลุงก็บอกว่าเวลามองกระจกข้างก็ใช้วิธีเหล่ตาแล้วก่ะๆเอา ถ้ามันเหล่ไม่ถึงก็ให้เด็กรถที่มาด้วยกันช่วยบอกก็ขับได้ โห..สุดยอดไปเลยลุง

"ว่าแต่ทำไมลุงไม่บอกผมแต่เนิ่นๆละว่าลุงเป็นโรคนี้" ผมถามด้วยความสงสัย "อ๋อ ลุงก็อยากรู้ว่าหนูเก่งพอที่จะวินิจฉัยลุงได้มั้ยว่าลุงเป็นโรคอะไร" เอิ่ม...โดนคนไข้ลองภูมิซะงั้น  คุยโม้ไปซะเยอะ เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่า

โรคข้อสันหลังยึดติดนั้น เป็นกลุ่มโรคที่มีการอักเสบของข้อกระดูกสันหลัง โดยการอักเสบอักเสบนั้นจะเกิดขึ้นที่ข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกราน และด้วยความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย ทำให้กระดูกเชิงกรานและกระดูกสันหลังเริ่มมีการติดแข็ง มีการเคลื่อนไหวของข้อต่อได้น้อยลง จากนั้นอาการข้อติดแข็งก็ลุกลามไปทั้งแนวกระดูกสันหลัง กระดูกคอ ข้อสะโพก รวมถึงข้อไหล่ด้วย ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะข้อติดอย่างถาวร มีลักษณะหลังค่อม คอยื่น บิดเบี้ยวลำตัวและศีรษะไม่ได้ สร้างความลำบากในชีวิตประจำวันอย่างมากถึงมากที่สุด และมักพบในกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงานตั้งแต่อายุ 15-30 ปี

สาเหตุของโรค ankylosing spondylitis

โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดครับ แต่สันนิษฐานกันว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่ตรวจพบยีน HLA-B27 ที่ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมา นอกจากนี้อีกสาเหตุหนึ่งที่เ็นไปได้ก็คือเกิดจากภูมิคุ้มกันบกกร่อง โดยเจ้าภูมิคุ้มกันในร่างกายเราเข้าใจผิดคิดว่าเยื่อหุ้มกระดูกสันหลังหรือข้อต่อของเราคือภัยคุกคาม จึงทำพยายามทำลายเสีย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อ ปวดหลังนั่นเอง และเมื่อภูมิคุ้มกันกลับมาเป็นปกติก็พบว่า เยื้อหุ้มข้อกระดูกสันหลังของเราถูกทำลายไปจนหมดแล้วทำให้กระดูกสันหลังเกิดเชื่อมติดกันไปจนเหมือนปล้องไม้ไผ่ สูญเสียการเคลื่อนไหวของข้อต่อ จนเกิดความพิการในที่สุด

ภาพเปรียบเทียบกระดูกสันหลังปกติ กับระยะที่เป็นโรค

อาการของผู้ป่วย ankylosing spondylitis

ในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงใดๆนอกจากอาการปวดหลัง หรือปวดข้อที่เป็นๆหายๆร่วมปี โดยอาการเริ่มแรกจะปวดที่รอยต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานและกระดูกสันหลัง จากนั้นก็เริ่มปวดตามแนวกระดูกสันหลัง และเริ่มรู้สึกหลังแข็ง องศาในการก้มหลัง แอ่นหลัง บิดลำตัวทำได้น้อยลงไปเรื่อยๆ กว่าที่กระดูกสันหลังทั้งแนวจะติดเป็นแผ่นเดียวกันนั้นใช้เวลาหลายปีอยู่ครับ ส่วนจะมีอาการหลังค่อมมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับกิจวัตรประจำวันและการดูแลรักษาตั้งแต่ข้อกระดูกสันหลังยังไม่ติดเป็นแผ่นเดียวกันหมดครับผม นอกจากจะมีอาการที่ประดูกสันหลังแล้ว ผู้ป่วยยังมีอาการติดแข็งที่ข้ออื่นๆร่วมด้วย เช่น กระดูกข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่ เป็นต้น ถึงแม้กระดูกสันหลังจะติดแข็งเป็นแผ่นเดียวกัน แต่กระดูกก็มีความเปราะบาง เสี่ยงต่อการแตกหักง่ายกว่าคนทั่วไป ฉะนั้น ผู้ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องมีการปะทะ การกระแทก และการหกล้ม สรุปแล้วอาการทั้งหมดจะมีดังนี้

- หลังแข็งเป็นแผ่นเดียวกัน
- ไม่สามารถก้ม เงย บิดลำตัวได้
- ก้ม เงย หมุนคอไม่ได้เลย
- x-ray พบกระดูกเชิงกรานและกระดูกสันหลังเชื่อมติดกัน
- ปวดที่เชิงกราน และกระดูกสันหลังเป็นๆหายๆ เนื่องจากมีภาวะข้อกระดูกเชิงกรานและกระดูกสันหลังอักเสบ
- มีอาการข้อสะโพกติด เข่าติด ไหล่ติดร่วมด้วย
- มีอาการปวดหลัง และหลังแข็งมากเวลาตื่นนอน แต่เมื่อลุกมาทำกิจวัตรตามปกติครึ่งชั่วโมงอาการต่างๆจะทุเลาลง
- ทรวงอกขยายตัวได้น้อยลงขณะที่หายใจเข้าลึกๆ ผู้ป่วยจึงหายใจค่อนข้างถี่ และเหนื่อยง่าย
- ในรายที่มีการยึดติดมากๆ จะนั่งยองๆไม่ได้ ยืนเหยียดตัวตรงก็ไม่ได้ ทำให้ต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต

การดูแลรักษาของโรค ankylosing spondylitis

เป้าหมายการดูแลรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคนี้คือ การลดความพิการที่จะเกิดขึ้น ลดปวด พยายามให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้มากที่สุด และเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เป็นข่าวร้ายครับ ที่ต้องบอกว่าโรคนี้ไม่สามารถให้หายขาดได้ ทำได้แค่ให้ข้อต่อของผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้มากที่สุด และไม่ให้ข้อต่ออื่นๆที่ไม่ใช่กระดูกสันหลังเกิดภาวะติดแข็งตามไปด้วย

การออกกำลังกายที่ผมแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้คือ การว่ายนํ้าครับ เพราะช่วยเสริมสร้างกำลังกล้ามเนื้อได้ทุกส่วน ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้เป็นอิสระกว่าบนบก และข้อต่อทุกส่วนของร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ช่วยลดภาวะข้อติดที่จะตามมาได้

การยกนํ้าหนักก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกันครับ ที่ให้ยกนํ้าหนักไม่ได้ต้องการให้ผู้ป่วยมีกล้ามโตอะไรหรอกนะครับ แต่การยกนํ้าหนักหรือการออกกำลังกายที่มีแรงต้านช่วยเสริมมวลกระดูกให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงที่ผู้ปว่ยจะเกิดภาวะกระดูกพรุน กระดูกเปราะได้นั่นเองครับผม ถ้าถามว่าจะออกส่วนไหนบ้างละก็ ผมอยากแนะนำว่าให้ออกทุกส่วนจะดีที่สุดนะครับ

ส่วนผู้ป่วยท่านไหนที่ยังคงต้องทำงานนั่งโต๊ะอยู่เป็นประจำ ให้เปลี่ยนโต๊ะที่ใช้งานเป็นโต๊ะเขียนแบบ (drafting table) แทนเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยหลังค่อมและกระดูกคอยื่นมากนั่นเองครับ

ข้อห้าม ห้าม ห้าม

- ห้ามดัดกระดูกเอง หรือให้ใครดัดกระดูกให้โดยเด็ดขาดนะครับ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้กระดูกสันหลังแตกหักจนเศษกระดูกไปทิ่มเส้นประสาททำให้เป็นอัมพาตในที่สุด
- การดึงหลังก็ห้ามเช่นกัน จุดประสงค์หลักของการดึงหลังคือ ให้ข้อกระดูกที่อยู่ชิดกันแยกห่างออกเพื่อเพิ่มช่องว่างระหว่างข้อกระดูกสันหลัง แต่สำหรับโรคนี้ที่ข้อต่อเชื่อมติดกันจนเป็นแผ่นเดียวกันแล้วนั้น การดึงหลังไม่มีประโยชน์ใดๆเลยครับ แถมยังเสี่ยงที่จะทำให้กระดูกหักได้อีกด้วย ทั้งนี้ก็มีกรณียกเว้นในรายที่พึ่งเริ่มเป็นหลังแข็ง เมื่อ x-ray มาแล้วพบว่ากระดูกสันหลังยังไม่เชื่อมติดกันสนิท นักกายภาพอาจจะให้ดึงหลังเบาเพื่อปรับโครงสร้างลดภาวะหลังค่อมที่จะเกิดตามมานั่นเองครับผม

เครดิตภาพ
- http://arthritis-hyalutidin.com/ankylosing-spondylitis.html
- https://www.arthritiswa.org.au/content/page/ankylosing-spondylitis-.html



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น